fbpx
อ่านคำถามอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ​ ถึงฝ่ายอนุรักษนิยม เรื่องระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

อ่านคำถามอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ​ ถึงฝ่ายอนุรักษนิยม เรื่องระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

1 ตุลาคม 2560

เรียนอาจารย์สุธาชัยฯ ที่เคารพ

ผมเขียนจดหมายถึงอาจารย์ฉบับนี้เป็นครั้งแรก ทั้งที่รู้ว่าอาจารย์จะไม่ได้อ่านและไม่อาจตอบจดหมายของผมหรือของใครอีกแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้วิธีไหนดีไปกว่านี้ ที่จะส่งคำตอบให้แก่คำถามที่อาจารย์เคยตั้งฝากไว้ในวงเสวนาวิชาการ ‘สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย’ ซึ่งจัดขึ้นในปลายปี 2553

เหตุที่ทำให้ผมกลับมาพิจารณาคำถามของอาจารย์ในวันนั้นอย่างใส่ใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานวิจัยที่ผมกำลังทำร่วมกับอาจารย์รัฐศาสตร์อาวุโสอีก 2 ท่าน อาจารย์อาวุโส 1 ใน 2 ที่ร่วมอยู่ในโครงการวิจัยนี้อาจารย์ก็รู้จักดี เพราะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘จุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย’ มาด้วยกันกับอาจารย์

พูดถึงเรื่องนี้ จริงๆ ผมก็เพิ่งทราบจากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์นะครับ ผมอ่านบทสัมภาษณ์นั้นแล้วยังคิดว่าอาจารย์คงได้เห็นความแย้งย้อนในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราสร้างเราทำขึ้นมาด้วยความตั้งใจแต่แรกอย่างหนึ่ง แต่แล้วสิ่งที่มันจะทำหรือจะเป็นอะไรของมันต่อไปก็อาจมากลับตาลปัตรความตั้งใจของเราไปอีกทาง จนเราเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในเวลาที่ประวัติศาสตร์มีเล่ห์กลผกผันไปแบบนี้ นอกจากเลือกผละจากมันออกมาถ้ายังพอทำได้ แต่หลายคนบนเวทีประวัติศาสตร์ก็ทำแบบนั้นไม่ได้ หรือไม่ง่ายที่จะทำแบบนั้น

งานวิจัยที่อาจารย์อาวุโสทั้ง 2 และผมร่วมกันทำจะเป็นโอกาสให้ได้พิจารณากลุ่มและขบวนการทางการเมือง ที่อาจารย์เข้าไปช่วยและมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาอยู่เหมือนกัน เรื่องแย้งย้อนซ้อนกลมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้พาสังคมการเมืองไทยหักเหเข้าสู่เส้นทางสายที่ไม่มีใครเคยคาดไว้ เราคงได้นำเสนอผลการวิจัยทั้งหมดอีกทีเมื่องานเสร็จเรียบร้อย เสียดายว่าจะไม่ได้อาจารย์มาเป็นผู้วิจารณ์งานวิจัยนี้ของพวกเราเหมือนกับคราวโครงการวิจัยปัญญาชนประกาศกเมื่อหลายปีก่อนอีกแล้ว

ในงานเสวนาปลายปี 53 วันนั้น อาจารย์ตั้งคำถามเปิดประเด็นไว้หลายข้อเกี่ยวกับคุณค่าของระบอบการปกครองที่อาจารย์อยากให้เราเรียกเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเป็นระบอบ ‘กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ’ แต่ละคำถามแต่ละประเด็นของอาจารย์เป็นคำถามที่อาจารย์ตั้งขึ้นโดยเจาะจงให้ปัญญาชนและนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นคนตอบ วันนั้นอาจารย์ขึ้นเวทีกับนักวิชาการปัญญาชนหลายคน ผมมีโอกาสได้ฟังเพราะงานวิจัยที่ผมรับทำอยู่ตอนนั้นเป็นหัวข้อเกี่ยวกับปัญญาชนมิตรสหายของอาจารย์คนหนึ่งที่ขึ้นเวทีในวันนั้นด้วย

ผมเชื่อของผมว่าการตั้งคำถามต่างๆ ในเชิงวิพากษ์ของอาจารย์ไม่ใช่เพราะอาจารย์ต้องการล้มเจ้าอย่างที่เคยถูกกล่าวหา แต่เป็นเพราะอาจารย์เห็นว่าวิธีนี้จะเป็นการช่วยรักษาคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไปท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืนดีกว่าวิธีอื่นๆ พร้อมกับยังรักษาเงื่อนไขของสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์ปรารถนาไว้ได้

ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์ได้รับคำตอบที่พอใจจากใครที่อาจารย์คาดไว้ว่าเขาจะตอบบ้างแล้วหรือยัง วันแรกที่ผมทราบข่าวการจากไปของอาจารย์ ผมคิดถึงคำถามของอาจารย์เมื่อหลายปีก่อนนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เลยคิดว่าอยากเขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ระลึกถึงอาจารย์ที่เป็นผู้ตั้งปัญหาสำคัญให้พวกเราคิด

จริงๆ แล้ว บทระลึกถึงผู้วายชนม์เขียนได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือเขียนเพื่อรำลึกถึงคุณูปการต่างๆ ที่เขาได้ทำมา เพื่อขอบคุณหรือเพื่อยืนยันถึงคุณค่าที่การกระทำเหล่านั้นยังคงมีความหมายต่อเราผู้ที่ยังอยู่ จะเป็นเราในทางส่วนตัว หรือจะเป็นเราในทางส่วนรวมระลึกถึงหมู่พวกเราที่จากไป เหมือนในงานต้นแบบของธูซีดิดีสบทที่เพริคลิสกล่าวรำลึกถึงผู้พลีชีพในสมรภูมิพร้อมกับยกย่องคุณธรรมของชาวเอเธนส์ก็ได้

