fbpx
10 ปีรำลึกการจากไปของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ คนเล็กๆ ผู้ไม่ยอมจำนน

10 ปีรำลึกการจากไปของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ คนเล็กๆ ผู้ไม่ยอมจำนน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

วัดทุ่งสาธิตหรือวัดวชิรธรรมสาธิต เป็นวัดแบบล้านนา ตั้งอยู่ลึกสุดซอยสุขุมวิท 101/1 ตามตำนานกล่าวว่าสร้างอยู่กลางทุ่งนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2399 ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนได้รับการบูรณะและมีพระภิกษุมาจำพรรษาเมื่อราว 40 ปีก่อน

คนเก่าแก่ที่อาศัยละแวกนั้นเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ วัดเล็กๆ แห่งนี้ไม่เคยมีงานศพของบุคคลใดมีผู้มาร่วมงานมากเท่างานของคนผู้นี้

เย็นวันที่ 12 ธันวาคม 2550 วันฌาปนกิจศพ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ รถติดตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยระยะทางร่วม 5 กิโลเมตร ผู้เดินทางมาร่วมงานกว่า 1,000 คน ตั้งแต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักธุรกิจ ไปจนถึงชาวบ้านและชาวเขาจากทั่วประเทศ ต่างร่ำไห้ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ท่ามกลางเสียงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ทุกคนช่วยกันขับขานเพื่อส่งร่างของเธอเป็นครั้งสุดท้าย

คนละแวกนั้นถามไถ่กันว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ก่อนจะรู้ว่าเธออาศัยอยู่กับพ่อแม่ในทาวเฮ้าส์เล็กๆ หมู่บ้านวชิรธรรมสาธิตหลังวัดนี้มาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว

เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเธอไม่ค่อยได้อยู่บ้าน จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนแถวนั้น

เวลากว่าค่อนชีวิต ตั้งแต่เป็นนักเรียน นักศึกษา ออกมาทำงาน จนกระทั่งวาระสุดท้าย เธอใช้ชีวิตตามอุดมคติไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม เธอออกไปต่อสู้ เคียงบ่าเคียงไหล่คนยากคนจนทั่วประเทศที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากอำนาจรัฐ แม้ว่าจะถูกโจมตีถูกกล่าวหาต่างๆ นานา

เธอไม่ได้พูด แต่ลงมือกระทำด้วยน้ำมือ ด้วยหยาดเหงื่อ แม้หลายครั้งต้องนอนกลางดิน กินตามข้างถนน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

แต่ วนิดา หรือ มด ไม่เคยยอมจำนนแม้สักครั้งเดียว

เพื่อนหลายคนบอกว่า ความตายของมด ผู้จากไปอย่างงดงามในวันนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มคิดถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่…

 

 

ครอบครัวคนจีน

 

“บางครั้งฉันก็ถูกปลุกให้ตื่นตอนดึกจากเสียงพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ฉันจึงรู้ว่าพ่อกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่จะทะเลาะกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่ไม่พอ หรือปัญหาการค้าขาย ฉันรู้ว่าพ่อก็เครียด แม่ก็เครียด เมื่อพ่อใจร้อนใช้เสียงดังกับแม่ แม่ก็จะตอบโต้ บางครั้งฉันได้ยินพ่อพูดว่าอยากจะผูกคอตาย ฉันกลัวมาก ไม่อยากให้พ่อแม่ทะเลาะกัน ฉันได้แต่สงสารพ่อกับแม่ พวกเรานอนเรียงกันในห้องนอนเดียวกัน 9 คน เป็นห้องเดียวที่มีมุ้งลวดกันยุง ฉันรับหน้าที่ไล่ยุงทุกเย็น”

วนิดาหรือมดเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่ล้มละลายตั้งแต่เรียนหนังสือยังไม่จบ

วนิดาเกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน 2498 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เป็นลูกคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน  เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากประเทศจีน

 

 

แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน แม่อายุได้เพียง 6 เดือน ตากับยายก็พาแม่อพยพจากอำเภอโผวเล้ง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง มาตั้งรกรากในแผ่นดินสยาม ตากับยายช่วยกันสร้างครอบครัวจนสามารถตั้งร้านขายของชำได้แถวถนนเยาวราช ในช่วงเวลาก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ไม่กี่ปี

ช่วงเวลานั้นคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณติดกับทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะแถบมณฑลกวางตุ้ง ต่างอพยพตามญาติพี่น้องมาอยู่ในสยามประเทศเพื่อหนีความอดอยาก หนีตายและหนีภัยสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงที่สู้รบชิงอำนาจรัฐกันมายาวนาน พ่อก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาจีนอพยพเหล่านั้น

พ่อเกิดที่อำเภอเถ่งไห้ เมืองซัวเถา เป็นคนบ้านเดียวกับบรรพบุรุษของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อพ่ออายุได้ไม่ถึงยี่สิบ ได้แอบขึ้นเรือสินค้าจากท่าเรือหนีภัยสงครามและความลำบากมาหางานทำที่เมืองไทยตามประสาชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเผชิญชีวิตใหม่ในต่างแดน อีกอย่างพ่อเป็นพวกเสรีนิยม ไม่ชอบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่กำลังได้รับชัยชนะในประเทศจีน

ไม่นานพ่อที่เคยเป็นครูมาก่อน ก็มีพรรคพวกฝากงานทำในร้านทองเซ่งเฮงหลีแถวถนนเยาวราช พ่อไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า แม่ก็อพยพมาจากเมืองซัวเถาเช่นกัน แต่มาอยู่เมืองไทยล่วงหน้าตั้งแต่อายุได้ไม่กี่เดือน

วนิดาเคยเขียนบันทึกถึงแม่ว่า

“แม่ฉันเป็นสาวสวยย่านเยาวราช ถ้าสมัยนั้นมีการประกวดมิสไชน่าทาวน์ แม่ฉันต้องได้แน่ๆ แม่บอกว่า ตากับยายอุ้มแม่มาตั้งแต่ยังแบเบาะ ลงเรือข้ามทะเลมาจากซัวเถา และมาตั้งรกรากแถวเยาวราช ตากับยายเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ภายหลังค่อยเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม แม่ฉันครองตัวเป็นโสดจนอายุ 28 ปี จึงได้เจอพ่อ ซึ่งเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน แล้วศรรักก็ปักอกหนุ่มสาวที่มีรากเหง้ามาจากมาตุภูมิเดียวกัน แต่มาคนละเวลา แม่มาตอนอายุ 1 ขวบ พ่อมาตอนอายุ 23 ปี”

หลังจากนั้นไม่นานพ่อแม่ก็แต่งงานกัน ภายหลังมีครอบครัวพ่อเริ่มคิดถึงการสร้างฐานะตามประสาคนหนุ่มวัยฉกรรจ์ อยากมีกิจการเป็นของตัวเองจึงได้ลาออกจากงานประจำ มาสร้างโรงงานเล็กๆ ผลิตยากันยุง อันเป็นเวลาเดียวกับที่แม่ได้ให้กำเนิดลูกสาวคนโตชื่อวนิดา หรือชื่อจีนว่า อางี้ และย้ายมาเช่าบ้านที่เป็นโรงงานด้วย อยู่ในซอยวัดแขก ถนนสีลม

ดูเผินๆ ชีวิตวัยเด็กของวนิดาคงไม่แตกต่างจากลูกชนชั้นกลางคนอื่นๆ แต่กิจการยากันยุงของพ่อที่มีรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท ไม่ได้ประสบความสำเร็จ มีคู่แข่งรายใหญ่เพิ่มขึ้นมาตัดราคา ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูง ไม่นับค่าแรงคนงานกว่า 10 คนและค่าเลี้ยงดูลูกๆ จนทำให้พ่อต้องเที่ยวกู้หนี้ยืมสินไปทั่ว แต่พ่อแม่ก็กัดฟันส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือในโรงเรียนดีๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่

