fbpx
สิงคโปร์โมเดล : กำแพง 4 ด้านที่เผด็จการข้ามไม่พ้น

สิงคโปร์โมเดล : กำแพง 4 ด้านที่เผด็จการข้ามไม่พ้น

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

เมื่อปี 1960 คนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยเพียง 428 ดอลลาร์ต่อปี ต่ำกว่าประเทศอย่างตรินิแดดและโตเบโก (631 ดอลลาร์) และเวเนซุเอลา (1,072 ดอลลาร์) ทั้งยังทิ้งห่างสหราชอาณาจักร (1,380 ดอลลาร์) และแคนาดา (2,295 ดอลลาร์) แบบไม่เห็นฝุ่น

ผ่านไปราวครึ่งศตวรรษ รายได้ต่อหัวของสิงคโปร์ทะยานขึ้นมาเป็น 52,960 ดอลลาร์ นอกจากจะสูงกว่าตรินิแดดและโตเบโก (15,377 ดอลลาร์) และเวเนซุเอลา (12,237 ดอลลาร์) ถึงสามสี่เท่าตัวแล้ว ก็ยังแซงหน้าทั้งสหราชอาณาจักร (39,899 ดอลลาร์) และแคนาดา (42,158 ดอลลาร์) ไปด้วยซ้ำ

สิงคโปร์จึงถูกจัดเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจแนวหน้าผู้สร้าง ปาฏิหาริย์เอเชียตะวันออก (East Asian Miracle) เคียงคู่กับเกาหลีใต้และไต้หวัน

แต่เส้นทางของสิงคโปร์กลับน่าสนใจยิ่งกว่าเกาหลีใต้และไต้หวัน ตรงที่สามารถก้าวพ้นความยากจนขึ้นมาเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย

การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ตลอดช่วงไล่กวดตั้งแต่ได้รับเอกราชจวบจนกลายเป็นประเทศรายได้สูงในช่วงปลายทศวรรษ 1980 อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองแบบ”เผด็จการเต็มใบ” (fully authoritarian) มาโดยตลอด แม้กระทั่งในปัจจุบันที่สิงคโปร์กลายเป็นประเทศร่ำรวยอันดับสิบของโลกแล้ว Freedom House ก็ยังจัดระบอบการเมืองของสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศ “ไม่เสรี” (partly free) อยู่ดี

เพราะถึงแม้จะมีการเลือกตั้งเป็นระยะ แต่อิทธิพลของพรรครัฐบาลอย่าง Peoples Action Party (PAP) ก็ครอบงำการเมืองและสังคมแทบทุกมิติ มีการควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และภาคประชาสังคมอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 จนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์มีนายกรัฐมนตรีมาเพียง 3 คนเท่านั้น (2 ใน 3 นี้ยังเป็นพ่อลูกกันด้วย) โดยทั้งหมดมาจากพรรค PAP ที่ประสบความสำเร็จในการร้อยรัดผลประโยชน์ของ “ชาติ” ให้เป็นสิ่งเดียวกับผลประโยชน์ของ “พรรค”

สิงคโปร์จึงกลายเป็นต้นแบบประเทศเผด็จการผู้มั่งคั่ง ที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนยังต้องเหลียวมองเพื่อหวังถอดบทเรียนไปใช้ ในขณะที่ผู้นำของไทยเองก็มักเอ่ยถึง สิงคโปร์โมเดล ด้วยความชื่นชมอยู่เสมอ

แต่ไทย จีน หรือประเทศอื่นๆ ที่ต้องการหลีกเลี่ยงประชาธิปไตยจะสามารถเจริญรอยตามสิงคโปร์ได้จริงหรือ?

มีกำแพงอย่างน้อย 4 ด้าน ที่ทำให้สิงคโปร์โมเดลยากจะเกิดขึ้นซ้ำนอกคาบสมุทรมลายู

 

กำแพงที่หนึ่ง – จุดเริ่มต้นที่ไร้ภาคเกษตร

 

ภาคเกษตรเป็นปมเงื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะในขณะที่ประเทศต้องการความมั่นคงทางอาหาร แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ต้องการกำลังแรงงานและพื้นที่ใช้สอยจากภาคเกษตรเช่นกัน

ในแง่นี้ โจทย์แรกเริ่มของสิงคโปร์จึงง่ายกว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เพราะมีสัดส่วนภาคเกษตรและการประมงอยู่เพียงกระจิดริด (ร้อยละ 3.6 ของจีดีพีในปี 1960) ทั้งรัฐบาลยังมีเป้าหมายแน่วแน่ในการลดบทบาทภาคเกษตรลงอย่างต่อเนื่อง ถนนออร์ชาร์ด (Orchard Road) เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด เพราะแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศดังชื่อถนน ก่อนที่พรรค PAP จะเปลี่ยนให้เป็นเส้นทางช็อปปิ้งที่เต็มไปด้วยร้านค้าและแหล่งบันเทิงในทศวรรษ 1980 จนไม่เหลือร่องรอยของเรือกสวนไร่นาอีกต่อไป ในปัจจุบันกำลังแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรของสิงคโปร์ก็มีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น

