fbpx
ชำแหละ 3 ระบบเลือกตั้ง เลือกตั้งแบบไหน ได้อะไร เสียอะไร?

ชำแหละ 3 ระบบเลือกตั้ง เลือกตั้งแบบไหน ได้อะไร เสียอะไร?

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาทำการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับในวาระแรก ผลปรากฏว่ามีเพียงร่างเดียวที่ได้รับความเห็นชอบ นั่นคือร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอโดย ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้บัตร 2 ใบ รวมทั้งปรับจำนวน ส.ส.เขต:บัญชีรายชื่อ เป็น 400:100 จากเดิมที่เป็น 350:150

นอกจากร่างของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ที่ประชุมวันนั้นยังพิจารณาร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของ ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ แต่กลับถูกปัดตกไป อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจคือร่างของทั้ง 3 พรรคมีข้อเสนอคล้ายกันตรงที่เป็นการเสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ด้วยวิธีการคำนวณที่นั่งคล้ายระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 แม้ทั้ง 3 ร่างจะมีรายละเอียดข้างในที่ต่างกันเล็กน้อยก็ตาม

ที่ผ่านมา มีหลายเสียงที่เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง’40 ด้วยข้อดีหลายอย่างที่บางคนมองว่าดีกว่าระบบเลือกตั้ง’60 ในปัจจุบันซึ่งใช้บัตรใบเดียว แต่กระนั้น บางส่วนก็มองว่าระบบเลือกตั้ง’40 ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน จึงเกิดแนวคิดที่ไม่สนับสนุนให้ย้อนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง’40 และเสนอระบบเลือกตั้งแบบใหม่ซึ่งหยิบเอาระบบเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีมาปรับใช้ เพื่อปิดจุดอ่อนของทั้งระบบเลือกตั้งปี 2540 และ 2560 และนี่ก็ปรากฏในข้อเสนอของ ‘พรรคก้าวไกล’

ข้อถกเถียงว่าประเทศไทยควรจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน ใช้ระบบเลือกตั้ง’60 เหมือนเดิม ย้อนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง’40 หรือใช้ระบบเยอรมันที่เราไม่เคยใช้มาก่อน จึงกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงเวลานี้

101 จึงพาไปชำแหละระบบเลือกตั้งทั้ง 3 แบบ พร้อมกับลองคำนวณที่นั่ง ส.ส.ในสภา ผ่านแต่ละระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบกัน ด้วยการใช้ผลการเลือกตั้งปี 2554 ให้เห็นกันชัดๆ ว่าระบบเลือกตั้งแต่ละแบบนำไปสู่หน้าตาของสภาผู้แทนราษฎรที่ต่างกันอย่างไร ข้อดี-ข้อด้อยแต่ละแบบคืออะไร พรรคใหญ่-พรรคกลาง-พรรคเล็ก ใครได้เปรียบเสียเปรียบบ้างใน 3 ระบบเลือกตั้ง

สำรวจที่มา ส.ส. ผ่าน 3 ระบบเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System- MMA) ซึ่งถูกใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 โดยมีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว นั่นคือบัตรเลือก ส.ส.เขต ผลคะแนนจากการเลือก ส.ส.เขตของแต่ละพรรคจะถูกนำไปคำนวณเทียบสัดส่วนกับคะแนนรวมทั้งประเทศ ก่อนได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี จากนั้นแต่ละพรรคจะได้รับการเติมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มเข้าไปจาก ส.ส.เขตเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เทียบเท่าจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ แต่หากพรรคใดมีจำนวน ส.ส.เขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก โดยสรุป ระบบ MMA เป็นการ ‘เลือกคนแถมพรรค’ บนบัตรใบเดียว

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นข้อเสนอของทั้งพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ คือระบบแบบผสมเน้นเสียงข้างมาก หรือระบบคู่ขนาน (Mixed Member Majoritarian System – MMM) ถูกนำมาใช้ในไทยครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544 โดยแยกที่มาของ ส.ส.เขตและแบบบัญชีรายชื่อออกจากกันชัดเจนด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อมาจากคะแนนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยตรงเท่านั้น โดยไม่มีคะแนน ส.ส.เขตมาเกี่ยวข้อง และไม่มีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.พึงมีเหมือนระบบอื่นๆ

ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันที่ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล คือระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือระบบเยอรมัน (Mixed Member Proportional System – MMP) มีจุดเด่นที่การแยกที่มาของ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้งสองใบคล้ายกับระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) แต่คะแนนเลือกตั้งผ่านบัตรบัญชีรายชื่อจะถูกนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคในลำดับต่อมา [ต่างจากระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) ที่ใช้ ส.ส.เขตไปคำนวณ ส.ส.พึงมี] จากนั้นแต่ละพรรคจะได้รับการเติมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มเข้าไปจาก ส.ส.เขตเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เทียบเท่าจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ แต่หากพรรคใดมีจำนวน ส.ส.เขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก

เทียบตัวเลข ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ
เลือกตั้งแบบไหน พรรคการเมืองเข้มแข็ง?

เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อยของแต่ละระบบการเลือกตั้ง 101 จึงนำผลการเลือกตั้งปี 2554 มาคำนวณที่นั่งในแต่ละระบบให้เห็นเปรียบเทียบกันว่า แต่ละแบบจะส่งผลต่อพรรคที่มีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กต่างกันอย่างไร โดยเหตุผลที่ต้องใช้ผลการเลือกตั้งปี 2554 มาคำนวณเป็นเพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สามารถนำมาคำนวณในทั้ง 3 ระบบได้ ขณะที่การเลือกตั้งปี 2562 มีบัตรเลือกตั้งแบบเขตเพียงใบเดียว จึงไม่สามารถนำไปคำนวณในระบบเลือกตั้งแบบ MMM และ MMP ได้

ตารางนี้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละกลุ่มพรรคที่มาจากการคำนวณในแต่ละระบบเลือกตั้ง โดยจำแนกได้เป็นพรรคใหญ่-กลาง-เล็ก ซึ่งความแตกต่างของตัวเลขส่วนนี้จะสะท้อนได้ว่าระบบเลือกตั้งแต่ละแบบส่งผลถึง ‘ความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง’ อย่างไร

หากดูที่ระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) เราจะเห็นว่าพรรคขนาดใหญ่ได้รับจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยกว่าระบบอื่นมาก เนื่องจากพรรคใหญ่มักได้จำนวน ส.ส.เขตมากอยู่แล้ว จึงทำให้ได้รับการเติมเต็มให้ครบจำนวน ส.ส.พึงมี ด้วยที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้น้อย ภายใต้ระบบนี้ พรรคใหญ่ที่ได้ทำผลงานระบบเขตได้ดีจึงเสียเปรียบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ก็สอดคล้องกับตัวอย่างนี้ โดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ระบบ MMA จึงมีแนวโน้มสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครในพรรคใหญ่ ที่อาจเกี่ยงกันไม่ยอมลงระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องหันมายุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์ย่อย’ แต่ในระยะยาว กลยุทธ์นี้อาจนำไปสู่ความอ่อนแอของสถาบันพรรคการเมือง 

ขณะเดียวกัน จากตารางเราจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเป็นพรรคใหญ่ จะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะไม่ได้ชนะในระบบเขตเยอะมากเหมือนพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คล้ายกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคใหญ่พรรคอื่นอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกลที่ไม่ได้ชนะในระบบเขตมากเท่าพรรคเพื่อไทย ยังคงได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่จำนวนไม่น้อย 

