fbpx
ผลงานแห่งปี 2560 : ชวนอ่านโดยทีมงานและคอลัมนิสต์ 101

ผลงานชวนอ่าน (และชม) จาก The101.world ปี 2560

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

สวัสดีปีใหม่ 2561 ครับ!

ตั้งแต่ The101.world ออกเดินก้าวแรกในเดือนมีนาคม 2560 ทุกวันหลังเที่ยงคืนก็กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความเพลิดเพลินของผมในการท่องโลกกว้างทางความรู้ จากการนั่งอ่านต้นฉบับหลากศาสตร์หลายแนวจากกองบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และคณะนักเขียนของ 101

ในวาระส่งท้ายปีแรกของ The101.world ผมขอถือโอกาสขอบคุณนักคิด นักเขียน นักข่าว นักวิชาการ นักวาด และนักอ่านทุกคนที่มาร่วมสร้างสื่อความรู้สร้างสรรค์น้องใหม่นี้ด้วยกันครับ

ในฐานะบรรณาธิการเซ็คชั่น Thoughts นับว่าโชคดีมากที่ผมได้มีโอกาสอ่านต้นฉบับที่ทำให้หัวใจเต้นแรงนับร้อยๆ ชิ้นตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ช่วงสิ้นปีทีมงาน 101 ชวนกันเล่นสนุกด้วยการเลือกผลงานที่แต่ละคนชอบที่สุดจำนวนสามชิ้นมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผม ถ้าจะให้เลือกงานแค่สามชิ้น คงไม่มีปัญญาทำได้ เพราะมีเรื่องราวที่ประทับใจมากมาย เลยขอเล่าถึงผลงานจำนวนหนึ่งที่ “ลืมไม่ลง” จนอยากชวนให้ทุกคนได้อ่าน (และชม) กันครับ

 

1. ซีรีส์ 

ในบรรดาซีรีส์ต่างๆ ที่ 101 ทำมาในปีนี้ ผมสนุกตื่นเต้นกับซีรีส์ “อ่าน 2475” มากที่สุด เราตั้งใจเชิญชวนผู้คนหลากหลายความคิดและความสนใจมาเขียนเรื่อง 2475 ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย รวมถึงประวัติศาสตร์ของสังคมและบุคคล ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ อยากชวนกลับไป “อ่าน 2475” กันมากๆ ถึงเวลาอ่านอดีตเพื่อรับมืออนาคตกันแล้ว เริ่มต้นด้วยบทความและบทสัมภาษณ์ทั้ง 19 ชิ้นในซีรีส์นี้ก่อนได้เลยครับ
.
นอกจากซีรีส์ “อ่าน 2475”  ปีที่ผ่านมา 101 ยังสร้างสรรค์ผลงานอีกหลายซีรีส์ เลือกอ่านได้ตามความสนใจเลยครับ เช่น การปฏิรูประบบภาษี, Digital Transformation, สุขภาพ, อนาคตธุรกิจหนังสือไทย, อ่านอีสาน, สู้คอร์รัปชัน, ชีวิต-เมือง เป็นต้น ซีรีส์ต่างๆ เหล่านี้ยังคงเดินหน้าต่อไปในปี 2561 โปรดติดตาม

 

2. คอลัมน์

ท่ามกลางคอลัมนิสต์ที่หลากหลายและเฉียบคม บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นลูกศิษย์ บางคนเป็นพี่เชื้อที่เคารพ ส่วนอีกหลายคนเป็นมิตรสหายในแวดวงวิชาการและแวดวงหนังสือ คอลัมนิสต์ส่วนใหญ่นั้น ผมรู้จักดีและเคยร่วมงานกันในหลายโอกาส จึงขอละไว้ ไม่กล่าวถึงมาก ณ ที่นี้ ในฐานที่ชื่นชมและนับถือผลงานอยู่แล้ว ถึงได้ชวนมาร่วมสร้างสรรค์ The101.world ด้วยกันตั้งแต่ต้น

แต่มีคอลัมนิสต์อยู่สามคนที่ผมยังไม่เคยร่วมงานใดๆ ด้วยเลย อยากชวนมาเขียน เพราะคิดว่าจะทำให้ The101.world แตกต่าง หลากหลาย และสมบูรณ์ขึ้น ทั้งสามคนคือ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ศุภมิตร ปิติพัฒน์ และอาร์ม ตั้งนิรันดร

