fbpx
แค้นนี้ต้องคลี่คลาย : เปิดเบื้องหลังงานเขียนสารคดี ของ ธิติ มีแต้ม

แค้นนี้ต้องคลี่คลาย : เปิดเบื้องหลังงานเขียนสารคดี ของ ธิติ มีแต้ม

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

“โจทย์ที่เราตั้งไว้คือ ถ้าฝ่ายความมั่นคงพยายามบอกว่าอันวาร์โดนคดีฆ่าตัดคอนะ อันวาร์เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบนะ เป็นฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นนะ เดี๋ยวกูจะลงไปตรวจสอบให้ว่ามันจริงไหม”

ประโยคข้างต้นคือเหตุผลที่ทำให้ ธิติ มีแต้ม ตัดสินใจลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อคุยกับ ‘อันวาร์’ หรือ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้ อันเป็นที่มาของงานเขียนสารคดี ‘อันวาร์ ปาตานี และแม่น้ำจระเข้’ ที่เพิ่งได้รับรางวัลดีเด่น จาก Amnesty International Thailand

ในวัยสามสิบต้นๆ เขาโลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อมาสิบปีเต็ม ผ่านมาหลายสนาม ทั้งในนามของสื่อมวลชนอิสระ และในนามขององค์กร หมุดหมายสำคัญคือการเป็นสาราณียกรของ ‘ปาจารยสาร’ และการเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวสด’ นอกจากนี้ยังมีความสนใจในการถ่ายรูปเชิงสารคดี รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนช่างภาพในนามของ ‘Realframe’

ท่ามกลางกระแสธารของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ ธิติเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่มุ่งทำงานเขียนประเภทสารคดี มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นประเด็นที่อยู่นอกสายตาของสื่อกระแสหลัก ตั้งแต่สามจังหวัดชายแดนใต้ ชีวิตของคนขับแท็กซี่ที่ผูกคอตายเพราะรัฐประหาร ไปจนถึงเรื่องการสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อนำมาใช้รักษาโรค

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจงานประเภทนี้ และอะไรคือวิธีคิด-แรงบันดาลใจ ที่อยู่เบื้องหลังงานแต่ละชิ้น

ต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลัง ที่เผยให้เห็นพลังของคนทำสื่อตัวเล็กๆ—ที่เริ่มต้นบนถนนสื่อมวลชนด้วยความแค้น

ธิติ มีแต้ม

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจประเด็นสังคม การเมือง และเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในกระแส

แพชชั่นการทำงานสื่อของเราเริ่มจากความแค้น ซึ่งมีอยู่สองสามแค้นด้วยกัน แค้นแรกคือเราเคยไม่สบาย เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ตอนอายุยังไม่ยี่สิบ แต่เราเป็นลูกข้าราชการ ก็เลยเบิกได้ ประเด็นคือมันทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบกับคนรอบข้างที่ไม่สบายเหมือนกัน ว่าถ้าเขาไม่สามารถเบิกได้แบบเรา แล้วเขาอยากรักษา เขาต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้านตาดำๆ ทั้งนั้น มันทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเขาต้องหาเงินมารักษาโรคอย่างยากลำบาก ขณะที่เส้นทางการรักษาของเราแม่งโคตรสบาย รู้สึกแค้นว่าทำไมคนที่เป็นลูกข้าราชการถึงมีสิทธิมากกว่าชาวบ้านทั่วไป

นั่นคือแค้นแรกที่ทำให้รู้สึกว่าสังคมนี้ไม่ปกติ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง กับสังคม พูดง่ายๆ ว่าตาเริ่มเบิก เริ่มเห็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ปกติ รู้สึกว่ามีเรื่องที่เราอยากจะเขียนเต็มไปหมด ประกอบกับช่วงที่เข้ามหาลัย ได้เรียนคณะที่บ่มเพาะวิชาชีพสื่อ มันก็ผลักดันเราเข้าสู่เส้นทางนี้อย่างไม่วอกแวก ไม่รู้สึกอยากทำอย่างอื่น พื้นฐานเริ่มมาจากตรงนั้น

แค้นต่อมาคือเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ที่มีการสังหารกลางเมือง 99 ศพ ช่วงนั้นเราทำปาจารยสารอยู่ ยังไม่ได้ย้ายมาข่าวสด แล้วน้องที่ทำกิจกรรม (น้องเฌอ- สมาพันธ์ ศรีเทพ) ก็ตายในเหตุการณ์นั้น เป็นแค้นที่สองที่ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมน้องเราต้องมาตายด้วยเรื่องแปลกๆ แบบนี้ด้วย

