fbpx
นิทานฝันร้าย The Handmaid’s Tale

นิทานฝันร้าย The Handmaid’s Tale

‘นรา’ เรื่อง

 

ในการประกาศผล Emmy Awards ครั้งล่าสุด ซีรีส์เรื่อง The Handmaid’s Tale ประสบความสำเร็จกวาดไปถึง 8 สาขาสำคัญ รวมถึงซีรีส์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา ซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งดังๆ อย่าง Better Call Saul, The Crown, House of Cards, Stranger Things, This is Us และ Westworld

The Handmaid’s Tale ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันปี 1985 ผลงานของมาร์กาเร็ต แอตวูด ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น และได้รางวัลไปหลายสถาบัน โดยเฉพาะรางวัลใหญ่อย่าง Booker Prize เมื่อปี 1986 จนถึงปัจจุบันงานเขียนชิ้นนี้ก็ขึ้นหิ้งวรรณกรรมคลาสสิคร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

The Handmaid’s Tale เคยนำมาสร้างเป็นหนังแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 1990 โดยโวลเกอร์ ชโรนดอฟฟ์ (หนึ่งในผู้กำกับที่มีบทบาทสำคัญกับการสร้างปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า New German Cinema ร่วมกับ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์, แวร์เนอร์ แฮร์โซค และวิม เวนเดอส์)

ชื่อชั้นและเครดิตเก่าก่อนของชโรนดอฟฟ์ โดยเฉพาะจากเรื่อง The Tin Drum (1979) ซึ่งถ่ายทอดนิยายของกุนเทอร์ กราสนักเขียนรางวัลโนเบล ออกมาเป็นหนังได้อย่างยอดเยี่ยมใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมมาก ก็ส่งผลให้ The Handmaid’s Tale กลายเป็นที่งานที่ถูกคาดหวังสูงจากผู้ชม แต่แล้วก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน

ปัญหาหลักๆ ของ The Handmaid’s Tale ฉบับปี 1990 คือ มีเวลาและความยาวไม่มากพอจะเก็บรักษารายละเอียดต่างๆ ในตัวนิยาย ส่งผลให้ขาดความลึกและความน่าเชื่อถือ กลายเป็นเรื่องแนวไซ-ไฟแฟนตาซีดาดๆ ทั่วไป ขณะเดียวกันตัวชโรนดอฟฟ์เองก็ไม่ได้มีพื้นฐานความถนัดในการทำหนังเน้นความบันเทิงอยู่ก่อนแล้ว ผลลัพธ์ของหนังจึงออกมาล้มเหลวรอบด้าน

ในการเขียนเล่าสู่กันฟังถึงซีรีส์เรื่อง The Handmaid’s Tale ผมมีข้อจำกัดใหญ่ๆ อยู่ 2 ประการที่ควรออกตัวดังเอี้ยดไว้ล่วงหน้า อย่างแรกคือ ผมยังไม่เคยได้อ่านนิยายที่เป็นต้นเรื่องเดิม ทำให้มองไม่เห็นภาพรวมและไม่สามารถเทียบเคียงความเหมือน-ความต่างในการดัดแปลงจากสื่อแขนงหนึ่งไปสู่อีกแขนงหนึ่ง

อุปสรรคต่อมา ซีรีส์เรื่องนี้เพิ่งสร้างออกมาแค่ซีซั่นเดียว แม้จะเรื่องราวเหตุการณ์จะคลี่คลายจบลงในตัวประมาณหนึ่ง แต่ประเมินจากเงื่อนปมต่างๆ ที่ทิ้งค้างไว้ ผมคาดเดาว่าน่าจะยังสร้างได้อีกราวๆ 3-4 ซีซั่น เป็นอย่างต่ำ (จำนวนปีจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเรทติงความนิยมด้วยนะครับ)

การดูเพียงแค่ซีซั่นเดียว ถ้าหากจะพูดถึงในแง่ข้อดีข้อด้อยของเนื้องานหรือคุณภาพความบันเทิง ก็ไม่สู้จะมีปัญหาสักเท่าไร แต่หากจะลงลึกสู่รายละเอียดเนื้อหาสาระ นับเป็นเรื่องยากและเข้าข่ายคล้ายๆ ศัพท์ฟุตบอลที่ว่า ‘เข้าพรวด’ โอกาสผิดพลาดมีสูงยิ่ง