หากย้ายไปมองที่พรรคขนาดกลาง เราจะเห็นว่าพรรคกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากระบบ MMA มากเป็นพิเศษ จากตาราง พรรคเหล่านี้ได้รับจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงกว่าระบบอื่นๆ หลายเท่าตัว เพราะถึงแม้จะชนะเลือกตั้งระบบเขตไม่มาก แต่คะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่พรรคได้รับก็ไม่ถูกทิ้งไปเปล่า เมื่อนำคะแนน ส.ส.เขตทั้งหมดมารวมกัน พรรคขนาดกลางจะได้รับการคำนวณ ส.ส.พึงมีที่สูงเกินกว่าจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดมาก จนมีช่องว่างให้เติมเต็มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าไปให้ครบจำนวน ส.ส.พึงมีได้มาก เหมือนที่เกิดกับการเลือกตั้ง 2562 ที่บรรดาพรรคขนาดกลางได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก

พรรคเล็กบางพรรคก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้เหมือนกัน แม้จะไม่มากเท่าพรรคขนาดกลางด้วยความที่มีคะแนนเสียงน้อยกว่า แต่ก็มีโอกาสได้รับจัดสรรที่นั่งบัญชีรายชื่ออย่างน้อย 1 ที่นั่งสูง เมื่อเอาคะแนนระบบเขตมารวมกันได้จำนวนมากพอ หรืออาจได้รับที่นั่งจากเศษชดเชยในกรณีที่มีพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.พึงมี อย่างที่เกิดกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่เศษเหลือกว่า 20 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทยถูกกระจายไปให้พรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก ขณะที่ผลเลือกตั้งปี 2554 อาจเห็นไม่ชัดนัก เนื่องจากเมื่อลองคำนวณด้วยระบบ MMA แล้ว ไม่มีพรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.พึงมี อย่างไรก็ตามระบบนี้ก็สร้างความขัดแย้งในพรรคเล็กได้เหมือนกัน เพราะผู้สมัครจะไม่อยากลงชิงชัยระบบเขต เพียงเพื่อเป็นตัวเก็บคะแนนให้ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ โดยมีโอกาสชนะในเขตน้อยมาก (จากตาราง พรรคเล็กหลายพรรคไม่ได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อเลย เป็นเพราะไม่ได้ส่งผู้สมัครระบบเขตเลยในการเลือกตั้ง 2554)

โดยสรุป ระบบ MMA มีแนวโน้มทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในพรรคการเมืองสูง และลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองลง

ถัดมาที่ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) เราเห็นได้ว่าพรรคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนดิบนำโด่ง ได้รับที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงมาก ซึ่งสูงกว่าระบบเลือกตั้ง’60 ถึง 3 เท่าตัว ด้วยการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เป็นเอกเทศจากระบบเขต โดยไม่ต้องผ่านการหักลบใดๆ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงเช่นกัน แต่อาจไม่แตกต่างจากระบบเลือกตั้ง’60 มากนัก ส่วนบรรดาพรรคขนาดกลางได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงจากระบบเลือกตั้ง’60 หลายเท่าตัว เพราะคะแนนระบบเขตที่แพ้จะถูกทิ้งเปล่าไป ไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อต่อเหมือนระบบเลือกตั้ง’60 สถานการณ์นี้ก็สอดคล้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาก่อนปี 2562 ซึ่งพรรคใหญ่ๆ มักได้เปรียบตลอด

ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) จึงมีแนวโน้มให้เกิดสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็งได้มากกว่าระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) โดยเฉพาะในกลุ่มพรรคขนาดใหญ่

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บรรดาพรรคใหญ่เสนอให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) กันอีกครั้ง เพราะเห็นข้อได้เปรียบของตัวเอง รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่ทุกวันนี้จัดเป็นพรรคใหญ่ไม่แพ้พรรคอื่นๆ แล้ว ก็อาจเห็นถึงข้อได้เปรียบของพรรคตัวเอง หากเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบนี้เหมือนกัน

สุดท้าย ในระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน (MMP) สิ่งที่เราเห็นได้จากตารางคือพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะได้รับที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงกว่าระบบเลือกตั้ง’60 โดยไม่โดดสูงเท่าระบบเลือกตั้ง’40 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อาจได้รับที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบนี้พุ่งสูงขึ้นมา เพราะชนะในระบบเขตไม่มากเท่าพรรคเพื่อไทย จึงมีช่องว่างเติมเต็มจำนวน ส.ส.พึงมี ด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้มากกว่า แต่โดยรวมคือพรรคขนาดใหญ่จะยังคงได้รับประโยชน์จากระบบนี้มากพอสมควร โดยได้ทั้งที่นั่ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคจากระบบเลือกตั้ง’60 ได้ หนุนให้เกิดความเป็นสถาบันที่เข็มแข็งของพรรคขนาดใหญ่

