fbpx
พวงทอง ภวัครพันธุ์ : กองทัพ การเมืองมวลชน และความมั่นคงภายในประเทศ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ : กองทัพ การเมืองมวลชน และความมั่นคงภายในประเทศ

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่กี่วัน สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า แกนนำเสื้อแดงในภาคอีสานและภาคเหนือถูกทหารเข้าประกบพร้อมขู่ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งยังต้องทำเรื่องขออนุญาตจากนายทหารระดับสูงในพื้นที่หากต้องการเดินทางออกนอกจังหวัดของตน

ในปี 2558 ข้อมูลจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ระบุว่า กอ.รมน.ได้ทำการปิดเว็บไซต์ไปทั้งสิ้น 143 เว็บไซต์ คิดเป็นจำนวน URL ทั้งหมด 5,268 URL ซึ่งทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ในกระบวนการปิดเว็บไซต์จำนวน 3,426 URL กอ.รมน.ได้มีคำสั่งไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ดำเนินการปิดเว็บไซต์โดยตรง

ในช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2559 โฆษกของ กอ.รมน.เปิดเผยว่า พวกเขาพร้อมระดมมวลชนภายใต้สังกัด กอ.รมน. กว่า 500,000 คน เพื่อสนับสนุนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติ

แม้จะถูกวิจารณ์ว่ามีวิธีคิดและวิธีทำงานการเมืองสุดโบราณในหลายมิติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพประสบความสำเร็จพอสมควรในการควบคุมมวลชนให้อยู่ในความสงบ

คำถามจึงมีอยู่ว่า กองทัพทำได้อย่างไร

ในยุคทหารเป็นใหญ่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามศึกษา ทำความเข้าใจ และวิพากษ์กองทัพอย่างสม่ำเสมอ

ความเห็นของพวงทองไม่ได้มีที่มาจาก ‘จุดยืน’ ทางการเมืองเพียงเท่านั้น หากมีฐานจากงานวิชาการที่หนักแน่น โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่อง The Central Role of Thailand’s Internal Security Operations Command in the Post-Counterinsurgency Period พวงทองตั้งคำถามต่อบทบาทของกองทัพในกิจการพลเรือนและผลกระทบต่อการเมืองไทย

แม้ว่าก่อนหน้านี้พวงทองได้นำเสนองานวิจัยในภาพใหญ่ที่ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของ ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงยุคต้านประชาธิปไตยไปแล้ว กระนั้นพื้นที่และลักษณะเฉพาะของความเป็นงานวิจัยก็ทำให้องค์ความรู้บางอย่างที่ได้มาระหว่างการทำวิจัยยังไม่ถูกเล่าออกมา

101 จึงชวนพวงทองมาเล่า “ความรู้ที่ยังไม่ถูกเล่า” เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นใหม่ กองทัพจัดการและควบคุมมวลชนได้อย่างไร อะไรเป็นกลไกสำคัญของทหารในการจัดตั้งมวลชน กองทัพมีความสัมพันธ์กับกลไกรัฐอื่นอย่างไร มวลชนของกองทัพเป็นใคร มีความคิดและอุดมการณ์แบบไหน และถึงที่สุดแล้ว การจัดตั้งมวลชนของกองทัพจะได้ผลหรือไม่

 

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการสนใจศึกษากิจการพลเรือนของทหาร

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ถึงหนึ่งเดือน เกิดเหตุการณ์ที่ทหารเข้าไปไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ส่งผลให้ผู้คนกว่าพันครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้ หลังจากนั้นไม่ถึง 3 เดือน รัฐบาลได้ออกแผนป่าไม้ออกมาโดยต้องการเรียกคืนพื้นที่ป่า 2 ล้านไร่

จุดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมทหารเข้ามายุ่งกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีข้อสังเกตคือ การที่เขารู้ว่าจะเวนคืนพื้นที่ตรงไหน ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าส่วนไหนบ้าง และการบอกว่าจะเอาพื้นที่ป่า 2 ล้านไร่คืน นั่นแสดงว่า เขาเตรียมการมาหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