ส่วนแค้นที่สาม ตามมาหลังจากนั้น คือช่วงกระบวนการแสวงหาความจริงว่าใครตาย ตายตรงไหน ตายยังไง กระสุนมาจากทิศทางไหน แต่ในระหว่างนั้นก็มีการล่าแม่มด มีวาทกรรมทั้งจากฝ่ายรัฐ และประชาชนจำนวนมาก ที่พร้อมจะบอกว่า 99 ศพสมควรตาย ซึ่งการพูดแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้ เราว่ามันป่าเถื่อนยิ่งกว่ากระสุนที่ยิงออกไปอีก เพราะมันสะท้อนว่าอาจไม่ใช่แค่ 99 ศพเท่านั้นที่สมควรตาย แต่อาจมีอีกกี่ร้อยกี่พันศพที่ตามมาไม่รู้จบ สิ่งที่น่าเศร้าคือวิธีคิดแบบนี้ คำพูดเหล่านี้ ถูกเผยแพร่มาจากคนในแวดวงสื่อสารมวลชนเองไม่น้อย

เราไม่ได้เอ็นจอยที่จะไปชี้เป้าหรือล่าแม่มดแบบคนอื่นเขา และเราไม่ใช่คนที่ถูกฝึกมาให้เป็นทหาร ถือปืนไปรบ ไปยิงใคร แต่เราเขียนเป็น สื่อสารเป็น เราก็ใช้สิ่งนี้เพื่อคลี่คลายความแค้นของตัวเองซะ ไม่ใช่จับปืนออกไปยิงคน หรือออกไปล่าแม่มดใคร

ส่วนความสนใจในเรื่องชาวบ้าน เรื่องภูมิภาค มันเริ่มมาชัดตอนเข้าไปทำงานที่ข่าวสด ข่าวสดช่วยบ่มเพาะเราไปอีกขั้น ในแง่ของการทำข่าวเรื่องชาวบ้าน เรื่องผู้เดือดร้อน ผู้เสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องในภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องเบสิคและสมควรทำ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกว่าเป็นอุดมการณ์อะไรยิ่งใหญ่ แล้วเราก็ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าเรื่องภูมิภาคเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในขณะที่คนแวดวงสื่อสารมวลชนกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพ ไม่ว่าจะถกเถียงกันเรื่องยากแค่ไหน ยกหลักวิชาการมาอ้างกันแค่ไหนยังไง แต่ข่าวภูมิภาคมันมีอยู่ทุกวัน คนเดือดร้อนมีทุกวัน ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่

การโฟกัสเฉพาะที่กรุงเทพฯ มันทำให้เรามองข้ามเรื่องอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นๆ ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ประเทศไทยมันไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงสนใจเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำไมถึงอยากทำเรื่องอันวาร์

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าสารดคีเรื่อง อันวาร์ ปาตานี และแม่น้ำจระเข้  มีที่มาที่ไปยังไง ทำไมถึงทำเรื่องนี้ และทำไมถึงต้องเป็นอันวาร์

สำหรับเรา อันวาร์เป็นหลายอย่าง เป็นเพื่อน เป็นนักกิจกรรม เป็นสื่อ และเป็นเหยื่อ เราสัญญากับตัวเองว่าเราจะทำเรื่องอันวาร์ จำได้ว่าวันที่อันวาร์ติดคุกเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2556 เราเขียนลงเฟซบุ๊กว่าวันหนึ่งจะเขียนถึงมัน พอมันออกจากคุกมา เดือนมกราปี 2560 ช่วงนั้นเรายังอยู่ข่าวสด ก็รายงานข่าวไปตามปกติ แต่ไม่ได้คุยกันลึกๆ ว่ามันเป็นยังไง ชีวิตที่ผ่านมาเจออะไรบ้าง หลังจากนั้นสองเดือน เป็นจังหวะที่เราออกจากข่าวสดพอดี เราก็ลงใต้เลย ซื้อตั๋วเครื่องบินไปเลย ไปคุยกับมัน เพราะสัญญากับตัวเองไว้แล้วว่าจะต้องไป

โจทย์ที่เราตั้งไว้คือ ถ้าฝ่ายความมั่นคงพยายามบอกว่าอันวาร์โดนคดีฆ่าตัดคอนะ อันวาร์เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบนะ เป็นฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นนะ เดี๋ยวกูจะลงไปตรวจสอบให้ว่ามันจริงไหม ถ้าฝ่ายความมั่นคง หรือแม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยทั้งหลาย รู้สึกว่าความเป็นแขก มุสลิม มลายู มันบั่นทอนชีวิต หรือบั่นทอนความเป็นไทยของคุณ เรายินดีที่จะไปตรวจสอบ พอมีจังหวะ มีโอกาส เราก็ลงไปหามันเลย ไหนเล่าให้ฟังซิว่าชีวิตคุณเป็นยังไง มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบจริงรึเปล่า อยากก่อการร้ายจริงรึเปล่า

เราอยากพิสูจน์ว่า ท่ามกลางข้อสงสัยและคำโจมตีคนมุสลิม มลายู ต่างๆ นานา ที่ผุดกันมาจากคนที่ยึดมั่นในความเป็นไทยทั้งหลาย มันเป็นเช่นนั้นจริงไหม เราก็ลงไปทำเพื่อหาคำตอบให้คนเหล่านี้ได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ข้อเท็จจริงเป็นยังไง