แต่ผมไม่รู้จักกับอาจารย์โดยตรงหรือเป็นสหายที่ใกล้ชิดทางอุดมการณ์กับอาจารย์ขนาดที่จะเขียนการรำลึกถึงออกมาแบบนั้น หรือมีฝีมือในระดับที่จะใช้คำไว้อาลัยมาเปลี่ยนความเข้าใจตนเองของเพื่อนผองน้องพี่ที่ยังต้องต่อสู้ต่อไปใหม่ ในทางที่จะรักษาความมุ่งมั่นต่อคุณค่าอุดมคติและฝ่าความยากลำบากไปสู่เป้าหมายยาวไกลได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา The Gettysburg Address ของลินคอล์นเป็นต้นแบบคำไว้อาลัยแบบนี้อย่างที่อาจารย์ก็คงจะจับใจเช่นเดียวกับทุกคน และผมคิดว่ามิตรสหายบางคนของอาจารย์เขียนคำรำลึกถึงอาจารย์ไปในทางนี้

การเขียนคำไว้อาลัยผู้วายชนม์อีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไปเป็นการแสดงความรำลึกถึงในทางที่ผู้จากไปได้ก่อให้เกิดการรื้อคิด ตั้งคำถาม และกระตุ้นให้เราทบทวนคุณค่าความหมายที่เคยยึดถือมา เพื่อตรวจตราว่ามีอะไรในนั้นไหมที่ขาดตกบกพร่องไป และทำให้เราเรียนรู้ที่จะมองข้อจำกัดจากสิ่งที่เขาได้ชี้ให้เห็น เพื่อรู้แก้ไขที่จะทำมันให้ดีขึ้น

ผมติดตามอาจารย์และมิตรสหายของอาจารย์อยู่ไกลๆ จากอีกฟากฝั่งหนึ่งทางอุดมการณ์ แต่มองเห็นคุณูปการของอาจารย์ที่มีต่อพวกเราในทางตั้งคำถามที่เรียกร้องการใช้เหตุผลเพื่อให้ทบทวนคุณค่าความหมายของความจงรักภักดี และความสามารถที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ได้อย่างสมสมัย ได้รับการยอมรับโดยเต็มใจจากคนทุกฝ่าย เพราะเห็นในคุณค่าของสถาบันนี้ที่มีต่อสังคมการเมืองประชาธิปไตยและประชาราษฎร แทนคำไว้อาลัย ผมจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อเรียนอาจารย์ว่าผมอ่านพบและได้แง่คิดอะไรในคำถามที่อาจารย์ตั้งฝากไว้ด้วยมิตรไมตรี

ในวงเสวนาเรื่อง ‘สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย’ อาจารย์ตั้งคำถามชวนคิดข้อหนึ่งที่ผมขอเลือกมาพิจารณาเพื่อให้เห็นวิธีถามของอาจารย์ และนัยที่มีอยู่ในคำถามนั้น อาจารย์เสนอว่า ถ้าจะพิจารณาคุณค่าของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญว่าดีตรงไหน ว่าคุณค่าของระบอบนี้จะดีกว่าระบอบกษัตริย์แบบอื่นเช่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไร คำตอบนั้นจะต้องตอบให้ได้โดยไม่อิงหรือไม่ขึ้นกับตัวบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จะต้องตอบออกมาให้เห็นได้ในเชิงระบบ ไม่ใช่คำตอบที่อิงกับพระเกียรติคุณ พระปรีชาสามารถ หรือพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นสำคัญ

ทีแรกเมื่อผมได้ยินคำถามของอาจารย์ ยังรู้สึกในตอนจดบันทึกว่าทำไมอาจารย์ถามอะไรพื้นฐานอย่างนั้น แต่ในภายหลังเมื่อมาคิดถึงการถามของอาจารย์อีกที ผมจึงเห็นว่าอาจารย์รู้คำตอบอยู่แล้วต่างหาก นักวิชาการปัญญาชนมิตรสหายของอาจารย์ก็รู้ และจริงๆ นักวิชาการปัญญาชนไทยฝ่ายอนุรักษนิยมที่อาจารย์ต้องการให้พวกเขาตอบก็รู้ไม่น้อยไปกว่ากัน ว่าระบอบการเมืองที่อาจารย์ขอเรียกว่าระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ในแง่ระบบนั้นดีกว่าระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตรงที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การใช้อำนาจดังกล่าวของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกรัฐธรรมนูญจำกัดไว้ มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐระหว่างฝ่ายต่างๆ ฯลฯ

ในส่วนที่เป็นคำอธิบายถึงคุณค่าของระบอบนี้ ผมอาจเลือกการให้คำอธิบายในเชิงระบบจากงานของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโน หรือจากงานวิจัยพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญของอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ มาแสดง คัดมาแต่เฉพาะส่วนที่เป็นเรื่องเชิงหลักการที่ท่านเหล่านั้นอธิบายไว้โดยตัดคำอธิบายแบบอื่นๆ หรือที่อิงตัวบุคคลออกก็น่าจะพอใช้ตอบคำถามของอาจารย์ได้

คำอธิบายคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในเชิงระบบและหลักการของฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นไปในทางแสดงให้เห็นถึงการที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติ และการใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำแนะนำ พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับการปรึกษา และทรงสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างไรต่อรัฐบาล

แต่ผมคิดว่าอาจารย์เองคงพอใจตามที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เป็นมิตรสหายของอาจารย์ อธิบายไว้ในคำสอนเรื่องรัฐกับกฎหมายมหาชนของท่านมากกว่า ซึ่งคำอธิบายของท่านจะเป็นหลักการในเชิงระบบล้วนๆ ไม่อิงกับเหตุผลแบบอื่นๆ หรือพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดเหมือนที่เราพบในงานเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของนักวิชาการปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมไทย

อาจารย์วรเจตน์ฯ ท่านให้เงื่อนไขต่างๆ อันพึงมีที่จะทำให้ระบอบนี้ทรงคุณค่าและทำงานรักษาหลักการประชาธิปไตยไว้ได้ คำอธิบายของนักวิชาการปัญญาชนฝ่ายของอาจารย์เป็นในทางป้องกันคุณค่าที่มีในระบอบประชาธิปไตยไม่ให้เสื่อมถอยลงด้วยการวางหลักเกณฑ์จำกัดอำนาจ ในทางที่จะทำให้วิธีการใช้อำนาจแห่งรัฐในด้านต่างๆ รวมทั้งพระราชอำนาจ อยู่ในขอบเขตและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น