ประเทศที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่ ณ จุดเริ่มต้นต้องเผชิญโจทย์ที่ยากกว่ามาก เกาหลีใต้และไต้หวันต้องปฏิรูปที่ดินและปรับปรุงการผลิตภาคเกษตรขนานใหญ่ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐต้องซื้อใจชาวนาและเพิ่มผลิตภาพ ไปพร้อมๆ กับโยกย้ายทรัพยากรและแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรม ประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ที่ไม่เคยปฏิรูปภาคเกษตรจริงจังอย่างไทย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

 

กำแพงที่สอง – การเปิดเสรีแบบมียุทธศาสตร์

 

สิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิดมากที่สุดต่อสิงคโปร์โมเดลคือ คิดว่าความสำเร็จของเกาะเล็กๆ แห่งนี้เกิดจากการเปิดเสรีแบบไร้ขอบเขต เชื่อว่าการปล่อยให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนโดยไร้ข้อจำกัดทั้งทางกฎระเบียบและภาษีจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยอัตโนมัติ

ในความเป็นจริง สิงคโปร์เปิดเสรีการค้าการลงทุนแบบมีเงื่อนไขเสมอ เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนว่าในแต่ละช่วงเวลาต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษ การสนับสนุนด้านการเงินและแรงงานก็มีลักษณะเฉพาะเจาะจงสำหรับความชำนาญเฉพาะทาง

ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ใช้รัฐวิสาหกิจอย่างแข็งขันภายใต้บริษัทโฮลดิ้งอย่าง Temasek กิจการของสิงคโปร์ที่เราคุ้นชื่อกันจำนวนมากก็เป็นบริษัทในเครือข่ายรัฐ ไม่ว่าจะเป็น DBS Bank, SingTel หรือแม้แต่ Singapore Airlines จนทำให้ภาครัฐมีบทบาทสำคัญถึงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบเศรษฐกิจประเทศ (วัดจากสัดส่วนการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น) อันเป็นสัดส่วนที่สูงยิ่งกว่าประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ที่เชื่อกันว่ารัฐชอบเข้ามายุ่มย่ามกับกลไกตลาดเสียอีก

รัฐเผด็จการที่ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ได้เพียงว่า “เปิดเสรีดีที่สุด” ย่อมไม่สามารถก้าวข้ามกำแพงนี้ไปได้

 

กำแพงที่สาม – การปรับตัวตามกระแสโลก

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ว่ามาถูกขับเคลื่อนโดยพรรค PAP ผ่านนายกรัฐมนตรี 3 คนที่ครองอำนาจยาวนานข้ามทศวรรษกันทุกคน (ลี กวน ยู, โก๊ะ จ๊ก ตง และ ลี เซียน ลุง)

PAP มีจุดแข็งตรงที่สามารถปรับตัวทั้งตามกระแสและนำกระแสได้อย่างรวดเร็วเสมอ อุดมการณ์ของพรรคมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในยุคสร้างชาติของลีกวนยู PAP เน้นย้ำหลักการ “สัมฤทธิ์ผลนิยม” (pragmatism) ใช้ทั้งแมวขาว แมวดำ และเครื่องจับหนู เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจัดการสังคม

แต่พอประเทศเริ่มร่ำรวยขึ้น PAP ก็หันมาเน้นหลักการตัดสินใจแบบ “เทคโนแครต” (technocracy) ส่งเสริมให้มีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานเฉพาะทางในการจัดการประเด็นต่างๆ ตอนที่เศรษฐกิจเอเชียโตมากๆ ในทศวรรษ 1990 พรรคก็โหนกระแสโดยเอาหลัก Asian Values มาคานกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศ

แต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คำว่า “เอเชีย” เริ่มส่อความหมายไปในทางทุนนิยมพวกพ้อง PAP ก็ปรับสโลแกนมาเป็น Singapore 21 หันมาเน้นความเฉพาะตัวและหลากหลายภายในของสิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นการสร้าง “หุ้นส่วนทางสังคม” ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ยุทธศาสตร์เชิงอุดมการณ์ของ PAP จึงสะท้อนความทั้งความฉลาดและความยืดหยุ่นของพรรคได้เป็นอย่างดี

 

กำแพงที่สี่ – การร้อยรัดผลประโยชน์ระหว่างพรรค รัฐ และประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม PAP ไม่ได้หมกมุ่นแต่เรื่องอุดมการณ์เท่านั้น แกนกลางความสำเร็จในการครองอำนาจของพรรคอยู่ที่ความสามารถในการร้อยรัดผลประโยชน์ของกลุ่มพลังทางสังคมหลักๆ ให้เป็นเนื้อเดียวกับของพรรค

