fbpx
อย่าคิดว่าแน่ เลยไม่แคร์เบาหวาน - ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

อย่าคิดว่าแน่ เลยไม่แคร์เบาหวาน – ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

ณัฐกานต์ อมาตยกุล เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

สำหรับคนอายุน้อย “เบาหวาน” อาจเป็นเรื่องไกลตัวเพราะดูเป็นเรื่องของคนอายุมาก หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่ในเรดาร์ความสนใจ คิดว่ายังไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเบาหวานก็ได้จนกว่าจะเป็น ซึ่งนับว่าเข้าใจผิดถนัด

ความรู้เบื้องต้นก็คือ เบาหวานคือโรคที่ระดับน้ำตาลในร่างกายผิดปกติ ซึ่งตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กำหนดไว้ว่าคือค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง อยู่ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือหากตรวจโดยไม่อดอาหารมาก่อน จะใช้ค่า 200 มก./ดล. เป็นเกณฑ์ เหตุที่กำหนดเช่นนี้เนื่องจากพบว่า โรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นที่ระดับดังกล่าว

ระดับน้ำตาลที่สูงกว่าค่าปกตินี้ อาจเกิดจาก เบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานที่เกิดจากการผลิตอินซูลิน ‘ไม่ได้’ (อินซูลินทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ให้เผาผลาญเป็นพลังงาน) หรือ เบาหวานชนิดที่ 2 คือเบาหวานที่เกิดจากการผลิตอินซูลินได้ แต่ผลิตได้ ‘ไม่เพียงพอ’ เพราะเกิดภาวะเซลล์ดื้ออินซูลิน (insulin resistance) และยังมีเบาหวานชนิดอื่นๆ ที่เราต้องเรียนรู้กันต่อไป

คำอธิบายแบบนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่หลายคนละเลยในการหาข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวาน เพราะคิดว่า ถ้าร่างกายไม่ได้ผิดปกติเสียอย่าง แล้วจะสนใจทำไม

อันที่จริง เรื่องที่ฟังดู เบาๆ หวานๆ นี้เป็นภัยร้ายที่ปฏิบัติการอย่างลับๆ แต่อำมหิต เพราะรู้ตัวอีกที มันก็กวักมือนำพาโรคร้ายแรงหลายโรคมารุมสกรัมเราจนบอบช้ำ โดยเริ่มต้นภารกิจจากการเดินทางตามหลอดเลือดอย่างเงียบๆ ไปทักทายทุกส่วนของร่างกาย

ใช่ … ร่างกายที่ดูแข็งแรงสมบูรณ์ของเรา ร่างกายที่อาจจะดูยังไงก็ไม่แก่ แต่หารู้ไม่ว่าความผิดปกติในร่างกายเริ่มต้นนับถอยหลังอย่างไม่รู้ตัว

และแทนที่ความรู้เรื่องเบาหวานจะทำให้คนเป็นโรคนี้น้อยลง ก็กลายเป็นว่าจำนวนคนเป็นโรคเบาหวานกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

101 ชวนสนทนากับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อหาคำตอบว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เบาหวานยังไม่ไปไหน จริงหรือไม่ที่เชื่อกันว่า เบาหวานเกิดจากกินหวาน และโรคนี้มาจากพันธุกรรมหรือพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

สถานการณ์เบาหวานในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างไร

เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีคนเป็นเบาหวาน 240 ล้านกว่าคนในปี 2015 แต่พอถึงเวลาจริงๆ มี 300 ล้านคน คือเพิ่มในอัตราเกินกว่าที่คาด

ภาพ: ความชุกของโรคอ้วนและเบาหวาน
จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 1-5

ภาพ: ความชุกของโรคอ้วนและเบาหวาน จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 1-5

โดย ศ.นพ. วิชัย เอกพลากร และคณะ, 7 เม.ย. 2559

จากภาพจะเห็นว่าเบาหวานกับความอ้วนไปด้วยกัน ครั้งล่าสุดที่สำรวจคือ ปี 2557 คนไทย 100 คน เป็นเบาหวานประมาณ 9 คน ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย อันนี้คือภาพรวม ส่วน “ว่าที่เบาหวาน” คือกลุ่มที่กำลังจะเป็นเบาหวาน เพิ่มจาก 5.3 ล้านคนในปี 2552 เป็น 7.7 ล้านคน

อะไรบ้างที่เป็นความเข้าใจผิด เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

ที่หมอเจอบ่อยก็คือ ถ้าเขารู้สึกสบายดี ไม่มีอาการอะไร ก็คิดว่าร่างกายเขาดี แต่ที่จริงแล้วเราดูแต่อาการไม่ได้ คนที่มีระดับน้ำตาล 130 ซึ่งเป็นเกณฑ์เบาหวาน เขาไม่มีอาการหรอกค่ะ แต่ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ก็จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอาการรุนแรง เช่น ปัสสาวะเยอะ หิวน้ำบ่อย ผอมลง น้ำหนักลด เพลีย เรียกว่าเบาหวานแสดงอาการชัดเจน

และหลายๆ โรค เราต้องรักษาตัวเลขด้วย โรคกลุ่มนี้ซึ่งได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือที่เรียกว่ากลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นกลุ่มโรคที่ไม่มีอาการ เวลามีอาการเมื่อไรนั่นคือแย่แล้ว อยากให้เข้าใจใหม่ว่าแม้เราจะรู้สึกดี ไม่มีอาการอะไร แต่ถ้ามีความเสี่ยง ก็ยังต้องไปเช็ค ไปตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือด

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่นมีพี่น้องหรือพ่อแม่เป็นเบาหวาน ถือว่าเสี่ยงระดับหนึ่ง อันที่สองคืออายุที่มากขึ้น เนื่องจากเบาหวานเป็นกันมากในคนอายุมาก อันนี้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ซึ่งเราป้องกันไม่ได้ ได้รับมรดกมาจากพ่อแม่ หรือการที่พี่น้องเป็น ก็ส่งสัญญาณว่า ถ้าเรากินอยู่เหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ก็จะเป็นโรคเหมือนกัน