จึงตั้งคำถามต่อว่ามีเรื่องอื่นอีกหรือไม่ที่ไม่ควรเป็นเรื่องของทหาร แต่ทหารกลับมีบทบาทสูง ไล่ดูก็พบว่าช่วงปีแรกหลังรัฐประหาร ทหารไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่กิจการทหารอีกจำนวนมาก

 

ทำไมการศึกษาถึงเน้นไปที่บทบาทของ กอ.รมน. เป็นสำคัญ

อันที่จริงไม่ได้เริ่มจาก กอ.รมน.เสียทีเดียว แต่เริ่มจากคำถามว่าทำไมทหารเข้ามายุ่งกับกิจการที่ไม่ใช่เรื่องทหาร ซึ่งพบว่า กอ.รมน.เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้

 

กอ.รมน. ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างมากในยุคสงครามเย็น มีบทบาทเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในยุคปัจจุบัน

บทบาทของ กอ.รมน. คือการเป็นผู้ดำเนินการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินการคือ กลุ่มบุคคลที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของรัฐในทัศนะของเขา ในยุคสงครามเย็น ขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกร หรือกลุ่มที่ถูกมองว่าโอนเอียงไปทางฝ่ายซ้ายไม่ว่าจะคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม เป็นเป้าหลักที่ถูกจับตามองและถูกคุกคาม

ในปัจจุบัน กลุ่มที่ผู้มีอำนาจมองว่าคุกคามความมั่นคงและเป็นปัญหาคือ กลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนที่เขาคิดว่าทำให้อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ของรัฐได้รับความกระทบกระเทือน ดังนั้น ในด้านหนึ่ง บทบาทของ กอ.รมน. คือการสกัดกั้นหรือคุกคามกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามจะสร้างฐานมวลชนที่สนับสนุนอุดมการณ์ของเขา

ดังนั้น ถ้ามองจากกรอบของบทบาท บทบาทของ กอ.รมน.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักหากนับจากสงครามเย็น วิธีการและทัศนะในการทำงานก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก แต่ความต่างที่สำคัญคือ กลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐเป็นคนละกลุ่มกัน

 

ทหารดำเนินกิจการพลเรือนเพื่อจัดการทางการเมืองอย่างไร

แนวคิดแกนหลัก 3 แกน ได้แก่ การพัฒนา งานมวลชน และปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา นี่เป็นแกนหลักมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ในอดีตการพัฒนาที่เห็นได้ชัดคือ การจัดตั้งหมู่บ้านพัฒนา โดยเอาโครงการพัฒนาเข้าไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการในพระราชดำริ ในบางกรณี มีการอพยพประชาชนเข้าไปในพื้นที่ที่ต้องการจัดตั้งหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมา เช่น กลุ่มชาวนาไร้ที่ดิน ซึ่งเป็นมวลชนของ กอ.รมน. ในกรณีแบบนี้ รัฐจะอัดฉีดเงินด้านการพัฒนาเข้าไป และมีการทำให้มวลชนที่เข้าอยู่ในหมู่บ้านพัฒนาเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ ทำการปกป้องพื้นที่สีแดงไม่ให้คอมมิวนิสต์สามารถเข้ามาแทรกซึมได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีการอบรมปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเผยแพร่และปลูกฝังด้วย

ลักษณะแบบนี้ยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพียงแต่โครงการพัฒนาเปลี่ยนไปเพราะหมู่บ้านที่ไม่มีความเจริญเหลืออยู่น้อยมากแล้ว การพัฒนาจะเป็นการเข้าไปในพื้นที่ชนบทที่มีประชาชนอยู่ และเอางบพัฒนาเข้าไปผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผ่านกระทรวงมหาดไทย กลไกสำคัญคือการเข้าไปจัดตั้งกลุ่มมวลชนท้องถิ่นสารพัดรูปแบบ เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน ไทยอาสาป้องกันชาติ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนา และคอยช่วยรัฐในการผลักดันโครงการเหล่านี้

นอกจากจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยแล้ว กอ.รมน.ยังใช้กลไกผ่านหน่วยงานรัฐอื่นๆ ด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อการพัฒนา และเอางบสาธารณสุขเข้าไปให้หมู่บ้าน เป็นต้น

 

กอ.รมน. สัมพันธ์กับกลไกรัฐอื่นอย่างไร กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงสาธารณสุข ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นทำงานร่วมกับ กอ.รมน. ในลักษณะไหน

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปพิจารณาพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งถูกผลักดันในสมัยพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนั้น

กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกับ กอ.รมน.ในการประเมินปัญหาความมั่นคงและนำเสนอนโยบายกับคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง เมื่อ ครม. อนุมัติแล้วก็หมายความว่า นโยบายหรือแผนงานไหนที่ กอ.รมน.ผลักดันให้หน่วยงานอื่นทำ หน่วยงานนั้นจะต้องร่วมมือสนับสนุนและทำตามสิ่งที่ กอ.รมน.เสนอ ในช่วงที่ผ่านมา กอ.รมน.ใช้กลไกของทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง

กฎหมายฉบับนี้ทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจเหนือกลไกรัฐอื่นๆ และกลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ขั้วอำนาจอนุรักษนิยมสามารถใช้ กอ.รมน. เพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเขาได้

 

เมื่อดูโครงสร้าง กอ.รมน. ทั้งหมดจะเห็นว่า เรามี กอ.รมน. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ ถ้าเป็นเช่นนี้สายการบังคับบัญชาจะเป็นอย่างไร

ตำแหน่งสูงสุดคือผู้อำนวยการ กอ.รมน. รอง ผอ. กอ.รมน. และเลขาธิการ กอ.รมน. ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ รองลงไปคือผู้อำนวยการ กอ.รมน. ระดับภาค ซึ่งได้แก่ แม่ทัพภาคต่างๆ ซึ่งจะมีอำนาจคุมและคอยสั่งการผู้อำนวยการระดับจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จะเห็นว่านี่เป็นการสั่งงานข้ามกระทรวงกัน ทหารซึ่งอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีอำนาจสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย

 

 

งบประมาณของ กอ.รมน. เป็นงบเปิดเผยหรืออยู่ในส่วนที่เป็นงบลับ

อันที่จริงงบลับในปัจจุบันมีไม่มากเท่าไหร่ แต่งบเปิดเผยต่างหากที่เยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งงบทหารเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งงบกระทรวงกลาโหมและงบของ กอ.รมน. ที่ต้องพิจารณาแยกงบกระทรวงกลาโหมกับ กอ.รมน. เพราะ กอ.รมน.ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม แต่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่น่าสนใจคือ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จะไม่มีการตั้งงบของ กอ.รมน. แยกออกมาต่างหาก ซึ่งดิฉันก็พยายามหาอยู่ว่างบ กอ.รมน.ไปอยู่ส่วนไหน แต่หลังจากประกาศใช้กฎหมายแล้ว กอ.รมน.จะได้งบประมาณแผ่นดินโดยตรงและได้รับเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ล่าสุดก็ปีละกว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว ในแง่นี้ย่อมสะท้อนว่า กฎหมายความมั่นคงส่งผลให้การจัดงบประมาณให้ กอ.รมน.ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความสัมพันธ์อย่างไรกับ กอ.รมน. มีการแทรกแซงหรือพยายามเข้าไปปฏิรูปบ้างหรือไม่

