fbpx
The Rise and Fall of Nations

The Rise and Fall of Nations

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

ในยุคหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และยูโรโซน อะไรคือปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ? ปัจจัยเหล่านี้แตกต่างจากโลกยุค “ก่อนวิกฤต” หรือไม่ อย่างไร?

ในเมื่อแทบทุกประเทศในโลกต่างพยายาม ‘ขาย’ ตัวเองว่าเป็นแดนสวรรค์สำหรับนักลงทุน เราจะแยกแยะประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งจริงๆ (ถึงแม้ผู้นำอาจไม่พล่ามออกทีวี) ออกจากประเทศที่ดูดี (หรือมีผู้นำ ‘ปากดี’) แต่ซ่อนความเปราะบางไว้มากมายได้อย่างไร?

รูเชอร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุน หัวหน้าทีมกลยุทธ์โลก และผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจเกิดใหม่แห่ง Morgan Stanley Investment Management บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำของโลก กลั่นคำตอบจากประสบการณ์กว่า 25 ปีของเขา ในหนังสือชื่อ The Rise and Fall of Nations (การเติบโตและล่มสลายของชาติต่างๆ)

ชาร์มายืนยันว่า ทุกประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ระดับโลกที่ชะลอการเติบโต ต้องทำใจว่าการเติบโตในยุคนี้จะช้ากว่าในอดีต เขายกตัวอย่างว่า เศรษฐกิจจีนโตได้ปีละ 5% ก็หรูแล้ว ควรเลิกตั้งเป้าว่าจะโตได้ปีละ 7% หรือมากกว่านั้น ส่วนประเทศพัฒนาแล้วก็ควรจะลดความคาดหวังจาก 3% ต่อปี ลงมาเหลือ 1.5% ต่อปีก็พอ

ในขณะเดียวกัน ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายในยุคนี้ได้ แต่จะต้องเริ่มจากการพลิกโลกทัศน์ เลิกยึดติดในบรรทัดฐานหรือตัวชี้วัดเดิมๆ ที่เคยใช้วัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

เพราะตัวชี้วัดเหล่านั้นเริ่มใช้การไม่ได้แล้ว!

ชาร์มาขมวดปัจจัยต่างๆ ที่กำลังทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเป็นตัวย่อ “4Ds” อันประกอบด้วย

  • de-globalization : การชะลอตัวของการค้าโลกและการไหลเวียนของทุน
  • de-population : การเติบโตที่ช้าลงมากของประชากรวัยทำงาน ประกอบกับการมาเยือนของสังคมผู้สูงอายุ
  • deleveraging : ความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะจีน) จะต้องเริ่มทยอยใช้หนี้รวมกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่กู้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2008
  • de-democratization : กระแสที่ประชาชนหลายประเทศเริ่มสนับสนุนผู้นำแบบเผด็จการหรือรวบอำนาจ เพราะฝากความหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ ซึ่งงานวิจัยของชาร์มาชี้ว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เท่านั้น เพราะการปกครองแบบรวบอำนาจกลับเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะขาดเสถียรภาพ เมื่อผู้นำพยายาม ‘บังคับ’ ให้เศรษฐกิจโตสูงๆ เร็วๆ โดยไม่วางรากฐานที่ยั่งยืนและเปิดกว้าง

 

ในยุค 4Ds เช่นนี้ หนังสือ The Rise and Fall of Nations เสนอ “กฎจำง่าย” หรือ rules of thumb สิบข้อ ที่ชาร์มาบอกว่ากลั่นจากภูเขางานวิจัยและสกัดจากตัวแปรทางเศรษฐกิจนับพัน และยืนยันว่าเขาเองใช้ทั้งสิบข้อนี้ในการประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศว่า น่าจะ “ดี” “เลว” หรือ “น่าเกลียด” (Good / Bad / Ugly) ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า (ชาร์มาบอกว่า ไม่มีใครประเมินอนาคตในอีก 20-30 ปีได้หรอก เสียเวลาถ้าจะพยายาม)

1. ประชากรศาสตร์

ประชากรในประเทศนั้นๆ กำลังเติบโตอยู่หรือเปล่า?