ไม่ใช่ทุกคนต้องตรวจเหมือนกันหมด อายุที่เริ่มก็อาจจะไม่เท่ากัน คนที่อ้วนและมีคุณพ่อคุณแม่เป็นมาก่อน ต้องตรวจสุขภาพเร็ว อายุ 30 ปี หรือใกล้เคียง ก็อาจต้องตรวจแล้ว ในขณะที่คนธรรมดา 35-40 ปี แล้วค่อยตรวจก็ได้ อันนี้หมอคิดว่าถ้าเราดูรูปร่างเรา เมื่อไหร่น้ำหนักขึ้นเกินมาตรฐานก็ต้องรีบยั้งมัน มิฉะนั้นนานเข้าๆ จะมีความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ไขมันในเลือดผิดปกติ และในอนาคตก็คือโรค

เคยเจอลูกสาวของคนไข้เบาหวานคนหนึ่ง เขาสูง 165 เซนติเมตร แต่น้ำหนักตั้ง 100 กิโลกรัม เราก็เตือนว่าต้องลดน้ำหนักนะ แต่เขาบอกว่า โอ๊ย คุณหมอ หนูลงทุนไปเป็นล้านแล้วมั้ง กว่าจะได้รูปร่างนี้มา (หัวเราะ) หมอก็บอกว่า คุณคิดว่าหนึ่งล้านบาทนี้น่าลงทุนเหรอ จนกระทั่งเขาน้ำตาลในเลือดมากขึ้น เขาจึงยอมลด เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นเบาหวานเหมือนแม่

อีกอย่างที่เข้าใจผิดเพราะโดยมากก็โยนความผิดให้มรดก ว่าเป็นเพราะพ่อแม่เป็น แต่จริงๆ แล้วถ้าไปดูครอบครัวที่เป็นเบาหวานเยอะๆ การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ มักคล้ายคลึงกัน ถ้ามีมรดกมาส่วนหนึ่งแล้ว ประกอบกับการใช้ชีวิตที่กินอย่างเพลิดเพลิน เมินการออกกำลังกาย ก็จะเป็นเบาหวานได้ง่ายขึ้น

เบาหวานมีชนิดที่ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมด้วย?

เบาหวานทุกชนิดเกี่ยวกับพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย ชนิดที่ 1 ก็มีส่วน ถือว่าสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้เกิดมา แต่ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมมากที่สุดคือชนิดที่ 2 แม้กระทั่งเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นได้ ทั้งที่ก่อนตั้งครรภ์ไม่เป็น อันนี้สัมพันธ์กับปัจจัยภายในที่เปลี่ยนไป เช่น มีฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนจากรก ที่ทำให้เด็กอยู่ได้ในท้อง บวกกับพฤติกรรมคุณแม่ เช่น ท้องแล้วกินเยอะ ท้องแล้วไม่ยอมออกกำลัง ก็จะทำให้เสี่ยงเป็นเบาหวาน

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมเกี่ยวทั้งนั้น กระทั่งเบาหวานที่เป็นกลุ่มอาการ เช่นกลุ่มที่เป็นเทอร์เนอร์ เป็นดาวน​์ซินโดรม มีโอกาสที่จะผิดปกติ อันนี้พันธุกรรมผิดปกติอยู่แล้ว แก้ไม่ได้ แต่ชีวิตความเป็นอยู่จะทำให้เกิดเร็วขึ้นหรือช้าลงได้

ความเชื่อมโยงจากพฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย สัมพันธ์ยังไงกับการที่อินซูลินทำงานได้ไม่ดี

มันเป็นหลายส่วนที่ประกอบกัน กลุ่มโรค NCDs นี้ พื้นฐานของการเกิดโรคเกี่ยวข้องกันหมด ซึ่งอาหารเและการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าเรากินมากและกินผิด แคลอรีสะสม เมื่อออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกเลย แคลอรีที่สะสมก็จะกลายเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แล้วน้ำหนักนี้ก็จะเป็นไขมันล้วนๆ ต่างจากคนที่ออกกำลังกาย ที่ส่วนหนึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น

ไขมันนี่แหละที่เป็นตัวทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เพราะว่าจะสร้างสารที่ทำให้อินซูลินทำงานดีออกมาน้อยลง และตัวเซลล์ไขมันที่อ้วนๆ จะปล่อยสารเคมีหลายอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ไม่ใช่การอักเสบแบบติดเชื้อ แต่มันเป็นขบวนการที่ทำให้มีสารมาสะสมและเซลล์จะบวมขึ้น

เมื่อไรที่เราอ้วน นี่คือสัญญาณที่เห็นชัดที่สุด นอกจากนั้นก็ต้องเจาะเลือดดูระดับไขมัน ดูระดับน้ำตาล วัดความดัน ถ้าสี่อย่างนี้มาอยู่ด้วยกัน แม้ยังไม่สูงถึงระดับเป็นเบาหวาน แต่ในอนาคตก็จะเป็น

ที่บอกว่ากินหวานแล้วจะเป็นเบาหวานนี่ถูกต้องไหม

มีส่วนค่ะ แต่ถ้ากินหวานแล้วไม่เกินส่วน เช่นบางคนกินขนมหวานแล้วแต่ยังมีกิจกรรมเผาผลาญ ก็ไม่มีปัญหา อะไรที่เรากินแล้วเหลือ ร่างกายเราเก็บในรูปไขมัน ไขมันนี่แหละที่เป็นปัญหาทำให้ร่างกายเกิดโรคขึ้น มันต้องแปลงกายก่อน

