fbpx
The Innovation Blind Spot

The Innovation Blind Spot

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

วันนี้หันไปทางไหนก็ได้ยินแต่คำว่า บิ๊กดาต้า นวัตกรรม สตาร์ทอัพ แอพพลิเคชั่น ยูนิคอร์น มิพักต้องพูดถึงรัฐบาลเผด็จการที่พยายามชู “ไทยแลนด์ 4.0” ดิจิทัลอีโคโนมี สมาร์ทซิตี้ ฯลฯ เป็นทิศทางการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจไทยในยุคนี้ บอกว่าเราต้องมีสปิริตของผู้ประกอบการ กล้าคิดกล้าทำ ลองผิดลองถูก แต่ยังเดินหน้าใช้อำนาจแบบรัฐบาล 0.4 ข่มขู่-คุกคาม-ควบคุม ใครวิจารณ์เผลอๆ ถูกหาว่าเป็นภัยความมั่นคง ไม่รักชาติ ดังนั้นหุบปากปลอดภัยดีกว่า ช่างเถอะสปิริตอะไรนั่น

สังคมไทยตื่นตัวเรื่องความสำคัญของ “นวัตกรรม” มากขึ้นก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขที่สะท้อนระดับนวัตกรรมในไทย ไม่ว่าจะเป็นสถิติการจดสิทธิบัตร สัดส่วนค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือรูปธรรมง่ายๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พูดได้อย่างเต็มปากว่ามีนวัตกรรม ไม่ใช่แค่เป็นสินค้ารุ่นใหม่ที่ต่อยอดจากของเก่า ก็ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก่อให้เกิดคำถามว่า เราจะสร้าง “สภาพแวดล้อม” ที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างไร

ผู้เขียนคิดว่าคำตอบของคำถามนี้มีหลายส่วนประกอบกัน รากฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้คือคนในสังคมทุกคนจะต้องมีเสรีภาพทางความคิด ผู้ประกอบการจะต้องได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่าง “เหมาะสม” คือลงโทษคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกันก็ไม่บั่นทอนแรงจูงใจที่คนอื่นจะนำไปใช้ต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ค่านิยมบางอย่างในสังคมก็ควรปรับเปลี่ยนให้ทุกคนกล้าลองผิดลองถูกมากขึ้น เช่น หันมามองความล้มเหลวว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ไปรุมถล่มซ้ำเติมหรือหัวเราะเยาะคนที่ล้มเหลว ชื่นชมแต่คนส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จ (หลังจากที่เขาหรือเธอล้มเหลวและถูกซ้ำเติมมาแล้ว)

ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไทย อุปสรรคอีกประการหนึ่งซึ่งกีดกันการพัฒนานวัตกรรม แต่หลายคนยังมองไม่เห็น คือ การที่นักลงทุนในกิจการเกิดใหม่ หรือ venture capitalist (นิยมย่อว่า VC) ซึ่งเป็นหัวจักรที่ขาดไม่ได้ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและนวัตกรรมใหม่ๆ แทบทุกคนมาจากพื้นเพครอบครัวเศรษฐีหรือชนชั้นกลาง มีแนวโน้มที่จะได้ยินและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยคนในแวดวงเดียวกัน มีพื้นเพคล้ายกัน มากกว่าผู้ประกอบการจากครอบครัวที่ยากจนกว่า ด้อยโอกาสกว่า มีการศึกษาต่ำกว่า หรือเพียงแต่มาจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่ “ประเทศกรุงเทพ”

ดังนั้น ยิ่งนักลงทุนเน้น “know who” มากกว่า “know how” ก็สุ่มเสี่ยงที่พวกเขาจะสนับสนุนเฉพาะแต่สตาร์ทอัพที่ต่อให้คิดค้นนวัตกรรมได้ นวัตกรรมนั้นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริงของประเทศ ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่รุนแรงเร่งด่วนที่สุด และอาจช่วยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ แทนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ

คำถามก็คือ องคาพยพทั้งหลายที่สนับสนุนนวัตกรรม โดยเฉพาะนักลงทุน ควรเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีลงทุนอย่างไร ให้มองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม เพิ่มโอกาสที่เราจะได้เห็นนวัตกรรมซึ่ง “ตอบโจทย์” สังคมอย่างแท้จริง?