คอลัมน์แรกคือ Léman จดหมายจากยุโรป ของ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์

อาจารย์พีเทอร์ใช้ชีวิตอยู่ในยุโรป ทำงานที่องค์การการค้าโลก (WTO) สำนักงานใหญ่มาเกือบสามสิบปี และเคยมีประสบการณ์เขียนงานลงสื่อระดับโลกมามากมาย การได้ทำงานกับคอลัมนิสต์มืออาชีพบนเวทีโลกอย่างอาจารย์พีเทอร์ จึงเปิดหูเปิดตาเปิดโลกให้กับ บ.ก.ท้องถิ่นแบบผมมากมายนัก

ในด้านคุณภาพของงานเขียนก็ยอดเยี่ยมแหลมคม ทั้งในเชิงเนื้อหาและลีลา เป็นเรื่องราวส่งตรงมาจากยุโรป แบบไม่มีทางหาอ่านได้ในสื่อไทยทั่วไป ผสมผสานระหว่างความหนักแน่น-ลงลึกของเนื้อหา และอารมณ์ขันแบบอมยิ้มที่มาถูกจังหวะจะโคน นอกจากนั้น ความใส่ใจในต้นฉบับของอาจารย์ก็เป็นที่หนึ่ง ตั้งแต่อยู่ในวงการหนังสือมา ไม่เคยเจอต้นฉบับที่เรียบร้อยสมบูรณ์ประณีตละเอียดลออขนาดนี้ ทำงานกับอาจารย์พีเทอร์แล้ว เห็นตัวอย่างรูปธรรมของมาตรฐานสื่อสารมวลชนที่เราอยากไปถึง

คอลัมน์ที่สองเป็นของอาจารย์ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ตั้งใจมานานแล้วว่า ถ้ามีโอกาสได้เป็น บ.ก.สื่ออีกเมื่อไหร่ จะต้องเชิญอาจารย์ศุภมิตรเป็นคอลัมนิสต์ให้ได้ โชคดีที่อาจารย์ตอบรับทำให้ฝันเป็นจริง

สำหรับผม เรื่องเล่าและตัวหนังสือของอาจารย์ศุภมิตรมีเสน่ห์ชวนค้นหา ยิ่งเวลาเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ มันสนุกและเพลินมาก ชอบภาษาโบราณและคลังคำของอาจารย์ นอกจากนั้น ผมยังชอบอ่านเวลาอาจารย์ชอบเขียนเรื่องระเบียบวิธีศึกษาหาความรู้ทางสังคมศาสตร์ มันชัดแจ้ง เป็นระบบ ลึกซึ้ง เชื่อมโยงหลายศาสตร์ และอ่านง่าย (เท่าที่มันจะง่ายได้) ใครจะเขียนงานเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีอ่าน วิธีเขียน ได้สนุกเท่านี้อีกหนอ

ส่วนที่น่าตื่นเต้นคือ ตอนอาจารย์ศุภมิตรวกกลับหรือออกนอกเรื่องไปแอบแตะเรื่องการเมืองไทยและการเมืองโลก มันพาเราไปสู่ข้อถกเถียงใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำซากจำเจ

กรอบแนวคิด การตั้งประเด็นคำถาม และการตีความของอาจารย์ช่วยเปิดโลกความคิดให้เราได้คิดทบทวน คิดถกเถียง และคิดต่อยอดเสมอ  ทุกเดือนผมจะสนุกตื่นเต้นว่าเดือนนี้อาจารย์จะเล่าเรื่องอะไร มีอะไรระหว่างบรรทัด ไม่ว่าจะเขียนถึงสายประชาธิปไตย (อย่างเรื่อง จดหมายถึง อ.ยิ้ม) หรือสายอนุรักษนิยม (อย่างเรื่อง คิสซินเจอร์) ก็เปิดมุมมองใหม่ๆ และเชื้อชวนให้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อ

นี่ก็เฝ้ารอว่าจะมีใครเขียนมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกับอาจารย์ศุภมิตรบ้าง ส่งต้นฉบับมาได้เลยนะครับ โดยเฉพาะมิตรสหายในอีกฟากฝั่งหนึ่งทางอุดมการณ์ (ฮา)

