fbpx
ยุคสมัยแห่งความเงียบ (ครั้งที่ 2) ของไทย

ยุคสมัยแห่งความเงียบ (ครั้งที่ 2) ของไทย

ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง

 

“สาระของระบบใช้อำนาจเด็ดขาดคือ ไม่มีผู้ใดที่สามารถอุทธรณ์คัดค้านอำนาจอันไร้ที่สิ้นสุดของผู้เป็นนาย ไม่ว่าจะในเชิงปฏิบัติหรือในข้อกฎหมาย วัตถุประสงค์ประการเดียวของข้าแผ่นดินคือเพื่อทำให้นายพอใจ ที่นี่ไม่มีทั้งรัฐสภา ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีสื่อเสรี ไม่มีฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ ไม่มีกฎหมายที่ปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคลจากอำนาจอันละโมบ สรุปก็คือไม่มีเสียงสาธารณะใดเลยยกเว้นของผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว” (เคนเนธ มิน็อก, การเมือง: ความรู้ฉบับพกพา, แปลโดย กษิร ชีพเป็นสุข)

 

วันที่ 20 ตุลาคมปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 59 ปี “การปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นรัฐประหารที่เปลี่ยนสังคมไทยและการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง หากไม่นับการปฏิวัติ 2475 และการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว สำหรับผู้เขียน การปฏิวัติของกลุ่มนายทหารที่นำโดยสฤษดิ์น่าจะถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ก็ว่าได้

จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) ทั้งที่จอมพลสฤษดิ์เองก็มีอำนาจควบคุมรัฐบาลนั้นอย่างแท้จริงอยู่แล้ว

เมื่อรัฐประหารสำเร็จ คณะทหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกรัฐสภาและพรรคการเมืองทั้งหมด ทำการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิวัติ  รัฐประหารครั้งนี้เป็นการสถาปนาอำนาจของกองทัพที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำเหนือกลุ่มและสถาบันอำนาจอื่นๆ ในสังคมอย่างเด็ดขาด จอมพลสฤษดิ์ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารหลายประการที่ส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพอย่างเด็ดขาดและเป็นเอกภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำของ “ระบอบสฤษดิ์” ยาวนานถึง 16 ปี ที่นับเช่นนี้ เพราะระบอบสฤษดิ์นั้นไม่ได้สิ้นสุดลงที่การเสียชีวิตของตัวผู้นำอย่างจอมพลสฤษดิ์ในปี 2506 แต่ยังได้รับการสืบทอดต่อโดยทายาททางการเมือง คือ จอมพลถนอม กิตติขจร อีกถึง 10 ปี นับเป็นช่วงเวลาอันยาวนานและต่อเนื่องที่สุดที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมโดยกองทัพ

“ระบอบสฤษดิ์” มีหน้าตาอย่างไร?

ระบอบการเมืองนี้มีองค์ประกอบหลักอยู่สามส่วนด้วยกัน หรือจะเรียกว่าเป็นสามเสาหลักของระบอบสฤษดิ์ก็ได้ กล่าวคือ ในทางการเมือง มีการสถาปนาอำนาจนิยมทางการเมืองภายใต้การนำของกองทัพ ในทางวัฒนธรรม มีการรื้อฟื้นจารีตนิยมทางวัฒนธรรม และในทางเศรษฐกิจ มีการเร่งรัดพัฒนาทุนนิยมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแต่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

ระบอบสฤษดิ์เป็นระบอบที่รัฐเข้าไปสถาปนาความสัมพันธ์เหนือสังคมในทุกมิติ รัฐใช้อำนาจเด็ดขาดจากบนลงล่างเพื่อสถาปนาอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ กล่อมเกลาวัฒนธรรมและความรู้สึกนึกคิดของประชาชน และผลักดันแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์กับผู้นำรัฐ ทั้งสามองค์ประกอบกลายเป็นมรดกตกทอดที่ระบอบนี้ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน แม้ตัวผู้นำอย่างจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม

แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนสังคมอย่างขนานใหญ่เช่นนี้ ทำให้เกิดผู้ได้เปรียบเสียเปรียบ และก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมากมายมหาศาล รัฐย่อมทำไม่สำเร็จ หากไม่มีการระดมใช้เครื่องมือในการปกครองอย่างเต็มสรรพกำลังเพื่อ “สยบ” ประชาชนให้ยินยอมรับสภาพการถูกปกครองจากบนลงล่างโดยไม่กล้าท้าทายหรือตั้งคำถาม

เครื่องมือพื้นฐานที่ระบอบสฤษดิ์ใช้ คือ การใช้กำลังความรุนแรงปราบปราม (repressive tools) พลังทางสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวนา กรรมกร นักการเมือง สื่อมวลชน นักศึกษาและปัญญาชน

