fbpx
รัฐประหารพม่า

หนึ่งไตรมาสล่วงผ่าน – มองชีวิตและทิศทางการต่อสู้ของพม่าใต้ท็อปบูต

เช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพทหารพม่า นำโดยนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งกลายเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก ทุกสายตาต่างจับจ้องและประณามการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้าน ด้วยหวังว่าการณ์จะคลี่คลายลงโดยเร็วและสูญเสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด

ทว่าเมื่อหลายประเทศหันไปให้ความสนใจกับกิจการภายในชาติ เช่นรับมือกับวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจ กระแสข่าวบนหน้าสื่อจึงเริ่มเบาบางลงไป ทั้งที่ความร้อนแรงของสถานการณ์ในพม่ายังไม่ลดระดับจากเดิม ตรงกันข้าม กลับเกิดเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ  (National Unity Government : NUG) การลุกขึ้นสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามายังชายแดนไทย

เพื่อ ‘อัปเดต’ ความคืบหน้าในปัจจุบัน พร้อมมองทิศทางการเมืองพม่าในอนาคต 101 จึงชวน พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre Doctoral Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาปริญญาเอก Department of Politics and International Relations มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ, อรรวี แตงมีแสง นักธุรกิจไทยในพม่า เจ้าของเพจ Natty in Myanmar และ ศิรดา เขมานิฏฐาไท นักศึกษาปริญญาเอก Department of Politics and International Studies มหาวิทยาลัย SOAS ประเทศอังกฤษ มาเปิดวงสนทนายามดึกใน Clubhouse คุยกันเข้มๆ ตั้งแต่สถานการณ์ล่าสุดของพม่า ถึงท่าทีของนานาชาติ และถอดบทเรียนสู่รัฐบาล-ประชาชนไทย




3 เดือนผ่านไป – ชีวิตคนพม่าใต้รัฐบาลทหาร


อรรวีเริ่มต้นด้วยการเท้าความถึงช่วงแรกหลังรัฐประหาร – เป็นช่วงที่เราได้เห็นประชาชนลงถนนประท้วงกันจำนวนมากถึงขั้นเรียกว่าทุกหย่อมหญ้าในพม่า จนกองทัพต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ในช่วงหลังประชาชนจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ประท้วงใหม่ จากเดิมประท้วงใหญ่กลายเป็น ‘แฟลชม็อบ’

“คนภายนอกอาจมองว่าการประท้วงอ่อนแรงลงเพราะไม่ใช่การประท้วงใหญ่แบบช่วงต้น แต่เราไม่อยากใช้คำว่าลดลง เพราะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมากกว่า จากที่ประชาชนออกมากันเยอะกลายเป็นสลับกันออกมา อย่างในเมืองย่างกุ้ง คนก็มาแสดงพลังแล้วไป เพื่อป้องกันการถูกปราบปราม

“ที่ทำแบบนี้ต้องเข้าใจว่าหนึ่งในเมืองที่ถูกปราบอย่างรุนแรงที่สุดคือย่างกุ้ง มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นศูนย์รวมคน มูฟเมนต์หลายๆ อย่างเกิดจากที่นี่ ทำให้เสี่ยงต่อการปราบปรามได้ง่าย ส่วนนอกเมืองย่างกุ้งเราก็เห็นการประท้วงอยู่ตลอดเวลาทั้งเมืองใหญ่เล็ก ไม่ได้น้อยลงไปแม้จะมีการปราบปรามอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม”

อรรวีเสริมว่านอกจากการประท้วงแบบ ‘ออฟไลน์’ เช่นการลงถนน ประชาชนพม่ายังประท้วงแบบ ‘ออนไลน์’ ด้วยการออกครีเอทีฟแคมเปญต่างๆ บนโซเชียลมีเดียเพื่อส่งสัญญาณไปถึงนานาประเทศให้ช่วยเหลือ ซึ่งทำมาตั้งแต่ช่วงต้นรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน

เธอยังได้ยินข่าวจากเพื่อนชาวพม่าอีกว่า “ตอนนี้ในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งจะได้ยินเสียงระเบิดทุกวัน” เพราะล่าสุด รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG ตั้งใจจัดตั้งกองกำลังประชาชน ทำให้มีการส่งคนไปฝึกกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองตามเมืองต่างๆ จึงอาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามเมืองใหญ่บ้าง อย่างไรก็ตาม เธอไม่อาจยืนยันได้ว่าเหตุความไม่สงบดังกล่าวมีที่มาจากฝ่ายไหนกันแน่

