fbpx
สังคมที่ยังยากจะปรองดอง มองผ่าน "ปรากฏการณ์ตูน"

สังคมที่ยังยากจะปรองดอง มองผ่าน “ปรากฏการณ์ตูน”

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

 

นาทีนี้ หากไม่พูดถึงกิจกรรมวิ่งรณรงค์รับเงินบริจาค ตั้งแต่ปลายสุดด้ามขวาน จากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไปจนถึงเหนือสุดแดนสยาม ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ในโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล ก็คงดูกระไรอยู่

เพราะกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ผู้คนในสังคมไทยให้ความสนใจติดตามในยามนี้

สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ และโซเชียลมีเดีย ต่างตามติด นำเสนอภาพและข่าวกันเอิกเกริกครึกโครม ทั้งเนื้อหาสาระหลัก ตลอดจนรายละเอียดสีสันบรรยากาศ

สร้างความหฤหรรษ์ เรียกรอยยิ้ม คราบน้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม ปิติยินดีได้ จากภาพของเพื่อนร่วมชาติจำนวนมากมาย ต่างเพศ ต่างวัย ต่างศาสนา ต่างฐานะ แห่แหนหลั่งไหลเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ตามริมถนนตลอดรายทาง

ทั้งยุวชนลูกหลาน เด็กเล็กไปจนถึงคุณตาคุณยาย ผู้เฒ่าคนชรา ทั้งไทยพุทธ มุสลิม ทั้งเศรษฐีและชาวบ้านซึ่งไม่ได้มีเงินทองบริจาค

นำมาสู่กระแส “ตูน ฟีเวอร์” ในห้วงเวลานี้ที่ยากจะทัดทาน ต้านขวาง

อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลย แม้กระทั่งใครบางคนซึ่งเคยสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน บอกว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน ทว่า กลับออกมาแสร้งทำเป็นฉลาด ตั้งคำถาม 5-6 ข้อ ในลักษณะโยนหินถามทาง เพื่อเป็นข้ออ้างให้สมุนบริวารหาบหามตัวเองสืบสานอำนาจต่อไป โดยชาวบ้านราษฎรได้แต่ส่ายหน้าทำตาปริบ

ไม่ได้เป็นที่แยแส สนใจเท่ากับ … ประทานโทษเถอะ ด้วยวาจาภาษาที่สุภาพคือ เท้าแต่ละก้าวของ “พี่ตูน” ในนาทีนี้เลย

แต่ก็นั่นละ ด้วยสถานะของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ที่เป็นชาวบ้านราษฎร ปุถุชนคนทั่วไปเหมือนเราท่านทั้งหลาย ไม่ได้มีกฎหมายพิเศษพิสดาร ห้ามมิให้ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงถึง แม้โดยเจตนาสุจริตหรือไม่ ก็ตามที

ไม่จำเป็นต้องแซ่ซ้อง สรรเสริญเยินยอ หรืออวยกันแต่เพียงสถานเดียว เท่านั้นแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใดเลยที่จะมีการสื่อสารแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ถึงกิจกรรมการวิ่งรณรงค์ระดมทุนรับเงินบริจาคเพื่อซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐ 11 แห่งของ นายอาทิวราห์ คงมาลัย

ปรากฏข้อวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนก็เยอะ แต่ที่สะท้อนถึงความคิดเห็นอันคลุ้มคลั่งเต็มไปด้วยอกุศลจิตก็มากมาย

ด้วยความเคารพเถอะ บางครั้งบางคราว คนเราไม่เห็นจำต้องแสดงความคิดอ่านไปเสียทุกเรื่องก็ได้

ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป มิได้เป็นสัพพัญญู พหูสูต รอบรู้ไปเสียทุกศาสตร์

หรือไม่ได้เป็นคนประเภทผีเจาะปากมาพูด ก็ไม่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไร มันเสียทุกเรื่อง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

เหมือนอย่างเช่นใครเขา ที่แม้แต่ตัวของเราเองยังติฉินนินทาว่าคนอะไรหนอ ช่างพูดจาให้สัมภาษณ์ อบรมสอนสั่งประชาชนคนทั้งประเทศได้ไม่เว้นแต่ละวัน

กระนั้นก็ตามที ต้องถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร พูดจา แสดงความคิดเห็น อันสามารถกระทำได้โดยชอบ

อย่างน้อยก็พอให้กล่าวอ้างได้ว่าประเทศนี้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังดีกว่าเที่ยวไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรอื่นที่สุ่มเสี่ยงคุกสุ่มเสี่ยงตะราง เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรือถึงกับต้องหลบลี้หนีภัยไปต่างแดน