ผู้เขียนพบคำตอบในหนังสืออ่านสนุกและได้ความรู้มากมายชื่อ The Innovation Blind Spot (จุดบอดนวัตกรรม) เขียนโดย รอสส์ เบียร์ด (Ross Baird) นักธุรกิจและ venture capitalist ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่แตกต่างจากไทยตรงที่มีเสรีภาพทางความคิดสูงลิ่ว (บางคนบอกว่าสูงเกินไป) แต่ก็คล้ายกับไทยตรงที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจสูงมาก และเบียร์ดบอกว่าเป็นสังคมที่ “เศรษฐกิจนวัตกรรมล้มเหลว” เพราะมีความคิดดีๆ มากเกินไปที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน

เบียร์ดเป็นคนที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ ในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทลงทุนชื่อ Village Capital บริษัท VC ส่วนน้อยที่พยายามสนับสนุนผู้ประกอบการที่พยายามแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของโลกในห้าสาขา ได้แก่ การเงินส่วนบุคคล การศึกษา สุขภาพ พลังงาน และเกษตรกรรม

นับจากวันก่อตั้งในปี 2009 ถึงกลางปี 2017 บริษัทนี้สนับสนุนกิจการเกิดใหม่ไปแล้วกว่า 70 แห่ง รวมกันมีอัตราการอยู่รอดร้อยละ 90 สร้างงานกว่าหนึ่งหมื่นตำแหน่ง สร้างประโยชน์ให้คนกว่า 6 ล้านคน ระดมทุนได้มากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้รวมกันกว่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่น่าสนใจคือ ในบรรดากิจการเกิดใหม่ที่ Village Capital เข้าไปลงทุน กว่าร้อยละ 40 มีผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้ง ร้อยละ 90 ของกิจการตั้งอยู่นอก “เขตฮ็อต” สามมลรัฐในอเมริกาที่ดึงดูดเงิน VC ราวร้อยละ 80 ของเงินลงทุนทั้งประเทศ นั่นคือ นิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ และแคลิฟอร์เนีย และร้อยละ 20 ของกิจการมีผู้ก่อตั้งที่ไม่ใช่คนผิวขาว

ใน The Innovation Blind Spot เบียร์ดบอกว่า วงการ VC ไม่สนับสนุนผู้ประกอบการที่เปี่ยมนวัตกรรมจริงๆ มากพอ เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้หลายคนไม่เข้าข่ายเกณฑ์ที่จะผ่านการพิจารณาของ VC หรือแม้แต่ทำให้ VC มองเห็น

เกณฑ์เหล่านี้สรุปง่ายๆ ได้ว่า เป็นผู้ชาย เป็นคนผิวขาว มีคอนเน็คชั่นที่ถูกต้อง ใช้ชีวิตค่าครองชีพแพงในซิลิคอน วัลเลย์ (หรือถ้ายังไม่อยู่ที่นั่น ก็จงย้ายเข้ามาในนี้) และแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของ VC เอง ซึ่งมักจะไม่ใช่ปัญหาของสังคม

เบียร์ดบอกว่า เกณฑ์การลงทุนที่ไม่ควรจะเป็นเกณฑ์เหล่านี้กลายเป็น “อุปทานหมู่” หรือ groupthink ซึ่งทำให้ VC พลาดไอเดียที่เจ๋งจริงๆ หลายอัน อุปาทานนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันด้านเวลา ในแต่ละปีบริษัท VC ในสหรัฐโดยเฉลี่ยฟังการนำเสนอแผนธุรกิจกว่า 1,200 กิจการ เพียงเพื่อจะตัดสินใจลงทุนเพียง 10 แห่งหรือน้อยกว่านั้น

เบียร์ดอธิบายว่า Village Capital พยายามหลีกเลี่ยงอุปาทานหมู่ที่ว่านี้ด้วยหลายวิธีประกอบกัน ยกตัวอย่างเช่น เขาบอกว่าคนที่สามารถให้ความเห็นต่อผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มต้น ไม่ใช่นักลงทุน VC แต่เป็นผู้ประกอบการด้วยกันเอง คล้ายกับกระบวนการให้เพื่อนนักวิชาการทบทวนงานวิจัย หรือ peer review ในวงการวิชาการ เพราะผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะมองแบบ “คาดการณ์” (forecast) ไปในอนาคต (“ถ้ามีทรัพยากรมากพอ กิจการของเธอจะไปได้ไกลแค่ไหน”) แต่นักลงทุนคุ้นชินกับการมองแบบ “ประเมิน” (assess) ซึ่งตั้งอยู่บนกรอบคิดแบบเดิมๆ แบบแผนเดิมๆ ที่เคยรับรู้ในอดีต (“กิจการของเธอเหมือนหรือคล้ายกับกิจการที่ฉันเคยรู้จักอันไหนบ้างหรือเปล่า”) ดังนั้นจึงไม่เอื้อต่อการสนับสนุนนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมโดยนิยามย่อมต้อง “ใหม่เอี่ยม” ถึงขั้นที่ยกระดับผลิตภาพได้

