fbpx
สมชัย ภัทรธนานันท์ : อ่านการเมืองอีสาน ยุคก่อนทักษิณ ถึงหลังคสช.

สมชัย ภัทรธนานันท์ : อ่านการเมืองอีสาน ยุคก่อนทักษิณ ถึงหลังคสช.

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

แม้ภาคอีสานจะมีสัดส่วนประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านับจากอดีตที่ผ่านมา ภาพของคนอีสานโดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท มักถูกจดจำในฐานะของประชากรผู้ยากไร้ ทั้งในแง่การศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจ

ครั้นเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง คนอีสานก็มักถูกแปะป้ายให้เป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ ตั้งแต่กบฏผีบุญในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงขบวนการเสื้อแดงในยุคทักษิณ

หากจะมีสักช่องทางที่คนอีสานได้แสดงตัวตนและส่งเสียงให้คนทั้งประเทศได้ยิน คงเป็นเสียงที่ส่งผ่านบัตรเลือกตั้ง ซึ่งมากพอจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ ส่งให้พรรคใดพรรคหนึ่งลอยลำเข้าสู่ทำเนียบ

ทว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การส่งเสียงตามกติกากลับถูกระงับจากการรัฐประหาร การเลือกตั้งและประชาธิปไตยถูกเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นของแสลง ทักษิณและคนเสื้อแดงกลายเป็นตัวร้ายในสายตาของรัฐ เช่นเดียวกับคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร

 

“ชาวบ้านต้องการเลือกรัฐบาล เขารู้ว่ารัฐประหารมันไม่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยากเป็นนายกก็มาลงเลือกตั้งสิ แล้วชาวบ้านจะเลือกใครก็เป็นสิทธิของเขา สิ่งสำคัญคือเขารู้จักรอ คิดดูสิ สามปีก็ยังรอ…”

ในฐานะคนที่เกิดและเติบโตมาในภาคอีสาน และในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของคนอีสานอย่างจริงจัง ผ่านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามอย่างเข้มข้น – รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้เราฟังว่าภาพที่คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคนอีสาน แตกต่างจากสิ่งที่เขาได้สัมผัสมาอยู่พอสมควร และส่วนใหญ่ล้วนเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นจากส่วนกลาง

แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากในหมู่คนทั่วไป แต่หากนับผลงานในแวดวงวิชาการ อาจารย์สมชัยที่เพิ่งผ่านวัยเกษียณมาหมาดๆ นับว่าเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องราวของอีสานอย่างถ่องแท้ เขียนบทความและงานวิจัยมากมายจากการลงพื้นที่จริง มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อีกด้านหนึ่งก็เป็นที่รักในหมู่คณาจารย์และลูกศิษย์ลูกหา มักใช้ภาษาลาวในการเรียนการสอน เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมของชาวอีสาน และเพื่อต้านมายาคติที่ยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศ

คนอีสานยัง ‘โง่ จน เจ็บ’ จริงหรือไม่ , ทำไมทักษิณถึงมีอิทธิพลต่อคนอีสานจำนวนมาก , รากฐานความคิดทางการเมืองของคนอีสานเป็นอย่างไร , ขบวนการเสื้อแดงในภาคอีสานมีความเคลื่อนไหวอย่างไรหลังการยึดอำนาจของคสช. ฯลฯ

ต่อไปนี้คือบทสนทนาชุดใหญ่ กับ สมชัย ภัทรธนานันท์ ว่าด้วยสารพัดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเมืองในภาคอีสาน ซึ่งเชื่อมโยงถึงกับวิกฤตการเมืองไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

 

 

Part I : กำเนิดเสื้อแดงอีสาน รากฐานจากความเท่าเทียม

 

“ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าพลังของคนอีสานส่งผลและกำหนดทิศทางการเมืองได้ เป็นพลังที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้พลังนี้มีบทบาท คุณก็ต้องหาทางใช้ระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

 

จากวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ภาคอีสานจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มี ‘คนเสื้อแดง’ อยู่หนาแน่น ในฐานะที่อาจารย์อยู่ในพื้นที่และศึกษาเรื่องของคนอีสานมานาน มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้อย่างไร

คนเสื้อแดงอีสานส่วนใหญ่ ก็คือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งคนชนบท คนเมือง ประชาชนทั่วไป ชนชั้นกลางก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน เพราะเป็นคนจำนวนมากที่สุดที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง คนเหล่านี้อยู่ในกระบวนการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 ที่เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก จากนั้นก็มีการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ

ในระหว่างปี 2522 ถึง 2549 มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนนั้นรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจแค่หนึ่งปี จากนั้นก็มีการเลือกตั้งเรื่อยมา จนกระทั่งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฉะนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ยาวมาก ที่ชาวบ้านผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ช่วงแรกๆ เขาอาจยังไม่เข้าใจมากนัก เพราะการรณรงค์ก็มาจากรัฐบาล รัฐบาลบอกว่าให้ไปใช้สิทธิ ถ้าไม่ใช้เดี๋ยวเป็นคนขายชาตินะ ในระดับหมู่บ้านนี่เข้มข้นมาก มีการประกวดหมู่บ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายถึงหมู่บ้านไหนมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาก หมู่บ้านนั้นจะได้รางวัล ก็ซื้อเสียงกันสนั่นหวั่นไหว มีผู้สมัครจากต่างถิ่นเข้ามาแล้วชนะ เรียกว่า ‘ส.ส.หมาหลง’ คือมาจากไหนไม่รู้ จู่ๆ ก็มาชนะการเลือกตั้งได้

แต่พอการเลือกตั้งผ่านไปหลายๆ ครั้ง ชาวบ้านก็เริ่มเรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วการออกเสียงมีความหมายมากกว่าการซื้อเสียงขายเสียง เพราะมันโยงไปถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น ก็คือการที่เขาสามารถเรียกร้องผลักดันให้ได้งบประมาณเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านของเขา

สิ่งเหล่านี้ทำให้นักการเมืองต้องแข่งขันกันมากขึ้น จากการซื้อเสียงอย่างเดียว กลายเป็นต้องสร้างผลงาน คุณทำประโยชน์อะไรให้ชาวบ้านได้ ใครทำมากกว่าคนนั้นก็ได้

ที่สำคัญคือ เมื่อเขาเลือกคนไหน ไม่ได้แปลว่าเขาต้องเลือกคนนั้นตลอดไป ชาวบ้านไม่ได้ยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่ง

ถ้าเราดูสถิติการเป็นผู้แทนในอีสาน เราจะเห็น ส.ส.สอบตกจำนวนมาก มีบางคนเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง คนประเภทนี้คือคนที่มีผลงาน ไม่ใช่คนที่ซื้อเสียง ด้วยลักษณะแบบนี้ทำให้ ส.ส.หมาหลงค่อยๆ หายไป เพราะสู้ไม่ไหว จะใช้วิธีซื้อเสียงอย่างเดียวเหมือนช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้แล้ว ชาวบ้านไม่เอา

