fbpx

ซีเรีย 101: จากสงครามกลางเมือง สู่สงครามตัวแทน

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

ที่มา: The Guardian

 

ในปีที่ผ่านมา คงไม่มีสงครามใดได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากไปกว่าสงครามกลางเมืองในซีเรีย รูปถ่ายของเด็กชายที่ได้รับบาดเจ็บ นั่งอยู่ในรถพยาบาลด้วยสายตาว่างเปล่า และรูปถ่ายเปรียบเทียบความแตกต่างของเมืองอเลปโป (Aleppo) ก่อนและหลังสงคราม แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความน่าหดหู่ของสงครามกลางเมืองที่กินเวลาเกือบ 6 ปีได้เป็นอย่างดี

คนส่วนใหญ่รู้ว่าเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย แต่ความเสียหายและสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นอย่างไร? อะไรคือที่มาของสงคราม ที่ทำให้เมืองที่หลายพื้นที่เป็นมรดกโลกถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง? และทำไมศูนย์กลางของสงครามต้องเป็นเมืองอเลปโป? บทความนี้จะพาไปหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ และเปิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสงครามในซีเรียที่โลกกำลังให้ความสนใจ

 

รูปเปรียบเทียบตลาดนัดกลางแจ้งก่อนและหลังสงคราม (ที่มา: AFP)

 

รูปเปรียบเทียบมัสยิดก่อนและหลังสงคราม (ที่มา: ALAMY และ REUTERS)

 

ความสูญเสีย:

เราอาจต้องใช้เวลากว่า 19 ชั่วโมงในการอ่านรายชื่อเด็กชาวซีเรียที่เสียชีวิตทั้งหมด

ตั้งแต่สงครามในซีเรียเริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2554 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 The Violations Documentation Center in Syria (VDC) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวในซีเรีย รายงานว่า เท่าที่มีการบันทึกในเอกสาร มีผู้เสียชีวิตแล้ว 174,184 ราย ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นพลเรือนประมาณร้อยละ 63 และที่ไม่ใช่พลเรือนประมาณร้อยละ 37 โดยกว่าร้อยละ 80 ของทั้งหมดเสียชีวิตจากความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลซีเรีย จากจำนวนดังกล่าว สำนักข่าวบีบีซีประเมินว่าเราอาจต้องใช้เวลาถึง 19 ชั่วโมงในการอ่านรายชื่อเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมด

ในด้านเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยเชิงนโยบายของซีเรียประมาณต้นทุนความเสียหายของสงครามครั้งนี้อยู่ที่ 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้อัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ การขาดแคลนอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ ยังทำให้ประชากรซีเรียถึงเกือบร้อยละ 70 มีความเป็นอยู่ในระดับยากจนอย่างรุนแรง (extreme poverty)

ไม่เพียงแต่การขาดแคลนอาหารเท่านั้น ซีเรียยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านระบบสุขภาพ การประเมินของสหประชาชาติพบว่า มีเพียงร้อยละ 42 ของสถานพยาบาลเอกชน ที่เปิดให้บริการตามปกติ เพราะนับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ปี 2554 จนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 สถานพยาบาลในซีเรียถูกโจมตีมาแล้ว 336 ครั้ง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตมากถึง 697 ราย

จุดเริ่มต้น: สงครามกลางเมือง

ก่อนสงครามในซีเรียจะปะทุขึ้น ชาวซีเรียต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน คอร์รัปชัน การขาดเสรีภาพทางการเมือง ตลอดจนการปราบปรามอย่างเข้มงวดโดยรัฐ จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม ปี 2554 การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หรือ อาหรับสปริง (Arab Spring) ก็ได้จุดชนวนการประท้วงต่อต้านระบบการปกครอง ภายใต้การนำของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด และรัฐบาลซีเรีย ที่กดขี่พวกเขามากว่า 40 ปี