“ด้านกองทัพพม่า ถึงช่วงเดือนมีนาคมจะปราบปรามด้วยความรุนแรง แต่พอเดือนเมษายนก็เริ่มเพลาลงบ้าง” อรรวีเล่าว่าตอนนี้กองทัพเน้นการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยที่บริเวณชายแดนหรือรัฐคะฉิ่นมากกว่าในเมือง และกลยุทธ์ที่ทำควบคู่กัน คือการกดดันให้หลายๆ ภาคส่วนสำคัญในประเทศกลับมาทำงานเหมือนเดิม โดยเฉพาะธนาคาร สาธารณสุข และการศึกษา

“ทางกองทัพบังคับจับตัวคุณหมอหรือพยาบาลที่อารยะขัดขืนเพื่อบังคับให้ทำงาน ถ้าจับหมอไม่ได้ก็จับญาติๆ ส่วนภาคการศึกษา เขาไล่ครูอาจารย์ที่อารยะขัดขืนไม่สอนออกไปแล้วกว่าแปดพันคนทั่วประเทศ ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ก็จับกุมญาติพี่น้อง กดดันผ่านครอบครัวเหมือนหมอ และมีการออกมาตรการจูงใจสำหรับคนที่ไม่ขัดขืน เช่นเลื่อนตำแหน่งให้”

ด้านหน่วยงานราชการต่างๆ อรรวีกล่าวว่ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก หลายคนยังคงสไตรก์อยู่ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากการบริจาคของประชาชนผ่าน NUG — สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจึงเป็นการที่กองทัพพม่าติดต่อบริษัทเครือข่ายมือถือบางแห่งให้เปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะยังคงบล็อกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กอยู่ก็ตาม ทำให้เราเห็นธุรกิจบางส่วนเริ่มกลับมาค้าขายอีกครั้ง

“เดิมธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักตั้งแต่มีรัฐประหาร แต่หลังจากสงกรานต์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ธุรกิจ SMEs ท้องถิ่นที่มีหน้าร้านออนไลน์ ร้านอาหาร บาร์ เริ่มกลับมาทำอีกครั้ง แต่ธุรกิจที่เป็นแบรนด์ใหญ่ยังไม่ได้ออกตัวกลับมาเต็มที่นัก ฝั่งธุรกิจต่างชาติก็ยังคงรอดูอยู่ ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีแบรนด์ใหญ่สักแบรนด์เริ่มกลับมาทำธุรกิจคงส่งสัญญาณให้แบรนด์อื่นๆ กลับมาได้เช่นกัน”

อรรวีเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแค่เรื่องธุรกิจเท่านั้น แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็ยังน่ากังวล เพราะเงินจัตตอนนี้อ่อนค่ามาก เพิ่มจากเดิม 40 บาท กลายเป็น 50 บาทแล้ว — ถึงจุดนี้ การต่อสู้ทั้งหมดทั้งมวลย่อมส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแน่นอน แต่อรรวีก็ย้ำว่า “ทุกคนมองว่านี่เป็นการเสียสละเพื่อเป้าหมาย คือล้มล้างเผด็จการทหาร ทุกคนเข้าใจว่ามันยากลำบาก แต่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรจึงไม่มีใครบ่น

“ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนจะชนะด้วยหลายเหตุผล เช่น ทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน มี wining spirit และการทำอารยะขัดขืนก็เห็นได้ชัดว่าส่งผลกระทบต่อทหาร”


กลุ่มชาติพันธุ์ – ผู้เล่นสำคัญของขบวนการประชาชน


“ช่วงแรกของการรัฐประหาร เราต่างจับจ้องกันมากว่ากลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ จะออกมาแสดงจุดยืนอย่างไร เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธมีหลายกลุ่ม บางกลุ่มกล้าออกมาพูดชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามกองทัพ บางกลุ่มก็ทยอยออกมากันทีหลัง”

ศิรดาในฐานะผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามองว่าขบวนการต่อสู้ของประชาชนขณะนี้ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ถือเป็นตัวแปรสำคัญ และกลุ่มที่มีบทบาทชัดเจนที่สุดคือกลุ่มกะเหรี่ยง Karen National Union (KNU) ซึ่งออกมาโจมตีกองทัพโดยตรงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม กับกลุ่ม Kachin Independence Army (KIA) ของคะฉิ่นที่ต่อสู้กับกองทัพมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

กระนั้น ปัญหามีอยู่ว่า “ศักยภาพในการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกัน ด้านกำลังพล แม้จะรวมทุกกลุ่มก็ยังน้อยกว่า 3-4 เท่า” และการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กันเองเป็นไปได้ยาก ทำให้กองกำลังชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ตอนนี้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งเดินทางมาขอพักพิงที่ชายแดนไทย