ที่นี้มันจะมี ส.ส.อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘ส.ส.หมาดุ’ พวกนี้ก่อนเลือกตั้งก็ลงไปหาชาวบ้าน ยกมือไหว้ เจออะไรมันไหว้หมด ชาวบ้านบอกว่าไหว้ยันหมา แต่พอชนะการเลือกตั้งกลับหายหน้าหายตา ปิดประตูรั้วบ้านแขวนป้ายใหญ่ๆ ว่า ระวังหมาดุ ส.ส.ประเภทนี้พอถึงการเลือกตั้งครั้งต่อมา ก็ไม่ชนะแล้วครับ เพราะชาวบ้านรู้ทันหมดแล้ว

สิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังคือคุณจะเข้ามาทำประโยชน์อะไร หรือจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ชาวบ้านค่อยๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่าเสียงของเขามีค่า ไม่ใช่แค่แลกเศษเงินมาเฉยๆ ส่งผลให้การแข่งขันของนักการเมืองเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  ชนิดที่ว่าต้องลงพื้นที่สม่ำเสมอมาก บ้านตัวเองยังไม่มีเวลาจะอยู่ ลูกเต้าไม่มีเวลาจะดู กระทั่งเสียผู้เสียคนกันไปเยอะแยะ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการแข่งขัน ซึ่งมีจุดตั้งต้นมาจากการที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักว่าเสียงของเขามีค่า ไม่ใช่ว่าจะเลือกใครก็ได้

 

แล้วตอนที่ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยเริ่มเข้ามา ชาวบ้านมีท่าทีอย่างไร

ครั้งแรกที่ทักษิณเข้ามา ผมเคยไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าคิดอย่างไร จะเลือกใคร ชาวบ้านบอกว่ามันน่าลอง เพราะคนอื่นๆ เลือกมาหมดแล้ว สัญญาแต่ไม่ทำ พอถามว่าแล้วทักษิณจะทำได้เหรอ เขาก็ไม่คิดว่าทักษิณจะทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะถ้าดูจากนโยบายอย่างสามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน เขาก็นึกไม่ออกว่าจะเอาเงินที่ไหนมาทำ แต่ประเด็นคือมันน่าลอง ดีกว่าไปเลือกไอ้พวกหน้าเดิมๆ ที่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ถ้าย้อนไปอ่านคำสัมภาษณ์ของนักการเมืองสมัยนั้นที่ต้องแข่งกับพรรคไทยรักไทย เขาประเมินว่าไทยรักไทยเป็นแค่พรรคการเมืองขนาดกลางเท่านั้น ไม่สามารถชนะอะไรได้ เขามองว่าชาวบ้านยังผูกติดกับนักการเมืองคนเก่าๆ ถึงพรรคไทยรักไทยเข้ามา ก็คงเป็นแค่พรรคการเมืองขนาดกลางในสภา แต่เขาลืมประเมินว่านโยบายที่พรรคไทยรักไทยเสนอมานั้น สามารถดึงให้ชาวบ้านหลุดจากนักการเมืองยุคเก่าๆ แล้วไปเลือกพรรคที่มีนโยบายตอบสนองเขาได้

ปรากฏว่าสุดท้ายทักษิณก็ชนะ แล้วถ้าคุณยังจำได้ ตอนทักษิณเป็นรัฐบาลสมัยแรก คะแนนนิยมในรอบสี่ปีนี่เรียกว่ามหาศาล เมื่อก่อนนักการเมืองมีแต่หลอก สัญญาแล้วไม่ทำ แต่ทักษิณไม่หลอก เป็นนายกคนแรกที่พูดแล้วก็ทำตามที่หาเสียงไว้ บวกกับนโยบายต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์จริง ทำให้ความผูกพันระหว่างชาวบ้านกับทักษิณค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา เขามีความหวังว่าถ้าทักษิณได้อยู่ต่ออีกหนึ่งสมัย ชีวิตเขาจะดีขึ้นอีกเยอะ แต่สุดท้ายก็โดนการรัฐประหารก่อน

ช่วงที่เกิดการรัฐประหาร ผมเคยไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน ตอนแรกงงมากเลยว่าทำไมชาวบ้านซีเรียสจัง เพราะรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ไม่เห็นจะมีชาวบ้านผูกพันกับนักการเมืองขนาดนี้ พอโดนรัฐประหารก็จบไป แต่คราวนี้ชาวบ้านกลับรู้สึกว่ายอมไม่ได้ ต้องคัดค้านการรัฐประหาร เพราะมันไปล้มรัฐบาลที่ผูกพันกับชีวิตเขา ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเป็นเสื้อแดง

หลังจากนั้นพรรคของทักษิณก็กลับมาชนะการเลือกตั้งในปี 2550 ชาวบ้านก็ยังโอเค ตอนที่เกิดรัฐประหารเขาไม่พอใจก็จริง แต่เขารอได้ ถึงเวลาเลือกตั้งก็ไปลงคะแนนเสียงให้เห็น ซึ่งทักษิณก็กลับมาชนะอีกรอบจริงๆ

แต่หลังจากมีการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ มีการยุบพรรคพลังประชาชน เกิดการรวมตัวของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ชาวบ้านที่ไม่พอใจตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 มาจนถึงหลังเลือกตั้งปี 2550 ที่ชนะแล้วโดนล้มไปอีก ความไม่พอใจมันสะสมมาเรื่อยๆ พอเกิดขบวนการเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ชาวบ้านพวกนี้ก็เข้าร่วมด้วย ก็เลยกลายเป็นคนเสื้อแดง

 

พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มเสื้อแดงในอีสาน ก็คือชาวบ้านที่ไม่พอใจกับการใช้อำนาจนอกระบบ

ใช่ แต่จุดที่น่าสนใจคือว่า พอเริ่มมีการใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ต่อต้านรัฐประหาร ชาวบ้านที่ไม่ได้ไปเข้าร่วมประท้วง ก็เรียกตัวเองว่าเสื้อแดงด้วย อย่างในตึกที่ผมทำงานอยู่ มี รปภ. มีแม่บ้าน ที่เขาก็เรียกตัวเองว่าคนเสื้อแดง แต่ไม่เคยไปชุมนุม เขาแค่ติดตามข่าว และเขาเลือกข้างทางการเมือง ผมว่าคนเสื้อแดงจริงๆ เป็นคนประเภทนี้เยอะที่สุด ส่วนประเภทที่ไปร่วมชุมนุม ก็คือคนที่สามารถทิ้งงานไปได้ เป็นคนที่มีเวลา แต่คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาแล้วเรียกตัวเองว่าเสื้อแดงนี่มีเยอะที่สุด

 

