fbpx
"วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว" - คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว” – คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ 101 เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว ได้เวลาที่คนรุ่นต่อไปจะเข้ามาทำการเมืองที่สร้างสรรค์ การเมืองแบบที่เราเคยอยากทำแต่ทำไม่ได้ วันนี้เราไม่มีพลังแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังได้เข้าไปออกแบบและกำหนดอนาคตของพวกเขาเองเถอะ”

หลังพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551  นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ หนึ่งในแกนนำพรรคไทยรักไทยยุคก่อตั้ง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ถอยห่างจากเวทีการเมืองไปอย่างเงียบๆ ร่วม 10 ปี จนกลับเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 1 ปี จนกระทั่งได้รับการพักโทษออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

ชีวิตทางการเมืองของ ‘หมอเลี้ยบ’ ผ่านประสบการณ์ทั้งแบบขึ้นสูงและลงสุดมาแล้ว แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่เจ้าตัวถือเอามาบั่นทอนชีวิตตัวเอง เขาบอกกับกองบรรณาธิการ 101 ว่า

“ตอนที่ถูกให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมไม่โกรธใครเลย คืนเดียวเท่านั้นที่ผมถามตัวเองว่าทำไมเข้ามาอยู่ที่นี่ ตื่นขึ้นมากลางดึกสองรอบ เหมือนฝัน แต่หลังจากนั้นไม่ได้คิดอะไรอีก ไม่มีแค้น ไม่มีไม่พอใจใคร ผมยังแปลกใจตัวเอง”

ในช่วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังถูกปลุกเร้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าต่างทยอยเปิดตัวและเตรียมประกาศนโยบาย ทั้งหมดทั้งปวง ‘หมอเลี้ยบ’ เห็นอะไร

จากคนเดือนตุลา หมอนักวิชาการ สู่นักการเมืองดาวรุ่งที่มีส่วนสร้างพรรคไทยรักไทย และร่วมผลักดันนโยบายที่กลายเป็นขวัญใจมหาชนอย่าง ’30 บาทรักษาทุกโรค’

จากรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคที่ร่วมสร้างมากับมือ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และถูกตัดสินให้เป็นนักโทษ จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพกลับมาเป็นพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะพร่องสิทธิทางการเมือง

101 ชวน ‘หมอเลี้ยบ’ สนทนาเรื่อง ‘อดีต’ ของพรรคไทยรักไทย ‘ปัจจุบัน’ ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ‘อนาคต’ ของการเมืองไทย

… ในวันที่เขาบอกว่า “วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว”

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

อะไรที่หล่อหลอมให้คุณหมอสนใจการเมืองและสังคม

ผมเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล ตอนปี 2517 หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยขณะนั้นเป็นบรรยากาศที่ทุกคนตื่นตัว อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย

มหิดลในตอนนั้นมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกคนที่เข้ามาเรียนจะยังไม่มีใครถูกกำหนดว่าจะเรียนเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือเป็นอะไร แต่นับรวมเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีนักศึกษา 400 คน พอเรียนครบสองปี ถึงจะถูกคัดเลือกว่าได้เรียนอะไร โดยพิจารณาจากผลการเรียนส่วนหนึ่ง อีกส่วนมาจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนักศึกษา

นี่เป็นแนวคิดที่ทันสมัยมากในยุคนั้น เขามองว่าตอนที่เราเรียนชั้นมัธยม อาจไม่รู้จักตัวเองมากนัก ฉะนั้นพอเข้ามาปีหนึ่งและปีสอง ก็เรียนรวมไปก่อน ค้นหาตัวเองว่าอยากเป็นอะไร ถนัดอะไร แล้วค่อยเลือก ต่างจากค่านิยมเดิมๆ ที่เอนทรานซ์เข้ามาก็เป็นแพทย์เลย  ช่วงสองปีแรกนั้นแหละ ที่เป็นเหมือนไฟท์บังคับว่าคุณต้องทำกิจกรรมนักศึกษา

คุณหมอทำกิจกรรมอะไรบ้าง

ตอนเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็จะเจอรุ่นพี่จุฬาฯ ทำหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ มาขายอยู่หน้าประตูโรงเรียน สมัยก่อนเวลาเขาทำหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต หรือนำเสนอความคิดต่างๆ มันไม่แพร่หลายหรอก ไม่มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป แต่จะมาเดินขายกันตามมหาวิทยาลัย เราก็ได้อ่านมาบ้างตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็แค่อ่าน ยังไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร

พอเข้ามหิดล เราถึงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ทั้งการมองโลก การมองเห็นว่ามีปัญหาอยู่รอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะช่วงที่ออกไปทำงานอาสา เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ได้เจอคุณหมอสงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ผมสามปี คุณหมอพรหมินทร์ (เลิศสุริย์เดช) รุ่นพี่ผมหนึ่งปี และอีกหลายๆ คนที่ทำกิจกรรมนักศึกษามาด้วยกันในยุคนั้น ถือว่าเป็นช่วงที่มีชีวิตชีวา

ที่มหิดล เรามีตึกกิจกรรมที่เรียกว่าตึกสันทนาการ ทุกบ่ายทุกเย็นเราจะมีกิจกรรมของสโมสร ของชมรม เราอยู่กันที่นั่นกันตลอด นอนค้างคืนกันที่นั่น เวลาศูนย์นิสิตนักศึกษานัดชุมนุม เตรียมออกไปติดโปสเตอร์ เราก็จะกวนกาวกันที่นั่น สามสี่ทุ่มก็นั่งรถกระบะออกไปติดโปสเตอร์ตามตึกแถว เป็นช่วงวัยหนุ่มสาวที่ได้ใช้ชีวิตเหมือนฝัน

แต่เมื่อมาถึง 6 ตุลาฯ เราถึงเห็นว่าความเป็นจริงไม่ได้งดงามอย่างที่เราฝันเสมอไป มีหลายเรื่องที่เกินความคาดหมาย และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของหลายๆ คน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รุ่นพี่บางคน เพื่อนบางคน กลับมาเรียนสักพัก ก็ค่อยๆ หายไป ไปสู่ป่าเขา กว่าจะกลับมาก็อีก 3-4 ปี

ส่วนตัวผม ผมมีเงื่อนไขว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าป่า ผมก็ทำกิจกรรมของผมไป แต่บรรยากาศหลัง 6 ตุลาฯ ก็ยังมีความเป็นเผด็จการอยู่ การปิดกั้นการแสดงออกมีมากกว่าทุกวันนี้เสียอีก

พอเรียนจบ ผมก็ไปทำงานต่างจังหวัด ไปอยู่โรงพยาบาลลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทำหน้าที่ของเรา ตอนนั้นก็ตั้งใจจะเป็นแพทย์อยู่ที่ต่างจังหวัด แล้วก็ทำงานไปเรื่อยๆ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด

ตอนที่เป็นนักศึกษา คุณหมอสนใจประเด็นทางสังคมอะไรเป็นพิเศษ

ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจประเด็นที่เกี่ยวกับสาธารณสุขเท่าไหร่ อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นแนวคิดที่ยังไม่มีใครพูดถึงเลยในตอนนั้น เพราะประเด็นหลักคือเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการทำให้ชีวิตของชาวไร่ชาวนาพ้นจากความลำบาก เรื่องของการพัฒนากรรมกรในสหภาพแรงงานให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่อีกแง่ ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความเป็นเยาวชน เรายังไม่เข้าใจปัญหาต่างๆ มากนัก ไม่ว่าในทางสังคมก็ดี หรือทางการศึกษาก็ดี ยังไม่มีการพูดคุยกันมากนัก ประเด็นหลักยังเป็นเรื่องกว้างๆ อยู่ เช่น วัฏจักรโง่-จน-เจ็บ ซึ่งต่อมาก็มีคนวิจารณ์เป็นแค่วาทกรรมที่ทำให้เรามึนชาต่อปัญหาอื่นๆ เป็นต้น

อย่างคุณหมอถือว่าเป็นสายบุ๋นหรือสายบู๊ 

ก็แล้วแต่ว่าอยู่ปีไหน (หัวเราะ) ปีหนึ่ง เราเป็นเหมือนแค่ผู้สนับสนุน พอปีสอง ก็มีรุ่นพี่ชวนให้ไปทำงานสโมสรนักศึกษา เป็นกรรมการสโมสร มีคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นนายกฯ พอถึงช่วง 6 ตุลาฯ ผมอยู่ปีสามไม่ได้ทำงานสโมสรแล้ว แต่มาทำงานในส่วนของพรรค คือพรรคแนวร่วมมหิดล พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทุกคนก็จะไม่ออกหน้า ค่อยๆ มาจับกลุ่มแลกเปลี่ยนกันว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร จะทำกิจกรรมอะไรกันได้บ้าง พอถึงปี 6 ผมเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นบทบาทที่ต้องเปิดหน้าแบบเต็มที่

ชีวิตจากแพทย์ชนบท สู่นักการเมือง จุดพลิกผันอยู่ตรงไหน 

ผมไม่คิดอยากทำงานการเมืองเลย พอผมทำงานที่โรงพยาบาลลำปลายมาศไปได้สักสองปี ใช้ทุนครบ หมอสงวนก็มาชวนไปทำงานด้วยกันที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ โคราช ตอนนั้นพี่หงวนอยู่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเหมือนตักศิลาที่นักศึกษาแพทย์ต้องไปศึกษางาน พอผมใช้ทุนครบสองปี แกจะย้ายไปที่โคราชพอดี เลยมาชวนผมไปด้วย แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ไป เพราะผอ.โรงพยาบาลลำปลายมาศจะไปเรียนต่อพอดี เลยขอให้ผมอยู่ช่วยที่ลำปลายมาศก่อน ก็เลยไม่ได้ทำงานกับพี่หงวน

