fbpx
วิกฤตโรฮิงญากับข้อถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์

วิกฤตโรฮิงญากับข้อถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

 

หลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับโรฮิงญาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่กำลังเผชิญการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยรัฐบาลพม่า ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหนีตายสู่ประเทศที่สาม โดยเฉพาะบังคลาเทศ อีกนับหมื่นคนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่ก่อตัวมาตั้งแต่กลางปี 2012 (พ.ศ. 2555)

กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง เรารู้จักชาวโรฮิงญาในฐานะ “ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลก” และเข้าใจเรื่องราวของพวกเขาจากมุมมองของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ทำให้เราอาจหลงลืมประเด็นสำคัญอื่นๆ อันจะเป็นพื้นฐานทำให้เข้าใจที่มาและปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ได้ลุ่มลึกมากขึ้น

คำถามสั้นๆ ที่ว่า “โรฮิงญาคือใคร?” เป็นคำถามที่นักวิชาการในแวดวงพม่าศึกษาถกเถียงกันมาหลายปีแล้ว แต่ข้อถกเถียงนี้กลับไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ข่าวหรือรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจึงมักออกมาแบบแข็งทื่อ เช่น ชาวโรฮิงญาเป็นเหยื่อ และรัฐบาลพม่าตลอดจนชาวยะไข่พุทธเป็นผู้กระทำ ซึ่งยิ่งสร้างความขัดแย้งทางชาติพันธุ์-ศาสนาให้เพิ่มขึ้นในกระแสการปรองดองภายในชาติที่รัฐบาลพม่ายึดเป็นหมุดหมายหลักในปัจจุบัน

หากเราค่อยๆ คลี่ประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในยะไข่ ความรุ่งเรืองของอาณาจักรในยะไข่ยุคโบราณ และประวัติศาสตร์ชาติของพม่าออกมาทีละนิด ก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้วความรุนแรงในรัฐยะไข่และอคติด้านชาติพันธุ์-ศาสนาระหว่างชาวพุทธทั้งที่เป็นชาวยะไข่และชาวพุทธพม่ากับชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็น “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง”

นโยบายของอังกฤษตลอดยุคอาณานิคมส่งเสริมให้ชาวต่างชาติจากเบงกอลและพื้นที่อื่นๆ ทั่วบริติชอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในพม่า ตลอดจนส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายในพม่าเข้าไปเป็นตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะความหวาดระแวงไม่ไว้เนื้อเชื่อใจชาวพม่า ชาวเบงกอลที่เข้าไปในพม่ากระจุกตัวอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ในพื้นที่ 3 เมือง ได้แก่ หม่องด่อ (Maungdaw) ระตีด่อง (Rathedaung) และบูตีด่อง (Buthidaung) มีชาวมุสลิมถึง 92 เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ในขณะที่มีชาวพุทธและชาวฮินดูเพียงร้อยละ 8  ชาวโรฮิงญาเรียกพื้นที่ใน 3 เมืองนี้รวมๆ ว่า “เขตชายแดนมายู” (Mayu Frontier District)

ที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่าชาว “โรฮิงญา” คล้ายคลึงกับความขัดแย้งระหว่างรัฐพม่ากับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีทั้งชนกลุ่มน้อยที่เป็นพุทธ คริสต์ และมุสลิม ผู้เขียนจึงเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญากับชาวยะไข่พุทธและกองทัพพม่ามิได้มาจากอคติทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน ประกอบกับการไม่ยอมรับบทบาทนำของชาวพม่าที่เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลและเป็นผู้นำประเทศตั้งแต่ปี 1948 (พ.ศ. 2491) เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ

หลังพม่าได้รับเอกราช ชาวมุสลิมในยะไข่บางส่วนเริ่มนำคำว่า “โรฮิงญา” มาใช้ เพื่อแทนอัตลักษณ์ของตน เป็นไปได้ว่ากลุ่มการเมืองในนามกลุ่ม “ผู้อาวุโสโรฮิงญาแห่งอาระกันเหนือ” (Rohingya Elders of North Arakan) อาจเป็นชาวโรฮิงญากลุ่มแรกๆ ที่นำชื่อโรฮิงญามาใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองด้านอัตลักษณ์ กลุ่มผู้อาวุโสโรฮิงญาแห่งอาระกันเหนือปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีอู นุ เดินทางไปเมืองหม่องด่อในต้นปี 1950 (พ.ศ. 2493)[1]

พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยะไข่ มีประชากรโรฮิงญาอาศัยอยู่หนาแน่น
พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยะไข่ มีประชากรโรฮิงญาอาศัยอยู่หนาแน่น

รัฐบาลพม่าของอู นุ (ที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติพม่าเป็นพิเศษ) มิเพียงอนุญาตให้มีการตั้งกลุ่มการเมืองภายใต้ชื่อ “โรฮิงญา” แต่ยังยินยอมให้ชาวมุสลิมในยะไข่ตั้งเขตปกครองของตนเองขึ้นมาเป็นเอกเทศจากรัฐยะไข่ส่วนอื่นๆ และมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า ไม่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

อู นุ กล่าวถึง “เขตชายแดนมายู” ที่รัฐบาลพม่าให้การรับรองอย่างเป็นทางการในปี 1961 (พ.ศ.  2504) ไว้ชัดเจนว่า “ประชาชนที่อาศัยในเขตชายแดนมายูคือกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา”[2] แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเน วิน รัฐประหารรัฐบาลของอู นุ รัฐบาลเผด็จการเน วิน ก็ยกเลิกเขตปกครองตนเองของโรฮิงญาและโอนเขตดังกล่าวให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่าโดยตรง

เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อเน วิน นำนโยบายขวาจัดเข้ามาใช้ มีเป้าหมายเพื่อกำจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวต่างชาติ และถอนรากถอนโคนมรดกจากยุคอาณานิคม พร้อมทั้งสร้างพม่าสมัยใหม่ให้เป็นประเทศของชาวพม่า (พุทธ) เน วิน ยกเลิกกฎหมายสัญชาติแห่งสหภาพ (Union Citizenship Act) จากปี 1948 และนำนโยบายขวาจัดแบบของตนมาใช้ภายใต้ร่ม “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม”

ภายใต้กฎหมายสัญชาติของเน วิน ชาวโรฮิงญามิได้มีสถานะเป็นพลเมืองของพม่า และมีความพยายามขับชาวโรฮิงญาที่รัฐพม่ามองว่าเป็นผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายออกไปจากพม่ามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1978 (พ.ศ. 2521) ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมหาศาลต้องหลบหนีเข้าไปในบังคลาเทศ[3] ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนกลายเป็นคนไร้รัฐอย่างสมบูรณ์เมื่อพวกเขากลับมายังฝั่งพม่า และพบว่าเรือกสวนไร่นาของตนถูกจับจองโดยชาวยะไข่พุทธ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลพม่า

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า ชาวโรฮิงญามิได้หมายถึงชาวมุสลิมทั้งหมดในรัฐยะไข่ เพราะยังมีชาวมุสลิมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะมาน (Kamans) หรือกะเมง (Kamein) ซึ่งมีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับชาวยะไข่ มีสัญชาติพม่า และมิได้มีความสัมพันธ์ที่ดีนักกับโรฮิงญา[4]

การต่อสู้กันระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวพม่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดและนับถือศาสนาใดจึงอยู่บนพื้นฐานที่ว่าชาวโรฮิงญามิใช่ประชากรของพม่า และยังขึ้นอยู่กับการแย่งสิทธิในดินแดนยะไข่ อ้างว่าใครมาก่อนมาหลัง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีทำให้รัฐบาลพม่าและชาวพุทธในยะไข่ไม่ต้องการหาจุดกึ่งกลางหรือการประนีประนอม แต่เน้นให้ประชาคมโลกเห็นตลอดมาว่าชาวโรฮิงญามิใช่คนของตน จึงไม่น่าแปลกว่าเหตุใดในแวดวงผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์พม่า จะยังคงถกเถียงถึงที่มาของชาวโรฮิงญามาจนถึงปัจจุบัน

ชาวกะมาน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในยะไข่ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า | ภาพจาก Mizzima
ชาวกะมาน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในยะไข่ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ของพม่า | ภาพจาก Mizzima

ต่อคำถามที่ว่าชาวโรฮิงญาอาศัยในรัฐยะไข่มาตั้งแต่เมื่อใด ไมเคิล ชาร์นี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่ง School of Oriental and African Studies มหาวิทยาลัยลอนดอน ยืนยันหนักแน่นว่าชาวโรฮิงญาอยู่ในยะไข่มาหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของอังกฤษ และอยู่รวมกับกลุ่มชาติพันธุ์/ศาสนาอื่นๆ อย่างกลมกลืนมาโดยตลอด