ในช่วงแรก กลุ่มกบฏผู้ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี ใช้เพียงแค่ป้ายและเพลงเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่หลังจากที่รัฐบาลซีเรีย ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มกบฏอย่างรุนแรง เช่น การใช้กำลังทหารจับกุม และการบังคับให้สูญหาย (forced disappearance) กลุ่มกบฏจึงหันมาจับอาวุธ ในขณะที่ ทหารซีเรียส่วนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็จัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army: FSA) ขึ้น เพื่อเป็นปีกทางการทหารให้แก่กลุ่มกบฏ ทำให้การต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองของกลุ่มกบฏ ได้ถูกยกระดับไปสู่การต่อสู้เพื่อขับไล่กองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

ความพยายามของประธานาธิบดีอัสซาดที่จะปราบปรามกลุ่มกบฏนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการทรมานและสังหาร การใช้อาวุธเคมี ตลอดจนการปล่อยตัวนักโทษกลุ่มซาลาฟีญิฮาด (Salafist-Jihadists) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนีที่มีแนวคิดสุดโต่ง เพื่อให้เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ และทำให้พวกเขาสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐบาล

ทำไมต้องเป็นอเลปโป?

อเลปโปตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีคนอยู่อาศัยเป็นระยะเวลานานที่สุดเมืองหนึ่งของโลก เนื่องจากที่ตั้งซึ่งอยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและดินแดนตะวันออก ทำให้อเลปโปเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ที่มีความสำคัญทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

ตั้งแต่ซีเรียได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสในปี 2489 อเลปโปก็พัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ ในขณะเดียวกัน ประชากรในอเลปโปก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 3 แสนคนในช่วงที่ได้รับอิสรภาพ เป็นประมาณ 2.3 ล้านคนในปี 2547 อเลปโปจึงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย และมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มาก แม้จะไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศก็ตาม

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2555 อเลปโปได้กลายเป็นสมรภูมิที่สำคัญของสงครามกลางเมืองซีเรีย เมื่อกลุ่มกบฏสามารถยึดครองดินแดนทางเหนือของซีเรียได้ อย่างไรก็ตาม กองกำลังของกลุ่มกบฏไม่สามารถยึดครองอเลปโปได้อย่างเด็ดขาด อเลปโปจึงถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่งตะวันตก ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลซีเรีย และฝั่งตะวันออก ซึ่งควบคุมโดยกลุ่มกบฏ

นับตั้งแต่นั้น การสู้รบในอเลปโปก็ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างไปจนถึงเขตเมืองเก่า (Old City) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก (UNESCO) โดยตั้งแต่ปลายปี 2013 เป็นต้นมา กองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้หันมาต่อสู้โดยการทิ้งระเบิดถัง (barrel bomb) ทางอากาศ ผลจากการสู้รบทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งในอเลปโปถูกทำลาย ทั้งตลาดนัดกลางแจ้ง มัสยิดอุมัยยะห์ (Umayyad Mosques) และป้อมปราการแห่งอเลปโป (Citadel of Aleppo) ซึ่งเป็นปราสาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้านสภาพความเป็นอยู่ องค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ถึงกับออกโรงเตือนเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ว่า การใช้ชีวิตในอเลปโปนั้น “increasingly unbearable” หรือ “ย่ำแย่เหลือทนลงไปทุกขณะ”

การสู้รบในอเลปโปดำเนินไปจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2559 เมื่อกองกำลังของรัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยการโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย สามารถไล่ต้อนกลุ่มกบฏ และเป็นฝ่ายเข้ายึดครองเมืองได้สำเร็จ

ใครเป็นใครในสงครามตัวแทน

ตั้งแต่ต้นปี 2555 รัฐบาลซีเรียได้ยกระดับการใช้กำลังและความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มกบฏ ทั้งการทรมาน การสังหารหมู่ การใช้อาวุธเคมี ตลอดจนการปล่อยตัวนักโทษกลุ่มซาลาฟีญิฮาด (Salafist-Jihadists) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนีที่มีแนวคิดสุดโต่ง ให้เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ เพื่อให้กลุ่มกบฏสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐบาล

ความพยายามที่จะยึดครองซีเรียของประธานาธิบดีอัสซาดนำไปสู่การแบ่งแยกนิกาย (sectarianism) ในรัฐที่เคยเป็นกลางทางศาสนา (secular state) และได้เปรียบเสมือนบัตรเชิญให้ต่างชาติและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่มีผลประโยชน์แตกต่างกันเข้ามาแทรกแซง ดังนั้น สงครามในซีเรียจึงยืดเยื้อยาวนาน และเป็นมากกว่าแค่การสู้รบกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฏผู้ต้องการประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นสงครามตัวแทนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากสงคราม ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ฝ่าย ดังนี้