น้อยมาก อันที่จริงในช่วงที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตั้งแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมา ปัญหาคอมมิวนิสต์ก็หมดไป บทบาท กอ.รมน.ก็ลดลงไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี 2535 ทำให้สถานภาพของกองทัพไทยตกต่ำไปอย่างมาก ทหารเองบอกว่าตัวเองจะถอยจากการเมือง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีความพยายามอย่างจริงจังจากรัฐบาลพลเรือนในการที่จะปฏิรูปกองทัพ ในทางตรงกันข้าม กลับไปมอบหมายกิจการพลเรือนอื่นๆ และขยายบทบาทด้านนี้ให้มากขึ้นด้วย ทหารยังทำงานพัฒนาอยู่ แต่ไปขยายเรื่องปกป้องพื้นที่ป่า ยาเสพติด การค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลพลเรือนไม่เข้าใจว่าการขยายบทบาทของทหารในเรื่องเหล่านี้ทำให้กองทัพสามารถเข้าไปแทรกซึมภาคประชาสังคมได้มากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่ทหารมีบทบาททางการเมืองน้อย ปัญหานี้อาจยังเห็นได้ไม่ชัด แต่ทันทีที่ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เขาสามารถใช้กลไกที่เขาสร้างมา 20 ปี ทำงานตอบสนองจุดมุ่งหมายทางการเมืองได้ทันทีเลย

 

 

ในด้านหนึ่ง กลไกสำคัญของ กอ.รมน.ในกิจการพลเรือนคือ มวลชนจัดตั้งแต่อีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งทางการเมืองได้ขยายไปแทบทุกพื้นที่ทั้งเมืองและชนบท มวลชน กอ.รมน. อยู่ตรงไหนในความขัดแย้งนี้ พวกเขามีความคิดทางการเมืองแบบไหน ชอบหรือเชียร์ใครเป็นพิเศษหรือไม่  

มวลชนที่ถูกระดมเข้ามาใต้ กอ.รมน. มีความหลากหลาย เวลา กอ.รมน.บอกว่ามีมวลชนอยู่ 500,000 คน ดิฉันไม่คิดว่าทุกคนจะมีความเชื่อในอุดมการณ์ที่ กอ.รมน.ต้องการปลูกฝังอย่างเท่ากันหมด

บางคนที่ดิฉันได้เจอก็บอกว่าเป็นเสื้อแดง แต่เขาจำเป็นต้องไปอยู่ในกลุ่มนี้ บางคนก็เป็นมวลชนในสังกัด กอ.รมน.มา 20 กว่าปีแล้ว แต่เพิ่งมาเป็นเสื้อแดงทีหลัง ถ้าจะให้เขาลาออกก็เท่ากับสูญเสียรายได้และสถานะไปเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งแกนหลักในการระดมชาวบ้าน ซึ่งได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน คนเหล่านี้จำนวนมากก็บอกว่าตนเองเป็นเสื้อแดง แต่ก็จำเป็นต้องทำงานเมื่อถูกสั่งมา

แต่แน่นอนว่าในบรรดา 500,000 คนนี้ต้องมีคนที่เชื่ออยู่มากเช่นกัน คนกลุ่มนี้ขยันขันแข็งในการทำกิจกรรมต่างๆ ตอบสนองอุดมการณ์ของรัฐ และชักชวนคนที่พวกเขารู้จักให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ตอนนี้มีคนถูกระดมเข้าไปใหม่ค่อนข้างมาก เพราะตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่รอบกรุงเทพฯ แต่คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหม่ซึ่งมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามอุดมการณ์ของรัฐอยู่แล้ว

 

กลุ่มมวลชนที่เป็นเสื้อแดงมีการต่อรองหรือจัดการอย่างไร ในเมื่อกิจกรรมที่ กอ.รมน. หรือทหารกำลังทำอยู่มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นกลุ่มการเมืองที่ตนเองสนับสนุนอยู่