เมื่อผมอยู่โรงพยาบาลลำปลายมาศเข้าปีที่สาม ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะเรียนต่อดีไหม สาขาที่ผมมองไว้ก็คือด้านสมอง ประสาทวิทยา ผมเลยติดต่ออาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นเหมือน role model ของผมตั้งแต่สมัยเรียน คืออาจารย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมจะสมัครเรียน แต่พอผมกลับมาที่บุรีรัมย์ ภรรยาผมซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้วยกันก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ผมอยากจะเป็นหมอรักษาคนไปตลอดชีวิตหรือ ทำให้ผมฉุกคิดว่าเราชอบสิ่งนี้จริงๆ หรือเปล่า เราอยากเป็นหมอรักษาโรคทางสมองไปตลอดชีวิตไหม พอใช้เวลาทบทวนสักพัก ผมก็ตัดสินใจว่าไม่ดีกว่า เราอยากทำอะไรที่มีความหมายมากกว่านั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่านั้น

ระหว่างที่ผมลังเลอยู่นั้น ก็มีอาจารย์ที่ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คืออาจารย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ซึ่งทำมูลนิธิหมอชาวบ้านอยู่กับอาจารย์ประเวศ วะสี ถามผมว่าสนใจเป็นอาจารย์ที่ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชนไหม ถึงจุดนี้ก็เป็นทางสองแพร่งแล้วว่าจะไปเป็นหมอทางประสาทวิทยา หรือจะมาเป็นอาจารย์ที่ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน พอนึกถึงคำถามที่ภรรยาถาม ผมจึงตัดสินใจเป็นอาจารย์ดีกว่า

ผมทำงานอยู่ที่รามาประมาณ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2527-2539 ระหว่างนั้นเป็นทั้งอาจารย์ที่ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนการบริหารโรงพยาบาล แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่อาจารย์อรรถสิทธิ์ส่งผมไปเรียนที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนเรียน ผมก็เหมือนกบในกะลา ไม่เข้าใจหรอกว่าบริหารธุรกิจ หรือ MBA มันลึกซึ้งซับซ้อนแค่ไหน ตอนเรียนแพทย์เราก็รู้สึกว่ามันยากแล้วนะ ฉะนั้นเรื่องธุรกิจหรือ MBA คงไม่เท่าไหร่ พอเข้าไปเรียนถึงรู้ว่า อ้อ นี่เป็นศาสตร์ที่เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ต้องใช้ความพยายามมาก ผมสอบบัญชีตัวแรก เชื่อไหมว่าสอบตก เป็นการสอบตกครั้งแรกในชีวิต (หัวเราะ) ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกเยอะ

จนกระทั่งปี 2539 มีการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาฯ ซึ่งถือเป็นจุดพลิกชีวิตครั้งใหญ่

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

งานวันนั้นเปลี่ยนชีวิตคุณหมออย่างไร

วันนั้นคืองานรำลึก 6 ตุลาฯ ครั้งแรก หลังเหตุการณ์ผ่านไปยี่สิบปี คนที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาจะรู้สึกว่านี่คือวันที่เราต้องมารวมตัวกัน แล้วบรรยากาศวันนั้นก็ดีมาก โดยเฉพาะช่วงที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวปาฐกถาในช่วงท้าย ผมจำถ้อยคำเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่จำอารมณ์วันนั้นได้ อาจารย์เสกสรรค์เริ่มต้นด้วยการค่อยๆ พูด แล้วก็เร่งเร้าขึ้นเรื่อยๆ พอถึงช่วงท้าย ภาพที่เห็นคือทุกคนยืนเงียบ ฟัง อาจารย์เสกสรรค์ปราศรัยทำนองว่าพวกคนเดือนตุลาที่ทุกวันนี้ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข อยู่ในมุมสบายๆ ของตัวเอง ถึงเวลาที่พวกเราต้องออกจากมุมของตัวเองได้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องมีการปฏิรูปการเมืองแล้ว แกเรียกร้องให้ทุกคนเอาพลังที่เราเคยมีอยู่เมื่อช่วงยี่สิบก่อนมาช่วยกันทำให้การเมืองดีขึ้น

ระหว่างที่ยืนฟัง ความรู้สึกของเราก็ค่อยๆ พลุ่งพล่านขึ้นมา พอไปถามหลายๆ คนในภายหลัง เขาก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ผมคิดกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันไม่น่าพอ เราควรทำอะไรมากกว่านี้ การเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดี ก็คงได้ประมาณนี้แหละ ตอนนั้นภรรยาของผมยืนฟังอยู่ข้างๆ กัน ก็หันมาบอกว่าเราคงต้องทำอะไรมากกว่านี้อีกมาก ผมเองก็คิดเหมือนกัน ภรรยาก็บอกว่าเอาเลย ทำเลย

วันรุ่งขึ้นผมก็เลยโทรหาคุณสุธรรม แสงประทุม ตอนนั้นเป็น ส.ส. พรรคพลังธรรม ผมบอกว่าอยากมาช่วยทำงานการเมือง จะให้ผมทำอะไรบ้าง แกก็บอกว่า ตอนนี้พรรคกำลังตกต่ำ เสียความนิยมไปพอสมควรแล้ว เข้ามาตอนนี้คงทำอะไรได้ไม่มาก ผมก็เลยตอบไปว่า ในเมื่อพรรคกำลังตกต่ำ ถ้าไม่ให้ผมเข้าไปช่วยทำตอนนี้ แล้วจะให้เข้าไปตอนไหน มันควรต้องเข้าไปช่วยกันไม่ใช่หรือ แกก็บอกว่าถ้าตัดสินใจแบบนั้น ก็เข้ามา

พอผมเข้าไป ก็คุยกันอยู่สักระยะว่าจะช่วยทำอะไรดี สุดท้ายเขาบอกว่างั้นไปลงสมัคร ส.ส. เลยไหม ถ้านับจากคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ผมลงสมัคร ส.ส. เดือนพฤศจิกายน 2539 เป็นเวลาประมาณ 40 วันเท่านั้นเอง ผลปรากฏว่า สอบตก (หัวเราะ)

เวลาแค่ 40 วัน หาเสียงอย่างไร

นี่แหละคือปัญหา พอเขาบอกให้ผมไปลงสมัคร ส.ส. เลย ผมก็ไม่มีอะไรจะเสีย เอาก็เอา แต่ในระหว่างการหาเสียง ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองทุกวัน นับถอยหลังว่าเมื่อไหร่มันจะจบสักที เพราะนี่ไม่ใช่งานการเมืองในแบบที่ผมอยากทำ การหาเสียงในตอนนั้นคือการเดินไปเคาะประตูบ้าน ยกมือไหว้ แจกบัตร ย้ำเบอร์ นโยบายไม่มี ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าถ้าเลือกผมแล้วจะได้อะไรบ้าง เคยถามไปทางพรรคว่าเรามีนโยบายอะไรที่จะสามารถพูดให้ชาวบ้านเลือกเราบ้าง คำตอบคือไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน มีแค่นโยบายกว้างๆ แบบทั่วไป

พอผมหาเสียงไป ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วยว่า นี่ใช่งานการเมืองที่เราอยากทำจริงๆ หรือ คำตอบคือไม่ใช่ ผมก็นับถอยหลัง พอถึงวันหาเสียงจบ ผมโล่งอกมาก ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สุดท้ายก็สอบตก แต่หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้กลับไปรับราชการอีกเลย

แล้วเข้าไปช่วยสร้างพรรคไทยรักไทยได้อย่างไร

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540  ราวๆ กลางปี 2541 คุณทักษิณ ชินวัตร ก็ประกาศตั้งพรรคไทยรักไทย ออกข่าวมาว่าจะเป็นพรรคการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้าไปช่วย ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ก่อตั้ง ผ่านไปสักพักคุณหมอพรหมินทร์ถึงโทรมาหาผม ถามว่าอยากเข้ามาช่วยไหม ผมก็บอกว่าเอาสิ ก็ลองเข้าไปดู ตอนนั้นที่ทำการพรรคไทยรักไทยอยู่ที่ถนนราชวิถี ไม่ได้ใหญ่โตอะไร คนที่ช่วยกันก็มีอยู่ไม่มากนัก คุยกันในห้องประชุมแค่ 7-8 คน

แกนหลักในตอนนั้นมีใครบ้าง

ตอนแรกมีคุณหมอพรหมินทร์ แต่พอชวนผมเสร็จแล้ว แกก็ไม่ทำต่อ (หัวเราะ) บอกว่ารับภาระหน้าที่ให้มาชวนผม พอผมเข้าไปทำสักพัก ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้อำนวยการพรรค ตอนนั้นหัวหน้าพรรคก็คือคุณทักษิณ เลขาธิการพรรคคือคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส่วนผู้อำนวยการพรรคคือคุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองผู้อำนวยการพรรคมีสองคน คือผมกับคุณภูมิธรรม เวชยชัย โฆษกฯ คือ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รองโฆษกคือคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ

บนห้องทำงานชั้นสองของพรรคก็จะมีกันอยู่แค่นี้ เห็นหน้ากันไม่กี่คน แต่ถ้าเป็นฝั่งทีมที่ทำนโยบาย ก็จะมีอีกจำนวนหนึ่ง ช่วงแรกมีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาช่วย มีอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และช่วงหลังก็มี ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย แต่ละคนรับผิดชอบกันคนละด้าน ผมรับผิดชอบเรื่องสาธารณสุข คิดว่าเราจะทำนโยบายสาธารณสุขแบบไหนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้

