fbpx
รัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส สังคมวิปโยค

การเมืองไทยในสถานการณ์ “ซากศพปกครองคนเป็น”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

“The dead should not govern the living.”

 

เมื่อ Thomas Jefferson เขียนจดหมายถึง James Madison ใน ค.ศ. 1789 เขาได้บรรยายถึงความคิดของเขาที่มีต่อ “รัฐธรรมนูญ” ว่า รัฐธรรมนูญควรถูกเขียนขึ้นใหม่ในทุกช่วงอายุ (generation) ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในจดหมายได้พยายามตอบคำถามว่าคนในช่วงอายุหนึ่งมีสิทธิที่จะสร้างภาระผูกพันแก่คนอีกช่วงอายุหนึ่งหรือไม่ (The question whether one generation of men has a right to bind another) ดังนี้

“I set out on this ground, which I suppose to be self evident, ‘that the earth belongs in usufruct to the living’: that the dead have neither powers nor rights over it.”[1]

หรือหากกล่าวโดยสรุปก็คือ “ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น” (the dead should not govern the living) แน่นอนว่า “ซากศพ” ในที่นี้ หมายถึง อุดมการณ์ ความเข้าใจ โลกทรรศน์ ของคนรุ่นหนึ่งที่พยายามออกแบบกติกาทางสังคมให้กับคนรุ่นถัดไป

ในฐานะบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ (หนึ่งในสี่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งรูปของใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ Mount Rushmore และเป็นผู้ทำหน้าที่ในการร่างคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เมื่อ ค.ศ. 1776) ความเห็นของ Jefferson เป็นประเด็นที่น่าสนใจแก่การไตร่ตรองมิใช่น้อย

การให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรถูกบัญญัติขึ้นใหม่ในทุกช่วงอายุเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญว่า “เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง มิใช่สิ่งที่ถูกค้นพบ” (Constitution is made, not found) เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น รัฐธรรมนูญจึงย่อมมิใช่สิ่งที่สมบูรณ์อย่างเป็นนิรันดร หากแต่มีกาละและเทศะ (time and space) เป็นเงื่อนปัจจัยประกอบอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อความปรารถนาของผู้คนในแต่ละห้วงเวลา เมื่อห้วงเวลาเปลี่ยนแปรไปก็ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อความปรารถนาของยุคสมัย

ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญจึงควรถูกเขียนขึ้นใหม่ในแต่ละยุคสมัย หากยังคงปล่อยให้รัฐธรรมนูญของคนรุ่นก่อนหน้ายังคงมีผลใช้บังคับต่อไปโดยเฉพาะกับคนต่างยุคสมัย ก็ย่อมมีความหมายถึงการปล่อยให้ “ซากศพปกครองคนเป็น”

ความเห็นของ Jefferson เกิดขึ้นในช่วงระยะเริ่มต้นที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็น “กฎหมายสูงสุดในการปกครอง” ในสหรัฐฯ อันมีลักษณะแตกต่างไปอย่างสำคัญจากการปกครองในรัฐต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งรัฐส่วนมากยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์หรือระบอบราชาธิปไตย การปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักจึงยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันแต่อย่างใด รวมทั้งกลไกในการทำให้รัฐธรรมนูญสามารถปรับเปลี่ยน/เปลี่ยนผ่านเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของยุคสมัยก็อาจยังไม่ได้กลายเป็นรูปธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน

แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Amendment) ได้กลายเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่อาจช่วยให้คำตอบต่อข้อกังวลของ Jefferson โดยภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 1789 ก็ได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน และได้รับการรับรองเมื่อ ค.ศ. 1791 ถือเป็น Amendment I ถึง X อันมีเนื้อหาในการรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐไม่อาจล่วงละเมิดได้ (ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น Bill of Rights ของสหรัฐฯ) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 27 ครั้ง โดยการแก้ไขครั้งหลังสุดหรือ Amendment XXVII เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1992

ความสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสหรัฐฯ (และในอีกหลายแห่งของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย) ก็คือ ระบบการเมืองการปกครองที่เปิดโอกาสให้เกิดการแก้ไขภายในตัวเอง (self-correcting system) รัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดขึ้นอาจจะเผชิญปัญหาที่ไม่ได้ถูกขบคิดไว้ล่วงหน้า หรืออาจเกิดความขัดแย้งใหม่อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง

พิจารณาในแง่มุมนี้ แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จะไม่ได้ถูกร่างขึ้นใหม่ทุกชั่วอายุคนตามความเห็นของ Jefferson แต่ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมและการตีความของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถเป็นได้ทั้ง “เจตนารมณ์จากคนตาย” และ “อารมณ์ความรู้สึกของคนเป็น” ปะปนประกอบกันไป ซึ่งก็ล้วนช่วยทำให้เข้าใจได้ว่า จากประสบการณ์ที่เป็นจริงแล้ว ไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เป็นกรอบวางไว้ให้บรรดาคนดีทั้งหลายมาค้นพบและกลายเป็น “ไตรปิฎกทางการเมือง” ไปชั่วนิรันดรแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่สามารถมีข้อบกพร่อง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในวันข้างหน้า

 

“ให้ยืนยงอยู่คู่สยามรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน”

 

ภายหลังการอภิวัฒน์เมื่อ พ.ศ. 2475 (หากไม่นับรวมพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม) มาสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นจะถูกใช้เป็นหลักในการปกครองไปอย่างถาวร รวมทั้งกลายเป็นหลักหมายสำคัญในระบอบการเมือง ดังปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2475 (ฉบับ 10 ธันวาคม)

“ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเรานี้ จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบูลราศีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร และข้าราชการ ทั้งทหารพลเรือนทวยอาณาประชาราษฎร์จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่สยามรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน”

ความคาดหวังที่มีต่อรัฐธรรมนูญให้ดำรงอยู่ “ตราบเท่ากัลปาวสาน” ก็ได้ปรากฏสืบเนื่องต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2489 แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะถูกนำมาใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญ 2475 แต่ก็เกิดขึ้นโดยกระบวนการที่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงนับได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความชอบธรรมสืบเนื่องมา

ความผันผวนทางการเมืองใน พ.ศ. 2490 อันนำมาซึ่งการยึดอำนาจ รวมถึงการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมิได้มีความสืบเนื่องกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ “แปลกใหม่” ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว กระทั่งคณะรัฐประหารต้องออกแถลงการณ์เพื่อให้คำอธิบายถึงความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำ อีกทั้งสถาบันตุลาการก็ให้การรับรองความชอบด้วยกฎหมายในคำพิพากษาฎีกาหลายคดีมาอย่างต่อเนื่อง (ฎ. 45/2496 นับเป็นหลักหมายสำคัญต่อการจัดวางสถานะของคณะรัฐประหารลงในระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย)

การเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งในทศวรรษ 2490 และ 2500 ได้มีผลทำให้ความเข้าใจต่อการดำรงอยู่อย่างถาวรของรัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ รูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจในทิศทางเช่นนี้ จาก 2475 ถึง 2560 ในระยะเวลา 85 ปี สังคมไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ซึ่งความหมายสำคัญประการหนึ่งก็คือการทำลายศักยภาพในการแก้ไขตนเองของระบอบให้สิ้นความหมายลง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเป่านกหวีดซึ่งปฏิเสธความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิงของระบบการปกครองที่ดำรงอยู่และต้องการความเปลี่ยนแปลงแบบไร้เดียงสา นับเป็นส่วนสำคัญต่อการปิดโอกาสให้ระบบได้ทำการแก้ไขตนเอง และนำมาสู่การทำลายสถาบันพื้นฐานต่างๆ ให้สังคมไทยให้พังทลายลงจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

หากพิจารณาจากแง่มุมหนึ่ง อาจจะอธิบายได้ว่าในสังคมไทย “ซากศพไม่ได้ปกครองคนเป็น” เพราะรัฐธรรมนูญจะบัญญัติขึ้นใหม่ทุกๆ 4 ปี โดยเฉลี่ย คำถามคือการบัญญัติขึ้นใหม่ทุก 4 ปี (ซึ่งย่อมมีห้วงเวลาที่สั้นกว่าชั่วอายุคนอย่างแน่นอน) มีความหมายอย่างไรในระบอบการเมืองการปกครองของไทย

 

การประกอบสร้างแผนของ the dead เหนือสังคมไทย

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกร่างและประกาศใช้ท่ามกลางระบอบอำนาจนิยมที่พลัดหลงห้วงเวลามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ถูกโต้แย้งอย่างกว้างขวางทั้งในด้านของการออกแบบสถาบันทางการเมือง ด้วยการทำให้สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น รวมทั้งในส่วนของสิทธิเสรีภาพก็ได้มีการปรับแก้ให้แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล

ไม่เพียงเท่านั้น ความคาดหวังประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือความพยายามในการยัดเยียดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำรงอยู่ไปโดยไม่อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ การกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 โดยที่สมาชิกส่วนนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มต้นที่สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเป็นหลัก หรือการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคอันรวมไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

เมื่อผนวกเข้ากับการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำการตรวจสอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ในแง่นี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ความต้องการที่จะให้อุดมคติ ความเชื่อ ความหวัง ของคนรุ่นหนึ่ง (ที่กำลังจะจากไป) อยู่ปกครองคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ต่อไป คำถามสำคัญก็คือว่าคนรุ่นที่กำลังมีอำนาจอยู่นี้เท่าทันกับโลกที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน และรวมทั้งมีความกล้าหาญพอที่จะ “เห็น” ปรากฏการณ์ที่ดารดาษอยู่เพียงใด

มีสักกี่คนที่นั่งวางแผนการปฏิรูปประเทศกันอย่างขะมักเขม้นในห้วงเวลานี้สามารถเปิดใช้ facebook หรือ line ด้วยตัวเองได้บ้าง

มีใครในผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากในข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคณะรัฐประหารในหลากหลายรูปแบบ ฯลฯ

ความคาดหวังว่าจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำรงอยู่ไปอย่างยาวนาน ขณะที่มีเนื้อหาซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไพศาล และไม่มีช่องทางที่จะเปิดให้ระบบทำการแก้ไขได้ในตัวมันเองด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม ย่อมมีผลให้ความตึงเครียดทางสังคมการเมืองค่อยๆ สะสมเพิ่มมากขึ้น

อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงสามารถคาดเดาได้โดยไม่ยากลำบากนัก ความไม่ชัดเจนอาจเหลือเพียงว่า มันจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด เท่านั้นเอง.

 

เชิงอรรถ

[1] ดูรายละเอียดใน the papers of Thomas Jefferson

 

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความชิ้นนี้มาจากการอภิปรายเรื่อง “รัฐธรรมนูญไทยบนสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ในวาระครบรอบ 85 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save