แม่เป็นคนออกหัวคิดให้ลูกศึกษาแบบฝรั่ง คิดว่าการเรียนในโรงเรียนฝรั่งน่าจะก้าวหน้ากว่าเรียนในโรงเรียนจีนที่ชาวจีนสมัยนั้นนิยมส่งลูกไปเรียนเพื่อไม่ให้ลืมภาษาและวัฒนธรรมจีน ดังนั้นลูกชายคนโตจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ลูกชายอีก 3 คนเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วนลูกสาวทั้ง 3 คนเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

แม้ลูกๆ ทั้งเจ็ดต่างได้รับการศึกษาในโรงเรียนชื่อดังและได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนของลูกคนรวย แต่ทั้งหมดก็ดูจะเป็นคนกลุ่มน้อยในโรงเรียน  ความที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเงินแถมยังมีหนี้สิน จึงต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ในวัยประถม ลูกๆ ได้ค่าขนมจากทางบ้านประมาณวันละ 1 บาท เพื่อความประหยัดจึงต้องเดินไปโรงเรียนเกือบทุกวัน อาหารกลางวันก็ห่อปิ่นโตมาจากบ้าน น้ำดื่มก็กินน้ำประปาในโรงเรียน นานๆ ครั้งจะเก็บเงินซื้อนมโฟร์โมสต์กล่องละ 1.50 บาทไว้กินอย่างชื่นใจ

วนิดาในฐานะลูกสาวคนโตจึงต้องรับภาระหนักกว่าคนอื่น ช่วยแม่เลี้ยงน้องๆ เดินไปส่งน้องที่โรงเรียนและรับกลับบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า จุดเตาถ่านหุงหาอาหาร และหากมีเวลาก็มักพาน้องๆ มาช่วยคนงานบรรจุยากันยุงใส่กล่องเตรียมส่งไปขายต่างจังหวัด ในเวลาว่างพี่น้องทั้ง 7 คนมักไปยืนเกาะลูกกรงหน้าต่างลอบดูทีวีของเพื่อนบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีเงินมากพอจะซื้อโทรทัศน์สักเครื่อง

ช่วงปลายเทอมใกล้สอบไล่ปิดภาคการศึกษา วนิดาและพี่น้องมักถูกทางโรงเรียนทวงค่าเล่าเรียนที่ติดค้างเพราะพ่อหมุนเงินมาชำระไม่ทัน แม้จะเป็นเงินค่าเทอมคนละ 200-300 บาท บางครั้งก็เป็นที่อับอายขายหน้าแก่เพื่อนๆ

วนิดารับรู้ถึงความยากลำบากของพ่อที่ต้องนั่งรถไฟชั้นสามเดินทางไปขายยากันยุงตามหัวเมืองต่างจังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่เหนือ อีสาน จรดใต้ เดือนละไม่ต่ำกว่า 25 วัน บางเดือนแทบไม่ได้กลับบ้าน และยังต้องหมุนเงิน หาแหล่งเงินกู้ในช่วงหลังที่กิจการไม่ค่อยดี หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะตอนสิ้นเดือนที่มีรายจ่ายสูง ไหนจะเงินเดือนคนงาน ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเช่าบ้าน และดอกเบี้ยเงินต้นนอกระบบที่ไปกู้เขามาจนทำให้พ่อแม่ทะเลาะบ่อยๆ บรรยากาศตึงเครียดเกิดขึ้นเป็นประจำในบ้าน ขณะที่แม่ง่วนอยู่กับการเลี้ยงลูก ทำอาหารให้ลูกถึง 7 คนกิน และยังต้องดูแลกิจการในโรงงานแทนพ่อช่วงที่พ่อเดินทางไปต่างจังหวัด

ความยากลำบาก ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกู้หนี้ยืมสินของพ่อแม่ และโรงงานขนาดเล็กที่ใกล้จะล้มละลายเพราะสู้กลุ่มทุนที่ใหญ่โตกว่าไม่ได้ ไม่ต่างจากการเข้ามาของห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ที่ทำให้ร้านโชห่วยต้องล้มตายตายจากไป  สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วนิดาสนใจปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

คนเดือนตุลา

 

“ฉันเริ่มห่างเหินครอบครัว เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่รู้ว่าเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไร วัยรุ่นสมัยนั้นก็คงเป็นแบบฉันทั้งนั้น ฉันเริ่มทำตัวเป็นนักปลุกระดมในห้องเรียน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไรนัก โดยที่ไม่รู้ตัวเลย ฉันกำลังละทิ้งครอบครัวเพื่อก้าวเดินออกไปข้างนอก ร่วมกับผู้คนจำนวนหนึ่งทำสิ่งที่ฉันเองก็ไม่เข้าใจนัก รู้แต่ว่าเป็นสิ่งที่ดี  ปัญหาทางบ้านเริ่มไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับฉันอีกต่อไป ปัญหาสังคม ประเทศชาติต่างหาก”

ภายหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น วนิดาสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม สายศิลป์ วนิดามีโอกาสแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เริ่มทำกิจกรรมโดยได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสภานักเรียน ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล เป็นประธานสภานักเรียน

ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารยืดเยื้อมายาวนานถึง 16 ปี นับจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงจอมพล ถนอม กิตติขจร  สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดโดยสิ้นเชิง นักศึกษาและปัญญาชนเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการออกสื่อสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าหลายฉบับ  ที่โดดเด่นคือวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ อันมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมาจนกล่าวได้ว่า

บรรยากาศการตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้มีเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น นักเรียนมัธยมหัวก้าวหน้าจากหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนสวนกุหลาบ เตรียมอุดมศึกษา ศึกษานารี สตรีวิทยา สตรีมหาพฤฒาราม สตรีศรีสุริโยทัย บดินทรเดชา อัสสัมชัญ ฯลฯ ได้ติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันและร่วมกันก่อตั้งศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมของนักกิจกรรมรุ่นเล็ก วนิดาและเพื่อนนักเรียนได้ร่วมกันจัดทำนิทรรศการสังคมศาสตร์ตามโรงเรียนต่างๆ  มีเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและปัญหาความยากจนของกรรมกร ชาวนา เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจปัญหาบ้านเมืองและสังคมมากขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน เด็กนักเรียนชั้น ม.ศ. 5 ตัวเล็กๆ ได้หนีเรียนไปร่วมฟังการอภิปรายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในบรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนกว่า 5 แสนคนเข้าร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและให้รัฐบาลเผด็จการทหารลาออก จนเกิดการจลาจล มีการส่งทหารและตำรวจมาล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชน แต่ในที่สุดรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้ยอมลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชน

ในปี 2517 วนิดาสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำเพื่อหวังจะได้ทำงานหาเงินในตอนกลางวัน แต่เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ความคิดที่จะทำงานหาเงินช่วยครอบครัวก็หมดไป วนิดาก็เหมือนกับนักศึกษาที่รักความเป็นธรรมในเวลานั้น ที่เชื่อว่าต้องปฏิวัติสังคมอันเน่าเฟะไปสู่สังคมที่ดีงาม ต้องสลัดเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาออกไปสู่ห้องเรียนที่แท้จริง คือการไปเรียนรู้ชีวิตของกรรมกรในโรงงานและชาวนาในชนบท

เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัย วนิดาหรือ “มด” ที่เพื่อนๆ ตั้งชื่อให้ ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์  เวลานั้นกิจกรรมนักศึกษามีทั้งงานภายในและงานภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมที่ค่อนข้างหนักและเป็นงานเสี่ยงชีวิตคือการลงไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ร้อนของกรรมกร-ชาวนาทั่วประเทศ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้นเพื่อช่วยเหลือกรรมกรที่มีปัญหาค่าแรงกับนายจ้างมาโดยตลอด รวมไปถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องปากท้องของชาวนาชาวไร่

ตลอด 3 ปีแรกของชีวิตนักศึกษา มดได้เข้าร่วมกับศูนย์ประสานงานกรรมกรอย่างเต็มตัว เรียกได้ว่าไม่ได้เข้าห้องเรียน แทบไม่ได้กลับบ้าน และในที่สุดต้องระหกระเหินออกจากบ้าน ไม่ได้พบหน้าพ่อแม่เป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น

 

 

กรรมกรฮาร่า

 

“ฉันไปทุกที่ตามโรงงานเมื่อคนงานนัดหยุดงาน บนท้องถนนยามชุมนุมเดินขบวน ตามชนบทเพื่อเรียนรู้สังคมเกษตรกรรม แม่ตีฉันหลายครั้งเมื่อฉันหนีหายไป ฉันประท้วงด้วยการไม่กลับบ้านนานๆ แม่ร้องไห้ตามหาฉันทั่วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ฉันถูกจับเมื่อตำรวจสลายการชุมนุมของคนงานฮาร่า แม่ไปโรงพักประกันตัวฉัน ฉันไม่ยอม จะออกพร้อมคนงาน”

นักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมนับพันคนได้ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้อง ต่อสู้ เป็นปากเสียงแทนกรรมกรและชาวนา มดเป็นที่ปรึกษากรรมกรตามโรงงานต่างๆ  แทบไม่ได้เข้าห้องเรียน เก็บหน่วยกิตได้เพียง 10 กว่าหน่วยเท่านั้น จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องติดประกาศขอพบทั่วมหาวิทยาลัย ขณะที่มดได้เข้าร่วมการนัดหยุดงานของคนงานตามโรงงานต่างๆ นับร้อยครั้ง เป็นตัวแทนของกรรมกรเจรจากับนายจ้าง กรมแรงงาน และบางครั้งสถานการณ์ตึงเครียดถึงขั้นยึดโรงงาน

ทิพวรรณ ศรีสุวรรณ หรือ พี่ตุ๊ อดีตนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนสนิทของมดที่ทำกิจกรรมสายกรรมกรด้วยกันเล่าให้ฟังว่า

“ความคิดของเด็กกิจกรรมรุ่นนั้นไม่มีคำว่ากลัวตาย มดรักเพื่อน รักความยุติธรรม สู้ถึงที่สุด ไม่โลเล ลุยไปข้างหน้าอย่างเดียวไม่มีคำว่าถอย มีครั้งหนึ่งมดกับเราไปไฮด์ปาร์กให้กรรมกรที่โรงงานแถวอ้อมน้อย โดนเจ้าถิ่นขับรถมาวนรอบ ยกปืนขึ้นมาบอกว่า ภายในเที่ยงวันถ้ามึงไม่ออกไปจากเขตนี้มึงตาย เราก็ไม่ออก อยู่จนเลยเที่ยงเหมือนกัน ไม่กลัวตายเลย … อีกครั้งเรากับมดไปยึดรถเมล์มารับคนงาน เราไปบอกคนขับรถเมล์ว่าต้องการรถมารับคนงาน ตอนนั้นนักศึกษาใหญ่มาก เขาก็ทำตาม แต่มาเจอตำรวจจึงต้องไปโรงพักแทน นี่คือความบ้าบิ่นของเราสมัยนั้น”

ความรุนแรงของสถานการณ์ในเวลานั้นทำให้ผู้นำนักศึกษาจำเป็นต้องพกปืนเพื่อความปลอดภัย และอาศัยทุ่งนาหลังโรงงานเป็นที่ซ้อมปืน

นอกจากเป็นนักกิจกรรมตัวยงแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง มดยังเป็นนักร้องนำวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ดังพอๆ กับวงคาราวานในสมัยนั้น คือวงกรรมาชน ซึ่งสมาชิกวงส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมในรั้วมหิดล

นิตยา โพธิคามบำรุง หรือ นิด กรรมาชน อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และนักร้องวงกรรมาชนคนหนึ่งเล่าว่า

“สาเหตุที่ชวนมดเข้ามาเพราะตอนนั้นวงกรรมาชนขาดนักร้องผู้หญิง และพวกเราเคยเห็นมดร้องเพลงได้บ้างเวลามีงานเคลื่อนไหวเลยชวนมาเป็นนักร้อง ตอนนั้นมีหลายคน จำได้ว่ามดร้องเพลง ‘รำวงเมย์เดย์’ และวงกรรมาชนกลายเป็นขวัญใจกรรมกร เวลามีประท้วงที่ไหนวงกรรมาชนก็ไปให้กำลังใจถึงที่”

การประท้วงของกรรมกรที่โด่งดังเหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีกรรมกรโรงงาน ‘ฮาร่า’ อันเป็นยี่ห้อกางเกงยีนชื่อดังสมัยนั้น ราวเดือนตุลาคม 2518 คนงานกว่า 100 คนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ได้หยุดงานประท้วงนายจ้างขอขึ้นค่าแรง เนื่องจากกฎหมายแรงงานกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 25 บาท แต่นายจ้างจ่ายให้คนงานเพียง 16 บาท มดเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่คนงาน การประท้วงได้ลุกลามเมื่อนายจ้างปฏิเสธการเจรจาแถมยังส่งอันธพาลเข้าทำร้าย คนงานจึงตัดสินใจเข้ายึดโรงงาน เอาเครื่องจักรและผ้ามาตัดเย็บกางเกงยีนหาเลี้ยงชีพ โดยกระเป๋าหลังปักเป็นรูปค้อนเคียว

กรรมกรฮาร่าและมดอยู่กินในโรงงานเป็นเวลาถึง 5 เดือน แต่การพยายามเจรจากับนายจ้างก็ล้มเหลว และทางการเกรงว่าการยึดโรงงานของกรรมกรฮาร่าจะเป็นแบบอย่างให้กรรมกรโรงงานอื่นลุกฮือขึ้นยึดโรงงานบ้าง จึงตัดสินใจปราบปรามขั้นเด็ดขาด  กระทั่งวันที่บรรดาคนงานส่วนหนึ่งรวมตัวเดินไปบ้านพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ก็ได้ถูกตำรวจบุกจับและติดคุกอยู่ 7 วัน รวมทั้งที่ปรึกษาคนสำคัญ

เป็นครั้งแรกของการต่อสู้เพื่อประชาชนที่มดได้ลิ้มรสชาติชีวิตในแดนตะราง มดบันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคนงานถูกจับ 50 คน ถูกส่งฟ้องศาล มีนักศึกษาประชาชนมาให้กำลังใจจำนวนมาก เรี่ยไรเงินเป็นเงินประกันตัว ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา พวกเราขึ้นศาล 2 ครั้งในคดีก่อความไม่สงบ มีนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นผู้กล่าวหา นับว่าพวกเราผู้หญิง นักศึกษาและคนงานตัวเล็กๆ ได้ขึ้นศาลกับนายกรัฐมนตรี นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ (เพราะก่อนที่พวกเราถูกจับ ได้ไปชุมนุมกันที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายคนที่ชุมนุมในโรงงาน)  หลังจากถูกจับได้มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ ตัดสินให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่นายจ้างก็ลอยแพคนงานในที่สุด”