ตอนนั้นคิดถึงโจทย์ใหม่ๆ อะไรบ้างในการสร้างการเมืองใหม่ วางยุทธศาสตร์กันอย่างไรจนทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้ในที่สุด

พรรคไทยรักไทยมีเวลาพอสมควรในการฟูมฟักตัวเองก่อนถึงวันเลือกตั้ง ผมลองนั่งนึกดูว่า ถ้าการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2544 เราอาจไม่พร้อมขนาดนี้ เพราะถ้าย้อนไปช่วงกลางปี 2543 มีการลาออกของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน หลายคนประเมินกันว่าอาจมีการยุบสภา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ยุบ ซึ่งถ้ายุบตั้งแต่ตอนนั้น พรรคไทยรักไทยก็อาจยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

ถ้ามองในแง่ของระยะเวลา ช่วงปี 2542 เป็นช่วงที่เรายังไม่สามารถฟอร์มนโยบายกันได้ชัดเจนนัก เรากำลังหาทิศทาง หาตัวตนของตัวเองอยู่ รู้แต่ว่าเราต้องทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่เอาแล้วกับการเมืองประเภทที่ใช้วาทศิลป์ ใช้การโจมตีกัน แต่ถามว่าแล้วจะทำแบบไหน มันยังนึกกันไม่ออก

ผมคิดว่าเวลานั้น หลายคนอาจประเมินพรรคไทยรักไทยสูงกว่าความเป็นจริง อาจมองว่าเรามีการเตรียมการกันอย่างจริงจัง เป็นระบบระเบียบ มีแนวทางชัดเจน ในช่วงปีแรกก็ต้องบอกตามตรงว่ายังไม่ขนาดนั้น แต่ในช่วงต้นปี 2543 ถึงต้นปี 2544 ที่มีการเลือกตั้ง ถือเป็นหนึ่งปีที่มีการพัฒนาเชิงคุณภาพอย่างชัดเจน

จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน เล่าเบื้องหลังให้ฟังหน่อยว่า นโยบายอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ผมคิดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้มาเรื่อยๆ ทีละขั้น ไม่ได้มีจุดไหนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ช่วงปี 2542 พรรคไทยรักไทยให้สัมภาษณ์อะไร ผู้สื่อข่าวก็ยังไม่ค่อยสนใจ มองว่าเรายังเป็นพรรคใหม่ ส.ส.ก็ไม่มี กิจกรรมทางการเมืองก็ไม่มี แม้เราจะพยายามทำกิจกรรม พยายามให้สัมภาษณ์ แต่ส่วนใหญ่ก็มักไม่เป็นข่าว เราตั้ง ครม.เงา มีประชุมกันทุกวันพฤหัส พอประชุมเสร็จ ออกไปให้ข่าว ก็ไม่มีข่าว

ผมเคยถามคุณทักษิณว่าตั้งเป้า ส.ส. ไว้เท่าไหร่ เขาบอกว่าตั้งไว้ 25 คน หวังแค่นั้น ตอนนั้นเรายังไม่รู้แน่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ต่อมาพอเริ่มทำนโยบาย ก็มีการพูดถึงนโยบายหลายๆ อย่าง เช่น SMEs จำได้ว่าตอนนั้นเราจัดเป็นนิทรรศการที่ศูนย์สิริกิติ์ ก็มีคนสนใจบ้าง แต่ไม่มากนัก บางคนยังไม่รู้จัก SMEs ด้วยซ้ำไป เรียกผิดเป็น EMS (หัวเราะ) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก

เมื่อผมคิดถึงนโยบายด้านสาธารณสุข ผมรู้สึกว่านโยบายที่คิดได้ในขณะนั้น มักเป็นนโยบายที่เจาะเป็นเรื่องๆ เช่น ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิด ทำอย่างไรถึงจะป้องกันโรคไม่ติดต่อได้ เพื่อเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย พูดง่ายๆ ว่าเป็นนโยบายที่ปลีกย่อยมาก จิปาถะ ซึ่งผมมองไม่ออกว่ามันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ผมจึงนัดกับหมอสงวน บอกแกว่าผมมาช่วยพรรคไทยรักไทย อยากขอคำแนะนำหน่อยว่าควรทำนโยบายอย่างไร

ตอนนั้นผมไปหาพี่หงวนที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ แกไปจัดสัมมนาที่นั่น และมีเวลาให้ผมสั้นมาก คือช่วงพักเบรกประมาณ 15 นาที ผมไปถึงก็ตั้งคำถามกับแกเลย ถามว่าพี่มีความฝันอะไรบ้างในชีวิตที่ยังทำไม่สำเร็จ คิดว่าอยากทำแต่ไม่เคยได้ทำ แกก็ตอบเลยว่า ผมมีความฝันอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งทำไปได้พอสมควรแล้ว เรื่องที่สอง อยากทำมาก เคยเอาไปเสนอหลายๆ พรรค แต่ไม่มีใครเอาเลย เขาคิดว่ามันเพ้อฝัน ก็คือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วแกก็เล่าให้ฟังพอสังเขป ซึ่งผมเองก็พอรู้มาบ้าง

จากนั้นผมกับหมอสงวนก็กลับไปทำการบ้าน จนกระทั่งได้แนวคิดที่ชัดเจนถึงเอามาเสนอคุณทักษิณ จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันคริสต์มาสอีฟพอดี 24 ธันวาคม 2542 คุยกันอยู่ประมาณ 40 นาที คุณทักษิณบอกว่าสนใจ และน่าจะจัดสรรงบประมาณได้ไม่ยาก เดี๋ยวทำเป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทยไปเลย

แต่คุณทักษิณบอกว่า คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันฟังยาก ชาวบ้านไม่เข้าใจหรอก แล้วแกก็โพล่งขึ้นมาว่า “15 บาทรักษาทุกโรค” เราก็รู้สึกว่าฟังง่ายดี แล้วแกก็ให้ผมกลับไปคิดต่อว่าสุดท้ายแล้วจะใช้คำว่าอะไร จากนั้นเราก็มานั่งระดมสมองกัน ช่วยกันคิดหลายรอบ ก็คิดไม่ตกกันสักที หาคำง่ายๆ ไม่ได้ สุดท้ายเลยกลับมาที่คำแรกที่คุณทักษิณโพล่งออกมา แต่เราก็เถียงกันต่อว่า 15 บาทนี่มันโอเคไหม ทำไมไม่เป็น 100 บาท ทำไมไม่เป็นเท่านั้นเท่านี้ ต้องเท่าไหร่มันถึงจะเหมาะสม

สุดท้ายก็คิดไปถึงค่าทางด่วน ตอนนั้นค่าทางด่วนมัน 30 บาท คนอยากไปไหนเร็วๆ ก็ยอมเสีย 30 บาท เลยมาสรุปกันที่ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งพอเราคิดนโยบายนี้ได้ปุ๊บ นโยบายอื่นๆ ก็เริ่มทยอยผุดขึ้นมา

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

พูดได้ไหมว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นตัวพลิกเกมที่ทำให้เห็นแนวทางการคิดและทำนโยบายของพรรคไทยรักไทย

ใช่ มันคือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่ทำให้คนรู้สึกได้จริงๆ ว่านโยบายแบบนี้แหละ น่าสนใจ แล้วตอนนั้นเรากำลังจะจัดงานประชุมใหญ่ประจำปีของพรรค หรือ Party Convention ซึ่งพรรคอื่นไม่เคยจัดเลย ความตั้งใจของเราคืออยากจัดประชุมพรรคแบบต่างประเทศ แบบที่พรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันทำกัน

ทีนี้พอคิดกันว่าจะทำ เราก็คิดกันต่อว่าต้องมีการประกาศวาระ ซึ่งเราก็ประกาศเป็น 11 วาระแห่งชาติ แล้วก็ค่อยๆ ฟอร์มกันขึ้นมาว่า 11 วาระควรจะมีอะไรบ้าง เท่าที่จำได้ก็มีเรื่องพักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, SMEs  เราจัดงานนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2543 ที่ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถือเป็นงานใหญ่ที่ทำให้เกิดการพัฒนาพรรคอย่างก้าวกระโดด

พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนการเมืองไทยอย่างไรบ้าง และทำได้อย่างไร

ถ้ามองย้อนกลับไป มันเหมือนมีจิ๊กซอว์หลายๆ ตัวที่มาต่อกันได้พอดีในช่วงเวลานั้น อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สมมติว่าถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความรู้สึกที่ว่าต้องมีการปฏิรูปการเมือง อยากเห็นการเมืองรูปแบบใหม่ ก็อาจไม่แรงกล้าขนาดนั้น ผมพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นแรงบันดาลใจของคนจำนวนมาก

ปัจจัยต่อมา คุณทักษิณอาจมองว่า การปฏิรูปให้เกิดพรรคการเมืองในแบบที่เขาอยากเห็น มันทำไม่ได้กับพรรคพลังธรรม แกจึงออกมาทำพรรคแบบใหม่ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ตามความคิดของเขา

ปัจจัยที่สาม ถามว่าเงินทุนมีผลขนาดนั้นไหม เท่าที่ผมทราบ คือแกเคยจ้างทีมมาช่วยคิดนโยบายหลายทีม แต่กลายเป็นว่านโยบายเด่นๆ ที่ออกมาในตอนสุดท้ายไม่ได้เกิดจากทีมนโยบายเหล่านั้นเลย ฉะนั้นก็ตอบคำถามว่า เงินจ้างไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะจ้างคนมาคิดนโยบายสำเร็จรูปได้ มันทำไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีความลงตัวหลายๆ อย่างประกอบกัน

