fbpx
นายทุนไทยในการเมือง: ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข

นายทุนไทยในการเมือง: ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะนักธุรกิจเข้าหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการปฏิรูปประเทศ การหารือดังกล่าวนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกลไกประชารัฐในเวลาต่อมา

ในทางหนึ่งอาจมองได้ว่า นายทุนนักธุรกิจเหล่านี้ทำไปด้วยความหวังดี และอยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า แท้จริงแล้ว ชนชั้นนายทุนมีจุดยืนต่อการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร?

เพื่อทำความเข้าใจจุดยืนของนายทุนไทยต่อการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราอาจย้อนไปศึกษาจุดยืนของนายทุนไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า นายทุนไทยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง จากที่เคยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงปี 2535-2540 กลับมาหันหลังให้ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2544 เป็นต้นมา

การตอบคำถามว่า เหตุใดนายทุนไทยจึงเปลี่ยนจุดยืนต่อประชาธิปไตย เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่า นายทุนเหล่านี้คือใคร และมีแรงจูงใจอะไรในการเข้าไปมีบทบาทในการเมือง

 

ความหลากหลายของนายทุน

 

ในภาพกว้าง นายทุนไทยในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

(1) นายทุนเก่า

นายทุนกลุ่มนี้ปรากฏตัวเด่นชัดในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐ ผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการอำนวยความสะดวกในการหาเงินกู้

ดังนั้น เพื่อสร้างอิทธิพลในการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน นายทุนเก่าจึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับข้าราชการ ทั้งโดยการแต่งตั้งข้าราชการเป็นบอร์ดในบริษัทและโดยการแต่งงาน ในขณะเดียวกัน นายทุนกลุ่มนี้ก็ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง นักการเมือง และหนังสือพิมพ์ด้วย ตัวอย่างธุรกิจของกลุ่มนายทุนเก่าขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น

(2) นายทุนท้องถิ่น

นายทุนกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจท้องถิ่นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการขยายถนนและระบบสาธารณูปโภคไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ นายทุนท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากการประกอบธุรกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่บางส่วนก็ประสบความสำเร็จจากธุรกิจสีเทา เช่น การค้าไม้

ด้วยเหตุนี้ นายทุนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์กับข้าราชการ เพื่อคุ้มครองธุรกิจของตน  ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 นายทุนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยหันมาเล่นการเมืองโดยตรง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จนสามารถกุมตำแหน่งข้างมากในคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ตัวอย่างของนายทุนท้องถิ่น เช่น ตระกูลศิลปอาชา ตระกูลเทียนทอง ตระกูลเทือกสุบรรณ

(3) นายทุนใหม่

นายทุนใหม่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงปลายทศวรรษ 2520 และต้นทศวรรษ 2530 ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตหรือสัมปทาน

ด้วยเหตุนี้ สายสัมพันธ์ทางการเมืองจึงเป็นเสมือนช่องทางลัดสำหรับการทำธุรกิจ บทบาททางการเมืองของนายทุนใหม่มีทั้งการเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง ผู้สนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยตรง ตัวอย่างนายทุนใหม่ที่มีอิทธิพลทางการเมือง เช่น ทักษิณ ชินวัตร (อดีตเจ้าของสัมปทานธุรกิจดาวเทียมไทยคมและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) และไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ (อดีตเจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์เครือบ้านฉางกรุ๊ป)

ข้อสังเกตสำคัญสองประการที่ได้จากการวิเคราะห์พัฒนาการของระบบทุนนิยมไทย คือ หนึ่ง ชนชั้นนายทุนไทยประกอบด้วยนายทุนหลายกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแตกต่างกัน และ สอง ความช่วยเหลือจากรัฐมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนไทย ส่งผลให้นายทุนไทยไม่เป็นอิสระจากรัฐ และพึ่งพิงความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อให้ธุรกิจเติบโต

 

ช่วงพัฒนาประชาธิปไตย: ต่างกลุ่ม ต่างบทบาท

 

