fbpx
การเมืองรัสเซียยุคปูติน 4.0 : สู่กับดักชราธิปไตย? 

การเมืองรัสเซียยุคปูติน 4.0 : สู่กับดักชราธิปไตย? 

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

สำหรับผู้ที่ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2018 คงไม่รู้สึกตื่นเต้นหวือหวาหรือชวนให้ติดตามอย่างลุ้นระทึกมากนัก หลายคนเชื่อมั่นว่า Vladimir Putin ย่อมได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 4 (2018-2024) อย่างไม่มีการพลิกโผ

อย่างไรก็ดี เราอาจจะหดหู่ใจเสียด้วยซ้ำ เมื่อฝ่ายค้านที่เหลืออยู่เพียงไม่มากนักกลับถูกปิดกั้นโอกาสไม่ให้มีที่ทางในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะกรณีของผู้นำฝ่ายค้านอย่าง Alexei Navalny ซึ่งถูกกลไกทางกฎหมายและความมั่นคงห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ นานา รวมทั้งล่าสุดถูกกักตัวชั่วคราวเพื่อไม่ให้สามารถปรากฏตัวในการรณรงค์เรียกร้องให้มีการบอยคอตการเลือกตั้ง

บางคนเริ่มมองยาวไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 กันแล้ว ว่าปูตินจะยังคงมีบทบาททางการเมืองในรัสเซียต่อไปหรือไม่ หรือใครจะขึ้นมาแทนที่

 

การเมืองในพิธีกรรมเลือกตั้ง

 

ก่อนจะวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางของระบอบปูตินสมัยที่ 4 หรือ “ปูติน 4.0” ขอตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้เสียก่อน

ประการแรก การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้จะเป็นสมัยที่ 4 ของประธานาธิบดีปูติน[1] ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของรัสเซียระบุว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้สมัยละ 6 ปี โดยเป็นติดต่อกันได้ไม่เกินสองสมัย กล่าวคือ นี่จะเป็นสมัยสุดท้ายของประธานาธิบดีปูติน ถ้าหากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของรัสเซีย เพื่อขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไป

ประการที่สอง ปูตินลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ในฐานะผู้สมัครอิสระโดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ แตกต่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ซึ่งเขาลงสมัครในฐานะผู้สมัครของพรรค United Russia  ปูตินเป็นผู้ก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมาในปี 2000 และกลายเป็นพรรคการเมืองแห่งอำนาจของระบอบปูติน

อาจกล่าวได้ว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระนั้น ปูตินต้องการขยายฐานเสียงการเลือกตั้งของตนเองออกไปภายนอกกลไกของพรรค และพยายามสร้างภาพลักษณ์ “ความเป็นกลาง” หรือ “ความปลอดการเมือง” ของตนเองขึ้นมา

ประการที่สาม แม้ว่าปูตินลงสมัครโดยไม่สังกัดพรรคใด แต่พรรค United Russia และชนชั้นนำรัสเซียทั้งในทำเนียบประธานาธิบดี ในรัฐสภา หรือในระดับท้องถิ่น ต่างพยายามแข่งขันกันรณรงค์หาเสียงสนับสนุนปูตินอย่างแข็งขัน สิ่งที่เราเห็นคือมีการจัดตั้งศูนย์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งต่างๆ ที่มาจากหลายกลุ่มอำนาจ เพื่อระดมคะแนนเสียงจากประชาชนให้ได้มากที่สุด และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้นำสูงสุดอย่างปูติน

อาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันกันภายในกลุ่มชนชั้นนำรัสเซียนั้น เป็นไปเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากปูตินนั่นเอง ดังเช่นการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง Andrei Turchak เลขาธิการพรรค United Russia กับ Vyacheslav Volodin ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาดูม่าคนปัจจุบัน

Turchak ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของพรรค United Russia ที่ทรงอิทธิพล เขาเป็นบุตรชายของ Anatoly Turchak สหายเก่าแก่ของปูติน เส้นทางอำนาจของ Turchak คือการเป็นเทคโนแครตรุ่นใหม่ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ว่าการเมือง Pskov อายุน้อยที่สุด ต่อมาก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค United Russia

ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง Turchak เดินทางไปทั่วรัสเซีย พบปะกับผู้นำของพรรคและผู้ว่าการรัฐต่างๆ ซึ่งต้อนรับเขาในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง วุฒิสภาหรือสภาสูงก็ตั้งตำแหน่งพิเศษขึ้นมาใหม่ คือ รองประธานสภาสูง ให้แก่ Turchak แม้กระทั่งนาง Valentina Matviyenko เองก็เรียกเขาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า “ท่านประธานสภาคนใหม่”

ส่วน Volodin นั้นมีบทบาทสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงให้ปูตินในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สาม เมื่อปี 2012  ในขณะนั้น Volodin ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าทำเนียบประธานาธิบดี และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาดูม่าจนกระทั่งปัจจุบัน

แม้ว่าทั้ง Turchak และ Volodin ต่างพยายามสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของตนเอง แต่ทั้งสองก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อแสดงให้ปูตินเห็นว่าตนเองสามารถทำให้ปูตินได้คะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนมาก เราคงต้องจับตาบทบาททางการเมืองของผู้นำทั้งสองคนนี้ในยุคปูติน 4.0 ต่อไป

ประการที่สี่  ในการเลือกตั้งของรัสเซีย อย่างน้อยตั้งแต่ปูตินก้าวสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา พรรคการเมืองฝ่ายค้านอ่อนแออย่างมาก มีเพียงแค่พรรคการเมืองฝ่ายค้านเทียม (pseudo-opposition) ที่สนับสนุนระบอบปูตินเท่านั้น เช่น พรรค A Just Russia แต่ในปัจจุบันก็ค่อยๆ หมดบทบาททางการเมืองไป

ด้วยเหตุนี้ การเมืองของรัสเซียจึงไม่มีฝ่ายค้านที่แท้จริง กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลจึงมาจากกลุ่มทางการเมืองและภาคประชาสังคมภายนอกรัฐสภา โดยเฉพาะกลุ่มของ Alexei Navalny แต่พลังภาคประชาสังคมในรัสเซียก็ยังค่อนข้างอ่อนแอ และไม่มีพลังมวลชนสนับสนุนมากเพียงพอ ส่วนหนึ่งมาจากการกดปราบจับกุมของรัฐอย่างรุนแรง

Navalny เองก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และในเวลาเดียวกันก็ถูกจับกุมอยู่เรื่อยๆ ด้วยข้อหาต่างๆ นานา กระนั้นก็ดี รัฐบาลรัสเซียยังไม่กล้าดำเนินการตั้งข้อหาที่รุนแรง หรือจำคุก Navalny เป็นเวลานาน อาจเพราะไม่ต้องการทำให้ Navalny กลายเป็น “ฮีโร่” ของขบวนการต่อต้านระบอบปูติน

โดยรวม การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เหมือนเป็นเพียง “พิธีกรรม” หรือ “มหกรรม” ที่ดำเนินไปตามวงรอบของการเลือกตั้ง โดยไม่มีการเลือกตั้งที่เข้มข้นดุเดือด หรือไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง

แต่ความคาดหวังและความท้าทายที่มีต่อระบอบปูติน 4.0 คงจะยิ่งมีมากขึ้นอย่างแน่นอน … แล้วอะไรคือความท้าทายเหล่านั้นบ้าง?

 

กับดักชราธิปไตยในรัสเซีย

 

เรามองเห็นโจทย์ทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือปรากฏการณ์สังคมสูงวัย (aging society) แต่ปัญหาทางการเมืองอย่างหนึ่งที่คนมักไม่ค่อยให้ความสำคัญคือ “การเมืองชราธิปไตย” (gerontocracy) ที่ชนชั้นนำที่ปกครองนั้นมีอายุมาก หรือเป็นผู้สูงวัย ซึ่งอาจจะมาจากคนชราที่อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแต่ไม่ยอมลงจากอำนาจ หรือมาจากการเข้าสู่อำนาจของชนชั้นนำวัยเกินเกษียณอายุ

การเมืองชราธิปไตยเกิดขึ้นได้ในทุกระบอบการเมืองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร หรือระบอบกษัตริย์ สุขภาพ (หรือข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพ) ของผู้นำกลายเป็นประเด็นเปราะบางทางการเมือง ซึ่งอาจสร้างความไม่มีเสถียรภาพให้แก่ระบบชราธิปไตยได้

