fbpx
อ่านทางนักทฤษฎี

อ่านทางนักทฤษฎี

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

คนทำงานทางทฤษฎีกับคนทำงานภาคปฏิบัติเขาจะอ่านปัญหาและมีวิธีอ่านข้อเสนอสำหรับแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน บางทีและหลายทีเขาจึงคุยกันไม่เข้าใจ หรือไม่ได้รับประโยชน์จากกันเท่าที่ควร ในวันร้ายคืนร้ายขึ้นมา เราก็จะเห็นพวกเขาตั้งข้อท้าทายกันขึ้นว่า ถ้าเก่งนัก ก็มาลองดูไหมล่ะ!

วิธีอ่านปัญหาอ่านข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาของคน 2 ฝ่ายที่แตกต่างกันคือเนื้อหาบทความคราวนี้ครับ

ผมขอเริ่มด้วยพวกที่อยู่ในโลกทฤษฎีก่อน เพราะเขียนล้อใคร ไม่สนุกเท่าล้อตัวเองและพรรคพวก และเขียนเผื่อสำหรับคนในภาคปฏิบัติที่อยากมาเรียนกับคนในโลกทฤษฎีด้วย ให้ท่านได้พอรู้ทางสำหรับเตรียมการรับมือพวกเขาได้

………………………………………………

ถ้าท่านเอาปัญหาไปถามคนทำงานอยู่ในโลกของทฤษฎี เขาจะตั้งต้นคุยกับท่านหรือพิจารณาข้อเสนอของท่านเกี่ยวกับปัญหานั้นด้วยตัวแนวคิดจากทฤษฎี หรือตั้งต้นด้วยการมองหาคุณค่าหลักการที่เกี่ยวข้อง หรือดีไปกว่านั้นอีก คือชวนท่านคิดทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน ว่าเรื่องที่ท่านถามขึ้นมานั้นมีแนวคิดอะไรของสำนักไหนบ้างสำหรับจะวิเคราะห์ทำความเข้าใจ หรือเปิดคำถามและให้แนวทางการตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แล้วสำนักคิดบรรดานี้เขาโต้เถียงอะไรกันไว้ มีประเด็นอะไรบ้างที่อุบัติขึ้นมาจากข้อโต้เถียงเหล่านั้น ที่ยังจะต้องคิดต่อไปสำหรับขบปัญหาที่ท่านถาม

จากนั้นคนเป็นนักคิดนักทฤษฎีเขาก็จะเพลินกับการเปิดประเด็นเกี่ยวกับหลักการที่มีคุณค่าชุดต่างๆ ประกบอยู่ ว่าที่ท่านทำไปแบบนั้นแบบนี้ หรือเห็นว่าน่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ เขาก็จะทักว่ามันอาจปลอดภัยมากขึ้นก็จริงอยู่ แต่ก็กระทบต่อเสรีภาพได้มาก ครั้นท่านว่าข้อเสนอของท่านให้ระบบการคุ้มครองดูแลสวัสดิการได้เป็นอย่างดี เขาก็จะว่าแต่ทำแบบนั้นก็อาจกระทบต่อต้นทุนและประสิทธิภาพได้เหมือนกัน ถ้าข้อเสนอของท่านชูเรื่องเสมอภาคขึ้นมา เขาก็จะถามว่าที่ท่านเสนอมานั้นมันเสมอภาคในความหมายไหนกันล่ะ แล้วจะไม่กระทบต่อแรงจูงใจและผลิตภาพหรือ ถ้าท่านมีข้อเสนอเกี่ยวกับเอกภาพส่วนรวม เขาก็จะพลิกตั้งประเด็นว่ามันจะไปกดทับอัตลักษณ์คนชายขอบอื่นๆ อย่างไรไหม ท่านจะว่าอะไร จะเสนออะไรก็ตาม เขาก็จะตั้ง แต่ แต่ และ แต่ แย้งกลับมาให้ท่านคิด

