fbpx
'ตุลา' ที่ไม่น่าจำ

‘ตุลา’ ที่ไม่น่าจำ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

-1-

เราควรจดจำเดือนตุลาแบบไหนดี ?

คำถามนี้ปรากฏขึ้นมาในหัวของผมตั้งแต่เดือนตุลาคมเมื่อปีก่อน หากระบุให้ชัด คงเป็นหัวค่ำของวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผมและเพื่อนอีก 4-5 คนพร้อมใจกันจดจ้องทีวีจอใหญ่ในร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง เฝ้ารอการประกาศครั้งสำคัญในรอบหลายสิบปี

ความสูญเสียครั้งใหญ่ได้รับการยืนยันผ่านประโยคไม่กี่ประโยค วินาทีนั้นคล้ายโลกดับลงชั่วคราว

จากอดีตที่ผ่านมา เดือนตุลามีเรื่องราวมากมายให้จดจำรำลึก แต่เท่าที่ผมนึกได้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องราวที่น่ายินดีนัก

นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ว่ากันว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของนักศึกษาและประชาธิปไตย ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป เราต่างประจักษ์แล้วว่าชัยชนะนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว เช่นเดียวกับประชาธิปไตยที่ไม่เคยเต็มใบมาจนถึงปัจจุบัน มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ถือเป็นรอยร้าวและบาดแผลแห่งยุคสมัย การสังหารหมู่อันน่าพรั่นพรึงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้รับการสะสาง

หากจะมีวันดีๆ ในเดือนนี้ให้จิตใจได้พอชุ่มฉ่ำบ้าง คงเป็นวันเกิดผมเอง

 

-2-

ย้อนไปในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาฯ ผมเป็นหนึ่งในคนนับพันที่เข้าร่วมฟัง ปาฐกถาของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในฐานะคนเดือนตุลารุ่นหลาน แม้จะเคยรับรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลามาบ้าง แต่ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเข้าใจเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นอย่างดี อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนชอบค่อนขอดทำนองว่า เด็กสมัยนี้แยก 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ไม่ออกด้วยซ้ำ

“สองลักษณะที่สังคมไทยจดจำ 6 ตุลาฯ คือความโหดร้ายและความเงียบ ความโหดร้ายบอกถึงระดับความสามารถและวุฒิภาวะของสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้งของสังคมการเมือง โดยเฉพาะระหว่างรัฐกับประชาชน การอุ้ม สูญหาย ใช้กฎหมายผิดๆ กับประชาชนจึงยังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ ความโหดร้ายของ 6 ตุลา สะท้อนอำมหิตอย่างเหลือเชื่อ ว่ามนุษย์ในภาวะปกติจะกระทำต่อกันได้ขนาดนั้น

“ความเงียบ บอกถึงวัฒนธรรมของสังคมไทยในการรับมือกับความผิดพลาด เราชินกับการยิ้มแย้มแจ่มใสแบบไทยสมายล์ โดยหมกและเก็บความผิดพลาดไว้  6 ตุลาเป็นช้างตัวเบ้อเริ่มที่ถูกซุกไว้ใต้พรมและทำเป็นมองไม่เห็น ความเงียบสะท้อนอภิสิทธิ์ปลอดความผิด ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ถ้าคุณมีสถานะสูง มีอำนาจพอ คุณจะสามารถมีอภิสิทธิ์ปลอดความผิดได้…”

ในช่วงท้าย อาจารย์ธงชัยประกาศชื่อ-นามสกุลของผู้เสียชีวิตทีละคน พร้อมรูปถ่าย จากข้อมูลเท่าที่รวบรวมมาได้

“เกือบ 40 ปี เราเพิ่งพบว่าคนถูกแขวนคอไม่ได้มีแค่สองคน แต่พบว่ามีสี่คน หรืออาจจะห้าคน ที่สำคัญคือมีสองคนที่เรายังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร และศพของเขาอยู่ที่ไหน … ทำไมเราจึงควรรู้จักผู้ถูกทำร้ายทุกคน ไม่ใช่ว่ารายละเอียดของพวกเขาจะทำให้การวิเคราะห์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เพราะพวกเขาถูกย่ำยีขนาดนั้น ถูกพรากความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการแสดงความเคารพต่อคนเหล่านั้นอย่างดีที่สุด สมเกียรติมากที่สุด มีคุณค่าที่สุด คือการคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา”

จบปาฐกถา มวลความเศร้าแผ่เข้าปกคลุมบรรยากาศ ยิ่งเมื่อตระหนักได้ว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้คือที่เกิดเหตุ ยิ่งอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก

หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนว่าเรื่องราวของ 14 ตุลา ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากกว่า มีข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เพียบพร้อม แพร่หลาย ขณะที่เรื่องราว 6 ตุลานั้นคล้ายกับหลุมดำ ดังที่อาจารย์ธงชัยบอกไว้ว่าเรื่องนี้มี ‘เพดาน’ จำกัด มันจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้จำไม่ได้ แต่ก็ลืมไม่ลง

อาจารย์ธงชัย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาช่วง 6 ตุลา และหนึ่งในคนที่พยายามบอกเล่าและ ‘ขยับเพดาน’ ของเหตุการณ์นี้มา 40 ปี มักย้ำอยู่เสมอว่า “ไม่มีวันไหนที่ผมตื่นมาและไม่นึกถึงเหตุการณ์วันนั้น”

หนึ่งสัปดาห์ถัดจากงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา อย่างที่เราทุกคนคงทราบดี วันที่ 13 ตุลาคม 2559 กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทุกคนพร้อมใจกันจดจำ เดือนตุลาคมแปรเปลี่ยนเป็นสีดำ ถมทับความทรงจำก่อนหน้าจนพร่าเลือน

 

-3-

นอกจากคำถามที่ว่า เราควรจดจำเดือนตุลาแบบไหน อีกคำถามที่น่าจะสำคัญไม่แพ้กันก็คือ เราควรจดจำ ‘คนเดือนตุลา’ แบบไหน

แม้ตัวผมเองจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์เดือนตุลา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับรู้และเผชิญในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น คือภาพของ ‘คนเดือนตุลา’ ที่ได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษประชาธิปไตย ซึ่งทุกวันนี้มีศักดิ์เป็นเหมือนคุณลุงคุณป้าของผม ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ทั้งยังเป็นตัวละครแถวหน้าในความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คุณลุงคุณป้าเหล่านั้นต่างกระจัดกระจายกันไปตามกลุ่มก้อนการเมือง ทั้งเหลืองทั้งแดง ทั้งเอาและไม่เอารัฐประหาร เปลี่ยนจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาเป็นศัตรูที่อยู่คนละขั้ว และมักเอาความเป็นคนเดือนตุลามาเป็นเกราะป้องกันตัวอยู่เสมอ

ในฐานะคนรุ่นหลัง ผมอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับความเป็นวีรบุรุษของคุณลุงคุณป้าเหล่านี้ ในแง่ที่พวกเขายังคงมีบทบาทขับเคลื่อนสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ทิ้งภาระหลายๆ อย่างไว้กับคนรุ่นต่อมา ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือนักวิชาการรุ่นใหม่ที่พยายามศึกษาที่มาที่ไปของ ‘คนเดือนตุลา’ ผลงานวิชาการของเธอที่ชื่อว่า ‘The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand’ ตั้งต้นมาจากคำถามสองข้อที่ว่า ทำไมคนเดือนตุลาถึงกลับมามีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของฝ่ายซ้ายได้ล่มสลายไปหลายสิบปีแล้ว และ ทำไมพวกเขาจึงขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง ภายใต้บริบททางการเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าคำอธิบายของเธอช่วยคลายข้อสงสัยต่างๆ ที่มีต่อคนเดือนตุลาได้อย่างชะงัด และทำให้ภาพเดิมๆ ของคนเดือนตุลาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ในที่นี้ ผมขอหยิบยกเฉพาะใจความสำคัญมาบอกเล่าต่อ เพื่อให้พอเห็นภาพกว้างๆ ว่าคำตอบที่กนกรัตน์ค้นพบนั้น คืออะไร

ในการศึกษาครั้งนี้ กนกรัตน์ให้คำนิยามของ ‘คนเดือนตุลา’ ไว้ว่าเป็น “นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับการสนับสนุนการต่อต้านระบอบเผด็จการถนอม-ประภาส ในช่วงก่อนและระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา รวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในช่วงปี 2516-2519 จนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรวมถึงนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมอื่นๆ ที่เข้าร่วมรบทั้งในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และทำงานอยู่ในเมืองเพื่อคอยสนับสนุนกิจกรรมในป่า”

ช่วงต้นของการเสวนา กนกรัตน์เล่าว่าความท้าทายของการทำงานชิ้นนี้ คือการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีใครเต็มใจเปิดเผย อีกทั้งกลุ่มบุคคลที่เธอศึกษานั้น ล้วนเป็นบุคคลที่เธอเคารพนับถือในแวดวงวิชาการ การวิพากษ์วิจารณ์คนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ และอาจส่งผลต่อเธอในทางลบมากกว่าทางบวก