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14 ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีใครเป็นเจ้าของพื้นที่ในรัฐยะไข่ ภาพของรัฐในยะไข่เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อมีการก่อตั้งอาณาจักรแรกขึ้นในยะไข่ที่ เมร่าก์-อู (Mrauk-U) เรามักจะคิดว่าอารยธรรมยะไข่โบราณเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ เห็นได้จากวัดวาอารามและเจดีย์พุทธแบบยะไข่ที่ยิ่งใหญ่สวยงาม แต่ชาร์นีแย้งว่าอาณาจักรรุ่นแรกในยะไข่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาอย่างมาก เพราะมีมัสยิดที่ตั้งอยู่เคียงคู่กับวัดพุทธ และมีศาสนสถานที่อุทิศให้เทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ด้วยเช่นกัน

ผู้คนในยะไข่อยู่กับสังคมที่มีความหลากหลาย (heterogeneous) มาเนิ่นนานและเป็นลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมในยะไข่

ความหลากหลายและการผสมผสานกันของผู้คนในยะไข่เริ่มหายไป เมื่อกษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอูจากพม่าตอนล่างยกทัพขึ้นมาตียะไข่ พื้นที่นี้จึงเริ่มสูญเสียความเป็นท้องถิ่น ความเป็นยะไข่ถูก “สร้างขึ้นมาใหม่” โดยเบ้าหลอมของคนจากที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีในพม่าตอนล่าง”[5]

รัฐจารีตของพม่าทำลายอัตลักษณ์ของชาวยะไข่ไปสิ้น เมื่อกษัตริย์จากราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายในพม่า ยกทัพไปตีอาณาจักรของยะไข่และผนวกรวมยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของพม่าได้ใน ค.ศ. 1785 (พ.ศ. 2328) ในรัชสมัยพระเจ้าปะดุง (Bodawpaya)

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ของยะไข่ ในฐานะที่เป็นรัฐที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและผู้คนมีขันติธรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมมากกว่าพื้นที่ใดๆ ในพม่า คือตำราหรือพงศาวดารที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ยะไข่ที่อ้างอิงกันในปัจจุบัน ล้วนเขียนขึ้นภายหลังราชวงศ์คองบองได้รับชัยชนะเหนือยะไข่แล้ว ความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ยะไข่ในยุคต่อๆ มา ล้วนนำยะไข่ไปผูกโยงกับวัฒนธรรมและศาสนาของพม่าตอนล่างมากกว่าแคว้นเบงกอลที่อยู่ติดกัน

สำหรับชาร์นี ปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาที่ประกอบสร้างขึ้นจากการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในพม่า นอกจากรัฐส่วนกลางในพม่าจะสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในยะไข่ให้มีความใกล้เคียงกับชาวพม่าเข้าไปทุกที หรือที่เรียกว่ากระบวนการทำให้เป็นพม่า (Burmanisation) แล้ว รัฐชาติยังกีดกันคนที่ไม่มีความละม้ายคล้ายกับคนพม่าออกไป

แม้ว่าชาวมุสลิม ฮินดู และศาสนิกชนจากศาสนาอื่นๆ จะอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายร้อยปี แต่รัฐชาติพม่าสมัยใหม่ค่อยๆ สร้างให้ประชากรที่มีหน้าตาแบบ “แขกๆ” เป็นคนแปลกหน้าของยะไข่ ชาร์นีย้ำว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ แต่เป็น “คนพื้นเมือง” (natives) ของยะไข่มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1799 (พ.ศ. 2342)

เมื่อฟรานซิส บูคานัน (Francis Buchanan) นายแพทย์ชาวสก๊อตที่ได้ติดตามคณะทูตของไมเคิล ซิมส์ (Michael Symes) เข้าไปในราชสำนักกรุงอังวะในปี 1795 (พ.ศ. 2338) ได้บันทึกถึงคนพื้นเมืองในแถบยะไข่ไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงภาษา 3 ภาษาที่มีพูดกันในอาณาจักรพม่า แต่ชัดเจนว่าภาษาเหล่านี้มาจากภาษาของประเทศที่นับถือศาสนาฮินดู ภาษาแรกเป็นของชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานในอาระกันมานมนาน และเรียกตัวเองว่า “รูอินกา” (Rooinga) หรือคนพื้นเมืองแห่งอาระกัน…”[6]