เมื่อเขาได้ตั้งเรื่องแนวคิด หลักการและคุณค่ามาแต่กับท่านจนเขาพอใจแล้ว ทีนี้เขาก็จะชวนท่านให้ลองมองจากหมวกหลายๆ ใบดูบ้าง ถ้าข้อเสนอของท่านมองปัญหาแบบชนชั้นนำ เขาจะถามจากชนชั้นล่าง ถ้าท่านมองทุกชั้นชนดีแล้ว เขาจะเตือนท่านให้นึกถึงเพศสภาพขึ้นมา ถ้าท่านมองปัญหาเป็นเอ็นจีโอ เขาก็จะยกอำนาจในระบบระหว่างประเทศมาประกบให้ท่านพิจารณา ถ้าท่านเป็นรัฐนิยม เขาก็จะระดมโลกทั้งผองพี่น้องกันเข้าใส่ท่าน

พอจบเรื่องเปลี่ยนย้ายมุมมองแล้ว ถ้าเขาติดใจอยากคุยต่อ เขาก็จะยังไม่ปล่อยท่านไปจนกว่าเขาจะรู้ว่า ท่านเตรียมใช้แนวทางหาความรู้แบบไหนแน่ และแบบนั้นจะยืนยันอะไรได้อย่างไร ว่าอะไรเป็นความจริง หรือจริงๆ มันมีจริงไหมความจริงที่ว่า แล้วเราจะหาพบได้จากไหน เขาจะถามท่านแบบนี้แล้วยังจะถามท่านเรื่องข้อมูลที่จะใช้อีก ว่าท่านใช้ข้อมูลแบบไหน ตั้งแต่ระดับอภิมหภาคลงไปจนถึงขั้นอภิจุลภาค ท่านเข้าถึงหรือเก็บข้อมูลได้โดยญาณวิถีไหน แล้วมันจะพอหรือนั่น เขาจะถามท่านสารพัดสารพันอย่างนี้ จนท่านเหนื่อยอ่อนกับเขา

เมื่อท่านจวนเจียนจะสำนึกเสียใจที่ไม่น่าพลั้งถามเขาขึ้นมาเลย นักทฤษฎีก็จะบอกท่านว่าอย่าเพิ่งไปไหน ให้อยู่พิจารณาทางเลือกข้อเสนอที่เป็นไปได้ต่างๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ก่อน แล้วท่านจะได้ยินเขาพูดขึ้นมาในตอนนี้แหละ (ถ้าจนถึงตอนนี้ท่านยังไม่ได้ยินเขาพูดละก็) ว่าคุณเห็นหรือยังว่าปัญหามันอยู่ข้างจะซับซ้อนมากแค่ไหน จะดูปลายเหตุที่เป็นตัวจุดชนวนไม่พอ ต้องดูมูลเหตุด้วย มันมีทั้งปัจจัยและองค์ประกอบ มีทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรสอดแทรก มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องให้ต้องพิจารณามากมายหลายทบซับซ้อน ก่อนจะตัดสินได้ว่าวิธีการไหนจะเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร หรือที่ทำไปแล้วมันมีข้อจำกัดตรงไหนบ้าง รับประกันได้ว่าก่อนจะจบกระแสความ ท่านจะได้ยินคำว่าซับซ้อนซ้อนซับอยู่กับคำว่าเข้าใจหรือเปล่าตลอดเวลา

ส่วนการแก้ปัญหาน่ะหรือ เขาก็จะใช้วิธีวิเคราะห์เปรียบเทียบให้ท่านฟังว่า ที่นั่นที่นี่เคยทำแบบนั้นแบบนี้มาแล้ว แต่ก็ต้องเผชิญกับ dilemma อย่างนี้ หรือเกิดปฏิทัศน์และความย้อนแย้งอย่างนั้นๆ ขึ้นมา ส่วนกรณีนี้ขอให้ถือว่าเป็น sonderweg ในขณะที่อีกกรณีหนึ่งจัดเป็น prototype ของภาวะทวิลักษณ์เชิงสะท้อนแบบปรัศวภาควิโลม ครั้นท่านถามเขาว่าวิโลมๆ ที่ว่ามันคืออะไร เขาก็จะบอกว่า อ๋อ ถ้าจะเข้าใจได้ ก็จะต้องเข้าใจสภาพกดบังคับในเชิงโครงสร้างแบบสัญญะที่ส่งผลต่อความสามารถของผู้กระทำการในเงื่อนไขที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำเสียก่อน ตามที่ € เคยเสนอไว้ตอนสมัยยังเป็นสาว ก่อนหน้าที่เธอจะเกิด epistemological rapture ขึ้นมา