พูดได้ไหมว่าประชากรอีสานมีส่วนสำคัญกับระบบเลือกตั้งในฐานะที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ใช่ คนอีสานเป็นคนกลุ่มที่ใหญ่มากๆ มีประชากรคิดเป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย เรียกว่าเลือกพรรคใดก็จะมีน้ำหนักสะเทือนไปทั้งประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ของอีสานเลือกพรรคใด พรรคนั้นก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูง เป็นพลังที่เกิดขึ้นพร้อมระบบการเมืองที่มันเปิด ซึ่งแต่ก่อนยังไม่เห็นพลังแบบนี้ เพราะเป็นยุคเผด็จการ เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย

ต่อมาเมื่อมีการเปิดให้เขาได้ใช้สิทธิ์ของตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นพลังมหาศาล แล้วเป็นพลังที่อำนาจนอกระบบไม่สามารถควบคุมได้ ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นกลุ่มที่สร้างผลสะเทือนต่อการเมืองไทยค่อนข้างสูง

หลังจากรัฐประหาร 2549 ผมคิดว่าทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าพลังของคนอีสานส่งผลและกำหนดทิศทางการเมืองได้ เป็นพลังที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้พลังนี้มีบทบาท คุณก็ต้องหาทางใช้ระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทิศทางที่คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนับสนุน แม้กระทั่งคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง เป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชนระดับนำของประเทศ ก็ยังเลือกที่จะแก้ปัญหาโดยที่ไม่เอาระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นผมคิดว่าพวกเขาตระหนักถึงพลังของชาวบ้าน โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่

 

ถ้ามองในมุมของคนที่สนับสนุนรัฐประหาร อาจารย์มองว่าทำไมเขาถึงเชื่อในวิธีนี้ ทั้งที่รู้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย กรอบคิดแบบนี้มาจากอะไร

ผมคิดว่าเขาเจอทางตัน สู้ตามกติกาไม่ได้ ไม่ว่าเลือกตั้งครั้งไหนๆ คุณก็แพ้ ทีนี้ก็เลยพาลว่าระบอบประชาธิปไตยมันใช้ไม่ได้ ไม่เอาแล้ว แล้วก็พยายามหาคำอธิบายอื่นๆ มาอ้าง เราจะเห็นได้ชัดในช่วงการประท้วงของกปปส. นักวิชาการหลายท่านพยายามออกมาอธิบายทำนองว่า หนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์มันใช้ไม่ได้ ประเทศไทยยังไม่เหมาะ เป็นของที่รับมาจากฝรั่ง สรรหามาอธิบายกันไปต่างๆ นานา แต่สุดท้ายมันสะท้อนว่าพวกเขาหมดหนทางที่จะเล่นตามกติกาแล้ว

ผมว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดลึกๆ ของคนเหล่านี้ ว่าสุดท้ายแล้วคุณเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมจริงหรือเปล่า เพราะการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า มันไม่ใช่ว่า อะไรก็ได้ ที่สำคัญคือไม่มีทางเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบเผด็จการ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องคอร์รัปชัน คุณบอกว่าจะปราบให้หมด แต่ถ้าคุณเป็นเผด็จการ ยังไงคอร์รัปชันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ จากบทเรียนในโลกนี้ ไม่เคยมีใครแก้คอร์รัปชันได้ภายใต้ระบบเผด็จการ แล้วถ้ามองในทางกลับกัน ระบอบอะไรที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด ก็ระบอบเผด็จการไงครับ ไม่มีอะไรเกินกว่านี้แล้ว

 

 

“อีสานนับเป็นดินแดนที่นักการเมืองพยายามต่อสู้ประเด็นต่างๆ ในระดับประเทศอยู่เสมอ เช่น เรื่องการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชนบท การจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียมกันระหว่างภูมิภาค การยกเลิกเงินรัชชูปการที่เก็บกันสมัย 2475 กระทั่งเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีการเสนอว่า ส.ส.ต้องสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองได้”

 

แต่คนที่สนับสนุนรัฐประหาร อาจมองว่าคอร์รัปชันที่เลวร้ายที่สุดก็คือระบอบทักษิณ โดยไม่เห็นว่าคอร์รัปชันในระบอบเผด็จการอาจเลวร้ายไม่ต่างกัน

มันเป็นยุทธวิธีทางการเมืองอย่างหนึ่ง ก็คือการพยายามเสนอความคิดว่า คอร์รัปชันเท่ากับทักษิณ คือตัวเองก็โกงแหละ แต่ไม่บอก เวลาเปิดข้อมูลออกมา ก็เปิดเฉพาะข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ส่วนของตัวเองก็พยายามปกปิด คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อและเข้าใจไปตามนั้น มันเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่ฝ่ายหนึ่งใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม แค่นั้นเอง

พอมันถูกใส่อารมณ์มากๆ ย้ำเข้าไปมากๆ ว่าทักษิณเลว ทักษิณโกง เกลียดไอ้นี่ฉิบหายเลย จนสุดท้ายคนก็เกลียดจริงๆ เกลียดโดยไม่ดูอย่างอื่นเลย แม้กระทั่งข้อมูลที่เป็นรูปธรรมก็ไม่ฟัง ไม่รับรู้ กลายเป็นว่าอยู่คนละฝ่าย แล้วก็จะเชื่อแต่ฝ่ายเดียวกันเอง

ผมคิดว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลจริงๆ แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เถอะ เชื่อแบบนั้นเยอะมาก แต่กลับมีข้อมูลจริงๆ น้อยมาก เอาแค่ข้อมูลการคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งมีการวิจัยออกมาอย่างละเอียด แค่คุณลองไปค้นดูก็จะรู้เลยว่าตัวการของคอร์รัปชันไม่ได้มีแต่นักการเมือง ข้าราชการต่างหาก นักธุรกิจต่างหาก เป็นหมากสำคัญที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน หรือเรื่องการเป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเข้าไปดูได้ง่ายๆ ว่าคนไหนอยู่บริษัทไหน มีหุ้นเท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ชัดเจนและไม่ได้เข้าถึงยากแต่อย่างใด แต่บางคนก็กลัวว่าจะเจอความจริง เพราะเจอแล้วจะชอกช้ำ กลายเป็นพวกนิสิตนักศึกษาเสียอีกที่พยายามหา พยายามค้น อยากรู้ความเป็นจริงมากกว่าอาจารย์บางคนด้วยซ้ำ

 

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองอีสานยุคแรกๆ จะเห็นว่ามีส.ส.อย่าง เตียง ศิริขันธ์ และ ครอง จันดาวงศ์ ที่นับเป็นต้นแบบของนักการเมืองอีสานที่ขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม แต่พอมาดูในยุคหลังๆ สังเกตว่านักการเมืองที่มีบทบาทในลักษณะนั้นแทบไม่มีแล้ว อาจารย์มองว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอะไร

ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของนักการเมืองก็เปลี่ยนตามไปด้วย ต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองในยุคหลัง ก็มีความคาดหวังและเป้าหมายต่างไปจากนักการเมืองยุคก่อน