ส่วนคอลัมนิสต์คนที่สามเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ อาร์ม ตั้งนิรันดร นักกฎหมายที่ไม่ใช่แค่รู้และสนใจเรื่องกฎหมาย แต่มองเห็น สนใจ และเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย กับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยี

ทำงานด้วยกันไม่กี่เดือนก็เห็นชัดแล้วว่า อาจารย์อาร์มมีทักษะคอลัมนิสต์โดดเด่นมาก ตั้งแต่การเลือกเรื่อง การเล่าเรื่อง และการเล่นกับเรื่อง ภาษาก็ชัดเจน ลื่นไหล เพลิดเพลิน เป็นระบบ และเป็นมิตรกับคนอ่าน ไม่แปลกใจที่ในการจัด 20 อันดับผลงานยอดนิยมตลอดทั้งปี 2560 ของ The101.world จะมีผลงานของอาจารย์อาร์มติดอันดับอยู่ถึง 3 ชิ้น

 

3. สารคดี/บทความ/บทสัมภาษณ์/คลิปความรู้สร้างสรรค์

ในระดับชิ้นงาน ผลงานที่อ่านหรือชมแล้วยังติดตราตรึงใจจนถึงทุกวันนี้มีหลายชิ้นเลยครับ เล่าอย่างไรก็ไม่หมด ขอยกตัวอย่างบางส่วนแล้วกันนะครับ

งานสารคดี อยากชวนอ่าน เยี่ยมยามถามข่าวไผ่ ดาวดิน ของพี่เวียง-วชิระ บัวสนธ์  อันวาร์ ปาตานี และแม่น้ำจระเข้ ของธิติ มีแต้ม และ การเดินทางของตุ๊กตาวิเศษ ของวันดี สันติวุฒิเมธี งานเขียนทั้งสามชิ้นมีพลังสั่นสะเทือนหัวใจระดับรุนแรง เป็นตัวแบบของสารคดีชั้นดีที่อยากอ่านอีกเยอะๆ

บทความ ไม่อยากให้พลาดงานเหล่านี้

  • บทความชุดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ การเมืองเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) และ ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีคืออะไร ของ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ให้ภาพและข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องสำคัญนี้ในสังคม บทความทั้งสองชิ้นทำหน้าที่สำคัญในการชวนเราตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในกระแสการเมืองเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ บอกเล่าที่มาที่ไปของสถานการณ์ความขัดแย้ง และช่วยกำหนดวาระที่ควรถกเถียงกันโดยไม่หลงประเด็น
  • บทความชุดโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ของอาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทั้งงานเขียนเรื่องไต้หวันกับเกาหลีใต้ กับ เรื่องสิงคโปร์ ต่างช่วยทำลายมายาคติเกี่ยวกับ ‘สูตรสำเร็จ’ ในการพัฒนาประเทศไปได้มากโข และชี้ให้เห็นว่าพลังทางการเมืองและสถาบันมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร

บทสัมภาษณ์ ตัวผมเป็นคนชอบอ่านบทสัมภาษณ์เชิงลึกมาแต่ไหนแต่ไร  ผลงานของ 101 ในช่วงปีแรกก็มีงานสัมภาษณ์ที่ชื่นชอบหลายชิ้น โดยเฉพาะ 3 ชิ้นนี้

  • ชีวิตของพ่อ – ท่านชิ้น ผู้อาภัพ โดย กษิดิศ อนันทนาธร – ชีวิตของคนกับชีวิตของประเทศผูกกันอย่างแยกไม่ออก นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคมแล้ว (ซึ่งหลายเรื่อง คุณไม่เคยอ่านที่ไหนมาก่อนแน่ๆ) เรายังได้เห็นความกล้าวิพากษ์วิจารณ์คุณพ่ออย่างตรงไปตรงมาโดยลูกสาว – ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ด้วย
  • Readery ของพันธวัฒน์ เศรษฐวิไล บทสัมภาษณ์ในซีรีส์อนาคตธุรกิจหนังสือไทย ต้องสองแรงแข็งขันจาก Readery คู่นี้สิ ถึงเป็นอนาคตจริงๆ มองเรื่องใหญ่ไปข้างหน้า พร้อมปรับตัว ลงมือทำ ไม่มัวแต่ชี้นิ้วโทษโน่นนี่ หรือเรียกร้องเอากับทุกคน ยกเว้นตัวเอง

