fbpx
สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ : อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว

สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ : อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักนำเสนอผลจากรายงานการศึกษาของธนาคารโลก เรื่องการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth) ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยเริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งแล้ว พร้อมทั้งเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์ฯ) ซึ่งเปิดเผยผลสรุปจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในไทย ปี 2559 ว่า ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความยากจนของไทยในภาพรวมเบาบางลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนของคนจนที่ลดลงอย่างมาก จากประมาณ 28 ล้านคนในปี 2531 (สัดส่วนร้อยละ 65.2 ของประชากร) เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 (สัดส่วนร้อยละ 8.6 ของประชากร)

สถานการณ์ความยากจนดีขึ้นตามข่าวที่สื่อนำเสนอจริงหรือ?

อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว: คนเกือบจน

การพิจารณาสถานการณ์ความยากจนนั้น ไม่อาจสรุปได้จากจำนวนและสัดส่วนของคนจนเท่านั้น แต่ควรพิจารณา “คนเกือบจน” ประกอบด้วย ทั้งนี้ ตามนิยามของสภาพัฒน์ฯ นั้น คนเกือบจนหมายถึงคนที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกินร้อยละ 20 คือมีรายจ่ายสูงกว่าเกณฑ์ที่ใช้วัดคนจนเพียงเล็กน้อย ดังนั้น คนเกือบจนจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าจะกลับมายากจนได้ง่าย และเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องคำนึงถึงเมื่อมีการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน แม้ว่าจะไม่ใช่คนจนก็ตาม

นอกจากนี้ สื่อบางรายสรุปสถานการณ์ความยากจนจากรายงานของสภาพัฒน์ฉบับดังกล่าวว่า ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความยากจนของไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก สะท้อนจากจำนวนคนจนรวมกับคนเกือบจนที่ลดลง จาก 39.2 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 11.6 ล้านคนในปี 2559  อย่างไรก็ตาม การสรุปสถานการณ์ความยากจนจากการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเพียงอย่างเดียว อาจให้ภาพที่ดีเกินจริง และไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก เพราะจำนวนคนจนและคนเกือบจนประมาณ 11.6 ล้านคนในปี 2559 นั้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด ทั้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 10.4 ล้านคนในปี 2558 (ร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งหมด) อีกด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาลงลึกที่จำนวนคนเกือบจนจะพบว่า ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คนเกือบจนในไทยแทบไม่ได้ลดจำนวนลงเลย โดยตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปี 2545 นั้น จำนวนคนเกือบจนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งจะมีแนวโน้มลดลงหลังจากปี 2554 เท่านั้น[1] ทั้งนี้ ในปี 2559 คนเกือบจนมีจำนวนประมาณ 5.8 ล้านคน (ร้อยละ 8.58 ของประชากร) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 5.1 ล้านคนในปี 2531 (ร้อยละ 9.73 ของประชากร) และเพิ่มขึ้นจากจำนวน 5.6 ล้านคนในปี 2558 (ร้อยละ 8.40 ของประชากร)

จำนวนคนจนมาก จนน้อย และเกือบจนในไทย ปี 2531 - 2559

แม้ว่าในระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนคนจนในไทยจะลดลงมากแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจำนวนและสัดส่วนคนจนร่วมกับคนเกือบจน ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว จะเห็นว่า ไทยอาจไม่ได้หลุดพ้นจากปัญหาความยากจนโดยสมบูรณ์ ความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากของประเทศได้เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น “เส้นความยากจน” ที่ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งคนจนนั้น ยังเป็นเพียงเครื่องมือทางตัวเลข ที่ใช้วัดระดับความต้องการขั้นพื้นฐานของคนเท่านั้น จึงอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกสถานะความเป็นอยู่ของคนได้ดีนัก เพราะผู้ที่มีรายจ่ายสูงกว่าเส้นความยากจน (คือไม่ใช่คนจนโดยนิยาม) ก็อาจไม่ได้มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ต่างจากคนจนโดยนิยามอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ปัญหาความยากจนของไทยจึงยังคงเป็นประเด็นที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว: จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นในระยะสั้น

ข่าวที่ปรากฏในสื่อและรายงานของสภาพัฒน์ฯ ล้วนให้น้ำหนักกับสถานการณ์ความยากจนที่ดีขึ้นในระยะยาว มากกว่าสถานการณ์ในระยะสั้นที่จำนวนคนจนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึงเกือบ 1 ล้านคน และคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงถึงร้อยละ 19.8 ทั้งนี้ สื่อจำนวนไม่น้อยรายงานเฉพาะจำนวนคนจนที่ลดลงในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความยากจนของไทยดีขึ้นมาก โดยไม่ได้กล่าวถึงจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายงานของสภาพัฒน์ฯ นั้น แม้จะมีการนำเสนอประเด็นดังกล่าว แต่ก็มิได้มีบทวิเคราะห์ถึงสาเหตุอย่างลึกซึ้งและชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจนดังกล่าวอาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

จำนวนและสัดส่วนคนจนในไทย ปี 2531 - 2559

หากพิจารณาเฉพาะช่วงที่จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมามีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่จำนวนและสัดส่วนคนจนในไทยเพิ่มขึ้น ครั้งแรกคือช่วงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งทำให้ทั้งจำนวนคนจนในไทยเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันหลายปี ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2543 (ไม่มีข้อมูลปี 2540 และปี 2542) โดยมีจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 5.5 ล้านคน และครั้งที่สองคือช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ในปี 2550-51 ซึ่งทำให้จำนวนคนจนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือประมาณ 4 แสนคน