รัฐบาลสฤษดิ์จับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง ทนายความจำนวนมากที่เคยมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้านี้  คนที่ไม่ถูกจับกุม บ้างก็หลบลงใต้ดิน บางคนขอลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศจีน เมื่อเกิดการปฏิวัติก็ขอลี้ภัยการเมืองอยู่ที่นั่น (จนเสียชีวิตในปี 2517) บางคนได้ยุติบทบาททางการเขียนลงชั่วคราว เช่น เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ผู้เขียนนิยายเรื่อง ปีศาจ, สุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร อักษรสาส์น, ลาว คำหอม (นามปากกาของ คำสิงห์ ศรีนอก) เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ก็หันไปทำไร่ต่างจังหวัด ส่วนนักเขียนบางคนที่ยังคงผลิตงานเขียนต่อ ก็ได้เปลี่ยนแนวจากเรื่องที่สะท้อนความขัดแย้งในสังคมมาเป็นแนวเรื่องโรแมนติกหรือเรื่องบู๊

นอกจากการจับกุมคุมขังแล้ว ยังมีข่มขู่คุกคามพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐให้เงียบเสียง มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงในต่างจังหวัด กระทั่งใช้ ม.17 ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายรายโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติ จนทำให้นักวิชาการขนานนามระบอบของสฤษดิ์ว่าเป็นการปกครองแบบ “พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” เพราะปกครองด้วยความเด็ดขาดและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย จนก่อเกิดเป็น “ยุคสมัยแห่งความเงียบ”

แต่ที่น่าเศร้าคือ บางคนก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสของตัวเอง เช่นสื่อมวลชนหรือนักวิชาการบางรายก็เลือกใช้วิธีประจบสอพลอ เสนอข่าว เสนอความเห็นเอาใจผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะนำเสนอความจริงต่อสังคม จนพากันได้ดิบได้ดีไปมิใช่น้อย

บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า นักฉวยโอกาสมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัยทางประวัติศาสตร์ และระบอบอำนาจนิยมครองอำนาจอยู่ได้เพราะสามารถ “ซื้อบริการ” ผ่านการให้ตำแหน่งและอามิสสินจ้างแก่คนกลุ่มนี้ ให้เข้ามาทำงานรองรับระบบที่ขาดความชอบธรรม  

สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ทำมิใช่เรื่องใหม่ กระทั่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด งานวิชาการที่ศึกษาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมล้วนชี้ให้เห็นว่า ระบอบเผด็จการส่วนใหญ่ทำงานบนฐานของการทำให้สังคมหวาดกลัวที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ ทำให้สังคมปลอดจากการเมือง (depoliticizing society) ในมิติของการส่งเสียง การต่อรอง และการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทำให้เหลือแต่การปกครองของผู้นำและบริวารเท่านั้น มีแต่การใช้อำนาจของผู้ปกครองจากบนลงล่าง ไม่เหลือการใช้อำนาจของประชาชนจากล่างขึ้นบน เราพบปรากฏการณ์นี้ในอินโดนีเซียยุคนายพลซูฮาร์โต ในพม่ายุคนายพลเนวิน ในลาตินอเมริกา เช่น ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา ช่วงทศวรรษ 1960-70 และในเกาหลีเหนือปัจจุบัน

มาตรการรุนแรงอาจจะไม่ได้มุ่งหมายเอาชีวิตเสมอไป จุดมุ่งหมายคือการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อให้พลเมืองที่เหลือในสังคมกลัวหวาดกลัว เพื่อสร้าง “สังคมแห่งความเงียบ” ที่ประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนต่างพากันเลือกที่จะเงียบเสียงของตนเอง ก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน เลิกสนใจเรื่องการเมืองเพื่อความปลอดภัยในชีวิต เกิดเป็นวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเอง

กระบวนการทำให้สังคมเลิกสนใจการเมืองหรือเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นกระบวนการที่ล้วนเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ  ในสังคมที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอย่างยาวนาน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ คนหันไปสนใจแต่ปัญหาแคบๆ ของตัวเอง หมกมุ่นกังวลประเด็นส่วนตัวมากกว่าประเด็นสาธารณะ มองว่าปัญหาสาธารณะเป็นธุระของผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหา ส่วนประชาชนมีหน้าที่เพียงแค่รับผิดชอบต่อตนเอง จิตสำนึกสาธารณะและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะค่อยๆ สูญสลายหายไป

สังคมไทยที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบสฤษดิ์ถูกขนานนามจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ยุคมืดทางภูมิปัญญา” ของไทย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่บรรยากาศฟุ้งเฟ้อสายลมแสงแดดของนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่หมายรวมถึงบรรยากาศทางปัญญาโดยรวมของสังคมที่ไม่มีการถกเถียงปัญหาของชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง  ถึงขั้นที่นักศึกษาที่เติบโตในยุคสมัยนี้คนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นปัญญาชนคนสำคัญเคยรำลึกความหลังเกี่ยวกับบรรยากาศทางปัญญาในสมัยนี้ว่า

 