คลิปความรู้สร้างสรรค์ ปีที่ผ่านมา 101 ทำคลิปความรู้สร้างสรรค์หลายชิ้น สองชิ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ เรื่องสยองการศึกษาไทย และ ครูท้อขอลาโลก คลิปว่าด้วยปัญหาระบบการศึกษาไทย ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใครพลาดไป อยากชวนกดเข้าไปชมจริงๆ ครับ ฝีมือกำกับของ “นิ้วกลม”

ผลงานสร้างสรรค์อีกสองชิ้นที่อยากชวนชมกัน คือ สมรภูมิบนท้องถนน ผลิตร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และ TEP Talk ของนายประเสริฐ อัจฉริยะโกงสกุล คลิปสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย

สำหรับผู้ที่สนใจปัญหาสุขภาพ ขอเชิญชมคลิปความรู้สร้างสรรค์ที่ 101 ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดทำขึ้น เรื่อง 9 เรื่องที่ควรรู้ก่อนคลอด และ ชุดเครื่องมือ 5 คำถามช่วยถามหมอ 

4. กิจกรรม/รายการ

ปีที่ผ่านมา The101.world จัดทำกิจกรรมความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันหลายครั้ง ผ่านโปรเจค 101 minutes at Starbucksความน่าจะอ่าน, งาน Knowledge Festival เป็นต้น

แต่กิจกรรมที่หลายคนประทับใจมาก (รวมถึงพวกเรา 101 ด้วย) คืองานทอล์กแห่งอนาคต Shift Happens พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ จัดโดย DTAC และ 101 ใครยังไม่เคยชมเทปบันทึกภาพ หรืออ่านรายงาน “คำต่อคำ” จากทอล์กของ อเล็ก รอสส์, ลาร์ส นอร์ลิ่ง, ประจักษ์ ก้องกีรติ และธานี ชัยวัฒน์ ไม่อยากให้พลาดกันเลยครับ นอกจากจะคุยกันเรื่องอนาคตใหม่ของโลก ธุรกิจ และสังคมแล้ว ยังเปิดมุมมองใหม่เรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการสร้างอนาคตใหม่ ในมุมที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน

อีกผลงานหนึ่งที่พวกเรา 101 ภาคภูมิใจคือ สารคดี ณ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน จำนวน 13 ตอนจบ ผลงานร่วมระหว่าง 101, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.), สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) และเหล่าศิลปินหลากวงการ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลายแนว เช่น Eyedropper Fill และ B-Floor เพื่อบอกเล่าปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านในการจัดการชีวิตและชุมชนของพวกเขาในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 The101.world เริ่มต้นรายการออนไลน์เป็นครั้งแรก นั่นคือ 101 One-on-One รายการสนทนาสด คุยตรง คุยลึก คุยเข้ม เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย สังคม และวัฒนธรรม ซีรีส์ที่ได้รับความสนใจมากของรายการคือ “อ่านอนาคตสังคมไทย” กับ บรรยง พงษ์พานิช (อ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ), สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (อ่านเลือกตั้ง 2561), สฤณี อาชวานันทกุล (อ่านประชารัฐ), สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (อ่านไทยแลนด์ 4.0) และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง (อ่านรัฐธรรมนูญ 2560)

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2560  เราก็เปิดรายการใหม่อีกรายการ นั่นคือ Threesome : อ่านจนแตก ดำเนินรายการโดยสามกองบรรณาธิการรุ่นใหม่ของ The101.world วัยรุ่นคนไหนยังไม่เคยลิ้มลอง ขอเชิญชมครับ

 

ทั้งหมดนั้นคือผลงานเด่นบางส่วนของ The101.world ตลอดปี 2560 ที่ไม่อยากให้คุณพลาด ชวนเข้าไปอ่านและชมกันนะครับ ถ้าเพิ่งเคยติดตามและไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ชวนให้เริ่มที่ ผลงานยอดนิยม 20 อันดับของแต่ละเดือน ครับ ผลงานทั้งหมดของเรายังถูกเก็บรวบรวมไว้แบบแยกตามประเด็น (issues) ในเซ็คชั่น library และแบบแยกตามผู้เขียนในเซ็คชั่น contributor อีกด้วยครับ

ขอให้สนุกกับการอ่านและรับชม The101.world ในปี 2561 นะครับ

เราจะพยายามทำให้ดีขึ้น 101% ครับ

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save