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ มีการล้อมปราบผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายในรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยการส่งทหาร ตำรวจ และอันธพาลบุกเข้าไปเข่นฆ่าผู้คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาถูกฆ่าตายอย่างทารุณ มีผู้ล้มตายนับร้อยคนและถูกจับกว่า 3,000 คน

พี่ตุ๊เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังว่า

“พี่มดอยู่ในธรรมศาสตร์ เช้ามืดตอนตีห้าทหารตำรวจยิงเข้ามา เราอยู่ในสนามบอลจนประมาณสามสี่โมงเย็นออกมาพร้อมพี่มด เป็นนาทีทองช่วงเดียว ตอนนั้นทหารเรือมาที่ประตูท่าพระจันทร์ แล้วประกาศให้เด็กกับผู้หญิงออกมาก่อน ทหารเรือจะปกป้องให้ออกเดินเป็นแถว แต่พอออกมาได้แป๊บเดียวทหารบกไม่ยอม ยิงตามหลังมา เราวิ่งเข้าไปในตลาดท่าพระจันทร์ มีคนเปิดประตูบ้านรับเข้าไปในบ้านของเขาเต็มเลย หมอมิ้งก็อยู่ นุ่งกางเกงแพรกินข้าวต้มแล้วนะ อาซิ้มเจ้าของบ้านบอกให้เราเปลี่ยนเสื้อ เอาลิปสติกมาทาปากทาหน้าแล้วเอาบัตรนักศึกษาเก็บใต้รองเท้า ใครมาถามก็บอกว่าเป็นคนงานโกดังของเขา ตอนนั้นทหารมาค้นทุกบ้าน อาซิ้มบอกว่าให้ขึ้นไปซ่อนอยู่ชั้นสอง เราเลยรอดตาย ตอนนั้นทหารยิงตลอด เสียงปืนดังจนประสาทเสีย พอตอนเย็นเขาจับคนมาเรียงที่ฟุตบาทตรงวัดมหาธาตุ เราออกไปดู มดร้องไห้  เราบอกไม่ได้ มันเสียลับ เลยกลับไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเพื่อนแถวจตุจักร”

สุชีลา ตันชัยนันท์ ประธานกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ปี 2517 เล่าว่า

“กระทิงแดงที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ พอพังประตูเข้ามาคนที่มันร้องเรียกหาคนแรกคือวนิดา มันจะลากวนิดาไปจัดการ”

 

ชีวิตนักปฏิวัติ

 

“ความยากลำบากของการดำรงชีวิตในป่า คือด่านทดสอบด่านแรกสำหรับนักปฏิวัติ ข้าพเจ้ายังจำคืนแรกที่ต้องเดินเท้าย่ำไปบนหนทางที่มืดมิด เพื่อหลบหนีการสะกดรอยของทางการ เราต้องเดินป่าในเวลากลางคืน โดยใช้ไฟฉายเท่าที่จำเป็น ขบวนคาราวานยาวเหยียดเกือบ 80 ชีวิต ประกอบด้วยสัมภาระมากมายที่เราไม่ต้องแบก เพราะผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ หลายคนช่วยพวกเราอย่างกระตือรือร้น”

 

 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ได้ราว 10 กว่าวัน มดมีโอกาสได้เจอพ่อแม่ในที่ลับแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในนักศึกษาประชาชนหลายพันคนที่เดินทางเข้าป่า ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ

มดและเพื่อนกรรมกรฮาร่าหลายคนนั่งรถไฟชั้นสามไปลงที่หาดใหญ่ โดยแต่ละคนทำเสมือนว่าไม่รู้จักกันเพื่อความปลอดภัยและไม่เป็นที่สงสัยของทางการ คนที่ไปด้วยกันจะมีสัญลักษณ์คือหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ รัดด้วยยางแดงเพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน พอถึงหาดใหญ่มีสหายหรือคนของ พคท. มารอรับและพาเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งอันเป็นจุดนัดพบของคนกลุ่มใหญ่ ก่อนจะเดินเท้าเข้าป่าเป็นเวลาเกือบเดือนกว่าจะถึงแคมป์ใหญ่ของ พคท.

มดบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้นไว้ว่า

“เราเรียกผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ และทหาร ท.ป.ท. (กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) ว่า ‘สหาย’ และพวกเขาเรียกเราว่า ‘สหาย’ เช่นเดียวกัน ภายหลังเราถึงรู้ว่าสหายที่เดินทางมาด้วยกันนั้นมีบางคนเป็นสหายจากพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย ซึ่งอาศัยชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นที่พักพิงก่อการเช่นเดียวกัน  สหายทุกคนหุงข้าว จัดที่นอน ซักผ้าให้ระหว่างเดินทาง กองคาราวานเดินเท้าผ่านป่าดงดิบ เดินลึกเข้าไปในประเทศมาเลเซียและวกกลับเข้ามาในไทย ผ่านดงทาก ป่าหนาม เราพบรอยเท้าของสัตว์ใหญ่นานาชนิด ฝูงช้างร้องเสียงดังแต่ไกล เราเรียนรู้การกินอาหารง่ายๆ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ และเราก็รู้ว่าในป่าลึกมีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่มาช้านาน วิถีชีวิตของพวกเขาคือ ต่อสู้และหลบหนี ตั้งฐานปฏิบัติการ โฆษณามวลชน และก่อสงครามปฏิวัติขึ้นทุกหนแห่ง เราเรียกเขาว่า ‘นักปฏิวัติ’ กว่า 1 เดือนที่เราเดินผ่านและพักแรมในค่ายพักของนักปฏิวัติกลุ่มต่างๆ ทั้งคนจีนในมาเลเซีย คนมุสลิม คนไทยพุทธ ทุกคนล้วนต้องการปลดปล่อยประเทศ ดินแดนของตนให้เป็นอิสระจากทุนนิยม-ศักดินานิยม-จักรพรรดินิยม

“และแล้วก็มาถึง ‘ทัพ’ ที่ตั้งค่ายหรือฐานปฏิบัติการแบบจรยุทธ์ (ยังไม่มั่นคง เคลื่อนย้ายเมื่อที่ตั้งถูกเปิดเผย)  เสียงเพลง ‘ปฏิวัติชาติไทย’ ดังกระหึ่มต้อนรับเรา ผู้จะกลายเป็นนักปฏิวัติในไม่ช้า”

คนที่เข้าป่าจะได้รับการตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นการปิดลับ มดมีชื่อใหม่เรียกกันในป่าว่า ‘คุณจัน’ (ผู้ปฏิบัติงานในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมักมีคำเรียก ‘สหาย’ นำหน้าชื่อ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติงานในภาคใต้นิยมใช้คำว่า ‘คุณ’ แทน) และใช้ชีวิตนักปฏิวัติในป่าแถบอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา บางครั้งเครื่องบินของฝ่ายรัฐบาลบินโฉบกราดปืนกลลงมา คนในค่ายต้องดับไฟหมดเพื่ออำพราง ค่ายของ พคท. ที่คุณจันอยู่มีสหายร่วมรบนับร้อยชีวิต ทั้งนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายภารกิจแตกต่างกันไป กลุ่มของคุณจันอยู่ฝ่ายผลิต รับผิดชอบงานในไร่ข้าวโพด ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกฟักทองกลางป่าใหญ่

