fbpx
อ่านนอกกล่อง : ทำไม E.H. Carr จึงไม่ใช่นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยม(แบบที่เรามักเข้าใจ)?

อ่านนอกกล่อง : ทำไม E.H. Carr จึงไม่ใช่นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสภาพจริงนิยม(แบบที่เรามักเข้าใจ)?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

ถ้ากล่าวถึง Edward Hallett Carr หรือ E.H. Carr คนเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ International Relations (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า IR) ก็คงรู้จักอย่างมิพักต้องสงสัย

Carr เป็นเสมือน “หนึ่งในสถาปนิก” ผู้วางรากฐานสาขาวิชา IR ที่อายุอานามกำลังจะครบหนึ่งศตวรรษในปี 2019 นี้ หากนับว่าการก่อตั้งสาขาวิชาการเมืองระหว่างประเทศที่ University College of Wales, Aberystwyth (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัย Aberystwyth) ในปี 1919 เป็น “จุดกำเนิด” ของสาขาวิชา ซึ่ง Carr เองก็เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ Woodrow Wilson ประจำมหาวิทยาลัย Aberystwyth ด้วยเช่นกันในระหว่างปี 1939-1947

หนังสือที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขา The Twenty Years’ Crisis, 1919-1939 ก็อุบัติขึ้นในปี 1939 (หนังสือเล่มนี้เพิ่งมีการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 2016) จนกลายเป็นงานคลาสสิกของทฤษฎีที่เรียกกันว่า “สภาพจริงนิยม” หรือ “Realism”

ทฤษฎีสภาพจริงนิยมมักถูกเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าถามท้าแนวคิดอุดมคตินิยมหรือเสรีนิยมอย่างถึงราก และนำเสนอการมองโลกผ่านมุมมองของ “รัฐ” และ “อำนาจ” ที่ไม่สนใจ “ศีลธรรม” ระหว่างประเทศ ทฤษฎีสภาพจริงนิยมยังคงกำหนดทิศทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักจนกระทั่งปัจจุบัน

ตลกร้ายคือ Carr, the Realist วิพากษ์แนวคิดอุดมคตินิยมในขณะที่ดำรงตำแหน่ง Woodrow Wilson Chair ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมแนวคิดอุดมคตินิยมในการเมืองโลก!

ทำไมเราจึงควรอ่าน Carr ในศตวรรษที่ 21? เรายังจำเป็นต้องอ่านงานของชายผิวขาว อดีตนักการทูตผู้ผันตัวเองมาเขียนงานประวัติศาสตร์และสหภาพโซเวียตคนนี้หรือไม่ และทำไม?

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าวนี้ ขอกล่าวถึงประเด็นในเชิงบริบทอย่างน้อยสองประเด็นที่ทำให้ชุมชนทางวิชาการ IR ในระดับโลกหวนกลับมาสนใจ Carr หรือแนวคิดสภาพจริงนิยมคลาสสิกโดยรวม (ไม่ว่าจะเป็น Hans J. Morgenthau และ Reinhold Niebuhr รวมทั้ง Carr ด้วย) นั่นคือ หนึ่ง ความนิยมและการพิมพ์ซ้ำหนังสือ The Twenty Years’ Crisis และ สอง การตีความใหม่ต่อประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของสาขา IR

 

Carr กับหนังสือ The Twenty Years’ Crisis

 

ต้องไม่ลืมว่าหนังสือ The Twenty Years’ Crisis เป็นหนังสือขายดีระดับ Bestseller เมื่อแรกพิมพ์ออกมาในปี 1939 มีการตีพิมพ์ใหม่สามครั้งในปี 1940 และฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ออกมาในปี 1946 (Carr ได้ลบถ้อยความบางส่วนออกและแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย)

