fbpx
เพศหลากหลายกับวัยเปลี่ยนผ่าน : โจโจ้ - ผู้กำกับ Gay OK Bangkok

เพศหลากหลายกับวัยเปลี่ยนผ่าน : โจโจ้ – ผู้กำกับ Gay OK Bangkok

1.

หากคุณรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อของ TRASHER, Bangkok กลุ่มปาร์ตี้สุดเปรี้ยวแห่งยุค หรือ GAY OK BANGKOK ซีรีส์สะท้อนชีวิตชาวเกย์ที่ไม่ได้หวานแหววชวนให้สาวน้อยมัธยมจิ้นคู่วายเหมือนเรื่องอื่นๆ เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะผ่านตาชื่อของ โจโจ้ ทิชากร ภูเขาทอง มาบ้าง

เขาอาจไม่ได้ยืนอยู่เบื้องหน้าเหมือนคนอื่นๆ แต่เบื้องหลังบูธดีเจบนเวทีในงานปาร์ตี้ และเบื้องหลังจอมอนิเตอร์ในกองถ่ายในฐานะผู้กำกับ โจโจ้คือกำลังสำคัญที่ทำให้สองสิ่งที่เราเอ่ยถึงเมื่อย่อหน้าที่แล้วเป็นจริง

เหนือสิ่งอื่นใด ในสายตาของเรา โจโจ้คือคนหนุ่มวัยสามสิบกว่าๆ ที่ใช้ชีวิตในฐานะเกย์อย่างเปิดเผย คอยสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างความสนุกสนานและความเข้าใจในความต่างของเพศวิถีไปพร้อมๆ กัน (หากไม่เห็นภาพ เราแนะนำให้ย้อนกลับไปดูซีรี่ส์ของเขาที่เพิ่งจบไป)

ใน 101 Minutes at Starbucks ครั้งล่าสุด เราชวนโจโจ้มาเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญ บอกเล่าประสบการณ์จาก ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ของช่วงชีวิต ผ่านสายตาของความเป็นเพศหลากหลาย ด้วยสมมติฐานที่ว่า ประสบการณ์ของเขาอาจช่วยให้เราได้เห็นอีกด้านของการเปลี่ยนผ่านที่หลายคนไม่เคยพบเจอ

แม้จะต่างกันในรายละเอียด แต่เรื่องเล่าในวันนั้นของโจโจ้กลับตอกย้ำให้เราได้เรียนรู้

ไม่ว่าจะเรียกตัวเองด้วยคำจำกัดความว่าเป็นเพศอะไร พื้นที่ทับซ้อนในประสบการณ์ Coming of Age ของทุกคนล้วนประกอบไปด้วยแก่นสารสาระเดียวกัน

นั่นคือคำว่า ‘เรียนรู้และเติบโต’

 

2.

“ย้อนกลับไปจริงๆ ช่วงเวลา Coming of Age ของผม ส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวกับเรื่องภูมิศาสตร์” โจโจ้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของตัวเอง

จากเด็กตัวเล็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ไม่ใช่ในตัวเมือง การเปลี่ยนผ่านของพื้นที่การใช้ชีวิตที่ผู้ปกครองส่งให้เข้ามาอยู่ในตัวเมืองกับญาติ ความเจริญที่ไม่เคยพบจากพื้นที่ชนบททำให้โจโจ้เริ่มเรียนรู้ประสบการณ์ของวัยเปลี่ยนผ่านที่ทำให้เขาได้เติบโตเป็นครั้งแรกของชีวิต

แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกแจ่มชัดกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านคงหนีไม่พ้นประสบการณ์ ‘ความรัก’

“การอกหักที่เรารู้สึกว่าเติบโตขึ้นจริงคือตอนมอห้า แต่ก่อนเราเป็นเด็กเรียนดีมาก ติดท็อปไฟว์ของห้องทุกครั้ง ตอนนั้นไปหลงรักผู้ชายแล้วเสียศูนย์ จากที่เคยอยู่ท็อปไฟว์ตกลงมาเป็นอันดับสุดท้ายของห้อง ชีวิตเหลวแหลกมาก โดนเชิญผู้ปกครองมาพบ ให้ความรู้สึกเหมือนฮานน่าในซีรีส์ 13 Reasons Why (หัวเราะ) ชีวิตหลงทางมาก” เขาเล่า

โชคยังดีที่อาการอกหักครั้งนั้นไม่ได้ลากเขาให้จมดิ่ง เพราะความเจ็บปวดที่ว่ากลับนำพาการเติบโตมาให้เป็นของขวัญ

“หลังอาการเริ่มหาย ซัมเมอร์นั้นชีวิตก็เปลี่ยนไป เหมือนหนังฝรั่งมาก คือเรารู้สึกว่ามันไม่ได้แล้วว่ะ เราต้องรักตัวเองใส่ใจตัวเองมากขึ้น ในฐานะคนที่เป็นเกย์ เราได้เรียนรู้ว่า-ชั้นจะไม่ชอบผู้ชายแท้แล้ว นั่นคือสิ่งที่เติบโต ได้เรียนรู้ที่จะรักตัวเองมากขึ้น”

 

3.