เมื่อพิจารณาการแสดงคุณค่าในเชิงระบบที่ไม่อิงกับตัวบุคคลของปัญญาชนทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีวิธีอธิบายและจุดเน้นที่ต่างกันแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อว่าอาจารย์ก็ทราบคุณค่าดีอยู่ แต่ผมเห็นว่ายังน่าจะเน้นเป็นพิเศษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบัน เพราะถือได้ว่าเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบ constitutional monarchy ของไทย นั่นคือ ส่วนที่ช่วยรักษาเงื่อนไขที่ทำให้พลเมืองที่เป็นศาสนิกชนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

คุณค่าในส่วนนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญไทยบังคับการนับถือศาสนาขององค์พระมหากษัตริย์ ว่าต้องทรงเป็นพุทธมามกะ แต่พลเมืองคนอื่นๆ ทั้งหมดมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และกำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมภก ผมเห็นว่าข้อบังคับกำหนดที่รัฐธรรมนูญวางไว้สำหรับรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเช่นนี้ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเหนือกว่าศาสนาอื่นๆ ที่คนในชาตินับถือ เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์และสมาชิกในสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็ทรงสนับสนุนการรักษาหลักการข้อนี้ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนตลอดมา

การมีประมุขรัฐเป็นกษัตริย์ยังทำให้ผู้เป็นประมุขไม่ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือจูงใจให้คิดใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาผลักดันการเปลี่ยนแปลงสถานะของศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาแห่งชาติอยู่เหนือศาสนาอื่นๆ ต่างจากประมุขรัฐที่เป็นประธานาธิบดี ที่ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม จะตกอยู่ใต้แรงกดดันหรือเห็นประโยชน์จากวิธีสร้างฐานสนับสนุนทางการเมืองแบบนั้นได้ง่ายกว่า

คุณค่าในข้อนี้ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงนับว่าสำคัญต่อการป้องกันภยาคติ ที่ถ้าไม่ระวังและมีเหตุให้เกิดขึ้นมาแล้ว จะลุกลามไปเป็นการเบียดเบียนกันเพราะศาสนาเป็นชนวนเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมไหนก็ตามที่คุณค่าตามหลักการของเสรีนิยมยังไม่หยั่งรากมั่นคงนักในความคิดจิตใจพลเมือง

เมื่อเห็นว่าคำตอบในเชิงระบบเกี่ยวกับคุณค่าของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญตามที่อาจารย์เรียก มีนักวิชาการปัญญาชนฝ่ายต่างๆ แสดงไว้มากแล้ว ผมจึงฉุกใจคิดว่า ทำไมอาจารย์จึงถามขึ้นอีก และเจาะจงถามประเด็นนี้ให้ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องตอบ? ตรงนี้ต่างหากที่ผมเห็นว่าการถามของอาจารย์มีความสำคัญ เพราะนัยของมันคือการกระตุ้นให้ฝ่ายอนุรักษนิยมย้อนมองแนวทางและวิธีที่พวกเราใช้ตลอดมาในการนำเสนอคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อาจารย์กำลังบอกพวกเราผ่านการถามของอาจารย์ใช่ไหมครับว่าวิธีนำเสนอคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์แบบขยายออกไปจากหลักการประชาธิปไตยของพวกเรานั้น ถ้าไม่รู้เฉลียวใจ อาจสร้างผลข้างเคียงที่เป็นข้อจำกัดตามมาได้หลายอย่างทีเดียว

ผมคุ้นเคยงานของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมไทยมากกว่างานของปัญญาชนไทยทางฝ่ายอาจารย์ และผมรับอิทธิพลทางความคิดของพวกเขามาจากหลายทาง เมื่อผมได้คิดจากคำถามที่อาจารย์ตั้งทักขึ้นมาอย่างนั้น ผมก็นึกออกทันทีว่าเวลาฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสร้างคำอธิบายเพื่อยกย่องคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านเหล่านั้นใช้วิธีอย่างไร และช่วยให้ผมมองเห็นผลบางอย่างที่ตามมาจากความสำเร็จในวิธีเหล่านั้น

ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะอาศัยองค์คุณจากฐานคิดหลายแบบ ไม่เฉพาะแต่หลักการในทางกฎหมายมหาชนของรัฐประชาธิปไตย มาประกอบกันเป็นแบบแผนการให้เหตุผลรองรับความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกเขาไม่ได้เน้นแต่เฉพาะความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อระบอบการเมืองการปกครอง แต่ยังเห็นคุณค่าความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการรักษาวิถีชีวิตความเป็นไทย และเป็นผู้นำที่เป็นศูนย์รวมใจเพื่อความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเมืองโดยรวม

ถ้าใช้ความคิดมักซ์ เวเบอร์มาช่วยลัดเรื่องยาวของผมให้สั้น ผมคิดว่าในการให้เหตุผลตามแบบแผนของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น พวกเขามุ่งแสดงองค์คุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปรากฏในทางที่พยายามทำให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่ง authority ครอบคลุมในทุกมิติของเวเบอร์ ทั้ง rational-legal authority,  traditional authority, และ charismatic authority

ถ้าจะให้ผมยกตัวอย่าง ก็กล่าวได้ว่าผลงานของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเด่นในทางสนับสนุนการสร้าง traditional authority ในขณะที่เราจะพบการนำเสนอที่สนับสนุน charismatic authority ในงานจำนวนมากต่างประเภทและวาระของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ส่วนตัวอย่างที่เป็นการประมวล rational-legal authority ปรากฏในงานวิจัยของอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นต้น

แน่นอนว่าการยกตัวอย่างท่านเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะแยกขาดว่าใครเป็นตัวแทนที่ผลิตการยอมรับ authority ในแต่ละแบบได้ เพราะเอาเข้าจริงท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่แสดงองค์คุณของสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์จากฐานคิดหลายด้านผสมกันอยู่แม้ในงานชิ้นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หลักราชธรรมและจริยศาสตร์จากแหล่งอื่นๆ พระปรีชาสามารถในการริเริ่มและการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ คุณค่าหลักการที่เป็นอุดมคติบางอย่างเกี่ยวกับชาติและการรักษาชาติ ตลอดจนกฤดาภินิหารและพระราชสมภารบารมี