อย่างไรก็ดี สำหรับฌัก ไลเดอร์ (Jacques Leider) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยะไข่อีกคนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d’Extrême Orient – EFEO) ประจำประเทศไทย มีแนวทางอธิบายประวัติศาสตร์ยะไข่ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาโรฮิงญาแตกต่างออกไปจากชาร์นี เพราะไลเดอร์เชื่อว่าชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เพิ่งอพยพเข้ามาในยะไข่ตั้งแต่ในยุคอาณานิคม และกระบวนทัศน์ที่ว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เท่านั้น

ข้อเสนอของไลเดอร์ที่น่าสนใจและแตกต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆ คือ เขาย้ำว่าการจะเข้าใจปัญหานี้ด้วยใจเป็นกลางต้องแยกประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนออกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วิกฤตในรัฐยะไข่ไม่ได้เป็นวิกฤตด้านอัตลักษณ์ (crisis of identity) ของชาวโรฮิงญาเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของรัฐพม่า และชาวยะไข่พุทธ ไม่ใช่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ผิวเผินอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ไลเดอร์มองว่า ชาวยะไข่พุทธมักถูกละเลยและไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวงอภิปรายที่เกี่ยวกับวิกฤตโรฮิงญา หลายคนละเลยบทบาทของคนกลุ่มนี้ และมองปัญหานี้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองทัพพม่ากับชาวโรฮิงญา แต่แท้จริงแล้วปัญหาโรฮิงญาสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนและใหญ่เกินกว่าจะมองเป็นสีขาวหรือสีดำเพียงสีใดสีหนึ่งได้ ทั้งชาวยะไข่พุทธและชาวโรฮิงญามุสลิมต่างถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลพม่า และเป็นเหยื่อของการเมืองทั้งสิ้น

แม้ยะไข่จะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุด ทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ แต่ประชากรถึงร้อยละ 78 ในรัฐยะไข่จัดอยู่ในกลุ่มคนยากจน ทำให้ยะไข่เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดในพม่า[7] ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงมีมากกว่าการขาดขันติธรรมทางศาสนา แต่ยังเป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร ที่ดิน และการแย่งความเป็นเจ้าของรัฐยะไข่

ชาวยะไข่พุทธที่มองว่า ชาวโรฮิงญาคือผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ทั้งยังมองว่าโรฮิงญาได้พรากทรัพยากรและการพัฒนาที่พวกเขาพึงจะได้จากรัฐไปด้วย

ในทางประวัติศาสตร์ ชาวยะไข่พุทธมักอ้างถึงอาณาจักรอาระกันและอาณาจักรเมร่าก์-อูที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ชาวโรฮิงญาเองก็มักเกทับโดยนำประวัติศาสตร์มาอ้างว่าพื้นที่ในยะไข่เคยเป็นรัฐอิสลามที่มีสุลต่านปกครองมาก่อน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรสุลต่านแห่งเบงกอลมาโดยตลอด อีกทั้งกษัตริย์ยะไข่ที่เมร่าก์-อูยังน้อมรับศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาสำคัญหนึ่งในอาณาจักร กษัตริย์ยะไข่หลายพระองค์ยังโปรดให้มีการสร้างมัสยิดทั่วอาณาจักรโดยไม่ปิดกั้น และด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของยะไข่ที่อยู่ติดกับอินเดียและมีเพียงแม่น้ำสายเล็กๆ ขวางกั้นทำให้มีชาวมุสลิมจากเบงกอลตะวันออกเข้าออกรัฐยะไข่เรื่อยมา ส่วนใหญ่เข้ามาตั้งรกรากถาวรและบ้างเข้าไปเป็นขุนนางชั้นสูงในราชสำนักยะไข่ (เช่นเดียวกับที่อยุธยาก็เคยมีขุนนางชั้นสูงเป็นชาวมุสลิม)

ไลเดอร์ยังเตือนให้เราเห็นว่าการเรียกร้องเอกราชของชาวโรฮิงญาที่มาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ก็ไม่ต่างกับขบวนการชาตินิยมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีเป้าหมายสร้างเขตปกครองของตนเอง และเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่า