รัฐบาลซีเรียและพันธมิตร

พันธมิตรที่สำคัญอย่างยิ่งของประธานาธิบดีอัสซาด ได้แก่ อิหร่าน และรัสเซีย

  • อิหร่าน

เนื่องจากประธานาธิบดีอัสซาดอนุญาตให้อิหร่านใช้ซีเรียเป็นเส้นทางในการลำเลียงอาวุธไปให้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของญิฮาดชีอะห์ในเลบานอนที่อิหร่านให้การสนับสนุน ประธานาธิบดีอัสซาดจึงเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ที่ช่วยให้อิหร่านรักษาสถานะความเป็นผู้นำในภูมิภาคไว้ได้

ในช่วงสงคราม อิหร่านจึงส่งความช่วยเหลือให้ประธานาธิบดีอัสซาดหลายอย่าง ทั้งที่ปรึกษาทางการทหาร กำลังทหาร อาวุธ สินเชื่อ รวมไปถึงน้ำมัน โดยมีการคาดการณ์ว่า อิหร่านเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินมากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในการประคับประคองให้ประธานาธิบดีอัสซาดและรัฐบาลซีเรียอยู่ในอำนาจต่อไป

นอกจากการให้ความช่วยเหลือโดยตรงแล้ว อิหร่านยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ญิฮาดชีอะห์จากประเทศต่างๆ ทั้งอิรัก อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ตลอดจนนักรบจากกลุ่มฮิซบุลลอห์ในเลบานอน เข้าร่วมรบกับกองกำลังของรัฐบาลอัสซาดด้วย

  • รัสเซีย

เช่นเดียวกับอิหร่าน รัสเซียเข้ามามีบทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรีย เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด ผลประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่ ประการแรก รัสเซียต้องการปกป้องฐานทัพเรือที่รัฐบาลซีเรียเช่าอยู่ ประการที่สอง กองทัพซีเรียเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธจำนวนมากให้กองทัพรัสเซีย และประการสุดท้าย ด้วยความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ยาวนานของทั้งสองประเทศ ซีเรียจึงเป็นเสมือนฐานที่มั่นสุดท้ายที่ทำให้รัสเซียยังมีอำนาจอยู่ในภูมิภาค

รัสเซียเข้ามามีบทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรียตั้งแต่ช่วงแรก โดยการจัดหาอาวุธ ส่งทหารเข้าไปฝึกการสู้รบให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาล และที่สำคัญคือ การใช้สิทธิวีโต้ (veto) ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อยับยั้งร่างมติหยุดยิงในอเลปโป และร่างมติคว่ำบาตรซีเรียเนื่องจากการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาล การใช้สิทธิยับยั้งดังกล่าวทำให้รัสเซียถูกตำหนิโดยนานาชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

ในเดือนกันยายน ปี 2558 รัสเซียได้เข้าแทรกแซงทางการทหารในซีเรียโดยการโจมตีทางอากาศ รัสเซียให้เหตุผลยอดนิยมว่าเป็นการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือ “War on Terror” ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ก่อการร้ายคือกลุ่มไอซิล (Islamic State of Iraq and the Levant: ISIL) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามไอซิส (ISIS – Islamic State of Iraq and Syria) แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่โดนกองทัพรัสเซียโจมตีกลับเป็นกองกำลังของกลุ่มกบฏ ดังนั้น การแทรกแซงของรัสเซียตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนดุลอำนาจ ทำให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลสามารถกลับมายึดครองซีเรียได้อีกครั้ง

จากลักษณะของการแทรกแซงดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายทางการทหารของรัสเซียไม่ได้เหมือนกับซีเรียและอิหร่านไปเสียทั้งหมด กล่าวคือ ในขณะที่ซีเรียและอิหร่านต่างก็สู้รบเพราะต้องการยึดพื้นที่ในซีเรียคืนจากกลุ่มกบฏ แต่รัสเซียกลับใช้สงครามครั้งนี้ เป็นเวทีทดลองและแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร และที่สำคัญคือ ใช้เป็นเครื่องมือในการลดบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง การที่รัสเซียมุ่งทำลายเฉพาะกองกำลังของกลุ่มกบฏที่ไม่มีความคิดสุดโต่งนั้น ทำให้สงคราม ในซีเรียเป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและนักรบญิฮาด ซึ่งสหรัฐไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้น บทบาทของสหรัฐในภูมิภาคจึงถูกจำกัดเหลือเพียงแค่การมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ ซึ่งอาจกินเวลานานกว่าจะบรรลุข้อตกลงได้

กลุ่มกบฏและพันธมิตร

กลุ่มกบฏในซีเรียไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของชาวมุสลิมนิกายซุนนีหลายกลุ่มย่อย ที่ต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดและรัฐบาล (แต่อาจมีแนวคิดด้านอื่นต่างกัน) โดยมีการคาดการณ์ว่า กลุ่มกบฏอาจมีจำนวนสูงถึง 1,000 กลุ่มย่อย ประกอบด้วยนักรบประมาณ 1 แสนคน และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อสงครามดำเนินไป สมาชิกส่วนหนึ่งจึงหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มมุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่ง เช่น อัล-นุสรา (Al-Nusra Front) และไอซิส นำไปสู่การสู้รบกันเองในหมู่ผู้ต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดและรัฐบาลซีเรีย

หนึ่งในกลุ่มย่อยที่สำคัญที่สุดของฝ่ายกบฏคืออัล-นุสรา ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมซุนนี ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นญิฮาดชาวซีเรีย อัล-นุสราเคยเป็นเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (Al Qaeda) ในซีเรีย แต่แยกตัวออกมาในปี 2559 และเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น Jabhat Fateh al-Sham หรือแนวหน้าเพื่อการพิชิตซีเรีย โดยมีจุดมุ่งหมายคือการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาด และจัดตั้งรัฐอิสลามภายใต้กฎหมายชะรีอะห์ (Sharia’s Law)

ต่างชาติที่ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรีย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf States) จอร์แดน และตุรกี ข้อสังเกตที่สำคัญคือ แม้ว่าในภาพรวม ประเทศเหล่านี้จะสนับสนุนกลุ่มกบฏเหมือนกัน แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันเองภายในกลุ่ม เนื่องจากเป้าหมายของแต่ละประเทศ และกลุ่มที่แต่ละฝ่ายต่อต้าน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

  • สหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม สหรัฐอเมริกาส่งความช่วยเหลือที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น อาหารและรถบรรทุก ให้แก่กลุ่มกบฏ ภายหลังจากที่สงครามยกระดับความรุนแรง ในปี 2556 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน อาวุธ รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมต่อสู้ อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐอเมริกาไม่ใช้กำลังทหารโจมตีซีเรีย หลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาดใช้อาวุธเคมีเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการไม่สนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดของสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น

เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มกบฏที่มีแนวคิดสุดโต่งมีจำนวนมากขึ้น ในปี 2557 สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนจุดมุ่งหมาย จากการให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฎ มาเป็นการทำสงครามต่อต้านไอซิสและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงอัล-นุสราด้วย สหรัฐอเมริกาได้จัดโครงการฝึกฝนและติดอาวุธให้แก่กองกำลังกลุ่มกบฏ แต่โครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ คาดการณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพียงประมาณ 200 คน เนื่องจากข้อตกลงที่ไม่ให้สู้รบกับกองกำลังของประธานาธิบดีอัสซาด แต่จะสู้รบได้กับผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

  • รัฐอ่าวอาหรับ นำโดยซาอุดิอาระเบีย

รัฐอ่าวอาหรับซึ่งปกครองโดยชาวมุสลิมนิกายซุนนี ให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏโดยการส่งเงินและอาวุธผ่านทางตุรกีและจอร์แดน จุดมุ่งหมายของรัฐอ่าวอาหรับคือการต่อต้านอิทธิพลในภูมิภาคของอิหร่าน ซึ่งปกครองโดยชาวมุสลิมนิกายชีอะห์