น้ำตาลในร่างกายเราถูกเก็บสองแบบ แบบแรกเราเรียกว่าไกลโคเจน อีกแบบเรียกว่าไขมัน ถ้าเก็บแบบไกลโคเจน มันเก็บแบบจำกัด อยู่ที่ตับได้หน่อย อยู่ที่กล้ามเนื้อได้หน่อย ใช้แป๊บเดียวหมด ถ้าเป็นไขมันก็ใช้ได้นาน

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

เมื่อรูปร่างมีไขมันสะสม ถ้ามาประกอบกับครอบครัวเคยเป็นมาก่อน ก็ยิ่งมีโอกาสดื้ออินซูลินมากกว่าคนอื่นๆ ใช่ไหม

ครอบครัวเป็นเรื่องพันธุกรรม แต่พันธุกรรมก็มีอีกหลายกลไก เช่น พันธุกรรมที่ทำให้เบตาเซลล์ซึ่งสร้างอินซูลินเสื่อมเร็ว หรือว่าเป็นพันธุกรรมที่ตอบสนองกับการสะสมไขมันเยอะ พันธุกรรมเหล่านี้ในเมื่อมีมาแล้ว เราไปห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรามีเซลล์ที่ชอบเก็บไขมัน แต่ถ้าเราไม่กินอาหารกินไขมันเข้าไปเยอะให้อ้วน ก็ไม่มีอะไรเก็บ ก็ไม่ออกฤทธิ์ นอกจากพออายุมากขึ้นๆ เซลล์เสื่อมลง ก็จะเห็นออกมาเองว่าเราเป็นเบาหวาน เพราะปัจจัยด้านอายุส่งผลไปทั้งร่างกายเรา พออายุมากขึ้น ทุกอย่างก็เสื่อมลง

เบาหวานชนิดที่ 2 คือแบบดื้ออินซูลิน จะมีผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดนี้มากกว่าผลิตอินซูลินไม่พอ เพราะคนที่อ้วนใหม่ๆ แม้จะยังไม่เป็นเบาหวาน ก็เริ่มดื้ออินซูลินแล้ว แต่ร่างกายจะสู้ ด้วยการผลิตอินซูลินเพิ่มให้พอใช้ อันนี้จะเป็นสิ่งที่เห็นชัดว่าเป็นเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน

แต่ถ้าเป็นชนิดที่ 1 คือเขาสร้างไม่พอ บางคนขาดไปเลย ไม่มีเลย ถ้าไม่ฉีดอินซูลินก็อยู่ไม่ได้ ตายแน่ เป็นพันธุกรรมส่วนหนึ่ง แต่เป็นพันธุกรรมคนละแบบกับชนิดที่ 2

คนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะมีอาการเบาหวานตอนอายุเท่าไหร่

เป็นได้ตั้งแต่เด็กเลย อายุ 1-2 ขวบก็เป็นได้ แต่ที่เราเริ่มเห็นชัดเจนก็คือเด็ก 3-4 ขวบขึ้นไป วัยรุ่นจะเห็นเยอะที่สุด

แต่ว่าทุกอายุก็เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้นะ บางคนอายุ 40 แล้ว ก็เป็นได้ เพราะเป็นผลของภูมิต่อต้านตัวเอง ทำนองเดียวกับโรคพุ่มพวง คือเกิดภูมิต้านทานที่ไปทำลายเซลล์ผลิตอินซูลินในตับอ่อน พวกนี้ก็จะมีอาการเร็ว เมื่อไหร่ไม่มีอินซูลิน น้ำตาลจะสูงเร็ว เขาจะมีอาการของเบาหวานสัก 3-4 อาทิตย์ ผอมลงๆ แล้วจะทนไม่ไหว ก็ต้องมาหาหมอ แบบนี้จะวินิจฉัยได้เร็ว ผิดกับอาการของชนิดที่ 2 ซึ่งยืดเยื้อ ค่อยๆ ขึ้น วันนี้น้ำตาลอาจจะปกติ แต่อีกสองสามปี ก็เป็น “ว่าที่เบาหวาน” อีก 5-6 ปีก็เป็นเบาหวาน อะไรทำนองนี้ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เช่นเดียวกับโรคในกลุ่ม NCDs

การค้นพบช้าส่งผลกับการรักษาอย่างไร

สำคัญมาก เบาหวานทำให้ทั่วร่างกายเปลี่ยนไปหมดอย่างไม่รู้ตัว เพราะว่ามันเดินทางไปตามเส้นเลือด ทุกอณูในตัวเรามีน้ำตาลไปถึง ก็เหมือนต้นไม้ที่ต้องมีน้ำในทุกส่วน ถ้าน้ำตาลเหล่านี้มากเกินไป น้ำตาลที่ย่อยไม่หมดก็แปรสภาพไป สารที่แปรสภาพนี้ก็ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ แล้วเกิดเป็นโรคแทรกตามมา

ถ้าเราเป็นโดยไม่รู้ตัวมา 8 ปี นั่นคือเราไม่ได้รักษา สิ่งที่เบาหวานไปทำลายและทำร้ายนี่มันเยอะมากแล้ว เช่น ตาเสีย ไตเสีย เส้นเลือดหัวใจเริ่มตีบ หลอดเลือดสมองเริ่มตีบ สิ่งเหล่านี้ไม่มีอาการทั้งนั้น ถ้าเราไม่รู้และไม่ได้รักษา หรือแม้รู้ว่าเป็นแต่ไม่รักษา น้ำตาลก็สร้างความเสียหายให้ตัวคนคนนั้น สมมติคนหนึ่งเริ่มเป็นเบาหวานปีนี้ กว่าจะเกิดโรคแทรกที่แสดงอาการก็ 10 กว่าปีไปแล้ว แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่อยู่กับเบาหวาน ร่างกายก็โดนทำร้ายไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นหมอถึงบอกว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองรู้สึกสบายดี คิดว่าแข็งแรง ทั้งที่โรคมาแล้ว ถึงมีคำว่า “คัดกรองโรคเบาหวาน” คือไปตรวจสุขภาพเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ แต่ถ้าเป็นรายที่มีอาการแล้ว เช่น ตามัว ไปตรวจตา ถึงเพิ่งจะรู้ว่าเป็นเบาหวาน คือเบาหวานขึ้นตา