“ในช่วงการเก็บข้อมูลของการทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ดิฉันบอกได้เลยว่ามีโอกาสสัมภาษณ์แกนนำน้อยมาก พวกเขามักจะบอกว่าเขียนเรื่องเหล่านี้ไปหมดแล้ว หรือไม่ก็รู้สึกเจ็บปวดกับมัน จนไม่อยากพูดถึงมัน บางคนก็ออกปากตั้งแต่ต้นว่า อย่าสัมภาษณ์เลย โดยไม่ให้เหตุผล เมื่อเป็นเช่นนี้ ในฐานะคนอีกรุ่น ก็ต้องอยู่กับชุดข้อมูลและประวัติศาสตร์แบบขาดๆ เกินๆ ที่พวกเขาอยากให้เรารู้จักเขา และไม่อยากให้รู้จักเขา พวกเราต้องวิเคราะห์และวิจารณ์จากข้อมูลเท่าที่เรามี…

“ฉะนั้น สิ่งที่ดิฉันจะนำเสนอในวันนี้ ขอให้ถือเป็น ‘Invitation Letterหรือจดหมายเชิญให้คนเดือนตุลาเข้ามาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อบทนำเสนอเชิงวิพากษ์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์เดือนตุลา แต่ต้องอยู่กับสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น…”

สำหรับคำถามแรกที่ว่า ทำไมคนเดือนตุลาถึงกลับมามีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของฝ่ายซ้ายได้ล่มสลายไปหลายสิบปีแล้ว กนกรัตน์เสนอว่ามี 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน

ปัจจัยแรก คนเดือนตุลาเป็นคนที่เรียนจบการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยเป็นรุ่นแรกๆ ก่อนจะออกไปเป็นพลังขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ ของสังคมในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ทำให้พวกเขาสามารถหยิบฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อกลับมามีบทบาทและตัวตนในสังคมได้อีกครั้ง

ปัจจัยต่อมา กนกรัตน์บอกว่าคนพวกนี้ถือว่าเป็น ‘Unique group of generation’ กล่าวคือ ในบรรดาคนรุ่นเดียวกัน คนเดือนตุลามีความสามารถแบบชนชั้นกลาง พูดภาษาเดียวกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงได้ สามารถเป็นผู้บริหารหรือคนเขียนนโยบายได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเข้าป่า ทำงานกับกรรมกรและชาวนา ทำให้มีความเข้าใจและพูดภาษาของชนชั้นล่างได้ด้วย ซึ่งพวกเขาได้ใช้ทักษะเหล่านี้ในการกลับมามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจอีกครั้ง

ปัจจัยสุดท้าย คือการที่คนเดือนตุลาพยายามเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้ ให้เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย โดยพยายามทำให้ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

“การไม่เล่าเรื่องความขัดแย้งของนักศึกษาฝ่ายซ้ายช่วง 6 ตุลา กับปีกเสรีนิยมและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น 14 ตุลา ทำให้มองไม่เห็นภาพรวมและความซับซ้อนของความขัดแย้งระหว่างพวกเขา ที่มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510

“พวกเขาลดทอน 6 ตุลา ให้เหลือเพียงประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม ทำให้ 6 ตุลาเป็นเรื่องดีงาม พยายามลบภาพภูมิหลังของความเป็นซ้ายสุดขั้ว มีการเล่าเรื่องชุดความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับ พคท. ใหม่ ให้นักศึกษาดูห่างเหินและไม่เห็นด้วยกับพคท. พยายามอธิบายว่าพวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายเพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกบีบบังคับโดยฝ่ายขวา และในปัจจุบันพวกเขาได้ละทิ้งความเป็นซ้ายไปแล้ว พวกเขากลายเป็นเสรีนิยม …

“ถึงจุดนี้ คนเดือนตุลาหลายท่าน อาจรู้สึกว่าดิฉันเลือดเย็นจนเกินไป ไม่เห็นถึงความรู้สึกในส่วนลึกของพวกเขาว่า การออกจากป่ามันเป็นเรื่องเจ็บปวด สิ้นหวัง … แต่สำหรับดิฉัน การทำเช่นนั้นมันส่งผลต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นต่อมา คือการทำให้ภาพความเป็นซ้ายที่พ่ายแพ้ของ 6 ตุลาค่อยๆ จางลง และกลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย คนเดือนตุลาจำนวนมากที่เคยปฏิเสธการเข้าร่วม 6 ตุลา จึงเริ่มกลับมามีที่ยืน”