ในทางหนึ่ง กลุ่มต่างๆ ในสังคมล้วนต้องพึ่งพา PAP ค่อนข่างสูงทั้งในด้านเส้นทางอาชีพและชีวิตประจำวัน ข้าราชการที่มีผลงานเข้าตามักได้รับตำแหน่งระดับสูงจากพรรคตอบแทนในอนาคต ในขณะที่ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ก็อาศัยอยู่ในบ้านหรือที่ดินของรัฐ

ในอีกทางหนึ่ง เมื่อสังคมวิวัฒนาการไปจนเกิดกลุ่มก้อนหรือประเด็นทางสังคมใหม่ๆ PAP มักเป็นฝ่ายรุกในการตอบสนองต่อพลังเหล่านั้น เพื่อจะสามารถเข้ามากำกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ในทศวรรษ 1980 มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เช่น Feedback Unit เพื่อให้ประชาชนมี “ช่องทาง” แสดงความเห็นต่อนโยบายสาธารณะ หรือในทศวรรษ 1990 ก็เปิดให้มี ส.ส. แบบแต่งตั้ง (Nominated MPs) ในรัฐสภาเพื่อเป็น “ตัวแทน” (ที่พรรคเลือกเอง) ของกลุ่มก้อนหรือประเด็นที่เริ่มมีพลังในสังคม (เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นสิทธิสตรี) โดยไม่ต้องรอให้มีการเดินขบวนเรียกร้อง

PAP จึงไม่ได้ใช้เพียงอุดมการณ์เป็นเครื่องมือโน้มน้าวประชาชนเท่านั้น แต่ยังเสนอผลประโยชน์ที่จับต้องได้ตอบแทน จนทำให้กลุ่มต่างๆ ต้องหันมาพึ่งพาและสนับสนุนพรรค

 

สิงคโปร์โมเดล = สมดุลระหว่างการกดขี่กับความชอบธรรม

 

ความสำเร็จของ PAP ในการสร้างสิงคโปร์เป็นเสือเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องเปลี่ยนตัวผู้ขี่เสือมาเกือบหกสิบปีจึงอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการกดขี่กับความชอบธรรม

เพราะถึงแม้รัฐจะเข้ามาควบคุมแทรกแซงเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังสามารถอ้างหลักการบางอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐไปพร้อมๆ กันด้วย แน่นอนว่ามีการประท้วงและความไม่พอใจอยู่เป็นระยะ แต่โดยรวมแล้ว พรรค PAP สามารถรักษาสมดุลนี้ได้ค่อนข้างดีนับแต่ประเทศเป็นเอกราชจวบจนปัจจุบัน ด้วยกลไกทางสถาบันที่ยืดหยุ่นและส่วนผสมของนโยบายที่ส่งผลเป็นรูปธรรม

สิงคโปร์โมเดลจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการมีผู้นำฉลาดอย่างลีกวนยู หรือการเปิดประเทศโดยไร้เงื่อนไข

ตลอดประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลก ไม่เคยมีประเทศไหนที่ร่ำรวยได้ด้วยการมีเพียงผู้นำที่ดี และไม่เคยมีนโยบายหนึ่งใดที่การันตีความสำเร็จทางเศรษฐกิจระยะยาว

ระบอบเผด็จการที่ไม่กล้าปฏิรูปที่ดิน เปิดเสรีแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้จักปรับตัวตามกระแสโลก และไม่สามารถร้อยรัดผลประโยชน์อันหลากหลายของประชาชน ย่อมไม่สามารถเดินตามรอยสิงคโปร์เป็นเผด็จการผู้มั่งคั่งได้ แต่มีแนวโน้มจะลงเอยเป็นสังคมปิดที่เศรษฐกิจชะงักงันเสียมากกว่า

 

ดูเพิ่มเติม/อ้างอิง

 

  • ข้อมูล GDP per capita (current US$) จาก The World Bank
  • บทความนี้ดัดแปลงจาก Veerayooth Kanchoochat “Tigers at Critical Junctures: How South Korea, Taiwan and Singapore Survived Growth-led Conflicts” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง Developmental State Building: The Politics of Emerging Economies ของมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo.
  • ผู้สนใจการนำเสนอบทความนี้ในรูปแบบงานวิชาการ (ดิเรกเสวนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมมศาสตร์) สามารถรับชมวิดีโอได้ที่นี่
  • การรักษาความสมดุลระหว่างการกดขี่กับความชอบธรรมของพรรค PAP ดู Morgenbesser, Lee (2017) “The autocratic mandate: elections, legitimacy and regime stability in Singapore.” The Pacific Review 30(2): 205-231.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020