fbpx
ซิม วีระไวทยะ : ชีวิตเพื่ออุดมคติแห่งคณะราษฎร

ซิม วีระไวทยะ : ชีวิตเพื่ออุดมคติแห่งคณะราษฎร

กษิดิศ อนันทนาธร  เรื่อง

ในเวลา 42 ปีของชีวิตชายคนหนึ่งที่ชื่อ ซิม วีระไวทยะ (2444–2486) เขาเป็นทั้งนัก “อภิวัฒน์” นักการเมือง นักการศึกษา นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ และนักธุรกิจ เขาสร้างชีวิตขึ้นมาด้วยสองมือแห่งเขา นอกจากเป็นกำลังในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ในทางส่วนตัวเขาทำกิจการกว้างขวาง ตั้งแต่งานประพันธ์ งานหนังสือพิมพ์ และงานธุรกิจ เพื่อสนับสนุนอุดมคติของเขาให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ในสังคมไทย และเขาเป็นผู้ที่ “อยู่ก็มีคนรัก จากไปก็มีคนคิดถึง”

น่าเสียดายที่ซิมอายุสั้น และน่าเสียดายที่เมืองไทยเป็นสังคมที่ลืมง่าย คนอย่างซิมจึงเลือนหายไปตามกาลเวลา

ในวาระ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ขอนำเสนอเรื่องของ ซิม วีระไวทยะ ผู้เป็นพยานยืนยันให้เห็นว่า คณะราษฎรต้องการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม ดังที่ได้ประกาศไว้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เพราะชีวิตของสมาชิกคณะราษฎรคนหนึ่งอย่างซิมได้โลดแล่นอยู่ในเกือบทุกมิติของอุดมคติแห่งคณะราษฎรนั้น และบางที ซิมอาจเป็นแรงดลใจให้คนรุ่นหลังได้บ้างไม่มากก็น้อย

ซิม วีระไวทยะ (พ.ศ. 2444–2486)

ชีวิตและการเมือง

ซิม วีระไวทยะ เกิดในเดือนสิงหาคม 2444 เป็นชาวราชบุรี เข้าเรียนที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร ต่อมาย้ายมาศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถึงปี 2467 เรียนยังไม่จบชั้น 7 โรงเรียนก็แต่งตั้งให้เป็น “มาสเตอร์” สอนในโรงเรียนเสียแล้ว ซิมจึงมาสมัครเป็นนักเรียนของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในปีนั้นเอง

ด้านชีวิตส่วนตัว ซิมสมรสกับจิ้มลิ้ม อมาตยกุล บุตรีหลวงเสน่ห์นรฤทธิ์ (เอม) มีบุตรธิดาด้วยกัน 8 คน

ปี 2469 ซิมสอบได้เป็นเนติบัณฑิตจึงลาออกจากครูมาเป็นทนายความในสำนักผดุงธรรม ซึ่งมีขุนวิสุทธิจรรยา (พ.อ.สุวรรณ เพ็งจันท์) และทองอินทร์ อุดล เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งมีสงวน ตุลารักษ์ อยู่ในสำนักงานนี้ด้วย

เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสกลับมาแล้วกำลังเสาะหาผู้ที่มีแนวคิดที่จะร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้ทราบจากหลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์) ว่าเนติบัณฑิตคณะผดุงธรรมสนใจที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองให้มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ทาบทามดูได้ความสมจริงแล้ว ซิมและคณะผดุงธรรมจึงได้จัดหาสมัครพรรคพวกเข้าร่วมก่อการจากการสอนทบทวนวิชาให้กลุ่มนักเรียนกฎหมาย ซึ่งสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตประมาณ 30 คน

ถึงปี 2473 พรรคพวกในสำนักงานแยกย้ายไปรับราชการบ้าง ประกอบอาชีพอื่นบ้าง ซิมจึงแยกมาตั้งสำนักงานทนายความของตนเองในพระนคร ปลายปีนั้น ซิมได้ตกลงกับสงวนที่จะเข้าร่วมก่อการ จึงได้ไปพบหลวงประดิษฐ์ฯ ที่บ้านถนนสีลม ซิมซึ่งไม่แต่สนใจทางการปกครองเท่านั้น แต่สนใจในทางเศรษฐกิจด้วย ได้ถามหลวงประดิษฐ์ฯว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จแล้ว จะดำเนินเศรษฐกิจของประเทศไปในรูปใด หลวงประดิษฐ์ฯตอบว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ตกลงในระหว่างผู้ก่อการ และขอให้ซิมไปศึกษาค้นคว้าวิธีการที่จะช่วยประเทศชาติในทางเศรษฐกิจต่อไป