ธิติ มีแต้ม

แล้วพอถึงเวลาที่ลงไปทำ ได้พบคำตอบที่คาดหวังไหม หรือค้นพบอะไรระหว่างทาง ความรู้สึกก่อนและหลังจากที่ลงไปทำเรื่องนี้ แตกต่างกันอย่างไร

มีหลายอารมณ์ที่ซ้อนกัน คือเรารู้จักอันวาร์มาก่อนที่จะลงไปทำ รู้สึกมีความเป็นเพื่อนอยู่ ถ้ามองมุมหนึ่งก็เป็นกำแพงพอสมควรว่า แล้วกูจะไปซักฟอกอะไรมึง หรือกูจะไปชื่นชมอะไรมึงวะ

พอรู้ตัวแบบนั้น เราก็ต้องกลับมาที่หลักการพื้นฐาน ตีโจทย์ให้แตกก่อนว่าอันวาร์มีชีวิตอยู่ท่ามกลางวาทกรรมอะไรบ้าง หลักๆ คือเรื่องชาติกับศาสนา พอตีโจทย์ได้แบบนี้ เราก็ตอบตัวเองได้ว่า เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามันเป็นเพื่อน เมื่อสลัดกำแพงความเป็นเพื่อนกันได้ เราก็ไม่กลัวที่จะไปถามมันตรงๆ ว่าชีวิตมึงเป็นยังไง ไม่กลัวที่จะถามว่ามึงเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเปล่า

ข้อต่อมาที่ตอบตัวเองได้ ก็คือเราไม่ได้ลงไปในฐานะของคนไทย หรือคนพุทธ แต่เราไปในฐานะคนที่อยากรู้ว่าเรื่องมันคืออะไร เราอยากทำเรื่องนี้โดยที่พ้นจากไปกำแพงหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องเพื่อน เรื่องชาติ เรื่องศาสนา เรารู้สึกว่าถ้าสามารถสลัดกำแพงพวกนี้ออกไปได้ เราจะมีอิสรภาพกับตัวเอง และมีอิสรภาพกับการทำงาน

เราว่านี่คือคุณสมบัติที่คนเป็นสื่อควรมี เวลาที่คุณจะทำเรื่องอะไรสักอย่าง คุณควรสลัดกรอบเหล่านี้ออกไปก่อน ถ้ายังสลัดไม่ได้ ก็เก็บเอาไว้ที่บ้านก่อน

ค้นพบภาวะแบบนี้ตอนไหน

ระหว่างทำงานนี่แหละ ถามว่าเกรงใจไหม กังวลไหม ก็มีอยู่แล้ว เป็นธรรมดา เพราะเรากับอันวาร์ก็ใช้ชีวิตอยู่ห่างกันตั้งพันกว่าโล แทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่เมื่อเราเลือกที่ทำแล้ว ก็ต้องสลัดกำแพงเหล่านั้นออกไปให้ได้ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ามีอิสรภาพมากที่สุด อย่างน้อยก็มีอิสรภาพกับตัวเอง เรานับถือตัวเองได้ว่า อย่างน้อยๆ เราก็ไม่ได้ทำเรื่องอันวาร์แค่เพราะว่าเราเป็นเพื่อนกับมัน ความเป็นเพื่อนคือกำแพงแรกที่เราทุบทิ้งเลยด้วยซ้ำ

ตอนที่มีเรื่องเผาเรือนจำ แล้วอันวาร์ถูกป้ายสีว่าเป็นแกนนำก่อจลาจล คุณเขียนเล่าว่าตอนนั้นคุณนั่งอยู่หน้าคอม ไล่ตามอ่านข่าวจากสื่อต่างๆ ซึ่งเสนอไปในทางเดียวกัน ทำนองว่าอันวาร์เป็นตัวร้าย แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ อยากรู้ว่าในฐานะคนทำสื่อเหมือนกัน คุณคิดยังไงกับเหตุการณ์นี้

พูดแบบไม่เกรงใจ ก็ต้องบอกว่าในบางกรณี สถาบันสื่ออาจจะเป็นสถาบันแรกๆ ที่ห่างไกลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ โดยเฉพาะกรณีภูมิภาค เรื่องของประชาชนตัวเล็กๆ ที่โนเนม ไม่มีปากมีเสียง

 

ทั้งที่ควรจะเป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่นี้ด้วยซ้ำ…

ก็ใช่ไง (หัวเราะ) อย่างกรณีของอันวาร์ คุณต้องคิดแล้วว่า ทำไมอยู่ดีๆ คนเราถึงจะลุกขึ้นมาก่อการจลาจล เพียงเพราะว่าแค่มีชื่อหรือลายเซ็นลงบนกระดาษที่หลุดออกมาจากเรือนจำ คุณก็เชื่อทันทีเลยหรือ แล้วคุณก็แห่กันลงข่าวไปสิ ว่าไอ้กระดาษแผ่นนั้นเป็นข้อเรียกร้องของอันวาร์ที่เป็นผู้นำก่อจลาจล

