fbpx
สำรวจพรรคการเมืองสตาร์ทอัพ นับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

สำรวจพรรคการเมืองสตาร์ทอัพ นับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

คล้ายๆ ท้องฟ้ามีเมฆหนาซ้อนหลายชั้น เทาทะมึนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 จนวันนี้เมฆบางส่วนเริ่มเคลื่อนออก เหมือนจะเห็นฟ้าก็ใช่ว่าจะเห็นแจ่มชัด ยังเต็มไปด้วยหมอกควันที่แสงแดดส่องลงมาไม่ถึง

ก็เหมือนบรรยากาศล่าสุดที่ตัวแทนพรรคการเมืองหน้าใหม่ไปขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องให้พรรคการเมืองยื่นจดแจ้งพรรคต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างวันที่ 2-31 มี.ค. 2561 เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 หากเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุไว้ ซึ่งเลื่อนออกไปจากเดิมภายในปี 2561 นี้

ไม่ว่าจะดูคึกคักมีความหวังสำหรับกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ซึ่งสั่งห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงให้การดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองระงับไว้เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้กำหนดความผิดและโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ด้วย ก็ไม่ต่างจากหมอกควันดังกล่าว แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง จะประกาศใช้แล้วก็ตาม

ระหว่างนี้ 101 ลองสำรวจพรรคการเมืองหน้าใหม่ 5 พรรค จาก 42 พรรค ที่เพิ่งจดชื่อกับ กกต.ไปหมาดๆ พรรคการเมืองใหม่เหล่านี้อาจสะท้อนใบหน้าของสังคมไทยได้บ้างว่าทั้งตัวตน อุดมการณ์ แนวทางทางการเมืองในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือที่จริงแล้วอนาคตจะยังอยู่ในหมอกควัน

พรรคสามัญชน

พนิดา บุญเทพ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน

ถ้าไม่เกิดรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 เสียก่อน พรรคสามัญชนจะถูกจดทะเบียนพรรคตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. ปีเดียวกัน พนิดา บุญเทพ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชนบอกแบบนั้น เพราะย้อนกลับไปช่วงที่เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เธอและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมเริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ตั้งคำถามกับการเมืองที่เสียงของประชาชนถูกลิดรอน

“เริ่มมีการคุยกันว่าเราอยากเห็นสังคมที่ตัวเองอยู่เป็นอย่างไร อยากเห็นประเทศตัวเองเป็นอย่างไร เป็นการคุยแบบความฝันของคนรุ่นใหม่ จนเกิดคำถามว่าเราจะทำกิจกรรมเพื่อสังคมไปถึงแค่ไหน มันจะจบลงอย่างไร พรรคการเมืองควรจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราจะทำไหม จนกระทั่งปี 2555 ไอเดียเรื่องตั้งพรรคการเมืองถูกหยิบขึ้นมาคุยกันอย่างจริงจัง และได้ข้อสรุปว่าเราควรทำพรรคการเมือง”

พนิดาเล่าว่า จากนั้นพวกเธอก็วางแผน ถอดบทเรียน ประเมินสถานการณ์กันมาเรื่อยๆ พอเกิดรัฐประหาร 2557 จึงยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ แต่เพราะสถานการณ์ปัจจุบันบีบให้ต้องลงมือทำ ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองในอุดมคติของพวกเธอจะไม่มีทางเกิดขึ้น วันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมาจึงดำเนินการจดจองชื่อพรรคสามัญชนทันที ซึ่งเป็นชื่อที่คิดไว้ตั้งแต่แรก

อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเล่าถึงเส้นทางเด็กกิจกรรมของตัวเองว่า ระหว่างเป็นนักศึกษามีโอกาสได้ทำงานกับชาวบ้านเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่นครพนม มุกดาหาร จากนั้นก็ผันตัวไปทำโรงเรียนเด็กไร้สัญชาติที่เชียงใหม่ ก่อนจะมาทำงานด้านพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มูลนิธิโกมลคีมทอง ล่าสุดเธอพักงานชั่วคราวและมาทำกิจกรรมการเมืองเต็มตัว