“ประเทศไทยได้รับผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัยจากกลุ่ม KNU เป็นหลัก ซึ่งเขาพยายามสื่อสารถึงรัฐไทย นับจำนวนคนให้ไทยได้รู้ เพราะอยากขอความช่วยเหลือในเบื้องต้น ขอความเห็นใจให้ที่พักพิงชั่วคราว เมื่อทุกอย่างสงบ คนของเขาจะได้กลับไป”  

ทั้งนี้ ศิรดาตั้งข้อสังเกตว่าฝั่งไทยยังคงให้หน่วยงานความมั่นคงจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยจาก KNU แทนการให้ฝ่ายปกครองเข้ามาดูแล อาจเป็นเพราะกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ กลัวกระทบต่อความสัมพันธ์กับพม่าที่กองทัพตัดมาดอว์เป็นรัฐบาล และถ้าตั้งค่ายผู้ลี้ภัยชัดเจน ฝ่ายความมั่นคงอาจเกรงว่าจะเป็นการดึงดูดคนข้ามมาฝั่งไทยมากขึ้น สุดท้ายจึงยังไม่เห็นท่าทีรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งผู้เล่นสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้หมายความถึงการต่อสู้ด้วยกำลังทหารกับกองทัพเสมอไป สิ่งที่น่าสนใจสำหรับศิรดา คือเรื่องจุดยืนทางการเมือง การเข้าร่วมรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และแนวทางการเจรจาเพื่อสร้างดุลอำนาจระหว่างกลุ่มมากกว่า

เธอเล่าย้อนความว่าหลังเกิดการรัฐประหาร ส.ส. พรรค NLD ของอองซาน ซูจี ได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH) เพื่อเป็นหัวหอกของขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่ถูกนักการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเป็นตัวแทนของประชาชนที่หลากหลายมากพอ เมื่อผนวกกับเดิมที กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มาในรูปแบบพรรคการเมือง กลุ่มติดอาวุธ หรือภาคประชาสังคม ต่างไม่เชื่อมั่นพรรค NLD แล้วด้วย หนทางเดียวที่จะสร้างความเป็นเอกภาพและความชอบธรรมในนามขบวนการของประชาชนได้ มีเพียงต้องรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในตำแหน่งสำคัญ

CRPH จึงขยับขยายมาก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติคือ NUG เพื่อสื่อว่าต้องการร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่าย มองเห็นสิทธิของคนทุกกลุ่ม และสร้างวาระทางการเมือง ได้แก่ การจัดตั้งสหพันธรัฐที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มเข้ามาแบ่งปันอำนาจกันได้ กลุ่มชาติพันธุ์จึงพอใจ และเข้ามาร่วมมือใต้ร่มขบวนการเดียวกันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม – จากเหตุการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นตัวแปรที่มีสิทธิ์เสียงและขับเคลื่อนการต่อสู้ได้มาก

แม้ในตอนนี้ ใน NUG จะมีการถกเถียงเรื่องผู้มารับตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรี เช่นบางคนมีข้อครหาเรื่องโรฮิงญาบ้าง บางคนไม่ใช่ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ บ้าง แต่ทั้งหมดก็ยังเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

คือโค่นล้มรัฐบาลตัดมาดอว์


NUG รัฐบาลพลัดถิ่นกับเส้นทางบนขวากหนาม


“แม้ NUG จะมีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทน ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับประชาชนเมียนมาที่มีความฝันเรื่องสหพันธรัฐ แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ผสมออกมาได้ใกล้เคียงกับความฝันที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐบาลเมียนมามา”

พรรณิการ์ออกความเห็น หลังพิจารณาตำแหน่งในรัฐบาล 25 ตำแหน่ง จะเห็นว่ามีคนจาก NLD จับจองเพียง 12 เก้าอี้ หรือไม่ถึงครึ่ง ซึ่ง “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” เพราะตำแหน่งสำคัญต่างๆ ตกเป็นของตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น นายกรัฐมนตรีเป็นคนกะเหรี่ยง และรองประธานาธิบดีคะฉิ่น – ดังนั้น NUG ขณะนี้ พรรณิการ์มองว่าได้รับการยอมรับร่วมกันจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว และการยอมรับจากกลุ่มชาติพันธุ์นี้ คือกุญแจสำหรับก้าวต่อไปของ NUG เรื่องการจัดตั้งกองกำลังประชาชน

“หลังจากไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ดร.ซาซา (Dr.Sasa) รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Corporation) ของ NUG เขาเล่าว่า NUG เป็นฐานทางการเมือง และสิ่งที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลพลัดถิ่นคือกองทัพ การจะตั้งกองทัพได้ต้องอาศัยกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มติดอาวุธเดียวที่ไม่ใช่ทหาร ประชาชนมาจัดตั้งกันเองไม่ได้ เพราะถึงทหารพม่าจะมีเทคโนโลยีไม่ดีนัก แต่เขามีประสิทธิภาพการรบสูงจากการอยู่ในสงครามตลอดเวลา