แต่ดูเหมือนว่าภายใต้ระบบเยอรมัน ความขัดแย้งภายในพรรคจะย้ายไปตกอยู่กับพรรคขนาดกลาง เพราะถ้าสังเกตจากตาราง จะเห็นว่าพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เนื่องจากโดยปกติ พรรคเหล่านี้มักได้ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งระบบเขตมากกว่าระบบบัญชีรายชื่อ การเปลี่ยนมาคำนวณที่นั่ง ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค โดยใช้ระบบบัญชีรายชื่อเป็นฐาน แทนการใช้ระบบเขตอย่างระบบเลือกตั้ง’60 จึงทำให้พรรคขนาดกลางมีจำนวน ส.ส.พึงมีน้อยลง ขณะที่ชนะในระบบเขตอยู่แล้วหลายเขต จึงไม่เหลือที่นั่งว่างให้สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเข้าไปเติมเต็มอีก ทำให้พรรคขนาดกลางอาจเกิดปัญหาผู้สมัครเกี่ยงกันไม่ยอมลงระบบบัญชีรายชื่อ

เทียบตัวเลขที่นั่งรวมในสภา
เลือกตั้งแบบไหน รัฐบาลเข้มแข็ง?

เมื่อนำจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อมารวมกันเป็นจำนวนที่นั่งทั้งหมด มารวมกันเป็นจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาทั้งหมดของแต่ละพรรค ภายใต้ระบบเลือกตั้งทั้ง 3 แบบ ก็สามารถบ่งบอกว่าแต่ละระบบเลือกตั้งส่งผลต่อ ‘ความเข้มแข็งของรัฐบาล’ ต่างกันอย่างไร

แน่นอนว่าจำนวนที่นั่ง ส.ส.รวมที่แตกต่างกันในแต่ละระบบ เป็นผลมาจากสูตรการจัดสรรที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อที่แตกต่างกัน ขณะที่ระบบเขตไม่มีผล เนื่องจากมีการคำนวณแบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นในระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) ที่พรรคขนาดกลางได้เปรียบในแง่จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อยิ่งกว่าระบบอื่น จึงมี ส.ส.รวมที่มากกว่าระบบอื่นไปด้วย ขณะที่พรรคขนาดใหญ่ก็มักได้ที่นั่งน้อยกว่าระบบอื่น โดยจะเห็นว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่สามารถคว้าที่นั่งได้เกินกึ่งหนึ่งของทั้งสภา (250 ที่นั่ง) จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ตาม และบรรดาพรรคขนาดกลางที่ได้ที่นั่งจำนวนมากในระบบนี้ก็จะมีอำนาจต่อรองสูง สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล 

ระบบ MMA จึงทำให้หน้าตาของรัฐบาลมีแนวโน้มออกมาในรูปรัฐบาลผสมหลากหลายพรรคที่มีการต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันอย่างฝุ่นตลบ จนมีเสถียรภาพต่ำ เป็นรัฐบาลที่เข็มแข็งมีเอกภาพได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 คือการนำสูตรคำนวณที่นั่งแบบพิสดารมาใช้ ทำให้พรรคขนาดเล็กที่คะแนนเสียงไม่ถึงคะแนนเลือกตั้งพึงมี สามารถเข้าไปนั่งในสภาได้ จนเกิดรัฐบาลผสมถึงราว 20 พรรค กระเทือนทั้งเสถียรภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาล

ขณะที่ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) ที่เอื้อให้พรรคใหญ่ได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวนมาก ทำให้มีโอกาสได้พรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่ครองเสียงข้างมากในสภา (เกิน 250 ที่นั่ง) สูงกว่าระบบ MMA อย่างในการเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยสามารถครองเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ระบบ MMM จึงส่งผลให้มีโอกาสได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพและลดอำนาจต่อรองของพรรคขนาดกลาง อย่างไรก็ตาม ระบบ MMM ก็มีข้อครหาว่าทำให้พรรคใหญ่มีอำนาจมากเกินไปจนอาจนำไปสู่ภาวะ ‘เผด็จการรัฐสภา’

และเมื่อลองนำผลการเลือกตั้งปี 2554 มาคำนวณในระบบเยอรมัน (MMP) จะเห็นว่าระบบ MMP ช่วยตัดทอนอำนาจของพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ลงมาจากระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้จำนวนที่นั่งไม่โดดสูงเหมือนระบบ MMM แต่ก็ไม่ได้ลดลงไปมากเมื่อเทียบกับระบบเลือกตั้ง’60 (MMA)

แม้ว่าจากผลการเลือกตั้ง 2554 ในระบบ MMP พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่ใกล้เคียง ขณะที่พรรคขนาดกลางก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น พรรคแกนนำจึงมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลผสมที่เข้มแข็งได้มากกว่าในระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) ขณะเดียวกันก็ลดแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเผด็จการรัฐสภาที่เกิดกับระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) เท่ากับว่าระบบ MMP ช่วยสร้างสมดุลในประเด็นเหล่านี้ได้

เทียบตัวเลขสัดส่วนคะแนน-ที่นั่งในสภา
เลือกตั้งแบบไหน สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน?

ในส่วนสุดท้าย เราลองแปรผลการเลือกตั้งและจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของแต่ละพรรคให้อยู่ในรูปแบบร้อยละ เพื่อนำสัดส่วนคะแนนเลือกตั้งและสัดส่วนจำนวนที่นั่ง ส.ส.แต่ละพรรคมาเปรียบเทียบกัน จะทำให้เห็นว่าระบบเลือกตั้งแต่ละแบบ ‘สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน’ แตกต่างกันอย่างไร

ภายใต้ระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบ่งเขตใบเดียว จะเห็นว่าสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ในสภาของแต่ละพรรค มีความใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนเลือกตั้งแบ่งเขตสูงมาก ทำให้บางคนอาจมองว่าจำนวน ส.ส.สะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง แต่ต้องอย่าลืมว่าที่มาของ ส.ส.ในระบบนี้ มาจากระบบเลือกตั้งแบบเขตเพียงอย่างเดียว จึงมีปัญหาว่าประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตคนหนึ่ง เพราะชื่นชอบในตัวผู้สมัครคนนั้น หรือชื่นชอบพรรคการเมืองที่ผู้สมัคร เหมือนอย่างข้อถกเถียงที่เกิดกับพรรคอนาคตใหม่ว่าตกลงแล้ว ผู้สมัครเขตบางคนชนะเลือกตั้งเพราะประชาชนเลือกตัวเองหรือชอบผู้นำพรรคกันแน่ ดังนั้นสัดส่วนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคจึงบอกไม่ได้ชัดเจนว่าสอดคล้องกับความนิยมของประชาชนที่มีต่อแต่ละพรรคจริง

ขณะที่ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) เห็นได้ว่าโดยส่วนมาก พรรคการเมืองจะมีสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ในสภา ที่ไม่ค่อยใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนเลือกตั้งนัก โดยพรรคใหญ่มักจะได้สัดส่วนที่นั่ง ส.ส.สูงเกินกว่าสัดส่วนคะแนนเลือกตั้ง ขณะที่พรรคกลางและเล็กมักน้อยกว่า เนื่องจากพรรคเหล่านี้มีคะแนนเสียงถูกเททิ้งน้ำในระบบเขตสูง ระบบ MMM จึงมีปัญหาเรื่องจำนวนที่นั่ง ส.ส.แต่ละพรรคในสภาที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กับคะแนนเสียงจากประชาชนมากเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ

ส่วนในระบบเยอรมัน (MMP) จะเห็นว่าสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับสัดส่วนคะแนนเสียงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อสูงมาก เนื่องจากระบบนี้คำนวณ ส.ส.พึงมีบนฐานของระบบบัญชีรายชื่อ ผ่านบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 ที่ให้ประชาชนเลือกพรรคที่ตัวเองชอบ ดังนั้นแต่ละพรรคการเมืองจึงได้รับจัดสรรที่นั่งในสภาตามสัดส่วนคะแนนนิยมของแต่ละพรรค สมเหตุสมผลกว่าระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) ที่กำหนดที่นั่งของพรรคการเมืองจากความนิยมของตัวผู้สมัครเขต แต่ในระบบ MMP สัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมดในสภาของพรรคขนาดกลางอาจเกินจากสัดสวนคะแนนบัญชีรายชื่อได้ เพราะมีแนวโน้มได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี

สรุปแล้ว เลือกตั้งแบบไหน ได้อะไร เสียอะไร?

หลังจากสำรวจระบบเลือกตั้ง 3 แบบผ่านตัวเลข เราสามารถสรุปได้ว่า

ระบบเลือกตั้ง’60 (MMA) มีแนวโน้มสร้างความขัดแย้งในพรรคสูง เพราะผู้สมัครในพรรคอาจเกี่ยวกันลงสมัครในระบบใดระบบหนึ่งระหว่างระบบเขตและบัญชีรายชื่อ อีกทั้งลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคในระยะยาว ขณะที่หน้าตารัฐบาลก็มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ เพราะพรรคขนาดกลาง-เล็กมีอำนาจต่อรองสูง รวมถึงมีอำนาจชี้ขาดว่าพรรคใหญ่ฝั่งใดจะเป็นแกนนำรัฐบาล นอกจากนี้ การใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ ยังไม่สามารถแจกแจงเจตนารมณ์ได้จริงว่าประชาชนเลือกผู้สมัครเขตหรือเลือกพรรค ไม่อาจบอกได้ว่าสัดส่วนที่นั่งแต่ละพรรคในสภาสะท้อนความต้องการประชาชน

ระบบเลือกตั้ง’40 (MMM) ซึ่งใช้ระบบบัตร 2 ใบ ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง พรรคขนาดใหญ่ที่มีฐานเสียงแน่น มีแนวโน้มได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่งสูง จึงมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้สูง โดยที่พรรคขนาดกลาง-เล็กไม่ได้มีอำนาจต่อรองมาก แต่ก็เสี่ยงทำให้พรรคใหญ่มีอำนาจมากเกินไป จนอาจเกิดปัญหาเผด็จการรัฐสภา อีกปัญหาใหญ่ของระบบนี้คืออาจไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ประชาชน โดยพรรคใหญ่มักได้ที่นั่งเกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะได้ ขณะที่พรรคกลาง-เล็กได้น้อยกว่าที่ควร เนื่องจากคะแนนเสียงแบบแบ่งเขตจำนวนมากถูกเททิ้งน้ำ

ระบบเยอรมัน (MMP) ซึ่งใช้บัตร 2 ใบเช่นกัน ก็ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมืองได้ และยังช่วยลดแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งภายในพรรคจากระบบ MMA แต่ก็มีช่องโหว่คืออาจไม่แก้ความขัดแย้งในพรรคขนาดกลางหรือพรรคเล็กบางพรรคได้ ข้อดีหลักๆ ของระบบนี้คือออกแบบมาให้สภามีความหลากหลายของพรรคการเมือง ลดแนวโน้มที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะผูกขาดอำนาจในสภาอย่างที่เกิดกับระบบ MMM แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลให้รัฐบาลเสี่ยงจะมีเสถียรภาพต่ำเท่ากับระบบ MMA ดังนั้น ระบบ MMP จึงสร้างสมดุลระหว่าง 2 ประเด็นนี้ได้ดี และที่สำคัญ สัดส่วนที่นั่งของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังสะท้อนคะแนนนิยมของแต่ละพรรคได้ชัดเจน แม้จะยังมีปัญหาในกลุ่มพรรคขนาดกลางอยู่บ้าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save