“การได้ลงพื้นที่ไปเจอกับชาวบ้านที่มีปัญหากับอำนาจรัฐ เจอคราบน้ำตาจริงๆ เจ็บจริง ตายจริง ทำให้เราเห็นว่าทุกปัญหาต่างเชื่อมโยงกัน คือการถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจ การทำกิจกรรมกับชาวบ้านทำให้เราซึมซับว่าสังคมนี้ยังเหลื่อมล้ำ” พนิดาอธิบายตัวเองว่าทำไมถึงสนใจความทุกข์ของชาวบ้าน

ความรู้สึกดังกล่าวคล้ายเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพรรคสามัญชน เธอบอกต่อว่าทั้งนักศึกษาและชาวบ้านที่ทำกิจกรรมด้วยกันรู้สึกตรงกัน คือทำไมพรรคการเมืองถึงถูกผูกขาดอยู่กับคนบางกลุ่มหรือนายทุน แต่ไม่มีพรรคที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

“คนที่ประสบปัญหา แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง หรือไม่ได้มีระบบอุปถัมภ์ค้ำจุน เขาจะทำอย่างไร พอพรรคการเมืองผูกขาดอยู่กับนายทุน มันทำให้เสียงของชาวบ้านดังอยู่แค่ข้างถนนเวลาชุมนุมเท่านั้น ถ้าชาวบ้านมีโอกาสพูดถึงปัญหาและวิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหาเองในสภาผู้แทนราษฎรก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด”

“พูดง่ายๆ ว่าการทำพรรคสามัญชนเป็นรูปธรรมที่สุดในการแก้ปัญหาของพวกเราตามระบอบกติกาประชาธิปไตย ชื่อพรรคสามัญชนจึงเป็นชื่อที่พวกเราอยากให้สะท้อนถึงความสามัญมากที่สุด ประชาชนทั่วไปที่ตระหนักว่าตัวเองเป็นคนธรรมดา ไม่ได้วิเศษกว่าใคร เชื่อเรื่องคนเท่ากัน เชื่อว่าสามัญชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้” พนิดาย้ำ

คนที่เชื่อว่าสามัญชนเปลี่ยนแปลงสังคมได้คือใคร ใครคือคนที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคสามัญชน? ผู้ร่วมก่อตั้งสาวบอกว่า เราคือเกษตรกร นักศึกษา ผู้ประกอบการ นักข่าว นักดนตรี ครู กรรมกรผู้ใช้แรงงาน นักการศึกษา นักพัฒนา อาจารย์ เจ้าของกิจการ แรงงานนอกระบบ ทั้งหมดจะร่วมกันทำพรรคสามัญชนให้เป็นพื้นที่ของการต่อสู้อีกสนามหนึ่งนอกจากบนท้องถนนที่เราคุ้นเคย ภายใต้หลักการของพรรคว่าประชาธิปไตยต้องมาจากฐานราก เคารพสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นธรรม

ในขณะที่รัฐบาล คสช. ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แปลว่าพรรคสามัญชนทำงานร่วมกับ คสช. ในประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ใช่ไหม? เธอบอกว่าหลักการของพรรคฯ เป็นไปไม่ได้ เราไม่ร่วมกับเผด็จการ พรรคที่เป็นตัวแทนของเผด็จการ รวมถึงพรรคที่เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกด้วย คำถามต่อมาคืออะไรจะการันตีว่าถ้าพรรคสามัญชนมีเก้าอี้ในสภาจะไม่หันหลังให้ชาวบ้าน

เธอบอกว่าเพราะที่ผ่านมามีแต่ ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัญหาเอง เขาเป็นแค่ตัวแทนที่ประชาชนเลือก แต่เขาไม่ได้แบกปัญหาไว้เอง พรรคสามัญชนต้องการให้เจ้าของปัญหาได้เข้าไปเสนอนโยบายเอง ถ้าเจ้าของปัญหาหันหลังให้ปัญหาตัวเองก็คงสุดทางตันของภาคประชาชน

เราไม่อาจฝากความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงจากใครได้ นอกจากเราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยสองมือของสามัญชน

พรรคประชาชนปฏิรูป

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ภาพจากเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ชื่อของ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา ในกลุ่ม 40 ส.ว. สร้างสีสันและมีบทบาทแน่วแน่ในการเขย่ารัฐบาลพลเรือนมาตั้งแต่ ปี 2551 การคัดค้านความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน การตรวจสอบการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนมาถึงปี 2556 ที่มวลมหาประชาชน กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

เขาบอกว่าการตั้งพรรคของเขานั้นคือการทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ คำถามคือประชาชนและประเทศในสายตาของไพบูลย์มีหน้าตาอย่างไร เขาเล่าย้อนว่าระหว่างที่ กปปส. ชุมนุม เขาในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจภาครัฐของ ส.ว. ยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีอีก 9 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญในเดือน มี.ค. 2557 ว่าใช้อำนาจมิชอบในกรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และวันที่ 7 พ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีรวม 10 คนพ้นจากตำแหน่ง จนทำให้เกิดสุญญากาศและกองทัพก็ประกาศกฎอัยการศึก กระทั่งยึดอำนาจในที่สุด

“ช่วงนั้นผมเป็นคนแรกๆ ที่เสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรยุบแล้ว เหลือแต่ ส.ว.ทำหน้าที่แทน และคนที่ผมสนับสนุนให้เป็นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในเวลานั้น แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ก็ต้องมียึดอำนาจ เพราะฉะนั้นมูลเหตุที่ คสช. ยึดอำนาจได้ก็มาจากที่ผมไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าผมไม่ทำ คสช. ก็ไม่สามารถยึดอำนาจได้” อดีตส.ว.สรรหาร่างสูงโปร่งเล่าย้อนด้วยน้ำเสียงอันภูมิใจ

“สาเหตุที่ต้องตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปขึ้นมา ก็เพราะปัญหาสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากพรรคการเมืองเป็นของนายทุนที่คุมอำนาจทั้งหมดเลย เป็นองค์กรเผด็จการ เราจึงรังเกียจพรรคการเมืองแบบนี้ พอผมได้เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ

(สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ผมเสนอมาตลอดว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจาก ส.ส. ต้องมาจาก ส.ว. ด้วย และผมต้องการเห็นพรรคการเมืองที่ดี พอรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 พร้อมคำถามพ่วงในการให้ส.ว.เลือกนายกฯ คนนอกได้ผ่านประชามติ ผมก็ประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปทันที หลังประชามติ 2 วัน ผมอยากทำพรรคให้พวกนายทุนดูเป็นตัวอย่างว่าพรรคการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร เจตจำนงผมแน่วแน่มาตลอดว่าต้องการตรวจสอบพรรคการเมืองในสภา การทำพรรคการเมืองของผมก็เพื่อสิ่งนี้”

ในเรื่องของการเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น ไพบูลย์มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว เขาบอกว่าต้องการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ในสภา ไม่ใช่ให้เป็นนายกฯ ต่อดื้อๆ การจะเลือกในสภาก็ต้องมี ส.ส. ที่มาจากพรรคการเมือง แบบนี้คือการเคารพกติกา เขาอธิบายอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมืองของตัวเองด้วย เพราะการเป็นนายกฯ คนกลางไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ถ้าถึงวันเลือกตั้ง และมีการโหวตเลือกนายกฯ ในสภา หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นรับการโหวตจะทำอย่างไร เขาบอกว่าก็ไม่เป็นไร ยังมีคนอื่นเป็นนายกฯ คนกลางได้อีก แต่ถ้าถึงที่สุดได้นายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับเขาจะทำอย่างไร เขาตอบด้วยเสียงหัวเราะทันทีว่า ก็ไม่ทำอะไรและจะไม่ออกไปชุมนุมประท้วงแน่นอน