ถ้ามองเฉพาะภาคอีสาน จะพบว่ามีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิมาหลายระลอก เห็นได้ตั้งแต่หลัง 2475 ไล่มาถึงช่วง 2490 ไปจนถึง 2500 อีสานนับเป็นดินแดนที่นักการเมืองพยายามต่อสู้ประเด็นต่างๆ ในระดับประเทศอยู่เสมอ เช่น เรื่องการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชนบท การจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียมกันระหว่างภูมิภาค การยกเลิกเงินรัชชูปการที่เก็บกันสมัย 2475 กระทั่งเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีการเสนอว่า ส.ส.ต้องสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองได้

ในช่วง 2490-2500 ซึ่งเป็นยุคของเตียง ศิริขันธ์ ต่อเนื่องถึงครอง จันดาวงศ์ โจทย์ใหญ่คือการทำให้เกิดความเท่าเทียม เพราะยุคนั้นความเป็นอยู่ของคนเมืองกับชนบทมีความแตกต่างกันมาก กระทบกับคนในวงกว้างมาก การต่อสู้จึงมุ่งไปที่เรื่องนั้น แต่นักการเมืองยุคหลังก็มีโจทย์ใหม่ๆ ที่ต่างออกไป นักการเมืองช่วงหลัง 14 ตุลาฯ โจทย์สำคัญอาจเป็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องปากท้องประชาชน พอถึงยุค 2530 ก็เริ่มเป็นเรื่องสาธารณูปโภค ทำอย่างไรให้มีทางไปมาสะดวก ทำอย่างไรจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น

ลักษณะของนักการเมืองสองยุคมีความแตกต่างชัดเจน ถ้าเป็นแบบอุดมคติ เราก็คงอยากได้คนแบบคุณเตียง แบบครูครอง แต่ในความเป็นจริง การหาคนแบบนั้นในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องยากมาก

 

ยุคสมัยนั้นมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เกิดคนแบบนั้นขึ้นมาได้

คนอย่างเตียง ศิริขันธ์ หรือครอง จันดาวงศ์ เกิดขึ้นมาในช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยปรากฏขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย เราต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการนำหลักการที่ต่างจากก่อนหน้านั้นมาใช้ ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยครุ่นคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม รวมถึงการดูถูกเหยียดหยามที่พวกเขาต้องเผชิญมาก่อนหน้านี้ ได้รับการจุดประกายความฝันครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เขามีสถานะต่ำต้อยเหลือเกิน เกิดการเปลี่ยนแปลงว่าต่อไปนี้ คนต้องเท่ากัน ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ผมคิดว่านี่คือแรงผลักดันให้นักต่อสู้ในยุคนั้นเกิดอุดมการณ์อันแรงกล้า ทุ่มเทชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม ก็ในเมื่อระบอบนี้มันบอกว่าคนเท่ากัน เราก็ต้องทำให้มันเท่ากัน แต่ใครมาขวางล่ะ เผด็จการทหารมาขวาง ฉะนั้นเขาจึงต้องต่อสู้ ถ้าไม่สู้ ความไม่เท่าเทียมก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นวิธีคิดที่หล่อหลอมนักการเมืองในรุ่นก่อนๆ เรื่อยมาถึงจนถึงยุค 2500

ช่วงเวลานั้นประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องใหญ่ คนเหล่านี้ยอมที่จะถูกจับกุมคุมขัง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย เป็นกระแสต่อเนื่องของการปฏิวัติ 2475 ที่ขับเคลื่อนคนในสังคมให้เดินไปทางนั้น

ถ้าเราศึกษาจากการเมืองท้องถิ่นในอดีต จะเห็นว่าการทำงานด้านการเมืองคือเรื่องชั่วคราว ยังทำเป็นอาชีพไม่ได้ คนที่เข้ามาทำอาชีพด้านการเมืองสมัยก่อน จะเริ่มจากฐานคิดที่ว่าอยากเข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติบ้านเมือง สร้างความยุติธรรม แต่พอเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไป งบประมาณประเทศใหญ่ขึ้นๆ ก็มีคนคิดว่านักการเมืองน่าจะเป็นอาชีพที่ดี มีผลประโยชน์สูง ทำให้มีคนเข้ามาเยอะ

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผมเห็นทั้งนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วล้มละลาย ครอบครัวแตกสลาย กับนักการเมืองที่รวยเอาๆ  จะมียุคหนึ่งที่การเป็น ส.ส. ไม่มีความมั่นคง การเล่นการเมืองคือความฉิบหาย เพราะอยู่ได้สามเดือนหกเดือนก็เจอรัฐประหาร คุณจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะอยู่รอดกับอาชีพนี้ได้ยังไง ถ้าโชคร้ายก็ต้องรอเป็นสิบปีกว่าจะมีเลือกตั้ง ต้องขายที่ดิน ขายทรัพย์สมบัติจนหมดเนื้อหมดตัว นักการเมืองช่วง 2500 ต้องเจอสภาพแบบนั้น มีคนมากมายที่ล้มละลายเพราะเล่นการเมือง

แต่ช่วงหลังเมื่อประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง นักการเมืองเป็นอาชีพที่มั่นคงขึ้น แถมเป็นอาชีพที่ดีด้วย สามารถร่ำรวยโดยใช้เวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้นคนที่เข้าไปจะเป็นคนอีกประเภท คือคนที่เห็นโอกาสว่าถ้าเรามีคุณสมบัติ เราก็น่าจะชนะการเลือกตั้งได้

 

แล้วคนอย่างทักษิณจัดเป็นนักการเมืองประเภทไหน

ผมคิดว่าทักษิณเป็นนักการเมืองที่อยากเข้ามาพัฒนาประเทศ มีความคิดค่อนข้างชัดเจนว่าจะเปลี่ยนประเทศอย่างไร เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะใช้นโยบายแบบนี้ เพื่อแก้ปัญหาสังคมแบบนี้ นี่คือจุดที่ทักษิณมี แต่นักการเมืองจำนวนมากไม่มี

เมื่อก่อนคนชอบพูดกันทำนองว่าพรรคการเมืองไทยไม่มีนโยบาย หมายความว่าทุกพรรคนโยบายแทบไม่ต่างกัน ก็เลยเหมือนไม่มีนโยบาย แต่พอทักษิณเข้ามา เขามีนโยบายชัดเจนและแตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา มีเป้าหมายชัดเจนว่าเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะทำให้ประเทศเป็นแบบนั้นแบบนี้ ส่วนเราจะชอบหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ที่แน่ๆ คือเขามีความคิดจะเปลี่ยนประเทศให้เป็นอีกแบบหนึ่ง

 

เปลี่ยนเป็นแบบไหน

ผมมองว่าทักษิณมีความคิดว่าการทำให้คนจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจไทย นายทุนไทย ได้รับประโยชน์มากขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศไทยจะมีตลาดรองรับ ผมรู้สึกว่าเขาคิดอย่างนี้ เขาถึงเน้นไปที่นโยบายเพื่อคนชนบท