“NUG จึงพยายามสร้างการยอมรับภายในประเทศ สร้างกองทัพ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะต่อให้ได้รับความร่วมมือจากชาติพันธุ์ทุกกลุ่มรวมกันยังยากจะต่อสู้กับทหาร และกระทั่งตอนนี้ NUG ก็ยังไม่ได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากทุกกลุ่มที่มีกองกำลังติดอาวุธขนาดนั้น”

อีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาตินี้พยายามทำ คือแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งพรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มประเทศ EU ยอมรับ NUG ในลักษณะเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองเมียนมา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่ยอมรับในฐานะเป็นรัฐบาล ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ต้องพูดถึง – ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ NUG ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเลย

“ดร.ซาซาเล่าว่าทางตะวันตกให้การสนับสนุน NUG ง่ายเพราะแชร์อุดมการณ์ทางประชาธิปไตยร่วมกัน แต่คนที่มีบทบาทต่อรัฐบาลตัดมาดอว์และนายพลมิน อ่อง หล่าย จริงคือกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาเขาทำงานหนักเพื่อให้อาเซียนยอมรับ NUG แต่ผลตอบรับไม่ดีเท่าไหร่” พรรณิการ์กล่าว เธออ้างถึงประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน สมัยพิเศษ เมื่อ 24 เมษายน ที่ผ่านมาว่า ถึงผู้นำอาเซียนชาติต่างๆ จะมีมติเรียกร้อง 5 ข้อถึงรัฐบาลพม่า เช่น เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงจากทุกฝ่ายทันที เปิดเวทีเจรจา รวมถึงมีผู้แทนพิเศษจากอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ในพม่า แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

“การประชุมนั้น NUG ไม่ได้รับเชิญ ซึ่งทางเขาเองไม่พอใจที่มิน อ่อง หล่ายได้ไป และไม่พอใจอาเซียนที่บอกว่าขอให้หยุดความรุนแรงจากทุกฝ่ายในเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นจากตัดมาดอว์ฝ่ายเดียว

“อีกเรื่องที่น่าพูดถึงคือผู้แทนพิเศษของอาเซียน NUG น่าจะหวังกับผู้แทนคนนี้ได้ แต่ถึงตอนนี้ผู้แทนคนนั้นจะเป็นใครยังไม่ทราบ มิน อ่อง หล่าย เอง เมื่อกลับจากจาการ์ตา ก็ประกาศว่าผู้แทนคนดังกล่าวจะเข้ามาในพม่าได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติหรือควบคุมได้แล้วระดับหนึ่ง ดังนั้น ความหวังของ NUG ต่อผู้แทนคนนี้ว่าจะเข้ามาทำให้เกิดการเจรจาใดๆ ก็ยิ่งดูเลื่อนลอย”

คำถามที่น่าสนใจคือเหตุใดอาเซียน หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป จึงยังไม่ประกาศตัวเป็นหัวหอกเข้าไปช่วยคลี่คลายการเมืองพม่า ซึ่งพรรณิการ์คิดว่า “คงไม่มีใครอยากหาเรื่อง นอกจากเป็นเรื่องปกติของโลกการเมืองระหว่างประเทศ เมียนมายังมีทรัพยากรเยอะ หลายประเทศทำมาค้าขายอยู่ ประเทศในอาเซียนบางที่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมาด้วย

“ดังนั้น แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นการคว่ำบาตรจากบริษัทเอกชนต่างชาติให้หยุดสายพานการผลิตในเมียนมาบ้าง แต่ในระดับรัฐคงไม่กล้าทำ ไม่กล้ารับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของประเทศที่เขายังต้องพึ่งพาแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน หรือมีกิจการภายใน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชนประเทศตนเองด้วย เราต่างรู้ว่ากองทัพพม่าลงมือทำจริง ถ้าคนที่อยู่ในโรงงานผลิตแก๊สธรรมชาติ น้ำมันในเมียนมาถูกจับคงเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครอยากเสี่ยง”

สุดท้ายแล้ว NUG ในสายตาพรรณิการ์ ก็อาจกล่าวได้ว่า “ยังไม่ได้มีแผนระยะยาว” และน่าจะต้องดิ้นรนแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศไปอีกพักใหญ่ ตามที่เธอแสดงความเห็นว่า “เราไม่เห็นรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประสบความสำเร็จมาหลายปีแล้ว รัฐบาลพลัดถิ่นสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จคือเจียงไคเช็ค ซึ่งในโลกปัจจุบันมันยากมากที่จะเห็นความสำเร็จเช่นนั้น