อย่างเช่นหนังสือ พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย ของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียรนั้น ถ้าใครช่างสังเกตหน่อย ก็จะเห็นว่าท่านไม่ได้แสดงแต่ด้านที่เป็นหลักการเหตุผลทางกฎหมาย แต่ยกเหตุผลครอบคลุมฐานคิดจากหลายทางปนกันอยู่ คนอ่านต้องแยกหลักเหล่านั้นเองว่ามาจากฐานคิดแบบไหนบ้าง

ในทางวิชาการ เราคงตีความได้หลายแบบอยู่เหมือนกันว่าทำไมในงานเขียนงานพูดของนักวิชาการปัญญาชนของฝ่ายอนุรักษนิยมผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเลือกที่จะประกอบเหตุผลสนับสนุนเพื่อสร้างการยอมรับคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองไทยหลัง 2475 มาแล้วจากหลายฐานคิด และมุ่งสร้าง authority ในทุกมิติของเวเบอร์ให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้ามองทางสังคมวิทยา อาจเป็นได้ว่าปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมนำเสนอความคิดแบบนี้ของพวกเขาต่อสังคมไทยในจังหวะที่การเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ยังไม่สมบูรณ์ โลกทัศน์ของผู้คนยังไม่ขาดออกจากรากฐานจักรวาลวิทยาแบบเก่า ญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้ามาเป็นที่ยึดถือในการพิจารณาความรู้และในวิธีคิดได้โดยตลอด

ดังนั้น เป็นไปได้ไหมครับว่าในบริบททางสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ ที่ในด้านหนึ่งกำลังก่อตัวเป็น mass society พร้อมกับการเกิดสำนึกเกี่ยวกับปัจเจกภาพและพลเมือง และการแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวม แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ขาดออกเสียทีเดียวจากอิทธิพลของศาสนาและประเพณี ปรัมปราคติและตำนานพื้นบ้าน ปาฏิหาริย์เทวฤทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การวาง authority ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ครอบคลุมไว้ในทุกมิติของ Weber เพื่อความมั่นคงของสถาบันฯ จึงเป็นสิ่งที่ปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่าสอดคล้องกับสภาพทางสังคมที่เป็นอยู่

หรือถ้าจะมองในทางประวัติศาสตร์การเมือง อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์นับแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา ก็คงเข้าใจหรือเห็นถึงแรงจูงใจทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าทำไมพวกเขาจึงต้องการรื้อฟื้นความเข้มแข็งมั่นคงของสถาบันฯ กลับคืนมา

เหตุผลแรงจูงใจของพวกเขาในขณะนั้นจะว่าไปแล้วไม่ได้เกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นองค์พระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาต้องการอะไรแน่ อาจารย์คงทราบเหตุต้นผลปลายดีอยู่ รวมทั้งเรื่องที่ผู้นำฝ่ายคณะราษฎรเพลี่ยงพล้ำด้วยความขัดแย้งภายในระหว่างกันเอง การตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองที่ผิดพลาด และการสนับสนุนจากมหาอำนาจภายนอก จนเปิดช่องให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่เพียงรุกคืบและตีกลับทางการเมือง แต่ยังวางคนลงในระบบราชการส่วนต่างๆ ที่จะมาเป็นคนกำหนดทิศทางสังคมไทยต่อมาอีกอย่างน้อยสามถึงสี่ทศวรรษ

จากความเข้าใจสภาวะทางสังคมและโลกทัศน์ความคิดของผู้คน และจากการเข้าไปโน้มนำความคิดของผู้คนทั่วไปด้วยความรู้ วรรณกรรม พิธีกรรม พิธีการ ประวัติศาสตร์ เพลง สื่อสารมวลชน ฯลฯ โดยปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมที่ล้วนแต่มากความสามารถในยุคนั้น ในจังหวะที่การเปลี่ยนแปลงพลิกผันทางการเมืองนับแต่ต้นทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาเปิดโอกาสทางประวัติศาสตร์ให้พวกเขาค่อยๆ ทำได้ จึงทำให้พวกเขาเข้ามาเป็นผู้วางโปรแกรมความคิดที่ส่งผลต่อการกระทำทางสังคมเรียกได้ว่าแทบจะทุกด้าน ในทางที่จะช่วยสร้างและฟื้นคืนพลังให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์

ผมตั้งใจใช้คำว่าการกระทำทางสังคมในท้ายย่อหน้าก่อนในความหมายของมักซ์ เวเบอร์อีกเช่นกัน ผมต้องขอบคุณคำถามของอาจารย์ที่ทำให้ผมคิดขึ้นได้ว่า อิทธิพลทางความคิดในงานด้านต่างๆ ของปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมมีผลลึกซึ้งในการก่อรูปความสัมพันธ์ระหว่างคนทั่วไปในสังคมกับพระมหากษัตริย์ได้ ก็เพราะว่าปัญญาชนเหล่านี้ พวกเขามีความเข้าใจฐานคิดแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการกระทำทางสังคมแบบต่างๆ เป็นอย่างดี

ทุกฐานคิดและแรงผลักดันที่เวเบอร์ระบุเป็น ideal types ในการจำแนกการกระทำทางสังคมแต่ละด้าน อันได้แก่ อารมณ์ความรู้สึกผูกพัน จารีตประเพณี คุณค่าที่เป็นอุดมคติหรือหลักการความเชื่อ และเหตุผลในเชิงเครื่องมือเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมหลัง 2490 ใช้ทุกด้านดังกล่าวนั้นมาเป็นอุปกรณ์สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพระมหากษัตริย์และพสกนิกรของพระองค์

