fbpx
เปิดเบื้องลึกการเมืองรัสเซีย ตีแผ่วิถีแห่งอำนาจของปูติน

เปิดเบื้องลึกการเมืองรัสเซีย ตีแผ่วิถีแห่งอำนาจของปูติน

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

เราจะเข้าใจการเมืองรัสเซียในปัจจุบันอย่างไร?

ในกรณีประเทศประชาธิปไตยทั่วไป เราเข้าใจการเมืองภายในของประเทศเหล่านั้นได้ผ่านการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญและการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านทางสถาบันการเมืองที่เป็นทางการต่างๆ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งพิจารณาพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เรียกร้องและผลักดันวาระต่างๆ ของตนผ่านกลไกเชิงสถาบันเหล่านั้น

ในทางกลับกัน ในกรณีของประเทศเผด็จการ เช่น เกาหลีเหนือ การศึกษาสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการอาจจะไม่ช่วยให้เราเข้าใจพลวัตการเมืองมากนัก การศึกษาบทบาท บุคลิก และจิตวิทยาของผู้นำสูงสุดของประเทศต่างหากที่มีความสำคัญอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ส่วนกรณีของประเทศที่มีผู้นำประชานิยม เช่น ฟิลิปปินส์ภายใต้ Duterte หรือสหรัฐอเมริกา ภายใต้ Donald Trump ก็เช่นเดียวกัน

นักวิชาการบางคนเสนอตัวแบบ “รัฐพันลึก” ซึ่งสถาบันหรือกลไกอำนาจภายนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมืองในระบบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กลุ่ม establishment ระบบราชการหรือกองทัพ ดังเช่น ตุรกี หรือไทย

แต่ตัวแบบต่างๆ ดังกล่าวก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถช่วยอธิบายการเมืองรัสเซียในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

ถ้าหากดูโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ แน่นอนว่าสหพันธรัฐรัสเซียมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidentialism) โดยมีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีร่วมกันบริหารประเทศ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และดำรงตำแหน่งเป็นเวลาหกปี ในปัจจุบัน ประธานาธิบดี คือ Vladimir Vladimirovich Putin (2000-2008 และ 2012-ปัจจุบัน)

ประธานาธิบดีมีบทบาทในด้านการบริหารโดยเฉพาะทางด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และกำกับรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในขณะที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี มีหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และกำกับรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ Dmitry Medvedev (2012-ปัจจุบัน)

ทางด้านอำนาจนิติบัญญัติ ประกอบไปด้วยสองสภา คือ สภาสหพันธรัฐ (Council of the Federation) ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรหรือ สภาดูมา (The State Duma) ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และมีสมาชิกทั้งหมด 450 คน ในปัจจุบัน พรรค United Russia ของ Putin ยังคงครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กระบวนการและอำนาจในการตัดสินใจ (และไม่ตัดสินใจ) ทางการเมืองในปัจจุบัน กลับอยู่กับ “เครือข่ายอำนาจ Putin” ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลทั้งในโครงสร้างทางการและไม่เป็นทางการ

โดยทั่วไป “เครือข่ายอำนาจ” อาจหมายถึง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพลังทางสังคมต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการ และมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว เพื่อบรรลุเป้าประสงค์บางประการ เช่น การได้มาซึ่งอำนาจ เกียรติยศ หรือความมั่งคั่ง เครือข่ายอำนาจเป็นความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) ที่มีผู้ให้การอุปถัมภ์และผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในระดับชนชั้นนำเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปในสังคมรัสเซียด้วย ในยุคหลังสหภาพโซเวียต เครือข่ายอำนาจทำหน้าที่เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการให้ความช่วยเหลือหรือการติดสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้

ในระดับชนชั้นนำ เครือข่ายอำนาจเป็นโครงสร้างอำนาจแบบไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นในสังคมรัสเซียมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซียและระบอบสังคมนิยม จนกระทั่งปัจจุบัน โครงสร้างที่ไม่เป็นทางการหรือการเมืองของกลุ่มพลังทางสังคมภายในที่ใกล้ชิดผู้นำมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและนโยบายของรัฐมากกว่าโครงสร้างและตำแหน่งที่เป็นทางการ

กลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญของเครือข่ายอำนาจมีอย่างน้อยสองประการสำคัญ นั่นคือ ประการแรก อำนาจของการติดต่อสื่อสาร กล่าวคือ สายสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ใกล้ชิดหรือห่างเหินขึ้นอยู่กับระดับความถี่ของการติดต่อและสื่อสารระหว่างชนชั้นนำ และ ประการที่สอง อำนาจของการแต่งตั้ง กล่าวคือ อำนาจในการแต่งตั้งคนใกล้ชิดหรือพวกพ้องเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจหรือบริษัทของรัฐต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น เครือข่ายอำนาจของ Boris Yeltsin ได้แก่ กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองหรือ Oligarch เช่น Boris Berezovsky และคนในครอบครัว เช่น Tatyana Yumasheva ลูกสาว และ Valentin Yumashev ลูกเขย เป็นต้น รวมทั้งคนใกล้ชิดของ Yeltsin เช่น Alexander Korzhakov องครักษ์ส่วนตัว

ผู้นำคนปัจจุบันอย่าง Vladimir Putin เองก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจที่ไม่เป็นทางการด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1990 Putin เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจภายใต้ Anatoly Sobchak นายกเทศมนตรีแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อนที่เขาจะกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายอำนาจเองตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา

นักวิชาการทางด้านรัสเซียศึกษาอย่าง Richard Sakwa เรียกระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของรัสเซีย ว่าเป็น “ทวิรัฐ” (dual state) ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างที่เป็นทางการและโครงสร้างที่ไม่เป็นทางการ

 

เครือข่ายอำนาจ Putin: วิถีแห่งอำนาจ

 

เครือข่ายอำนาจ Putin หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือชนชั้นนำที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Putin โดยประกอบด้วย

หนึ่ง กลุ่ม Siloviki เป็นผู้ที่มีภูมิหลังมาจากการทำงานในสำนักข่าวกรองกลางหรือ KGB ในสมัยสหภาพโซเวียต หรือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (FSB) ในเวลาต่อมา

สอง กลุ่มที่เคยทำงานในทำเนียบนายกเทศมนตรีแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เราอาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กหรือ St. Peterberger (Piterskie)

สาม กลุ่มมิตรสหายสนิทของ Putin ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสมาคม Ozero (หรือกลุ่มทะเลสาบ) ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนพ้องที่มีบ้านพักตากอากาศในบริเวณทะเลสาบ Komsomolskoye ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียงกับบ้านพักของ Putin หรือกลุ่มเพื่อนร่วมเล่นกีฬายูโด ได้แก่ นักธุรกิจชั้นนำพี่น้อง Arkady และ Boris Rotenberg

ภายใต้ระบบเครือข่ายอำนาจดังกล่าว การนำของ Putin นั้นมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

ประการแรก Putin เป็นผู้นำสูงสุดที่พยายามอาศัยการนำแบบร่วมบริหาร หรืออาจจะเป็น collective leadership ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจนั้นจะอยู่กับ Putin ก็ตาม

กล่าวคือ Putin ไม่ใช่ผู้นำที่ลงไปดูในรายละเอียด แต่จะพยายามคุมภาพใหญ่ของนโยบายประเทศ ผ่านระบบเครือข่ายอำนาจของเขา โดย Putin จะมอบให้คนสนิทที่ตนไว้วางใจลงไปดำเนินการในระดับต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน นั่นคือ การมอบหมายอำนาจ (delegation of power) นั่นเอง

ประการที่สอง Putin อาศัยการแบ่งแยกและปกครองในการรักษาและคานอำนาจภายในระบบเครือข่ายอำนาจของเขา นั่นคือ ปล่อยให้มีการแข่งขันหรือการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในระดับหนึ่ง โดยที่เขาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ระบบเช่นนี้ก็ทำให้การเมืองของรัสเซียมีความตึงเครียดภายในระหว่างชนชั้นนำค่อนข้างสูง และการแข่งขันแย่งชิงความภักดีก็มีมากตามไปด้วย