ที่เห็นชัดคือการทำให้เกิดเถ้าแก่ใหม่ๆ ในชนบท เขาพยายามพูดว่าเศรษฐีใหญ่ๆ ต้องเข้าใจ อย่าไปคิดเอาเปรียบนักธุรกิจต่างจังหวัด ต้องส่งเสริมให้พวกนั้นขยายตัว เพราะตัวเองจะขายของได้เยอะขึ้น มันเป็นลูกโซ่ต่อกันไป ถ้าชาวบ้านมีกำลังซื้อสูงขึ้น คนที่อยู่ข้างบนก็รวยขึ้น เช่นเดียวกับการช่วยเวียดนาม ลาว เขมร ให้พัฒนา เพราะสุดท้ายไทยจะได้ประโยชน์ด้วย ผมว่าเขาคิดอย่างนั้น

 

การที่ทักษิณทำให้คนรากหญ้าอยู่ดีกินดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น เกี่ยวอะไรกับการสร้างความเท่าเทียมไหม

ทักษิณไม่ใช่นักการเมืองที่มีแนวคิดสร้างความเสมอภาคแบบสังคมนิยม คนละเรื่องกัน ทักษิณเขาพัฒนาแบบทุนนิยม สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบทุนนิยม เขาอาจต้องการให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ขยับสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นการขยับในทิศทางของทุนนิยมที่จะทำให้พวกเศรษฐกิจของนายทุนขยายตัวไปแข่งขันกับต่างชาติได้สูงขึ้น วิธีที่เขาใช้ก็คือเริ่มจากคนรากหญ้าก่อน เชื่อมโยงกับชาวบ้านเพื่อสร้างฐานตลาดภายในประเทศให้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น โดยทำให้ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้นก่อน

 

Part II : ความเลวร้ายของระบบอุปถัมภ์ และอำนาจที่มองไม่เห็น

 

“ปัญหาทั้งหลายในประเทศไทยเริ่มต้นมาจากระบบอุปถัมภ์ ระบบนี้ทำลายทุกอย่าง สิ่งที่น่าคิดก็คือ แท้จริงแล้วศูนย์กลางของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยอยู่ตรงไหน … อยู่ในกรุงเทพฯ ไงครับ … คือระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำทั้งหลาย”

 

เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 มีการกำจัดทักษิณออกไปในฐานะนักการเมืองเลว ทุจริตคอร์รัปชัน จุดที่น่าสนใจคือความหมายของคำว่า ‘นักการเมือง’ ที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนที่เคยมีความหมายในเชิงบวก เป็นผู้แทนของประชาชน มาสู่ความหมายในเชิงลบ เป็นผู้โกงกินบ้านเมือง อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

มันเป็นกระบวนการทำลายระบอบประชาธิปไตย คือการสร้างให้ความชั่วไปตกอยู่กับนักการเมือง

ถามว่านักการเมืองทำสิ่งเหล่านั้นไหม ทำ แต่ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ทำ ปัญหาของคนไทยคือชอบตัดสินด้วยตา อะไรที่มองไม่เห็นก็ไม่ว่า ไม่เถียง

พูดอย่างถึงที่สุด เป้าหมายสุดท้ายของวาทกรรมนักการเมืองเลว ก็คือการยกเลิกระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อนักการเมืองหาดีไม่ได้ คุณจะมีไว้ทำไม ถ้าจะให้มีประชาธิปไตยก็ต้องมีนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองมันเลว เลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้แต่คนเลวๆ ฉะนั้นไม่ต้องมีเลยดีกว่า ผมว่านี่คือวิธีคิดที่ซ่อนอยู่

ผมอยากให้คนที่ห่วงใยประเทศชาติ ลองไปศึกษาดูให้ถ่องแท้ว่าสิ่งที่เลวๆ ทั้งหลาย การคอร์รัปชันต่างๆ เกิดจากนักการเมืองอย่างเดียวหรือไม่ การใช้เส้นใช้พวก เลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ดูความสามารถ มันทำกันเฉพาะนักการเมืองหรือเปล่า ระบบแบบไหนกันแน่ที่เอื้อให้เกิดสิ่งชั่วร้ายในประเทศไทย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าตอนนี้ หลายคนใน สนช. กลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ถ้าคุณลองไปค้นข้อมูลดู เห็นชื่อแต่ละคนนี่แทบหงายหลัง เพราะแต่ก่อนคนเหล่านี้ก็คือคนที่ด่านักการเมือง แต่พอตัวเองดึงพรรคพวกเข้ามาสู่อำนาจ กลับทำแบบเดียวกัน

ถ้านักการเมืองเป็นเป้าหมายของการกำจัดคอร์รัปชัน คนพวกนี้ก็ต้องเป็นด้วย ไม่ใช่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องแก้ตามจริง ไม่ใช่แก้ตามพวก

 

ในมุมของอาจารย์ ปัญหาที่ใหญ่กว่าการคอร์รัปชันของนักการเมืองคืออะไร

พูดอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาทั้งหลายในประเทศไทยเริ่มต้นมาจากระบบอุปถัมภ์ ระบบนี้ทำลายทุกอย่าง

สิ่งที่น่าคิดก็คือ แท้จริงแล้วศูนย์กลางของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยอยู่ตรงไหน ผมเห็นบางคนบอกว่าอยู่ในต่างจังหวัด อยู่ในความสัมพันธ์ของนักการเมืองท้องถิ่นกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เลือกนักการเมืองเลวๆ เข้ามา มีเจ้าพ่อที่สามารถคุมได้ทุกอย่าง ต่างจังหวัดจึงเป็นพื้นที่ที่มีระบบอุปถัมภ์หนาแน่นที่สุด ซึ่งเป็นคำตอบที่ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่

จากที่ผมลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่อีสาน เกิดและโตในพื้นที่มาจนถึงตอนนี้ก็หกสิบปีแล้ว พูดได้เลยว่ามีความสัมพันธ์แบบนั้นอยู่น้อยมาก ไม่มีผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อคนไหนที่จะคุมชาวบ้านได้หมด ถามว่ามีไหม มี แต่ผมคิดว่าเป็นกรณียกเว้นมากๆ ส่วนใหญ่ในชนบทไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น หนังสือบางเล่มบอกว่าลักษณะการเมืองไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เป็นการเมืองของเจ้าพ่อ แต่ผมขอเชิญชวนให้คนที่สนใจมาลงพื้นที่ มาเก็บข้อมูลภาคสนามเลย แล้วดูดีๆ ว่ามีกี่คนที่เป็นแบบนั้น แล้วทำไมพวกเจ้าพ่อทั้งหลายถึงแพ้เลือกตั้ง ทำไมถึงสอบตก

 