อาจารย์คงเห็นด้วยกับผมว่าความคาดหวังต่อการฟื้นฟูพลังของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สะท้อนอยู่ในงานและแรงจูงใจของปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ด้วยการมุ่งสร้าง authority และความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาราษฎรให้ครอบคลุมการกระทำทางสังคมหลายด้าน ดังที่ผมใช้แนวคิดของเวเบอร์ช่วยจัดออกมาให้เห็นนั้น ตั้งข้อเรียกร้องต่อองค์พระมหากษัตริย์มากมายและเป็นงานเป็นภาระอันหนักและยากเพียงใดที่ใครคนหนึ่งจะสามารถทำให้สำเร็จในทุกมิติของความคาดหวังนั้นได้

แต่เงื่อนไขความสำเร็จของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมจริงๆ แล้วกลับไม่ได้อยู่ที่โวหารหรือพลังโน้มน้าวใจทางวัจนกรรมของพวกเขา หากอยู่ที่พวกเราได้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศคราวหนึ่ง เมื่อผู้สื่อข่าวที่กราบบังคมทูลถามว่าทำไมจึงทรงเลือกบทบาทการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ต้องทรงงานหนักหลากหลายด้าน รวมทั้งโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่มีว่างเว้นแตกต่างจากพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ทรงตอบเธอว่า “I did not choose; it was chosen for me.”

แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เลือกผู้กำหนดบทบาทเช่นนั้นของพระมหากษัตริย์สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ตาม ผมกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยความหมายและการครอง authority เป็นอย่างดีตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่ขึ้นครองราชย์

นักวิชาการหลายคนกล่าวถึงอิทธิพลของบุคคลเช่นกรมหมื่นพิทยลาภฯ ในการถวายคำแนะนำ แต่ผมอยากเสนอว่าความเข้าพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของ authority ในทางการเมือง พระองค์ทรงได้รับโดยตรงมาจากการศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโลซานน์

พวกเราคณะนักวิจัยมีโอกาสเห็นใบลงทะเบียนรายวิชาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาที่นั่น รวมทั้งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงเรียนในระยะเวลาเดียวกันและเลือกเรียนบางวิชาเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ความสนพระทัยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอยู่ที่วิชาทาง liberal arts มากกว่า ในวิชากฎหมายด้านต่างๆ ที่ทรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยกฎหมายโรมันเป็นพิเศษ ทรงเลือกเรียนกฎหมายโรมันถึง 4 รายวิชา มากกว่าวิชากฎหมายในด้านอื่นๆ อย่างน่าสังเกต และรายวิชาเลือกที่ไม่ใช่ด้านกฎหมาย ทรงสนพระทัยเศรษฐศาสตร์การเมืองมากทีเดียว ดูจากที่ทรงเลือกวิชา Political Economy, History of Economic Doctrines, และ Comparative Political Institutions

อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ได้รับคำชื่นชมจากนิสิตที่เรียนประวัติศาสตร์กับอาจารย์ว่าเป็นคนใจกว้างทางความคิด เปิดให้คนเรียนคิดแตกต่างและเสนอเหตุผลแย้งคำอธิบายของอาจารย์ได้ แต่ผมคิดว่าถ้าเราได้เรียนกับอาจารย์คนไหนอย่างจริงจัง เราคนเรียนที่อยู่ในช่วง formative years ย่อมจะได้รับอิทธิพลจากคนสอนและเนื้อหาวิชาที่ได้อ่านได้เรียนมาไม่น้อย ทั้งในทางวิธีคิดวิธีมองปัญหา และแนวพินิจพิจารณาทางเลือกต่างๆ

พวกเราคณะนักวิจัยจึงคิดว่าน่าติดตามเหมือนกันว่าแนวทางในการทรงงานและโครงการพัฒนาต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากวิชาเหล่านี้ทรงเรียน และจากพระอาจารย์ผู้ถวายการสอนบ้างไหม

อย่างศาสตราจารย์ Firmin Oulès พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และประวัติลัทธิเศรษฐกิจ ไม่เพียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเศษฐกิจในแนวทางที่แตกต่างจากทั้งมาร์กซิสต์และเศรษฐกิจตลาดเสรี แต่ยังเป็นผู้เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพของ Vilfredo Pareto เป็นอย่างดี เพราะท่านขึ้นดำรงตำแหน่ง Chair ด้าน Political Economy สืบต่อจาก Pareto และ Léon Walras ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ และเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยเผยแพร่งานและความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ Pareto

แต่ผมอยากตั้งข้อสมมุติฐานว่าวิชากฎหมายโรมันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเป็นพิเศษนั้น ย่อมทำให้ทรงคุ้นเคยกับระบบการเมืองการปกครองโรมันทั้งในยุคสาธารณรัฐและจักรวรรดิ รวมทั้งการขึ้นลงเปลี่ยนแปลงในอำนาจของสถาบันทางการเมืองและของฝ่ายต่างๆ ในสังคมโรมันเป็นอย่างดี ผมจึงคิดว่าพระองค์ท่านย่อมทรงทราบแน่นอนว่ารากศัพท์ของ authority อยู่ใน auctoritas ของสภาเซเนตของผู้อาวุโสหรือหัวหน้ากลุ่มตระกูลในระบบการเมืองโรมันโบราณ และทรงเข้าพระทัยแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และบทบาทของสภาเซเนตโรมันทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตที่วิวัฒน์มาว่าทำอะไรอย่างไรได้บ้าง

อาจารย์รู้เรื่องราวมากกว่าผมแน่ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 และผู้นำคณะราษฎรจนนำไปสู่การตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในที่สุด ถ้าพิจารณาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องหลักการ ปัญหาการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภท 2 จริงๆ แล้วคือปัญหาการออกแบบคานอำนาจในขณะที่ราษฎรยังไม่มีโอกาสเลือกคนเป็นผู้แทนของเขาได้จริงๆ ที่เห็นต่างกันอยู่ระหว่างผู้นำคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7