ในยุคชราธิปไตย สิ่งที่ชนชั้นนำวัยชราหวาดกลัวมากที่สุดคือ การต่อต้านที่มาจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึงการท้าทายสถานภาพเดิม และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่

เป้าหมายของระบอบชราธิปไตยคือ ความพยายามในการรักษาสถานภาพเดิม ซึ่งนำไปสู่การควบคุมกดปราบทางสังคม การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปิดกั้นสื่อ การมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว เป็นต้น

นอกจากการเข้าสู่ยุคชราธิปไตยคือการครองอำนาจโดยไม่ยอมลงจากอำนาจของคนชรา สัญญาณสำคัญอีกประการหนึ่งของยุคชราธิปไตยคือ การลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticization) ของนโยบายและการบริหารสาธารณะ โดยผลักภาระของการบริหารและความรับผิดชอบให้แก่เทคโนแครต ในหลายกรณีเป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อย

การแต่งตั้งเทคโนแครตอายุน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้โจทย์หลักของชราธิปไตย แต่ในเวลาเดียวกัน การตั้งคนเหล่านี้ซึ่งยังไม่มีฐานอำนาจทางการเมืองของตน ก็เพื่อไม่ต้องการให้มีกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นมาท้าทายอำนาจเดิมของชราธิปไตยนั่นเอง

เราจะเห็นว่ายุคชราธิปไตยมาพร้อมกับยุคเรืองอำนาจของเทคโนแครต ซึ่งกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในการบริหารงานเฉพาะอย่าง เช่น เศรษฐกิจ การเงิน ฯลฯ และทำให้อาณาบริเวณดังกล่าวกลายเป็นเรื่องทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่เรื่องทางการเมืองที่ต้องมีการเจรจาต่อรองหรือถกเถียงอภิปรายสาธารณะอีกต่อไป

กล่าวคือ ในยุคชราธิปไตย การเมืองกลายเป็นเพียงการจัดการโดยเทคโนแครตเท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว เทคโนแครตมักเป็นพลังที่มุ่งรักษาสถานภาพเดิมของอำนาจเอาไว้ มากกว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหรือการปฏิวัติทางสังคม

ในรัสเซีย ยุคชราธิปไตยปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1980 หรือยุคสมัยของเบรชเนฟ

ในยุคนั้น นอกจากมีคณะบุคคลที่ชราภาพอยู่ในอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น Leonid Brezhnev, Yuri Andropov หรือ Konstantin Chernenko (สองคนหลังอยู่ในตำแหน่งเพียงคนละปีเศษเท่านั้นและต่างก็เสียชีวิตในตำแหน่ง) ยุคสมัยของเบรชเนฟยังเป็นยุคของความชะงักงันทางเศรษฐกิจและสังคม

ความพยายามในการรักษาสถานภาพเดิมนำไปสู่การควบคุมกดปราบทางสังคม การปิดกั้นสื่อ และการแทรกแซงทางการทหารในบริเวณเขตอิทธิพลของรัสเซีย หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “หลักลัทธิเบรชเนฟ” (Brezhnev Doctrine) ดังกรณีการแทรกแซงทางการทหารในเชกโกสโลวาเกีย ในปี 1968

รัสเซียปัจจุบันกำลังเผชิญกับ “กับดักเบรชเนฟ” หรือ “กับดักชราธิปไตย” อีกครั้ง โดยประเด็น “อายุ” และ “สุขภาพ” ของผู้นำกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง

ระบอบปูตินจะรับมือหรือปรับตัวกับการเมืองชราธิปไตยได้หรือไม่ และอย่างไร? นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของรัสเซียในยุคปูติน 4.0 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญไปสู่การเมืองรัสเซียยุคหลังปูติน

 

โจทย์ท้าทายรัสเซียยุคปูติน 4.0

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนมีนาคม 2018 คงยากที่จะพลิกโผ โดยวลาดิมีร์ ปูตินจะยังคงเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย แม้ว่าคะแนนเสียงอาจจะลดน้อยลงก็ตาม แต่ระบอบปูติน 4.0 นั้นจะเผชิญกับโจทย์สำคัญอีกอย่างน้อย 4 โจทย์ด้วยกัน คือ

