fbpx
ข้ามพ้น ‘คนดี’ เสียทีดีไหม

ข้ามพ้น ‘คนดี’ เสียทีดีไหม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

คุณมักจะคิดแบบนี้อยู่บ่อยๆ หรือเปล่าครับ?

  • เราสามารถเปลี่ยนโลกได้ด้วยตัวเราเอง ขอเพียงมีความตั้งใจมากพอเท่านั้น
  • ปัญหาในชีวิตส่วนใหญ่เกิดเพราะต้องไปข้องเกี่ยวกับคนไม่ดี
  • คนจนนั้นจนเพราะโง่และขี้เกียจ ต่างจากคนรวยที่เก่งและขยัน
  • ประเทศด้อยพัฒนาก็เพราะผู้คนขาดจริยธรรม ผู้นำจึงต้องเป็นคนดี แล้วสังคมก็จะพัฒนาเอง

วิธีคิดข้างต้นเป็นการมองโลกแบบหนึ่ง ที่อาจเรียกว่าแบบ “ปัจเจกนิยม” (individualism) เพราะเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลก (ความสำเร็จ/ล้มเหลวในชีวิต ความร่ำรวย/ยากจน สังคมดี/ไม่ดี) โดยใช้ “ปัจเจกบุคคล” เป็นหน่วยในการมอง

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วมันมีวิธีมองโลกแบบอื่นด้วยหรือ – คำตอบคือมีครับ และนี่เป็นเรื่องสำคัญในวงวิชาการสังคมศาสตร์เลย ว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกได้ดีที่สุดด้วย “หน่วย” อะไร หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “unit of analysis”

“ปัจเจกบุคคล” เป็นหน่วยมองโลกแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป และทรงอิทธิพลขึ้นมาพร้อมกับการผงาดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยกรอบนี้นิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เป็น “ศาสตร์แห่งทางเลือก” และมุ่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ไล่มาตั้งแต่การออกนโยบายเศรษฐกิจจนถึงอัตราการเกิดอาชญากรรม ว่าเป็นผลของการเลือกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่คำนวณผลได้ผลเสียอย่างมีเหตุมีผลแล้ว

ในโลกตะวันตก กรอบปัจเจกนิยมมีพลังดึงดูดให้คนคล้อยตามสูงก็เพราะสอดคล้องกับหลักการว่าด้วยอิสรภาพและสิทธิมนุษยชน

แต่ในประเทศไทย กรอบปัจเจกนิยมน่าจะมีพลังเพราะสอดคล้องกับการมองโลกตามกรอบพุทธศาสนาเป็นหลัก จึงมีมิติทางศีลธรรมเข้าไปประกอบด้วยเสมอ (คนดี-คนไม่ดี) ซึ่งต่างจากข้อสมมติของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อว่าทุกคนล้วนแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองทั้งสิ้น

การมองโลกแบบปัจเจกนิยมมีข้อดีหลายประการ สิทธิเสรีภาพของมนุษย์และการปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคลในโลกสมัยใหม่เกิดขึ้นได้ก็เพราะการตระหนักถึงความสำคัญของปัจเจกชน โดยไม่ขึ้นกับเพศ เชื้อชาติ หรือวงศ์ตระกูล ต่างจากหลายศตวรรษก่อนที่สายเลือด วรรณะ หรือเพศ เป็นตัวกำหนดสถานะทางสังคม

นอกจากนี้ การมองโลกแบบปัจเจกยังกระตุ้นให้เราพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่เป็นไปได้ (ก็ไม่มีอะไรหยุดรั้งเราไว้ได้ นอกจากความคิดเรานี่ครับ!)

ถึงกระนั้นก็ตาม การมองโลกแบบปัจเจกเป็นเพียงวิธีการมองโลกเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น ทั้งยังมีปัญหาในตัวเองไม่น้อย

ในทางหนึ่ง กรอบนี้ถูกตั้งคำถามว่า ปัจเจกบุคคลเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่ไม่อาจแบ่งย่อยได้อีกแล้วจริงหรือ เพราะงานศึกษาทางจิตวิทยารวมถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมระยะหลังพบว่า มนุษย์เรามีความสลับซับซ้อนไม่น้อย การมีตัวตนหลายมิติ (ที่มักขัดแย้งกันเอง) ก็แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ จนปัจเจกบุคคลยังไม่ใช่หน่วยย่อยที่สุด เรียกว่าจะเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และผลลัพธ์ทางสังคมก็ต้องค้นให้ลึกลงไปอีกในตัวตนของปัจเจก

ในอีกทางหนึ่ง สังคมศาสตร์หลายสำนักเสนอให้เรามองออกไปให้ไกลกว่าตัวตนของปัจเจก เช่น มาร์กซิสต์และนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกมองพฤติกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์ในสังคมผ่านแว่นตา “ชนชั้น” (class) ตัวอย่างเช่น เมื่อนายทุน ทหาร หรือข้าราชการออกนโยบายอะไร ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง โดยไม่ขึ้นกับว่าเป็นนายทุนที่ดีหรือนายทุนไม่ดี