ถึงวันก่อการ 24 มิถุนายน 2475 หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) กำหนดให้ซิมไปทำการร่วมกับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) และในช่วงที่ก่อการ ด้วยความเป็นคนสนิทของหลวงประดิษฐ์ฯ ซิมจึงเป็นผู้ที่ได้ไปบ้านถนนสีลมเพื่อรับเครื่องใช้และเครื่องแต่งกายของหลวงประดิษฐ์ฯ มายังที่ทำงานด้วย

วันรุ่งขึ้นคณะราษฎรเชิญเสนาบดีและปลัดทูลฉลองมาประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซิมได้รับมอบหมายจากหลวงประดิษฐ์ฯ ให้จดรายงาน เสมือนเป็นเลขาธิการเสนาบดีสภา ต่อมาซิมได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกด้วย

เมื่อมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซิมซึ่งเป็น ส.ส. ผู้หนึ่ง ได้แสดงความเห็นด้วยหลายประการ ที่น่าสนใจข้อหนึ่งคือ ซิมต้องการความเสมอภาคในสังคม

ซิมอภิปรายว่าควรเลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมดเพื่อความเท่าเทียมกันของผู้คน จะได้ไม่ต้องมีเจ้าพระยา พระยา หลวง พระ ขุน หมื่น (ละ “สมเด็จเจ้าพระยา” ไว้ เพราะในสมัยนั้นไม่มีแล้ว) อะไรเหล่านี้มาเป็นเครื่องแบ่งชั้นคน ควรจะมาเป็น “นาย” เสมอกัน ยิ่งเมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยแล้ว ราษฎรเห็นจะเอนเอียงมายังคนที่มีบรรดาศักดิ์เป็นอันมาก เพราะอย่างน้อยก็ฝังใจว่าเป็นคนที่ในหลวงพระราชทานยศและราชทินนามมาให้  คนอย่างนาย ก. นาย ข. เห็นจะสู้ไม่ได้ แต่สุดท้ายข้อเสนอของซิมก็ได้รับการประนีประนอม เพื่อไม่ให้เป็นที่หักหาญน้ำใจคนในระบอบเก่าเกินไป จึงไกล่เกลี่ยกันว่า แต่นี้ไปจะไม่ตั้งบรรดาศักดิ์เพิ่มเติม สุดท้ายก็จะค่อยๆ หมดไปเอง

แม้ซิมจะอยู่ในเกณฑ์ที่อาจได้รับเลือกให้เป็นผู้พิพากษาฝึกหัด ในฐานะที่เป็นเนติบัณฑิตและทนายความชั้น 1 มากกว่า 5 ปี ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตุลาการในเวลานั้น แต่ซิมได้แจ้งต่อหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าไม่ประสงค์จะเป็นผู้พิพากษา เพราะอยากจะดำเนินชีวิตในทางการเมือง เพื่อต่อสู้ในวิถีทางอันชอบธรรมตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร

เมื่อมีบุคคลในคณะการเมืองอื่นออกหนังสือพิมพ์ยุยงให้มหาชนเข้าใจคณะราษฎรคลาดเคลื่อนไป ซิมจึงได้ออกหนังสือพิมพ์ สฺจจํ ทำหน้าที่ตอบโต้ผู้ที่โจมตีคณะราษฎรโดยไม่เป็นธรรม และเขียนบทความทางเศรษฐกิจที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศอยู่เนืองๆ

ชื่อ สฺจจํ นี้ ไม่ได้แผลงจาก Pravda ของโซเวียตแต่อย่างใด หากมาจากพุทธภาษิต “สจฺจํ เว อมตา วาจา – ความสัจแลเป็นวาจาไม่ตาย” ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนเลือกมา

ซิมเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ตั้งพุทธมามกะสมาคมขึ้น เพราะต้องการจะเผยแพร่พุทธศาสนาให้มหาชนเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องแน่แท้ แต่ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรี ขอร้องให้เลิกทั้งหนังสือพิมพ์ สจฺจํ และพุทธมามกะสมาคม เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดสงสัยว่าซิมเคลื่อนไหวในทางเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์

เมื่อมีการสอบสวนหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่นั้น เจ้าคุณมโนฯ ถึงกับแซวว่า หลวงประดิษฐ์ฯ มีซิมและสงวน ตุลารักษ์ เป็นพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร เอาเลยทีเดียว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงย้อนไปว่าซิมกับสงวนเป็นลูกศิษย์โรงเรียนกฎหมายของเจ้าคุณฯ ต่างหาก เพราะตอนที่สองคนนี้เรียนนั้นตนยังเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส (ปรีดีเกิด 2443 ซิมเกิด 2444)  สำหรับในแวดวงที่รักใคร่ชอบพอจะให้สมญา 2 คนนี้ว่า “เตียวซิม” กับ “เตียวหงวน” เพราะเป็นคนพูดจาเสียงดัง

สงวน ตุลารักษ์ (พ.ศ. 2445–2538)

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซิมได้เข้าอาสาต่อท่านผู้บัญชาการทหารไปทำการรบ และได้รับมอบหมายจากท่านผู้บังคับกองผสมให้ปฏิบัติหน้าที่ในสนามด้วย

หลังจากปราบกบฏแล้ว พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ปรารภกับหลวงประดิษฐ์ฯ ถึงการทำหลักสูตรการศึกษาและตำราเรียนสำหรับชั้นประถมขึ้นใหม่ จึงได้นึกถึงซิม ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการซึ่งเคยเป็นครูมาก่อน

ทั้งพระสารสาสน์ฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ เห็นพร้อมกันว่า รากฐานการศึกษาชั้นประถมชอบที่จะวางหลักไว้ 3 ประการ คือ ธรรมชาติ การงาน และสมาคม กับทั้งจะต้องฝึกให้เด็กชอบค้นคว้าสอบสวนความรู้ตามสติปัญญาของตนด้วย ซิมพอใจในความคิดนี้จึงรับได้ค้นคว้าเทียบเคียงตำราต่างๆ ที่ใช้ในเอเชียตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น เพื่อเปรียบเทียบดัดแปลงให้เหมาะกับสภาพที่จะใช้ในประเทศไทยต่อไป

ปี 2477 ซิมไปประชุมยุวพุทธมามกะที่ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ดูงานการศึกษาในประเทศนั้น รวมถึงประเทศเกาหลีกับจีนก่อนที่จะเดินทางกลับไทย เมื่อกลับมาแล้วซิมได้ทำตำราขึ้นเสนอ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างใด ก็เปลี่ยนนโยบายไปเสียก่อน

ต่อมา 26 ธันวาคม 2481 ซิมได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2 อีกครั้งหนึ่ง และในเดือนถัดมา 27 มกราคม 2481 (สมัยนั้นเปลี่ยนศักราชเดือนเมษายน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ

งานประพันธ์และแนวคิดทางการศึกษา

ในปี 2477 ที่ซิมเดินทางไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เขาผ่านจีนและแมนจูโกด้วย และได้รับการแนะนำจากเพื่อนผู้หนึ่งให้อ่านหนังสือ ILCOURE ของ Edmondo de Amicis ซึ่งมีแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น

ซิมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วสะเทือนใจ เห็นว่าเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กนักเรียน รวมถึงบิดามารดาและครูอาจารย์ที่มีสัมพันธ์ต่อเด็กโดยตรง จึงได้เรียบเรียงหนังสือนี้ขึ้นโดยอาศัยเค้าโครงเดิมในชื่อ ดวงใจ เพราะการแปลโดยตรงตามต้นฉบับอิตาเลียนนั้น ถ้าเด็กอ่านโดยไม่มีคำอธิบายจากผู้ใหญ่ ก็อาจไม่เกิดประโยชน์สมอยากของเขา

ดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกในปี 2481 และพิมพ์จำหน่ายครั้งล่าสุดโดยสำนักพิมพ์รวมสาส์นในปี 2541 นอกจากนี้ ในปี 2543 ยังพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายไพโรจน์ ไชยพร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหลานลุงของซิมอีกด้วย

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ซิมใช้ชื่อบุคคลในคณะราษฎรมาเป็นตัวละครตามบุคลิกลักษณะของคนๆ นั้นก็ว่าได้ ดังเช่น ตัวเอกซึ่งเป็นนักเรียนนิสัยดีและเรียนเก่ง ชื่อ “ประดิษฐ์ รักธรรม” จากชื่อของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นักเรียนอีกคนชื่อ “อรรถ เกียรติขจร” จากหลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์) ส่วนนักเรียนที่มีความริษยาในหัวใจให้ชื่อว่า “ประยูร ภุมรินทร์” จากประยูร ภมรมนตรี นอกจากนี้ยังมี “สงวน ธรรมารักษ์” จากสงวน ตุลารักษ์ เพื่อนสนิทของซิมในชีวิตจริงด้วย ฯลฯ

สำหรับครูในโรงเรียนนั้น ครูใหญ่ชื่อพจน์ จากพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ส่วนครูอื่นๆ มีครูสินธุ์ จากหลวงสินธุ์สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) แกนนำคณะราษฎรสายทหารเรือ และครูทรง จากพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หนึ่งในสี่ทหารเสือแกนนำรุ่นอาวุโสสายทหารบก เป็นต้น

อนึ่ง ชื่อซิมเอง แปลว่า ดวงใจ  อาจตีความได้ว่า หนังสือ ดวงใจ เล่มนี้ เป็นเครื่องแทนความคิดของซิมนั่นเอง

นอกจากที่ ดวงใจ จะบรรยายเรื่องการศึกษาเล่าเรียนและสภาพในโรงเรียนอย่างจับใจ รวมถึงคติสอนใจต่างๆ แล้ว ซิมยังได้แทรกอุดมการณ์ทางการเมืองลงไปในหนังสือด้วย เช่น ตอนหนึ่งกล่าวถึง เหตุการณ์เมื่อทหารเดินแถวผ่านโรงเรียน ครูใหญ่พจน์บอกกับเด็กๆ ว่า “นี่คือทหารกองเก่าที่คอยออกแนวหน้าในคราวขบถเมื่อ พ.ศ. 2476 ทหารเหล่านั้นเป็นทหารใหม่ แต่ธงยังเป็นธงเก่า ในการปราบขบถคราวนั้น ภายใต้ธงนี้ได้เคยมีทหารเสียสละชีวิตเพื่อความสงบของประเทศ และความมั่นคงของรัฐธรรมนูญมาแล้ว”

สำหรับอุดมคติทางการศึกษานั้น ซิมเห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนจะว่างเปล่า ถ้าไม่เพาะชีวิตจิตใจของการศึกษาขึ้นมา อุปมาว่าในการแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษานั้น ทุกคนเอาแต่สนใจว่าจะขุดบ่อน้ำเป็นสี่เหลี่ยมหรือเป็นวงกลม แต่ไม่สู้จะสนใจว่าน้ำในบ่อซึ่งเป็นของสำคัญยิ่งนั้นควรจะเป็นเช่นใด

ซิมเห็นว่าสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาคือ ความรัก การศึกษาที่ปราศจากความรัก ก็อุปมาเหมือนบ่อน้ำที่ว่างเปล่านั่นเอง จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม ก็ไม่ยังประโยชน์ใดๆ ขึ้นมา อีกนัยหนึ่ง ซิมตระหนักดีว่า เรามักสนใจแต่รูปร่างหรือวิธีการเท่านั้น ส่วนเนื้อแห่งการศึกษา บรรดาบทเรียนอันเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่ง ไม่ค่อยได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังนัก

นับจากช่วงที่ซิมเขียน ดวงใจ ก็ผ่านกาลนานเนิ่นได้ 80 ปีแล้ว แต่ปัญหาด้านการศึกษายังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยอยู่เสมอ

งานทางเศรษฐกิจ

นอกจากงานประพันธ์เรื่อง ดวงใจ แล้ว ซิมยังได้แปลงานของคาร์ล ซิมเมอร์แมน ออกมาในชื่อ การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทสยาม (Siam rural economic survey, 1930–31) ออกมาในปี 2477 ด้วย