ครั้นท่านถามด้วยความงุนงงว่า ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นการแก้ปัญหาตรงไหน เขาก็จะบอกแก่ท่านว่า คุณไม่เข้าใจฤๅ ว่าการตั้งปัญหาและการแก้ปัญหาการวิจัย เขาต้องตั้งต้องแก้ และสู้กันด้วยแนวคิดทฤษฎี แล้วต้องหาทางป้องกันแนวคิดทฤษฎีที่ตัวคิดหรือใช้ให้หนักแน่น ถ้าใช้แนวคิดโครงสร้างอติรูปสุญกาลสหมิติแก้โจทย์ออกมา ก็ต้องแสดงให้ได้ว่า มันดีกว่าลงตัวกว่าและเหนือกว่าแนวคิดโครงสร้างนิรรูปอนธกาลสัมพัทธมิติ ที่เป็นคู่แข่งของมันอย่างไร จึงจะขึ้นไปคุยกับเวทีวิชาการในวารสารวิชาการระดับโลกได้ ไม่ใช่ให้กันมาแก้ปัญหาไก่กาแถวๆ นี้แล้วจะฝันได้ world-class ranking

หายงงแล้วฤๅ?

แล้วจะส่งงานผมได้เมื่อไหร่ล่ะ เขาจะถามขอคำมั่นจากท่าน ก่อนจบการสนทนา

………………………………………………

ถ้าท่านอยากได้คนมาช่วยชี้ให้เห็นเรื่องที่ท่านมองข้ามละเลย สิ่งที่ท่านไม่ได้คาด ปัญหาที่คิดไม่ถึง ประเด็นที่แก้ไม่ตก อดีตที่ถูกลืม ความเชื่อที่พอใช้ได้แต่ก็พลาดอยู่ดี บริบทใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนพลิกความเข้าใจให้เป็นอีกแบบก่อนที่จะตลบกลับมา นักทฤษฎีคือคนที่ท่านควรจะคุยด้วย คุยแล้วท่าน(อาจ)จะสว่างไสวกระจ่างใจขึ้นมาก แต่ถ้าท่านต้องการแนวทางสำหรับการตัดสินใจ การบรรลุข้อตกลง การจะได้ดีล การต่อรองที่มุ่งหวังผลได้เสีย การแก้โจทย์เฉพาะหน้า การจัดการปัญหาการงานประจำให้สำเร็จลุล่วง ช่วงเวลาแบบนั้น จงหลีกจากเขาให้ไกลทีเดียว เชื่อผมเถิด

………………………………………………

ครูของผมคนหนึ่งเมื่อรู้ว่าผมจะต้องมารับยืนพื้นสอนเกี่ยวกับทฤษฎี ท่านเตือนว่าถ้าลงว่าต้องสอนทฤษฎีนานไปแล้วให้ระวังว่าการสอนการอ่านแต่งานทฤษฎีต่อเนื่องยาวนานจะเปลี่ยนการพูดการเขียนของเราไปอีกแบบ ที่สำคัญกว่านั้นคือเปลี่ยนวิธีคิดในการมองปัญหาต่างๆ แล้วจะไปตั้งข้อเรียกร้องเอากับคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เรียนด้วยกับเราหรือเขียนวิทยานิพนธ์กับเรา ว่าต้องมาคิดในกรอบ ในวินัยการคิดของโลกทฤษฎีเช่นกันกับเรา ท่านชี้ให้เห็นความหมายหลายนัยของ discipline ว่ามันจะบังคับแนวทางการคิดการศึกษาได้มากในนามของการพัฒนาความรู้ให้แก่สาขาวิชา หรือให้แก่ความเข้มแข็งของป้อมค่ายความคิดของบางสำนักในสาขาวิชา แล้วเรียกมันว่าเป็นความก้าวหน้าขององค์ความรู้