“ผมไม่เคยเข้าใจได้ถ่องแท้ว่าเกิดอะไรขึ้นแก่สมองของคนไทยหลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ … ผมยังเรียนหนังสือในชั้นปริญญาตรี จำได้ว่าบรรยากาศทางปัญญาที่แวดล้อมตัวเองสงบราบคาบจนไม่ชวนให้นึกคิดอะไรไปไกลกว่าปลายจมูก จริงๆ ในทางส่วนตัวก็รู้แน่ว่าเรียนจบเมื่อไรก็มีงานทำเมื่อนั้น เพราะผู้จบปริญญายังมีน้อย … ในทางสังคม ผมนึกไม่ออกว่าปัญญาชนไทยในตอนนั้นเถียงกันในเรื่องสำคัญอะไร ในตอนปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนหน้าการรัฐประหารของสฤษดิ์ การถกเถียงของปัญญาชนไทยออกจะคึกคักและวนเวียนกับปัญหาที่กระทบถึงอนาคตและชะตากรรมของประเทศชาติอย่างมาก เช่น สถานะของประเทศไทยในสงครามเย็น (ที่ร้อนระอุ) ควรเป็นอย่างไร จะใช้แนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมแค่ไหน รัฐควรหวงการลงทุนขนาดใหญ่ไว้เองหรือไม่ หรือควรหันไปใช้นโยบายสังคมนิยม…ฯลฯ แล้วจู่ๆ หลังการรัฐประหารและการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างเหี้ยมโหด บรรยากาศทางปัญญาของประเทศก็ซบเซาลงอย่างฉับพลัน”[1]

 

แน่นอนว่าการปราบปรามอย่างรุนแรง (ที่ข้อเขียนข้างต้นกล่าวถึง) ผ่านการใช้มาตรการเด็ดขาดหลายประการที่คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์กระทำต่อนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ตั้งแต่เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ปิดหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ตรวจค้นสำนักพิมพ์ จับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง ทนายความจำนวนมากซึ่งเคยมีบทบาทแสดงความคิดเห็นทางการเมืองดังที่กล่าวไปข้างต้น

แต่รัฐเผด็จการที่ไหนๆ ในโลกก็ตาม ไม่เคยประสบความสำเร็จหากใช้แต่กำลังปราบปรามประชาชน เพราะมาตรการควบคุมประชาชนที่เหี้ยมโหดเกินไปหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังย่อมก่อให้เกิดความเกลียดชังรัฐบาลในหมู่ประชาชนมากกว่าความกลัวและความนิยมชมชอบ ดังที่มีบทเรียนมากมายในประวัติศาสตร์ การจับกุมคุมขังอย่างเหวี่ยงแหหรือการสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณมักนำไปสู่จุดจบของรัฐเผด็จการ

ด้วยเหตุนี้เครื่องมือที่ทรงพลังยิ่งกว่ามาตรการรุนแรง คือ เครื่องมือทางอุดมการณ์ในการกล่อมเกลาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจโดยสมัครใจ กระทั่งเห็นว่าการใช้อำนาจรัฐอย่างเด็ดขาดนั้นมีความจำเป็นต่อความมั่นคงของสังคม เมื่อถึงจุดนั้นประชาชนก็จะยินยอมให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนเองและพลเมืองคนอื่นๆ (โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา) โดยไม่ขัดขืน

ความสำเร็จของรัฐเผด็จการอำนาจนิยมอย่างยั่งยืนมิได้อยู่ที่การปิดกั้นประชาชนบางกลุ่ม แต่อยู่ที่การกีดกันประชาชนทุกกลุ่ม ออกจากไปกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสมัครใจ และไม่ได้อยู่ที่การทำลายพลเมืองบางคนที่เข้มแข็ง หากอยู่ที่การแปรเปลี่ยนคนทั้งสังคมให้กลายเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา และความสำเร็จขั้นสุดยอดคือ มิเพียงทำให้ประชาชนบางกลุ่มบางคนกลัวที่จะตั้งคำถาม แต่ทำให้ประชาชนทั้งหมดทั้งมวลไม่ฉุกคิดแม้แต่จะตั้งคำถามกับการใช้อำนาจของผู้นำอีกต่อไป

ระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานต่อเนื่องจึงไม่ได้ทำลายแค่สถาบันทางการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตยหรือหลักนิติรัฐอย่างที่มักจะเข้าใจกัน แต่มันยังทำลายสติปัญญาของผู้คนที่จะตั้งคำถาม ทำลายจิตวิญญาณของพลเมืองที่รักอิสระเสรี และทำลายสามัญสำนึกของประชาชนที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีและเคารพตัวเอง

 

อ้างอิง

เคนเนธ มิน็อก, การเมือง: ความรู้ฉบับพกพา, แปลโดย กษิร ชีพเป็นสุข. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ openworlds, 2559.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559.

สุชาติ สวัสดิ์ศรี. ความเงียบ: รวมเรื่องสั้นยุคแสวงหา. พิมพ์ครั้งที่  4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สามัญชน, 2546.

เชิงอรรถ

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “เมืองไทยที่มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์,” ผู้จัดการรายวัน, 11 มกราคม 2536.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023