fbpx
เพราะเรามีกันและ ‘กัญ’

เพราะเรามีกันและ ‘กัญ’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

1

 

เห็นเขาในสภาพนั้นแล้วผมนึกถึงตัวเองเมื่อ 17 ปีก่อน

ภาพของชายหนุ่มผอมโซ ไร้เรี่ยวแรง ดวงตาและผิวแห้งผาก ผิวหนังที่คอไหม้คล้ำดำกว่าผิวเนื้อส่วนอื่น มีเส้นสีน้ำตาลจากหมึกอะไรสักอย่างแต้มเป็นตารางไว้เฉพาะจุดบริเวณคอและใต้คาง เพื่อรับการฉายแสงไปพร้อมๆ กับการรับเคมีบำบัด

ผมทราบเพียงว่าเขาเป็นมะเร็งกล่องเสียง ส่วนผมเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เห็นเส้นสีน้ำตาลที่คอเขาแล้วนึกถึงตอนที่ตัวเองเดินเล่นอยู่สยามสแควร์กับเพื่อน ฝรั่งสักลายเต็มตัวเดินผ่านมาแซวว่า “ลายสักคุณเท่มาก”

ถามว่าโกรธฝรั่งไหม โกรธทำไม เขาอาจให้กำลังใจหรือมองว่าเป็นลายที่เท่จริงๆ ก็ได้

ถ้าจะโกรธก็โกรธตัวเอง 17 ปีก่อนถ้ารู้ว่าใช้กัญชารักษาได้คงไม่ต้องเอาร่างกายไปทรมานรับการรักษาแบบที่ชายหนุ่มตรงหน้าผมกำลังเผชิญ จนวันนี้แม้ไม่ต้องขึ้นเขียงทรมานแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าร่างกายแข็งแรงดี

คนที่เคยผ่านการฉีดคีโมมา โดยไม่ต้องถาม มองตากันก็รู้ว่ากินอะไรก็ไม่อร่อย กินแล้วอ้วกออก ผมเผ้าร่วงหมดหัว สภาพเหมือนซอมบี้ เหลือแต่ก้อนหัวใจบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งตาย เกรงใจครอบครัวที่หาเงินหมื่นเงินแสนมาดูแลจ่ายค่ารักษา

จากวันนั้น ไม่รู้ว่าชายหนุ่มตัดสินใจเลือกรักษาตัวเองแบบไหน หรือยังมีชีวิตอยู่ไหม แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับฟังวิธีการผลิตน้ำมันกัญชาสกัดจาก ‘ลุงตู้’ บัณฑูร นิยมาภา ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ไปแล้ว

ถามลุงตู้ว่าเปิดเผยวิธีการผลิตให้คนอื่นรู้ไม่กลัวถูกตำรวจจับหรือไง ลุงตู้บอกหนุ่มคนนั้นเขาก็เป็นตำรวจ จะไปกลัวเขาทำไม น่าสงสารมากกว่า ถ้าเขาใช้กัญชาแล้วกินข้าวได้ นอนหลับ มีเรี่ยวแรง เท่านี้ก็ดีถมแล้ว ที่สำคัญเขามีทางเลือก

เลยถึงบางอ้อ แม้แต่ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนแถลงข่าวจับกัญชาล็อตใหญ่ว่ากัญชาเป็นยา เพราะเขาใช้รักษาพี่สาวจนหายมาแล้ว ด้วยวิธีสกัดกับเอทิลแอลกอฮอล์

กัญชาผิดกฎหมาย แต่นายตำรวจบอกเองว่าเป็นยา โลกเราก็เป็นแบบนี้ !