แต่ความรู้ในโลกวิชาการแบบนี้ในแต่ละสาขาวิชาและในแต่ละสิกขาวินัยของการสร้างความรู้ จะเป็นความรู้ที่ใช้การได้ดีในภาคปฏิบัติไหม และได้ดีแค่ไหน ท่านไม่สู้แน่ใจ และว่าเราเองก็อย่ามั่นใจในความรู้ที่สาขาวิชาจะมีให้แก่การแก้ปัญหาจริงๆ มากนัก ยิ่งเมื่อเรื่องต่างๆ พื้นที่และกาละต่างๆ ของโลกพัวพันพัลวันกันขึ้นมากเพียงใด ต้องหัดเจียมตัวในความรู้ของเราไว้

คำแนะนำก่อนที่เราจะจากกันมา ท่านแนะง่ายๆ แต่มีผลดีจริงว่า เมื่อต้องทำงานในโลกวิชาการ ให้คุยกับคนในภาคปฏิบัติทุกระดับไว้เสมอๆ ยิ่งระดับ street level ยิ่งต้องฟังให้มาก หรืออย่างน้อยที่สุด ให้สลับอ่านงานที่เสนอประสบการณ์ที่มาจากโลกภาคปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ

คนในภาคปฏิบัติมีข้อจำกัดเฉพาะในจุดในตำแหน่งที่เขาลงมือทำคอยตีกรอบไว้ ต่างจากคนในโลกวิชาการ ที่จะได้พรพิเศษอย่างหนึ่ง ตรงที่เวลามองปัญหาอะไร สามารถจะลอยตัวพ้นจากข้อจำกัดเฉพาะของคนในโลกปฏิบัติ หรือตัดข้ามส่วนงานที่แบ่งบทบาทภารกิจและอำนาจหน้าที่ ขึ้นไปพิจารณาปัญหาจากมุมมองแบบตานกก็ได้ หรือจะเปลี่ยนย้ายสเกลการมองปัญหาการพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ในแบบใกล้หรือไกลให้เห็นหยาบหรือในรายละเอียดแค่ไหนก็ทำได้ หรือจะตัดเส้นเวลาสั้นยาวเพียงใดและของพื้นที่เทศะใดๆ ออกมาวิเคราะห์เทียบเคียงกันก็ได้ หรือจะข้ามกาลเวลาไปมาขนาดไหนเพื่อหาเหตุให้มาเจอกับผลที่อยู่ห่างไกลออกมาก็ไม่มีใครว่าแปลก ยิ่งใช้แนวคิดใหม่แปลกและแหวกแนวเพียงใด ยิ่งเก๋ในความเป็นต้นแบบ

แต่คนในภาคปฏิบัติที่เป็นคนทำคนตัดสินใจ เขาไม่ได้รับพรพิเศษที่ว่านี้ และการปฏิบัติของเขาเกิดขึ้นในบังคับของเวลาที่ต้องทำต่อไปข้างหน้าเพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของแผนงานแต่ละระยะ โดยสิ่งที่ดันรุนหลังเขามาคือผลสะสมจากปัญหารายวันรายเดือนหรือรายไตรมาส หนึ่งปีหรือสี่ปี ในส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบ และสุดแท้แต่ว่าเส้นตายของเวลาที่ต้องตัดสินใจหรือต้องส่งมอบงานในแต่ละช่วงได้ให้ความปรานีแก่เขาเพียงใดในการส่งปัญหาอะไรมารอพบอยู่ ทั้งที่นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และที่ไม่ได้นัดหมายไว้ก่อน