รัฐอ่าวอาหรับได้เข้าร่วมกับสหรัฐในการทำสงครามต่อต้านไอซิส เนื่องจากไอซิสเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม รัฐอ่าวอาหรับยังคงให้การสนับสนุนกลุ่มอัล-นุสรา ซึ่งสหรัฐถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย แสดงให้เห็นว่ารัฐอ่าวอาหรับให้ความสำคัญกับการโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาด มากกว่าการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

  • ตุรกี

รัฐบาลตุรกีไม่สนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดและรัฐบาลซีเรียตั้งแต่การประท้วงต่อต้านเริ่มขึ้นในปี 2554 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตุรกีมีดินแดนแทรก (enclave) อยู่ในเมืองอเลปโปของซีเรีย นโยบายสนับสนุนกลุ่มกบฏของตุรกีมีตั้งแต่การจัดส่งอาวุธ การฝึกฝนและติดอาวุธให้กองกำลังฝ่ายกบฏ การอนุญาตให้ใช้ดินแดนตุรกีเป็นช่องทางลำเลียงอาวุธ เป็นที่ประชุมของแกนนำกลุ่มกบฏ เป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ตลอดจนเป็นทางผ่านให้แก่นักรบของกองกำลังฝ่ายกบฏ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวกลับทำให้ญิฮาดจากประเทศต่างๆ ใช้ตุรกีเป็นเส้นทางในการเข้าร่วมกับกลุ่มไอซิส

เช่นเดียวกับรัฐอ่าวอาหรับ แม้ว่าตุรกีจะเข้าร่วมกับสหรัฐในการทำสงครามกับไอซิส แต่มีรายงานว่าตุรกียังคงสนับสนุนกลุ่มอัล-นุสรา ที่มีแนวคิดสุดโต่งอยู่่

นอกจากนี้ ตุรกีและสหรัฐยังขัดแย้งกันในประเด็นเกี่ยวกับชาวเคิร์ดในซีเรีย กล่าวคือ ตุรกีเห็นว่าชาวเคิร์ดในซีเรียเป็นภัยคุกคามต่อประเทศของตน จึงโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดที่ยึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งสหรัฐให้การสนับสนุนในนามกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces: SDF) ทั้งนี้ ความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างตุรกีและชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตุรกี เริ่มมาตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีในปี 2466

 

ที่มา: BBC (จากข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2017)

ไอซิส (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS)

ท่ามกลางความวุ่นวายของสงครามกลางเมืองในซีเรีย ไอซิสได้เข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองโลกเมื่อปี 2557 เมื่อพวกเขายึดครองพื้นที่ส่วนหนึ่งในซีเรียและอิรักได้ และประกาศจัดตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์ (Caliphate) ซึ่งเป็นรัฐรูปแบบหนึ่งของอิสลาม ภายใต้กฎหมายชะรีอะห์

ไอซิสถือกำเนิดขึ้นในปี 2557 โดยแยกตัวมาจากกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในอิรัก (Al-Qaeda in Iraq: AQI) ภายหลังการจัดตั้ง กลุ่มอัล-นุสราและอัลกออิดะฮ์ต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับไอซิส จุดมุ่งหมายหมายหลักของไอซิสคือ ต้องการให้ชาวมุสลิมทั่วโลกสาบานความจงรักภักดีต่อ อะบู บักร์ อัล-บัฆดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ผู้นำกลุ่มไอซิส และย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในดินแดนภายใต้การควบคุมของกลุ่ม นอกจากนี้ ไอซิสยังต้องการให้กลุ่มญิฮาดอื่นๆ ทั่วโลกยอมรับในฐานะผู้มีอำนาจเหนือกว่า

ในเดือนกันยายน ปี 2557 มีการประเมินว่าไอซิสยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส ซึ่งมีขนาดเทียบได้กับสหราชอาณาจักร หรือประมาณ 2.1 แสนตารางกิโลเมตร หลังจากที่สหรัฐและพันธมิตรเริ่มโจมตีทั้งทางอากาศและพื้นดินในปี 2558 พื้นที่ในครอบครองของไอซิสทั้งในอิรักและซีเรียก็ลดลงประมาณ 1.5-2 หมื่นตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ไอซิสกลับสามารถยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น เมืองพัลไมราในซีเรีย ได้