เริ่มต้นทั้งตัวเบาหวานเอง และโรคแทรกจากเบาหวาน มันไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นโรคแทรกแบบเฉียบพลัน เช่นน้ำตาลขึ้นสูงมากๆ อาจระบุโรคได้ง่าย บางคนขึ้น 800-1,000 นี่ซึมมาโรงพยาบาลเลย อันนี้จะเร็วหน่อย 1-2 สัปดาห์ก็มีอาการชัด หรือเด็กที่เป็น DKA[1] หรือผู้ใหญ่ที่เป็นชนิดที่ 2 เป็น DKA คือเลือดเป็นกรด อาจจะไม่ถึงอาทิตย์ หรือแค่ 1-2 วัน ก็อยู่ไม่ไหว เพราะว่าเหนื่อยหอบจนต้องมาโรงพยาบาล เราเรียกกรณีนี้ว่าเป็นโรคแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน ซึ่งรักษาหายได้

แต่โรคแทรกซ้อนที่เรื้อรัง ถ้าเป็นแล้วก็เป็นเลย อย่างดีก็แค่ช่วยชะลอไม่ให้อวัยวะเสื่อมหรือเสียเร็ว เช่น ไตเริ่มไม่ดี ก็ต้องรักษาเบาหวานและควบคุมปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจจะยืดเวลาที่จะต้องล้างไตออกไปได้อีก จาก 5 ปี เป็น 10 ปี

นอกจากความเข้าใจผิดเรื่องสาเหตุแล้ว ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรักษามีอะไรบ้าง เบาหวานรักษาหายได้จริงหรือเปล่า

ต้องบอกว่ารักษาไม่หาย แต่เป็นปกติได้ หมายความว่าคนที่เป็นเพราะอ้วน กินอาหารไม่ถูกต้อง ถ้าคุมอาหารให้ดีๆ ลดน้ำหนัก ระดับน้ำตาลก็จะกลับไปเป็นปกติเลย แต่ถามว่าหายไหม? ณ ตอนนั้นจะเรียกว่าหายก็ได้ แต่จริงๆ แล้วคือเราแค่ควบคุมโรคได้ เมื่อไรเลิกปฏิบัติ มันก็กลับมา ถ้าเป็นหมอ หมอเรียกว่าไม่หาย

ปัจจัยที่ทำให้ดื้ออินซูลินคือเซลล์ที่สะสมไขมันมาก พอมีขนาดใหญ่ พฤติกรรมของเซลล์ก็เปลี่ยน ปกติอินซูลินทำงานได้ดี เซลล์ไขมันผลิตฮอร์โมนที่ทำให้อินซูลินทำงานได้ดี แต่พออ้วน มันไม่ผลิต อินซูลินก็ทำงานได้ไม่ดีนัก เซลล์ไขมันยังส่งไขมันออกไปรบกวนการเผาผลาญน้ำตาลอีก เป็นปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้น้ำหนักที่เพิ่มกลายเป็นปัญหา

เพราะฉะนั้น ถ้าคนคนหนึ่งเข้าเกณฑ์เบาหวาน แต่เป็นไม่มากและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม น้ำหนักเขาลงได้ อันนี้น้ำตาลจะเป็นปกติเลย เราก็จะบอกว่าเขาหายแล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ปล่อยตัวเหมือนเดิม มันกลับมาใหม่แน่ๆ เพราะตามหลักแพทย์ถือว่าไม่หาย ยิ่งถ้ามีอายุมากขึ้น แม้จะไม่อ้วนมากเท่าตอนแรกที่เป็น อ้วนขึ้นนิดหน่อยก็มีโอกาสจะเป็นแล้ว

หรือว่าถ้าคนที่ไม่สามารถควบคุมให้กลับมาเป็นปกติ ก็ควบคุมมาให้อยู่ในระดับที่โอกาสเกิดโรคแทรกน้อย

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

แล้วการรักษาด้วยการกินชาสมุนไพรแบบที่โฆษณาในอินเทอร์เน็ต ช่วยได้จริงไหม

ยาสมุนไพรบางตัว พิสูจน์แล้วว่าช่วยกระตุ้นให้ผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นได้จริง แต่ว่าฤทธิ์น้อยมาก คนที่เป็นน้อยๆ ยังไม่ต้องกินยา ที่จริงก็ไม่ต้องกินสมุนไพรหรอก แค่ออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ก็หายได้

ในทางการแพทย์แล้ว ถ้าสมุนไพรนั้นบอกแหล่งที่มาถูกต้อง ไม่มีสารปนเปื้อน อยากกินก็สามารถกินได้

มีงานศึกษาวิจัยแล้วว่าพืชอย่างมะรุมและกระเทียมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ก็ลดได้นิดเดียว ถ้าเราระดับน้ำตาลสูงขึ้นไปถึง 200 มก./ดล. ก็อย่าหวังว่ามันจะลงได้มากพอ แต่ถ้าอยู่สัก 130-140 มก./ดล. ซึ่งเป็นเกณฑ์เบาหวานเหมือนกัน ก็อาจลงมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติได้ เพราะว่ายังเป็นไม่มาก

แต่ว่าบางคนเชื่อมาก คือกินยารักษาอยู่ แล้วก็หยุดยาเพื่อทดลองกินสมุนไพร ก็ต้องดูด้วยว่าจะกินสมุนไพรแล้ว ตัวเองคุมอาหารได้ไหม ถ้าคุมได้แล้วกินสมุนไพรที่ อย. รับรอง อันนั้นก็ปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ถ้ายังคุมได้ไม่ดี ก็อย่าเพิ่งหยุดยา แล้วก็ลองกลับมาตรวจดูว่ามีผลอะไรกับร่างกายไหม