เขาตระหนักดีว่าเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ รัฐบาลสื่อสารอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงจะต้องถูกสกัดกั้นหมด พวกเขาไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองที่ตนเองต้องการได้ และบางครั้งก็ต้องร่วมในกิจกรรมตามกระแสสังคมด้วย ถ้าไม่ทำ ก็กลัวว่าจะตกเป็นเป้าสายตา เขารู้ว่าหูตาของรัฐในพื้นที่จะรายงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทราบเพื่อให้สกัดกั้น

กำนันและผู้ใหญ่บ้านในภาคอีสานจำนวนไม่น้อยโน้มเอียงไปทางคนเสื้อแดง แต่เขาก็ต้องทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายของส่วนกลาง เวลาที่มีข่าวการเมืองสำคัญในกรุงเทพฯ ที่อาจทำให้คนเสื้อแดงต้องการเคลื่อนไหว เช่น เวลาคุณยิ่งลักษณ์ต้องขึ้นศาล คนจำนวนมากอยากเดินทางมาให้กำลังใจเธอ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะต้องไปถามลูกบ้านที่เป็นแกนนำในชุมชนว่าจะไปกรุงเทพฯ ไหม หรือจะทำอะไรกันไหม ซึ่งมันก็คือการเตือนว่าอย่าทำนั่นแหละ แล้วก็รายงานให้ส่วนกลางรับรู้ ส่วนชาวบ้านก็รู้ว่าผู้ใหญ่บ้านคนไหนแค่ทำตามหน้าที่ ไม่ทำไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านคนไหนไม่ชอบเสื้อแดงคอยจับตาเขาอยู่

แต่ประเด็นนี้ไม่ควรมองอย่างหยุดนิ่งและตายตัว สำหรับคนในเครือข่ายของ กอ.รมน.ที่ไม่ได้เชื่อในอุดมการณ์ของรัฐ ในด้านหนึ่งพวกเขาก็ยินดีเวลาที่รัฐอัดฉีดงบประมาณลงไป กำนันและผู้ใหญ่บ้านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้รับงบพัฒนาที่สามารถบริหารได้โดยตรงเยอะมาก ฉะนั้นอะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เขาก็ยินดีจะทำให้ เขาเองมองว่าเงินที่อัดฉีดมาดีกว่าไม่มีเลย เป็นความจำเป็นที่เขาต้องอยู่ให้ได้ในภาวะแบบนี้

 

นอกจากการให้งบประมาณอัดฉีดแล้ว มีกลไกในการให้รางวัลกับมวลชนในรูปแบบอื่นอีกหรือไม่

บางกลุ่มมีเงินเดือนและตำแหน่งอย่างเป็นทางการให้ บางกลุ่มไม่ได้เงินเดือนแต่ได้อภิสิทธิ์บางอย่าง เช่น กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจะได้สิทธิพกพาอาวุธได้ กลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติก็ทำนองเดียวกัน หลายกลุ่มมีเครื่องแบบ ต้องเข้าใจว่าคนไทยชอบเครื่องแบบ เพราะทำให้มีอำนาจเหนือคนอื่นและสร้างความเกรงขามได้ การมีเครื่องแบบยังทำให้มีรายได้พิเศษด้วย เช่น เมื่อมีการจัดงานแต่งงานหรืองานเลี้ยงใหญ่ๆ ภายในพื้นที่ คนเหล่านี้ก็จะไปรับหน้าที่เป็น รปภ. เป็นต้น

นอกจากนี้ การอยู่ภายใต้สังกัด กอ.รมน. ยังได้คอนเน็คชันกับผู้มีอำนาจ คนก็หวังว่าเวลาเดือดร้อนก็สามารถใช้คอนเน็คชันแก้ปัญหาได้

 

มีการอนุญาตให้พกพาอาวุธแสดงว่ามีการฝึกอาวุธให้ด้วย

ใช่ค่ะ ทหารลงมาฝึกให้เอง

 

 

ในปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้อยู่แค่ในชนบท แต่ยังอยู่ในเขตพื้นที่เมืองด้วย กอ.รมน.มีบทบาทอย่างไรบ้างในการทำงานด้านมวลชนในเมือง