การที่มีคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ที่เราเรียกว่า ‘นกแล’ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในพรรคก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ

หลังจากมี Party convention แล้ว เราก็ติดป้ายตามหมู่บ้าน ประมาณเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดผลสะเทือน คือคนอาจรู้สึกว่า ทำไมป้ายมันเยอะแยะขนาดนี้ ได้เห็นเนื้อหาในป้ายที่พูดถึงนโยบาย กระทั่งมีบางคนบอกว่า ติดป้ายไปก็เท่านั้น ถึงเวลาเลือกตั้งป้ายก็พังไปหมดแล้ว ตอนนั้นเราคิดกันช่วงต้นปี 2543 พอถึงตอนเลือกตั้งมกราคม 2544 มันก็พังจริงๆ แต่ที่เห็นผลคือมันสร้างความรู้สึกตื่นตัวให้คนจำนวนมากทั่วประเทศ

ช่วงไหนที่เริ่มรู้ตัวแล้วว่า มีโอกาสชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล

ก่อนเลือกตั้งเราประเมินกันไว้ว่าน่าจะชนะเยอะ แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้

แล้วตั้งแต่ช่วงไหนที่มั่นใจว่าไม่ใช่พรรค 25 เสียงแล้ว

น่าจะช่วงปลายปี 2543 เราเริ่มเห็นทิศทางแล้ว เพราะเรามีการทำโพลกันจริงๆ มีการวัดคะแนนนิยมอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทำทุกเขต ทำแค่รวมๆ ซึ่งไม่สามารถบอกชัดเจนเป็นตัวเลขได้ว่าเขตไหนชนะ เขตไหนแพ้ ฉะนั้นพอถึงปลายปี 2543 หลายเขตที่เราไม่คิดว่าจะมีหวัง ก็เริ่มมีหวัง มองกันไว้ว่าตัวเลขน่าจะทะลุ 100 แล้วแน่ๆ แต่ไม่มีใครคิดว่าจะทะลุไปถึง 248 แต่ระหว่างนั้นมันก็ยังมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย มีการโจมตีใส่ร้ายป้ายสีกันเป็นเรื่องธรรมดา

นวัตกรรมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งเรื่องยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการหาเสียง รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ที่คุณหมอพูดถึง 

ผมคิดว่าสิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำในช่วงปี 2543-2544 อาจดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องเก่าในสังคมอื่น (หัวเราะ) ฉะนั้นถามว่าเป็นนวัตกรรมไหม ก็ไม่ขนาดนั้น

เราเรียนรู้การหาเสียงของพรรคการเมืองจากต่างประเทศ ยุคนั้นน่าจะเป็นยุคปลายๆ ของบิล คลินตัน และโทนี่ แบลร์ เราพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่เขาทำ เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้ง เราก็พยายามไปดูว่าเขาใช้วิธีแบบนั้นแบบนี้ ฉะนั้นเรื่องการตลาดจึงไม่ใช่การตลาดแบบดั้งเดิม แน่นอนว่าเราใช้บริษัทโฆษณา แต่บริษัทโฆษณาไม่ใช่คนที่เสนอว่าเราต้องหาเสียงแบบนี้ หน้าที่ของบริษัทโฆษณาคือทำให้การหาเสียงน่าสนใจขึ้น แต่สิ่งที่จะนำเสนอ หรือถ้าเทียบก็คือตัวผลิตภัณฑ์ เราต้องเป็นคนคิดเอง

เราเป็นคนกำหนดว่าพรรคการเมืองแบบไหนที่เราอยากเป็น นโยบายแบบไหนที่เราอยากมี แล้วเราก็เรียนรู้จากต่างประเทศว่าเขาใช้วิธีแบบไหนกัน ส่วนเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ผมคิดว่าเป็นวัฒนธรรมที่มุ่งไปสู่การเมืองที่ทันสมัย การเมืองแบบที่อารยประเทศเขาทำกัน

ย้อนถามเรื่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อยากรู้ว่ากว่าจะได้ลงมือทำ เบื้องหลังการถ่ายทำเป็นอย่างไร 

ถ้าเทียบให้เห็นภาพ ช่วงก่อน 24 ธันวาคม 2542 ที่เราเสนอนโยบายกับคุณทักษิณ เราทำงานหนักน้อยกว่าช่วงหลัง 6 มกราคม 2544 มาก พูดง่ายๆ ว่างานหนักจริงๆ คือช่วงหลังชนะเลือกตั้งแล้ว

ช่วงก่อนที่จะเอาไปเสนอคุณทักษิณ เป็นแค่การสรุปความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ตกผลึกเท่านั้น ว่าตอนนี้เรามีคนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพอยู่ 40 กว่าล้านคน จะต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ จัดสรรงบประมาณอย่างไร แต่การลงรายละเอียดต่างๆ เรามาเริ่มทำกันอย่างจริงจังช่วงหลังชนะเลือกตั้ง แล้วเริ่มผลักดันเรื่องนี้ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งช่วงเวลาที่หนักมากคือช่วง 8 เดือน ก่อนจะถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็น 8 เดือนที่ทุกองคาพยพของกระทรวงสาธารณสุขทุ่มเทมาที่เรื่องนี้ ซึ่งต้องขอบคุณคุณหมอมงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้น ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในฝั่งข้าราชการประจำ คุณหมอมงคลผลักดันเต็มที่ สู้เต็มที่ ทำให้งานนี้จบได้ก่อนที่คุณหมอจะเกษียณพอดี

ทำไมถึงต้องขีดเส้นไว้ที่เดือนตุลาคม 2544

เรื่องเงื่อนเวลาเป็นเรื่องที่เราถกกันเยอะเหมือนกัน ถ้าเป็นฝั่งของนักวิชาการ หรือแม้แต่หมอสงวนเอง มองว่าต้องใช้เวลาในการสร้างระบบใหม่ทั้งหมดอย่างน้อย 2 ปี ทำเร็วไม่ได้ รีบไม่ได้ แต่ในทางการเมือง เรามองว่า 2 ปีเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปที่จะทำให้นโยบายที่เราเสนอเกิดเป็นผลสำเร็จ ผมก็เลยตั้งไว้ที่ 1 ปี นับจากวันที่เราเริ่มต้นทำงาน อยากทำให้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นให้ได้

แต่ที่มันเร็วขึ้นอีกประมาณ 4 เดือน ต้องยกเครดิตให้คุณหมอมงคล เพราะท่านอาจมีความมุ่งมั่นส่วนตัวว่าอยากทำให้เสร็จก่อนเกษียณ ซึ่งก็คือ 30 กันยายน 2544 ผมบอกเลยว่าถ้าคุณหมอมงคลไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ทุ่มเทและกล้าฟันธงขนาดนั้น งานนี้ก็คงเหนื่อยมาก และคงมีปัญหาอื่นๆ สะสมไว้อีกมากพอสมควร

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความไว้ว่า ถ้าไม่รีบทำ ก็จะไม่ได้ทำ สมมติว่าเราใช้กรอบเวลาเดิมคือ 2 ปี เผลอๆ วันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจยังไม่เกิด เพราะว่าอุปสรรคหรือปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาขัดขวาง จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแรกที่เราทำโครงการ 30 บาท ยังไม่ค่อยมีปฏิกิริยาต่อต้านเท่าไหร่ เพราะทุกคนยังมองไม่ออกว่ามันคืออะไร ทุกคนเข้าใจว่ายังมีงบประมาณเดิมอยู่ แล้วรัฐบาลใจกว้าง ให้เงิน top-up เพิ่มเข้ามา ทุกคนไม่มีปัญหา ไม่ต้องเสียอะไร แต่ความจริงมันไม่ใช่ เพราะนี่คือการปฏิรูประบบงบประมาณทั้งระบบ เปลี่ยนวิธีบริหารงบประมาณจากรายโครงการ เป็นรายหัวของประชากร ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่ได้เพิ่มขึ้น และคนที่ได้น้อยลง ซึ่งคนที่ได้น้อยลงนั่นแหละ จะเป็นปัญหา

ฉะนั้นช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีบางส่วน บางโรงพยาบาล ที่ได้รับผลกระทบ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับบริษัทยาจำนวนหนึ่ง โรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่ง แต่เขาออกมาตอนที่คนทั้งประเทศรู้แล้วว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ฉะนั้นโอกาสที่จะทำให้เลื่อนออกไปหรือยกเลิกไป มันทำไม่ได้แล้ว

นี่เป็นโครงการที่สั่นสะเทือนวงการแพทย์ทั้งระบบ ซึ่งจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราอยากทำอีกอย่าง แต่ยังทำไม่ได้ คือการแปลงโรงพยาบาลของรัฐให้อยู่ในรูปแบบองค์การมหาชน เรื่องเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่การบริหารจัดการโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

ย้อนไปในวันที่ไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล สร้างนโยบายแบบที่ตั้งใจเปลี่ยนประเทศไทย แต่ทำไมอยู่ไปสักพักจึงเกิดแรงต้าน อะไรคือจุดเปลี่ยนทางการเมือง จากพรรคที่เคยเป็นความหวังของผู้คน กลายเป็นพรรคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากคนจำนวนไม่น้อย

ผมมองว่าปัจจัยที่นำมาสู่ปัญหาของพรรคไทยรักไทยในช่วงหลังมีหลายปัจจัย แล้วถ้ามองแบบแยกส่วน อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง ก็จะเห็นถึงรอยแยกบางส่วนที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ถ้ามองย้อนไปตอนนั้น ผมคิดว่าหลายคนก็คงไม่คิดว่าเราจะกลายเป็นอย่างทุกวันนี้ได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ และคิดว่าถ้าเราจะทำงานการเมืองต่อไป มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกก็คือว่า ตอนที่เราทำงานในฐานะของพรรคการเมือง เรามีทีมที่ช่วยกันคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ที่สามารถทำให้เราก้าวต่อไปตามอุดมคติที่เราอยากเห็น แต่พอชนะเลือกตั้ง ทีมทุกทีม คนทุกคน ที่เคยนั่งช่วยกันคิด ต่างคนต่างกระจายกันไปทำงานของตัวเองตามกระทรวงต่างๆ โดยที่ไม่มีใครทำงานให้พรรคตรงส่วนกลางเลย

หัวหน้าพรรคก็เป็นนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่เป็นมันสมองทั้งหลายก็แยกย้ายกันไปบริหารประเทศ ฉะนั้นพรรคในช่วงหลังจึงแทบไม่มีความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ฉะนั้นถ้าหากย้อนเวลาไปได้ ผมเองยังมีความรู้สึกว่า ถ้าหากเรารู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบนี้ ผมขอรับหน้าที่ทำงานดูแลพรรคต่อก็ได้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

กลายเป็นว่าพรรคกลับไม่ได้เข้มแข็งขึ้นหลังจากชนะเลือกตั้ง?