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ต่อมาเรื่อยๆ อย่างไม่เคยขาดตลาด ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ “ได้มีการนำไปใช้เป็นตำราพื้นฐานอย่างค่อนข้างกว้างขวาง” (คำของ Carr เอง) ในสาขาวิชา IR ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา โดยมีกระแสตอบรับทั้งในเชิงชื่นชมและวิพากษ์ เช่น บทความ “The Political Science of E.H. Carr” ของ Hans J. Morgenthau ตีพิมพ์ในวารสาร World Politics ฉบับปฐมฤกษ์ในปี 1948 ทำให้ช่วยเพิ่มยอดขายหนังสือเล่มนี้ยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการรุ่นต่อมาหลายคน เช่น Robert Gilpin (2001, 100) นักทฤษฎีเสถียรภาพจากอำนาจนำ (Hegemonic Stability Theory) ก็เขียนไว้ในงานของตนว่า “ความสนใจของเขาที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างระบบการเมืองระหว่างประเทศกับลักษณะของเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นแรกเริ่มได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านงาน The Twenty Years’ Crisis ของ E.H. Carr … โดย Carr แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจโลกแบบเสรีนิยมนั้นจำต้องตั้งอยู่บนอำนาจนำแบบเสรีนิยม”

ต่อมา ในปี 2001 หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง Michael Cox (ในขณะนั้นเป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Aberystwyth ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ London School of Economics and Political Science : LSE) ได้เขียนคำนำเชิงวิพากษ์ โดยฉายภาพรวมภูมิหลังของผู้เขียน บริบททางการเมืองโลกของหนังสือ ข้อเสนอหลักและความสำคัญของ Carr ต่อวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งสำรวจวรรณกรรมวิชาการสำคัญที่ศึกษางานของ Carr อีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา (2016) Edition ล่าสุดเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ออกมา โดย Cox ได้เขียนคำนำใหม่สำหรับการอ่าน และความสำคัญของ Carr ในศตวรรษที่ 21

 

การรื้อฟื้น Carr ภายใต้บริบทของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา IR

 

การรื้อฟื้นความสนใจทางวิชาการที่มีต่อ Carr นั้นก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับความเฟื่องฟูของการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหรือสังคมวิทยาความรู้ของสาขาวิชา IR เองในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่

หนึ่ง การตั้งคำถามกับจุดกำเนิดของสาขาวิชาว่า ปี 1919 คือจุดเริ่มต้นของสาขาวิชา IR จริงหรือไม่

งานบางชิ้นเสนอว่า IR เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นภายใต้ร่มของคณะรัฐศาสตร์ เช่น ที่มหาวิทยาลัย Columbia หรืองานวิชาการชิ้นสำคัญของ Nicolas Guilhot เสนอว่า สาขาวิชา IR ที่เป็นระบบนั้นก่อตัวขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมว่าด้วยการเมืองระหว่างประเทศโดยมูลนิธิ Rockefeller ในปี 1954 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาสาขาวิชา IR ในฐานะ “ศาสตร์” เป็นครั้งแรก โดยมีนักวิชาการชั้นนำ (เช่น Hans J. Morgenthau, Reinhold Niebuhr เป็นต้น) และนักปฏิบัติต่างๆ (เช่น Dean Rusk, Paul Nitze เป็นต้น) เข้าร่วมประชุม

สอง การถกเถียงกันว่าเรื่องเล่าที่เรียกว่า “การถกเถียงใหญ่” (Great Debates) นั้นเป็น “มายาคติ” ในการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหรือพัฒนาการของสาขาวิชา IR หรือไม่ และการถกเถียงใหญ่ต่างๆ เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงหรือไม่

งานของ Brian Schmidt, Peter Wilson หรือ Lucian Ashworth เสนอว่า เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “การถกเถียงใหญ่ครั้งที่หนึ่ง” ระหว่างอุดมคตินิยมกับสภาพจริงนิยมในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งเสียด้วยซ้ำไป!

สาม ข้อถกเถียงว่าสิ่งที่สาขาวิชาศึกษานั้นคืออะไร รัฐชาติคือสิ่งสำคัญที่สุดในการศึกษา IR หรือไม่

งานสำคัญเรื่อง White World Order, Black Power Politics: The Birth of American International Relations (2015) ของ Robert Vitalis เผยให้เห็นว่า ในช่วงแรกนั้น สิ่งที่ IR มุ่งศึกษาวิจัยนั้นคือ race หรือประเด็นเชื้อชาติต่างหาก เพื่อตอบโจทย์ของรัฐมหาอำนาจจักรวรรดินิยมในโลกที่ต้องการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลในอาณานิคมต่างๆ ในขณะเดียวกัน Vitalis ยังไปดูการก่อตัวของงานวิชาการ IR กลุ่มหนึ่งที่วิพากษ์ลัทธิเหยียดเชื้อชาติและจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัย Howard ในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้แก่ งานของ W. E. B. Du Bois เป็นต้น

เราต้องไม่ลืมกันนะครับว่าแม้กระทั่งนิตยสารชั้นนำของโลกอย่าง Foreign Affairs เดิมทีก็มีชื่อว่า Journal of Race Development !