“สิ่งที่ NUG ทำ คือการพยายามชิงอำนาจความเป็นรัฐบาลกลับคืนจากตัดมาดอว์ ตอนนี้เขาติดอยู่กับการแสวงหาความชอบธรรมจากนานาประเทศ จึงยังไม่เห็นแนวทางอื่นๆ เป็นรูปธรรมชัดเจน”


รัฐประหารพม่าในสายตานานาชาติ


เมื่อหันกลับไปมองท่าทีของต่างชาติต่อการเมืองในพม่า ฟูอาดี้เริ่มต้นพิจารณาจากอาเซียนว่ามติเรียกร้อง 5 ข้อจากการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน สมัยพิเศษ ไม่ถือว่าแย่ แต่ยังคงมีปัญหาหลายจุด เช่น “เราไม่มีไทม์ไลน์ในมติเรียกร้อง 5 ข้อนั้น เมื่อไหร่จะส่งผู้พิเศษแทนไป ได้ยินว่ามีชื่อหลุดมาบ้าง แต่คนหรือกลุ่มคนที่ได้มีบารมีมากพอจะโน้มน้าวกองทัพหรือเปล่า นี่เป็นคำถามของนานาชาติจากความไม่ชัดเจนว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว และเราไม่มีมาตรการว่าถ้ากองทัพไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น เพราะตั้งแต่มตินี้ออกมา ยังมีคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ผมคิดว่าอาเซียนควรทำอะไรมากกว่านี้” ฟูอาดี้กล่าว เขาเสริมว่าสถานการณ์ตอนนี้หลายประเทศเริ่มมองการรัฐประหารของกองทัพเป็นรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกองทัพไม่สามารถรวบอำนาจทุกภาคส่วนมาสร้างรัฏฐาธิปัตย์ที่ตนเอง จนเกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจและมีโอกาสที่อำนาจอธิปไตยจะกลับมาสู่ฝั่งประชาชน

“อำนาจจะไปตกกับใคร นี่เป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามและสำคัญมาก เพราะเราควรอยู่ข้างที่ถูกต้อง” ฟูอาดี้คาดว่าเราน่าจะได้เห็นมูฟเมนต์บางอย่างจากอาเซียนหลังกลางเดือนพฤษภาคม หรือหลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ประธานอาเซียนเสร็จสิ้นการถือศีลอดเดือนรอมฎอน และจากการถอดบทเรียนสมัยสุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นเลขาธิการอาเซียนที่เข้าไปร่วมแก้ปัญหาไซโคลนนาร์กิสในพม่า เขาเสนอแนะว่า “อาเซียนอาจไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าไปฝ่ายเดียว ไม่ควรเพลย์เดี่ยว แต่ควรนำคนจากพม่าและ UN มาเป็นหนึ่งในทีมด้วย” โดยประเมินจากสถานการณ์ว่าขณะนี้ดูเหมือน UN จะให้อำนาจอาเซียนเป็นผู้ตัดสินใจเคลื่อนไหวเรื่องพม่า ดังนั้นอาเซียนอาจต้องรับบทผู้นำพาคนจากทุกฝ่ายเข้าไปหาวิธีเจรจา

พ้นไปจากอาเซียนแล้ว ประเทศที่ฟูอาดี้คิดว่าฝากความหวังได้ คือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ติมอร์ตะวันออก ออสเตรเลียก็เป็นผู้นำให้ไทยตามเข้าไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอินโดนีเซีย ส่วนนิวซีแลนด์เองก็ควบคุมโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี มีผลเสียต่อประเทศน้อยถ้าเป็นฝ่ายเริ่มออกตัว

“ส่วนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่ได้มองปัญหาของพม่ามากนัก แต่ก็น่าสนใจว่าโอบามากับพม่าเคยมีสายสัมพันธ์อันดีกันมาก่อน หลังฉีดวัคซีนในประเทศกันแล้วอาจจะทำอะไรมากขึ้นก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ฟูอาดี้ยอมรับว่า สมัยที่อองซาน ซูจี มีอำนาจ เธอได้ปกป้องกองทัพพม่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโรฮิงญา ทำให้เสียเครดิตบนเวทีนานาชาติไปมาก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ หรือกระทั่งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจึงค่อนข้าง ‘อิหลักอิเหลื่อ’ กับการสนับสนุนยอมรับ NUG ที่มีจุดตั้งต้นจากคนของพรรค NLD ผนวกกับที่ ฌอน เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวออสเตรเลียของอองซาน ซูจีถูกทหารพม่าจับตัวอยู่ จนทำให้ทางออสเตรเลียล้ำเส้นจนเป็นอันตรายต่อประชาชนของเขาไม่ได้ สุดท้ายจึงคล้ายกับว่านานาชาติยังเฝ้ามองสถานการณ์ของพม่าอยู่ห่างๆ อย่างเงียบๆ