 

วิธีผลิตสารสกัดจากกัญชาด้วยการต้มกับหมอหุงข้าวในครัวเรือน

 

2

 

ในทางการเมือง ดูเหมือนว่าโลกส่วนหนึ่งจะเลี้ยวขวา หันเข้าหาความรุนแรง เหยียดสีผิว-เชื้อชาติ และฆ่ากันโดยไม่ลังเล แต่สิ่งที่ดูเป็นความหวังกลายเป็นเรื่องของวงการสาธารณสุข

หลายประเทศประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย เพราะพบว่าสรรพคุณของมันรักษาโรคได้  โรคที่คนคุ้นเคยดีก็คือมะเร็ง ยังไม่นับความดัน เบาหวาน โรคชักเกร็ง และอัลไซเมอร์ ที่หลายงานวิจัยระบุว่ากัญชาช่วยบำบัดรักษาได้

เคยได้ยินทฤษฎีทำนองว่าคนเราสามารถเชื่อมโยงความรู้จักกันแม้จะอยู่กันคนละที่ได้ไม่เกิน 7 คน พูดอีกแบบคือ คนที่ 1 แม้ไม่รู้จักคนที่ 7 แต่สามารถเชื่อมผ่านคนที่ 2, 3, 4 จนรู้จักกันได้แน่นอน

จริงเท็จไม่รู้ เข้าใจว่าเรื่องแบบนี้เอาไว้อธิบายทำนองว่าทำไมคนเราถึงไม่ควรหมางเมินกัน แต่ผมมั่นใจว่าถ้าเชื่อมด้วยโรคมะเร็งอาจง่ายกว่า นับนิ้วมือซ้ายมือขวา นึกถึงหน้าเพื่อนหน้าญาติพี่น้อง ไม่น่ามีใครไม่เคยผ่านความสูญเสียจากไอ้โรคนี้

เฉพาะในไทย รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขยังให้มะเร็งเป็นเบอร์ 1 ของสาเหตุการตาย ปีละกว่า 67,000 คน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 และสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจอีกราว 8 หมื่นล้านบาท

 

น้ำมันกัญชาที่บรรจุลงขวดขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้หยอดใต้ลิ้น

 

แต่กัญชาในไทยยังผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 และยังเป็นผู้ร้ายของวงการแพทย์อยู่

“คนเจ็บไข้ได้ป่วยรอไม่ได้” ลุงตู้ตอบคำถามว่าทำไมถึงไม่รอให้กัญชาถูกกฎหมายเสียก่อนแล้วค่อยสกัดเป็นยา

อดีตตำรวจบอกใครต่อใครว่าเป็นแค่ขี้ยาที่อยากรักษาคน ลาออกจากราชการปีเดียวกับที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดประกาศใช้ จากที่เคยหาสมุนไพรในป่ามาต้มขาย โลกสมัยใหม่มอบกูเกิลและยูทูบให้เขาค้นพบวิธีสกัดกัญชาเพื่อมารักษาน้องสาวที่กำลังเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลาม

ริค ซิมสัน (Rick Simpson) ชาวอเมริกัน อัดคลิปวิดีโอวิธีสกัดกัญชาใช้รักษาตัวเองลงในยูทูบ คือครูคนแรกที่ทำให้ลุงตู้ตาสว่าง เพราะเคยเชื่อว่าคนเป็นมะเร็งต้องพึ่งพาเคมีบำบัดหรือฉายแสงเท่านั้น

“กัญชาใช้รักษาโรคมานานแล้ว บนผนังปราสาทตาพรหมในกัมพูชาที่สร้างสมัยศตวรรษที่ 11 ก็ยังมีรูปสลักต้นกัญชาอยู่เต็มไปหมด” ลุงตู้ส่งภาพสลักบนผนังมาให้ดูทางกลุ่มไลน์ ‘กัญชารักษามะเร็ง’ ที่มีสมาชิกเกือบ 500 คน ซึ่งเต็มไปด้วยคนป่วย แพทย์ นักธุรกิจ อธิการบดี นายตำรวจ ปลัด อดีตรัฐมนตรี ฯลฯ

จากวันที่รักษาน้องสาวจนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ลุงตู้ใช้บ้านของตัวเองเป็นที่ผลิตน้ำมันกัญชาแบบครัวเรือนตามวิธีของริค ซิมสัน คือ เอากัญชาที่หาได้มาแช่กับเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วนำไปกรองเหลือแต่น้ำ ก่อนจะต้มกับหม้อหุงข้าวเพื่อไล่แอลกอฮอล์ให้ระเหยไป ก็เอาไปใช้ได้