มดได้เรียนรู้การใช้ชีวิตเป็นนักปฏิวัติในป่าร่วม 4 ปี เธอได้เรียนรู้ชีวิตที่ต้องปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ รู้จักต้นไม้ เผชิญหน้ากับสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ หมีป่า งูจงอาง  การขึ้นเขา เดินป่า ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่พึ่งพิงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยที่ไม่คาดคิดว่าในอีก 10 กว่าปีต่อมา ตนจะได้กลับมาทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“ข้าพเจ้าจัดอยู่ในกลุ่มที่สุขภาพแข็งแรง เป็นมาลาเรียปีละครั้งหรือสองครั้ง แต่ละครั้งเป็นไม่นานฟื้นไข้เร็ว โรคที่เป็นกันมากอีกโรคคือโรคผิวหนัง น้ำเหลืองพุพอง โดยเฉพาะที่น่อง ขา และเท้า เพราะในป่ามียุง ริ้น ไร ประกอบกับฝนตกชุก ใน 1 ปีฝนตก 7-8 เดือน เรามีเสื้อผ้า 1-3 ชุดต่อปี เพื่อใส่นอน 1 ชุด ใส่เดินทาง 1 ชุด เพราะเมื่อเดินทางจะถูกฝนและน้ำค้างเปียกจึงต้องมีชุดแห้งๆ ไว้ใส่นอน กลางคืนพวกเรามักล้อมวงรอบกองไฟเพื่อปิ้งย่างเสื้อผ้าให้แห้ง ในป่าทึบบางครั้งแดดส่องไม่ถึงจึงต้องอาศัยกองไฟทำให้ผ้าแห้ง เมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าหลากเป็นสีแดงเข้ม อันตรายที่จะข้ามแม้เป็นห้วยเล็กๆ ทากที่คอยดูดเลือดเราระหว่างเดินทาง พวกเราทุกคนกลัวและขยะแขยง เมื่อโดนทากดูดเลือดส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวจนกว่าจะเห็นเลือดออกเท่านั้น ทากดูดเลือดได้นิ่มนวลมาก นี่เองจึงเปรียบการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยมว่าเหมือนทาก”

ภารกิจสำคัญของนักปฏิวัติอีกอย่างก็คือการเรียนรู้ทฤษฎีลัทธิสังคมนิยม โดยเฉพาะ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง โลกทรรศน์เยาวชน คือคัมภีร์ที่ทุกคนใช้เป็นอาวุธทางความคิดในการดัดแปลงตนเองและปฏิวัติสังคม เวลานั้นสหายนำหรือผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้แนวทางทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหลักสำคัญในการปฏิวัติ ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย จึงเกิดความขัดแย้งกับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่า และแม้แต่ในป่าก็ยังมีการแบ่งชนชั้นกัน กล่าวคือ สหายนำหรือผู้อยู่มาก่อนจะได้รับส่วนแบ่งอาหารหรือปัจจัยการดำรงชีพที่ดีกว่าคนอื่นๆ  หรือคนที่ไม่มีปากมีเสียง เชื่อฟังพรรคฯ อย่างเคร่งครัด ก็จะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกพรรคฯ อันถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของนักปฏิวัติ

ต่ายเล่าให้ฟังว่า

“ในป่าพี่มดเป็นคนดื้อ เป็นพวกเด็กเกเร เห็นความไม่ยุติธรรมไม่ได้ พวกสหายนำไม่ชอบ ครั้งหนึ่งพวกเรากินแต่ปลาเค็มเป็นเดือนๆ จึงอยากรู้ว่าพวกสหายนำเขากินอะไร ก็ไปแอบดูว่าพวกนี้กินปลาทูนึ่งกันเป็นหม้อๆ พี่มดก็ไม่ยอม แกบอกว่าทำไมเราต้องยอมด้วย เราก็ย่องไปตอนกลางคืนไปขโมยปลาทูมาแบ่งกันกิน บางทีตอนกลางคืนเราอยากน้ำตาลมากเพราะไม่ได้กินมานาน มีแต่สหายนำที่ได้กินน้ำตาล ตอนนั้นมดเป็นพลาธิการเสบียง ก็เปิดโกดังให้พวกเรากินกัน ช่วงนั้นมดสุขมาก ไม่ยี่หระกับอะไรเลย พรรคฯ จะเห็นยังไงไม่สน ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคฯ ก็ไม่เป็นไร มดนำกรรมกรฮาร่าสร้างโรงงาน เอาจักรมาตั้งตัดเย็บเสื้อผ้ากันกลางป่าเลย”

ขณะที่มดได้เขียนบันทึกของตัวเองว่า

“ข้าพเจ้าและเพื่อนบางคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของพรรคฯ … มีหลายคนตั้งข้อสังเกต ตอนที่ยังไม่เข้าป่าข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมต่างๆ รับใช้ประชาชนอย่างแข็งขันที่สุดคนหนึ่ง แต่พอเข้าป่ากลับเฉื่อยเนือยไม่เหมือนเดิม ข้าพเจ้าก็ยังแปลกใจตัวเอง เพียงแค่รู้ตัวว่าข้าพเจ้าชอบใกล้ชิดและคลุกคลีกับสหายชั้นล่าง (หมายถึงคนที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคฯ) และชอบอยู่ในหน่วยงานที่คนไม่ค่อยอยากไปทำเนื่องจากไม่ค่อยมีเกียรติเท่าใดนัก เช่น หน่วยการผลิต หน่วยบริการ คนส่วนใหญ่ชอบอยู่ในหน่วยทหาร”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มด-อดีตนักกิจกรรมที่มีบทบาทมากคนหนึ่งถึงขนาดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ทางการหมายหัวไว้ เมื่อมาใช้ชีวิตในป่ากลับไม่มีบทบาทใดๆ ไม่ได้รับการยอมรับจากระดับนำของพรรคฯ เพราะมดไม่ใช่ ‘ลูกที่ดี’ ของพรรคฯ และมดก็ไม่ต่างจากนักศึกษาอีกหลายคนที่เริ่มตั้งคำถามกับการนำของพรรคฯ ที่ยึดมั่นในทฤษฎีปฏิวัติของจีนมาก

ความฝันของคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวบรวมกำลังจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า เริ่มจะไม่จริงอีกต่อไป นักศึกษาจำนวนมากที่ผิดหวังจากแนวทางของพรรคฯ จึงเริ่มทยอยกันกลับสู่เมือง

เวลานั้นรัฐบาลพยายามยุติสงครามกลางเมืองโดยการออกนโยบาย 66/23 เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะนักศึกษาที่เข้าป่าจับอาวุธ ก็เปิดโอกาสให้กลับเข้าเรียนต่อโดยไม่มีอันตรายหรือถูกตั้งข้อหาใดๆ

ในปี 2524 เมื่อกลับมาบ้านมดเพิ่งทราบว่า ทุกค่ำคืนตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา แม่ต้องออกมายืนร้องไห้หน้าประตูบ้าน คอยชะเง้อมองไปตามถนนจนดึกดื่น หวังว่าลูกสาวคนนี้จะกลับบ้าน ในขณะเดียวกันฐานะการเงินของครอบครัวเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ

กลับมาบ้านได้สักพัก ในช่วงแรกมดยังสับสนอยู่ว่าจะกลับเข้าป่าเพื่อทำการปฏิวัติต่อตามความฝันหรือไม่ มดได้ไปเยี่ยมพรรคพวกในป่าแถบเทือกเขาภูพานอยู่ช่วงระยะหนึ่ง สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนต่อหลังจากได้พบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่สามารถนำทางให้เกิดการปฏิวัติได้อย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ต้อนรับมดและนักศึกษาที่ออกจากป่าทุกคนอย่างอบอุ่น ไม่มีการซักประวัติ ไม่มีการสอบปากคำจากทางการ มดได้ย้ายไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ เพื่อจะรีบเรียนให้จบออกมาทำงานช่วยทางบ้านที่กำลังเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน

เวลานั้นความคิดการเป็นนักปฏิวัติได้หายไปชั่วคราว มีแต่จิตใจทุ่มเทกำลังทำงานหาเงินมาแบ่งเบาภาระทางบ้าน ความรู้สึกของมดคงไม่ต่างกับ ‘คนป่าคืนเมือง’ ทั้งหลาย มดนิยามตัวเองเป็น ‘นักสังคมนิยมล้มเหลว’ ขณะที่พ่อของเธอเป็น ‘นายทุนล้มละลาย’

 

ชีวิตใหม่กับชาวปากมูน

 

”เดือนกุมภาพันธ์ 2534 หลังจากลงพื้นที่ครั้งแรก และเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็ได้ข่าวการปฏิวัติ (รสช.) การยึดอำนาจของทหารจากรัฐบาลพลเรือนชาติชาย ชุณหะวัณ มีการประกาศกฎอัยการศึก การชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและไม่ค่อยมีคนกล้าเข้าร่วม” 

 

 

ในปี 2527 มดเรียนจบปริญญาตรี มดทำงานเป็นพนักงานขายประกันที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย สร้างรายได้พอควร ต่อมาเปลี่ยนไปเป็นไกด์นำเที่ยว และบางครั้งก็เป็นแม่ค้า ในที่สุดภาระหนี้สินทางบ้านก็ลดน้อยลงมาก มดในวัย 30 ต้นๆ เริ่มรู้สึกอยากทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ

ปี 2533 มดเริ่มทำงานในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติกับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (ปัจจุบันคือมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ) รับผิดชอบด้านการศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการสร้างเขื่อนต่างๆ และต่อมาเมื่อเกิดโครงการสร้างเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี มดได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูล ไปคุยกับชาวบ้านที่กำลังหาปลาในแม่น้ำมูน

ถึงเวลานั้นมดตัดสินใจแล้วว่าต้องร่วมต่อสู้กับชาวบ้านเพื่อรักษาแม่น้ำมูนไว้ให้ได้

เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำลังผลิต 136 เมกะวัตต์ (เพียงพอสำหรับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เพียง 1 แห่ง) กั้นแม่น้ำมูนบริเวณอำเภอโขงเจียม และตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยใช้งบประมาณในตอนแรก 3,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายงบได้บานปลายไปถึง 6,000 กว่าล้านบาท

การก่อสร้างเขื่อนปากมูลเริ่มต้นขึ้นในปี 2534 และเสร็จสิ้นในปี 2537 ในระหว่างการก่อสร้างมีการชุมนุมประท้วงจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อน และเรียกร้องให้หยุดการระเบิดแก่งต่างๆ อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของลำน้ำมูน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เขื่อนขนาดกลางแห่งนี้กลายเป็นเขื่อนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในประเทศไทย มีนักข่าวจากทั่วโลกเดินทางมาทำข่าวเป็นประจำ และยังกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีของบรรดานักศึกษาเพื่อเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทไปจนถึงปริญญาเอกทั้งในและนอกประเทศ อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และทำให้ชื่อของวนิดา หรือมด เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ในฐานะนักสู้ผู้ไม่ยอมถอย

หลังจากนั้นมดได้ลาออกจากงานที่ทำในโครงการฟื้นฟูฯ แล้วผู้หญิงตัวเล็กๆ ผิวขาวชาวกรุงได้เดินทางไปปักหลักสู้ร่วมกับชาวบ้านปากมูนตามลำพัง ศึกษาและเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับชาวบ้าน จนได้พบว่าการสร้างเขื่อนปากมูลก่อผลกระทบมหาศาลเพียงใด

แม้ว่าน้ำไม่ท่วมพื้นที่ป่าเหมือนกับการสร้างเขื่อนอื่นๆ แต่เขื่อนปากมูลที่ปิดกั้นลำน้ำมูนและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงเพียง 5 กิโลเมตร ได้ทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านเกิดน้ำท่วมเสียหาย และยังกั้นขวางทางปลานับล้านๆ ตัวจากแม่น้ำโขงที่จะว่ายทวนน้ำเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูน เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนลุ่มน้ำมูนมาช้านาน ส่งผลให้ชาวบ้านปากมูนหลายพันคนที่มีอาชีพทำประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีแกนนำมาร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถอนตัวไปเพราะสถานการณ์ค่อนข้างไม่ปลอดภัย มดไม่ยอมถอย ทั้งยังใช้เวลาทั้งหมดพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน

มดทำให้ชาวบ้านได้รู้จักสิทธิของตัวเอง มดคุยกับชาวบ้านจากกลุ่มเล็กๆ จนค่อยๆ เป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น และร่วมกับชาวบ้านเดินขบวนคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างแข็งขัน ขณะที่ฝ่าย กฟผ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ท่าทีแข็งกร้าว กลั่นแกล้งทุกวิถีทาง ไม่พยายามทำความเข้าใจผู้เดือดร้อน แถมยังใช้วิธีสนับสนุนจัดตั้งมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายผู้คัดค้านด้วยความรุนแรง

อีกด้านหนึ่งมดได้ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุด มีการปล่อยข่าวกล่าวหามดต่างๆ นานา อาทิ เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นเมียน้อยของแกนนำชาวบ้านบ้าง รับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ มีบ้านพักราคานับสิบล้านบาท ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิ่งเหล่านี้หาได้ทำให้กำลังใจของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมดลดลงไม่

อาจเป็นเพราะมดได้สรุปบทเรียนแล้วว่า วิธีการเป็นผู้นำ ตัดสินใจและทำทุกอย่างแทนมวลชน ทำให้มวลชนไม่เติบโตพอที่จะยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นในการทำงานมวลชนกับชาวบ้านปากมูน มดได้ทำหน้าที่ถอยห่างออกมาเป็นเพียงที่ปรึกษา และไม่ตัดสินใจอะไรด้วยตนเองเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป แต่จะให้ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดร่วมกันตัดสินใจทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ของชาวบ้าน

3 มีนาคม 2536 ชาวบ้านกว่า 400 คนได้เข้ายึดอุปกรณ์ก่อสร้างและนอนขวางลูกระเบิดที่กำลังจะระเบิดแก่ง ทำให้การก่อสร้างเขื่อนหยุดลงชั่วคราว แม่สมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านปากมูนเล่าว่า

“ช่วงนั้นตรงกับสมัยรัฐบาลชวน อากาศหนาวมาก พวกพี่น้องที่มาชุมนุมกันหนาวเกือบตาย เมื่ออยู่ก็ตาย กลับบ้านก็ตาย จึงพากันไปยึดหัวงานเขื่อน มดก็ไปด้วยกัน เสี่ยงตายก็ช่าง”

ชาวบ้านยึดหัวงานเขื่อนได้ 3-4 วัน ก็มีตัวแทนของรัฐบาลมาเจรจา โดยชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้เพราะมีการระเบิดแก่ง และให้รับประกันความปลอดภัยของชาวบ้าน แต่ คืนนั้นทหาร ตำรวจ และชาวบ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

“ประมาณทุ่มเศษๆ ฝ่ายนั้นมีแต่ชายฉกรรจ์กินเหล้าเมายา ส่งเสียงไชโยโห่ร้อง เขาส่งตัวแทนมาบอกให้พวกเราออกไป ไม่งั้นจะสลายการชุมนุม พวกเรากับมดก็ไปขอเขาว่าเราจะออกตอนเช้า ตอนนี้มันดึกแล้ว แต่เขาไม่ยอม เดินเท้าเข้ามา ร้อง ‘ฆ่ามึงๆ’ แล้วขว้างก้อนหินมาโดนพี่น้องที่ชุมนุมอยู่ตรงหัวสะพาน แตกกันไปคนละแนว  ตอนนั้นพวกเรากลัวมดโดนจับเอาไปฆ่า ก็เลยพาหลบลงเรือพายหนีไปตามแม่น้ำมูน เราต้องรักษาชีวิตมดไว้ก่อน หลังจากนั้นบางส่วนก็ขึ้นรถโดยสารนัดกันเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ปากมูน”