มีสมุนไพรหลายอย่างที่เขากำกับด้วยว่ากินแล้วต้องห้ามกินนั่นนู่นนี่ ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีการห้ามกินน้ำหวาน ซึ่งมันก็เหมือนเป็นการคุมอาหารไปในตัว ถือเป็นเรื่องดี

หมอเคยเจอนะ ยาลูกกลอนที่บอกว่าเป็นยาสมุนไพร แต่จริงๆ แล้วก็บดยาเบาหวานของแพทย์แผนปัจจุบันปนเข้าไปด้วย

สำหรับคนที่ดื้ออินซูลินไปแล้ว มากินสมุนไพรจะได้ผลไหม

มันเพิ่มไม่พอ เพราะว่าเวลาเขาอ้วนและเป็นเบาหวานไปแล้ว สมรรถนะการช่วยเหลือตัวเองก็สูญไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ากินสมุนไพร ก็กระตุ้นไม่ได้ แต่ยาแผนปัจจุบันซึ่งแรงกว่า จะสามารถไปบังคับให้ต่อมทำงานขึ้นมาได้ ถ้าต่อมยังมีชีวิตอยู่นะ

ยาแรงจะมีผลข้างเคียงกับตับอ่อนไหม

ตัวยาอาจไม่มีผลโดยตรง แต่มันก็เหมือนกับเราควบม้า ใช้แส้เฆี่ยนมัน ถ้าเฆี่ยนอยู่ตลอดเวลา ให้มันวิ่งไม่ให้พัก มันก็หมดแรง ก็แล้วแต่ว่าแข็งแรงแค่ไหน และเราควบมันแรงแค่ไหน

อันนี้ก็เหมือนกัน เพื่อจะสู้กับระดับน้ำตาลที่สูงในเลือด ก็ต้องผลิตอินซูลินมากขึ้นๆ จนเซลล์มันล้า ก็หยุดผลิตหรือตายไป ดังนั้นเมื่อเอายาเข้าไป ช่วงหนึ่งคนไข้จะดีขึ้น เพราะว่าเซลล์ได้แรงกระตุ้นที่มากขึ้น เหมือนกับม้าที่ได้พักได้อาหาร มีแรงทำงานไปได้อีกพักหนึ่ง แต่ร่างกายเราก็เสื่อมไป และพอใช้ยาไปกระตุ้นมากๆ เซลล์เริ่มหมดแรง กระตุ้นไม่ไหวแล้ว สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีฉีดอินซูลินเข้าไปโดยตรงแทน

ความเข้าใจผิดของคนไข้นี่แหละ มักคิดว่าเราเป็นอะไรเดี๋ยวยาก็ช่วยได้ ฉันอยากกินอะไรฉันก็กิน เดี๋ยวยาก็ไปลดน้ำตาลให้ได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด

แล้วการที่ต้องมาฉีดอินซูลินโดยตรง ส่งผลกับร่างกายอย่างไร

มันก็ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้น้ำตาลสูง ตอนนี้การรักษาเบาหวาน ไม่ว่าจะใช้ยาอะไรหรือรักษาอย่างไรก็จะมีผลแทรกซ้อนหรืออาการข้างเคียง เช่นเราให้กินยาเพื่อลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลิน ถ้าเราใช้มากเกินไป ก็กลายเป็นอาการน้ำตาลต่ำ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงก็ทำให้หมดสติได้ ไม่มีคนรู้ก็หลับไปเลย ถ้าสมองขาดออกซิเจนก็กลายเป็นหลับไม่ตื่นไปเลย อันนี้ก็เป็นผลข้างเคียง โชคดีที่ปัจจุบันมียาหลายตัวที่ทำให้โอกาสเกิดน้ำตาลต่ำมีน้อยหรือไม่เกิดเลย ถ้าใช้ยาให้ถูกก็ปลอดภัย

เบาหวานชนิดที่ 1 ต้องฉีดอินซูลินแน่นอน ส่วนชนิดที่ 2 ที่เรียกว่า ‘ดื้อยากิน’ เซลล์หมดแรง หมดสภาพ กระตุ้นยังไงก็ไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีฉีดอินซูลินเข้าไป โอกาสน้ำตาลต่ำก็มีเพราะว่ายาแรงกว่า แต่หลายรายก็เพียงฉีดอินซูลินชั่วคราว เช่นคนที่เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์ หรือคนที่ผ่าตัดแล้วติดเชื้อทำให้เบาหวานกำเริบ ขณะติดเชื้อร่างกายก็อ่อนแอ ถ้ามัวแต่กินยาก็คุมน้ำตาลไม่อยู่ คนเหล่านี้จะฉีดเพียงชั่วคราว

อีกความเข้าใจผิดของคนก็คือ คิดว่าการฉีดอินซูลินคือสุดท้ายของชีวิตแล้ว อีกไม่นานก็แย่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าเราดูแลตัวเองดีๆ เบาหวานก็อยู่ในกำมือเรา แต่ที่คนเข้าใจผิดและพยายามปฏิเสธก็ด้วยเหตุผลสองอย่างว่า 1. ฉีดแล้วเดี๋ยวตัวเองก็จะแย่ 2. เวลาฉีดอินซูลินต้องเรียนรู้มากขึ้น ว่าจะกินอะไรเมื่อไหร่ ต้องคอยเจาะเลือด เพราะเราไม่อยากให้เกิดน้ำตาลต่ำ พอเขาต้องเจอปัญหาเยอะ เจาะเลือดหรือฉีดยาก็เจ็บ ก็เลยไม่อยากฉีด

หลายคนคิดว่ายาเบาหวานทำให้ไตเสีย แต่มันไม่ใช่ เขาคุมเบาหวานไม่ได้ ไตเลยเสีย เบาหวานต่างหากที่เป็นปัจจัย โอกาสเกิดโรคไตนั้นสูงเพราะเบาหวานมีเพื่อนมาด้วยเยอะ เช่น ความดันสูง พอความดันสูงซึ่งก็จะทำให้ไตเสียได้