กลไกหนึ่งที่ Putin ใช้ในการบริหารจัดการเครือข่ายอำนาจคือ การโยกย้ายตำแหน่ง โดยแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญของโครงสร้างอำนาจ ทั้งภายในและภายนอกระบบการเมือง แม้แต่คนที่หมดความไว้วางใจแล้วก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในเชิงสัญลักษณ์ แทนที่จะปลดออกจากอำนาจไปเลย เช่น ในปี 2016 Sergei Ivanov ซึ่งเดิมเป็นคนสนิทมากที่สุดคนหนึ่งและมีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสืบทอดอำนาจต่อจาก Putin กลับถูกย้ายจากหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารทำเนียบประธานาธิบดีไปเป็นผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทางด้านสิ่งแวดล้อมและการขนส่ง เป็นต้น

ประการที่สาม การนำของ Putin เป็นการนำที่เส้นแบ่งระหว่างอำนาจทางการกับอำนาจไม่เป็นทางการมีความซ้อนทับหรือความไม่ชัดเจน เราจะเห็นตัวแสดงที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายบริหาร แต่กลับมีอิทธิพลอำนาจมหาศาลในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัสเซียในแทบทุกด้าน รวมถึงการต่างประเทศ

ในปี 2011 Medvedev ประธานาธิบดี (ในขณะนั้น) พยายามแยกกิจการการเมืองออกจากภาคธุรกิจ โดยเรียกร้องให้รัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหารลาออกจากตำแหน่งในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Igor Sechin รองนายกรัฐมนตรี ก็ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานของบริษัท Rosneft ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศ จนกระทั่งในปี 2012 เขาได้ลาออกจากรัฐบาล และดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็ยังคงเป็นคนใกล้ชิดของ Putin ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งต่อไป

ประการที่สี่ การนำแบบ Putin ทำให้ชนชั้นนำของรัสเซียต้องระแวดระวังในการรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำ และการแสดงความภักดีต่อผู้นำ โดยเฉพาะในช่วงที่ Putin สลับตำแหน่งไปเป็นนายกรัฐมตรีนั้น เราเห็นว่าชนชั้นนำของรัสเซียพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกอย่างโดดเด่นเกินหน้าเกินตาในเวทีการเมือง ไม่แสดงความทะเยอทะยานทางการเมืองของตน และพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้นำ ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้ยังคงดำรงต่อมาในปัจจุบัน

 

เครือข่ายอำนาจ Putin: ชนชั้นนำ

 

เครือข่ายอำนาจ Putin ไม่ได้มีลักษณะตายตัวหรือแน่นิ่ง แต่กลับมีพลวัตพอสมควร มีการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจในระดับหนึ่ง ระดับความใกล้ชิดหรือความไว้วางใจของ Putin ต่อชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ก็มากขึ้นหรือลดลงได้ รวมทั้งมีการเข้ามาของสมาชิกใหม่และการออกไปของสมาชิกเดิม เช่น การเข้าสู่วงเครือข่ายอำนาจของ Sergei Shoigu รัฐมนตรีกลาโหมในปี 2013 และการหมดบทบาทของ Sergei Ivanov ในปี 2016 เป็นต้น

เครือข่ายอำนาจ Putin เกิดขึ้นเมื่อใด?

ระบบเครือข่ายอำนาจ Putin เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่เข้าสู่อำนาจในสมัยแรก และรวมศูนย์อำนาจได้ทั้งหมดในสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเขาสามารถขจัดกลุ่มเครือข่ายอำนาจของ Yeltsin ออกจากรัฐบาลและภาคธุรกิจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และแทนที่ด้วยสมาชิกเครือข่ายอำนาจของตน