ในแง่ความรู้สึกของพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน มันยังแข็งแรงอยู่ เพราะพอเราเป็นรัฐบาล คนก็จะรู้สึกว่าพรรคการเมืองนี้เป็นพรรคหลัก แล้วทุกคนก็อยากจะเข้ามาช่วยพัฒนาส่งเสริม แต่พอหลากคนหลายความคิด ถึงจุดหนึ่งมันไม่มีคนที่เป็นเจ้าภาพหลัก โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มีการยุบพรรคบางพรรคมารวมกับไทยรักไทย วัฒนธรรมองค์กรหลายๆ อย่างที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ ก็เริ่มถูกวัฒนธรรมดั้งเดิมจากพรรคที่ยุบมารวม เข้ามาผสมด้วย ฉะนั้นช่วงหลังๆ แม้มันจะดูเข้มแข็งขึ้น แต่อุดมคติบางอย่างก็เริ่มเจือจางไป

สังเกตว่าในการเลือกตั้งครั้งหลังๆ นโยบายที่พุ่งทะลุขึ้นมาอย่างโดดเด่นเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนใหญ่จะกลายเป็นนโยบายเฉพาะทาง เฉพาะหน้า แต่ไม่มีนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน เช่น นโยบายการศึกษา ถ้าเรามีทีมที่นั่งคิดด้วยกันเหมือนตอนปี 2542-43 เราน่าจะมีนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนกว่านี้ กระจายอำนาจได้มากกว่านี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการเรื่องคุณภาพการศึกษาได้ดีกว่านี้ ถ้านับจากต้นปี 2544 ก็แทบไม่มีใครคิดนโยบายแบบนี้ออกมาอีกเลย

ตอนนั้นคนในพรรคเริ่มมองเห็นสัญญาณเหล่านี้ไหม แล้วประเมินสถานการณ์และจัดวางท่าทีกันอย่างไร

ตอนนั้นไม่เห็น ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองก็มีหน้าที่ที่ต้องทำในแต่ละกระทรวง ฉะนั้นก็ลุยไปเลย อย่างผมรับผิดชอบเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราก็เดินหน้าเต็มที่ไปเลย แต่ถ้าถามว่าเคยคิดหรือเปล่าว่าพรรคการเมืองจะต้องมีใครมาดูแลต่อ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดจริงๆ

กระทั่งหลังจากรัฐประหาร 2549 แล้ว ก็ยังไม่มีใครคิดอีกหรือ

ผมเชื่อว่า ณ วันนี้ก็ยังไม่มี (ยิ้ม) แต่ที่ผมเสนอแบบนี้ อาจเพราะมันเป็นความอยากได้อยากมีของผมเอง ที่อยากเห็นพรรคการเมืองมีทีมในอุดมคติอยู่ แต่ปัญหาคือมันไม่ง่ายที่ทุกคนจะคิดแบบเดียวกัน

การเมืองไทยในช่วงทศวรรษหลังแทบไม่มีภาพของนโยบายที่เปลี่ยนแปลงประเทศเชิงโครงสร้างอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้คนจำนวนมากก็หมดหวังกับการเมือง บรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกในวันที่คุณหมอมีอำนาจ มีความหวัง และมีพลังในการเปลี่ยนการเมืองเป็นอย่างไร 

เคยมีคนถามผมว่า ดรีมทีมมีชีวิตยืนยาวอยู่นานเท่าไหร่ ดรีมทีมที่เราทำงานด้วยกัน บริหารประเทศด้วยกัน ทำงานอยู่ราวๆ สามปี คือช่วงปี 2544-46 พอมาถึงช่วง 2547-48 มันก็เริ่มไม่เหมือนเดิมแล้ว ยกตัวอย่างนโยบายที่เราเสนอตอนเลือกตั้งปี 2548 ไม่มีนโยบายอะไรที่เป็นนโยบายเด็ดในแง่ของการปฏิรูปใหญ่ๆ เลย ถ้าจำกันได้ เราเสนอว่า ‘4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง’ แต่ ‘4 ปีสร้าง’ เนี่ย คำถามคือสร้างอะไร มันไม่มีคำตอบ

พอมาถึงต้นปี 2549 เราเสนอเรื่อง Modernize Thailand คือการปรับโครงสร้างพื้นฐานกันใหม่ ทำเรื่องการศึกษา ทำเรื่องระบบชลประทาน แต่ปัญหาคือมันค่อนข้างมีรายละเอียดน้อยมาก ยังเป็นแค่แนวคิดกว้างๆ เท่านั้น ถามว่ามันสะท้อนอะไร มันสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่มีทีมที่มานั่งศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ก่อนหน้าที่เราเริ่มประกาศนโยบาย

โครงการหลังๆ ที่เราอยากให้มันเกิด เช่น เรื่อง ICT เรื่องระบบ smartcard ก็ไม่ได้มีรายละเอียดและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่เหมือนตอนที่ทำเรื่องกองทุนหมู่บ้าน หรือเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะตอนนั้นเรามีเวลา เรานั่งคิดจนตกผลึกได้ แล้วสุดท้ายก็มีหน่วยราชการที่เข้ามารับผิดชอบ

นึกย้อนไป ช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงที่เราทำงานกันสนุกมาก แต่ปัญหาคือทุกคนมัวแต่สาละวนอยู่กับงานของตัวเอง อย่างคุณทักษิณก็มีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องลงไปจัดการเอง เช่น เรื่องสุวรรณภูมิ สุดท้ายก็ต้องลงไปจ้ำจี้จ้ำไชด้วยตัวเอง แม้แต่ข้อมูลการส่งออกข้าวจากสองกระทรวงก็ยังไม่ตรงกันเลย กระทรวงเกษตรตัวเลขหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ก็อีกตัวเลขหนึ่ง นายกฯ ยังต้องลงไปจัดการว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน

ถ้านึกเปรียบเทียบกับตัวเอง ตอนที่ผมอยู่กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงไอซีทีก็ตาม มันจะมีเรื่องเข้ามาให้เรานั่งแก้ปัญหาตลอดเวลา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง เรื่องระยะยาวนี่แทบไม่มี โอกาสให้ได้คิดได้จัดการ ถ้าเราได้อยู่นิ่งๆ บ้าง ได้นั่งศึกษา ได้ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ ก็จะมีโอกาสคิดฝันถึงสิ่งที่เราอยากเห็นได้ โดยที่ไม่ถูกพัวพันโดยงานประจำ แต่สถานการณ์จริงไม่ได้เป็นแบบนั้น

นี่เป็นสิ่งที่คนเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ ต้องเจอ เขาถึงพูดกันว่า พอเข้ามาทำงานสักพัก ผู้บริหารก็มักจะกลายสภาพเป็นคนไร้ประสิทธิภาพ เพราะถูกภาระงานประจำ งานพิธีการต่างๆ ดึงเวลาไปจนเกือบหมด ถึงขั้นมีคนมองเป็น conspiracy ด้วยซ้ำไปว่า ถ้าข้าราชการอยากทำงานสบาย ก็ต้องพยายามหางานพิธีการให้รัฐมนตรีเยอะๆ แล้วรัฐมนตรีจะไม่เข้ามาล้วงลูกคุณเลย (หัวเราะ)

เวลานั้นพรรคไทยรักไทยมีวิธีการดีลกับระบบราชการอย่างไร

ปัจจัยแรกคือการที่เราได้ 248 เสียง ทำให้คนเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนสูง และเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว คุณต้องฟัง ถึงคุณเป็นข้าราชการ จะมาบอกว่าคุณไม่ทำไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนเข้มแข็งแบบนี้มาก่อน

ปัจจัยต่อมา ก็คือภาวะผู้นำของคุณทักษิณ ต้องยอมรับว่าตัวคุณทักษิณเองมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง และเป็นคนที่หวังผลสำเร็จของงาน มีคนชอบพูดกันเล่นๆ ว่า คุณทักษิณสั่งงานวันนี้ แต่ขอให้เห็นผลตั้งแต่เมื่อวาน ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เวลาคุณทักษิณมอบหมายนโยบายอะไรแล้ว อย่าคิดว่าจะอยู่ได้สบายๆ สักพักจะต้องตามแล้วว่าเรื่องนี้ไปถึงไหน คืบหน้ายังไง