 

บัณฑูร นิยมาภา ผู้ผลิตน้ำมันกัญชา เครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์

 

อดีตตำรวจสายเขียวเปรียบว่าถ้าคุณเจอกุญแจไขเข้าบ้านได้ จะมัวใช้ชะแลงงัดประตูให้พังทำไม

ใช่, บางคนหาย แล้วคนที่ไม่หายล่ะ

เป็นคำถามที่ดี แต่ในข้อสงสัยเดียวกัน เราถามตัวเองไหมว่าเวลาขึ้นเขียงที่โรงพยาบาลแล้วไม่หายล่ะ เราจะนับว่าวิธีรักษาแบบเดิมเป็นคำตอบสุดท้ายไหม

ตัวผมเอง ผลตรวจเลือด ผลเอ็กซเรย์วันนี้ปกติ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะอยู่เป็นอมตะ มีคนไม่น้อยสับสนว่าการหายจากความเจ็บป่วยกับเป็นอมตะเป็นเรื่องเดียวกัน

เคยได้ยินว่ามีอยู่เคสหนึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย รักษาที่โรงพยาบาลหรูได้สามอาทิตย์ สองวันสุดท้ายก่อนตายมีญาติเอากัญชามาให้ใช้ เขาพูดคำสุดท้ายก่อนสิ้นลมว่าไม่ปวดแล้ว ส่วนครอบครัวต้องจ่ายไปเกือบล้านเพื่อพาศพออกไปเผา

ชีวิตเราก็เท่านี้ ! เปล่าหรอก คงดีกว่านี้ถ้าเราเลือกได้ว่าควรตายอย่างสงบ ถูกกฎหมาย และไม่ต้องจ่ายแพง

 

3

 

ปลายเดือนกันยายน 2560 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เปิดห้องสัมมนาเรื่อง Cancer 4.0 ดูจากสายตาคร่าวๆ คนมาฟังไม่น่าต่ำกว่าสามร้อยคน

มีโอกาสได้ฟังผู้เชี่ยวชาญสองคน แล้วรู้สึกเมืองไทยยังมีความหวัง

ทำไมสังคมไทยในวงการแพทย์ยังไม่ยอมรับว่ากัญชารักษามะเร็งได้ ผมถามคำถามระดับชาติแค่ในใจ แต่คำตอบของ ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร นักวิทยาศาสตร์ด้านรหัสพันธุกรรม ก็ทำให้หายสงสัยได้ระดับหนึ่ง

“หมอไทยไม่โง่ แค่ขี้เกียจอ่านงานวิจัยใหม่ๆ” เธอว่าอีกว่า วิธีการรักษามะเร็งทั่วไปคือการฉายรังสีและเคมีบำบัด และเรามักเห็นผู้ป่วยไม่หายขาดเพราะมันทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่คอยต้านมะเร็งไว้ แต่จากการทดลองในแล็ปพบว่าสารสกัดจากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำให้ยีน TP53 กลายพันธุ์

อีกคำถามคือ อะไรในกัญชาที่มารักษาร่างกายเรา นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย บอกว่า ในกัญชามีสาร 2 ชนิดทำหน้าที่ร่วมกัน คือ สาร CBD (Cannabidol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ตัวแรกทำหน้าที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบบวมโตของแผลหรือเนื้องอก ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้

ส่วนสารตัวหลัง มีผลในทางจิต ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หรือที่หลายคนที่ใช้แล้วรู้สึกเมา ตัวเบา อีกทั้งยังเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสทำงานดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร นอกจากการสูบปัจจุบัน วิธีใช้ในทางการแพทย์ที่ได้รับสาร CBD และ THC มากกว่าการสูบคือหยอดใต้ลิ้น เพื่อให้สารสกัดซึมผ่านระบบประสาท หรือการกินสำหรับให้ตัวยาเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร

ระหว่างที่วิทยากรอธิบายบนเวที ที่ด้านล่างก็ต้องตกอกตกใจ ไม่มีใครคิดว่าจู่ๆ จะมีผู้ฟังชายวัยกลางคนเกิดอาการตัวเกร็งล้มลงไปชักกระตุกอยู่ที่พื้น พยาบาลสาวสองคนปรี่เข้ามาประคองศีรษะ และพยายามปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ให้เขากัดลิ้นตัวเอง แต่อาการชักยังดูรุนแรงขึ้น ลุงตู้ซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ หยิบขวดน้ำมันกัญชาออกมาจากกระเป๋าเสื้อ และหยดใส่ใต้ลิ้นเขาทันที

ทั้งๆ ที่กล้องอยู่ในมือ แต่ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เพราะมัวแต่ตกใจไปด้วย แต่ท่ามกลางสายตาหลายร้อยคนในวันนั้นก็พอเป็นพยานได้ว่าไม่ถึง 20 วินาที อาการลมชักของชายคนนั้นก็หายไป เขาค่อยๆ ลุกยืนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก่อนที่ทีมพยาบาลจะพาเขาไปนอนพักที่เตียงคนไข้

 

4

 

เห็นอาการชักกระตุกแล้วนึกถึง เอมีเลีย นูเนซ (Amylea Nunez) ทารกสาววัย 2 เดือน ที่รัฐนิวเม็กซิโก พ่อและแม่ของเธอบอกว่าลูกสาวเป็นโรคลมชักชนิดพิเศษ และแพทย์ไม่อาจหาทางรักษาได้ จนครอบครัวต้องตัดสินใจพาเอมีเลียย้ายมารักษาที่รัฐโคโรลาโด

ทารกน้อยได้รับการใช้ยาหลายชนิด แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พ่อของเธอเกรงว่าการใช้ยาเคมีจะทำให้แย่ต่อตับลูกสาว จึงหันมาพึ่งน้ำมันกัญชาแทน แล้วเอมีเลียก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สอดคล้องกับรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าไม่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ใช้น้ำมันกัญชาที่ใช้ไปรักษาโรค

ส่วนคนไทยที่ใช้น้ำมันกัญชารักษาตัวเองและคนในครอบครัว อย่างน้อย 2 คนที่ผมมีโอกาสได้ฟังพวกเขา

คนแรก สุเทพ เลาหะวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และอดีตซีอีโอหลายบริษัท เราพบกันบนภูสูงแห่งหนึ่งที่มีการปลูกกัญชาเพื่อรอวันเอามาสกัดเป็นยา

เขาบอกว่าเมื่อหลายเดือนก่อนประสบอุบัติเหตุหัวกระแทกขอบสระว่ายน้ำจากท่าตีกรรเชียง ทำให้สลบไปและมีเลือดคลั่งในสมองจนแพทย์ต้องผ่าตัดใหญ่ หลังฟื้นขึ้นมาภายในวันเดียว แพทย์ผู้ผ่าตัดแปลกใจว่าทำไมเขาฟื้นตัวเร็ว ทั้งที่ส่วนใหญ่คนอายุกว่า 70 ปี มักใช้เวลา 3-4 วันหรือเป็นสัปดาห์ในการฟื้นตัว

“ผมบอกหมอว่าผมใช้กัญชามาก่อน” สุเทพเล่าปนเสียงหัวเราะ และหลังจากนั้นเขาก็ยังใช้บำบัดอาการปวดไมเกรนของตัวเองมาตลอด ส่วนแม่ของเขาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อ 5 ปีก่อน เขาก็หาน้ำมันกัญชามารักษาแม่ ทั้งการหยอดใต้ลิ้น กินเป็นแคปซูล และสวนทางทวาร ปัจจุบันแม่ของเขายังมีชีวิตอยู่โดยไม่เจ็บไม่ปวดในวัย 102 ปี