“หลังๆ มานี้ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วง พรรคประชาชนปฏิรูปไม่สนับสนุน เพราะประชาชนบอกว่ามันไม่สงบ การชุมนุมเป็นการใช้อารมณ์ปลุกเร้าแล้วทำให้ประเทศมีปัญหา เราสนับสนุนการใช้กฎหมายมากกว่า” ไพบูลย์ย้ำ และตอบเรื่องการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2560 ว่า เขาไม่รู้สึกว่าช้าไปหรือเร็วไป จะเลื่อนให้เร็วขึ้นก็ได้ จะเลื่อนช้าไปอีกก็ได้ ถ้าเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

พรรคกรีน

พงศา ชูแนม
ภาพจากเฟซบุ๊ก พงศา ชูแนม

พรรคกรีนในต่างประเทศมีนโยบายหลัก 4 เรื่อง คือ 1. นิเวศเศรษฐศาสตร์ 2. ประชาธิปไตยพื้นฐาน 3. สุขภาวะ 4. สันติภาพ พงศา ชูแนม อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และนักอนุรักษ์รางวัลลูกโลกสีเขียว ไม่อ้อมค้อมยอมรับว่าพรรคกรีนที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นคือการก็อบปี้ต่างประเทศมาทั้งแนวทางและทั้งชื่อ เพราะเชื่อว่าควรเป็นและเป็นไปได้ในสังคมไทย เขาเคยขึ้นไปพูดบนเวที กปปส. ว่าอยากเห็น 4 เรื่อง คือ ต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ที่ดินถูกต้องเป็นธรรม เกษตรสุขภาพ และสันติภาพยั่งยืน

“ผมไม่เคยคิดอยากทำพรรคการเมือง แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ ทุกรัฐบาลและส.ส.รับในหลักการทั้งหมด แต่ก็ยังถูกแขวนไว้ แปลว่าผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ และเมื่อถึงเวลาที่ผมมีโอกาสทำ ผมต้องทำ” พงศาเล่าถึงเหตุผลของการก่อตั้งพรรคกรีน

เขายกตัวอย่างว่า ถ้ามีที่ดินว่างๆ แล้วเกิดอยากทำร้านกาแฟ แต่ไม่มีทุน เขาต้องเอาโฉนดที่ดินไปจำนองกับธนาคารเพื่อเอาเงินมาลงทุน แต่ก็ไม่กล้าเพราะถ้าเจ๊ง ที่ดินเขาจะถูกยึด แต่ถ้าเขามีต้นไม้ในที่ดินและมีกฎหมายรับรองว่าเป็นทรัพย์สิน เขาก็เอาต้นไม้ไปค้ำประกันกับธนาคารได้ ถ้าเจ๊งที่ดินก็ยังอยู่ ทำไมต้นไม้จะเป็นทรัพย์สินไม่ได้ เหล้าและเสียงร้องเพลงยังเป็นทรัพย์สินได้ เขาย้ำว่ามูลค่าต้นไม้จะมากขึ้นตราบใดที่ต้นไม้โตขึ้นทุกวัน

นักอนุรักษ์อย่างเขาประเมินสภาพความเป็นจริงของตัวเองว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความสนใจของประชาชนอันดับต้นๆ แต่มองไประยะยาว การมีส่วนในอำนาจรัฐจากการทำพรรคการเมืองจะทำให้เขาได้ทำสิ่งที่ต้องการให้เป็นรูปธรรม

“มีที่ดินกว่า 36 ล้านไร่ คนอีก 17 ล้านคนอยู่อย่างผิดกฎหมาย รวมกลุ่มชาติพันธุ์อีกกว่า 6 ล้านคน รอการจัดการอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ที่ผ่านมาคนป่วยตายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีสารพิษตกค้าง การปัญหาด้วยความรุนแรงของประชาชนต้องเปลี่ยน ผมอยากเห็นสันติภาพในทุกหน่วยของสังคม ผมอยากแก้เรื่องเหล่านี้”

สิ่งที่พรรคกรีนอยากทำดูจริงจังไม่น้อยไปกว่าการรื้อสร้างสังคมใหม่ แค่เรื่องที่ดินอย่างเดียวคิดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้ไหม อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ฯ รางวัลลูกโลกสีเขียวบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้องประชาชนจะตัดสินเอง การทำให้ต้นไม้เป็นทรัพย์สินหรือการจัดการที่ดินให้ถูกกฎหมายและเป็นธรรมไม่เกี่ยวกับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไป

เขาเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งเป็นสารตั้งต้นสำหรับประเทศอารยะ แต่เขาไม่ได้คิดว่าควรจะเลือกตั้งได้ใคร พรรคกรีนต่างประเทศก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนประเทศให้เป็นดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

จากคนที่เคยขึ้นเวที กปปส. อภิปรายปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มวลมหาประชาชนฟัง ถึงวันนี้เขาบอกเหตุผลว่าทำไมมวลชนที่เคยออกตัวรักความเป็นธรรมถึงเงียบว่า “เพราะเขาไม่กล้าหาญพอ และเอาเข้าจริงทุกคนก็ชอบแค่ได้ไล่คนที่ตัวเองเกลียดออกไปเท่านั้น ผมเคยพูดมาตั้งนานแล้วว่าถ้าเราชนะจะมีอีกฝ่ายแพ้ และจะไม่จบง่ายๆ เมื่อทุกฝ่ายยับเยิน จะมีคนขี้ขลาดออกมาฉลองชัยชนะแล้วเขียนกติกาให้เราเดิน เพราะเราไม่มีสำนึกว่าต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ”

พรรคแผ่นดินธรรม

กรณ์ มีดี ผู้ก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรม

เคยบวชมา 15 ปี สึกมาแล้วก็ยังปฏิบัติธรรมต่อเนื่องอีก 10 กว่าปี เมื่อครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติธรรมในป่าอยากให้ช่วยทำนุบำรุงศาสนา กรณ์ มีดี ผู้ก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรมก็รับปากว่าจะทำ งานแรกที่เขารู้สึกว่าเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องศาสนาพุทธโดยตรง แต่เป็นเรื่องความยุติธรรม เนื่องจากเขามีส่วนในการบริหารนิติบุคคลคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง และพบว่าผู้มีอิทธิพลในคราบลายพรางใช้อำนาจบาตรใหญ่คอร์รัปชัน เขาจึงคิดโค่นล้ม แต่ปรากฏว่าเขาเห็นตัวเองเป็นเพียงไม้ซีกงัดไม้ซุง เลยไปอาศัยนักการเมืองท้องถิ่นเคลียร์ปัญหาให้ เขาจึงรอดจากความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาได้ กระทั่งขยับตัวเองมาช่วยงานมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 จึงเห็นความเป็นไปทางการเมืองชัดขึ้น

เมื่อต้องการอยากผลักดันกฎหมายปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา เขาในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทยย้ำว่าเวลานี้ศาสนาพุทธกำลังมีภัย ทั้งภัยจากภายในของวงการพระสงฆ์เอง และจากภายนอกที่มาจากปัญหาการเมืองแบ่งฝักฝ่าย เลยเป็นที่มาให้ตัดสินใจทำพรรคการเมืองเพื่อทำให้ความตั้งใจสำเร็จ

“ถ้าคุณไปเห็นพระชาวบ้านที่ธุดงค์ในป่าแล้วโดนเจ้าหน้าที่ไล่ออกมาเหมือนหมูเหมือนหมา คุณจะเข้าใจเหมือนผมว่าทำไมต้องมีกฎหมายคุ้มครอง หรืออย่างเวลาคนโจมตีกรณีพระสงฆ์รับเงิน ส่วนใหญ่ก็มักโจมตีกันที่ปลายทางว่าพระไม่ควรรับเงิน แต่ไม่มีใครไปดูว่าชนชั้นนำบริจาคเงินให้พระมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันจึงกลายเป็นจารีตตกทอดมาถึงปัจจุบัน อีกเรื่องคือพระไม่เคยได้รับสิทธิเท่ากับคนทั่วไป เพราะพระไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อไม่มีสิทธิเลือกตั้ง พระก็ไม่มีสิทธิแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับตัวเอง”