ปัจจัยที่สาม ที่ทำให้งานสำเร็จ คือการจัดคนให้เหมาะกับงาน ถ้าหากรัฐมนตรีคนไหนไม่สามารถทำงานได้ จะโดนเปลี่ยนทันที ยุคนั้นเราจะเห็นเลยว่า 6 เดือนเปลี่ยนที เปลี่ยนกันถี่มาก ฉะนั้นรัฐมนตรีจะต้องทำงานหนัก ไม่มีหรอกประเภทที่นั่งอยู่เฉยๆ พอเกิดน้ำท่วม รัฐมนตรีก็ต้องลงพื้นที่แล้ว หรืออย่างตอนสึนามิ รัฐมนตรีก็กระจายกันลงไป คนนี้ไปภูเก็ต คนนี้อยู่พังงา อีกคนอยู่กระบี่ ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนนั่งอยู่เฉยๆ ได้ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าการปรับ ครม.ครั้งหน้า คุณจะได้อยู่ต่อหรือเปล่า

พอเขาเห็นว่ารัฐมนตรีเอาจริง ทำงานหนักจริง เพราะถูกนายกฯ บีบมาอีกที รัฐมนตรีก็ต้องมาบีบปลัดต่อ แล้วถ้าปลัดไม่ทำงาน ปลัดก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งในระยะเวลาสี่ปี ก็ค่อยๆ ทำให้การจัดองคาพยพเหล่านี้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เพราะรัฐบาลก่อนๆ อยู่กัน 1-2 ปีก็จบแล้ว แต่พอเราอยู่สี่ปี เราเห็นชัดเลยว่าช่วงปีที่สาม ปีที่สี่ ข้าราชการทำงานกันเต็มที่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าทุกโครงการจะสำเร็จ มีบางโครงการเหมือนกันที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่ถ้าเป็นโครงการที่เราคิดกันตั้งแต่ช่วงตั้งพรรคใหม่ๆ เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค เรามีข้อมูลมากพอที่จะดันมันจนจบได้

ในฐานะที่ตอนนั้นอยู่วงในศูนย์กลางอำนาจ คุณหมอมองคำวิจารณ์รัฐบาลอย่างไร เช่น ระบอบทักษิณ เผด็จการรัฐสภา การแทรกแซงองค์กรอิสระ และปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน 

บางคำดูจะเป็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง หรือเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ต้องการลดเครดิตลง เช่น เผด็จการรัฐสภา การใช้เสียงข้างมากเพื่อผลักดันนโยบายให้จบเป็นคนละเรื่องกับเผด็จการรัฐสภา ผมว่าเราไม่ควรใช้คำนี้ แต่อย่างการแทรกแซงองค์กรอิสระ ผมว่าวิจารณ์ได้

ถ้ามองย้อนกลับว่า แล้วอะไรที่ทำให้วาทกรรมเหล่านี้ฟังขึ้น ก็อาจจะเป็นคำพูดหรือท่าทีที่ทำให้รู้สึกว่าใช้อำนาจไม่ฟังใคร เช่น ใครเลือกเรา เราจะช่วยเหลือคนนั้นก่อน เป็นคำพูดที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ แต่ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นไหม ไม่ใช่ แต่ถามว่าควรพูดแบบนั้นไหม ก็ไม่ควรพูด เพราะมันทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน

หรือการกำจัดคนบางส่วนที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าทำให้มันชัดเจน คนไหนที่เป็นเนื้อร้ายก็ตัดทิ้งไป น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้คนสบายใจว่าไม่มีปัญหาในการบริหารประเทศ

อย่างคำว่าระบอบทักษิณคืออะไรกันแน่ บางคนรู้สึกว่าเป็นการบริหารประเทศที่ใช้อำนาจนิยม นำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งพอมันมีบางการกระทำ ก็ทำให้คนก็เชื่อไปแล้ว ทั้งที่จริงๆ ไม่มีฐานความจริงอยู่

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

คุณทักษิณตัวจริงเป็นคนอย่างไร

ช่วงปี 2543-44 ที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานสร้างพรรคด้วยกัน เป็นช่วงที่ผมเห็นตัวตนเชิงบวกของคุณทักษิณมากที่สุด โดยพื้นฐานคุณทักษิณเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ถ้าเชื่อว่าอะไรถูกต้องก็จะทุ่มเทเพื่อทำให้สำเร็จ ช่วงนั้นคุณทักษิณมีลักษณะที่รับฟังคนค่อนข้างมาก ถ้าคิดต่างแต่มีข้อมูลที่ครบถ้วน เขาพร้อมจะรับฟัง แต่ถ้าไม่มีข้อมูลรองรับ อาจจะไม่ได้รับการรับฟัง

หลังจากได้อำนาจรัฐ ตอนนั้นเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

มันมีคำพูดหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากรู้จักว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ลองให้อำนาจดู”

แน่นอนว่า พอมีอำนาจมากขึ้นก็จะมีคนเข้าหามากขึ้น มีคนอยู่สองกลุ่มชัดเจน คือ กลุ่มแรกที่ไม่ค่อยได้ทำงาน แต่มีทักษะในการให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงเท่าไหร่ กลุ่มนี้มักชอบเข้าหา ส่วนอีกกลุ่มคือพวกที่อยากพิสูจน์ด้วยผลงาน กลุ่มนี้มักไม่มีโอกาสได้เข้าหาเท่ากลุ่มแรก

คุณหมอเห็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มา พอเกิดสงครามยาเสพติดและปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ตัวเองคิดอย่างไร

เรื่องยาเสพติดกับปัญหาภาคใต้ ผมเรียนตรงๆ ว่าผมอยู่วงนอก เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่เขาคิดว่าจะทำอย่างไร แต่อย่างเวลาพูดกันว่าฆ่าตัดตอน ก็ต้องหาความจริงกันว่าปัญหาเกิดจากอะไร

โดยส่วนตัวเท่าที่เคยทำงานกับคุณทักษิณ ผมไม่เห็นการสั่งการทางนโยบายว่าต้องใช้ความรุนแรงแน่ๆ แล้วคนที่อยู่ในแวดวงยาเสพติดก็มีจำนวนมาก ผมไม่รู้ว่ากระบวนการตรงไหนที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน หรืออย่างปัญหาภาคใต้ ผมคิดว่ารัฐบาลตอนนั้นก็ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหาร เมื่อปี 2547 ทุกคนใน ครม.ประหลาดใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาหนึ่งที่พวกเราไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เวลามอบหมายนโยบายก็จะคุยกันเป็นรายรัฐมนตรีตามที่ได้มอบหมาย มันสะท้อนว่าเราไม่ได้ตกผลึกว่ารากปัญหาของมันคืออะไร และอะไรคือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

ชีวิตของคุณหมอผ่านหลายบทบาทหน้าที่สำคัญ ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งติดคุก คุณหมอมองเห็นอะไรบทเรียนสำคัญในทำงานทางการเมือง

ชีวิตผมส่วนใหญ่เป็นความตั้งใจของผมเอง ไม่ว่าจะขึ้นลงอย่างไร มันไม่ค่อยมีผลอะไร อย่างตอนที่ผมรับหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาล ปี 2548 ก็มีคนบอกว่าผมทำอย่างนั้นได้อย่างไร มันเสียธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นถึงรัฐมนตรีมาแล้ว ผมคิดว่าทุกหน้าที่มันสามารถทำประโยชน์ได้ แล้วก็เป็นช่วงที่ดีของชีวิตด้วยที่ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง เพราะตอนที่เป็นรัฐมนตรี เราได้แต่ดูแลกระทรวงของเรา จะไม่ค่อยรู้เรื่องกระทรวงอื่น แต่หน้าที่โฆษกฯ ทำให้ได้อยู่หลายวง ยกเว้นเรื่องความมั่นคงมากๆ ที่ไม่ได้เห็น

ผมเคยพูดกับนักข่าวไว้ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ว่าจะทำงานการเมืองแค่ 8 ปี เพราะชีวิตของคนเราจะมีแรงทำอะไรมากๆ ก็ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และการทำงานการเมืองของผม 8 ปี ก็ถือว่ามากพอแล้ว เหมือนตัวเราเป็นเทียน มันก็เผาตัวเองไปเรื่อยๆ จนหมด เมื่อพลังที่จะทำต่อหมด ก็ควรให้คนรุ่นใหม่มาทำต่อ ตอนสมัยรัฐบาลพลังประชาชน ผมบอกคนในพรรคว่าผมพอแล้วนะ ผมไม่รับตำแหน่งใดๆแล้ว ก่อนพรรคจะมาถูกยุบสมัยท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์

หลังจากนั้น ปี 2552-59 ผมไม่ยุ่งการเมืองอีกเลย แม้แต่การชุมนุมผมก็ไม่ไป กระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 ถูกเรียกปรับทัศนคติหนึ่งสัปดาห์ รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยที่ถูกเรียกเหมือนกันเจอผมยังทักว่ามาทำอะไร (หัวเราะ) ไม่ได้เจอตั้งนานแล้ว

ตอนนั้นเป็นอารมณ์ไหน หมดไฟหรือเบื่อหน่าย

ตอนที่ผมประกาศว่าจะทำงานการเมืองแค่ 8 ปี ผมก็อธิบายว่า ชีวิตของคนเรามีหลายชีวิต และชีวิตการเมืองก็เป็นแค่ชีวิตเดียว อีกอย่างผมก็ตั้งใจทำเต็มที่ หายใจเข้าหายใจออกเป็นความรับผิดชอบ จนบอกตัวเองว่าพอได้แล้ว ให้คนอื่นเข้ามาทำเถอะ มันมีคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและอยากเข้ามาทำตั้งเยอะแยะ

ช่วงนี้ก็มีคนรุ่นใหม่หลายคนมาคุยกับผมว่าจะทำอย่างไรให้เข้าไปทำงานทางการเมืองได้ ผมก็บอกว่าคนรุ่นเก่าวางมือสักที ถ้าคนรุ่นเก่าไม่วางมือ คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตัวเอง

ผมได้รับโอกาสจากคุณทักษิณให้เข้ามาทำงาน ตอนนั้นผมอายุ 44 ปี ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าผมจะทำได้แค่ไหน ผมเห็นว่าโอกาสที่ผมได้รับครั้งนั้น คนรุ่นใหม่ก็ควรได้รับเช่นกัน ส่วนคนรุ่นเก่าก็ขยับตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาก็ได้ ให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นแถวหน้า ให้เขาบริหารพรรคเลยก็ยังได้

ผมดูตัวอย่างจากนักการเมืองในต่างประเทศ พอเขาทำหน้าที่ครบวาระ เขาก็กลับมาเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป และผมคิดว่า 8 ปีของการทำงานทางการเมืองมันเหนื่อยมากนะ 8 ปีของผมไม่ได้อ่านอะไรใหม่ๆ เลย ชีวิตอยู่กับงานอย่างเดียว ตอนวางมือในปี 2551 ผมเจอหนังสือหลายเล่มก็ยังถามตัวเองว่าผมมัวแต่ไปทำอะไรมา ทำไมไม่ได้อ่านหนังสือดีๆ เหล่านี้

การกำหนดเงื่อนเวลา 8 ปีของผม ทำให้เรารู้ว่าทั้งหมดที่ผ่านมามันไม่ใช่ของเราหรอก อย่าไปยึดติด วันหนึ่งเราก็ต้องพ้นจากสิ่งนี้ ความสะดวกสบาย เสียงสรรเสริญเยินยอ สุดท้ายแล้วไม่ได้อยู่กับเราตลอด ทำให้เราไม่เหลิงไม่หลงไปกับมัน

คุณหมออยู่ใกล้ชิดการเมืองมา 20 กว่าปี มองเห็นความจริงอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ทั้งด้านสวยงามและด้านอัปลักษณ์ 

ผมคิดว่าการเมืองไทยก็ไม่ได้ต่างจากการเมืองที่ไหน การเมืองก็คือการเมือง และการเมืองก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องอื่นๆ ด้วย ทุกอย่างล้วนอนิจจังทั้งนั้น

สุดท้ายก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตเกิดมาทำไม ยิ่งพออายุ 60 ปีแล้วด้วย ยิ่งถามมากขึ้น พ่อผมอายุ 87 ปี ถ้าผมต้องอยู่อีก 20 กว่าปี แล้ว 20 กว่าปีนี้ผมจะทำอะไร แล้วยิ่งเข้าไปอยู่ในคุกมาด้วย ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอน บ้านที่เคยอยู่ก็ไม่ได้อยู่ รถที่เคยขับก็ไม่ได้ขับ ครอบครัวที่เคยโอบกอดพูดคุยด้วยก็ไม่ได้พูดคุยกัน มีแค่เสื้อกับกางเกงและรองเท้าแตะหนึ่งคู่

ผมคิดว่าการเมืองก็เป็นเพียงแค่เรื่องหนึ่งในชีวิตของคนเรา คำถามที่ว่าชีวิตเกิดมาทำไม มันจึงถามต่อได้ว่า แล้วรัฐมีไว้เพื่ออะไร ผมตอบตัวเองได้ว่าชีวิตเกิดมาก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดีที่สุดแล้วอย่าไปยึดติด ไม่สำเร็จก็ไม่ต้องไปยึดติด เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ารัฐก็มีหน้าที่ทำให้คนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และถ้าถามว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร สิ่งนี้ก็เป็นคำตอบของผมเหมือนกัน

มีคนมาถามผมว่าควรจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ผมก็คิดว่ากระทรวงศึกษาฯ จำเป็นต้องมีไหม โรงเรียนควรมีบทบาทตามกำลังของชุมชนนั้นๆ ว่าอยากให้โรงเรียนเป็นอย่างไร พ่อแม่อยากให้ลูกๆ เรียนอะไร ก็ออกแบบโรงเรียนขึ้นมา พ่อแม่ควรจะมีส่วนในการกำหนดโรงเรียนสำหรับลูกตัวเอง

ถ้าอย่างนั้นการเมืองในฝันของคุณหมอเป็นอย่างไร

ผมเคยอ่านหนังสือ วิถีแห่งเต๋า แปลโดยพจนา จันทรสันติ อ่านตอนอายุ 20 กว่าๆ แต่จำมาถึงทุกวันนี้ มีอยู่ประโยคหนึ่งทำนองว่า ผู้ปกครองที่แย่ที่สุดคือผู้ปกครองที่ประชาชนเกลียดชัง ดีขึ้นมาหน่อยคือผู้ปกครองที่ประชาชนกลัว ต่อมาคือผู้ปกครองที่ประชาชนรัก แต่ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือคนที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่ามีผู้ปกครองอยู่

ฉะนั้นถ้าถามว่าการเมืองในฝัน รัฐในฝัน ในอุดมคติเป็นอย่างไร คำตอบคือรัฐที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกเจ้ากี้เจ้าการ ถูกบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ประชาชนสามารถจัดการชีวิตตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง เขาสามารถมีส่วนร่วมกันกับเรื่องต่างๆ ได้เองโดยไม่มีใครมาคอยชี้นิ้วออกคำสั่งว่าต้องทำอย่างไร ทุกคนมีศักยภาพเต็มที่ แต่ปัญหาคือมีกฎที่ปิดโอกาสไม่ให้คนเท่ากัน

เศรษฐกิจในฝันล่ะครับ

ก็ย้อนไปเรื่องเดียวกัน ถ้าตอบได้ว่าชีวิตเกิดมาทำไม ทำไมมีบ้านหลังใหญ่ที่อยู่กันแค่สองคนตายาย ลูกไม่ได้อยู่ด้วย เศรษฐกิจในฝันคือเศรษฐกิจที่ทำให้คนอยู่กันเป็นปกติ ไม่มีใครต้องตกเป็นทาสของการตลาด  เศรษฐกิจที่เอื้อให้คนได้ใช้ศักยภาพที่มีทำในสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องมีข้อจำกัด อาทิเวลาเจ็บป่วยก็สามารถเยียวยารักษาให้หายได้โดยไม่ต้องทุกข์ทรมาน

เพราะฉะนั้นการบอกว่าต้องทำงานหนัก ต้องตอกบัตรเช้าออกเย็น เป็นทางไปสู่เศรษฐกิจในฝันหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

แต่หลายคนคงไม่ได้รับโอกาสในฝันแบบนั้น เพราะเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างมาก?

ต้องกลับไปถามไงว่ารัฐมีหน้าที่อะไร รัฐต้องเอื้อให้คนทุกคนได้ใช้ศักยภาพที่ตัวเองมี ได้ใช้ชีวิตตามที่แต่ละคนอยากใช้ อยากเรียนก็เลือกเรียนแบบที่ตัวเองกำหนด ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียนแบบนี้แบบนั้น

นโยบายสาธารณะแบบไหนที่จะพาเราไปสู่การเมืองในฝันได้

มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า “หน้าที่ของหมอที่ดีที่สุดคือการทำให้ตัวเองตกงาน” ทำให้คนไม่ต้องการหมออีกต่อไป เพราะไม่มีใครป่วย อันนี้เป็นอุดมคติ

ถ้าเป็นระยะสั้นๆ รัฐก็ต้องกระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายรายได้ ใครจะทำพรรคการเมืองเพื่อไปเป็นรัฐบาล ผมก็จะแนะนำแบบนี้แหละว่า เมื่อคุณเข้าไปแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้อำนาจตัวเองน้อยที่สุด แล้วกระจายออกไปให้กว้างที่สุด ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม คนในท้องถิ่นไม่เคยมีโอกาสได้ทำ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำ

เรื่องที่ผมอยากทำที่สุดคือเรื่องการศึกษา ซึ่งเหมือนกับเรื่องสาธารณสุขซึ่งมีสิ่งที่ต้องต่อยอดไป ทำอย่างไรให้เรามีโรงพยาบาลเป็นของชุมชน การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ต้องมาจากปลัดกระทรวง แต่มาจากการคัดเลือกของคนในชุมชน ชาวบ้านสามารถเลือกเองได้เลยว่าใครจะมาบริหารโรงพยาบาลนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าคุณทำได้คุณก็อยู่ครบ 4 ปี ถ้าทำไม่ได้ก็ออกไป เดี๋ยวฉันหาคนใหม่มาทำแทน กลับมาเรื่องการศึกษาวันนี้ ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาฯ ควรคืนโรงเรียนให้ชุมชน คืนให้พ่อแม่เด็กได้แล้ว กระทรวงศึกษาฯ ไม่ต้องมาขีดเส้นว่าโรงเรียนต้องทำอะไร รัฐมนตรี ปลัด ผู้บริหารทุกคนควรถามตัวเองว่าโรงเรียนแบบไหนที่อยากให้ลูกคุณเรียน

ตอนอยู่ในคุก คุณหมอมีเวลาได้ทบทวนชีวิต เจอแรงบันดาลใจใหม่ให้กลับมาทำงานการเมืองไหม

สิบเดือนในคุก ผมตอบตัวเองได้ว่าชีวิตก็สงบดี มีแค่คำถามที่ว่าอีก 20 ปี ฉันจะอยู่อย่างไร จะอยู่แบบหายใจเข้าหายใจออกแค่นี้พอไหม ตอนอยู่ในนั้นมีคนไม่น้อยเดินเข้ามาทักว่าขอบคุณเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค บางคนซื้อก๋วยเตี๋ยวฝากเข้ามาให้ทั้งที่เราไม่รู้จัก