ในเมื่อการมองแบบ “คาดการณ์” ดีกว่ามองแบบ “ประเมิน” มาก Village Capital จึงใช้วิธีให้ผู้ประกอบการด้วยกันที่อยากได้รับทุนสนับสนุนมาให้คะแนนซึ่งกันและกัน สตาร์ทอัพสองแห่งที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับทุนเริ่มต้นจากบริษัท ที่สำคัญกว่านั้นคือ เบียร์ดอธิบายว่า Village Capital ใช้วิธีคิดแบบ “กระเป๋าเดียว” (one-pocket thinking) นั่นคือ เน้นการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ตั้งเป้าว่าจะมีส่วนแก้ปัญหาใหญ่ของสังคมและมีความยั่งยืนทางการเงินไปพร้อมกัน เพราะเขาเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมที่เจ๋งจริงๆ นั้นคือนวัตกรรมที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอะไรสักอย่าง

เบียร์ดบอกว่า VC ที่คิดแบบเขายังมีน้อยมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ในโลกนี้ยังคิดแบบ “สองกระเป๋า” (two-pocket thinking) นั่นคือ เวลาลงทุนก็เน้นทำกำไรสูงสุด ไม่สนใจผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เสร็จแล้วตัวเองก็หันไปบริจาคเงินจากกระเป๋า “เพื่อสังคม” ที่ไม่สนใจความยั่งยืนทางการเงิน ทั้งที่นักลงทุนทั้งหมดควรหันมาคิดแบบ “กระเป๋าเดียว” ได้แล้ว เพราะวิธีคิด “สองกระเป๋า” ด้อยประสิทธิภาพและสุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้ปัญหาต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก (จากผลกระทบที่เกิดจากกระเป๋า “ทำกำไรสูงสุด”)

หลังจากที่เขาอธิบายวิธีคิด “กระเป๋าเดียว” และหลักการเลือกการลงทุนแบบ “ให้ผู้ประกอบการเลือกกันเอง” อย่างสนุกสนานและยกตัวอย่างผู้ประกอบการจริงๆ หลายกรณี เบียร์ดก็อธิบายโมเดลการลงทุนที่เน้นผลลัพธ์(ทางสังคม)อย่างน่าสนใจ เช่น หยิบยก Access Ventures เป็นตัวอย่างว่านักลงทุนจะเน้นการวัดผลตอบแทนทางสังคมข้ามประเภทสินทรัพย์ (asset class) และปลูกฝังระบบนิเวศการลงทุนทั้งระบบได้อย่างไรบ้าง

ตัวอย่างที่ผู้เขียนคิดว่าสนุกที่สุดและได้ความรู้ดีที่สุดในหนังสือ คือตอนที่เบียร์ดถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของเขาจากการปลุกปล้ำ Village Capital มานานกว่าแปดปี ในตอนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมาก เบียร์ดอธิบายกลไก VIRAL (ย่อมาจาก Venture Investment Readiness and Awareness Level) ซึ่งบริษัทของเขาใช้ในการทลาย “กำแพงการสื่อสาร” ระหว่างนักลงทุนกับผู้ประกอบการ

เบียร์ดบอกว่า กำแพงการสื่อสารที่ว่านี้เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุน VC “เหนื่อย” จากแรงกดดันด้านเวลาที่กล่าวถึงตอนต้น ความที่วันๆ ต้องฟังการนำเสนอแผนธุรกิจจากผู้ประกอบการหลายคน ปีหนึ่งนับได้เกินพัน นักลงทุน VC จึงพยายามหา “ทางลัด” ทางความคิดที่จะช่วยแยกแยะระหว่างไอเดียที่ตัวเองคิดว่าไม่น่าสนใจ กับไอเดียที่คิดว่ามีนวัตกรรม และทางลัดเหล่านี้ก็ทำให้การปฏิเสธผู้ประกอบการไม่ค่อยช่วยอะไรเขาเลย เช่น VC อาจปฏิเสธด้วยการพูดว่า “ชอบนะไอเดียคุณ แต่มันยังเป็นวุ้นเกินไป” หรือ “กลับมาคุยกับเราใหม่นะถ้าหากผลิตภัณฑ์ของคุณตอบโจทย์ตลาดได้แล้ว” หรืออะไรทำนองนี้