กรณี The Handmaid’s Tale ยังมีเหตุทำให้ยากในการ ‘จับใจความ’ เพิ่มขึ้นไปอีก นั่นคือ ตัวซีรีส์ใช้วิธีเล่าเหตุการณ์ปัจุบันเป็นเส้นเรื่องหลัก และแทรกสลับด้วยช่วงอดีต (ครอบคลุมเวลาประมาณ 10 ปี) อยู่เป็นระยะๆ บางครั้งก็เพื่อทำหน้าที่เปรียบเทียบ บางครั้งเพื่อผลในการสั่นสะเทือนอารมณ์ แต่การปรากฏของภาพอดีตส่วนใหญ่ ก็เพื่อบอกเล่าต่อผู้ชมให้ทราบถึงต้นเหตุที่มาของสภาพสังคมตามท้องเรื่องและชะตากรรมของตัวละครว่า ‘เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง’

สิ่งที่ทำให้ยากก็เนื่องมาจากช่วงที่เล่าย้อนอดีตนั้น ไม่ได้นำเสนอออกมาเป็น 1 2 3 ตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้น แต่กระโดดข้ามสลับไปมาอย่างเป็นอิสระ เหมือนค่อยๆ ต่อชิ้นส่วนตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ภาพที่เห็นจึงกระจัดกระจายไม่ครบถ้วน ยังคงต้องรอการเติมให้เต็มในซีซั่นต่อๆ ไป

ยกตัวอย่างเช่น ผมมีข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับตัวละครชื่อมอยร่า ซึ่งตลอดทั้งซีซั่นแรก จากสิ่งที่ผู้ชมรู้เห็น เธอไม่ควรจะเจอะเจอเรื่องเลวร้ายเช่นเดียวกับนางเอก แต่ตรงนี้ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า ในปีต่อๆ ไปคงจะต้องมีคำอธิบาย (มิฉะนั้นจะกลายเป็นจุดอ่อนความเลินเล่อในการเขียนบททันที)

อย่างไรก็ตาม ‘ความยาก’ ข้างต้นนั้น หมายถึงเฉพาะการทำความเข้าใจถึง ‘ที่มาที่ไป’ หรือ ‘เหตุการณ์ก่อนหน้า’ ซึ่งหนังเจตนาจะเล่าแบบให้ผู้ชมค่อยๆ ปะติดปะต่อทีละนิด ขณะที่จุดใหญ่ใจความหลักคือ เหตุการณ์ปัจจุบัน ใช้วิธีเล่าตามปกติ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างไร

The Handmaid’s Tale เป็นเรื่องจินตนาการถึงโลกอนาคตอันใกล้ในแบบที่เรียกกันว่า distopian fiction หรือ ‘โลกที่ไม่พึงปรารถนา’ สะท้อนถึงสังคมที่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่เลวร้ายย่ำแย่ในรูปแบบต่างๆ นานา และมักจะเกี่ยวโยงไปถึงการเมืองการปกครองระบอบเผด็จการแบบเข้มข้นสุดขั้ว มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในทุกด้าน มิหนำซ้ำยังเลยเถิดหนักข้อถึงขั้น ควบคุม ครอบงำ บีบบังคับไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยในการใช้ชีวิต คุณค่าความเป็นมนุษย์ถูกลดทอน จนเกือบๆ จะมีสภาพหรือมีความหมายเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองชิ้นส่วนเล็กๆ ของเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดมหึมา

วรรณกรรมและหนังเรื่องสำคัญและโดดเด่นๆ ในแนวทางนี้ก็เช่น 1984 ของจอร์จ ออร์เวล, Brave New World ของอัลดัส ฮักซ์เลย์, Farenheit 451 ของเรย์ แบรดบิวรี, Children of Men, THX 1138

อันที่จริงแล้วขอบเขตของ distopian fiction นั้นกว้างมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่า หนังไซ-ไฟและแฟนตาซีส่วนใหญ่ล้วนมีคุณสมบัติเข้าข่ายแทบทั้งสิ้น (หนังมหาฮิตอย่าง The Hunger Game ยังใช่เลยครับ)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันอย่างหลวมๆ และไม่เป็นทางการว่า งานในลักษณะ distopian fiction นั้น มักจะยึดถือเอาประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ปรากฏในเนื้องานเป็นเกณฑ์ชี้วัด รวมถึงความเข้มข้นหนักแน่นสมจริงในรายละเอียด และจินตนาการร้ายๆ ที่สั่นคลอนสร้างความสะพรึงกลัวให้แก่ผู้ชมจนถึงที่สุด

คุณสมบัติข้างต้นนั้นมีอยู่เต็มเปี่ยมครบครันใน The Handmaid’s Tales จนถือได้ว่าเป็น distopian fiction ที่โดดเด่นมากในระดับเดียวกับ 1984