แล้วศูนย์กลางระบบอุปถัมภ์ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

อยู่ในกรุงเทพฯ ไงครับ พูดง่ายๆ ก็คือระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำทั้งหลาย อันดับแรกคือระบบราชการ บรรดากระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย ทุกคนต้องมีนาย เวลาเลื่อนตำแหน่งก็ต้องเลื่อนตามเส้นสาย ตามเครือข่าย มีหลายกระทรวงที่เป็นแบบนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจที่จะสั่งการลงไปทั้งประเทศ นี่คือศูนย์กลางของมัน

อันดับต่อมา คือระบบอุปถัมภ์ระหว่างข้าราชการกับนักธุรกิจ ไม่รู้ว่าใครอุปถัมภ์ใคร นักธุรกิจจ่ายเงินให้ข้าราชการ ข้าราชการก็อนุมัติโครงการให้นักธุรกิจคนนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนกัน อย่างที่คนชอบพูดกันว่ายื่นหมูยื่นแมว อีกตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือการใช้ชื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริษัท แล้วคุณก็ทำมาหากินได้โดยไม่มีใครมาขัดขวางอะไร นี่คือระบบอุปถัมภ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งของประเทศไทย และเกี่ยวกับการใช้อำนาจระดับสูงในการทำให้นโยบายรัฐเอื้อไปในทางใดทางหนึ่ง แต่เราไม่เคยพูดถึงว่ามันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร

ต้องเข้าใจว่าระบบอุปถัมภ์ที่ว่านี้ มีเครือข่ายโยงใยที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่บนสุดถึงล่างสุด กองทัพก็ใช่ ตำรวจก็ใช่ ข้าราชการพลเรือนก็ใช่ เมื่อมีการแต่งตั้งคนข้างบน คนต่อมาก็ตั้งคนของตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้าไปหาข้อมูลจริงๆ ก็จะพบว่ามีทุกระดับ ถ้าไม่ใช้เส้นสายก็ใช้เงิน คุณอยากเลื่อนขั้น หรืออยากย้ายไปที่นั่นที่นี่ คุณก็จ่าย แต่คุณต้องเป็นคนที่ถูกสเป็คด้วย มันเป็นเครือข่ายอย่างนี้มานาน

ปรากฏว่าอยู่ดีๆ ก็มีนายทุนอย่างทักษิณเข้ามา แล้วทำให้เครือข่ายเหล่านี้ถูกสั่นคลอน เดือดร้อนสิครับ ปลัดกระทรวงของเรา มันเอาคนมาแทน แล้วไม่ได้แทนแค่ปลัดกระทรวง ปีต่อมามันย้ายข้างล่างต่ออีก กระทบคนเราหมด ถ้าปล่อยต่อไปจะยิ่งเป็นปัญหา ต้องหาทางกำจัด

 

พูดง่ายๆ ว่าเครือข่ายอำนาจเดิมซึ่งเคยยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่นด้วยระบบอุปถัมภ์ เริ่มถูกสั่นคลอนจากการเข้ามาของทักษิณ

ใช่ การที่มีนักการเมืองมาคุกคามระบบอุปถัมภ์ สร้างความหวั่นไหวแก่ชนชั้นนำอย่างมาก การเข้ามาของทักษิณส่งผลต่อความมั่นคงของเครือข่ายอำนาจเก่าอย่างชัดเจน ลองจินตนาการดูว่า ถ้าทักษิณชนะเลือกตั้งทุกครั้ง แล้วชนะแบบนี้ไปอีกยี่สิบปี กลุ่มเครือข่ายในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมจะเหลือกี่คน ไม่เหลือ พอไม่เหลือก็ฉิบหายสิ เพราะระบบที่เขาสร้างมาคือฐานอำนาจที่สำคัญที่สุด เป็นทั้งช่องทางในการหาประโยชน์ เป็นทั้งอำนาจในการควบคุมสังคม ที่สำคัญคือทักษิณได้รับความนิยมสูงมาก ไปไหนคนก็ถามหาแต่ทักษิณ ซึ่งมันกระทบโดยตรงต่อความนิยมของกลุ่มชนชั้นนำเก่า

ทักษิณทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐทุนนิยม’ เกิดขึ้นได้จริง คือผู้ที่ยึดครองอำนาจกับนายทุนใหญ่ เป็นกลุ่มเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่เป็นพรรคของนายทุน เป็นภาพในอุดมคติ ตามทฤษฎีเป๊ะเลย ทีนี้คนที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายมาก่อน อินกับการต่อต้านนายทุนใหญ่ เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย นี่ไง ถึงเวลาต้องสู้ยกใหม่แล้ว

แต่เอาเข้าจริง การจะสู้กับทักษิณ มันสู้ยาก แล้วยิ่งสู้ยากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกลียดมันมาก พอเกลียดมากเข้า ก็ไม่ดูข้อมูลอย่างอื่นแล้ว นายทุนใหญ่มีแค่ทักษิณเท่านั้น ต้องโค่นมันให้ได้ ทั้งที่ทุนอื่นๆ ก็มีอีกมากมาย ยิ่งพอสู้เรื่อยๆ แล้วไม่ชนะ มันเหมือนขึ้นหลังเสือ แพ้ไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้ เฮ้ย ต้องหาเพื่อนแล้วว่ะ ถามว่าเพื่อนคนนั้นคือใคร ก็คือทหาร

แล้วถ้าไปถามเขาว่าทำไมถึงเปลี่ยนฝั่ง ทั้งที่เคยสู้กับทหารมาตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาฯ พวกที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายทั้งหลายก็จะอ้างว่าขนาดพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมาเจ๋อตงยังจับมือกับเจียงไคเช็คได้เลย จากตอนแรกที่เป็นศัตรูกัน รบกันจะเป็นจะตาย พอเจอญี่ปุ่นบุก มีศัตรูร่วมกัน ก็หันมาจับมือกันได้ ไม่เห็นจะแปลกอะไร พวกเราก็เหมือนกัน แต่ก่อนเคยสู้กับทหารมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ ไล่มาจนถึงพฤษภาฯ 2535 ก็ยังสู้กันอยู่ ต่อมาพอมีศัตรูเป็นทักษิณ ก็หันมาจับมือกันได้ อะไรทำนองนี้

จริงๆ แล้วการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องของคนดีคนเลวอะไรทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ล้วนๆ ผู้ที่ใช้ระบบอุปถัมภ์อย่างหนักหน่วงเพื่อต่อสู้กับทักษิณคือกลุ่มของชนชั้นนำ ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างที่หลายคนอ้างกัน

ถึงที่สุดแล้ว ระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำนี่แหละที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในการเมืองไทย และเป็นสิ่งที่คอยขัดขวางระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ

 

 

“อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน ไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยเท่ากับชาวบ้าน … อย่างนี้ใครโง่กันแน่ บางทีคำว่าโง่ ฉลาด รู้เท่าทัน ไม่เท่าทัน จะไปอ่านจากหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องลงไปหาชาวบ้านจริงๆ ถึงจะรู้”

 

วาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ยังใช้ได้กับคนอีสานอยู่ไหม หรือตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

‘โง่จนเจ็บ’ เหมือนนิยายที่สร้างขึ้น ถ้าพูดถึงเรื่องหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ผมว่าไม่มีปัญหา ชาวบ้านรู้ แล้วเขาก็อยากเลือกผู้แทนที่คิดว่าดีต่อตัวเอง เหมือนคนกรุงเทพฯ เวลาเลือกผู้ว่ากทม. คุณก็ต้องเลือกคนที่คิดว่าทำประโยชน์ได้ดีที่สุด คุณอยากได้รถไฟฟ้า รถใต้ดิน อยากได้ทางเดินระหว่างห้างใหญ่ๆ แต่ชาวบ้านอาจจะอยากได้ถนนคอนกรีต อยากได้สะพาน นี่คือความต้องการที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

คนกรุงเทพฯ หรือคนชนบทอาจมีความต้องการที่แตกต่างกันไป แต่ประเด็นคือทุกคนควรมีสิทธิ์เลือก ซึ่งไม่ว่าใครจะเลือกแบบไหน คุณค่าต้องไม่ต่างกัน ไม่มีอะไรสูงส่งกว่ากัน ไม่ใช่ว่าสิ่งที่คนต่างจังหวัดเลือกนั้นไม่มีคุณค่า หรือมีคุณค่าน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ

จะว่าไปก็ดูขัดแย้งเหมือนกัน ถ้าเทียบว่าคนชั้นกลางและคนชั้นสูงซึ่งมีฐานะและการศึกษาดี แต่กลับหันหลังให้หลักการประชาธิปไตย มิหนำซ้ำยังดูถูกคนรากหญ้าว่าไม่ฉลาด ตกเป็นทาสนายทุน 

(เงียบคิด) สิ่งที่ผมเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน ไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยเท่ากับชาวบ้าน นี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก

ไม่ต้องพูดถึงข้าราชการนะ มีข้าราชการบางคนที่ยังไม่เข้าใจว่าเงินเดือนของตัวเองมาจากไหน ใครเป็นคนจ่าย บางคนยังเข้าใจว่ามีคนอื่นมาจ่ายให้ ไม่คิดว่าเป็นภาษีประชาชน อย่างนี้ถือว่าโง่ไหม เป็นข้าราชการจนเกษียณแล้วยังคิดว่าเป็นเงินคนอื่นที่เอามาจ่ายให้

เวลาผมพูดเรื่องการเมืองกับชาวบ้าน ชาวบ้านเขารู้เรื่อง มองออกว่าอะไรเป็นอะไร หลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่พอมาถามพวกอาจารย์ด้วยกัน บางคนกลับไม่รู้เรื่อง อย่างนี้ใครโง่กันแน่ บางทีคำว่าโง่ ฉลาด รู้เท่าทัน ไม่เท่าทัน จะไปอ่านจากหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องลงไปหาชาวบ้านจริงๆ ถึงจะรู้

ต้องยอมรับว่าคนในเมืองหรือคนมีการศึกษาก็มีเรื่องที่ไม่รู้อีกหลายเรื่อง ส่วนคนชนบทหรือคนจนก็มีเรื่องที่ไม่รู้หลายเรื่องเหมือนกัน ต่างคนต่างมีเรื่องที่ตัวเองรู้ดี คนชนบทอาจไม่เข้าใจบางเรื่องที่คนเมืองเข้าใจ ส่วนคนเมือง ถ้าเอาไปปล่อยในชนบทนี่ก็โง่ได้เลยนะ ทำอะไรไม่ถูก ช่วยตัวเองไม่เป็น

 

 

“การจัดเลือกตั้งรอบนี้คือการชงเองกินเอง เป็นการออกแบบการปกครองทางการเมืองให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ … สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง”

 

หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่การรัฐประหารของคสช.ในปี 2557 ขบวนการเสื้อแดงอีสาน รวมไปถึงกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านรัฐประหาร มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

จะวิเคราะห์เรื่องนี้ต้องดูคู่ตรงข้ามทางการเมือง สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ถ้าให้มองในมุมของฝ่ายเผด็จการตอนนี้ ถึงที่สุดแล้วการทำลายแค่ตัวทักษิณอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย ไม่งั้นเสียของ

การต่อสู้คราวนี้เป็นเรื่องที่สะสมมาอย่างน้อยๆ ก็สิบปี ตั้งต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สำคัญคือมันไม่ใช่การต่อสู้แบบยกเดียว แต่สู้กันหลายยก ทั้งสองฝ่ายต่างเฝ้ามองกันและกันอยู่ตลอด มีคนวิเคราะห์ว่าพอ คสช.ทำรัฐประหาร ทุกอย่างก็จะเงียบ ระบอบทักษิณจะหมดไป โดยเฉพาะเมื่อกำจัดยิ่งลักษณ์ออกไปได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

แต่ถ้าเราลองวิเคราะห์อีกมุมหนึ่งว่า ตั้งแต่สมัยทักษิณเป็นต้นมา พรรคของเขายังไม่เคยทำให้ชาวบ้านผิดหวังเลย ชาวบ้านมีแต่ความหวัง ได้ประโยชน์ชัดเจน ถึงแม้บางคนจะบอกว่านโยบายประชานิยมของทักษิณทำให้ประเทศล่มจม ในความจริงมันยังไม่ทันล่มจม คุณรัฐประหารก่อน พอมาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ ทำเรื่องจำนำข้าว คุณบอกว่าซื้อข้าวแพง จะทำให้ประเทศฉิบหาย แต่มันก็ยังไม่ทันฉิบหาย คุณรัฐประหารก่อน

เรื่องจำนำข้าวนี่ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาเยอะมาก ช่วงนั้นลูกศิษย์ผมหลายคนบอกว่าต้องรีบกลับบ้าน ผมถามว่ารีบกลับไปทำอะไร เขาบอกจะไปดูข้าวที่นา ตอนนี้ข้าวมีราคา ต้องไปดูดีๆ ยิ่งถ้าคุณได้ไปอยู่ในละแวกหมู่บ้าน จะเห็นความคึกคักทางเศรษฐกิจชัดเจนมาก พ่อค้าแม่ค้าคึกคัก ขายของได้ราคาดี ตลาดมีคนคลาคล่ำ แต่หลังรัฐประหารภาพเหล่านี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นตลาดร้าง

ทีนี้ลองคิดง่ายๆ ว่า ความรู้สึกดีที่ชาวบ้านมีต่อทักษิณและพรรคของทักษิณจะหายไปได้อย่างไร ในทางกลับกัน สิ่งที่เขารู้สึกได้อย่างชัดเจน ก็คือการรัฐประหารเป็นตัวการที่ทำให้สิ่งดีๆ ที่เขาเคยได้รับหายไป ผมคิดว่าการรัฐประหารของ คสช. ไม่ได้สร้างผลกระทบในแง่ความผูกพันทางจิตใจหรือความคิด มันควบคุมได้เฉพาะทางกายภาพ ทำให้พวกเขาขยับตัวไม่ได้ อย่างมากก็แค่หยุดความเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