สี่ เรายังเห็นการตีความใหม่เกี่ยวกับสภาพจริงนิยมคลาสสิก

งานศึกษาใหม่ เช่น Richard Ned Lebow ชี้ให้เห็นว่า “สภาพจริงนิยมคลาสสิก” กับ “สภาพจริงนิยมใหม่” (ได้แก่งานของ Kenneth N. Waltz) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก

นักทฤษฎี IR กระแสวิพากษ์อย่างเช่น Ken Booth หรือ Andrew Linklater ก็เสนอว่า สภาพจริงนิยมคลาสสิก โดยเฉพาะงานของ Carr และ Morgenthau นั้นมีความเป็น “ทฤษฎีวิพากษ์” ในตัวเอง กล่าวคือ สภาพจริงนิยมกับทฤษฎีวิพากษ์นั้นไม่ใช่คู่ตรงข้ามกัน แต่กลับมีจุดร่วมในวิธีคิดหรือวิธีวิทยาเชิงวิพากษ์ในการตั้งคำถามกับการเมืองโลก ไม่ว่าจะในแง่ของการปฏิเสธวิธีวิทยาแบบปฏิฐานนิยม/วิทยาศาสตร์ การได้รับอิทธิพลทางปรัชญาการเมืองแนววิพากษ์ (เช่น แนวคิดวิภาษวิธีหรือ dialectic ของ Karl Marx ในกรณีของ Carr หรือแนวคิดความเป็นการเมืองหรือ the political ในกรณีของ Morgenthau) การตั้งคำถามกับอำนาจ/นโยบายต่างประเทศของรัฐมหาอำนาจ (เช่นบทบาทของ Morgenthau ในการวิพากษ์สหรัฐฯ กับสงครามเวียดนาม เป็นต้น) และการให้ความสำคัญกับจริยศาสตร์ รวมทั้งการออกแบบหรือการปฏิรูปการเมืองโลกเสียใหม่ เป็นต้น Booth จึงเรียกแนวคิดดังกล่าวว่าเป็น “utopian realism” (หรือในเวลาต่อมา เขาเรียกว่า “critical realism”)

อาจกล่าวได้ว่า ในการกำหนดสถานะและการพัฒนา IR ในปัจจุบันและอนาคต เราจำเป็นต้องเข้าใจจุดกำเนิดและพัฒนาการของ IR ในอดีตหรือประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอย่างวิพากษ์

 

Carr: มากกว่า Realist?

 

Carr มักถูกจัดประเภทลงในกล่อง “Realism” อย่างง่ายดาย แต่การทำความเข้าใจ Carr ภายใต้บริบทหรือพัฒนาการงานเขียนของเขากลับทำให้เราเห็นความสลับซับซ้อนทางความคิดของ Carr เช่นเดียวกันนักคิดคนอื่นๆ Carr เป็นนักคิดที่ยากแก่การจัดประเภทได้อย่างชัดเจนตายตัว

หากพิจารณางานเขียนของเขาแล้ว ผมคิดว่ามี Carr อย่างน้อย 3 แบบด้วยกัน

แบบแรก Carr, the Realist ดังปรากฏในหนังสือ The Twenty Years’ Crisis

แบบที่สอง Soviet Carr ดังปรากฏในชุดหนังสือ A History of Soviet Russia จำนวน 14 เล่ม และ The Russian Revolution from Lenin to Stalin, 1917-1929

และแบบที่สาม Carr, the philosopher of history ดังปรากฏในหนังสือ What Is History? 

ทั้งสองแบบหลังอาจแสดงให้เห็นว่า Carr เป็นนักประวัติศาสตร์ มากกว่านักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยซ้ำ

ถ้าเช่นนั้น Carr แบบไหนที่เรากำลังสนใจศึกษาหรือพูดถึง?