ปลายปีนั้นเอง ซิมเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ประจำที่ศาลอาญา ต่อมาไปช่วยงานที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ จนกลางปี 2479 จึงลาออกจากราชการมาเป็นเลขานุการสมาคมเหมืองแร่ไทย หลังจากอัครราชทูตอังกฤษมาปรึกษาหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าต้องการทนายความมาเป็นเลขานุการประจำ

นอกจากนี้ ซิมยังตั้งสำนักงานทนายความวีระขึ้นเป็นสถานที่สำหรับสำนักงานสมาคมด้วย ซิมยึดคติว่า แม้จะเป็นเลขานุการและทนายความประจำบริษัทเหมืองแร่ก็ตาม แต่จะระวังผลประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ไม่ใช่แต่ผลประโยชน์ของบริษัทต่างด้าวแต่ฝ่ายเดียว

ด้วยความสามารถทางกฎหมายและเศรษฐกิจของซิม เขาเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัทต่างๆ หลายแห่ง เช่น ตอนที่ธนาคารเอเชียจะซื้อธนาคารโอเวอร์ซีไชนีส และเมื่อมีการตั้งบริษัทไทยนิยมพานิช ตลอดจนบริษัทไทยเดินเรือทะเล เรือไทย ธนาคารนครหลวง ไทยประกันชีวิต ฯลฯ

หลังจากสำนักงานวีระเจริญก้าวหน้าทางทนายความแล้ว ซิมได้ตั้งบริษัท วีระ จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินกิจการทางการค้าและอุตสาหกรรมด้วย ต่อมาได้ขยายอีกหลายประเภท เช่น บริษัท วิศวกรรมไทย จำกัด รับก่อสร้าง บริษัท วีระพานิช จำกัด ค้ามะพร้าวและส่งสินค้าอื่นไปขายต่างประเทศ บริษัท วีระทอผ้า จำกัด ทอผ้าขายด้วยเครื่องจักรทันสมัย บริษัท แก่งคอย จำกัด ทำโรงสีและค้าข้าว บริษัท วิโรจน์ จำกัด ฟอกหนัง บริษัท วีระประกันภัย จำกัด รับประกันอุปัทวันตราย ทั้งยังมีสำนักงานการค้าที่สิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้ด้วย อันนับว่าเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในอันที่จะส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้าและอุตสาหกรรม

กล่าวได้ว่า ซิมได้สร้างตัวเองขึ้นโดยลำแข้ง โดยฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อย่างหนักตลอดอายุขัยของเขาด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญาและความสามารถของตน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ถึงกับกล่าวว่า “ฉันพยายามสังเกตการณ์ปฏิบัติตนของนายซิม เพื่อนที่รักตลอดมา อยากจะกล่าวว่า เพื่อนของฉันคนนี้สมควรเป็นบุคคลตัวอย่างในการสร้างตนและช่วยชาติที่สุด

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ซิมทำการค้าทุกด้าน ทั้งกสิกรรม อุตสาหกรรม การช่าง และการค้า ตั้งแต่งานเล็กจนถึงงานใหญ่ พระยามไหสวรรย์ (กวย สมบัติศิริ) ปรารภว่า งานที่ซิมทำนั้นเป็นการปิดทองหลังพระ เพราะที่กระทำไปก็โดยมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลืองานอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม คือตลาดของไทยและพ่อค้าไทย ดังการก่อตั้งบริษัทจังหวัดอันมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกสิกรไทย สินค้าไทย ซิมก็มีส่วนร่วมอยู่เป็นอันมาก

บุคลิกและนิสัยใจคอ

พระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร เคยเปรยกับภรรยาว่า “นายซิม วีระไวทยะผู้นี้ รูปร่างอ้วนล่ำ ผิวเนื้อค่อนข้างดำ หน้าตาก็ไม่สะสวย แต่เป็นคนมีน้ำใจดีมาก เรียบร้อยตลอดจนนิสัย อัธยาศัย