ในช่วงปี 2535-2540 นายทุนจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริบทแวดล้อมของการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวจะพบว่า กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงนี้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าความต้องการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบการเมืองแบบตัวแทน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2534 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และกระแสสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น นายทุนไทยมิได้เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย นายทุนไทยจำนวนมากสนับสนุนรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 เนื่องจากนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาพลักษณ์มือสะอาดของนายอานันท์ ตลอดจนความรู้ความสามารถ และความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจของคณะรัฐมนตรีและตัวนายอานันท์เอง ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2535 นายทุนท้องถิ่นซึ่งเป็นนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคสามัคคีธรรมที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ รสช. เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อยืนยันได้อย่างดีว่า นายทุนไทยให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นายทุนขนาดใหญ่ก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งการออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งแรกโดยสมาคมธุรกิจ 3 สมาคมหลัก ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย (ฺBMS) เพื่อสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยในไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของการเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากการที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว[1]

กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย ปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นายทุนเจ้าของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จำนวนมาก เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง และรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งอาจถือเป็นเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทย เหตุผลสำคัญของกระแสสนับสนุนประชาธิปไตยในช่วงนี้คือ นายทุนไทยมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพวกเขา มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการคอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพของนักการเมืองกลุ่มนายทุนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม นายทุนไทยมิได้มีความเห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมด นักการเมืองนายทุนท้องถิ่น เช่น นายเสนาะ เทียนทอง กลับคัดค้านการปฏิรูปการเมืองในช่วงดังกล่าว เนื่องจาก ระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลทำให้บทบาทและอำนาจทางการเมืองของนายทุนท้องถิ่นลดลง ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเอื้อให้นายทุนขนาดใหญ่ระดับประเทศเข้าสู่ตลาดการเมืองได้ง่ายขึ้น ในขณะที่นายทุนท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองลดลง จากจำนวนเก้าอี้ ส.ส. ที่ลดลงโดยเปรียบเทียบ

สาเหตุที่นายทุนไทยแต่ละกลุ่มมีบทบาททางการเมืองและแรงสนับสนุนต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแตกต่างกันในเหตุการณ์เดียวกันเป็นเพราะนายทุนไทยไม่ได้รวมตัวกันเป็นชนชั้นที่เข้มแข็ง กล่าวคือ นายทุนแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ทางธุรกิจแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialization) ของไทยเกิดขึ้นหลายระลอก ไม่ได้เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจพร้อมกันเหมือนอย่างประเทศในยุโรปตะวันตก

 

ช่วงประชาธิปไตยถดถอย: หันหลังให้ประชาธิปไตย

 

หลังจากปี 2544 เป็นต้นมา บทบาทของนายทุนไทยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับช่วงก่อนหน้า กล่าวคือ กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยถดถอยมาจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รัฐบาล “ของนายทุน-โดยนายทุน-เพื่อนายทุน”[2] ของนายทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ทั้งการควบคุมสื่อ การทำลายระบบการถ่วงดุลอำนาจ โดยการแทรกแซงองค์กรอิสระ  รัฐบาลทักษิณมีความเป็นอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิชาการจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง เช่น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ที่ให้คำนิยามระบอบทักษิณว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism)

การกุมอำนาจทางการเมืองและการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของรัฐบาลทักษิณ ทำให้นายทุนที่อยู่นอกวงสูญเสียผลประโยชน์ และนำไปสู่กิจกรรมทางการเมืองที่ขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย กรณีที่เห็นได้ชัดคือ ความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างนายทักษิณกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้นายสนธิผันตัวไปเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือ นายทุนในเขตเมืองจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านเครือข่ายทักษิณ โดยเฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ในปี 2556 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามาจากสาเหตุหลัก คือ ความต้องการปกป้องเงินงบประมาณของประเทศจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง เพราะนายทุนกลุ่มนี้มองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุด และความรู้สึกไม่มั่นคงจากอำนาจและบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยทั้งกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. ต่างก็มีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย เช่น เรียกร้องให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง ต้องการนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ตลอดจนปิดล้อมและก่อกวนการเลือกตั้ง

 

นายทุนไทย: สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นบางครั้ง-รักษาผลประโยชน์ถาวร

 

ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาประชาธิปไตยหลายชิ้นมองว่า ชนชั้นนายทุนจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบศักดินาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ในกรณีของไทยนั้น นายทุนกลับมิได้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยและสถาบันการเมืองแบบรัฐสภา  กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนายทุนไทยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่ม และแต่ละเหตุการณ์