ผมกลับมานั่งคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าออกมาแล้วให้อยู่เฉยๆ ไปวันๆ อย่างเดียวก็คงไม่ได้ แต่จะให้กลับไปทำแบบเดิมก็ไม่เอาแล้ว ไม่นับว่าเงื่อนไขทางกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้เราเล่นการเมืองแบบเดิมได้แล้ว ข้อหาแบบผมไม่มีกำหนดเวลา อย่าว่าแต่จะกลับไปลงเลือกตั้งเลย ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคไหนได้เลย ผมมีสิทธิไปเลือกตั้งอย่างเดียว (หัวเราะ)

อีกอย่างหนึ่ง ผมบอกตัวเองได้ว่า ผมไม่มีพลังพอที่จะทำเหมือนสมัยที่ทำ 30 บาทรักษาทุกโรค พอเราอายุ 60 ปี มันไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าพลังไม่มีแล้ว เราจะมาขวางคนอื่นทำไม ก็ให้คนมีพลังทำสิ

งานแบบไหนที่เหมาะกับพลังของคุณหมอตอนนี้

ผมคิดว่าผมพร้อมจะแชร์ประสบการณ์กับทุกคน ใครอยากคุย ผมคุยได้หมด ถ้าเห็นประโยชน์ว่าจะเอาไปใช้ ผมก็พร้อมสนับสนุนโดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผมลงไปทำเอง ผมยินดีมาก

คุณหมอเคยเขียนบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พลังและนโยบายของพรรคไทยรักไทยในอดีต ถ้าเอามาอยู่ในการเมืองวันนี้ก็ไม่มีทางทำงานแบบเดิมได้เหมือนกัน เพราะว่าโลกมันเรียกร้องมากกว่าเดิมมาก อะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้

ระบบนิเวศมันไม่เหมือนเดิม ตอนทำไทยรักไทย เราค่อยๆ ใช้เวลาฟูมฟักกันขึ้นมา ใช้เวลาเป็นปี เรียนรู้ลองผิดลองถูกกันเยอะกว่าจะเป็นนโยบายเหมือน 20 ปีที่แล้ว แต่นโยบายเหล่านั้นวันนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรม และไม่อาจจะรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวันนี้ได้แล้ว

บทเรียนที่ควรเรียนรู้จากไทยรักไทยคือคุณต้องรู้จริงในเรื่องนั้นๆ ลงรายละเอียดในแบบที่สามารถจะพลิกระบบราชการให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ แก้ปัญหาในยุคปัจจุบันได้จริง ถ้ามีแต่ความตั้งใจแต่ไม่รู้รายละเอียด มันยากที่จะเปลี่ยนระบบราชการได้ นโยบายแบบเดิมต้องเปลี่ยน วิธีการทำงานต้องเปลี่ยน เพราะไทยรักไทยมัน 20 ปีมาแล้ว อันดับแรกที่ต้องทำวันนี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลไกการเสนอนโยบาย

ทุกวันนี้ผมอ่านเฟซบุ๊กแต่ละคน ผมรู้สึกว่าผมโง่ มีคนเก่งและรู้จริงในหลายๆ เรื่องเยอะมาก ทำไมคนพวกนี้ถึงถูกทำให้อยู่วงนอกการเมืองมาตลอด ผมรู้สึกว่าวันนี้รูปแบบพรรคที่มี crowdsourcing เป็นรูปธรรมที่ดี แต่ปัญหาคือเทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวอาจไม่พอที่จะทำให้พรรคสร้างแรงกระเพื่อมกับสังคมได้ เพราะมันต้องการคนที่ศรัทธาและคนที่รู้จริง

หรือแม้แต่วิธีการ crowdfunding แบบที่ธนาธรต้องการใช้กับพรรคอนาคตใหม่ ผมเห็นด้วย มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันเปิดโอกาสให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

ตอนนี้หลายคนกำลังพูดถึงการเมืองแห่งความหวัง แต่ข้อเท็จจริงคือมันเป็นการเมืองที่อยู่บนฐานความขัดแย้งและความจริงที่โหดร้าย คุณหมอยังมีความหวังอยู่ไหม

เอาทางโลก หรือทางธรรมล่ะ (หัวเราะ) ที่ผ่านมาคงเคยได้ยินเรื่องอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงมี ถ้าพูดถึงการเมืองว่าจะมีหวังได้ไหม ก็ต้องถามว่าแล้วการเมืองแบบไม่มีหวังมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยมาจากอะไร ถ้าปัจจัยนั้นหมดไป การเมืองแบบมีหวังก็เกิดขึ้นได้ แล้วผมไม่เชื่อว่าเราจะย่ำอยู่กับที่ และเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าเราเชื่อแบบนั้นแปลว่าเราไม่เชื่อเรื่องอนิจจังว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง

คืนวันที่ 19 กันยา 2549 ผมอยู่ที่นิวยอร์กกับคุณทักษิณด้วย ผมเดินไปในทางเดินของโรงแรม แล้วดูมันมืดมนเหลือเกิน ประเทศไทยทำไมมันกลับมาอยู่อย่างนี้ได้อีก อนาคตมองไม่เห็นทางออก แต่อีก1 ปีต่อมากลับมีการเลือกตั้ง คือมันไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้มีคนไม่อยากให้เลือกตั้ง แต่วันหนึ่งมันก็ต้องมี เพราะมันคือความจริง

เช่นเดียวกัน ถ้าธนาธรกับปิยบุตรไม่ลงมาทำพรรคอนาคตใหม่ ชูธงการเมืองแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ ความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาก็จะไม่เกิด ส่วนจะเป็นความหวังใหม่ได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับผู้ก่อตั้งว่าจะทำแค่ไหน เพราะถ้าไม่ทำเองก็จะเป็นเพียงความคิดลอยๆ วันนี้มีแต่คนพูด ผมเบื่อแล้วไง เราต้องการคนลงมือทำ

คุณหมอเห็นทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ไหม 

ผมผ่าน 6 ตุลาฯ มาแล้ว เราก็เห็นความคลี่คลายมาตลอด ถามว่ามันกลับไปเป็นเหมือนเดิมไหม ก็ไม่ เพราะสังคมมีวิวัฒนาการ ไม่ได้เป็นเส้นตรง มันเป็นขดลวดสปริง มันก็หมุนกลับมาจุดต่ำ แต่ก็ดีกว่าเดิม

สมัยผม หนังสือพิมพ์ถูกปิด คนถูกจับด้วยข้อหาความมั่นคงหลายพันคน วันนี้ถามว่ามันเลวร้ายขนาดนั้นไหม ก็ไม่ ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้น แม้เราจะรู้สึกว่ามันวนกลับมาบ่อยๆ

ในระยะยาว ถ้าการเลือกตั้งได้มาซึ่งรัฐบาลที่ใส่ใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงๆ คนก็จะกลับมามีความหวังและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ที่ผ่านมาพรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะมองเรื่องนี้น้อยไปหน่อย หรือแทบไม่ได้ทำอะไรเลย

ผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้แข่งกันเสนอนโยบายว่าจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างอย่างไร จะแก้คอร์รัปชันอย่างไร เรื่อง open data จะเป็นอย่างไร ถกกันในรายละเอียดได้ไหม ผมเชื่อว่าในระบบราชการเองก็มีคนที่พร้อมจะปฏิรูปเชิงโครงสร้างอยู่ไม่น้อย สิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้ ผมว่าเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเล็กน้อยไปเลย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

อะไรคือสิ่งที่คุณหมออยากบอกพรรคการเมืองในวันนี้มากที่สุด

วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว (ยิ้ม) ได้เวลาที่คนรุ่นต่อไปจะเข้ามาทำการเมืองที่สร้างสรรค์ การเมืองแบบที่เราเคยอยากทำแต่ทำไม่ได้ วันนี้เราไม่มีพลังแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังได้เข้าไปออกแบบและกำหนดอนาคตของพวกเขาเองเถอะ

ความรู้สึกนี้สามารถแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ยังอยากมีอำนาจอยู่ได้ไหม

เหมือนเราโดนมีดบาด ปวดแผล แล้วคนอื่นมาถามว่าเจ็บปวดยังไง อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจหรอก เรื่องแบบนี้มันต้องคิดได้ด้วยตัวเอง (หัวเราะ)

อยากบอกอะไรกับมวลชนของแต่ละสี

ก็คล้ายกัน ผมอยากให้พวกเขาคิดถึงอนาคตคนรุ่นลูกรุ่นหลานของตัวเอง ไม่มีใครผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลักการที่สำคัญคือเราควรตระหนักในความผิดพลาดของเรา และระลึกไว้เสมอว่าไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวในทางการเมือง มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้

ผมไม่เชื่อว่า 4 ปีที่ผ่านมามวลชนจะไม่เรียนรู้อะไรเลย และตัวชี้วัดสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไร ก็คือผลการเลือกตั้ง

อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำงานการเมือง

ผมชื่นชมพลังของคนรุ่นใหม่ แต่ความสามารถและความตั้งใจอาจไม่พอสำหรับการเข้าไปทำงานการเมือง ผมอยากให้พวกเขาได้เรียนรู้ทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดของคนรุ่นก่อน เชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็อ่อนน้อมกับบทเรียนในอดีต และที่สำคัญอย่าเป็นวีรชนเอกชน ภาษาสมัยนี้คืออย่าอีโก้ เชื่อมั่นในตัวเองแต่พร้อมรับฟังคนอื่นด้วย เพราะการไม่รับฟังคนอื่นคือความผิดพลาดที่เป็นบทเรียนแรกๆ ของคนรุ่นผม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save