บทความหนึ่งที่ผมไม่ลืมเลยในการเรียนกับครูคือ “The Science of ‘Muddling Through’”[1] ปีหน้าบทความนี้ก็จะมีอายุครบ 60 ปีพอดี คนเขียนคือ Charles E. Lindblom เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล ร่วมสมัยมากับ Robert Dahl เขาเพิ่งตายจากไปในวัย 101 ปีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงขอถือโอกาสเขียนระลึกถึงเขา

ความประทับใจของผมต่อบทความนี้อยู่ตรงที่ Lindblom ชี้ให้เห็นวิธีอ่านปัญหาของคนในภาคปฏิบัติที่มองปัญหาเฉพาะที่กิ่งก้านส่วนที่ตนต้องดูแล มากกว่าที่จะมองปัญหาที่รากเหง้า หรือมองขึ้นไปหาภาพรวมทั้งหมดของปัญหาอันซับซ้อน ซึ่งว่าไปแล้วไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้ แต่การมองปัญหาและปรับแก้ปัญหาไปตามเหตุไปตามจังหวะที่คนปฏิบัติพบเจอในเงื่อนไขการทำงานของเขาที่ต้องทำกับคนอื่นๆ กับฝ่ายอื่นๆ อีกมากหน้าหลายตา ที่ล้วนมีเหตุผล มีวิธีคิด มีข้อเรียกร้องต้องการไม่เหมือนกัน และต่างฝ่ายยึดถือในคุณค่าและจัดลำดับความสำคัญของหลักการแตกต่างกันไป ตัววัดความสำเร็จของคนทำงานเหล่านี้ จึงอยู่ที่การหาข้อเสนอที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตกลงกันได้ ลดความไม่พอใจ สร้างความพอใจ แม้จะยังมีความแตกต่างกันอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่อยู่ที่การวัดว่าแนวคิดประการใด หรือหลักการนามธรรมข้อไหนเหมาะกว่าหรือเหนือกว่าอันอื่นๆ อย่างไร

แรงงานอาจต้องการหนึ่ง สอง สาม ในข้อเรียกร้องของพวกเขา ในขณะที่ฝ่ายบริหารก็คิดถึงสาม สี่ ห้า ดังนั้น การพิจารณาปัญหาแบบกิ่งก้านจะคิดหาทางออกโดยพิจารณาจากสามที่เป็นจุดร่วมเป็นตัวตั้ง แล้วหาความคิดดีๆ ที่จะทำให้สามโน้มไปสู่การหาข้อเสนอที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าสู่ข้อตกลงกันได้ ความเก่งไม่เก่งงานของคนปฏิบัติจะวัดกันตรงนี้ว่ามองเห็นปัจจัยที่เป็นจุดร่วมในความต้องการรูปธรรมที่แตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ เจอไหม แล้วถ้าเจอแล้ว มีความคิดดีๆ ที่จะทำให้ปัจจัยที่เป็นจุดร่วมนี้ช่วยขยายไปตอบโจทย์ให้ในอีกแบบหนึ่งแก่ข้อเรียกร้องหนึ่ง และสองที่ฝ่ายแรงงานต้องการได้ไหม และในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์สี่ และห้าที่ฝ่ายบริหารต้องการได้พร้อมกัน

ตัวอย่าง เช่น แรงงานคำนึงถึงค่าแรง สวัสดิการ และสภาวะการทำงาน ฝ่ายบริหารคำนึงถึงผลิตภาพในการผลิต ต้นทุน และการแข่งขันกับส่วนแบ่งในตลาด การแก้ปัญหาแบบมองลงลึกให้ถึงรากถึงมูลเหตุ จะพาไปสู่การพิจารณาเหตุปัจจัย หลักการ คุณค่าต่างๆ ของคนสองฝ่ายในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศกำลังพัฒนาภายใต้โครงสร้างระบบทุนนิยมโลกที่มีมหาอำนาจและทุนข้ามชาติกำกับในกรอบของเสรีนิยมใหม่ แต่คนฝ่ายปฏิบัติเขาจะไม่มองปัญหาไปถึงขนาดนี้ เพราะพ้นอำนาจควบคุมและเกินกำลังทั้งของฝ่ายบริหารและของฝ่ายคนงานของบริษัทนั้นจะร่วมกันแก้ได้ไหว คนฝ่ายปฏิบัติจะพิจารณาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วที่ทำมาแล้วในระดับในสเกลของเขาว่าตรงไหนจุดไหนที่เป็นปัญหา ตรงไหนจุดไหนควรต้องปรับ และจะปรับอย่างไร