แล้วพอข่าวเผยแพร่ออกไป เราก็เห็นวาทกรรมจำนวนมาก ที่ประณามอันวาร์แบบเต็มตีนว่าสมควรตาย แล้วมันก็เกือบตายจริงๆ ยังโชคดีที่เจ้าหน้าที่ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในยุคนั้น ยังให้ความเป็นธรรมกับอันวาร์ ออกมาช่วยยืนยันว่าอันวาร์ไม่เกี่ยว สุดท้ายก็เลยรอดจากข้อครหานั้น

นอกจากเรื่องอันวาร์ คุณยังทำประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องความรักของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ หรือการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรค อยากให้ช่วยเล่าวิธีคิดให้ฟังหน่อย ตั้งแต่การหาประเด็น หาแหล่งข่าว ไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งข่าว

เราเริ่มง่ายๆ จากเรื่องเบสิคที่สุด คือการตระหนักว่าทุกคนเป็นมนุษย์ ทุกคนก็มีลูกมีเมีย มีพ่อมีแม่

อย่างเรื่องของลุงนวมทอง ทุกครั้งที่เดือนกันยายนเวียนมาในแต่ละปี เรื่องที่แกขับแท็กซี่ชนรถถัง ไปจนถึงเรื่องที่แกผูกคอตาย ก็จะถูกยกขึ้นมาพูดถึงเสมอๆ ในฐานะวีรชนของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ถ้าเรามองเห็นความเป็นมนุษย์ของแก เราจะเห็นมิติอื่นๆ อีกเยอะที่ไม่ถูกพูดถึง อันดับแรกเลยคือแกมีลูกมีเมีย นี่คือเรื่องพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเราก็อยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วความรักของคนแบบนี้มันเป็นยังไง มันพิสดารหรือวิลิศมาหราไปกว่าคนอื่นๆ ไหม การเขียนเรื่องลุงนวมทองเริ่มจากตรงนี้

รู้จักครอบครัวของลุงนวมทองมาก่อนแล้วรึเปล่า

ใช่ เราเคยเจอกับเมียของลุงนวมทองมาก่อนหน้านี้แล้ว เคยไปทำข่าวอยู่บ้าง พอนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เลยกลับไปหาแกอีก ไปนั่งคุย อยากรู้ว่าคนธรรมดาๆ ที่ถูกยกให้เป็นวีรชนเพื่อประชาธิปไตย ชีวิตปกติของเขาเป็นยังไง ซึ่งพอไปคุย ก็รู้ว่าแกทำมาม่าให้ลูกกับเมียกิน แอบแย่งของลูกกินแล้วก็อ้างว่า ชิมหน่อยซิ อยากรู้ว่าอร่อยกว่าคนอื่นไหม อร่อยกว่าชามของเมียไหม (หัวเราะ) เป็นเรื่องที่น่ารักฉิบหายเลยสำหรับเรา ใครจะไปคิดว่านี่แม่งเป็นบทสนทนาในครอบครัวที่เกิดขึ้นจริง ของคนที่ผูกคอตายเพราะไม่อยากมีชีวิตอยู่ในประเทศที่เป็นเผด็จการ

แล้วถ้าถามว่าการรู้เรื่องพวกนี้ของลุง มีประโยชน์ยังไง หนึ่งคือลุงเป็นมนุษย์ และการตายของลุงก็มีที่มาที่ไป มันไม่ใช่แค่ว่า จู่ๆ ก็ผูกคอตาย แล้วก็กลายเป็นฮีโร่เลย แต่ลุงก็เป็นคนทั่วไปนี่แหละ มีลูกมีเมีย มีมิติอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมาย

วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามจะลุกขึ้นมาบอกว่า คนที่ถูกเก้าอี้ฟาด ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขาม เขาก็มีชื่อนะ มีตัวตนอยู่จริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าตายแล้วก็ตายไป การรู้จักชื่อเขามันทำให้คุณรู้จักเขา และการรู้จักเขามันจะทำให้คุณเรียกร้องความยุติธรรมได้ถูกเรื่องถูกราว ไม่ใช่แค่พูดกว้างๆ ว่านักศึกษาเดือนตุลาถูกทำร้ายให้ตายไป ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้กันซ้ำๆ และใช้กันทุกปี โดยที่เอาเข้าจริงแล้วคุณไม่ได้รู้จักคนตายด้วยซ้ำ

ถ้าถามกันแบบซีเรียสคือ เวลาคุณออกมาเรียกร้อง ออกมารำลึก ลึกๆ แล้วคุณต้องการเห็นความยุติธรรมจริงรึเปล่า หรือแค่คุณรู้สึกว่าเขาน่าสงสาร เขาไม่ควรตาย แค่นั้น…