ผมเข้าใจว่ารัชกาลที่ 7 และปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมมองตัวแบบของอังกฤษเป็นตัวตั้ง หลักการคานอำนาจในสภาตามตัวแบบอังกฤษที่สืบกลับขึ้นไปถึงความคิดของจอห์น ล้อคและเจมส์ แฮริงตันคือการแบ่งอำนาจในทางนิติบัญญัติไม่ให้ผูกขาดไว้โดยคนกลุ่มเดียว แต่แบ่งกันระหว่างกษัตริย์ House of Lords และ House of Commons การสมานปรองดองหลังจากผู้นำคณะราษฎรขอพระราชทานอภัยโทษจากรัชกาลที่ 7 น่าจะนำไปสู่ข้อตกลงการแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มพลังอำนาจที่มีอยู่จริงในสังคมการเมืองในทางที่จะเกิดการแบ่งสรรและคานกันขึ้นมาได้ในสภา แต่แล้วประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยก็พลิกไปอีกแบบหนึ่ง

ปัญหาการขาดระบบแบ่งสรรและคานอำนาจที่ลงตัวอันเป็นที่ยอมรับระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์กับฝ่ายผู้นำคณะราษฎรนี้ผมเห็นว่าเป็นความล้มเหลวแรกๆ ของระบอบใหม่ อาจารย์ปรีดีคงรู้ข้อนี้เหมือนกันเมื่อท่านออกจากคณะรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ว่าตำแหน่ง The one ของพระมหากษัตริย์นั้นจริงๆ แล้วสามารถใช้ให้เกิดคุณูปการในการคานกับ the few เพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวมได้ดีเพียงใด ส่วนที่ว่าเรื่องนี้จะเป็นแรงจูงใจให้อาจารย์ปรีดีหันมาหาทางเปลี่ยนระบอบจาก 2475 มาเป็นระบอบ 2489 ไหม อาจารย์น่าจะตอบได้ดีกว่าผมแน่

ปัญหานี้เป็นเรื่องค้างใจฝ่ายปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมมาจนถึงทศวรรษ 2490 ที่พวกเขาพยายามหาทางสร้างวุฒิสภาเข้ามาคานการใช้อำนาจในสภา แต่ฝ่ายอำนาจการเมืองที่มีฐานในระบบราชการอย่างจอมพลป. ผู้นำที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรที่เหลืออยู่ก็ไม่ยอมที่จะให้เป็นแบบนั้น

การต่อสู้แย่งยื้อการจัดสรรและสร้างระบบคานอำนาจในทางรักษาฐานที่มั่นการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายของตนในระบอบใหม่นี้ เกิดขึ้นผ่านกลไกการทำรัฐประหาร ตั้งต้นมาแต่รัฐประหาร 2476 จนดูเหมือนได้กลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งไปแล้ว จะมียกเว้นก็ตอนที่อาจารย์ปรีดีไปมีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและใช้สถานะของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ดำเนินการเปลี่ยนระบอบตามรัฐธรรมนูญ 2475 มาเป็นระบอบตามรัฐธรรมนูญ 2489 และจัดการเอาปีกอำนาจนิยมรัฐนิยมฟาสซิสต์ในคณะราษฎรออกไปตามกระบวนการทางรัฐสภา

การต่อสู้เพื่อจัดสรรและคานอำนาจด้วยกลไกรัฐประหารหรือความพยายามจะทำรัฐประหารส่งผลต่อปัญหาความเป็นเอกภาพในฝ่ายกองทัพที่คุมกำลังและเป็นปัจจัยที่ถูกดึงมาใช้ตัดสินผลแพ้ชนะในแต่ละคราว รวมทั้งส่งผลสร้างความตึงเครียดและแตกแยกในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางการเมืองด้วยกัน ที่ทำให้คนทำงานการเมืองต้องแตกออกเป็นฝักฝ่ายตามผู้นำและถูกกวาดล้างไปตามผลการแพ้ชนะที่เกิดขึ้น ถ้ารัฐธรรมนูญ 2489 เป็นชัยชนะของฝ่ายอาจารย์ปรีดี 2490 และ 2492 ก็เป็นจุดเปลี่ยนในสายตานักวิชาการปัญญาชนฝ่ายอาจารย์ ในขณะที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่าจุดเปลี่ยนที่ค้างใจพวกเขาคือ 2494-2495

ถ้ายึดคำถามของอาจารย์ที่ชวนให้พิจารณาปัญหาในเชิงระบบและหลักการมากกว่าที่จะเล่าประวัติศาสตร์ไปตามการยึดถือในตัวบุคคล หรือใช้ความพอใจ-ไม่พอใจในตัวบุคคลมาเป็นภาพแทนระบอบ ปัญหารัฐธรรมนูญนิยมที่มีประเด็นใจกลางคือเรื่องการจำกัดอำนาจเพื่อสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนในบริบทของพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยอยู่ตรงที่การไม่อาจตกลงกันได้ในตัวแบบการแบ่งปันอำนาจและการคานอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจที่มีอยู่ ที่ว่าไปแล้วคู่ต่อสู้แต่ละฝ่ายก็มีฐานอำนาจที่แคบ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยกว้างขวางอะไรมากนัก แต่ก็เป็นอำนาจที่มีอยู่จริงในสังคมการเมือง

ผมไม่ทราบว่าอาจารย์คิดอย่างไร แต่ผมว่าออกจะเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่การไม่ยอมกัน ความระเเวงกัน การผูกใจจะคิดบัญชีกันในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่อสู้กันมาเพื่อวางรากฐานและตัวแบบที่จะใช้จัดสรรแบ่งปันอำนาจและคานอำนาจกลับทำให้พัฒนาการรัฐธรรมนูญนิยมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และกระบวนการเดียวกันนี้กลับเปิดช่องให้กองทัพที่มีมหาอำนาจหนุนหลังเข้ามาตัดสินผลลัพธ์และพาพัฒนาการของการเมืองไทยลงสู่เส้นทางอีกสายหนึ่ง และเมื่อพวกเขายังไม่ได้มีฐานยึดโยงกับประชาชนได้กว้างขวางนัก ก็เลยไม่มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นจริงเหลืออยู่อีกต่อไป นอกจากจะต้องอิงอำนาจและการสนับสนุนของฝ่ายที่คุมกำลัง