นอกจากนี้ เธอยังเสริมอีกว่า การที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง 14 กับ 6 ตุลา กระทั่งนำมาผสมกันเป็น ‘16 ตุลา’ อย่างที่ผู้ใหญ่ชอบนำมาแซวเล่นกัน ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นผลมาจากการเขียนประวัติศาสตร์อันคลุมเครือของคนเดือนตุลานั่นเอง

สำหรับคำถามต่อมาที่ว่า ทำไมคนเดือนตุลาจึงขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง ภายใต้บริบททางการเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมา กนกรัตน์เสนอว่ามาจาก 3 ปัจจัยเช่นกัน ได้แก่

ปัจจัยแรก ความขัดแย้งของคนเดือนตุลานั้นปรากฏและฝังลึกมาตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าป่า จนถึงอยู่ในป่า และค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาตั้งแต่ป่าแตก ทว่าความขัดแย้งนั้นได้รับการสมานฉันท์และเยียวยาชั่วคราว ผ่านความเป็นคนเดือนตุลาที่พวกเขาพยายามทำให้ทุกกลุ่มมีสถานะทางประวัติศาสตร์เท่ากัน

ปัจจัยที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง จากรัฐบาลผสมที่อ่อนแอในช่วงทศวรรษ 2530 มาสู่รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคไทยรักไทย ในช่วงทศวรรษ 2540 ทำให้ความขัดแย้งที่เคยได้รับการสมานฉันท์ชั่วคราว กลายเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่งของคนที่อยู่ทั้งในและนอกพรรค รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีความคิดแตกต่างกัน

ปัจจัยสุดท้าย คนเดือนตุลาไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งระลอกใหม่ ที่ปะทุท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองแบบสีเสื้อได้ และนี่สะท้อนจุดสูงสุดของพัฒนาการของความขัดแย้งของพวกเขา ตั้งแต่ความขัดแย้งในอดีตที่รอวันปะทุ มาจนถึงความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์และผลประโยชน์ใหม่ๆ ที่พัฒนาตัวขึ้นในช่วงหลายสิบปีให้หลัง

ในวงเสวนาเดียวกัน เอกสิทธิ์ หนุนภักดี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการอ่านงานชิ้นนี้ว่า หากเราลบภาพคนเดือนตุลาแบบเดิมๆ ออกไป ภาพที่เราจะได้รับรู้จากงานของอาจารย์กนกรัตน์ก็คือ คนเดือนตุลาเป็นนักปฏิบัตินิยม มากกว่าเป็นนักฝันหรือนักอุดมการณ์

“งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนจากอุดมการณ์หนึ่ง ไปสู่อุดมการณ์อีกอย่างหนึ่งได้ เพื่อให้มีที่ทางในสังคม และพวกเขาพร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มากกว่ากอดอุดมการณ์แล้วตายไปกับมัน ขณะเดียวกันก็ยอมเสียหรือปรับเปลี่ยนหลักการได้ เพื่อเป้าหมายทางการเมือง …”

ช่วงท้ายของการเสวนา กนกรัตน์ให้ข้อสรุปไว้อย่างน่าคิด โดยยกตัวอย่างสองเหตุการณ์ที่เธอพบเจอกับตัวเอง เหตุการณ์แรกคือการที่นิสิตกลุ่มหนึ่ง พยายามเสนอโปรเจ็กต์รำลึก 6 ตุลา โดยมีวิทยากรพิเศษเป็นนักเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาแต่อย่างใด ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังทำโปรเจ็กต์รวบรวมฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อเติมเต็มประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์

สองเหตุการณ์นี้ สะท้อนว่ามิติของ 6 ตุลา อาจถูกนำมาใช้ได้ทั้งในแง่ของเครื่องมือทางการเมือง หรือในแง่ของประวัติศาสตร์ที่มีความหมาย—ซึ่งความจริงอีกหลายอย่างยังไม่ปรากฏ

“สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนเดือนตุลาจะกลับมามีบทบาททางการเมืองหรือไม่ แต่ ‘ความเป็นคนเดือนตุลา’ จะคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน”

 

-4-

เสร็จจากงานเสวนา ผมเดินพ้นออกมานอกรั้วธรรมศาสตร์ บรรยากาศรอบท้องสนามหลวงเป็นสีดำ ภาพจำจากอดีตปรากฏซ้อนขึ้นมาลางๆ

น้ำตาบางหยดรินไหล

ไม่ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ พื้นที่แห่งนี้คือที่เกิดเหตุของความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า

ถึงตรงนี้ ผมยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราควรจดจำเดือนตุลาแบบไหน รู้เพียงแต่ว่า ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่ควรค่าแก่การถูกลืม.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save