อีกคนคือ ปิยมาต เหล็กแดง เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะสามีเป็นมะเร็งเสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีก่อน ส่วนน้องนาโน ลูกสาววัย 9 ขวบ ป่วยพิการทางสมอง เธอเล่าว่าตอนคลอดน้องนาโนใหม่ๆ  ยังอาศัยอยู่ย่านโรงงานบางพลี สมุทรปราการ จนเข้าวันที่ 29 น้องเริ่มมีอาการกระตุกเป็นช่วงๆ และเริ่มชัก จึงพาไปโรงพยาบาล นอนอยู่ 1 เดือน หมอบอกว่ามาช้าไป เด็กชักนานเกินทำให้สมองขาดออกซิเยน

เธอพาลูกกลับมาบ้าน “ลูกไม่แสดงอาการอะไรเลย นอนนิ่ง เหม่อลอย ฉีดยา เจาะเลือดก็ไม่ร้องไห้ เหมือนเด็กไร้ความรู้สึก บางทีก็คิดว่าเหมือนเลี้ยงท่อนไม้”

พอน้องนาโนอายุครบ 3 เดือน เธอพาไปตรวจที่โรงพยาบาลเด็ก หมอบอกว่าลูกสมองพิการ ตอนนั้นหูอื้อ เดินร้องไห้ออกจากโรงพยาบาลเหมือนคนบ้า

“จากนั้นมาลูกก็เริ่มมีอาการชัก เกร็ง กระตุกทุก 5 ชั่วโมง บางวันทุกชั่วโมง ที่ผ่านมากินยาวันละ 8 เม็ด เป็นยาคลายกล้ามเนื้อกับยากันชัก แต่ก็ไม่หาย จนลูก 7 ขวบ หรือสองปีก่อน ได้มาเจอลุงตู้ แกส่งยาให้ใช้ฟรี ทุกวันนี้หยอดน้ำมันกัญชาให้ลูกก่อนอาหารสองเวลาก็ไม่มีอาการชักอีกเลย”

“วันแรกที่ติดต่อลุงตู้ไป ลุงตู้บอกว่าลูกเราเป็นเด็กสมองพิการคนแรกที่จะใช้กัญชานะ มีหวั่นๆ บ้างกลัวลูกใช้แล้วตาย พอไปถามหมอที่โรงพยาบาลเด็ก เขาบอกใช้ได้ พอใช้แล้วลูกกินข้าวได้ นอนหลับได้ไม่ชัก จากที่ต้องพาลูกไปโรงพยาบาลทุกเดือน ก็เปลี่ยนมาเป็น 6 เดือนครั้ง”

บางคนที่รู้ว่าเธอใช้กัญชากับลูก ตั้งคำถามว่าทำไมทำแบบนั้น ไม่รู้หรือว่าเป็นยาเสพติด เธอบอกว่า

การที่คนป่วยต้องพึ่งยาทั่วไป กินมาทั้งชีวิตก็ไม่หาย บางคนกินยาจนไตวายตายก็ยังไม่หาย แบบนี้เรียกว่าติดยาไหม

 

กลุ่มเด็กสมองพิการที่ใช้น้ำมันกัญชารักษาอาการชักและเกร็ง

 

5

 

หลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางวาทกรรมว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ก่อนจะคลี่คลายและได้รับการอธิบายใหม่จนนำไปสู่การแก้กฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงได้ มีรายงานการศึกษาและวิจัยอย่างน้อย 121 ชิ้นเกี่ยวกัญชากับการรักษาโรคมะเร็ง จากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (The National Center for Biotechnology Information) สหรัฐอเมริกา ยืนยันถึงวิทยาการความก้าวหน้าดังกล่าว

แม้แต่งานวิจัยในการทดลองสารสกัดกัญชาที่ทำให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีของผู้ป่วยจริงในหลอดทดลองฝ่อตายลงไป ซึ่งเป็นผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้รับการยอมรับและถูกบันทึกไว้ในศูนย์ข้อมูลนี้ด้วย