 

โจทย์ 1 : การเมืองภายใน

ผมคิดว่าลักษณะสำคัญของระบอบปูตินจะยังดำรงอยู่ เราคงเห็นผู้นำสูงสุดที่เข้มแข็ง สังคมอำนาจนิยม การแบ่งแยกและปกครองในกลุ่มชนชั้นนำ บทบาทของปูตินในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ และการรวมศูนย์อำนาจทางการบริหาร รวมทั้งการใช้กลไกทางกฎหมายและความมั่นคงกับ “ภัยคุกคาม” ภายใน นั่นคือ ฝ่ายค้านนอกระบบ หรือฝ่ายต่อต้านระบอบปูติน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ผู้สังเกตการณ์รัสเซียหลายคนมองว่า คุณลักษณะดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในปูติน 4.0 กล่าวคือ การนำของปูติน 4.0 จะมีลักษณะเป็นการปกครองที่มีระยะห่างมากขึ้น (governing by distance) โดยวางตัวผู้นำให้มีความเป็น “สัญลักษณ์” ในฐานะประมุขของรัฐมากขึ้น และไม่เข้าไปแทรกแซงนโยบายโดยตรง แต่มอบอำนาจการตัดสินใจและการนำนโยบายไปปฏิบัติให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างในระบบราชการ นั่นคือ เทคโนแครต

ภายใต้ระบบนี้ ความรับผิดชอบจะตกอยู่กับเทคโนแครต กล่าวคือ ระบอบปูตินจะมีความรับผิดชอบต่อการปกครองน้อยลง โดยถ่ายโอนภาระด้านความผิดพลาดของนโยบายไปที่เทคโนแครต แต่หากนโยบายใดประสบความสำเร็จ ก็จะถือเป็นความสำเร็จของระบอบปูตินโดยรวม

แนวโน้มเช่นนี้สะท้อนการบริหารกิจการสาธารณะที่เป็น “หลังการเมือง” (post-political governance) มากขึ้น

อนึ่ง เทคโนแครตเหล่านี้ไม่ได้มีฐานอำนาจทางการเมืองของตนเองเหมือนกลุ่มอำนาจเดิม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม siloviki (อดีต KGB) หรือกลุ่มที่มาจากเซนต์ปีเตอรส์เบิร์ก[2] แต่ต้องอาศัยความภักดีที่มีต่อปูติน เพื่ออยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองต่อไป

เทคโนแครตคนสำคัญในระบอบปูติน 4.0 ได้แก่ Vyacheslav Volodin ประธานสภาดูม่าคนปัจจุบัน, Anton Vaino หัวหน้าทำเนียบประธานาธิบดี, Sergei Kiriyenko รองหัวหน้าทำเนียบประธานาธิบดี หรือ Andrei Turchak เลขาธิการพรรค United Russia เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังเห็นแนวโน้มของการขยายบทบาทของเทคโนแครตในระดับภูมิภาค ผ่านการส่งคนจากส่วนกลางไปปกครองภูมิภาคต่างๆ  ในปี 2017 ที่ผ่านมา ปูตินได้เปลี่ยนผู้ว่าการรัฐต่างๆ จำนวนมาก โดยแต่งตั้งเทคโนแครตเข้าไปแทน คนเหล่านี้เคยดำรงตำแหน่งในระบอบปูติน ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐต่างๆ  คนเหล่านี้เป็นคนที่ไม่มีฐานอำนาจทางการเมืองเป็นของตัวเอง มีเพียงทักษะในการบริหารจัดการและพึ่งพิงทางการเมืองอย่างสูงต่อปูติน

สิ่งที่เราจะเห็นในระบอบปูติน 4.0 ก็คือ การบริหารจัดการโดยเทคโนแครต แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำหรือการปกครองแบบนี้อาจจะเปิดทางให้แก่การริเริ่มทางเทคนิคในด้านต่างๆ หรือการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือดุลแห่งอำนาจภายในการเมืองรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การแข่งขันกันระหว่างเทคโนแครตกลุ่มต่างๆ และระหว่างเทคโนแครตกับกลุ่มอำนาจเดิม เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำสูงสุดอย่างปูติน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเมืองรัสเซีย

 

โจทย์ 2 : เศรษฐกิจ

หากเราได้ฟังถ้อยแถลงต่างๆ ของปูตินในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2017 เราคงพอเห็นทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของปูติน 4.0 นั่นคือ ความริเริ่มทางเศรษฐกิจภายในหรือการทำให้เป็นสมัยใหม่ (modernization) นั้นไม่ใช่ภารกิจจำเป็นเร่งด่วนของประธานาธิบดี แนวโน้มที่จะเห็นคือ รัฐบาลปูตินจะมอบหมายการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจให้แก่เทคโนแครตต่างๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารแห่งชาติ หรือการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการคลังและการพัฒนาเศรษฐกิจ

ตั้งแต่แรก ระบอบปูตินมีการแบ่งงานกันทำภายในรัฐบาล โดยให้เทคโนแครตมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ในช่วงทศวรรษ 2000 Alexei Kudrin เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ German Gref เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ

หรือในปัจจุบัน ทีมเศรษฐกิจของ Dmitri Medvedev นายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ เช่น  Anton Siluanov เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ Maxim Oreshkin เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น เป็นต้น

กระนั้น บทเรียนในอดีตแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของพลังเทคโนแครตในการส่งเสริมนโยบายปรับเศรษฐกิจให้เป็นสมัยใหม่หรือนโยบายเสรีนิยม แม้กระทั่งในสมัย Medvedev เป็นประธานาธิบดี (2008-2012) ซึ่งกำหนดวาระในการสร้างเศรษฐกิจรัสเซียให้เป็นสมัยใหม่เป็นวาระหลักของรัฐบาล เราก็ไม่เห็นการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ การปะทะกันระหว่างเสรีนิยมกับบรรษัทนิยมโดยรัฐแสดงให้เห็นว่าแนวทางหลังนี้ยังคงจะเป็นแนวทางหลักของรัสเซีย อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้

ในระบอบปูติน 4.0 การอาศัยเทคโนแครตภาคการเงิน การคลัง และกฏหมาย อาจจะเป็นเพียงการถ่ายโอนความรับผิดชอบเชิงนโยบายเท่านั้น ลำพังแค่พลังเทคโนแครตคงไม่เพียงพอที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจรัสเซียทั้งระบบได้ ทั้งนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปัจจุบันยังแตกต่างจากช่วงทศวรรษที่ 2000 กล่าวคือ ราคาน้ำมันโลกตกต่ำ เศรษฐกิจชะงักงัน รวมทั้งการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก

โจทย์เศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และย่อมเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลรัสเซียภายใต้ปูติน 4.0 ว่าจะสามารถรักษาฐานอำนาจและความชอบธรรมของตนเองเอาไว้ได้อย่างไร

 

โจทย์ 3 : นโยบายต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศของรัสเซียจะเป็นไปในทิศทางไหน?

ผมคิดว่านโยบายต่างประเทศของรัสเซียไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากนักจากช่วงที่ผ่านมา โดยรัสเซียยังต้องการแสวงหาสถานะความเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองไว้

หนึ่ง ในความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก (สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป) ปูติน 4.0 จะยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบแข็งกร้าว (assertive foreign policy) ภายใต้บริบทของการถูกคว่ำบาตรจากกรณีวิกฤตการณ์ไครเมีย แต่รัสเซียก็ไม่ได้ปิดเส้นทางในการปรับความสัมพันธ์กับผู้นำโลกตะวันตกไปโดยสิ้นเชิง ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับโลกตะวันตกน่าจะเป็นเส้นทางที่ปูติน 4.0 เลือกใช้ในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม การทูตเชิงปฏิบัตินิยม และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