ในตำราพื้นฐานทั่วไปมักจะขึ้นป้ายเขาว่าเป็น “นักสภาพจริงนิยม” สนใจแต่เพียงการแสวงหาอำนาจและรัฐ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องศีลธรรมและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่หากพิจารณาจากงานชิ้นหลักอย่าง The Twenty Years’ Crisis จะเห็นได้ว่า Carr นั้นไม่ได้ปฏิเสธอุดมคติหรือ utopia เสียทีเดียว เพียงแต่เขาตั้งคำถามกับการศึกษาแนวอุดมคตินิยมในช่วงระหว่างสงครามโลกว่าขาดการวิเคราะห์เชิงอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับเขา Realism เป็น “ชุดเครื่องมือ” ในการวิพากษ์การเมืองโลกหรือแนวความคิดแบบอุดมคตินิยม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอุดมคติแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งในอนาคตก็ย่อมจะต้องเผชิญกับการวิพากษ์จากเครื่องมืออย่างสภาพจริงนิยมอีก

ในเวลาเดียวกัน สำหรับ Carr แล้ว สภาพจริงนิยมที่ปราศจากอุดมคตินั้นก็อันตราย เพราะมันคือการแสวงหาอำนาจอย่างดิบเถื่อน ซึ่งทำให้การสร้าง “สังคม” ระหว่างประเทศเป็นไปไม่ได้

การจะยึดถือสภาพจริงนิยมดังกล่าวอย่างคงเส้นคงวานั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะว่ามันไม่ก่อให้เกิดการกระทำทางการเมืองที่มีความหมายหรือเป้าหมายใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักสภาพจริงนิยมที่ยึดถือทฤษฎีสภาพจริงนิยมอย่างแน่วแน่จะกลายเป็นชีวิตที่ไร้ความหมายหรืออุดมคติใดๆ ทางการเมือง

สภาพความเป็นจริง (reality) และอุดมคติ (utopia) นั้นต่างเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ซึ่งต้องหาความสมดุลระหว่างกัน ดังที่เขาเสนอว่า “ชีวิต/การกระทำทางการเมืองที่ดี” และ “ความคิดทางการเมืองที่ดีจำต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของทั้งอุดมคติและสภาพความเป็นจริง” แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากยิ่ง จน Carr เรียกว่าเป็น “โศกนาฏกรรม” หรือ tragedy ของการเมือง(ระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังทั้งสองที่อยู่ “คนละระนาบกัน” และ “ไม่อาจประนีประนอมกันได้”

นอกจากนั้น หากพิจารณางานชิ้นอื่นๆ เช่น Conditions of Peace (1942) และ Nationalism and After (1945) ประกอบกับการอ่านงาน The Twenty Years’ Crisis แล้ว เราจะเห็นว่าเป้าหมายของ Carr กลับต้องการส่งเสริมการสร้างอุดมคติใหม่หรือ new utopia อย่างชัดเจน โดยนำเสนอสังคมระหว่างประเทศที่ก้าวข้ามรัฐชาติ ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับข้อเสนอของ Morgenthau เรื่อง “รัฐบาลโลก” (world state) รวมถึงวิพากษ์ตัวแสดงหลักอย่างรัฐชาติ และกระแสชาตินิยม ซึ่งในมุมมองเขาเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของสงคราม

ใน “คำนำ” ของ The Twenty Years’ Crisis ฉบับปรับปรุงแก้ไขในปี 1946 Carr เองก็ได้เขียนถึงความ “ล้าสมัย” ของตัวแสดงอย่างรัฐชาติ และการก่อตัวของตัวแสดงอื่นๆ ในเศรษฐกิจการเมืองโลก ทั้งยังชี้ให้ผู้สนใจไปอ่านประเด็นนี้เพิ่มเติมจาก Nationalism and After ของเขาอีกด้วย

ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะอ่าน Carr อย่างไร?