รัฐบาลไทยกับบทบาทที่ต้องร่วมแก้ไขการเมืองพม่า


แม้ว่านานาชาติจะยังคงเงียบ แต่สำหรับประเทศไทย ทุกคนลงความเห็นว่าต้องจริงจังกับปัญหาของพม่ามากกว่านี้ โดยในทัศนะของฟูอาดี้ “สถานการณ์พม่าตอนนี้ถือเป็น foreign policy crisis ของไทย” เราควรรู้ตัวว่ามีอำนาจต่อรองมากกว่าที่คิด และดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น เพื่อช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

นอกจากนี้ยังควรวางแผนช่วยเหลือประชาชนพม่าเรื่องโควิด-19 เช่น สนับสนุนวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศจากผู้ลี้ภัย และคิดครอบคลุมถึงฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดของพม่าอย่างการที่แต่ละรัฐแตกออกเป็นประเทศย่อยๆ หลายร้อยกลุ่ม เพื่อให้ประเทศไทยวางแผนรับมือได้ทันท่วงที

ด้านศิรดาคิดเห็นแตกต่างออกไป เธอมองว่ากระทั่งตอนนี้ พม่ายังเปลี่ยนตนเองเป็นสหพันธรัฐได้ยากเพราะถูกขัดขวางทุกวิถีทางจากกองทัพตัดมาดอว์ ดังนั้นฉากทัศน์ที่ฟูอาดี้ว่าอาจไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนและควรใส่ใจคือเรื่องผู้ลี้ภัย และผู้อพยพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

“ประเทศไทยอยู่ติดกับพม่า ดังนั้นเราเคยเจอประวัติศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศว่าไทยรับผลกระทบจากการทหารอีกฝั่งชายแดน รับผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัย หนีภัยสงครามมาหลายทศวรรษแล้ว ตอนนี้แพทเทิร์นเดิมๆ จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ยิ่งกองทัพทหารไม่มีทีท่าอ่อนลงจะยิ่งทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนาน เราควรจะจัดการกับกลุ่มผู้ลี้ภัยพม่าอย่างไรบ้าง จะใช้วิธีการเดิมคือร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศจัดค่ายผู้ลี้ภัย หรือให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในเมือง ลงทะเบียนให้เรียบร้อยอย่างไร เพื่อให้เขาเอาตัวรอดได้” แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัยสงคราม แต่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเช่นกัน

ศิรดากล่าวต่ออีกว่า “อีกเรื่องที่เราต้องดูคือเมื่อสถานการณ์พม่าเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่การเมือง แต่เศรษฐกิจ ชีวิตประจำวันทุกๆ อย่างของประชาชนพม่าได้รับผลกระทบหมด ดังนั้นอาจมีคนต้องการมาทำงานในประเทศไทยมากกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธปิดพรมแดนได้ แล้วเราจะจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างไร เพื่อให้เขาอยู่ในระบบ ไม่ถูกกดขี่เอาเปรียบ โดนค้ามนุษย์ เราต้องเตรียมตัวเชิงรุกเพื่อจัดการปัญหาระยะยาวตรงนี้”

ที่สำคัญคือ “รัฐบาลไทยต้องกล้าที่จะมีจุดยืนแสดงออกเรื่องสิทธิมนุษยชน” ศิรดาเน้นย้ำ ซึ่งพรรณิการ์รับช่วงต่อว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลไทยไม่สนใจช่วยเหลือชาวพม่า – อย่างน้อยก็ช่วยผู้ลี้ภัยจริงๆ คงต้องบอกว่า “ถ้าคุณไม่จัดการอะไร จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า internationalize of conflict ไฟจากข้างบ้านลามเข้าบ้านคุณแน่นอน”

พรรณิการ์เล่าว่าในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ไทยไม่เคยปิดพรมแดนได้จริง มีผู้ลี้ภัยจากพม่าลอดรั้วลวดหนามข้ามมาโดยอาศัยความช่วยเหลือของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นตลอด ซึ่งแม้ในยามปกติจะสามารถทำเป็นไม่รู้เห็นได้ แต่ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด นั่นคือความเสี่ยงของการระบาดเชื้อสายพันธุ์ใหม่และวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข ดังนั้นอย่างน้อยรัฐบาลต้องจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยเพื่อป้องกันปัญหาโควิด-19 ไปด้วยในตัว