ซิม วีระไวทยะ

เพื่อนฝูงหลายคนกล่าวตรงกันว่า เขาเป็นคนที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม ความรู้ดี กล้าคิดกล้าทำ มานะอดทน ทำอะไรทำจริงและเด็ดขาด มีความอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้า เด็ดเดี่ยว เชื่อมั่นในตัวเอง พูดจาฉะฉานคล่องแคล่ว แม้จะเสียงดังหนักแน่น แต่อัธยาศัยใจคอสุภาพเรียบร้อย เป็นคนร่าเริง เกือบจะเรียกได้ว่า พูดคำไหนมีรอยยิ้มติดคำนั้นออกมาด้วย เป็นคนโกรธยาก ด้วยความที่เขาโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนฝูง เสียสละเพื่อผู้อื่น จึงเป็นผู้กว้างขวางในสมาคม และเป็นที่นิยมรักใคร่นับถือของญาติมิตรโดยทั่วไป เพราะเขาไม่เคยหวังผลตอบแทนจาการช่วยเพื่อนฝูงเลย

จิตตะเสน ปัญจะ เปรียบเทียบได้อย่างดีว่า ชีวิตของซิมได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ลาภ ยศ อำนาจ สรรเสริญ มิได้ทำให้ซิมเปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็นมากับเพื่อนฝูงแต่อย่างใด หากสิ่งเหล่านั้นที่ซิมได้รับกลับเป็นเครื่องแสดงให้เพื่อนฝูงเห็นโดยชัดแจ้งถึงความดีของซิม

ตรงกับที่วัน รุยาพร กล่าวว่า ซิมปราศจากการเหยียดหยามเพื่อนฝูง และไม่มีลืมตัว

ขณะที่เล้ง ศรีสมวงศ์ เห็นว่า ซิมเป็นมิตรแท้ของเพื่อน ต้องการให้คนอื่นสบาย ทำงานโดยไม่ต้องการชื่อเสียง ทำงานโดยไม่กังวลต่อทรัพย์ และไม่ต้องการผลตอบแทน

หลวงกาจสงคราม (กาจ เก่งระดมยิง) เขียนถึงซิมไว้อย่างกินใจว่า เขาเป็นคนใจดี ทำอะไรๆ ให้ดีขึ้น ถึงอายุจะสั้น แต่ก็สั้นด้วยความเป็นสุข ไม่มีเรื่องเดือดร้อนขุ่นมัว อันเป็นไฟเผาผลาญความเป็นอยู่ของตัวเอง ถ้าเปรียบซิมเป็นต้นไม้ เขาก็เป็นต้นโพธิ์ต้นไทรที่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต มีใบสะบัดเพราะต้องลม เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาวิหคทั้งหลายทั้งปวง คนที่มีข้อระคายเคืองในจิตใจ แม้ได้แลเห็นต้นไม้ชนิดนั้นก็ยังเรียกร้องเอาความเย็นความสงบมาสู่จิตใจได้ การเห็นไรฟันและลักยิ้มของเขาแต่ละครั้ง จึงได้เย็นเข้าไปในจิตใจ เหมือนได้เห็นใบโพธิ์ที่ปลิวสะบัดไปฉะนั้น

ความที่เขาเป็นคนใจเย็น รอบคอบ กล้าได้กล้าเสีย ทำให้สามารถทำงานในระยะ 7–8 ปี ได้มากกว่าคนอื่นๆ ที่ทำมา 20–30 ปีเสียอีก ในการแก้ปัญหาในงานก็ดี การวางแผนงานอันยุ่งเหยิงก็ดี ซิมจะยิ้มเข้าใส่ปัญหาเหล่านั้นอย่างใจเย็น

นอกจากนี้ เขายังเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และอ่านภาษาอังกฤษเก่งด้วย เขาอ่านหนังสือมากก็จริง แต่เขาจำความสำคัญในหนังสือเหล่านั้นได้นาน เขาจึงเป็นคนมีความรู้กว้างขวาง และด้วยความที่สนใจในประวัติศาสตร์และพงศาวดารของชาติไทยเป็นอย่างมาก กับเพราะมีความจำดีเป็นพิเศษ เมื่อได้อ่านพวกพงศาวดารจบแล้ว ก็สามารถเล่าเรื่องตลอดจนชื่อบุคคลสำคัญได้อย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งเหตุผลว่าควรเชื่อไม่เชื่ออย่างไร และติชมบุคคลในเรื่องไปในตัว ซิมยังเป็นคนรักที่จะใช้เหตุผล ถ้าคิดเองไม่ออก ก็จะขอผัดเพื่อนไปค้นหนังสือมาตอบ