ชาวเคิร์ดในซีเรีย

ชาวเคิร์ดในซีเรียไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามกลางเมืองซีเรีย จุดมุ่งหมายหลักของพวกเขาคือต้องการอิสรภาพจากประธานาธิบดีอัสซาด ในช่วงสงคราม กองกำลังชาวเคิร์ดสามารถยึดครองบริเวณชายแดนซีเรีย-ตุรกี และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศได้

กองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียได้จัดตั้งหน่วยป้องกันประชาชน (People’s Protection Units: YPG) เพื่อเป็นปีกทางการทหารของกลุ่ม แต่กลับนำไปสู่ความขัดแย้งกับตุรกี เนื่องจากตุรกีระบุว่า YPG เป็นเครือข่ายของ พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Worker’s Party: PKK) ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่มสำคัญ ที่สู้รบกับรัฐบาลมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี

ประเด็นร้อน

สงครามในซีเรียนำไปสู่ประเด็นถกเถียงที่คนให้ความสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย เช่น การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศมหาอำนาจเป็นความตั้งใจจริง หรือเป็นเพียงแค่ข้ออ้างที่มหาอำนาจใช้เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้ตัวเอง? การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสามารถหยุดยั้งการก่อวินาศกรรมได้จริง หรือกลับทำให้กลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งเผยแพร่แนวคิดของตนได้มากขึ้น? และสังคมโลกควรจะมีวิธีรับมือกับการก่อการร้ายที่แพร่ระบาดอย่างไร?

แม้ว่าคำถามเหล่านี้จะมีความสำคัญ แต่เราก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า สงครามในซีเรียมีจุดเริ่มมาจากความต้องการประชาธิปไตยของประชาชน และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในขณะที่สงครามต่อต้านการก่อการร้านกำลังดำเนินไป ก็คือประชาชนชาวซีเรีย

บทความนี้จึงขอเสนอตัวอย่างประเด็นถกเถียงในแง่มุมอื่น นอกเหนือจากการก่อการร้าย ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยในซีเรีย เช่น สหประชาชาติมีอำนาจจริงหรือไม่ ถ้าไม่ กลไกอื่นๆ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ จะช่วยป้องกันความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนของตัวเองได้หรือไม่? เราจะมีวิธีจัดการปัญหาผู้อพยพ และแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรม (humanitarian crisis) อย่างไร? กระบวนการเจรจาและกระบวนการสร้างสันติภาพหลังสงครามในซีเรียยุติลงควรจะเป็นอย่างไร? และภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีอัสซาด สถาบันหรือกลไกอะไรที่จำเป็นสำหรับซีเรียในยุคเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้การพัฒนาประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความรุนแรง?

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. บทความ เรื่อง Implications for a Syrian transition under Assad ของ Sultan Barakat ตีพิมพ์วันที่ 18 มีนาคม 2560
  2. บทความ เรื่อง Saving Syria: Is international law the answer? ของ Zena Tahhan ตีพิมพ์วันที่ 16 มีนาคม 2560
  3. บทความ เรื่อง Profile: Aleppo, Syria’s second city ของ BBC ตีพิมพ์วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559
  4. บทความ เรื่อง Islamic State group: The full story ของ Jim Muir ตีพิมพ์วันที่ 20 มิถุนายน 2559
  5. บทความ เรื่อง The argument for intervening in Syria is strong – but not strong enough ของ Wes Streeting ตีพิมพ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558

 

อ้างอิง

  1. รายงาน เรื่อง The Monthly Statistical Report on Victims ของ Violations Documentation Center in Syria (VDC) ตีพิมพ์เดือนกุมภาพันธ์ 2560
  2. บทความ เรื่อง What’s happening in Syria? ของ BBC ตีพิมพ์วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 
  3. บทความ เรื่อง What’s happening in Aleppo? ของ BBC ตีพิมพ์วันที่ 23 ธันวาคม 2559
  4. บทความ เรื่อง Syria: The story of the conflict ของ Lucy Rodgers, David Gritten, James Offer และ Patrick Asare ตีพิมพ์วันที่ 11 มีนาคม 2559
  5. บทความ เรื่อง Syria crisis: Where key countries stand ของ BBC ตีพิมพ์วันที่ 30 ตุลาคม 2558

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save