ยิ่งไปกว่านั้น เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แม้เราจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยและไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย แต่เรามีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคนที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาได้ รวมถึงมีระบบคัดกรองอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คือมีคณะกรรมการที่ให้ผบ.ตร. ผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกสี่คน เป็นผู้คัดกรอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ซึ่งระเบียบนี้ออกมา 22 มิถุนายน 2563 แต่ไม่เคยมีการบังคับใช้ โดยไม่มีสาเหตุว่าทำไม

“ถ้าบังคับใช้ จะแก้ปัญหาที่ชายแดนได้ทันที ทุกวันนี้การให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาหรือไม่ขึ้นอยู่กับกองทัพภาคสาม ซึ่งไม่ควรให้หน่วยงานระดับกรมทหารมาตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เพราะอาจเกิดการคอร์รัปชันมากมาย และทหารไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจหรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เราควรจะให้คณะกรรมคัดกรอง และองค์กรอย่าง UNHCR หรือ IOM เข้ามาจัดการ

“เมื่อมีคณะกรรมการคัดกรอง ตั้งระบบรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาอย่างเป็นทางการ มีการกักตัวโควิด 14 วัน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการหลุดรอดเข้ามาของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้” พรรณิการ์เสนอแนะ และชวนมองต่อไปอีกเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่าอยู่มาก

“ถ้าสถานการณ์ของพม่ายืดเยื้อแบบนี้ต่อไป ไทยจะเกิดวิกฤตด้านพลังงาน เพราะพม่าที่ถูกคว่ำบาตรจากสิงคโปร์และนานาประเทศ ฐานผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหลายแห่งจะหยุดเพราะการคว่ำบาตรหรือเกรงความไม่ปลอดภัย

“สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือเมียนมาลดการส่งออกพลังงานที่เป็นรายได้หลักของเขา เพื่อให้มีพอใช้ในประเทศ”

เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยได้รับผลกระทบ พรรณิการ์จึงเสนอว่า “รัฐบาลควรคุยกับ ปตท.สผ. อย่างเป็นทางการว่าจะต้องกดดันพม่าให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด โดย ปตท.สผ. สามารถมีส่วนร่วมได้ คือไม่จ่ายสัมปทานรัฐบาลตัดมาดอว์เพื่อกดดัน วิธีคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนี้เป็นไปได้และจะเป็นการฟรีซทรัพย์สินของบรรดานายพลเมียนมาในประเทศไทยด้วย

“เราสามารถกดดันให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางการเจรจา และกลับมาสู่ความเป็นปกติ เพื่อทำให้ประเทศไทยรอดจากวิกฤตผู้ลี้ภัยที่นำโควิดมาและวิกฤตพลังงาน” พรรณิการ์ยังเสริมด้วยว่าสำหรับประเทศที่ย่ำแย่และมีทีท่าจะฟื้นตัวจากโควิดได้ช้าอย่างประเทศไทย การช่วยคลี่คลายปัญหาของพม่าถือว่าเป็นการสร้างโปรไฟล์ระดับโลกแก่ประเทศ และจะทำให้ไทยกลับมาเชิดหน้าชูตาในภูมิภาคได้อีกครั้งหนึ่ง

ส่งต่อสปิริตนักสู้ บทเรียนสู่ประชาชนไทย


ท้ายที่สุดแล้ว หากถามว่าการติดตามสถานการณ์ในพม่ามอบประโยชน์หรือบทเรียนอะไรให้แก่คนไทย พรรณิการ์เลือกตอบว่าอย่างแรกคงเป็นการส่งต่อสปิริตนักสู้ของประชาชนพม่า

“เราถามกันมาสามเดือนแล้วว่าประชาชนพม่าจะชนะไหม ทุกครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องนี้กับคนในประเทศพม่า คำตอบจะเป็นแบบเดียวกันหมด คือต่อให้เหลือโอกาสแค่ 1% ก็ยังต้องสู้ เพราะสำหรับประชาชนในพม่า ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าชีวิตใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสู้ แพ้ชนะเป็นเรื่องอนาคต ตราบใดที่เขายังสู้อยู่คือยังไม่แพ้ แค่ยังไม่ชนะ”

แม้ในช่วงที่ผ่านมา วิกฤตโควิดอาจทำให้คนไทยเป็นห่วงชีวิต สุขภาพ และปากท้องของตนเองจนอาจละเลยข่าวจากพม่าไปบ้าง แต่พรรณิการ์ก็หวังว่าเรายังคงติดตามใส่ใจเรื่องพม่ากันต่อไป และ “อย่าคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้ คนเมียนมาที่ยืนปลายปากกระบอกปืนยังคิดว่าตัวเองทำอะไรได้ เราก็ต้องส่งเสียงทุกวิถีทางให้รัฐบาลช่วยแก้ไขเรื่องในพม่า ถึงเพื่อนแท้ของเผด็จการคือเผด็จการด้วยกัน พลเอกประยุทธ์ไม่อยากทำ เพราะยึดอุดมการณ์ตรงข้ามกับประชาธิปไตยและมองว่าถ้าประชาชนเมียนมาทำสำเร็จจะกลายเป็นโมเดลการต่อต้านรัฐประหาร แต่ถ้าเราไม่ส่งเสียงเลย รัฐบาลก็จะลอยนวลจากเรื่องนี้ง่ายเกินไป