วัย 25 คือช่วงเวลาที่โจโจ้บอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เหมือนเป็นหมุดหมายครั้งใหม่ที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เป็นในทุกวันนี้

“ก่อนหน้านั้นเรารู้สึกไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย ยิ่งในสังคมเกย์ เราคือเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ดำๆ ไว้ผมแอฟโฟร เพราะคิดว่าชั้นต้องแตกต่างจากคนอื่น ชั้นต้องมั่นใจ ไม่เหมือนใคร พอไปเที่ยวบาร์เกย์ที่รายรอบด้วยพวกกล้ามๆ ล่ำๆ แล้วเหมือนรู้สึกตัวเองเป็นอลิซใน Alice In Wonderland ตัวเล็กๆ อยู่ตนเดียว ไม่มีใครมองเราเลย ท้อแท้มาก

“ตอนนั้นคิดว่า-ชั้นต้องไม่มีใครเอาไปจนตาย” เขาบอก

จุดเปลี่ยนที่โจโจ้บอกว่าเป็น Coming of Age ครั้งสำคัญของชีวิตในช่วงเวลานั้นอาจทำให้คนฟังออกอาการเขินอยู่บ้าง เพราะเขาบอกว่ามันคือเหตุการณ์ที่ ‘ความบริสุทธิ์’ ของตัวเองได้สูญเสียไปเป็นครั้งแรก

“แอบติดเรทนิดหน่อย ตอนนั้นหลังจากที่เสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก ชีวิตมันเปลี่ยนเลย พอมีคนมาเห็นความสำคัญของเรา มันเป็นความรู้สึกว่า ‘เฮ้ย ชั้นก็สวยนี่หว่า! ชั้นก็ไม่ได้แย่นี่’ เหมือนเราได้เรียนรู้ ได้มองชีวิตเปลี่ยนไป”

สำหรับคนที่เป็นเกย์หรือเพศหลากหลายคนอื่นๆ ช่วงเวลาของความไม่แน่ใจกับรสนิยมทางเพศของตัวเองดูจะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่หลายคนอาจพบเจอ แม้บางคนอาจจะบอกว่าเกิดมาก็รู้ตัวแล้วว่าชอบเพศเดียวกัน หรือรู้สึกอยากเป็นเพศตรงข้ามมากกว่า แต่ในอีกหลายคน ความสับสน ไม่แน่ใจในรสนิยมของตัวเองและการค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเอง ‘เป็น’ แบบไหน ก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ชีวิตได้เติบโต

โจโจ้เองก็เช่นเดียวกัน

“ช่วงมอสามจะมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! หรือชั้นชอบผู้หญิงวะ เราเลยลองไปจีบผู้หญิงดู พาเขาไปดูหนัง ไปกินข้าวอยู่ประมาณเดือนนึง ซึ่งถือว่านานนะ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว ชั้นเริ่มกรี๊ดกร๊าดแล้วด้วย ถ้าจะนับเรื่องนี้เป็นการ Coming of Age อย่างนึงก็ได้ มันคือการทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเราชอบผู้ชายนะ” เขาว่า

“แต่การที่เราได้รู้จักสังคมของเกย์ ของเพศหลากหลายมากขึ้นก็จากการเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ” เขาย้อนกลับไปที่ประเด็นการเติบโตจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์

“การอยู่ที่นี่มันเปิดโลกให้เรา ทั้งสื่อ ทั้งบาร์เกย์ ซีนเกย์แบบต่างๆ ได้รู้ว่าเราเข้ากับสังคมตรงนั้น ที่เราเคยดูถูกคนอื่น เคยยี้คนที่เข้าฟิตเนส ยี้ ชั้นไม่ทำตัวอย่างนั้นหรอก ปรากฏว่าพออายุ 25 ก็ทำทุกอย่างของการเป็นเกย์ ไปเที่ยวสีลมซอยสอง เข้าฟิตเนส ทำทุกอย่างที่เขาเป็น

“มันเหมือนเราได้ค้นหา ได้เปลี่ยนตัวตนจนเจอแบบที่ชั้นเป็นแล้ว” โจโจ้บอกกับผู้ฟังในงาน

 

4.