สำหรับเรามันไม่ใช่แค่นั้นไง เพราะทุกวันนี้ความไม่ยุติธรรมมันถูกหมักหมมเสียจนการฆ่าหรืออาชญากรรมโดยรัฐเป็นเรื่องปกติ ลำพังแค่คุณรู้สึกสงสารหรือรู้สึกเอ็นจอยกับการได้ออกมาเชิดชูวีรชนในวาระต่างๆ มันไม่ได้ทำให้ความไม่ยุติธรรมหายไป ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่มีอาชญากรรมโดยรัฐอีกต่อไป แล้วคุณก็จะต้องออกมาเชิดชูวีรชนเดือนมกรา กุมภา มีนา เมษา ไปทุกๆ ปี ซึ่งไม่มีทางนำไปสู่ความยุติธรรมจริงๆ ได้เลย ถ้าคุณไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักชีวิตเขา

ธิติ มีแต้ม

เท่าที่ผ่านมา สังเกตว่าสื่อจำนวนไม่น้อยก็มักนำเสนอเรื่องราวของวีรชนแบบผิวเผินอย่างที่คุณบอก มากกว่าการนำเสนอเชิงลึก คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ต้องยอมรับว่าเรื่องในแต่ละวันมันเยอะ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มันเยอะเสียจนคนทำสื่ออาจรู้สึกว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป สิ่งที่สื่อมวลชนควรจะตอบตัวเองให้ได้ก็คือ คำว่า ‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’ มันจริงหรือเปล่า ถ้าถามเรา เราก็จะบอกว่าแม่งไม่จริงว่ะ เพราะแม่งเวียนมาเสมอ ตราบใดที่ความยุติธรรมยังไม่มี เราก็จะถูกขังอยู่ในความทรงจำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คนตายยังไม่ถูกเรียกชื่อที่ถูกต้องของเขา เราก็จะรำลึกถึงเขาไปเรื่อยๆ ว่ายเวียนอยู่ในความทรงจำไปเรื่อยๆ โดยที่ความจริงไม่ถูกเปิดเผย และความยุติธรรมก็ไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งทางหนึ่งก็เหมือนเป็นการขังตัวเองไว้ ปลดปล่อยอะไรไม่ได้เลย

แต่ถ้าพูดในเชิงวิจารณ์ ก็ต้องบอกว่า คุณไม่ควรเอาคำนี้มาอ้าง อย่ามาอ้างว่าเรื่องแต่ละวันมันเยอะ หรือเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่คุณต้องมุ่งเข้าสู่ใจกลางของความขัดแย้งให้ได้ แล้วก็อยู่กับมัน แล้วก็ขบให้แตก การที่เราลงไปทำเรื่องอันวาร์ เราก็ขบให้แตกกับตัวเองได้ว่า หนึ่งเราทลายกำแพงความเป็นเพื่อน สองเราลงไปไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นคนไทย และก็ไม่ใช่มุสลิมหรือไม่ใช่พุทธ ถ้าทุบกำแพงตัวเองได้ มันจะโฟกัสถูกจุด

จำเป็นไหมว่า ท้ายที่สุดแล้วคนที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังแบบคุณ ต้องเผชิญเรื่องเหล่านี้กับตัวเอง ไม่ก็กับคนใกล้ชิด อย่างเรื่องน้องเฌอ (รุ่นน้อง) หรือเรื่องของอันวาร์ (เพื่อน)

แน่นอน ยังไงก็มีผล อย่างเรื่องน้องเฌอ มันมีผลกับเราสูงมากในแง่ที่ว่า ทำไมคนที่เรารู้จักต้องมาตายด้วยเรื่องแปลกๆ แบบนี้ด้วย

คำถามก็คือ ถ้าไม่ได้รู้จักคนเหล่านี้เป็นการส่วนตัว แล้วจะทำสื่อกันยังไง เรามองว่ายังไงก็ทำได้ และอาจง่ายกว่าด้วยซ้ำในแง่ที่ว่า คุณไม่ต้องมีปมอะไรในใจ คุณก็แค่ถือหลักวิชาชีพไปทำ ไม่ต้องมารู้สึกเจ็บปวดหรือมาคอยทุบกำแพงในใจตัวเอง ว่าทำไมเพื่อนกูต้องมามีข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ทำไมน้องกูต้องมาถูกยิงตาย มันอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ ทำด้วยความเบิกบานก็ได้ ไม่ต้องทำด้วยความคับแค้นแบบเรา

เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาขนาดนี้ เราเริ่มจากความแค้น ตอบตัวเองได้ ยอมรับและไม่อายด้วย ถามว่าทำไมต้องใช้ความแค้น อ้าว ไอ้เหี้ย ก็มีคนใกล้ชิดเราที่ต้องตาย ต้องติดคุก จะไม่ให้เราแค้นได้ไง