ยากมากที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีถ้าหากจำนวนประชากรวัยทำงานไม่ขยายตัวด้วย เพราะเศรษฐกิจย่อมเดินด้วยคน งานวิจัยของชาร์มาชี้ว่า ถ้าหากประชากรวัยทำงานขยายตัวไม่ถึง 2% ต่อปี เศรษฐกิจจะเติบโตได้เกิน 6% ต่อปีเพียงหนึ่งในสี่ของกรณีทั้งหมด วัดจากทุกประเทศที่ผ่านมา

วันนี้มีเพียงสองประเทศในโลกเท่านั้น นั่นคือ ซาอุดิอาระเบียกับไนจีเรีย ที่ประชากรวัยทำงานเติบโตปีละมากกว่า 2%  ส่วนในประเทศที่ประชากรวัยทำงานกำลังหดตัว มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีก็เติบโตเฉลี่ยเพียง 1.5% ต่อปีเท่านั้น

การหดตัวหรือชะลอตัวของประชากรวัยทำงาน ประกอบกับการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ แปลว่าประเทศต่างๆ จำเป็นจะต้องต้อนรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ

2. พฤติกรรมของมหาเศรษฐี

มหาเศรษฐีในประเทศนั้นๆ ร่ำรวยเพราะผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าจริงๆ หรือว่ารวยขึ้นมาได้เพราะอาศัยเส้นสายเป็นหลัก?

ชาร์มาบอกว่าเขาเอาข้อมูลอย่างเช่นรายนาม “มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก” ของนิตยสาร Forbes มาคำนวณสัดส่วนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีต่อจีดีพี และสัดส่วนของความมั่งคั่งมหาเศรษฐีแต่ละรายที่มาจากเงินมรดกและอุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อคอร์รัปชัน เช่น อุตสาหกรรมที่พึ่งพิงสัมปทานจากรัฐเป็นหลัก

ทั้งหมดนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงที่ความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่กระแสประท้วงทางการเมืองขนานใหญ่ เพราะความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีมีแนวโน้มสูงสุดที่จะทำให้คนโกรธแค้น เมื่อมันกำลังเติบโต (ในแง่สัดส่วนต่อจีดีพี) โดยมีสาเหตุจากมรดกหรือเส้นสายความสัมพันธ์ทางการเมือง มากกว่าความสามารถในการผลิตสินค้าหรือบริการเจ๋งๆ

3. คำสาปของการขึ้นหน้าปก

ประเทศนั้นๆ ถูกโหมประโคมว่ากำลังมาแรงหรือเปล่า?

ชาร์มาบอกว่า เขาสังเกตว่าการกระพือข่าวของสื่อ เช่น การที่ประเทศบางแห่งหรือผู้นำบางคนได้ขึ้นหน้าปกของนิตยสาร TIME ในเชิงยกย่อง มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนสู่ความซบเซา

เขาอธิบายว่า ถ้าหากประเทศใดประเทศหนึ่งเติบโตได้ดีต่อเนื่องเกือบครบห้าปี เราก็ควรจะมองว่าวงจรการเติบโตกำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุด (โตช้าลงก่อนที่จะพยายามโตเร็วรอบต่อไป) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากคิดไปเองว่าความเข้มแข็งจะต่อยอดความเข้มแข็ง ยาหอมที่พวกเขาโปรยให้กับเศรษฐกิจในช่วงบูม … ทำให้ผู้นำประเทศเหล่านั้นเกิดความชะล่าใจ เลิกผลักดันการปฏิรูป พยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่าที่ประเทศจะรองรับได้”

4. ภาวะเฟ้อของราคาสินทรัพย์ 

ราคาสินทรัพย์เฟ้อหรือเปล่า?

ความกลัวว่าจะเกิดเงินฝืดอาจเบี่ยงเบนความสนใจของรัฐบาลออกจากตัวชี้วัดที่แท้จริงของภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ภาวะเฟ้อของราคาสินทรัพย์ (asset price inflation)

วันนี้เรามีข้อพิสูจน์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ภาวะฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์สัมพันธ์กับภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ชาร์มาชี้ว่า “ธนาคารกลางสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศกำลังไม่แยแสอันตรายจากภาวะราคาสินทรัพย์เฟ้อ ไปให้ความสำคัญกับภัยคุกคาม [เงินฝืด] ซึ่งอาจไม่มีอยู่จริง”

5. หนี้เทียบกับรายได้

หนี้ภาคเอกชนกำลังโตเร็วกว่าเศรษฐกิจหรือเปล่า?