 

อ่าน Carr จากมุมมองโลกแบบวิพากษ์

 

ในที่นี้ ผมขอลองอ่าน Carr จากโจทย์ของ Carr เองและมุมมองโลกแบบทฤษฎีวิพากษ์

โจทย์วิจัย – หรือจริงๆ แล้วหมายถึง โจทย์ทางการเมือง – ของ Carr ในยุคสมัยนั้นคืออะไรกันแน่

สำหรับผม โจทย์ใหญ่ที่สุดของ Carr (และรวมทั้ง Morgenthau) คือ โจทย์ว่าด้วยวิกฤตของเสรีนิยม กล่าวคือ เขาตระหนักถึงวิกฤตเสรีนิยมและต้องการนำเสนอทางออกหรือแนวทางแก้ไขวิกฤตดังกล่าว เพื่อมุ่งปกป้องหรือ “ช่วย” เสรีนิยมเอาไว้

สำหรับ Carr แล้ว เขามองว่าเสรีนิยมนั้นจำเป็นต้องถูกกำกับด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม ในแง่นี้ Carr มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Karl Polanyi ผู้เขียนหนังสือ The Great Transformation ซึ่งเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มที่คน IR และผู้สนใจทั่วไปน่าจะลองหามาอ่าน (ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เมื่อโลกพลิกผัน แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์) นักวิชาการบางคน เช่น Michael C. Williams เสนอว่า โดยพื้นฐานแล้ว สภาพจริงนิยมนั้นเป็นเสรีนิยม (realist liberalism) เสียด้วยซ้ำ

ถ้าลองอ่านงานของ Carr จากมุมมองโลกแบบวิพากษ์แล้ว เราอาจจะพอเห็นมิติใหม่ของ Carr ดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรก Carr มองว่า การเมืองไม่ว่าจะการเมืองภายในหรือการเมืองระหว่างประเทศที่ “ดี” นั้น จำต้องอาศัยทั้งอุดมคติและสภาพความเป็นจริง (เราจะเห็นได้ว่า Carr ไม่ได้แยกการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศออกจากกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด) กล่าวคือ แม้ว่า Carr จะวิพากษ์แนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบอุดมคตินิยมในช่วงระหว่างสงครามโลกว่าขาดการวิเคราะห์เชิงอำนาจ แต่ Carr นั้นไม่ได้ปฏิเสธ utopia เสียทีเดียว ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

ในเวลาเดียวกัน เขาก็เสนอว่าการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมุมมองของอำนาจแต่เพียงอย่างเดียวก็อันตรายเหลือเกิน จำต้องคัดง้างด้วยมุมมองเชิงศีลธรรม การนำเสนอโดยทั่วไปที่ว่าสภาพจริงนิยมคลาสสิกนั้นละเลยประเด็นเรื่องศีลธรรมจึงเป็นมายาคติประการสำคัญ

งานของ Carr จึงเป็นงานที่ Ken Booth เรียกว่าเป็น utopian realism นั่นเอง (แรกเริ่มเดิมที Carr ตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า Utopia and Reality แต่สำนักพิมพ์ Macmillan เสนอให้ใช้ชื่อ The Twenty Years’ Crisis แทน)

ประการที่สอง งานของ Carr เป็นข้อเสนอที่พยายามก้าวข้ามรัฐชาติ และชาตินิยม รวมทั้งส่งเสริมการสร้างสังคมระหว่างประเทศแบบใหม่ที่มีความเป็น “สังคมโลกนิยม” (cosmopolitan international society)

Andrew Linklater (ผู้เป็น Woodrow Wilson Chair คนปัจจุบันแห่งมหาวิทยาลัย Aberystwyth) เป็นคนแรกๆ ที่เปิดประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน และตั้งคำถามกับงานทั่วๆไปที่มักนิยามสภาพจริงนิยมว่ายึดติดกับรัฐ ถ้าเราอ่านงานของ Carr อย่างเช่น Conditions of Peace และ Nationalism and After ประกบกับการอ่าน The Twenty Years’ Crisis เราจะเห็นความต่อเนื่องของเขาในประเด็นความ “ล้าหลัง” ของรัฐชาติ และการให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลในสังคมระหว่างประเทศ

ในหนังสือ Nationalism and After  Carr เสนอว่า “พลังผลักดันเบื้องหลังระเบียบระหว่างประเทศในอนาคตจำเป็นต้องตั้งอยู่บนความเชื่อในคุณค่าของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคล โดยไม่คำนึงถึงสังกัดหรือความภักดีต่อชาติ และพันธกรณีร่วมที่จะส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ร่วมกัน” แต่สำหรับ Carr ปัจเจกบุคคลนั้นตั้งอยู่ใน(การเปลี่ยนแปลงทาง)สังคม หรือเป็น “สัตว์สังคม” ไม่ใช่ตามแนวคิดแบบเสรีนิยมที่มองว่าปัจเจกบุคคลนั้นเสรีและเป็นอิสระ