ทางลัดเหล่านี้คล้ายกับข้อความ SMS ทางมือถือ นั่นคือ คนรับอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร และมันก็ไม่ใช่ “การสื่อสาร” ที่ควรเป็น ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่พอออกจากห้องประชุมมาแล้วก็ไม่เข้าใจว่าควรไปทำอะไรต่อ ควรปรับปรุงกิจการตรงไหนอย่างไร อะไรที่จะทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มจะพูดว่า “ตกลง” ถ้ากลับมาคุยใหม่

เบียร์ดเล่าว่า ปัญหาการสื่อสารนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ลาสโล บ็อก (Laszlo Bock) อดีตหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่กูเกิล เรียกปัญหานี้ว่า “ปัญหาสีฟ้า” เพราะการรับรู้ “สี” เป็นเรื่องอัตวิสัย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาที่เราเห็นว่าสีนี้เป็นสี “ฟ้า” มันคือฟ้าเฉดเดียวกันกับที่คนอื่นกำลังมองเห็นเป๊ะ ในทำนองเดียวกัน คำว่า “ยังเป็นวุ้นเกินไป” อาจมีความหมายหนึ่งในความคิดของผู้ประกอบการ อีกความหมายในความคิดของนักลงทุน คำอื่นๆ อย่าง “ผลิตภัณฑ์ของคุณตอบโจทย์ตลาดได้” และ “ขนาด” (scale) ก็เหมือนกัน

กลไก VIRAL ของ Village Capital แก้ “ปัญหาสีฟ้า” ด้วยการออกแบบ “กรอบคิด” ที่ช่วยให้นักลงทุน VC และผู้ประกอบการพูดภาษาเดียวกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ประกอบการเข้าใจตัวเองมากขึ้นและอธิบายได้ชัดขึ้นว่าพร้อมรับการลงทุนหรือไม่อย่างไร ส่วนนักลงทุนก็สามารถสื่อสารได้ชัดขึ้นว่าอยากลงทุน ณ จุดไหน

เบียร์ดเล่าว่าการพัฒนากลไกนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากนาซ่า (NASA) ซึ่งเจอปัญหาคล้ายกันเวลาประเมินระดับความพร้อมของเทคโนโลยี แทนที่จะพูดว่า “เทคโนโลยีรุ่นบุกเบิก” นาซ่าจะใช้คำว่า “ระดับ 3” หรือ “ระดับ 9” แทน ในทำนองเดียวกัน VIRAL อธิบายเก้าระดับที่กิจการเกิดใหม่ต่างๆ ต้องผ่านตลอดชั่วอายุขัยของบริษัท รวมถึง “หมุดหมายสำคัญ” (milestone) ด้านทีมงาน ผลิตภัณฑ์ แบบจำลองทางธุรกิจ ฯลฯ วิธีนี้ทำให้ผู้ประกอบการกับนักลงทุนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และผู้ประกอบการก็พัฒนากิจการได้ดีขึ้น

 

 

The Innovation Blind Spot เป็นหนังสืออ่านสนุกที่ผู้เขียนคิดว่า “ควรอ่าน” สำหรับทุกคนที่สนใจนวัตกรรม และ “ต้องอ่าน” สำหรับผู้ที่มีบทบาทสนับสนุนนวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพโดยตรง ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพราะนอกจากจะฉายภาพ “จุดบอด” ในวงการ VC ได้อย่างชัดเจนแล้ว เบียร์ดยังนำเสนอกรณีศึกษาและข้อมูลมากมายมาชี้ว่า การพัฒนา “ระบบนิเวศของผู้ประกอบการ” จำเป็นจะต้องเกิดนอกเมืองใหญ่ที่ดูดทรัพยากรเยอะที่สุด และเราจะต้องหาทางปิด “จุดบอด” ของการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การเปลี่ยนวิธีคิดจาก “สองกระเป๋า” มาเป็น “กระเป๋าเดียว”

ถ้าหากเราอยากจะก้าวเดินบนถนนสู่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างทั่วถึง (inclusive) และยั่งยืน (sustainable) อย่างแท้จริงในศตวรรษนี้.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save