แต่การที่เราต้องอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติ สังคมที่ผู้นำใช้อำนาจเป็นใหญ่ ใช่ว่าเราจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ หลายประเทศก็เป็น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกสังคมเผชิญเหมือนกันก็คือความเงียบนี่แหละ มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันหลังแล้วบอกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน เคยคิดเล่นๆ ว่าควรจะมีสำนักโพลล์ที่ทำสำรวจเรื่องนี้อย่าจริงจัง ว่าคนที่เคยสมาทานตัวเองว่ากูจะไม่ยุ่งกับเรื่องชาวบ้าน ไม่สนใจอะไรใดๆ ทั้งสิ้น วันหนึ่งที่เขาเจอกับตัวเองหรือกับคนใกล้ชิด มันได้เปลี่ยนความคิดของพวกเขาหรือไม่ อย่างไร

ไม่รู้ว่ามีงานวิจัยชิ้นนี้อยู่หรือเปล่า แต่ถ้าไม่มี เราคิดว่าควรทำอย่างยิ่ง อาจไม่ต้องเป็นเรื่องทางการเมืองก็ได้ เป็นสุขภาพ สาธารณสุข การบริโภคก็ได้ จากวันที่คุณทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เวลาที่มีคนข้างๆ ที่ไม่รู้จักกำลังโดนตบอยู่ แล้ววันหนึ่งมีเพื่อนหรือญาติพี่น้องคุณโดนตบ มันได้เปลี่ยนทัศนะคุณไปอย่างไร เรื่องแบบนี้ควรจะเป็นวาระแห่งชาติในการทำวิจัยด้วยซ้ำ

มองอีกแง่หนึ่ง ก็หมายความว่าต้องรอให้ตัวเองโดนตบ หรือมีคนใกล้ชิดโดนตบก่อน ถึงจะสำนึกได้

ก็เหมือนสำนวนที่ว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา หรือถ้าพูดแบบหวานๆ หน่อย ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่บางทีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มันยังไม่ใช่ประสบการณ์ตรงไง ต้องไปถึงขั้นไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ต้องมีบทเรียนก่อนถึงจะรู้สึกรู้สา ไม่รู้เหมือนกันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ไหม

 

เรื่องการเมือง มีประเด็นไหนที่รู้สึกค้างคา รู้สึกว่าต้องทำ อีกไหม นับแต่เรื่องน้องเฌอเป็นต้นมา

เอาเข้าจริงแล้ว โดยที่ไม่ต้องพยายามไปคิดเรื่องอื่น เรื่องนี้มันก็ฉุดเราไว้พอสมควรอยู่แล้ว เรื่องสามจังหวัด เรื่อง 99 ศพ ยังมีอะไรให้ขุดได้อีกเยอะ โดยที่ไม่ต้องพยายามไปคิดเรื่องอื่น ถามว่ามีเรื่องอื่นให้น่าคิดน่าสนุกน่าทำไหม มีแน่นอน แต่ลำพังแค่สองเรื่องนี้ มันก็รั้งเราไว้โดยธรรมชาติแล้ว เพราะมันไม่เคยคลี่คลายอะไรเลย เช่น ถ้าพูดเรื่อง 99 ศพ มันจะไม่จบแค่ปี 2553 แต่มันจะย้อนไปปี 2519 ทันที ถ้าพูดเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ มันจะโยงไปเรื่องศาสนาทันที แม้ใครจะบอกว่าการก่อการร้ายหรือความมั่นคงไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ตาม แต่คุณต้องยอมรับความจริงว่าคำพิพากษาจำนวนมาก ถูกห่มคลุมไว้ด้วยศาสนาที่ต่างจากคุณ

ธิติ มีแต้ม

แล้วอย่างสารคดีเรื่องการใช้กัญชารักษาโรค ได้ไอเดียมายังไง มาจากความแค้นเหมือนกันรึเปล่า

เรื่องนี้คิดหลังจากทำเรื่องอันวาร์เสร็จ แต่มันก็มาจากความแค้นที่สะสมมา เป็นความแค้นแรกเลยด้วยซ้ำ อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราเคยป่วย

ตอนนั้นยังอยู่มัธยม จำได้แม่นเลยว่านอกจากเหงื่อซึมผิดปกติ ก็จะง่วงมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะนอนมาเยอะขนาดไหนก็ตาม เวลาอยู่ในห้องก็จะงีบหลับเป็นระยะ ผลก็คือโดนแปรงลบกระดานลอยมาจากหน้าห้องเป็นประจำ ซึ่งเราก็ไม่มีโอกาสไปอธิบายครูหรอกว่า พฤติกรรมแบบนี้มันเกิดจากต่อมน้ำเหลืองที่ทำงานผิดปกติ ไม่ใช่ว่าผมขี้เกียจเรียนหรืออดหลับอดนอน