บางคนคุมความดันก็ไม่ได้ คุมน้ำตาลก็ไม่ได้ ไขมันก็เยอะ พวกนี้ทำให้ไตเสื่อมเร็วทั้งนั้น หรือว่าไปซื้อยาแก้ปวดกินเอง หรือกินยาสมุนไพรที่อาจมีสารปนเปื้อน ก็ไปกระทบต่อไต ถ้าหัวใจไม่ดี ปั๊มเลือดไม่ค่อยมีแรง หรือว่าชอบอั้นปัสสาวะ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไตก็เสื่อม เพราะฉะนั้นเบาหวานจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียว

ถามว่ายาเบาหวานทำให้ไตเสื่อมไหม …ไม่ใช่ แต่ถ้าไตเสื่อมเมื่อไหร่ ยาหลายตัวจะใช้ไม่ได้ เราจึงต้องระวัง เวลารักษา ไตก็ต้องดี หัวใจก็ต้องดี ตับก็ต้องทะนุถนอม ยาตัวใดที่กินแล้วจะมีผลข้างเคียงไปที่ตับ เราก็ต้องคอยเช็ก คนไข้คิดว่าฉีดยานาน หรือกินยานาน ไตก็จะเสีย แต่จริงๆ แล้วไม่มีตัวไหนทำเลยนะ มันไม่ได้เสียจากยา

ทำไมการเป็นเบาหวานถึงสัมพันธ์กับไตเสื่อม

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า การเป็นเบาหวานส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดทุกชนิด ไม่ว่าจะเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดใหญ่ เบาหวานจะไปทำให้หลอดเลือดเหล่านั้นเสื่อม ซึ่งไตก็มีทั้งเส้นเลือดฝอยที่เป็นตัวกรองของเสีย เป็นขยุ้มเหมือนฝอยขัดหม้อ และมีเส้นเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดเข้าไป ไตทำหน้าที่กรองของเสียออกมากับน้ำเป็นปัสสาวะ แล้วก็ส่งเลือดกลับไปที่หัวใจ เส้นเลือดฝอยเหล่านี้ก็เหมือนกับเส้นเลือดฝอยที่ตา สังเกตได้ว่า ตาเป็นเบาหวานก็เพราะว่าเส้นเลือดฝอยพวกนี้มันเสีย มันพองจนแตก

ส่วนที่ไต ถ้าเส้นเลือดฝอยเสีย ไตก็กรองของเสียไม่ได้ ของเสียก็คั่งอยู่ โรคไตที่เห็นชัดก็คือมีของเสียคั่งอยู่จนบวม แต่บางคนอาจจะมีอาการยังปล่อยน้ำออกมาได้ ก็ไม่บวม

เพราะฉะนั้น ระดับน้ำตาลที่สูงมีผลต่อผนังเซลล์ในหลอดเลือด ถ้าเซลล์พวกนี้เสียเมื่อไรก็ทำงานไม่ได้ เวลาจะขับของเสียก็ต้องมีแรงขับทิ้งเพื่อปล่อยออกไป แต่พอเสียก็ทำไม่ได้ และบางอย่างที่ไม่ควรจะปล่อย ก็กลับปล่อยออก เพราะเวลาเซลล์เสียก็มีร่องเปิดออก กล่าวคือพอเซลล์เสีย นอกจากพองแล้วก็ยังมีร่องระหว่างเซลล์ที่ทำให้สารบางอย่างรั่วออกมาได้ เช่นอัลบูมิน[2] หรือที่เราแจ้งกับคนไข้ว่ามีไข่ขาวในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรรั่วออกไป

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

คนเป็นเบาหวานที่เป็นแผลที่ขาต้องตัดขาจริงหรือไม่

ก็แล้วแต่ ถ้าเป็นแผลปุ๊บ มองเห็นแล้วรักษา ก็จะไม่เป็นอะไรมาก แต่หลายคนเป็นโดยไม่รู้ตัว เพราะเบาหวานทำให้ปลายประสาทเสื่อมด้วย ทำให้ไม่รู้สึก

อย่างการที่เป็นแผลแล้วหายยาก ก็เกิดจากเซลล์ตรงนั้นไม่ดีแล้วเลือดมาเลี้ยงไม่พอ ก็เลยติดเชื้อเพราะว่าเมื่อน้ำตาลสูง นอกจากเชื้อโรคจะฮึกเหิมแล้ว เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกันก็อ่อนแอ นี่เห็นไหม ทุกอย่างเสียหมดเลย เพราะฉะนั้นเราจึงได้ยินว่า คนไข้เบาหวานติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่บ่อยๆ

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมีน้ำตาลอยู่ในเลือดมากแต่เปลี่ยนไปเป็นพลังงานไม่ได้ สารที่มาจากน้ำตาลที่เปลี่ยนรูปไปก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ ซึ่งรวมไปถึงต่อต้านวิธีการที่เม็ดเลือดขาวใช้ต่อกรกับเชื้อโรคด้วย

การตัดขา ตัดเท้า หรือนิ้วนี้ ทำเพื่อรักษาชีวิต เพราะว่าแผลลุกลามเราควบคุมเชื้อไม่ได้ หรือทำยังไงเลือดก็เข้าไปเลี้ยงไม่ได้เพราะเนื้อตายไปแล้ว หลายคนทิ้งแผลไว้เป็นอาทิตย์เพราะไม่รู้ตัว มันก็เหวอะไปเยอะแล้ว และเวลาเราเป็นแผล หลอดเลือดก็บวมๆ เชื้อเข้าไปได้ง่าย โอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดก็สูง อันที่สอง แผลที่มันกินลึก บางทีเข้าถึงกระดูก ยาก็อาจจะเข้าไปไม่ถึงแล้ว