ไม่นานมานี้เห็นในเฟซบุ๊กว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ขอรับกัญชาจาก พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส. เพื่อมาวิจัย ซึ่งรับมอบกัญชาคุณภาพดีที่ได้จากการจับกุมจำนวน 40 กิโลกรัมให้มาวิจัยโดยเฉพาะ

ถึงตรงนี้ ถ้าพูดแทนปู่ย่าตายายที่อาจไม่ได้มีชีวิตอยู่ทันเห็นกัญชาถูกกฎหมาย ก็ต้องอนุโมทนาสาธุด้วย รุ่นลูกรุ่นหลานจะได้เห็นรายละเอียดว่าโรคไหนต้องใช้กัญชาในปริมาณเท่าไหร่บ้าง บางคนไม่มีที่ปลูกเอง แต่มีเงินจะได้เตรียมเงินซื้อถูก

เวลาพูดถึงกัญชา ผมมักได้ยินอยู่ 2 แบบ ถ้าคนที่ไม่แอนตี้ไปเลย ก็จะมองมันในฐานะความบันเทิง ทั้งในทางผ่อนคลายขบขันและความเลิศรสที่มันมอบให้ผ่านการปรุงอาหาร

แต่ผมมองมันในฐานะ “สิทธิ” หากมีวันที่ทุกคนสามารถปลูกและสกัดเป็นยาเองได้ เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ที่เป็นสมบัติของทุกคน

นอกจากรักษาคนได้ ประเทศกรีซซึ่งอยู่ในภาวะล่มจมทางเศรษฐกิจมาหลายปีมีหนี้สินให้ต้องชดใช้ก็กำลังจะผ่านกฎหมายอนุญาตให้จำหน่ายและใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ กรีซฝันถึงขนาดกัญชาจะช่วยฟื้นฟูประเทศนั่นแหละ

นึกไม่ออกว่าคนที่เคยเชื่อว่าโลกแบน และขึงขังก้าวร้าวกับคนอื่นที่ไม่เชื่อ เขาเปลี่ยนท่าทีปรับจูนอารมณ์ตัวเองอย่างไร เมื่อวันหนึ่งเขาพบว่าโลกกลมแล้วจริงๆ

แต่สำหรับกัญชา ผมนึกถึงหมอซันเจย์ กุปต้า (Sanjay Gupta) ปัจจุบันเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมอยู่ในเมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย อเมริกา ซึ่งเปลี่ยนท่าทีและแสดงออกอย่างชัดเจน

สมัยที่ยังเป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านการแพทย์ของสำนักข่าว CNN เขาเคยเขียนบทความคัดค้านการแก้กฎหมายเพื่อให้กัญชาถูกกฎหมายในการรักษาทางการแพทย์ จนกระทั่งปี 2556 เขาตาสว่างและออกมาประกาศขอโทษประชาชน แถมสนับสนุนการใช้กัญชาเต็มที่

ตอนหนึ่งในบทความของหมอซันเจย์ เรื่อง Why I Changed my Mind on Weed บอกว่าเขามีความเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการขึ้นบัญชีให้กัญชาเป็นยาเสพติดอันตรายนั้นเพราะมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีแล้ว แต่เอาเข้าจริงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าเลย

“เราถูกชี้นำอย่างชั่วร้ายและเป็นระบบมานานเกือบ 70 ปี” หมอซันเจย์บอกและขอโทษที่ตัวเขาเคยมีส่วนร่วมในการชี้นำ เพราะเขาไม่ได้พิจารณาให้มากพอ ไม่ได้สนใจเสียงและเหตุผลของผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากการใช้กัญชา

 

อ้างอิง

เรื่องของเอมีเลีย นูเนซ

รายงานขององค์การอนามัยโลก

รายงานของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

เรื่องของหมอซันเจย์ กุปต้า

____________________

อ่านเรื่อง ฝุ่นตลบ ‘กัญชา’​ และ ‘ปฏิกิริยา’​ จากโลกเก่า

อ่านเรื่อง “กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save