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข (contingent democrats) ของอีวา เบลลิน ซึ่งเสนอว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเสมอไป แต่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อการพัฒนานั้นส่งผลดีต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายทุนในประเทศกำลังพัฒนาเป็น “ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข เพราะพวกเขาเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองแบบถาวร” (“Capitalists are contingent democrats for the very reason that they are consistent defenders of their material interests,” เบลลิน, 2543)

สาเหตุที่ทำให้นายทุนไทยไม่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องนั้น มีอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ความไม่เป็นอิสระจากรัฐ และความรู้สึกไม่มั่นคงที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย

ประการแรก การที่นายทุนไทยต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐในการก่อร่างสร้างตัวนั้น ทำให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทุนไทย ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะโปร่งใสนักกับข้าราชการชั้นสูง เช่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้สัมปทาน หรือการแต่งตั้งข้าราชการเป็นบอร์ดของบริษัท เพื่อให้รัฐออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน เป็นต้น ในแง่นี้ ระบอบประชาธิปไตยที่จะนำมาซึ่งความโปร่งใสและการถ่วงดุลอำนาจ จึงไม่น่าพิสมัยนักในมุมมองของนายทุนไทย

ประการที่สอง ในทางหนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาการของประชาธิปไตยจะทำให้คนหมู่มาก ซึ่งได้แก่ ชนชั้นกลางล่างและชนชั้นล่าง มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็ทำให้ชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ มีอำนาจและอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศลดลง จากการที่นักการเมืองต้องมีความรับผิดรับชอบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ท้ายที่สุด พัฒนาการของประชาธิปไตยจะนำไปสู่การ “กระจาย” ผลประโยชน์ แทนที่จะเป็นการ “รวบ” ผลประโยชน์ของนายทุน

ในประเด็นนี้ นักวิชาการหลายคนเสนอว่า สาเหตุที่นายทุนไทยจำนวนมากหันหลังให้ประชาธิปไตยในช่วงของรัฐบาลทักษิณนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงปี 2540 ที่ทำให้นายทุนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงภายใต้ระบบประชาธิปไตยนั่นเอง

 

อ่านเพิ่มเติม

1. อภิชาต สถิตนิรามัย. 2556. รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจจากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

2. อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์. 2556. “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”, ได้รับทุนสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

3. Bellin, Eva. 2000. “Contingent democrats: industrialists, labor, and democratization in late-developing countries”. World Politics, 52 (2), pp. 175-205.

4. Hicken, Allen. 2006. “Party fabrication: constitutional reform and the rise of Thai Rak Thai”. Journal of East Asian Studies, 6, pp. 381-407.

 

อ้างอิง

1. สังศิต พิริยะรังสรรค์. 2526. ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ.2475-2503. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

2. Phongpaichit, Pasuk. & Baker, Chris. 2002. Thailand: economy and politics.New York: Oxford University Press.

3. Hewison, Kevin. 2005. “Neo-liberalism and domestic capital: the political outcomes of the economic crisis in Thailand”. The Journal of Development Studies, 41 (2), pp. 310-330.

4. McCargo, Duncan. & Pathmanand, Ukrist. 2005. The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: Nordic Institute of Asian Studies Press.

 

เชิงอรรถ

[1] ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และแกนนำกลุ่ม BMS ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2536 ว่า “เรานั่งทำธุรกิจของเราอยู่เฉยๆ อยู่ๆ วันดีคืนดี เขาก็มาทำอะไรให้กระทบมาถึงเราได้ … พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการท่องเที่ยวมากกว่าวงการแบงก์ แต่ที่จริงมันกระทบไปทุกวงการ เราก็คิดว่า เรามีจิตสำนึกที่ว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ และพยายามที่จะนำทางนักการเมือง ระบบการเมือง ให้ไปในทิศทางที่อย่างน้อยคิดถึงเราบ้างก่อนที่จะทำอะไรบ้าๆ บอๆ ในอนาคต”

[2] ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายทุนใหญ่ระดับประเทศคนแรก ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำในการเมืองแบบเปิด พร้อมกันนั้น เรายังได้เห็นนายทุนขนาดใหญ่เข้ากุมอำนาจในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยพวกพ้องของทักษิณนั้น ส่วนมากเป็นนายทุนขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 มาได้ เช่น กลุ่มที่ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ ยานยนต์ และเกษตรอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีนายทุนท้องถิ่นร่วมด้วย

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save