แต่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ตลอดมาไม่ว่าผลของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในรัฐราชการไทยจะออกมาอย่างไร ไม่ว่าฝ่ายไหนแพ้ชนะคือ กลุ่มทุน ที่เดิมเป็นต่างด้าวแต่ภายหลังถูกม้วนเข้ามาไว้ในระบบอุปถัมภ์ของรัฐราชการไทยและในสังคมวัฒนธรรมไทย จะลอยตัวเข้ากับอำนาจของฝ่ายชนะได้ตลอดมา

การตกลงกันไม่ลงตัวที่จะวางระบบตามหลักรัฐธรรมนูญนิยมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของอำนาจที่มีอยู่ระหว่างกลุ่มอำนาจฝ่ายต่างๆ ในสังคมการเมืองย่อมสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ได้ด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงได้ประจักษ์ด้วยพระองค์เองในความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารในปลายปี 2494 ผมจึงคิดว่านั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีความจงรักภักดีที่จะมองหาตัวแบบอื่นๆ ในการใช้อำนาจทางการเมืองสำหรับพวกเขา และสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง

คนเรียนกฎหมายโรมันมาย่อมทราบดีถึงอำนาจแบบ auctoritas ของสภาเซเนตว่าไม่ได้เป็นคำสั่งที่มีอำนาจบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม หรือเป็นการวีโต้การตัดสินใจที่เกิดขึ้น แต่ก็มีพลังมากกว่าที่จะเป็นคำแนะนำปกติทั่วๆ ไปที่ส่งผลในทางยับยั้ง เตือนสติ หรือชี้นำให้เห็นว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร auctoritas ไม่ใช่อำนาจ/ power โดยตรง แต่เป็นองค์ประกอบในเชิงเหตุผลที่ทำให้การใช้อำนาจได้รับการยอมรับและรับฟัง เหตุผลอาจจะมาจากหลายฐานคิด auctoritas ของสภาเซเนตโรมันอิงกับการใช้เหตุผลพินิจพิจารณาคุณค่า ประโยชน์ ความเหมาะสม ของการตัดสินใจจากฐานคิดที่เป็นประเพณีหรือศาสนา คนหรือสถาบันที่มี auctoritas จะได้รับการยอมรับเพราะคนพากันเชื่อ ยอมรับและรับฟังว่าเหตุผลที่เขามีหรือที่หนุนหลังการวินิจฉัยตัดสินของเขา หรือที่มาจากสถาบันนั้น เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก เชื่อถือได้ เหมือนเราฟังคำวินิจฉัยของแพทย์ที่มี authority โดยเขาอาจแสดงหรือไม่แสดงเหตุผลนั้นออกมาให้เราทราบชัดเจน แต่เราก็ทราบว่าเขามีเหตุผลที่จะแสดงยืนยันอย่างควรรับฟังได้

บางคนเข้าใจว่า authority คืออำนาจโดยตำแหน่ง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักดีว่า auctoritas มิได้เป็นแบบนั้น ในบทสัมภาษณ์คราวหนึ่งทรงเล่าให้ผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์เมื่อตอนต้นรัชกาลว่า

“When I’d open my mouth and suggest something, they’d say: ‘Your Majesty, you don’t know anything.’ … So I shut my mouth. I know things, but I shut my mouth. They don’t want me to speak, so I don’t speak.”

จากในระยะแรกเมื่อต้นรัชกาลที่เป็นเช่นนั้น ในเวลาต่อมาหลังจาก 2495 เป็นต้นไป กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะไม่ทรงใช้หนทางและตัวแบบของสมเด็จพระบรมปิตุลาธิราชในการเข้าไปแบ่งสรรและคานอำนาจในสภาผ่านทางสมาชิกสภาประเภทที่ 2 หรือวุฒิสภาอีกต่อไป ความสำเร็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อยู่ที่การทรงสร้าง auctoritas ในระบบการเมืองที่ไม่มีใครเสมอเหมือนให้แก่บทบาทที่อยู่เหนือการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงสร้าง auctoritas นั้นขึ้นมาในแนวทางที่เป็นของพระองค์เอง ดังที่อาจารย์ก็คงจะตระหนักดีอยู่ว่าทรงประสบความสำเร็จมหาศาลเพียงใด

อาจารย์คงเคยเห็นแล้วที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตั้งข้อสังเกตในหนังสือคำสอนวิชากฎหมายมหาชนของท่านว่า “ในบางประเทศ แม้กษัตริย์ไม่มีอำนาจปกครองประเทศโดยตรงในทางรูปแบบ แต่ก็อาจมีอำนาจหรืออิทธิพลที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ…” แต่ผมคิดว่าบทพระราชทานสัมภาษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ได้ชัดเจนเช่นกัน

“…If the chief of state is no good they will make him into a rubber-stamp. But if the chief of state is better they will perhaps ask for his opinion because the opinion is respected – that is the difference. But how can I have the respect of the people? It is because I don’t use the power as you describe – I don’t use it. If there is a rule I go by the rule. But if there is no rule then my opinion  would be heard.”

สิ่งที่ปัญญาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมไม่สู้จะได้ตระหนักหรือเฉลียวใจมากนักก็คือ ความรักความผูกพันก็ดี ประเพณีก็ดี ความคิดความเชื่อที่เป็นคุณค่าต่างๆ ก็ดี ความรู้ในศิลปวิทยาการหรือบารมีในส่วนบุคคลก็ดี เป็นฐานเข้มแข็งสำหรับสร้าง authority ขึ้นมาได้ก็จริง แต่ข้อจำกัดของสิ่งเหล่านี้ในตัวของมันเองก็ใช่ว่าจะไม่มี

Vernon Bogdanor พูดถึงการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองของอังกฤษและเขาได้นำเสนอตัวแบบการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ในส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ เขาเห็นว่าการอิงฐานการยอมรับจากประเพณีน่าจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะค่านิยมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงมากและเปลี่ยนเร็วขึ้น จนการอิง traditional authority จะไม่เพียงพอสำหรับเหตุผลสนับสนุนการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษในศตวรรษนี้ อย่างไรก็ดี เขาก็เห็นว่าตัวแบบของระบบกษัตริย์ในระบบการเมืองการปกครองอังกฤษนับได้ว่าดีแล้ว ไม่จำเป็นที่อังกฤษจะต้องเปลี่ยนไปใช้ตัวแบบของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย

ข้อสังเกตของ Bogdanor นี้ทำให้เราต้องมาทบทวนข้อเสนอเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ และฤทธิอำนาจลี้ลับของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์อยู่เหมือนกันว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง หรือจะรักษาความหมายเช่นนั้นไว้ได้อีกหรือไม่ อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมและวัฒนธรรมโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบสามสิบปีที่ผ่านมานับแต่ที่อาจารย์นิธิฯ ช่วยปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมตรารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา

ยังไม่นับความเป็นไปได้ในความเป็นจริงของโลกที่ว่าความรักความผูกพันมากมายที่เรามีให้แก่บุคคลคนหนึ่งคนใด จะก่อปัญหาหรือความยากลำบากใจให้แก่เขา ให้แก่คนอื่นที่สัมพันธ์กับเขา หรือต่อคนอื่นที่เห็นแตกต่างจากเราไป ได้มากเพียงใด ในขณะที่เราต้องไม่ลืมว่าการใช้สัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของคนในชาติมาเป็นเครื่องมือหักล้างแบ่งแยกทางการเมืองด้วยความจงรักภักดีนั้นเป็นอันตรายต่อการที่สถาบันนั้นจะทำหน้าที่อันสำคัญนั้นต่อไปเพียงใด

จดหมายยาวมากแล้ว ผมเขียนขึ้นเพื่อระลึกถึงอาจารย์ว่าผมได้รับความเข้าใจอะไรบ้างจากอาจารย์ และทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ คือสิ่งที่ผมได้ความคิดและคิดต่อจากคำถามที่อาจารย์ตั้งประเด็นไว้ทั้งสิ้น

การทำงานวิจัยก็เหมือนกับเรากำลังเดินเข้าไปในวงกต จากทางที่เราตั้งต้นเข้าไป เราพบกับสิ่งต่างๆ ในวงกตนั้นมากมายที่ชวนให้เราเพลิดเพลินหรือติดหลงวนอยู่ในนั้น จนกว่าเราจะสังเกตเห็นเบาะแสบางอย่างที่อาจใช้เป็นจุดสืบสาวไปสู่ทางออก ผมทราบว่าอาจารย์ชอบอ่านวรรณกรรม แต่ไม่แน่ใจว่าอาจารย์เคยอ่านนิทานเกี่ยวกับวงกต ของบอร์เคส (Jorge Luis Borges) ไหมครับ เขาเทียบให้เห็นวงกต 2 แบบที่พาคนหลงวน วงกตที่ผมกำลังเพลิดเพลินอยู่นี้ ไม่เวิ้งว้างแห้งแล้งกันดารแบบวงกตทะเลทรายที่ Borges เล่า แต่เป็นวงกตอีกแบบหนึ่งของป่าไม้และต้นตาน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เมื่อเข้ามาแล้ว ถ้าไม่มีใครมาทำให้เราเห็นป่าทั้งป่า เราก็จะเห็นแต่ต้นไม้แต่ละต้นและสายน้ำหลายสาขา แต่มองไม่เห็นว่าป่าใหญ่ผืนนี้มีราวป่าและทางออกอยู่ที่ไหน

เบาะแสที่ผมได้จากอาจารย์ช่วยให้ผมเห็นเส้นทางออกสายหนึ่ง และผมคิดว่าเส้นทางออกสายนี้จะช่วยพาพวกเราไม่เพียงออกจากวงกต แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากป่าใหญ่อันอุดมสมบูรณ์และรักษาผืนป่าและตาน้ำนั้นไว้ให้ยั่งยืนสืบไปได้

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ศุภมิตร ปิติพัฒน์

 

รายการอ้างอิง

บทพระราชทานสัมภาษณ์แก่ Barbara Crossette “I did not choose, it was chosen foe me.” และ “When I’d open my mouth…” ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับ 21 May 1989 กับบทสัมภาษณ์  ‘My opinion would be heard’ ที่พระราชทานแก่วารสาร Leaders (April-June1982) ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ The King of Thailand in World Focus จัดพิมพ์โดย Foreign Correspondent’s Club of Thailand, 2007.

ธงทอง จันทรางศุ, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: เอสซีพรินท์ติ้งแอนด์แพ็ค, 2548).

ธานินท์ กรัยวิเชียร, พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, 2519).

‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2534) และตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือรวมบทความ: นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก คำนำเสนอโดย ธงชัย วินิจจะกูล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2538), 125-155.

วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและกฎหมายมหาชน (กรุงเทพฯ: โครงการตำราเอกสารการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557).

ผมได้ความคิดที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับ auctoritas และอำนาจหน้าที่ของสภาเซเนตในระบบการเมืองโรมัน กับแนวทางการ ‘ทำราชการ’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จากหนังสือรวมคำบรรยายเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองของ Carl J. Friedrich เล่ม An Introduction to Political Theory (New York: Harper & Row, 1967) Friedrich ยังให้ความเข้าใจชัดเจนในการเปรียบเทียบความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจของมงเตสกิเยอร์ กับล้อค และแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของล้อคและของมิลล์ ส่วนในงานวิจัยฉบับสมบูรณ์จะมีโอกาสที่จะนำแนวคิดของ Friedrich เกี่ยวกับเรื่อง Responsibility มาพิจารณาร่วมด้วย

เอกสารแสดงรายวิชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ คณะนักวิจัยได้รับความช่วยเหลือจากคุณ Olivier Robert แห่งหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยโลซานน์ผ่านการประสานงานของคุณเอกลักษณ์ ไชยภูมี

นิทานของ Borges เรื่อง ‘The Two Kings and the Two Labyrinths’ รวมตีพิมพ์กับงานเรื่องอื่นๆ ของเขา ใน Jorge Luis Borges, Collected Fictions translated by Andrew Hurley (New York: Penguin Books, 1998).

ความเห็นของ Bogdanor เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ ของอังกฤษ หาอ่านได้ใน Vernon Bogdanor, Power and the People: A Guide to Constitutional Reform (London: Victor Gollancz, 1997).

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023