มดกับชาวบ้านเริ่มถูกจับดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงหลายข้อหาจากฝ่ายรัฐ แต่ก็หาได้ทำให้ขบวนชาวบ้านเสียกำลังใจไม่ และอีกหลายเดือนต่อมาขณะที่ทาง กฟผ. กำลังระเบิดแก่ง-แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาชนิดต่างๆ จำนวนมหาศาลในแม่น้ำมูน โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงร่องน้ำ ชาวบ้านกว่า 400 คนที่คัดค้านมานานแต่ไม่สามารถหยุดเสียงระเบิดได้ จึงตัดสินใจบุกเข้ายึดแก่ง ยึดเครื่องมือก่อสร้างและนอนขวางลูกระเบิด การสร้างเขื่อนจึงยุติลงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็ส่งชายฉกรรจ์พร้อมไม้กระบองบุกเข้ามาทำร้ายอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน

ในปี 2537 เขื่อนปากมูลก็ก่อสร้างเสร็จ ท่ามกลางการต่อสู้ยาวนานของชาวบ้าน มีการชุมนุมเคลื่อนไหวหลายสิบครั้ง การปะทะกันเกิดขึ้นบ่อย หลายคนได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังนับสิบคน นับเป็นการต่อสู้ยาวนานที่สุด และสามารถสร้างแนวร่วมจากนักศึกษา นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ ข้าราชการ นักธุรกิจได้มากมายมหาศาล

แม้ชาวบ้านจะไม่สามารถขัดขวางการสร้างเขื่อนได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ครั้งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม คือข้อเรียกร้องให้ชดเชยอาชีพประมงของชาวบ้านที่ต้องสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐยอมจ่ายค่าชดเชยต้นทุนทางสังคม

แต่การต่อสู้ยังไม่จบเพียงแค่นั้น …

 

มดกับสมัชชาคนจน

 

“ถ้ามากันคนสองคนจะได้พบก็แต่ยาม ถ้ามี 10-20 คนอาจจะได้เจอเลขาฯ ศูนย์บริการประชาชน ถ้ามาเป็นร้อยจะได้เจอเลขารัฐมนตรี มาเป็นพันรัฐมนตรีช่วยฯ จะลงไปหา ถ้ามีสักหมื่นรัฐมนตรีจะลงมาเจรจาด้วย แต่จะให้นายกฯ มาพบปะเจรจาต้องสักสองหมื่น”

 

 

ช่วงเวลาก่อนที่มดเข้าร่วมกับชาวบ้านปากมูน การชุมนุม เดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านทั่วประเทศมีมาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากรัฐบาล ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สมัชชาคนจน” โดยมีกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักศึกษา และผู้รักความเป็นธรรมเข้ามาช่วยหนุนเสริม

สมัชชาคนจนอธิบายตัวเองว่า เป็น “เครือข่ายของชาวบ้านคนยากจนจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ระหว่างรัฐและภาคธุรกิจกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง”

สมัชชาคนจนกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม 2538 (วันสิทธิมนุษยชนสากล) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทั้งในประเทศไทยและอีก 10 ประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วม เพื่อเป็นเวทีรวมพลังแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกลุ่มปัญหา 6 เครือข่าย กรณีปัญหาทั้งสิ้น 125 กรณี อาทิ เครือข่ายปัญหาเขื่อนหรือสมัชชาเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปัญหาสลัม เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังขยะ-ลิกไนต์ เชียงใหม่ เป็นต้น

มดได้นำชาวบ้านปากมูนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจน โดยตัวเธอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

ยุทธศาสตร์สำคัญของสมัชชาคนจนคือการเดินขบวนหรือชุมนุมอย่างสันติเพื่อแสดงพลังในการสร้างอำนาจการต่อรองของประชาชน และในเดือนมกราคม 2540 สมัยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ สมัชชาคนจนได้แสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนจน คือการชุมนุมของชาวบ้านร่วม 2 หมื่นคนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 99 วัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมเจรจาปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของชาวบ้าน 125 กรณี

ตลอดระยะเวลา 99 วัน มดใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านที่มาประท้วงอย่างสันติด้วยความอดทนบนถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล นอนกลางฟุตบาท กินกลางถนน ล้างส้วม นั่งสมาธิภาวนา ร่วมคิดร่วมต่อสู้และวางแผนกับที่ประชุมแกนนำชาวบ้านที่เรียกกันว่า พ่อครัวใหญ่ จำนวน 125 คน ซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละกรณีปัญหาที่มาเรียกร้องกับรัฐบาล

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ตั้งข้อสังเกตเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“เส้นทางการต่อสู้ของพี่มดและพี่น้องคนจนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน การเมืองที่คนเล็กๆ ในสังคม คนจนทั้งผองได้มารวมพลัง ผ่านสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘การเมืองบนท้องถนน’ การเมืองภาคประชาชนของสมัชชาคนจนก็คือการสร้างสรรค์และจรรโลง ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’  โดยอาศัยการปักหลักชุมนุมประท้วง เปิดเวทีเจรจาต่อรองกับรัฐบาล”

พ่อครัวใหญ่ถือเป็นหัวขบวนสูงสุดของสมัชชาคนจนที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทาง ตัดสินใจหรือวางแผนการต่อสู้ ไม่มีผู้นำคนใดคนหนึ่งมีอำนาจสูงสุด เพราะบทเรียนของภาคประชาชนหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า “ผู้นำเดี่ยว ถ้าไม่ตายก็ขายตัว” โดยมีบรรดานักวิชาการ เอ็นจีโอ เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

รัฐบาลได้ส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีมาเจรจากับสมัชชาคนจนอย่างเป็นทางการหลายครั้ง และมีการออกมติคณะรัฐมนตรี แต่ทุกวันนี้สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้เพียง 18 กรณีปัญหาเท่านั้น ส่วนกรณีปัญหาอื่นๆ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ไม่ได้รับการสานต่อ รวมถึงปัญหาของเขื่อนปากมูล ซึ่งรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม. ชดเชยความเสียหายจากอาชีพประมงจำนวน 3,084 ครอบครัว โดยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินแทนไร่ละ 35,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท

แต่ในขณะที่รอการจ่ายค่าชดเชย รัฐบาลชวน หลีกภัย ก็ออกมติ ครม. ใหม่ ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับเขื่อนที่สร้างแล้ว จึงเท่ากับเป็นการฉีกสัญญาที่รัฐบาลชุดที่แล้วให้ไว้กับชาวบ้าน

ชาวบ้านกว่า 2,000 คนจึงรวมตัวกันกลับมายึดเขื่อนปากมูลอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน สร้างบ้านชั่วคราวประมาณ 300 หลัง เป็นการชุมนุมอย่างยืดเยื้อเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2542 โดยมีข้อเรียกร้องสูงสุดคือ ให้ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ เพื่อฟื้นฟูอาชีพประมงและวิถีชีวิตที่สูญเสียไปกลับคืนมาอย่างยั่งยืน