“ประชาชนเป็นเจ้าของภาษีและเป็นเจ้านายของรัฐบาลที่เราจ่ายภาษี ประชาชนมีหน้าที่ต้องกดดัน มันเป็นพันธกิจร่วมระหว่างคนไทยกับคนพม่าที่ต้องสู้ไปด้วยกัน ต่อให้คุณไม่แคร์การเมืองของเพื่อนบ้าน แต่อย่างน้อยทุกคนก็คงแคร์เรื่องโควิด วิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นจากการเมืองพม่าแน่นอน” พรรณิการ์กล่าว

ด้านอรรวีเองก็เรียกร้องให้ประชาชนไทยติดตามข่าวสารจากพม่าเช่นกัน โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ที่ขบวนการภาคประชาชนในพม่ามีแนวโน้มจะใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารมากขึ้น เกิดความรุนแรงมากขึ้น

“สิ่งที่คนไทยทำได้คือส่งกำลังใจ และพูดแทนพวกเขาในทุกสื่อ ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบ ตอนนี้มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของและเงินโดยชุมชนคนพม่าที่ได้การรับรองจาก NUG ในไทยแล้ว เราก็สามารถช่วยสนับสนุนชาวพม่าได้อีกทาง

“ทางฝั่งพี่น้องพม่าก็เห็นใจเราที่ตกอยู่ใต้รัฐบาลผู้นำทหาร และส่งกำลังใจให้คนไทยเช่นกัน จากเหตุการณ์นี้เราน่ะได้เรียนรู้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้ของฝั่งพม่า รวมถึงการใช้ครีเอทีฟแคมเปญต่างๆ ได้”

ฝ่ายศิรดาขยายความเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้คนพม่าเริ่มใช้โซเชียลมีเดียแสดงพลัง และพยายามสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเพื่อให้คนต่างชาติเข้าใจ นี่เป็นตัวอย่างให้การต่อสู้ของเราเช่นกันว่าต้องพยายามสื่อสารให้คนภายนอกรู้และเข้าใจบริบทการเมืองภายในเพิ่มขึ้น”

เธอยอมรับว่าหากประเมินในมุมของยุทธศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์ทางการเมืองอาจจะมีความเป็นไปได้ต่ำที่ประชาชนจะชนะ แต่เราไม่อาจมองข้ามความหวัง สปิริตความเป็นนักสู้ของประชาชนพม่า ซึ่งสะท้อนผ่านการดิ้นรนตั้งแต่ประท้วงลงถนน เรียกร้องความช่วยเหลือจากต่างชาติ จนมารวมตัวกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นได้

“ไม่ว่าเราจะประเมินอย่างไร ก็ไม่ควรดูถูกให้พวกเขาเสียกำลังใจเด็ดขาด อยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุน และมองเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาสูญเสียมีอะไรบ้าง” เพราะก่อนหน้านี้ตอนที่กระแสรัฐประหารพม่าดังในไทย ศิรดาสังเกตว่ามีขบวนการตรงข้ามฝั่งประชาธิปไตยในไทยพยายามเชื่อมโยงการเมืองไทยเพื่อป้ายสี ปลุกปั่น บั่นทอนความตั้งในการต่อสู้ต่างๆ นานา เธอจึงเน้นว่าผู้ที่ติดตามข่าวต้องมองให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในการต่อสู้เหล่านั้นด้วย

สำหรับความเห็นของฟูอาดี้ เขาปิดท้ายว่าจากเหตุการณ์รัฐประหารพม่าทำให้ไทยเรียนรู้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศสำคัญเพียงใด “การมีเสถียรภาพทางการเมืองไทยที่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองและทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้น ถ้าเรามีรัฐบาลที่มาจากความชอบธรรม ไม่มีข้อกังขา ไม่มีการประท้วงภายในประเทศ เราจะสามารถคุยกับพม่า ล็อบบี้ เชื้อเชิญนานาชาติได้ ตอนนี้เราเป็นเสือที่มีแผลเหวอะ จะทำอะไรก็ไม่ได้ เกรงใจ

“ดังนั้น ถ้าการเมืองภายในประเทศนิ่ง เราก็จะช่วยเหลือปัญหานานาชาติได้ดี นี่คือบทเรียนของเรา”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save