สอง รัสเซียจะยังรักษาสถานะและบทบาทของตนในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์การสหประชาชาติ รัสเซียจะเน้นบทบาทของการรักษาสถานภาพเดิมของระเบียบระหว่างประเทศในแง่ของการปกป้องปทัสถานเรื่องการเคารพหลักอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นๆ รวมทั้งการต่อต้านปทัสถานใหม่อย่างสิทธิมนุษยชนและการแทรกแซงทางมนุษยธรรม แต่ในเวลาเดียวกันก็จะส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar world order) โดยท้าทายอำนาจนำของสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ เราจะเห็นบทบาทและความร่วมมือของรัสเซียกีลจีนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องนี้

สาม รัสเซียจะรักษาและขยายอิทธิพลในบริเวณยูเรเชีย ทั้งในระดับพหภาคี ผ่านองค์กรระดับภูมิภาคอย่างเช่นสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียหรือองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) และในระดับทวิภาคีกับรัฐต่างๆ ในยูเรเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์ซัคสถาน เบลารุส เป็นต้น ปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ เช่น ยูเครนภาคตะวันออกและปัญหาคาบสมุทรไครเมียก็จะยังคงเป็นความขัดแย้งแช่แข็งต่อไป โดยรัสเซียจะอาศัยกองกำลังกึ่งทหาร และพันธมิตรในท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการครองอำนาจนำในภูมิภาคยูเรเชียเอาไว้

สี่ รัสเซียจะเพิ่มบทบาทของตนเองในภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลางและเอเชีย-แปซิฟิก

ในตะวันออกกลาง รัสเซียเริ่มต้นเข้าไปพัวพันในภูมิภาคนี้มากขึ้น ตั้งแต่วิกฤตการณ์ในซีเรีย ทั้งการสนับสนุนระบอบ Bashar al-Assad และการโจมตีทางอากาศกับกลุ่ม ISIS ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่งทีเดียว รัสเซียยังเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกัน รัสเซียหันมาหาเอเชีย-แปซิฟิกในฐานะทางเลือกนโยบายใหม่ในช่วงที่รัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก แม้ว่าจะยังไม่มีวิสัยทัศน์ด้านนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนต่อภูมิภาคนี้ก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ที่ปรับตัวดีขึ้นกับจีน อาเซียน และเวียดนามก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ารัสเซียกำลังหันมาหาเอเชียมากขึ้นกว่าเดิม

โดยรวมแล้ว โจทย์ด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลปูติน 4.0 น่าจะมีแนวโน้มของความต่อเนื่อง มากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

โจทย์ 4 : การสืบทอดอำนาจของระบอบปูติน

ถ้าหากว่าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินจะหมดวาระในปี 2024 เป็นการเปิดคำถามหรือโจทย์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของรัสเซียคือ ใครจะขึ้นมาแทนปูติน?

Mikhail Khodorkovsky อดีตนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานชาวรัสเซียซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ว่า “คำถามที่เราควรถามไม่ใช่ ใครจะขึ้นมาแทนปูติน แต่คือ อะไรจะมาแทนที่เขา”

ในมุมมองของเขา การเปลี่ยนแปลงลักษณะของระบอบการเมืองมีความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนคนในอำนาจ ผมคิดว่า Khodorkovsky เข้าใจดีว่าระบอบการเมืองแบบปูตินยังจะคงดำรงอยู่ในการเมืองรัสเซีย แม้ว่าจะมีปูตินหรือไม่ก็ตาม

แต่แน่นอนว่า ในระบอบการเมืองที่มีความเป็นตัวบุคคลมากกว่าสถาบันอย่างรัสเซียนั้น คำถามว่า “อะไร” กับคำถามว่า “ใคร” ดูจะไม่อาจแยกขาดจากกันได้อย่างชัดเจน

แล้วเราพอจะเห็นทางเลือกอะไรบ้างในการเมืองรัสเซียหลังปี 2024 ?

ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสามแนวทางด้วยกัน

หนึ่ง ปูตินยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปหลังปี 2024 โดยเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซีย ทางเลือกนี้อาจจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมการเมืองรัสเซียค่อนข้างมากทีเดียว

อนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าในปี 2008 ปูตินไม่เลือกเดินตามแนวทางนี้ แต่กลับตัดสินใจถอยออกมาเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ปูตินยังมีคะแนนนิยมสูงมาก และเศรษฐกิจของรัสเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานโลกที่สูง ซึ่งแตกต่างไปจากบริบทในปัจจุบัน

แต่เมื่อ Dmitri Medvedev ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 2008-2012 แล้ว ภารกิจแรกของเขาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยขยายระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดิม 4 ปีเป็น 6 ปี เพื่อปูทางให้แก่การกลับมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของปูตินในสมัยที่สาม (2012-2018) นั่นเอง

สอง ปูตินลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังคงบทบาทการนำของตนเองไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การเป็นนายกรัฐมนตรีดังเช่นในช่วงปี 2008-2012 หรือการเป็นผู้นำสูงสุดเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่มีการแต่งตั้งคนที่มีความภักดีต่อเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน

สาม ปูตินลงจากอำนาจ โดยถ่ายโอนอำนาจให้แก่ทายาททางการเมืองของตนเอง ดังเช่นที่ Boris Yeltsin ได้ตัดสินใจในช่วงปลายปี 1999 และส่งต่ออำนาจการบริหารประเทศให้แก่ทายาททางการเมืองของเขาอย่างปูตินในปี 2000

หากเป็นเช่นนั้น ปูตินวางตัวใครเป็นทายาททางการเมืองของเขา?

โจทย์ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจทางการเมืองหลังยุคปูติน ย่อมเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของการเมืองรัสเซียยุคชราธิปไตย

 

สรุป

 

การก้าวย่างเข้าสู่ยุคชราธิปไตยปรากฏในทุกระบอบการเมือง แต่จุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบการเมืองอื่นๆ คือ การมีวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจใหม่อยู่เป็นระยะๆ ผ่านกลไกการเลือกตั้ง แต่บ่อยครั้ง การเลือกตั้งกลับเป็นเพียงกลไกหนึ่งในการรักษาอำนาจของชนชั้นนำเอาไว้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ยอมลงจากอำนาจของคนชราที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ซึ่งนำมาสู่กับดักชราธิปไตย

การเมืองรัสเซียในปัจจุบันก็กำลังเผชิญกับดักชราธิปไตย สัญญาณที่บ่งชี้ถึงยุคชราธิปไตยคือ สุขภาพของผู้นำอย่างปูติน การหายตัวจากสาธารณะเป็นเวลาไม่กี่วันสร้างความไม่มั่นคงและคำถามคาใจต่างๆ แก่สังคมการเมืองรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนความเปราะบางของระบบการเมืองแบบนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของรัสเซียในอีกหกปีข้างหน้าจึงอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การเมืองรัสเซียจะก้าวข้ามกับดักชราธิปไตยได้หรือไม่ และย่างก้าวไปสู่ยุคหลังปูตินได้อย่างไร แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นสู่อำนาจแทนปูติน ระบอบการเมืองที่เป็นผลผลิตของปูตินนี้ย่อมจะกำหนดและส่งอิทธิพลต่อการเมืองวัฒนธรรมของรัสเซียในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เชิงอรรถ

[1] ปูตินขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2000-2004 และสมัยที่สองในปี 2004-2008 เขาตัดสินใจไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2008-2012 โดยให้ Dmitry Medvedev ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคั่นหนึ่งสมัย ในช่วงปี 2011 ปูตินประกาศตัวกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง จนนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในรัสเซีย แต่เขาก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 กลายเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามในปี 2012-2018

[2] กลุ่มอำนาจเดิมไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม siloviki (อดีต KGB) หรือกลุ่มที่มาจากเซนต์ปีเตอรส์เบิร์กหลายคนตกจากอำนาจ เช่น Sergei Ivanov ซึ่งลาออกจากหัวหน้าทำเนียบประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม 2016 เป็นต้น

หลายคนพบว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ภายนอกโครงสร้างสถาบันที่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจที่มีการควบคุมโดยรัฐ (เช่น Igor Serchin ผู้บริหาร Rosneft บริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย หรือ Sergei Chemezov ผู้บริหาร Rostec) สื่อที่สนับสนุนระบอบปูติน (ซึ่งดำเนินการโดย Yury Kovalchuk ประธานธนาคาร Rossiya) หรือการดำเนินธุรกิจเอกชนและมูลนิธิการกุศล (เช่นกรณีของสองพี่น้องตระกูล Rotenberg)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save