เวลาหมอจะตัดขา เขาพิจารณาเยอะมาก ถ้าสมมติว่ากลไกคือเอาอาหารไปที่แผลไม่พอ จะให้ยาเข้าไปก็เข้าไปไม่ได้ ทุกอย่างส่งไปด้วยกระแสเลือด ถ้าหลอดเลือดตีบก็ไปไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีบายพาส ทำทางเบี่ยงให้ส่งเลือดไปเลี้ยงแผลได้ ถ้าเป็นอย่างนี้และแผลอยู่ที่ต้นๆ โอกาสต้องตัดขาก็น้อยลงมาก และยาฆ่าเชื้อเดี๋ยวนี้ก็แรงขึ้น

เราต้องสอนให้คนไข้ดูเท้าทุกวัน โดยเฉพาะคนที่เท้าชาแล้ว เพราะมักจะเป็นแผลโดยไม่รู้ตัว มีอยู่คนหนึ่งเหยียบหมุดติดกระดาษมาโดยไม่รู้ตัว แล้วก็มาหาหมอ ตรวจๆ ไปก็เจอหมุดนี้ติดอยู่ ถึงได้รู้ หรือบางทีไปกระแทกอะไรมาจนเป็นแผล ก็ไม่รู้เพราะไม่เจ็บ ถ้าปล่อยให้แผลลุกลาม ก็จะกลายเป็นแผลที่รักษายาก

ขามักจะเป็นส่วนที่เราละเลยจนมองไม่เห็นเมื่อมีแผล ต่างจากร่างกายส่วนอื่น และอีกอย่าง ขาเป็นส่วนที่รับงานหนัก ถูกกระทบกระเทือนง่าย กระทั่งรองเท้าที่คนไข้เบาหวานใส่ ถ้าไม่พอเหมาะก็อาจเป็นแผลได้ แผลที่ไหนก็มีโอกาสหายยาก แต่แผลที่เป็นบ่อยที่สุดคือแผลที่เท้า และก็มักจะไม่รู้ตัว

เมื่อเบาหวานทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ไม่ดี และประกอบกับหลอดเลือดที่เสื่อม ส่งเลือดไปได้น้อย หลอดเลือดตีบ บวกกับเลือดข้นจากระดับน้ำตาลที่สูงทำให้ส่งเลือดไปได้น้อย อาหารที่จะไปเลี้ยงแผลและเม็ดเลือดขาวที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรค ก็น้อยไปทั้งคู่ ยิ่งถ้าเชื้อโรครุนแรงก็ยิ่งเสี่ยง

กล่าวคือ หนึ่ง ถ้าไม่หมั่นตรวจดูแผลแล้วปล่อยทิ้งไว้ สอง เม็ดเลือดขาวทำงานได้ไม่ดี สาม เลือดไปเลี้ยงแผลไม่ได้ และสี่ เชื้อโรครุนแรง ถ้ามีทุกปัจจัยที่กล่าวมา โอกาสถูกตัดขาจะสูงมาก บางคนเชื้อเข้าถึงกระดูกเลย ระบบการซ่อมแซมเสียหายไปหมด หมอบอกได้เลยว่า เบาหวานส่งผลไปทั่วทั้งตัว

สำหรับคนเป็นเบาหวาน การรักษาแผลก็ทำเหมือนกันรักษาแผลปกติใช่หรือไม่

ถ้าแผลไม่ลึก ก็รักษาปกติได้ แต่ถ้าแผลลึกแล้ว หรือว่าลองดูอาการสัก 24 ชั่วโมง พวกนี้ถ้ามีเชื้อเข้า มันจะบวม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องรีบมาหาหมอเพื่อให้ยาฆ่าเชื้อ ทำแผล หรือเพื่อดูว่ามีเศษอะไรติดอยู่หรือเปล่า เช่นเสี้ยนตำ ถ้าไม่ได้เอาออก ก็อักเสบ

มีความเชื่ออะไรที่อันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โดยมากคนไข้ก็รู้ว่า ถ้ารักษาได้ไม่ดี เดี๋ยวไตจะวาย แต่เขาควบคุมไม่ได้ คนไข้มักจะบอกว่า อาหารก็มีขายแต่แบบนี้ เขาต้องซื้อกิน แต่เราก็บอกว่าคุณก็เลือกได้ เขาไม่ได้ทำแค่แบบเดียว ถ้าดูการรณรงค์ต่างๆ เช่น โครงการคนไทยไร้พุง เขาก็ให้ลด หวาน มัน เค็ม เพราะเหล่านี้เกี่ยวกับสุขภาพเราทั้งนั้น

คนส่วนใหญ่ก็บอกว่าต้องกินอาหารอย่างนี้ทุกวันเพราะว่าซื้อกิน แต่เราก็แนะนำว่าให้เลือก ถ้าวันนี้จะกินน่องไก่ทอดสักชิ้น อย่างอื่นที่กินในวันนั้นก็ต้องไม่ทอดแล้ว

ทำไมความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเบาหวานจึงยังคงฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย

เขาอาจจะมีความรู้ไม่พอว่าโรคนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร จริงอยู่ สมุนไพรอาจใช้ได้ผลสำหรับบางคน ไม่ปฏิเสธ แต่ว่าแต่ละคนก็ตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกัน

สำหรับบางคน สาเหตุที่เขาไม่ไปหาหมอนั้นอาจมาจากปัจจัยหลายอย่าง

หนึ่ง เสียเวลา เพราะมาหาหมอทีหนึ่งก็ต้องมานั่งรอครึ่งวัน

สอง มาทีไร หมอก็บอกโน่นบอกนี่ ต่อว่าเขาว่าคุมพฤติกรรมไม่ได้ เขามาเพราะอยากจะได้ยา ไม่ได้มาเพื่อให้หมอบอกให้ทำอะไร

อีกอย่างก็คือ คนไข้ชอบคำว่า “หาย” พอใครบอกว่ากินอะไรหรือทำอะไรแล้วจะ “หาย” เขาก็จะทำ