ตลอดทศวรรษ 1950 คำว่า “โรฮิงญา” ถูกนำมาใช้ซ้ำๆ เพื่อเรียกกลุ่มก้อนทางการเมืองและขบวนการชาตินิยมมูจาฮิดีนในยะไข่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากปากีสถาน ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และสามารถแยกตัวออกจากอินเดียได้สำเร็จ

เป้าหมายของนักชาตินิยมโรฮิงญามีมากขึ้น เพราะพวกเขาต้องการสร้างอาณาจักรของชาวมุสลิมในเขตชายแดนมายู และกีดกันชาวพุทธและศาสนาอื่นๆ ออกไป ขบวนการมูจาฮิดีนในยะไข่ก็ไม่แตกต่างจากกองทัพของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่สู้รบกับรัฐบาลพม่ามาหลายทศวรรษ

ปัญหาโรฮิงญามีความซับซ้อน ทั้งรัฐพม่า ชาวยะไข่พุทธ และชาวโรฮิงญา ต่างนำประวัติศาสตร์มาอ้างสิทธิความชอบธรรมของตน และแย่งชิงกันว่าใครเป็นเจ้าของยะไข่กันแน่

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในบรรยากาศสงครามกลางเมืองในพม่า กองกำลังฝั่งโรฮิงญาอาจเรียกว่าเป็นกองกำลังที่ “เงียบ” ที่สุดกองหนึ่ง แต่เมื่อกระแสความเกลียดชังศาสนาอิสลาม (Islamophobia) เกิดขึ้นทั่วโลก ชาวพุทธในพม่าเริ่มต่อต้านชาวมุสลิมและนำวาทกรรมที่ว่าชาวมุสลิมคือผู้รุกรานและจ้องจะทำลายศาสนาพุทธกลับมาใช้ซ้ำ

เป็นที่น่าเสียดายว่าประวัติศาสตร์ที่แต่ละฝ่ายนำมาอ้างกันไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ ในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในชาติ แต่กลับเป็นอาวุธชั้นเลิศเพื่อให้แต่ละฝั่งนำมาประหัตประหารกัน

ไม่ว่าชาวโรฮิงญาจะเข้ามาตั้งรกรากในยะไข่ตั้งแต่เมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อ 600 ปีก่อน หรือเกือบ 200 ปีก่อน แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า กษัตริย์และประชากรในยะไข่มีขันติธรรมทางศาสนา และสามารถอยู่ร่วมกันกับคนจากทุกศาสนาได้อย่างสันติ และการที่ยะไข่เป็นรัฐการค้าที่ติดต่อสัมพันธ์กับอาณาจักรอื่นๆ ทั่วทั้งอินเดียและพม่า จึงยิ่งทำให้รัฐในยะไข่เปิดกว้าง

แตกต่างจากในปัจจุบันที่ขันติธรรมทางศาสนาหายไป พร้อมกับกระแสความเกลียดชังศาสนาอิสลาม กระแสพุทธขวาจัด และการแย่งชิงทรัพยากรในยะไข่ที่นับวันจะยิ่งวิกฤตมากขึ้น

เชิงอรรถ

[1] Kei Nemoto, “The Rohingya Issue: A Thorny Obstacle between Burma (Myanmar) and Bangladesh,” in K. Inoue, E. Arai, M. Murayama (eds.). Elusive Borders: Changing Sub-Regional Relations in Eastern South Asia. Chiba, Japan: Institute of Developing Economies, 2005, หน้า 3.

[2] Nay San Lwin, “Making Rohingya Statelessness,” New Mandala, 29 ตุลาคม 2012

[3] Moshe Yegar. Between Integration and Secession: The Muslim Communities of the Southern Philippines, Southern Thailand, and Western Burma/Myanmar. Lanham, Maryland: Lexington Books, 2002, หน้า 55.

[4] Swe Win, “Myanmar’s Kaman Muslims Look to Elections to Restore Their Rights,” Myanmar Now, 7 พฤศจิกายน 2015

[5] Michael Charney, State and Society in Arakan since the Fourteenth Century: from Inclusion to Polarisation and Exclusion: Text of presentation at the research workshop, “Myanmar’s Democratic Transition and the Rohingya Prosecution,” 11 May 2016

[6] Francis Buchanan, “A Comparative Vocabulary of Some of the Languages Spoken in the Burma Empire,” in SOAS Bulletin of Burma Research Vol.1 (1), 2003, หน้า 55.

[7] Tom Lambert. “Myanmar’s Problem State,” The World Today, August-September 2017, p.37.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save