ประการที่สาม ในเชิงวิธีวิทยาแล้ว งานของ Carr มีลักษณะร่วมกับทฤษฎีวิพากษ์ นั่นคือ อาศัยวิธีวิทยาแบบหลังปฏิฐานนิยม (post-positivism) และแนวศึกษาประวัติศาสตร์

ในหนังสือ What Is History? ซึ่งรวบรวมชุดบรรยาย Trevelyan Lectures ของเขาแก่มหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1961 Carr เสนอว่า ข้อเท็จจริงนั้นไม่สามารถพูดได้ด้วยตัวเอง “ข้อเท็จจริงพูดก็ต่อเมื่อนักประวัติศาสตร์เรียกใช้มัน … ความเชื่อฝังหัวที่ว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอย่างเป็นวัตถุวิสัยและเป็นอิสระจากการตีความของนักประวัติศาสตร์นั้นเป็นเหตุผลวิบัติอย่างน่าประหลาด”

ในแง่นี้ Carr มองว่าข้อเท็จจริงที่เป็นวัตถุวิสัยและอยู่ภายนอกผู้ศึกษาอย่างแยกขาดเป็นเอกเทศตามที่ญาณวิทยาและวิธีวิทยาแบบปฏิฐานนิยมนำเสนอนั้นเป็นไปไม่ได้

Robert W. Cox นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนววิพากษ์ น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ตีความว่า วิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์ของ Carr เป็นต้นแบบของการศึกษา IR เชิงวิพากษ์

Carr ให้ความสำคัญกับ “ความต่อเนื่องระหว่างพลังทางสังคมต่างๆ ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของรัฐและความสัมพันธ์ระดับโลก” โดยผ่าน “วิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์” และพยายาม “ทำความเข้าใจสถาบัน ทฤษฎีและเหตุการณ์ต่างๆ ภายในบริบททางประวัติศาสตร์”

Cox เสนอว่า Carr ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยรวมเอาแรงงานภาคอุตสาหกรรมในฐานะพลังทางสังคมใหม่เข้ามาในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการเมืองโลก โดยเป็นพลังทางสังคมที่เป็นฐานสำคัญของประชานิยม จักรวรรดินิยม และชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

ประการที่สี่ นักสภาพจริงนิยมเช่น Carr นั้นไม่เพียงแต่สนใจคำถามเชิงประจักษ์ (หรือ what is?) แต่ยังตั้งคำถามเชิงปทัสถาน (หรือ what ought to be?) ด้วย ดังที่ Carr เขียนใน The Twenty Years’ Crisis ว่า “รัฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ศึกษาไม่เพียงแต่สิ่งที่เป็น แต่ยังศึกษาสิ่งที่ควรจะเป็นด้วย”

ดังนั้น นอกจากจะพยายามวิเคราะห์การเมืองโลกแล้ว Carr ยังพยายามนำเสนอทางออกบางประการ (แม้ว่าอาจจะไม่บรรลุผลหรือถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในเวลาต่อมา) เช่น แนวคิดเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ” (peaceful change)

สำหรับเขาแล้ว โจทย์ท้าทายสำคัญประการหนึ่งในช่วง “วิกฤตการณ์ยี่สิบปี” (หรือวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2) หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรวม คือ เราจะทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ชักนำไปสู่สงคราม

ในหนังสือ The Twenty Years’ Crisis Carr เสนอแนะว่าถ้าหากไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะอยู่ร่วมกับมหาอำนาจใหม่อย่างเยอรมนีแล้ว สงครามก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น ในช่วงดังกล่าว Carr จึงสนับสนุนนโยบาย “การผ่อนปรน” (appeasement) ในความสัมพันธ์ต่างประเทศของมหาอำนาจ โดยเฉพาะอังกฤษ ต่อนาซีเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์ แม้ว่าจะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวภายหลังการประชุมที่มิวนิคที่ไม่อาจยับยั้งฮิตเลอร์จากการแผ่ขยายอำนาจและสงครามในยุโรปได้ (ในเวลาต่อมาทำให้ Carr แก้ไขปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ในฉบับตีพิมพ์ปี 1946 พอสมควรโดยเฉพาะในบทที่ 13 เรื่อง “Peaceful Change”) แต่ข้อเสนอหลักของ Carr ว่าด้วยการรับมือกับมหาอำนาจใหม่นั้นก็ยังคงน่าคิดใคร่ครวญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ในอดีตถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