สาม เกิดจากความคิดว่า อะไรที่คนอื่นทำแล้วดี ทำแล้วหาย ก็จะต้องดีสำหรับเขาด้วย หมายความว่าเลียนแบบเพื่อหวังผลจะได้อย่างเขา แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างที่หมอได้บอกไปแล้ว

และสุดท้ายก็คือ พอมารักษาแบบนี้แล้วมีข้อห้าม ข้อปฏิบัติเยอะ คนก็ไม่ชอบ ไม่อยากออกกำลังกาย บอกว่าไม่มีเวลา เหนื่อยแล้ว โดยหารู้ไม่ว่าการออกกำลังช่วยให้เราหายเหนื่อยได้ เพราะมีฮอร์โมนที่ดีหลั่งออกมา

ความเชื่อด้านสุขภาพของคนไทยยังไม่ถูกต้อง หวังพึ่งยา พึ่งหมอ และไม่เชื่อว่าตัวเองสามารถดูแลตัวเองและทำให้โรคดีขึ้นได้ ขนาดหมอบอกว่า ร่างกายคุณจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหมอไม่ถึงครึ่งนะ แต่เขาบอกว่าไม่เชื่อหรอก เพราะยามีตั้งเยอะตั้งแยะ หมอเพิ่มยาเข้ามาก็ได้ มีอย่างอื่นอีกไหม ใส่มาให้อีก เขายินดีจะกิน 5 อย่างเลย ทั้งที่ตอนนี้กินไป 3 อย่างแล้ว

หรือบางที เขาก็ตั้งใจจะเอาใจหมอเฉพาะก่อนมาตรวจ เพื่อให้ระดับน้ำตาลไม่สูง แต่เวลาที่เหลือก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม หลายคนบอกว่า เอ้อ ลืมไปว่าต้องมาหาหมอ ก็เลยกินไปเยอะ

คนต้องเข้าใจสุขภาพ เข้าใจโรค การรักษาถึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

สถานการณ์เบาหวานในเมืองกับต่างจังหวัดต่างกันไหม

เมื่อก่อนคนเมืองเป็นมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้ใกล้เคียงกันแล้ว เพราะอาหารที่เรากินก็เริ่มเหมือนๆ กันแล้ว อย่างอาหารถุง น้ำหวาน ที่ซื้อกันในร้านสะดวกซื้อ น้ำตาลนี่มีปัญหาจริงๆ

เรารณรงค์คนไทยไร้พุงมาเป็นปีที่ 12 แล้ว แต่ก็ยังลดอ้วนไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ให้คนรู้ เพราะคนรู้หมดแหละว่าอ้วนแล้วมีปัญหา รู้ว่าเบาหวานคืออะไร แต่ควบคุมการกินไม่ได้ โดยเฉพาะบุฟเฟต์ฮิตมากช่วงนี้ กลัวกินไม่คุ้ม ร้านอาหารเองก็ชอบทำอาหารออกมาขายเป็นชุดไซส์ใหญ่ๆ และซื้อมาแล้วก็ต้องกินให้หมด โปรโมชันต่างๆ ช่วยสนับสนุนการขาย แต่ทำให้เรากินกันเยอะขึ้น

แต่ถ้าได้ออกกำลังกายจะดีมาก นั่งอยู่เฉยๆ แล้วเอาหนังยางมายืด เอาขวดน้ำมายกขึ้นลง อันนี้ก็เป็นการออกกำลังกาย หมอก็เดินรอบโรงพยาบาลนี่แหละ แล้วเวลาเดินก็เดินให้เร็ว ถ้าเดินทอดน่องเหมือนเดินดูของในห้าง อันนี้ไม่ถือว่าออกกำลังกาย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองได้เคลื่อนไหวน้อยลงด้วย บางคนขึ้นมอเตอร์ไซค์มาถึงหน้าตึก ขึ้นบันไดนิดนึง แล้วก็นั่งทำงานแล้ว หรือถ้าขับรถมาก็พยายามจอดให้ใกล้ที่สุด จะได้เดินน้อยที่สุด แต่ถ้าเราใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้ขนส่งสาธารณะ เราก็มีระยะที่ได้เดินบ้างเพื่อต่อรถ

ที่สำคัญคือในเมืองยังมีที่ออกกำลังกายน้อย ทางกรุงเทพฯ ก็พยายามทำให้มีสวนสาธารณะมากขึ้น แต่ตอนนี้ฟุตบาทก็ยังเดินไม่ได้ มลพิษก็เป็นปัญหา อากาศก็ร้อน ต้นไม้ไม่มีเพราะตัดไปหมด ควันรถที่วิ่งอยู่ อะไรหลายๆ อย่างเหล่านี้ก็ทำให้คนในเมืองมีกิจกรรมทางกายน้อยลง นี่ยังไม่ได้พูดถึงการออกกำลังกายเลยนะ

และยิ่งโลกสมัยนี้สะดวกสบายมาก เมื่อก่อนเรายังต้องออกไปเดินซื้อของอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ แค่โทรศัพท์ ของก็มาส่งถึงบ้าน เคลื่อนไหวน้อยลงหมด นอกจากนี้ยังชอบนั่งดูคอมพิวเตอร์หรือเล่นไลน์ ฯลฯ ทำให้ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย การนั่งเฉยๆ นี่เป็นการทำลายสุขภาพ

และอีกอย่าง เวลาเรามีประชุม เราควรต้องเบรกด้วยการออกกำลังกาย ไม่ใช่เบรกด้วยอาหารว่าง (หัวเราะ)

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

เชิงอรรถ

[1] ภาวะคิโตอะสิโดซิส (Diabetic Ketoacidosis) เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินต่ำมาก และมีคีโตนอยู่ในกระแสเลือดตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงมาก ภาวะนื้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ถ้าไม่ได้รักษาจะเสียชีวิตได้

[2] อัลบูมิน โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอณูเล็กอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งร่างกายสามารถผลิตโดยการทำงานของตับ ทำหน้าที่เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save