หมายความว่าชาวบ้านยังคิดเหมือนเดิม แต่ทำอะไรไม่ได้

ใช่ ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอ

 

แล้วเป้าหมายของการรอคืออะไร

รอเลือกตั้ง นี่แหละเป้าหมายหลักของเขา ชาวบ้านต้องการเลือกรัฐบาล เขาคิดว่ารัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง เขาอธิบายเลยว่ารัฐประหารมันไม่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยากเป็นนายกก็มาลงเลือกตั้งสิ แล้วชาวบ้านจะเลือกใครก็เป็นสิทธิของเขา เรื่องนี้เขารู้ดี แล้วเราจะไปบอกเขาว่าไม่มีความรู้ได้อย่างไร

สิ่งสำคัญคือเขารู้จักรอ คิดดูสิ สามปีก็ยังรอ ไม่ใช่พวกที่จะออกมาใช้ความรุนแรงอะไร

รู้ไหมว่าตอนนี้ในชนบทมีความลำบากค่อนข้างสูง นิสิตที่เรียนกับผมร้อยละ 95 มาจากชนบท ในชั้นเรียนมีคนมาจากในเมืองแค่หนึ่งถึงสองคน ที่เหลือมาจากชนบทหมด เมื่อปีที่แล้วผมถามพวกเขาว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเฉยๆ ยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่ตอนนี้คุณลองไปถามดูสิ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด แย่มาก ฝืดมาก คนไม่ค่อยใช้เงินกัน ลองคิดดูว่าขนาดพวกนี้ยังรู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจแย่ แล้วที่อื่นจะขนาดไหน

แต่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผมคิดว่าชาวบ้านเป็นพวกปฏิบัตินิยม หมายความว่าถ้ามีสิ่งไหนที่ดีกว่า เขาก็เลือกสิ่งนั้น อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าชาวบ้านไม่ได้ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าคุณมีอะไรดี ก็เสนอมาสิ

จากที่คสช. ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า อาจารย์คิดว่าโอกาสที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ระบบเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย มีมากน้อยแค่ไหน แล้วบรรดาพรรคการเมืองควรจะดำเนินนโยบายในรูปแบบใด จึงจะสามารถกลับมาชนะใจชาวบ้านได้อีกครั้ง

แน่นอนว่าขั้นพื้นฐานที่สุด ชาวบ้านต้องการกลับมามีส่วนร่วมทางการเมือง นี่คือสิ่งที่เขาคิดว่าชอบธรรม เพราะตลอดช่วงเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา นับแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2522 เขามีประสบการณ์แบบนี้มาโดยตลอด แม้จะมีรัฐประหารบ้าง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าคนรุ่นผม ตอนนี้อายุ 60 ปี เริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งแรกปี 2522 อยู่ในระบบการเมืองแบบมีส่วนร่วมมาเกือบ 40 ปี ไม่ใช่คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ถ้าเข้าใจการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเกิดมันไม่รู้อะไรเลยสิแปลก เช่นเดียวกับคนรุ่นถัดจากผมลงมา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ก็ล้วนผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมาทั้งนั้น โดยเฉพาะช่วงปี 2544 ที่ทักษิณเข้ามา แล้วทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างชัดเจน จู่ๆ มีคนมาบอกว่าไม่เอา ไม่ใช่ ใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ ก็เป็นธรรมดาที่เขาจะเกิดความไม่พอใจ

ถามว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าจับตาผมคิดว่าเป็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงใหญ่อยู่ในภาคอีสาน สมมติเล่นๆ ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับทหาร ชาวบ้านอาจจะงงอย่างหนัก เพราะจากปี 2549 เขาไม่ยอมรับเผด็จการมาตลอด มีคนถูกจับ มีคนเจ็บคนตายมาตลอด อยู่ดีๆ มาจับมือกัน ชาวบ้านก็คงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้น อาจนำไปสู่พรรคทางเลือกใหม่ เหมือนที่เคยเกิดในยุโรปตะวันตกในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พรรคการเมืองที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของคนยากคนจนทั้งหลาย ทำตัวน่าผิดหวัง คนไม่พอใจก็รวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ เสนอนโยบายใหม่ที่ยึดโยงกับฐานเสียงเดิม เช่นเดียวกับประเทศแถบลาตินอเมริกา ที่คนเห็นว่าพรรคนี้ก็พึ่งไม่ได้ พรรคนั้นก็พึ่งไม่ได้ พอมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมา เสนอนโยบายถูกใจ เขาก็เทคะแนนให้ไปเลย

 

ของไทยมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นไหม

ไม่รู้ เพราะการเมืองไทยเขาห้ามทำนาย (หัวเราะ) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในโลกนี้บอกว่าสิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองไทย คือการทำนายอนาคต แต่เราสามารถวิเคราะห์ได้คร่าวๆ ว่า ถ้าพรรคการเมืองเลือกดำเนินนโยบายแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบไหน

สมมติว่ามีพรรคใดพรรคหนึ่งที่ชูแนวคิดประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าจะเป็นตัวดึงคะแนนนิยมอย่างมาก คือคุณไม่ต้องไปเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจอะไรทั้งนั้น เพราะมันทำไม่ได้ คุณต้องบอกประชาชนก่อนเลยว่า นโยบายของเรายังทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าอยากให้พรรคดำเนินนโยบายแบบที่พี่น้องชอบ ก็ต้องมาช่วยกันก่อน ช่วยกันทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศไทย ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติของระบอบประชาธิปไตย แล้วนโยบายเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้

ถ้าเล่นบทนี้ ผมคิดว่าฐานคะแนนเสียงที่เป็นชาวบ้านจะไม่ตก ประชาชนจะไม่คลางแคลงใจว่าทำไมไม่มีนโยบายเศรษฐกิจมาแก้ ขณะเดียวกันก็ต้องอ่านเกมให้ออกด้วยว่าหลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ที่แน่ๆ คือจะยังไม่มีเวทีสำหรับนักการเมือง เพราะการจัดเลือกตั้งรอบนี้คือการชงเองกินเอง เป็นการออกแบบการปกครองทางการเมืองให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พรรคอื่นเป็นได้อย่างมากแค่พรรคฝ่ายค้าน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง.

 


 

ผลงานชิ้นเด่นๆ ของ สมชัย ภัทรธนานันท์

– หนังสือเรื่อง “ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงทางการเมือง” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อินทนิล (2559)

– งานวิจัยเรื่อง “Civil Society and Democratization: Social Movements in Northeast Thailand” (2006)

– บทความเรื่อง “ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน” – วารสารบัณฑิตอาสาสมัคร (ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557)

– บทความเรื่อง “การเมืองของสังคมหลังชาวนา : เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน” (แปล) – วารสารฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2555)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save