ดังที่ได้เล่าไว้ในตอนต้นแล้วว่า กลุ่มเครือข่ายอำนาจของ Putin ประกอบด้วย กลุ่ม Siloviki หรือสายข่าวกรอง กลุ่มอดีตทีมงานทำเนียบนายกเทศมนตรีเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และกลุ่มมิตรสหาย ทั้งสามกลุ่มมีตัวละครสำคัญและมีบทบาทแตกต่างกัน ดังนี้

กลุ่มแรกคือ กลุ่ม Siloviki นั้นเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด กลุ่มนี้มองว่ารัฐมีบทบาทสำคัญในการรักษาระเบียบและเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลุ่ม Siloviki คนสำคัญ ได้แก่

Igor Sechin เคยเป็นรองหัวหน้าสำนักประธานาธิบดี (1999-2008) และรองนายกรัฐมนตรี (2008-2012) มีตำแหน่งในภาคธุรกิจคือ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทน้ำมัน Rosneft (2004-ปัจจุบัน)

Sergei Ivanov เคยเป็นหัวหน้าสำนักประธานาธิบดี (2011-2016) และเคยเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง (1999-2001) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (2000-2007) และรองนายกรัฐมนตรี (2007-2011)

Nikolai Patrushev เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (FSB) (1999-2008) ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง (2008-ปัจจุบัน)

Sergei Naryshkin เคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (Duma) (2011-2016) หัวหน้าสำนักประธานาธิบดี (2008-2011) และรองนายกรัฐมนตรี (2007-2008) ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองต่างชาติ (SVR) (2016-ปัจจุบัน)

Alexander Bortnikov เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (FSB) (2008-ปัจจุบัน)

Sergei Shoygu เป็นอดีตนายพลประจำกองทัพบก เคยเป็นรัฐมนตรีสถานการณ์ฉุกเฉิน (1991-2012) และผู้ว่าราชการกรุงมอสโก (2012) ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (2012-ปัจจุบัน)

ในขณะที่กลุ่มเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์หรือเทคโนแครตเสรีนิยม รวมถึงนักกฎหมายที่เคยทำงานร่วมกับ Putin มาก่อน ได้แก่

กลุ่มนักกฎหมาย (piterskie yuristy) หรือ Civiliki นำโดย Dmitry Medvedev นายกรัฐมนตรี (2012-ปัจจุบัน) เขาเคยเป็นประธานาธิบดี (2008-2012) รองนายกรัฐมนตรี (2005-2008) และหัวหน้าสำนักประธานาธิบดี (2003-2005) โดยมีตำแหน่งในภาคธุรกิจคือ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียคือ Gazprom (2001-2008) และ Alexei Miller รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทก๊าซธรรมชาติ Gazprom (2005-ปัจจุบัน) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Gazprom (2001-ปัจจุบัน) และประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทน้ำมัน Gazprom Neft (2006-ปัจจุบัน)

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ นำโดย Alexei Kudrin อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2000-2011) ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แม้ว่า Kudrin จะอยู่วงนอกของเครือข่ายอำนาจ Putin แต่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาอยู่

ส่วนกลุ่มมิตรสหายของ Putin นั้นเป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของรัสเซียได้แก่

Arkady Rotenberg เจ้าของธนาคาร SMP และเครือบริษัท SGM ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาท่อเหล็กและบริการก่อสร้างให้แก่บริษัท Gazprom

Gennadi Timchenko เจ้าของบริษัทน้ำมัน Gunvor และเจ้าของกลุ่มลงทุน Volga ซึ่งเชี่ยวชาญการลงทุนในสินทรัพย์พลังงาน การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน

Yury Kovalchuk ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคาร Rossiya (2004-ปัจจุบัน) และยังเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วย

 

Putin พยายามรักษาและถ่วงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในเครือข่ายอำนาจของเขา โดยมีการแบ่งงานกันทำระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างค่อนข้างชัดเจน โดยกลุ่ม Siloviki มีบทบาทสำคัญในหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และภาคพลังงาน ในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้นมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน บุคคลสำคัญในเครือข่ายอำนาจมักจะมีตำแหน่งแห่งที่ทั้งในโครงสร้างภาครัฐ และภาคธุรกิจ ในรูปแบบของการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารหรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นอยู่ เช่น Medvedev เคยเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหาร Gazprom หรือ Sechin เคยเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหาร Rosneft เป็นต้น