งานวิจัยของชาร์มาชี้ว่า ยิ่งหนี้เอกชนเติบโตเร็วและนานเพียงใด โดยเฉพาะถ้าหนี้โตเร็วกว่าเศรษฐกิจ (พูดง่ายๆ คือ สร้างหนี้เร็วกว่าสร้างรายได้) แนวโน้มและขนาดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเพียงนั้น

ถ้าหากหนี้เอกชนในแง่สัดส่วนต่อจีดีพีเติบโตเพียง 15% ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั้งประเทศก็จะโตช้าลงเฉลี่ยปีละ 1% ในอีกห้าปีข้างหน้า และถ้าหากสัดส่วนหนี้เอกชนต่อจีดีพีโตถึง 25% ตลอดระยะเวลาห้าปี เศรษฐกิจในอีกห้าปีข้างหน้าก็จะเผชิญกับภาวะถดถอยค่อนข้างรุนแรงและอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

จีนคือประเทศที่มีความเสี่ยงในแง่นี้สูงสุด

6. กฎเมืองใหญ่อันดับสอง

เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศใหญ่กว่าเมืองอื่นมากหรือเปล่า?

ในประเทศขนาดปานกลาง เมืองหลวงโดยทั่วไปจะมีประชากรมากกว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองไม่ถึงสามเท่า ประเทศอย่างเช่นประเทศไทยซึ่งเป็น “เมืองโตเดี่ยว” นั่นคือ เมืองหลวงใหญ่กว่าเมืองอื่นมาก เผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดการลุกฮือของประชากรในชนบท ที่ไม่พอใจกับความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมของการพัฒนาแบบกระจุกตัว สูงกว่าประเทศอื่น

7. เฝ้าดูคนท้องถิ่น

คนกำลังโอนเงินออกนอกประเทศมากไหม?

ชาร์มาบอกว่า คนมักจะคิดว่าวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนเกิดจากการถอนทุนกะทันหันของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนในประเทศนั้นๆ (ที่พอมีฐานะ) เองนั่นแหละที่จะย้ายเงินออกนอกประเทศก่อนเมื่อเห็นท่าไม่ดี เพราะคนในประเทศย่อมรู้ดีกว่าคนนอกว่าสถานการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร (ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจหรือการเมือง เรื่องที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ ฯลฯ) ฉะนั้น นักลงทุนที่ชาญฉลาดจึงต้องเฝ้าดูสถิติการไหลออกของเงินทุนในประเทศ

8. ภาวะ ‘ผู้นำบูด’ (stale leaders)

ผู้นำผลักดันการปฏิรูปจริงๆ หรือเพียงแต่พยายามรักษาอำนาจ?

ชาร์มาสังเกตว่า การปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่ได้ผลมักจะเกิดขึ้นในการทำงานสมัยแรกของผู้นำมากกว่าสมัยที่สอง และในช่วงที่ประเทศต้องดิ้นรนหาทางออกจากวิกฤต ประชาชนและผู้นำทางการเมืองก็มักจะยินดีต้อนรับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่มีราคาแพง มากกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังไปได้สวย

เขาเสริมด้วยว่า คนมักจะไม่เข้าใจว่า ในเศรษฐกิจโลกที่การแข่งขันสูงมาก ทุกประเทศจำเป็นจะต้องปฏิรูปตลอดเวลา

9. การลงทุนที่ดี vs. ไม่ดี

การลงทุนส่วนใหญ่เพิ่มผลิตภาพหรือเปล่า?

เราวัดผลลัพธ์จากฟองสบู่การลงทุนได้จากการดูว่ามันทิ้งอะไรไว้บ้าง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มักจะทิ้งบ้านร้างและครอบครัวหนี้ท่วมจำนวนมากเมื่อมันผ่านพ้นไป ส่วนฟองสบู่อุตสาหกรรมการผลิตหรือเทคโนโลยีทิ้งสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นคืนชีพ

ไม่ใช่ว่าทุกฟองสบู่เลวเท่ากัน การลงทุนก็มี “ดี” และ “เลว” เช่นกัน

10. ถูกคือดี แต่ต้องมีรากฐาน

ชาร์มาชี้ว่าตัวชี้วัดทางเทคนิคของค่าเงินนั้นถูกบิดเบือนหรือตกแต่งได้ง่ายมาก นักลงทุนจึงต้องใช้ “ความรู้สึก” ของตัวเองประกอบเพื่อจะบอกว่าค่าเงินของแต่ละประเทศถูกหรือแพง ไม่ว่าจะตอนที่ไปซื้อกาแฟ หรือซื้อกิจการของบริษัทในประเทศก็ตาม

และต่อให้ประเมินแล้วว่ามัน “ถูก” การลงทุนจะดีก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆ มีฐานการผลิตที่ดีแล้วเท่านั้น เพราะของถูกไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป.

MOST READ

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save