การเพิ่มขึ้นของคนจนในปี 2559 นั้นแตกต่างไปจากสองครั้งแรก กล่าวคือ จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2541 ถึง 2543 และในปี 2551 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการเงิน แต่จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 กลับเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอยู่ และไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ในช่วงปี 2559 ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสามารถสะสมความมั่งคั่งได้ คนอีกกลุ่มที่อยู่ด้านล่างของสังคมกลับเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากความมั่งคั่งที่ลดลง

การเพิ่มขึ้นของคนจนในปี 2559 นี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าปัญหาความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty) หรือปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” (inequality) ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน

นอกจากนี้ เมื่อจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตดีตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาล จึงนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เพราะเมื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ไหลรินจากผู้มีรายได้มาก ไปสู่ผู้มีรายได้น้อยตามแนวคิด Trickle Down Effect แล้ว ไทยควรเริ่มดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิด “การเติบโตอย่างทั่วถึง” อย่างจริงจังเสียทีหรือไม่? และมีมาตรการหรือนโยบายใดบ้าง ที่จะทำให้ “การเติบโตอย่างทั่วถึง” เป็นผลที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ มากกว่าที่จะเป็นแค่คำพูดดูดีในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี?

อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว: ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นอกจากสถานการณ์ความยากจนแล้ว รายงานของสภาพัฒน์ฯ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยด้วย[2] โดยตอนหนึ่งของรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยดีขึ้นน้อยมาก หากพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือ Gini coefficient[3] จะพบว่า Gini coefficient แทบจะไม่ลดลงจากเมื่อ 30 ปีก่อนหน้าและเพิ่งจะเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากปี 2549 เท่านั้น โดยในปี 2558 นั้น Gini coefficient ด้านรายได้มีเท่ากับ 0.445 ซึ่งลดลงจาก 0.487 ในปี 2531 เพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยของประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งจำแนกตามระดับรายได้ 5 กลุ่ม (Quintile by income) จะพบว่า ในปี 2558 รายได้ประจำเฉลี่ยของประชากรร้อยละ 20 ที่รวยที่สุด สูงกว่ารายได้ประจำเฉลี่ยของประชากรร้อยละ 20 ที่จนที่สุดถึงกว่าสิบเท่า สัดส่วนรายได้ดังกล่าวไม่ได้ลดลงจากในปี 2531 (11.9 เท่า) มากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากการเติบโตของรายได้ของกลุ่มประชากรที่รวยที่สุดกับกลุ่มที่จนที่สุดในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาไม่แตกต่างกันมากนัก (เฉลี่ยประมาณร้อยละ 8.4 และร้อยละ 9.0 ต่อปีตามลำดับ) ทำให้ประชากรกลุ่มที่จนที่สุดไม่สามารถไล่กวดระดับรายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุดได้

รายได้ประจำเฉลี่ย จำแนกตามกลุ่มประชาการตามระดับรายได้ ปี 2531 - 2558

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของสัดส่วนรายได้จะพบว่า ในปี 2558 รายได้ของประชากรกลุ่มที่รวยที่สุดร้อยละ 20 คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งประเทศ ขณะที่รายได้ของประชากรกลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 20 คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ แม้สัดส่วนรายได้ของประชากรกลุ่มที่รวยที่สุดจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2549 แต่สัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

สัดส่วนของรายได้ของประชากรแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว และจำนวนคนจนในภาพรวมจะลดลงอย่างมาก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ ตราบใดที่รายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไปกระจุกตัวอยู่ที่ประชากรกลุ่มที่อยู่ด้านบนสุดของสังคม

สัดส่วนรายได้ของประชาการ จำแนกตามระดับรายได้ปี 2558

ลักษณะการนำเสนอข่าวของสื่อหลายสำนักและการรายงานผลสำรวจความยากจนของสภาพัฒน์ฯ อาจไม่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพราะทั้งสื่อและสภาพัฒน์ฯ ล้วนให้ความสำคัญกับภาพรวมสถานการณ์ความยากจนของไทยที่ดีขึ้นมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับ “ปัญหา” ในปัจจุบันที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น ความยากจนเรื้อรัง และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยมาเป็นระยะเวลานาน

อ้างอิง

1. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559 จาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. ข่าว สภาพัฒน์เผย ปี 2559 คนไทย 5.8 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จาก ฐานเศรษฐกิจ

3. ข่าว เหลือ 11 ล้านคน! “สภาพัฒน์” เปิดแผนจัดทำนโยบายช่วยเหลือคนจน ผุดเครื่องมือใหม่ไม่เน้นชี้วัดตัวเงิน จาก mgronline

เชิงอรรถ

[1] มีความเป็นไปได้ว่า จำนวนคนเกือบจนที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากคนจนซึ่งมีจำนวนลดลง และได้ขยับสถานะมาอยู่ในกลุ่มคนเกือบจนแทน

[2] รายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอภาพรวมความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น 7 ด้าน ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำด้นรายได้ รายจ่าย การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม โครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการยุติธรรม โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เท่านั้น

[3] Gini coefficient คือเครื่องมือที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบสัดส่วน (ratio) ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 หากค่ามากขึ้น (เข้าใกล้ 1) หมายความว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งกว้างขึ้น และหากค่าน้อยลง (เข้าใกล้ 0) หมายความว่าความเหลื่อมล้ำลดลง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save