หรือหากคุณได้พบรักกับเนื้อคู่เพราะบังเอิญไปเรียนหลักสูตรเดียวกันที่บอสตันหรือลอนดอน สายตาแบบปัจเจกอาจมองว่านี่เป็นเรื่องพรหมลิขิต (what a destiny!) แต่มาร์กซิสต์ย่อมเห็นว่านี่เป็นเรื่องของชนชั้น (เดียวกัน) ก็เท่านั้นเอง (class determination)

นอกจากชนชั้นแล้ว ก็ยังมีหน่วยอื่นๆ อีก เช่น นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์สถาบันมักกวาดตามองไปที่ “บริบท” (context) เป็นสิ่งแรก เพราะเชื่อว่าคนเราย่อมได้รับอิทธิพลและแรงจูงใจจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ปัจเจกย่อมถูกหล่อหลอมในกาละและเทศะหนึ่งๆ ดังนั้น ความสำเร็จหรือล้มเหลวส่วนบุคคลจึงไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจกเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ต่อให้เด็กคนหนึ่งมีทักษะในวัยสิบขวบไม่ต่างจาก สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ในวัยเดียวกัน แต่ต้องไปเติบโตในพื้นที่ทุรกันดารของทวีปแอฟริกา ไม่ว่าเขาจะมีความตั้งใจหรือพรสวรรค์เพียงใด สุดท้ายก็ต้องประกอบอาชีพชาวนาอยู่ดี เพราะไม่มีองค์ประกอบเกื้อหนุนให้เข้าสู่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

ความสำเร็จของจ็อบส์จึงไม่ใช่เรื่องพรสวรรค์ส่วนตัวเท่านั้น แต่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยจากการอยู่ในสังคมอเมริกาในช่วงเวลาที่ตลาดเปิดกว้าง

งานวิจัยอีกหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “โครงสร้างทางสังคม” (social structure) ที่เราไม่ได้กำหนดขึ้นเอง แต่มีผลกับเราตั้งแต่เกิดโดยปริยาย เช่น ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมากๆ ผู้คนมักตัดสินใจทำอะไรเพื่อประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เป็นต้น

แน่นอนว่า ท้ายที่สุดปัจจัยต่างๆ ย่อมมีผลต่อเนื่องกันมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งตัวตนของปัจเจก สภาพแวดล้อม ชนชั้น รวมถึงจังหวะและโชคชะตา แต่การสรุปเช่นนั้นย่อมไม่พาเราไปที่ใด เพราะหากมองจากกระแสความคิดหลักในสังคมไทย คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “default mode” ของสังคมเราคือ “ปัจเจกนิยม”

หากลองสังเกตดูให้ดี ทั้งการตีความอดีต การประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน หรือการออกแบบอนาคต ที่เรามักเห็นในข่าวรายวัน ในรัฐสภา หรือในท้องตลาด ล้วนมี “หน่วยการวิเคราะห์” อยู่ที่ศีลธรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นหลักทั้งนั้น

การเป็นคนดีอาจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง แต่เป็นคนละเรื่องกับการลดทอนปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลกให้เหลือเพียงการต่อสู้ระหว่างคนดี–คนไม่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสังคมให้ความสำคัญกับหน่วยปัจเจกมากเกินไป นโยบายสาธารณะที่ออกมาคงหนีไม่พ้นการปรับค่านิยมและปลูกฝังจิตสำนึก ซึ่งนอกจากจะต้านทานการหมุนของเข็มนาฬิกาแล้ว ก็ยังเป็นการหว่านเงินที่วัดผลได้ยากยิ่ง

แต่เมื่อใดที่สังคมสามารถตีความอดีตและประเมินอนาคตไปได้ไกลกว่าหน่วยปัจเจก โดยให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม และเชื่อว่าโครงสร้างใหญ่ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำหรือกระบวนการกำหนดงบประมาณ ล้วนมีอิทธิพลต่อการกำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ (choice sets) ของเราทั้งสิ้น แต่ตัวเราเองก็สามารถมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนั้นได้เช่นกัน เมื่อนั้น ทางเลือกเชิงนโยบายก็จะเปิดกว้างขึ้นมาก และเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน

แนวทางที่ “สมดุล” และเป็น “ทางสายกลาง” ในสังคมไทยจึงน่าจะเป็นการกระตุ้นวิธีการมองโลกแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการลดทอนทุกสิ่งเหลือเพียงเรื่องของปัจเจกเท่านั้น

แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้คุณตีความเรื่องวุ่นวายรอบตัวด้วย “หน่วย” อะไร?

MOST READ

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save