The Handmaid’s Tale (ฉบับซีรีส์) เล่าถึงช่วงเวลาในอนาคตอันใกล้มาก ประชากรทั่วโลกเผชิญปัญหาร่วมกัน ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นหมัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถตั้งครรภ์ และจำนวนยิ่งน้อยลงไปอีกที่เมื่อคลอดแล้ว ทารกสามารถอยู่รอดและมีชีวิตเติบโต

ในสภาพเช่นนี้ สหรัฐอเมริกาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และรุนแรงยิ่งกว่าที่อื่นใด วิกฤตจากเศรษฐกิจตกต่ำ การก่อการร้าย และสารพัดปัญหา (ซึ่งหนังยังบอกเล่าข้อมูลไม่ครบ) ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งวางแผนยึดอำนาจ จนเกิดสงครามกลางเมือง และเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ พวกเขาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกีเลียด ล้มล้างทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เต็มไปด้วยกฎหมาย ข้อห้าม บทลงโทษ การแบ่งแยกจำแนกชนชั้นอย่างเข้มงวด เพศหญิง (ยกเว้นภรรยาของเหล่าผู้มีอำนาจ) โดนลดทอนบทบาทและถูกกดขี่ย่ำยีอย่างหนักหน่วง

 

 

ตัวเอกของเรื่องคือ หญิงสาวที่มีคุณสมบัติ ‘พิเศษ’ ในสังคมที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นหมัน เธอสามารถตั้งครรภ์ และเลี้ยงลูกให้เติบโตอยู่รอดปลอดภัย

เพราะคุณสมบัติเช่นนี้เอง เธอจึงตกเป็นเป้าการไล่ล่าต้องการตัว เธอกับสามีและลูกหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ถูกจับกุมตัวและนำส่งศูนย์ฝึกที่เรียกว่า เรดเซ็นเตอร์ ซึ่งมีสภาพกึ่งคุกกึ่งค่ายทหาร ส่วนสามีและลูกไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

เรื่องในปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ หญิงสาวถูกส่งตัวออกจากศูนย์ฝึกมาทำหน้าที่เป็น ‘แฮนด์เมด’ ในบ้านของผู้บัญชาการวอเตอร์ฟอร์ด และได้รับการเรียกขานแทนชื่อจริงว่า ‘ออฟเฟรด’ (แฮนด์เมดทุกคนจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าออฟ ต่อด้วยชื่อของเจ้านาย การตั้งชื่อนี้สะท้อนชัดถึงการทำให้ปราศจากตัวตนเดิม และเป็นเพียง ‘สมบัติของเฟรด’)

หน้าที่ของบรรดาแฮนด์เมด คือการทำงานรับใช้จิปาถะเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่เจ้านายจะสั่ง และการออกไปจ่ายตลาดเป็นประจำทุกวัน แต่หน้าที่หลักแท้จริงคือ การผลิตลูกให้กับบรรดาผู้มีอำนาจ โดยเรียกการมีเพศสัมพันธ์แบบจำยอมนี้ว่า การประกอบพิธีกรรม

 

 

เรื่องราวคร่าวๆ แบบผ่านข้ามไม่แตะต้องลงสู่รายละเอียดใน The Handmaid’s Tale ซีซั่น 1 เล่าถึงสภาพชีวิตเยี่ยงนักโทษ (หรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ จากการถูกกระทำราวกับไม่ใช่มนุษย์) ของออฟเฟรด จากจุดเริ่มต้นเธอจำยอมต่อทุกสิ่งเพียงเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย แต่แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเองและเพื่อนแฮนด์เมดคนอื่นๆ ก็ค่อยๆ ทำให้ออฟเฟรดเกิดความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย

เรื่องจบลงโดยความเลวร้ายภายนอกรอบๆ ตัวออฟเฟรด ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่คืบหน้าในทางบวกคือ การเติบโตของตัวละครที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้กับระบบ และการเปลี่ยนแปลงทางความคิดจิตใจ จากการเคยอยู่แบบซังกะตาย ตื่นกลัวและสิ้นหวัง มาเป็นความสงบเยือกเย็นและมีความหวัง

จุดเด่นประการแรกสุดของ The Handmaid’s Tale ก็คือ มีการเล่าเรื่องได้อย่างชวนติดตาม เด่นมากในเชิงดราม่า สะเทือนอารมณ์ สลับกับความเร้าใจอยู่ลึกๆ ทั้งในส่วนของการลุ้นระทึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับตัวละคร ควบคู่ไปกับการค่อยๆ ย้อนกลับไปเท้าความว่า ‘เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง’