ในอดีตการจัดตั้งกลุ่มมวลชนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่เยอะ ในปัจจุบันการจัดตั้งมวลชนในเขตเมืองมีมากขึ้น เช่น ศูนย์กลางหรืออำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เองด้วย

กลุ่มที่ กอ.รมน.เข้าไปจัดตั้งก็หลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย ไม่ได้มีแค่ชาวบ้านธรรมดาหรือคนจน แต่มีนักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในส่วนของนักเรียนและนิสิตนักศึกษา แม้จะไม่ถึงกับเป็นมวลชนจัดตั้ง แต่เขาสามารถสั่งการผ่านกระทรวงศึกษาธิการได้ เช่น การระดมนักเรียนให้ไปฟังการอบรมที่ กอ.รมน.เป็นผู้จัด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นต้น

 

เทคโนโลยีมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการทำงานของ กอ.รมน.

กลไกรัฐยุคใหม่มีการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร อย่างเวลาติดต่อสั่งการมวลชนหรือรับส่งข่าวก็ใช้ Line เป็นหลัก ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามผ่านโซเชียลมีเดีย มีการจับตามองเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งส่วนที่เป็นทางการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญคอยสอดส่องเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์แล้วนำไปรายงาน และมีการอบรมมวลชนของ กอ.รมน.ให้ช่วยเป็นหูเป็นตาว่าเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กไหนมีความสุ่มเสี่ยง ก็ให้รายงานเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

งานมวลชนที่ กอ.รมน.ทำอยู่ซึ่งเป็นวิธีการสมัยสงครามเย็นยังมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนในบริบทการเมืองปัจจุบัน

มันคงไม่ได้ผล 100% อย่างที่เขาตั้งเป้าไว้ เป็นการยากมากที่มวลชน 500,000 คนที่เขาบอกว่าสามารถระดมได้จะเชื่อตามเขาทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีการแบบนี้ไม่มีพลัง อย่างน้อยถ้าทำให้คนหนึ่งแสนคนสามารถเชื่อและลงมือปฏิบัติการในกิจกรรมที่เขาต้องการก็เป็นพลังที่สำคัญมากแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่พลังแบบนี้ถูกแสดงออก ไม่มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านได้เลย เพราะอย่าลืมว่ามันเป็นพลังที่มาพร้อมอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นเหมือนบรรทัดฐานทางการเมืองไปแล้วว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องยึดมั่นและสนับสนุน ในขณะที่คนคิดต่างมีต้นทุนในการแสดงออกที่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่โบราณมาก กองทัพคิดว่าวิธีการแบบนี้จะช่วยรักษาความสงบและสร้างสันติภาพให้กับสังคมไทยได้ แต่เราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าวิธีการแบบนี้ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของปัญหาเลย

 

ยังมีโจทย์อะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับกิจการพลเรือนของทหาร

เรื่องที่เกี่ยวกับมวลชนของ กอ.รมน.เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มที่ต้องทำความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องการจัดการพื้นที่ป่าก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าผู้นำกองทัพในอดีตบางคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจป่าไม้ จึงน่าสนใจว่า การที่ทหารเข้าไปจัดการพื้นที่ป่าจะส่งผลประโยชน์ต่อคนในกองทัพโดยตรงหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ดิฉันมีข้อจำกัดเยอะเกินกว่าจะทำได้ แต่ถ้าใครสนใจจะลองค้นดูก็ได้

นอกจากนี้ ดิฉันอยากให้มีคนศึกษาบทบาทของ กอ.รมน.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเอง และเริ่มมาก่อนที่ทหารจะขยายแขนขาของ กอ.รมน. เพื่อเข้ามาควบคุมส่วนกลางเสียอีก อันนี้ก็เกินกำลังความสามารถของดิฉันที่จะทำ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save