มดได้เดินสายวิ่งประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลฯ เพื่อติดต่อให้บรรดาแนวร่วมเข้าใจว่า เหตุใดชาวบ้านต้องไปยึดสันเขื่อนปากมูล มีการเชิญผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายท่านมาเยี่ยมหมู่บ้าน มีการจัดเสวนาให้การศึกษาแก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ จนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนได้กลายเป็นโรงเรียนให้การศึกษาแก่คนภายนอกและภายในตลอดระยะเวลา 4 ปีแห่งการก่อตั้ง ในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เดินทางมาปักหลักประท้วงยืดเยื้อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บางครั้งใช้ยุทธวิธีปีนบันไดเข้าทำเนียบจนสามารถต่อรองให้รัฐบาลมีมติให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเพื่อให้คณะกรรมการได้ศึกษาผลดีผลเสีย รวมทั้งมีการจัดเวทีสาธารณะขึ้นที่กรุงเทพฯ ให้ชาวบ้านปากมูนได้พูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของตัวเอง

ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนของคณะกรรมการตัดสินรางวัลแม็กไซไซได้ติดต่อขอเสนอชื่อมดเป็นผู้ได้รับรางวัลในปีนั้น แต่มดปฏิเสธไป บอกว่าถ้าจะให้รางวัลต้องให้กับชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ทั้งหมด

เมื่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศในระยะแรก มดคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีเพื่อนเดือนตุลาผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันเป็นรัฐมนตรีหลายคน จะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้ดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว แต่สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้ได้มีมติให้เปิดเขื่อนปากมูลเพียง 4 เดือน สวนทางกับข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ศึกษาพบว่า การเปิดเขื่อนตลอดทั้งปีจะทำให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ไม่นานนักชาวบ้านที่ชุมนุมล้อมทำเนียบก็ถูกตำรวจเทศกิจ ภายใต้คำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น บุกเข้ารื้อเต็นท์และสลายการชุมนุม เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน จ. อุบลฯ ก็ถูกอันธพาลทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกเผาและทำลายหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายถูกเผาวอดวายสิ้น

มดได้รับบทเรียนมาตลอดว่า นักการเมืองจะอยู่กับเรายามไม่มีอำนาจ แต่เมื่อมีอำนาจแล้วก็จะอยู่ตรงข้ามกับประชาชนเสมอ

ชาวบ้านปากมูนที่ชุมนุมอยู่ต้องล่าถอยกลับไป แต่มดไม่เคยคิดว่าชาวบ้านพ่ายแพ้ เพราะมดคิดเสมอว่า การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องการชนะหรือพ่ายแพ้ ไม่จำเป็นต้องเห็นผลเร็ววัน แต่การต่อสู้ทุกครั้งคือการสั่งสมประสบการณ์และต้องสู้ไปเรื่อยๆ เธอบันทึกไว้ว่า

“ความอับจนหลายครั้งทำให้ข้าพเจ้าเริ่มท้อแท้ แต่ความมานะอดทนของชาวบ้าน ความทุกข์ยากของมวลชนที่อยู่รายล้อมข้าพเจ้า เป็นเครื่องเตือนสติ และทำให้ข้าพเจ้าต้องอยู่กับพวกเขามาจนถึงปัจจุบันนี้”

 

 

บทสุดท้าย

 

“ณ เดือนที่สิบสองวันที่หก

รวดร้าวราวใจจะขาด

หลี่งี้จากลาแล้วไม่กลับคืน

ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว

แม่ยังถาม…ลูกสาวหายไปไหน

หลั่งน้ำตา ร่ำร้องหา จนฟ้าสาง

12 ธันวาคม 2550…วันเผาลูกสาว

กลั่นจากใจพ่อ

 

ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่มดได้ร่วมต่อสู้เคียงข้างคนทุกข์ยาก มดไม่เพียงสนใจเฉพาะปัญหาชาวบ้านปากมูนเท่านั้น แต่มดได้เดินทางไปเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อร่วมต่อสู้ ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน ตั้งแต่กรณีความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างท่อก๊าซที่จะนะ สงขลา หรือกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด การวางท่อก๊าซที่จังหวัดกาญจนบุรี โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ไปจนถึงปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนทั่วประเทศ ไม่นับปัญหาการเรียกร้องค่าชดเชยจากกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนสิรินธร ที่ต่อสู้กันมาหลายสิบปี

ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทุกครั้งเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน มดไม่เคยละทิ้งมวลชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ มดจะปรากฏตัวโดยไม่ปิดบังเพื่อเป็นที่อุ่นใจของชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นที่ลำบากใจของฝ่ายราชการ เพราะมดเป็นนักเคลื่อนไหวอันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่สันติบาล หน่วยงานความมั่นคงของรัฐทุกแห่งรู้จักดี

มดยังเคยถูก ป.ป.ง. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ตรวจสอบบัญชีธนาคารเพื่อหวังจะหาหลักฐานใส่ร้ายว่าเธอร่ำรวยผิดปกติ แต่สุดท้ายก็พบเงินในบัญชีไม่กี่หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ผ่านมา มดได้รับเงินเดือนจากโครงการเครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำ เดือนละ 12,000 บาท โดยหักให้พ่อแม่ 8,000 บาท ที่เหลือไว้ใช้เองและแบ่งให้เพื่อนฝูงหลายคนที่ลำบากกว่า

ในปี 2546 หลังจากที่ชาวบ้านปากมูนถูกรัฐบาลทักษิณสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มดได้หันมาสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น และหันกลับมาดูแลพ่อแม่ผู้ชราภาพ จากที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลพวกท่านอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน เพราะเธอแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย

มาช่วงหลังพ่อแม่ดีใจที่ลูกสาวคนนี้อยู่บ้านมากขึ้น มดมีเวลาพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดหลายแห่ง รวมถึงพาไปค้างคืนที่ปากมูนด้วย และมดยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรไปอภิปรายหรือสอนหนังสือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ

ดูจะเป็นช่วงเวลาที่มดมีความสุขมากที่สุด แต่คนใกล้ชิดก็เริ่มสังเกตเห็นว่าร่างกายเธอผอมลงผิดสังเกต มดปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอะไร เพียงแต่ไปปฏิบัติธรรมและอดอาหารมา เพื่อนฝูงเตือนให้หาเวลาไปหาหมอ

จนกระทั่งในเช้าวันที่ 3 มีนาคม 2549 น้องชายพาไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 มดเข้ารับการรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดและผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก และรักษาด้วยเคมีบำบัดอีกอย่างต่อเนื่อง

ต้นปี 2550 มดมีอาการไอถี่ๆ มากขึ้น แพทย์พบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ปอด ช่วงอาทิตย์สุดท้ายมดมีอาการเหนื่อยขึ้นมาก ต้องใช้ออกซิเจนเกือบตลอดคืน มดรู้ว่าเวลาอาจมีไม่มาก จึงเขียนจดหมายลาพี่น้อง เพื่อนสนิท แม่บ้านที่ดูแลมาตลอด มดรักพ่อแม่มาก รู้ว่าตลอดชีวิตไม่ค่อยมีเวลาได้ดูแลพวกท่านอย่างใกล้ชิด และเสียใจที่ยังไม่มีโอกาสได้ทดแทนบุญคุณ

บ่ายเศษๆ ของวันที่ 6 ธันวาคม 2550 วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จากทุกคนไปอย่างสงบ ร่างที่ไร้วิญญาณถูกนำไปไว้ที่วัดวชิรธรรมสาธิต วัดเล็กๆ ที่อยู่หน้าบ้าน ในซอยสุขุมวิท 101/1  สิ้นสุดตำนานของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อคนอื่นมาตลอดระยะเวลา 30 ปี

คนเล็กๆ ผู้ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมใดๆ ทั้งปวง

 

“ใบไม้ร่วงหนึ่งใบในราวป่า  

ยังดีกว่าใบไม้เหลืองในเมืองหลวง

ที่รอปลิดหล่นเปล่าประโยชน์ปวง  

เป็นด่างดวงดำเปื้อนในป่าคน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save