ถัดมาคือ จินตนาการของผู้แต่งเรื่อง ซึ่งสร้างโลกสมมติติดลบออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เต็มไปด้วยรายละเอียด กฎ กติกามากมายสารพัดสารพัน ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย เครื่องแบบ พิธีกรรม ข้อห้ามและสิ่งที่ต้องปฎิบัติ

รายละเอียดเหล่านี้รองรับสนับสนุนการสร้างโลกสมมติออกมาได้อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ และให้อรรถรสเข้มข้นชวนติดตามมาก

เนื้อหาสาระคือส่วนที่แข็งแรงสุดใน The Handmaid’s Tale มันสะท้อนทั้งภาพเล็กระดับตัวบุคคลเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของสังคมวงกว้าง

 

 

ในระดับตัวบุคคล คือความเปลี่ยนแปลงและการลุกขึ้นสู้กับระบบของออฟเฟรด กว้างกว่านั้นคือ ภาพสะท้อนของสังคมภายใต้การปกครองโดยระบอบเผด็จการ ซึ่งนำเสนออย่างครอบคลุม ตั้งแต่จุดแรกเริ่มเมื่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่เสื่อมทรุดมากมายไปด้วยปัญหา ผู้คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และเลือกใช้ทางลัดผ่านการยึดอำนาจ จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรอย่างหักโหมแข็งกร้าว หยิบนำเอาคำสอนทางศาสนามาตีความหรือบิดเบือนเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย

แม้หนังจะไม่ได้เล่ากระจ่างชัด แต่ก็ส่อเค้าว่า กลุ่มยึดอำนาจน่าจะหยิบยกประเด็นเรื่องความเสื่อมทางด้านศีลธรรม เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหาและวิกฤตหลายๆ อย่างในสังคม และเมื่อช่วงชิงอำนาจสำเร็จ ก็ใช้ความเป็นรัฐเคร่งศาสนาที่ผ่านการตีความเข้าข้างตนเองเสร็จสรรพแล้ว เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับควบคุมผู้คน

สิ่งที่หนังสะท้อนต่อมาคือ กระทั่งในหมู่ผู้กุมอำนาจ ก็ยังไม่สงบนิ่งเป็นมิตรแท้ต่อกันไปเสียทีเดียว ยังมีการคุมเชิงมีการสอดแนม รอให้อีกฝ่ายพลาดพลั้งแล้วเล่นงาน เพื่อไต่เต้าตนเองสู่ตำแหน่งที่สูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นี่ยังไม่นับรวมการปราบปรามใช้กำลังต่อศัตรูทางการเมือง การปกครองโดยสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คน และที่ร้ายกาจน่าสะพรึงกลัวมาก คือ วิธีจำแนกแบ่งแยกชนชั้นออกเป็นลำดับขั้นต่างๆ มากมาย ยิ่งเป็นคนระดับล่างลงไปเท่าไร ก็ยิ่งเผชิญกับความกดขี่ไม่เป็นธรรม และตกเป็นฝ่ายถูกกระทำย่ำยีหนักข้อมากขึ้นเท่านั้น

ตรงนี้เชื่อมโยงเข้าสู่อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของนิยายและซีรีส์เรื่องนี้ นั่นคือ การสะท้อนให้เห็นถึงโลกที่มีการกดขี่ มีความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างถึงที่สุด และเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่บรรดาแฮนด์เมดไปจนถึงภรรยาของผู้มีอำนาจฝ่ายปกครอง

The Handmaid’s Tale เป็นงานที่สะท้อนปัญหาเหล่านี้อย่างกว้างขวางในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่การแสดงให้เห็นถึงผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นเพียงแค่วัตถุสำหรับบำบัดความใคร่ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสืบเผ่าพันธุ์ การเป็นข้าทาสรับใช้ และแม้กระทั่งในกลุ่มผู้หญิงที่เป็นชนชั้นสูง พวกเธอก็โดนจำกัดบทบาทลดทอนความสำคัญทางด้านหน้าที่การงาน โดนปิดกั้นการแสดงความสามารถ เป็นได้เพียง ‘ช้างเท้าหลัง’ ที่อยู่ในโอวาท

บทบาทของสตรีในThe Handmaid’s Tale เป็นการหยิบยกปัญหาสารพัดสารพันมาเล่าใหม่ ขยายความด้วยจินตนาการให้ติดลบเอามากๆ แต่ความยอดเยี่ยมก็คือ มันเป็นการมองโลกในแง่ร้ายที่ไปได้สุด และสามารถทำให้ผู้ชมย้อนกลับมาตรวจสอบไตร่ตรองถึงปัญหาเหล่านี้ที่มีอยู่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างเฉียบแหลมคมคาย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save