โจทย์นี้อาจจะเรียกว่าเป็น “กับดักธูสิดีดิส” (Thucydides Trap) กล่าวคือ สปาร์ตาเข้าสู่สงคราม Peloponnesian War เนื่องจากการผงาดขึ้นมาของเอเธนส์ ซึ่งทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ จากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ Graham Allison เสนอว่า มีเพียง 4 กรณีศึกษา จากทั้งหมด 16 กรณีศึกษาในช่วง 500 ปีในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกที่เป็นไปโดยสันติ [โปรดดู Allison, Destined for War: Can America and China Escape Thucydides’s Trap? (2017)] โจทย์ดังกล่าวก็ยังคงหลอกหลอนการเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

 

อ่านนอกกล่อง สนทนาข้ามสำนักคิด

 

นักคิดหลายคนไม่ว่าจะเป็น Marx, Foucault หรือ Derrida ต่างปฏิเสธการขึ้นป้ายจัดประเภทลงกล่องใดๆ การขึ้นป้ายใครว่าเป็นนักคิดสำนักคิดใดสำนักหนึ่ง แม้ว่าอาจจะมีประโยชน์ในการศึกษาวิจัย แต่ก็อาจจะทำให้เราไม่เห็นความสลับซับซ้อนทางความคิดของเขาหรือเธอ ซ้ำร้ายอาจจะเป็นการจัดประเภทลงกล่องที่ปิดกั้นไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกเถียงโต้แย้งทางความคิดต่อกันและกันอย่างน่าเสียดาย

เป้าหมายสำคัญของการอ่านนอกกล่อง อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การอ่านว่าแบบใดถูกหรือแบบใดผิด แต่คือการเปิดมุมมองใหม่ให้แก่การอ่านงานวิชาการที่ไม่ยึดติดกับดักของตัว “กล่อง” เสียเอง การอ่านนอกกล่องผ่านการสนทนากับตัวบทของหนังสือเล่มนั้นๆ โดยตรง อาจจะช่วยเปิดให้เราเห็นโลกจากมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และถามท้ามุมมองกระแสหลักที่กดทับปิดกั้นมุมมองหรือความเป็นไปได้แบบอื่น

การอ่านงานคลาสสิกในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การอ่าน E.H. Carr จากมุมมองเชิงวิพากษ์คงพอจะทำให้เราท้าทายความรับรู้ดั้งเดิมและเห็นภาพที่แตกต่างไปจากตำราพื้นฐานทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะยึดติด Carr กับสภาพจริงนิยมที่นิยมเพียงแต่อำนาจ โดยไม่พิจารณาบริบททางการเมือง/ภูมิปัญญาและความสลับซับซ้อนของงานวิชาการของ Carr เอง ซึ่งให้ความสำคัญแก่ทั้งอำนาจและศีลธรรม สภาพจริงและอุดมคติ รวมทั้งรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

บทความนี้ได้เสนอว่า Carr นั้นเป็นทั้ง realist และ critical theorist รวมทั้ง historian เขาอาศัย “สภาพจริงนิยม” เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์อุดมคติ และในเวลาเดียวกันก็พยายามสร้างอุดมคติแบบใหม่ขึ้นมา

การอ่าน Carr ในเชิงวิพากษ์นี้คงพอทำให้เราเห็นว่าทำไมการอ่าน Carr ในบริบทปัจจุบันอาจจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการอ่าน Carr ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ใครสนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ “โศกนาฏกรรม” ระหว่างอุดมคติกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งโจทย์แห่งยุคสมัยอย่างเช่น Thucydides Trap แล้วละก็ ผมขอลองชวนอ่านงานของ Carr และหนังสือเรื่อง The Twenty Years’ Crisis เล่มนี้ด้วยกันครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save