เราไม่ได้แค้นที่ครูเข้าใจผิด แต่เราแค้นเพราะความเข้าใจของสังคมต่อพฤติกรรมของคนป่วยแม่งน้อย ซึ่งนำไปสู่การรักษาแบบผิดๆ วิธีการแรกๆ ก็คือการใช้แปรงลบกระดานนั่นแหละ ที่เป็นตัวพิพากษาพฤติกรรมความป่วยไข้ก่อนทันที อาจเทียบเคียงได้กับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และก็โดนพิพากษาว่ามึงแม่งเรื่องเยอะ

การเยียวยาคนป่วยของคนในสังคมนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำพิพากษา ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ สมมติถ้าสังคมนี้มีความรู้ความเข้าใจพอสมควร ไอ้เด็กม.ปลายคนนั้นที่เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แทนที่มันจะได้รับแปรงลบกระดานลอยมา มันก็อาจได้รับคำอธิบาย หรืออาจได้รับกระทั่งกัญชาที่เอามารักษามันได้โดยไม่ต้องเจ็บปวดและเสียเงินมหาศาลขนาดนั้น

ทีนี้พอมาค้นพบเรื่องกัญชารักษามะเร็งได้ เราก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่า อ้าว ไอ้เหี้ย ถ้ารู้แบบนี้แล้วกูจะไปทรมานกับการฉีดคีโม ทรมานกับการฉายแสงไปทำไมวะ พอมีโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้ เราก็ทำแบบเต็มตีนเลย

การเขียนถึงเรื่องกัญชา ซึ่งในเมืองไทยยังถูกแปะป้ายว่าเป็นยาเสพติดอยู่ มีอุปสรรคอะไรไหม โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งข่าว และการปกป้องแหล่งข่าว

ไม่ขนาดนั้น เพราะลุงตู้ (บัณฑูร นิยมาภา) ที่เป็นคนทำเรื่องนี้ เขาทำอย่างเปิดเผย ชัดเจนว่าเพื่อการรักษาจริงๆ ไม่ได้ข้ามเส้นไปเรื่องค้า แกอยู่กับผู้ป่วยอย่างเดียว ที่น่าแปลกคือคนแบบลุงตู้เขาแสวงหาความรู้จากการเปิดยูทูป ไม่ต้องทำวิจัย ไม่ต้องเป็นคนที่อยู่ในวงการแพทย์ ไม่ได้มีตำแหน่งทางวิชาการ แต่เขาหาความรู้ได้เพราะโลกนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว และเขาก็พิสูจน์แล้วว่ามันได้ผล โดยเริ่มต้นจากการรักษาน้องตัวเอง คำถามก็คือ แล้วพวกบุคลากรที่อยู่กับเรื่องเหล่านี้โดยตรง มัวแต่ทำอะไรกันอยู่

ถ้าพูดกันอย่างถึงที่สุด มันก็ย้อนกลับมาที่สื่ออีกทีว่า ทุกครั้งที่มีประเด็นเรื่องกัญชา คุณก็ต้องสัมภาษณ์บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ เพื่อให้เขาบอกว่ามันเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ออกฤทธิ์กล่อมประสาทอะไรก็ว่าไป วนเวียนอยู่แบบนี้ ขณะที่ลุงคนหนึ่งกลับหาวิธีผลิตน้ำมันกัญชาได้จากการแสวงหาความรู้จากกูเกิล จากยูทูป แล้วเอามารักษาคนป่วยได้จริง สิ่งเหล่านี้ทำไมสื่อมองไม่เห็น หรือไม่สนใจ

อย่างน้อยเราคิดว่าคนเป็นบรรณาธิการ หรือนักข่าว ที่เป็นคนยกหูหาผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์เพื่อให้เขาพูดแค่ว่ากัญชาเลวร้ายยังไง ถ้าเขาได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน วันหนึ่งที่เขามีญาติเป็นมะเร็ง เขาจะต้องชั่งใจ ต้องตั้งคำถามเยอะกว่านี้ รีเสิร์ชเยอะกว่านี้ เพื่อให้เนื้อหาไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ว่า กัญชาเป็นยาเสพติด

นอกจากการทำเพื่อคลี่คลายความแค้นส่วนตัว คุณคาดหวังผลลัพธ์ที่ไกลกว่านั้นไหม เช่นว่า ต้องเปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่ว่าจะเรื่องกัญชา หรือเรื่องอันวาร์ที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดน

เปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ เราไม่สามารถหยั่งรู้ได้จริงๆ แต่เราตอบตัวเองได้ว่า ถ้าต่อไปนี้กูมีเนื้องอกขึ้นมาในร่างกายอีก กูไม่เดินเข้าโรงพยาบาลไปรับคีโมแน่ๆ เพราะเราไม่มีตังค์ และเราเลยอายุยี่สิบมาแล้ว เราไม่สามารถใช้สิทธิลูกข้าราชการที่รักษาฟรีได้แล้ว ถ้ามีทางเลือกที่ถูกและได้ผลแบบกัญชา เราก็ไม่ลังเลที่จะใช้กัญชา