ในปี 2008 Putin สลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี (2008-2012) และให้ Dmitri Medvedev ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญรัสเซียกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระติดต่อกัน โดยมีวาระละ 4 ปี แทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้น Putin เลือกที่จะสลับตำแหน่งไปเป็นนายกรัฐมนตรีแทน อย่างไรก็ดี เมื่อ Medvedev เป็นประธานาธิบดีก็ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 4 ปี เป็น 6 ปี

การสลับตำแหน่งไปเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 2008-2012 ยิ่งทำให้เครือข่ายอำนาจของ Putin แผ่ขยายเพิ่มมากขึ้น เขาโยกย้ายคนสนิทจากทำเนียบประธานาธิบดีไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีด้วย และขยายกลุ่มคนใกล้ชิดหรือ inner circle มากขึ้น โดยเฉพาะ Alexei Dyumin องครักษ์ส่วนตัว, Anton Vaino หัวหน้าฝ่ายพิธีการของนายกรัฐมนตรี (ในปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) และ Arkady Rotenberg นักธุรกิจชั้นนำของรัสเซีย ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ Putin แทบทุกวันทั้งในเรื่องงานและชีวิตประจำวัน

นักวิชาการหลายคนมองว่า นี่เป็นการก่อตัวของการเมืองราชสำนักของ Putin นั่นเอง

เมื่อ Putin กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามในปี 2012 ฐานอำนาจของกลุ่มคนใกล้ชิดดังกล่าวไม่ได้หายไปไหน แต่กลับได้รับการผนวกรวมเข้าสู่โครงสร้างที่เป็นทางการมากขึ้น Putin แต่งตั้งคนใกล้ชิดเหล่านั้นเข้ามาในระบบการเมืองและระบบราชการ เช่น Alexei Dyumin ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม (2015-2016) และปัจจุบันเป็นผู้ว่าการมณฑล Tula (2016-ปัจจุบัน) เป็นต้น

หลังวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในช่วงปี 2014 เป็นต้นมา “เครือข่ายอำนาจ Putin” ยิ่งมีความโดดเด่นชัดเจนและถูกจับตามากขึ้นทั้งในระดับโลกและในประเทศ ทั้งนี้เพราะชนชั้นนำภายใต้เครือข่ายอำนาจอยู่ในรายชื่อที่โลกตะวันตกคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงินและแบนการเดินทางเข้าประเทศ จนมีเรื่องตลกในหมู่คนรัสเซียว่า ใครอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวถือว่าเป็นชนชั้นนำที่แท้จริงของรัสเซีย

การขยายตัวของระบบเครือข่ายอำนาจ Putin นำมาสู่ภาวะทางแพร่ง (dilemma) ในการเมืองรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ความลักลั่นเชิงอำนาจระหว่างเครือข่ายอำนาจ Putin กับโครงสร้างการเมืองแบบทางการ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยากลำบากระหว่างรัฐบาลกับการเมืองราชสำนัก และความซับซ้อน/ความสับสนเชิงบทบาทหน้าที่ ว่าใครกันที่มีอำนาจในการตัดสินใจสั่งการเรื่องหนึ่งๆ นอกเหนือตัว Putin ที่ตัวแสดงทางการเมืองทั้งหลายต่างต้องแสดงความภักดีอย่างชัดแจ้ง

 

อนาคต(เครือข่ายอำนาจ)ของรัสเซียจะเป็นอย่างไร?