มรณกรรม

ด้วยความที่ซิมมีการงานมากมายหลายอย่าง ต้องใช้ความคิดและทำการงาน ไม่ค่อยมีเวลาว่าง จึงทำให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2486 ซิมเป็นฝีที่ก้นย้อยข้างขวา และเกิดโลหิตเป็นพิษ อาการมีแต่ทรงกับทรุด

แม้กระนั้น ก่อนวาระสุดท้ายจะมาถึง เขาปรารภกับปรีดี “ถึงผมเจ็บหนักเช่นนี้ ก็อดเป็นห่วงบ้านเมืองไม่ได้” ซึ่งจริงดังนั้น ข้าราชการผู้หนึ่งกล่าวว่า ขณะที่นอนเจ็บอยู่ ซิมได้พร่ำบ่นถึงงานที่กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้เป็นผู้จัดทำป้ายบอกกำหนดราคาเครื่องอุปโภค ตามตลาดในเทศบาลนครกรุงเทพฯ (ต้องไม่ลืมว่าตอนนั้นอยู่ในช่วงสงคราม) และถามคนใกล้ชิดบ่อยๆ ว่าทำงานไปได้เพียงใด ค้างอีกเท่าใด

และในช่วงท้ายแห่งชีวิตของเขาเช่นกัน ซิมพูดกับ พ.อ. เรือง เรืองวีระยุทธ ว่า “กันได้ยินหลายคนพูดว่า ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมา เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กันรู้สึกเสียใจที่มีมนุษย์ยังเข้าใจอย่างนี้ก็มี

ต่อมาอีก 2 วัน คือในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2486 ซิมก็จากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 42 ปี

ปรีดี พนมยงค์ บอกว่า “รู้สึกสงสารและอาลัยในการที่เพื่อนที่รักและซื่อสัตย์ต้องจากกันไปเป็นอย่างยิ่ง

อัฐิของซิมบรรจุที่อนุสาวรีย์รูปพระนนทิมุขในที่ดินของเขาย่านปริมณฑล  รูปพระนนทิมุขนี้เป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ออกแบบและปั้นให้ซิม ในแนวคิดว่าเขาได้พลีตนรับใช้งานของบ้านเมือง ซึ่งเหมือนงานสร้างของพระอิศวร ดุจดังพระโคนนทิ เทพพาหนะของพระอิศวร ที่คนก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญหรือตระหนักบทบาทของพระโคสักเท่าไร

สุรินทร์ ชิโนทัย เขียนในหนังสืองานศพของซิมได้อย่างคมคายว่า “เรารู้ดีว่า เขาเมื่อก่อนตายเป็นคนรักการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญปัจจุบันแห่งประเทศไทยเพียงไร เราขออำนาจแห่งดวงวิญญาณของเพื่อนรักผู้นี้ จงมาช่วยให้รัฐธรรมนูญของชาติไทยเรามั่นคงถาวรตลอดชั่วกาลนานด้วยเทอญ

ถ้าซิมยังมีญาณวิถีใดรับรู้ได้ คงเสียใจอยู่ไม่น้อย ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 85 ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยของไทยยังล้มลุกคลุกคลานเพราะน้ำมือของคณะการเมืองอื่นยิ่งกว่าคณะราษฎร แล้วโยนความเลวร้ายที่เกิดในระบอบนี้ให้แก่คณะราษฎรทั้งสิ้น แม้จนถึงทุกวันนี้

ซิมจากโลกนี้ไปกว่า 70 ปีแล้ว เห็นจะเป็นหน้าที่ของพวกเราในปัจจุบันสมัยที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน และพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตย (ถ้ามี) ในประเทศนี้ต่อไป !

ที่มาเรื่อง

  • ซิม วีระไวทยะ. ดวงใจ. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2541.
  • ไว้อาลัยแด่นายซิม วีระไวทยะ. เจ้าภาพพิมพ์แจกไนงานพระราชทานเพลิงสพ นายซิม วีระไวทยะ วัดมกุตกสัตริยาราม พ.ส. 2486
  • สัมภาษณ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร ทาง facebook เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560

ที่มาภาพ

  • Facebook: Sinsawat Yodbangtoey
  • Google: ซิม วีระไวทยะ ดวงใจ
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางจิ้มลิ้ม วีระไวทยะ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ (โดยความอนุเคราะห์จาก คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save