พูดง่ายๆ ว่าอย่างน้อยมันก็เปลี่ยนตัวเรา และถ้าเรามีญาติพี่น้องหรือแม้แต่พ่อแม่เรา ถ้าเขาต้องเจอโรคร้ายที่สามารถใช้กัญชารักษาได้ เราก็ไม่ลังเลที่จะใช้ ถ้ามันจะเปลี่ยนสังคมได้ก็เพราะว่าเราได้พิสูจน์กับตัวเองแล้วว่าเราใช้แล้วและมันได้ผล

หรือแม้แต่เรื่องอันวาร์ เราก็ตอบตัวเองได้ว่าการรู้จักคนที่ห่างออกไปพันกว่ากิโล ที่เขาอยู่ท่ามกลางกฎหมายพิเศษมาสิบกว่าปี เขามีชีวิตยังไง เราตอบตัวเองได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ โดยที่เข้าใจถึงความหมายของมันจริงๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากนะ

ช่วยขยายความหน่อยว่าการทำเรื่องภูมิภาคยิ่งใหญ่ยังไง สำคัญกับคนทำสื่อยังไง

สิ่งที่คนทำสื่อต้องย้อนถามตัวเองก็คือ ทำไมคนภูมิภาค คนที่อยู่ไกล คนที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึงไม่ควรได้รับการเหลียวแลหรือใส่ใจจากสื่อมวลชนล่ะ

หรือเอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นปัญหาของแวดวงสื่อสารมวลชนเอง ที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กันเป็นส่วนใหญ่ แล้วถ้ามองไปลึกกว่านั้นว่าเป็นเพราะอะไร ก็เพราะเมื่ออำนาจรัฐอยู่ที่กรุงเทพฯ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกดึงเข้ามาตามอำนาจรัฐ และถ้าคุณมัวแต่ตามอำนาจรัฐ คุณก็จะไม่เห็นสิ่งที่ไกลออกไป เมื่อคุณไม่เห็นสิ่งที่ไกลออกไป คุณก็ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พอคุณไม่ให้ความสำคัญ หรือคุณไม่รู้จัก เขาก็ไม่มีอยู่ เมื่อเขาไม่มีอยู่ ความเป็นกรุงเทพฯ ก็ยิ่งทรงพลังมากขึ้น

คำถามก็คือ ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว เราจะเอายังไงกันต่อดี จะอยู่กันแบบนี้ ทำกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือ

ในสารคดีเรื่องอันวาร์ ช่วงท้ายเราเขียนถึงนิทานเรื่องแม่น้ำจระเข้ เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้มีคุณูปการกับเรามาก เป็นนิทานที่ดีฉิบหายเลย เพราะมันบอกกับเราว่าในสังคมนี้แม่งมีมนุษย์อยู่ทุกประเภท ประเภทที่ดักรอเหยื่อแบบจระเข้ ประเภทที่ชอบเอาเปรียบแบบชายพายเรือ ประเภทซื่อสัตย์ เถรตรง แบบผู้หญิง ประเภทศีลธรรมจัดแบบผู้ชาย ประเภทที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมแบบเพื่อนของผู้ชาย และประเภทสุดท้ายคือเพื่อนของผู้หญิง ที่ไม่สนใจห่าไรเลย

ประเด็นก็คือว่า สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าชีวิตส่วนตัวคุณจะเป็นแบบตัวละครไหนก็แล้วแต่ แต่ในฐานะสื่อมวลชน คุณจะเป็นแบบเพื่อนผู้หญิงที่ไม่สนใจห่าไรเลยไม่ได้ เพราะทันทีที่คุณหันหลังให้อะไรบางอย่าง ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ หน้าที่ที่คุณทำอยู่จะเป็นโมฆะทันที ถ้าคุณหันหลังให้คนอื่นจนเป็นนิสัย คุณจะเล่าเรื่องของพวกเขาได้ยังไง

นิทานเรื่องนี้มันย้อนไปตอบคำถามเรื่องความเงียบ ว่าทำไมเราถึงสนใจเรื่องอันวาร์ ทำไมเราต้องพูดเรื่องภูมิภาคที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณโฟกัสกรุงเทพฯ หันหน้าเข้าหากรุงเทพฯ แปลว่าคุณกำลังหันหลังให้ภูมิภาคอยู่ไง เราไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนคิดนิทานเรื่องนี้ แต่โดยส่วนตัว มันเป็นนิทานที่มีผลต่อวิธีคิดในการทำสื่อของเรามาก

การที่เราได้ลงไปทำเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยก็ทำให้เราเคารพนับถือตัวเองได้ว่า กูไม่ได้เขียนเรื่องใครคนใดคนหนึ่งเพราะแค่ได้ยินมา แต่กูเขียนเพราะกูไปคุยมาแล้ว อันนี้เราว่าควรจะเป็นเงื่อนไขข้อแรกๆ ที่คนทำสื่อยึดถือไว้ ถึงแม้ว่าสุดท้ายกลับมาแล้วจะไม่ได้งานก็ตาม.

ธิติ มีแต้ม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save