ผู้ก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรมบอกเพิ่มว่า นอกจากพระสงฆ์ที่มีแค่พระธรรมวินัยกำกับ ซึ่งควรได้รับสิทธิปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้นับถือศาสนาพุทธ ก็เป็นหน้าที่ที่จะช่วยกันปกป้อง เขาคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือทำให้เป็นกฎหมาย และการระบุไว้ในกฎหมายที่ดีที่สุดก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

เขายังระบุถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่มีบางมาตราเกี่ยวข้องกับการศาสนาพุทธว่า เสมือนดาบอาญาสิทธิ์ที่น่ากลัว ถ้าตกอยู่ในมือของบุคคลที่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ไม่มีอคติ มาเป็นคณะกรรมการกำกับดูแลก็จะกลายเป็นคุณต่อพระพุทธศาสนา แต่ถ้าดาบอาญาสิทธิ์เล่มนี้ตกอยู่ในมือของบุคคลที่มีอคติต่อพระ ไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนา จะกลายเป็นหายนะทันที

ผมไม่เคยบอกว่าต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อไปบังคับให้ใครมานับถือศาสนาพุทธ หรือบังคับให้ใครมาบวช แต่บัญญัติไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาบิดเบือนทำลาย เพราะเอาเข้าจริงชาวพุทธที่มีสำนึกจะไม่เบียดเบียนรังแกใคร ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการเมือง ด้วยกฎหมาย ด้วยทหารมาตลอด แต่ไม่เคยพยายามดึงศีลธรรมมาใช้ ทั้งที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน” เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธฯ กล่าว

พรรคเกรียน

พรรคเกียน เดชรัต สุขกำเนิด

วันที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ประกาศเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กหาคนร่วมก่อตั้งพรรคเกรียน 15 คนแรก ชื่อ เดชรัต สุขกำเนิด ปรากฏอยู่ในลำดับที่ 2 ความที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการและนำเสนอบทวิเคราะห์สังคมไทยมาอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนักออกแบบเกมอย่างเขามองภาพพรรคการเมืองเป็นอย่างไร ทำไมต้องพรรคเกรียน

เดชรัตย้อนทบทวนให้ฟังว่า พรรคการเมืองที่เขาเห็นมีอยู่ 3 ยุค ยุคแรกคือขายตัวบุคคล ปราศรัยเก่ง ยุคที่สองคือขายนโยบาย แต่เป็นการขายนโยบายที่ไม่ชัดเจนว่าจะเชื่อมกับอุดมการณ์ใด

“ไม่ใช่ไม่มีอุดมการณ์นะ แต่มันไม่ชัดเจนว่าเป็นผลดีกับใครและจะนำไปสู่อะไร ที่ชัดเจนที่สุดคือความพยายามในการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง มันสะท้อนให้การตัดสินใจของพรรคการเมืองที่สวนทางกับสมาชิกพรรคและประชาชนทั่วไป ผมรู้สึกว่าพรรคการเมืองยุคที่สองที่เป็นแบบนี้ มันไม่เพียงพอ มันต้องมียุคที่สามที่กระบวนการทำงานของพรรคเป็นจุดขาย ไม่ใช่นโยบายไม่สำคัญนะ แต่การตัดสินใจต่อนโยบายต่างๆ ควรมีการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิก พูดให้ชัดคือเราต้องการพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย”

เขาอธิบายถึงสิ่งที่เขาหวังอยากจะเห็นคือกระบวนการทำงานของพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากที่สุด “ถ้าจะพูดถึงนโยบายที่กินได้ ไม่ใช่แค่ว่าดีอย่างไร แต่มันจะกินได้ก็ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคที่เห็นพ้องต้องกัน”

“ถ้าเราเชื่อว่าเดชรัตคิดนโยบายที่โดนใจ แล้วยังต้องมานั่งหามติจากสมาชิกพรรคจะเสียเวลา ในมุมการตลาดอาจจะโอเค แต่มันสะท้อนว่าเรากำลังทำลายคุณค่าส่วนที่สามไปโดยปริยาย ไอเดียนโยบายที่ดีไม่ควรบั่นทอนอำนาจของสมาชิกพรรค เราโหวตให้นักร้องคนไหนเป็นแชมป์ในรายการแข่งร้องเพลงได้ แล้วทำไมถึงจะโหวตไม่ได้ว่าพรรคการเมืองของเราควรตัดสินใจอย่างไร ผมว่าเราเอาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ในทางการเมืองน้อยเกินไป”