ชีวิตของโจโจ้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในวัยเข้าเลขสาม จากความสัมพันธ์ที่กลับทำให้ตัวเขาย้อนกลับไปเป็นตัวเองในวัยมัธยม

“เรามีแฟนคนแรกตอนอายุเกือบสามสิบ เพิ่งได้เรียนรู้ ได้เติบโตขึ้น เพราะถึงอายุเราจะสามสิบ แต่โลจิกที่เราใช้อยู่ยังใช้เหมือนตอนเราอายุยี่สิบต้นๆ เหมือนเราย้อนกลับไปเป็นเด็กมัธยมคนเดิม เป็นอีฮานน่าผู้เวิ่นเว้อวุ่นวายอีก เป็นตัวละครที่ถ้าได้ดูแล้วคนดูพร้อมจะด่าได้ทุกเมื่อ เรากลับไปเป็นเด็กคนเดิมคนนั้นอีกแล้ว

“จนเมื่อความสัมพันธ์มันพังลง ถึงได้เรียนรู้ว่าชั้นจะต้องโตขึ้น หลังจากนั้นเราก็ไม่กลับไปเป็นคนๆ นั้นอีกเลย มองโลกเปลี่ยนไปด้วยซ้ำ จากที่เคยเป็นคนอินโนเซนต์ ทุ่มทุกอย่าง เมื่อก่อนเรามองว่าต่อให้ประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความรักมันคือชีวิตหมดทุกอย่าง แต่พอโตขึ้น หลังจากเลิกกับแฟนคนแรกไปเราก็เอาความรักเป็นเรื่องรองในชีวิต ได้เรียนรู้ว่ามันไม่จริง คนเรายังมีความสุขได้จากอย่างอื่น ตอนนี้ยังรักงานมากกว่าแฟนอีก”

ประโยคที่ว่าตอนนี้โจโจ้รักงานมากกว่าแฟนอาจจะฟังดูแปลกอยู่บ้างในสายตาของคนวัยเดียวกัน ที่บางครั้งทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตก้าวข้ามผ่านช่วงเวลา Coming of Age ไปไม่ได้

แม้ตัวเขาเองจะบอกว่าไม่ได้มีวิกฤติแห่งวัยเป็นของตัวเอง แต่แฟนคนแรกที่ทำให้โจโจ้เติบโตเป็นคนพาวิกฤตินั้นวิ่งเข้าใส่ จนเขากลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของใครอีกคน

“แฟนคนแรกของเราอายุสี่สิบ มาเจอกันในช่วงเวลาที่เขาตกงาน ชีวิตค่อนข้างจะอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ท่องเที่ยว เพิ่งออกจากงาน แล้วในตอนนั้นเป็นไพรม์ไทม์ของชีวิต เรากำลังพีค การงานดีมากๆ” โจโจ้เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

“มีอยู่ครั้งนึงที่จำได้เป็นซีนเลย พูดแล้วจะร้องไห้ ตอนนั้นเราได้รับรางวัลอะไรซักอย่าง แล้วอยากให้เขามาที่งานด้วย นึกออกมั้ย เราเป็นตุ๊ดที่อยากให้เขาได้มาอยู่ตรงหน้าเหมือนงานออสการ์ แต่เขาไม่มา

“พอถามว่าทำไมเธอไม่มา เขาบอกว่าเพราะอิจฉาเรา เขารู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตตกต่ำ เหมือนกำลังก้าวข้ามผ่านตรงนี้ไปไม่ได้ เขาออกจากงานที่ทำมาเป็นสิบปี ออกเดินทางค้นหาชีวิต แต่ก้าวผ่านมันไปไม่ได้

“แล้วสุดท้ายเขาก็ทิ้งเราไป”

 

5.

ประโยคทิ้งท้ายจากเหตุการณ์ที่ฟังดูเศร้าของโจโจ้ตามมาด้วยเสียงหัวเราะทั้งจากเขา แขกรับเชิญบนเวทีอีก และผู้ฟังด้านล่าง

ภายใต้เสียงหัวเราะที่ได้ยิน

เราเชื่อว่านั่นคือผลลัพธ์จากการเรียนรู้และเติบโต

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save