ข้อเสนอรูปธรรม มากกว่าแนวคิดนามธรรม คือสิ่งที่คนในภาคปฏิบัติจะพิจารณา แน่นอนว่าเบื้องหลังข้อเสนอรูปธรรมนี้มีไอเดียบางอย่างอยู่ ถ้ามันเป็นไอเดียดี ข้อเสนอรูปธรรมที่ออกมาจากไอเดียนั้นก็จะแก้ปัญหาตรงเปลาะนั้นไปได้ เมื่อพวกเขาแต่ละฝ่ายเห็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมแล้ว พวกเขาจะมองและตัดสินได้ว่ามันแฟร์ไหม มันยังดีกว่านั้นอีกไหม หรือมันพอใช้ได้ไหม ในการตอบข้อเรียกร้องหรือคุณค่าที่แต่ละฝ่ายต้องการหรือยึดถืออยู่ ถ้าข้อเสนอที่เสนอออกมาแทนที่จะเป็นการเพิ่มค่าแรงโดยตรง แต่เป็นเรื่องการฝึกฝีมือแรงงาน หรือการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงาน การเพิ่มคุณภาพผลผลิต และโบนัสที่ตั้งให้ตามผลิตภาพและผลประกอบการที่สูงขึ้น ข้อเสนอรูปธรรมแบบนี้ มากกว่าแนวคิดนามธรรม ที่จะทำให้แรงงานและฝ่ายจัดการตัดสินได้ และเปรียบเทียบได้ ว่าจากแต่ละปัจจัยหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ที่เขาแต่ละฝ่ายอยากได้ในลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันนั้น พวกเขาจะได้แบบไหน จากข้อเสนอไหน หรือควรปรับแต่งข้อเสนอนั้นๆ ให้ดีขึ้นได้อีกในข้อเสนอส่วนไหน อย่างไรบ้าง

นอกจากนั้น ความคิดหรือวิธีใดๆ ไม่ได้มาในรูปข้อเสนอที่มีลักษณะทั่วไปแบบทฤษฎี แต่เป็นสิ่งที่ต้องนำไปปรับใช้ที่หน้างาน ที่มีเหตุปัจจัยจำเพาะแต่ละครั้งแต่ละคราวให้ต้องแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจวางหลักหรือยึดหลักใดๆ ในความหมายแบบตรงตัวหรือทั่วไปได้นักว่าต้องเป็นแบบนี้อย่างนี้ในเงื่อนไขนี้เสมอ การด้นปรับหลักต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเพื่อทำให้สำเร็จผลออกมาเป็นความพอใจ คือสิ่งที่ฝ่ายปฏิบัติจะใช้วัดความสำเร็จ มากกว่าการป้องกันความถูกต้องไม่ถูกต้องและการใช้ได้ทั่วไปของแนวคิดทฤษฎีอันหนึ่งอันใด

ดูจะดีไปหมด การอ่านกิ่งก้าน ไม่อ่านรากแบบนี้

ว่าแต่ว่า มีแต่ไหม?

มีสิครับโธ่ ก็ผมมาจากโลกทฤษฎีนี่นา

 

เชิงอรรถ

[1] บทความนี้มีขนาดกะทัดรัดเพียง 11 หน้า อ่านจบได้ในเวลาไม่นานนัก ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในหลายๆ แหล่ง ขอลงอ้างอิงไว้ที่นี่ Charles E. Lindblom, “The Science of ‘Muddling Through’,” Public Administration Review 19:2 (Spring 1959), pp. 79-88.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save