เดชรัตบอกอีกว่าแม้แต่การถกเถียงกันในบางเรื่อง เราอาจจะต้องถกเถียงกันในฐานะนิรนามด้วยซ้ำไป ไอเดียบางเรื่องไม่ต้องผูกกับชื่อบ.ก.ลายจุด ไม่ต้องผูกกับชื่อเดชรัต ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่เขารู้สึกว่าควรทำ เพราะมีความประณีตในการใช้อำนาจที่มีความเป็นธรรม ซึ่งเขาไม่ได้มองว่าเป็นอุดมคติ แต่มองว่าเราทุกคนควรเท่ากันมากที่สุด

ชื่อมีถมเถไป ทำไมต้องชื่อเกรียน สังคมไทยจะตามทันไหม ประเด็นนี้นักออกแบบเกมอย่างเขาอธิบายว่า มันก็ย้อนกลับไปที่คำถามว่าเวลาจะเสนออะไร จำเป็นไหมที่ต้องมีชื่อ บ.ก.ลายจุด หรือชื่อเดชรัต ส่วนตัวเขาบอกว่าไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นเขาไม่เห็นว่าชื่อพรรคต้องไประบุว่าคืออะไร เกี่ยวกับใคร หรือทำเรื่องอะไร

“อีกอันหนึ่งคือเมื่อสองปีก่อน ผมเขียนหนังสือออกมาชื่อ ถูกทางเกรียน เมื่อลูกเปลี่ยนเรา พร้อมกับได้ทำงานในกลุ่มเถื่อนเกม ผมรู้สึกว่าแบบแผนที่เราเคยเชื่อว่าเป็นแบบแผนที่ดีงาม เราตั้งคำถามกับมันน้อยเกินไป รวมถึงแบบแผนความเป็นพ่อในตัวผม โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่าพ่อรู้ดีกว่าลูกนั้นไม่จริงเลย พ่อรู้ดีบางเรื่อง ลูกรู้ดีบางเรื่อง แล้วก็มาแชร์กัน ผมรู้สึกว่าคำว่าเกรียนคือการออกจากแบบแผนเดิมๆ”

จากบรรยากาศของคนที่กำลังเฝ้ามองพรรคการเมืองทางเลือกผุดขึ้นมา เดชรัตมองว่าเขารู้สึกท้าทายว่าคนจะสนใจแบบแผนใหม่ๆ ไหม มันใช่ความรู้สึกที่แท้จริงของผู้คนที่ต้องการพรรคการเมืองที่ควรจะเป็นหรือยัง โจทย์นี้ค่อนข้างยาก เขาเห็นว่ามีความเชื่อ 3 ข้อที่ควรฝ่าไปให้ได้ คือ 1. ความเชื่อว่าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นคนคิด 2. ความเชื่อที่ต่างกัน สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ และ 3. การทำเรื่องนโยบายไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล

สิ่งที่เดชรัตบอกแปลว่าการทำพรรคการเมืองของเขาเป็นคนละเรื่องกับการเป็นรัฐมนตรี เพราะสุดท้ายแล้วเขาอยากทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุย เพื่อที่จะบอกสังคมได้ว่าแต่ละเรื่องมีพรรคไหนทำอยู่บ้าง ทำด้วยเหตุผลอะไร แล้วความเห็นของคนทั่วไปมองอย่างไร ทั้งหมดเป็นเรื่องของกระบวนการ

“ความท้าทายอีกเรื่องอยู่ที่ไอเดียและการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติการจริง เพราะสังคมไทยมันซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกัน ผมว่ามันยากที่จะคุยกันแบบตัดผ่านไปที่ใจกลางของเรื่องได้ เช่น ฝ่ายอำนาจนิยมบางส่วนเริ่มไม่พอใจทหาร แต่เขายังเป็นอำนาจนิยมอยู่ แล้วเขาจะรับฟังพรรคเกรียนได้ไหม ไหนจะฝ่ายอนุรักษนิยมอีก มันซ้อนทับหลายชั้น แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่สนุก” เดชรัตบอกด้วยรอยยิ้ม