ทั้งนี้ บางคนตั้งประเด็นว่า กิจกรรมการวิ่งรณรงค์รับเงินบริจาคระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 11 ดังกล่าวของตูน บอดี้สแลม มิใช่หนทางในการจัดการ หรือแก้ปัญหาการสาธารณสุข หรือระบบหลักประกันสุขภาพที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ราวกับว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ไร้ประโยชน์เสียอย่างนั้น

บ้างมองว่า ทุกก้าวของพี่ตูนเพื่อโรงพยาบาล สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการภาษี

มีการหยิบยกงบประมาณกระทรวงกลาโหมขึ้นมาเปรียบเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขแต่เพียงลำพัง โดยมิได้พูดถึงงบประมาณอีกก้อนหนึ่งในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และนำเอาข่าวการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารขึ้นมาโจมตีประสมประสานปนเปกันไป

ก่อให้เกิดความสำคัญผิดตามมา ในทำนองว่า รัฐจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณไปใช้จ่ายด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพเพียงแค่แสนกว่าล้านบาท ขณะที่งบประมาณกลาโหมสูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท

ทำอย่างกับที่ผ่านๆ มาไม่เคยมีการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาก่อนเลย

หรือไม่เช่นนั้น ก่อนหน้านี้การจัดการภาษีงบประมาณรายจ่ายก็ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลทุกบาททุกสตางค์  ไม่เหมือนปัจจุบันทุกวันนี้ที่เป็นรัฐบาลทหาร มิได้มาจากการเลือกตั้ง

บ้างบูชานโยบายประชานิยมเป็นสรณะ ใครไปแตะต้องข้องแวะกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนี่ไม่ได้เลย ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

ขนาดคนเขามีจิตอาสา เจตนากุศล รณรงค์วิ่งรับเงินบริจาค ระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐแท้ๆ หาเงินอุดหนุนบริการสาธารณสุข จุนเจือระบบหลักประกันสุขภาพของชาติ ซึ่งมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง ยังไปตำหนิติติง วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวรรคเป็นเวร

แต่ในขณะเดียวกัน ที่เห็นดีเห็นงามไปกับกิจกรรมอันเป็นกุศลของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ก็ใช่ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของจิตเจตนาอันบริสุทธิ์ไปเสียทั้งหมด

บางคนประสงค์ต้องการเพียงเพื่อที่จะห้อยโหนกระแส “ตูน ฟีเวอร์”

บ้างชื่นชอบ ด้วยเห็นเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตรงกันข้ามของตน บ้างชื่นชมโดยเหตุเข้าใจว่าสวมเสื้อผ้าสีเดียวกัน

หรือที่เชียร์ออกนอกหน้า ทั้งๆ ที่มิได้เห็นด้วยกับการจัดสวัสดิการสงเคราะห์ประชาชนเลยก็มี

ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องเพราะระบบหลักประกันสุขภาพของชาติได้ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง โดยมิได้มีเจตนาที่จะจัดเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนคนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

เป็นไปได้อย่างไรที่ผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่กลับปราศจากซึ่งนโยบายภาษีรองรับ

เกรงเศรษฐีคนรวยได้รับผลกระทบ

กลัวพรรคการเมืองของตัวเองได้รับผลสะเทือน หากจะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงเพื่อนำเงินมาใช้จัดบริการด้านสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชน เป็นรัฐสวัสดิการให้กับชาวบ้านราษฎร

มีอย่างที่ไหน ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งที แต่กลับปล่อยให้มี 3-4 กองทุน นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศเดียวกัน

พรรคการเมืองที่ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้มีความจริงใจ

ฟากการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามก็มิได้มีอุดมการณ์ที่จะผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ ด้วยต่างกลัวเกรงเศรษฐีคนรวยจะเดือดเนื้อร้อนใจไม่แพ้กัน

ถูลู่ถูกังทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไปตามประสายถากรรม

ประชาชนคนไหนใจบุญสุนทานก็บริจาคเงินสมทบ ใครผู้ใดมีจิตอาสาก็ออกวิ่งรณรงค์ระดมทุนช่วยเหลือสถานพยาบาลของรัฐ

แทนที่จะอนุโมทนาสาธุการไปกับกิจกรรมอันยังกุศลแก่พี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน คิดหาหนทางพัฒนา อภิวัฒน์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สังคมรัฐสวัสดิการ สถาปนาระบบหลักประกันสุขภาพที่แท้จริง

กลับยังมาแยกขั้วแบ่งฝ่ายก่อวิวาทะสาดใส่กัน

จะปรองดองอย่างไร ดูท่าแล้วยากจะเยียวยา

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save