 

ความชราและความตายเป็นสัจธรรมแห่งชีวิต แต่สังขารที่ไม่เที่ยงในระบบการเมืองกลับเป็นเรื่องความเป็น/ความตายของการครองอำนาจ ผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน รวมทั้งชนชั้นนำในเครือข่ายอำนาจของเขา ย่อมตระหนักดีว่าหากช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านอำนาจมาถึง จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและอันตรายยิ่ง ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมักเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจตามกติกาของรัฐธรรมนูญอย่างสันติ ไม่นองเลือด มากกว่าระบอบกึ่งประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการ

ถ้าการเมืองรัสเซียยังดำเนินต่อไปในลักษณะเช่นนี้ โดย Putin และเครือข่ายอำนาจของเขาดำรงอยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เราคงจะได้เห็นการหวนคืนของระบบ “ชราธิปไตย” (gerontocracy) ดังเช่นช่วง Brezhnev อีกครั้ง

สัญญาณเตือนสำคัญคือ ข่าวลือเรื่องสุขภาพของผู้นำ เมื่อใดก็ตามที่ Putin หายหน้าหายตาไปจากสาธารณชน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมานั้น เราได้เห็นแรงกระเพื่อมและความวิตกกังวลในสังคมการเมืองรัสเซียอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ในหน้าสื่อทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์

ระบบชราธิปไตยนำไปสู่อะไร? บทเรียนในประวัติศาสตร์ในยุคปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 แสดงให้เห็นว่า ในด้านหนึ่ง ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบ stagnation ชนชั้นนำรัสเซียต่างพยายามที่จะธำรงรักษาสถานะเดิมเอาไว้ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งนโยบายกดปราบภายในประเทศ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศแข็งกร้าว ดังเช่นในกรณีเชกโกสโลวะเกีย (1968) จนถึงอัฟกานิสถาน (1979)

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบ “ชราธิปไตย” กลับเปิดที่ทางให้แก่ชนชั้นนำสายปฏิรูปจำนวนหนึ่งภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต การสิ้นสุดยุคสมัยของ Brezhnev คลี่คลายไปสู่ “การปฏิรูป” นำโดยผู้นำรุ่นใหม่อย่าง Mikhail Gorbachev และเครือข่ายอำนาจของเขา แต่การปฏิรูปที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการเมืองก่อนที่จะมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง กลับนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในรัสเซียส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากเครือข่ายอำนาจชุดหนึ่งสู่อีกชุดหนึ่ง โดยเครือข่ายอำนาจนั้นๆ ต่างมีชุดความคิด คุณลักษณะ และพลวัตของตนเอง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัสเซียในช่วงเวลาหนึ่งๆ

คำถามใหญ่คำถามหนึ่งในการเมืองรัสเซียระยะสั้น-กลาง (อย่างน้อย 5-10 ปีข้างหน้า) เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ Putin นั่นคือ Putin จะกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนอย่างไร

เว้นเสียแต่จะมีเหตุปัจจัยอื่นแทรกซ้อนที่ไม่อาจควบคุมได้ Putin จะเลือกอยู่ในตำแหน่งต่อไปภายหลังหมดวาระสมัยที่สี่ในปี 2024 หรือไม่ หรือเขาจะสลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือ Putin จะเลือกลงจากอำนาจและทิ้ง legacy หรือมรดกทางการเมืองไว้ให้รัสเซียภายหลังปี 2024

หากเป็นกรณีแรกก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเปิดช่องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงจากฝ่ายที่ไม่พอใจ Putin และเครือข่ายอำนาจของเขาอย่างแน่นอน หากเป็นกรณีที่สองหรือกรณีหลังนั้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ แต่คำถามที่ตามมาคือ ใครจะขึ้นมาครองอำนาจในรัสเซียแทนที่ Putin ซึ่งมีการคาดการณ์กันต่างๆ นานา แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ Medvedev จะยังคงเป็นผู้นำทางการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจาก Putin ต่อไปหรือไม่ และการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในรัสเซียจะยังคงเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด

สิ่งที่อาจจะพอคาดการณ์ได้คือ ไม่ว่าใครจะเป็นทายาทผู้สืบทอดทางการเมืองของ Putin ในปี 2024 หรือในอนาคตที่ไกลกว่านั้นก็ตาม ปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างลักษณะ “ทวิรัฐ” ที่เครือข่ายอำนาจทางการเมืองมีความโดดเด่นนั้น จะยังคงมีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองรัสเซียต่อไปในอนาคต

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020