แล้วตัวตนของพรรคเกรียนเป็นอย่างไร อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์บอกว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองจะเป็นแบบพรรคมวลชน แต่ผมคิดว่าพรรคเกรียนมีลักษณะเป็นพรรคฝูงชน ต่างกันตรงพรรคมวลชนจำเป็นต้องมีเป้าหมาย แต่พรรคฝูงชนอาศัยสองเรื่องคือ ใครก็หาคำตอบได้ และเรามาร่วมกันหาคำตอบด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ส่วนคำตอบจะนำไปสู่อะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“พูดให้ชัดคือเจตจำนงของพรรคมวลชนนั้นชัดเจนในทางที่อาจจะร่วมเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่พรรคฝูงชนไม่มีอารมณ์นั้น มันคือการมาคุยกันว่าแต่ละเรื่องเราคิดอย่างไรและตัดสินใจอย่างไร ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับเรื่องอื่นๆ ก็ได้ พรรคมวลชนอาจจำเป็นในการเลือกโซลูชั่นไปใช้และคำนึงถึงจุดยืนว่าแต่ละเรื่องอาจต้องสอดคล้องกัน แต่พรรคฝูงชนไม่ต้องแคร์แบบนั้น”

เมื่อนักเศรษฐศาสตร์อธิบายถึงตัวตนของพรรคเกรียนที่เขาร่วมก่อตั้งด้วย คำถามคือนักวิชาการอย่างเขากลัวแปดเปื้อนจากโคลนการเมืองหรือไม่ อีกทั้งสังคมไทยมักรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เขาบอกตัวเองได้ว่าในทางวัฒนธรรมไม่กังวล แต่ในทางกฎหมายต้องไปดูในรายละเอียดว่าขัดกับการมีตำแหน่งอาจารย์ไหม

“ที่ว่าไม่กังวลเพราะผมเบื่อแล้วกับการที่ต้องมีคนมาฟังผมในฐานะอาจารย์หรือด็อกเตอร์ หรือแม้แต่ความเป็นเดชรัต ผมรู้สึกว่าอยากให้คนฟังผมในฐานะที่ผมเป็นปุถุชน ความรู้สึกนี้มาจากความสัมพันธ์ในห้องเรียน เมื่อไหร่ที่เราลดความเป็นครูในตัวเองลง แล้วมีความเป็นเพื่อน ห้องเรียนก็สดใส มันเอื้อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ดีกว่า ถ้าการทำพรรคการเมืองแล้วทำให้ผมมีสถานะลดลง ก็เข้าทางผมเลย”

เดชรัตอธิบายเพิ่มว่าในทางหลักการ เขาคิดว่าความเป็นพรรคเกรียนไม่ต้องการให้ใครเสียต้นทุนความเป็นส่วนตัวมากไปกว่าการเป็นปุถุชน เช่นวันนี้มีคนดูข่าวแล้วเกิดอาการของขึ้น อยากจะแสดงความเห็นสู่พรรคก็ทำได้เลย เรื่องอื่นไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เขาเชื่อว่าจะดีกว่าถ้าสติปัญญามาจากใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์

“ความยากง่ายในการทำพรรคการเมืองสำหรับผมจึงอยู่ที่ว่าผมยังเป็นปุถุชนอยู่ไหม ถ้าผมยังเล่นเกมได้ ฟังเพลงได้ ไม่ต้องกลับบ้านดึกเพราะต้องทำอะไรเพื่อพรรคมากไปกว่าที่ผมอยากทำ ผมก็ไม่เห็นว่าพรรคจะทำลายผมได้ยังไง” ปุถุชนนามเดชรัตกล่าว

เสียงตัวแทนพรรคการเมืองสตาร์ทอัพทั้ง 5 พรรคกำลังทำหน้าที่สะท้อนภาพความคิดความเชื่อทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่ประชาชนต่างหวังว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อพิสูจน์อีกครั้งว่าใครเป็นของจริงบ้าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save