fbpx
จำไว้ จะได้ไม่ลืมกัน : 'ยากันลืม' คู่มือเตือนความจำสำหรับทุกคน

จำไว้ จะได้ไม่ลืมกัน : ‘ยากันลืม’ คู่มือเตือนความจำสำหรับทุกคน

โชคดีที่คุณได้เห็นโพสต์นี้ ก่อนที่คุณจะเป็นภาวะสมองเสื่อม

—————————————————–

คุณเป็นคนชอบถามอะไรซ้ำๆ หรือเปล่า?
คุณยังอายุไม่เยอะใช่ไหม?
คุณไม่ออกกำลังกาย?

รู้หรือเปล่าคุณมีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อม!

—————————————————–

ภาวะสมองเสื่อมมาไวกว่าที่คุณคิด

ให้คู่มือ “ยากันลืม” ช่วยสังเกต ป้องกัน และชะลอ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ไม่ให้เกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรัก

จำไว้ให้ดี แล้วเราจะได้ไม่ลืมกัน

 

 

ชื่อยา : ยากันลืม

ชนิดของยา : คู่มือรักษาความจำดีๆ สำหรับทุกเพศทุกวัย

สรรพคุณ : ช่วยกระตุ้นการสังเกตอาการสมองเสื่อม เพิ่มภูมิคุ้มกันกันลืมด้วยการฝึกสมอง

 

 

โน้ตของแม่บนตู้เย็น

โพสต์-อิทหลากสีของเพื่อนบนจอคอม

เสียงแจ้งเตือนจากมือถือของหัวหน้า

ทุกคนกำลังสมองเสื่อมกันหมดเลยเหรอ!?

อาการ ‘ขี้ลืม’ ต่างกับ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ยังไง?

 

‘ขี้ลืม’ คือ ภาวะการลืมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย เป็นภาวะที่เราจำอะไรไม่ได้ เช่น จำชื่อคนที่เคยรู้จักมานานไม่ได้ หรือจำไม่ได้ว่าตนเองวางสิ่งของไว้ตรงไหน มักเป็นเรื่องในปัจจุบัน และเป็นความจำในระยะสั้น

อาการหลงลืมเรื่องในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง เช่น ขับรถเลยที่หมาย ลืมโทรศัพท์มือถือ ลืมชื่อคนที่รู้จัก อาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะสมองเสื่อมเสมอไป อาการดังกล่าวอาจเป็นเพียง ‘สมองเสื่อมเทียม’ หรือการหลงลืมชั่วครู่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการขาดสมาธิ ลักษณะเช่นนี้อาจเกิดการหลงลืมเพียงแค่ 5 นาทีจนถึงมากกว่า 1 ชั่วโมง และหลังจากนั้นเมื่อมีสมาธิมากขึ้น มีเวลาไตร่ตรอง ก็จะจำสิ่งเหล่านั้นได้

‘ภาวะสมองเสื่อม’ มีความรุนแรงกว่าอาการ ‘ขี้ลืม’ มาก และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่าที่คุณคิด

 

 

แค่จำผิด ชีวิตก็เปลี่ยน

 

ภาวะสมองเสื่อม มีผลทั้งต่อชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างในชีวิตประจำวัน เช่น เริ่มแต่งตัวให้ตนเองไม่ได้เหมือนปกติ หาเตารีดไม่เจอเพราะดันไปเก็บในตู้เย็น จำทางกลับบ้านไม่ได้ซะงั้นทั้งที่อยู่มาหลายปี

มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบด้านทรัพย์สิน เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บวกลบคูณหารไม่ได้เหมือนก่อน เกิดความเสียหายด้านการเงิน หรือบางทีก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ซะงั้น เช่น การใช้ข้าวของผิดที่ผิดทาง วางหม้อต้มน้ำไฟฟ้าบนเตาแก๊ส จนไฟไหม้

ภาวะสมองเสื่อมยังส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวรวมถึงผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลด้วย การดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10,000-20,000 บาท เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต เลยทีเดียว

 

 

เสื่อมแล้ว…เสื่อมเลย

 

‘ภาวะสมองเสื่อม’ หากมีอาการเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะยับยั้งและรักษาให้หายเป็นปกติมีน้อยมาก แต่ไม่ต้องกังวลปัจจุบันมีหลายแนวทางในการป้องกันภาวะนี้ที่ค่อนข้างได้ผลและมีงานวิชาการรองรับ หากเริ่มเรียนรู้และเตรียมการป้องกันก่อนเริ่มมีอาการจะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี
รู้แบบนี้แล้ว มาลองทำความรู้จักกับ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ กันให้ดีขึ้นดีกว่า

 

 

‘ภาวะสมองเสื่อม’ คืออะไร?

 

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) คือ ภาวะที่การทำงานของสมองด้านใดด้านหนึ่งเริ่มถดถอยลงไป เช่น ด้านความจำ ด้านภาษา ด้านการประมวลผล และด้านสมาธิ โดยเริ่มจากการสูญเสียเซลล์สมองส่วนหนึ่ง แล้วลุกลามไปยังสมองอีกส่วนหนึ่งอย่างช้าๆ บางครั้งใช้เวลานานกว่าสิบปี เมื่อเวลาผ่านไปความผิดปกติจะชัดเจนขึ้น จนผู้อยู่รอบข้างเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทีละน้อย

ภาวะสมองเสื่อมมีการเสื่อมของความจำ เป็นอาการเด่น ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจและการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งรบกวนการดำเนินชีวิต การทำงาน การเข้าสังคม และความสัมพันธ์

 

 

ภาวะสมองเสื่อม vs. โรคอัลไซเมอร์

 

ภาวะสมองเสื่อมไม่ถือเป็นโรค แต่ภาวะนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด ‘โรคอัลไซเมอร์’ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับการเสื่อมของสมองรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้มากถึงร้อยละ 60-80 โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นพร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นเสมอไป แต่สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปและยังเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ด้วย

อัลไซเมอร์ มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง หรือเกิดได้จากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้สารสื่อประสาทที่ช่วยในการจดจำมีปริมาณลดลง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมักมีปัญหาความจำสั้น บางรายมีอาการเล่าเรื่องซ้ำๆ พูดหรือตั้งคำถามซ้ำๆ

 

 

ใครๆ ก็สมองเสื่อมได้ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ

 

ความทรงจำของเราจะดีหรือไม่ สมองของเราจะแข็งแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ใช่เพียง ‘อายุ’ เท่านั้น คุณเองก็มีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน หากไม่ดูแลให้ดี

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยสมองเสื่อม เกือบ 50 ล้านคน และจะเพิ่มเป็นสองเท่า (82 ล้านคน) และสามเท่า (152 ล้านคน) ใน ปี 2573 และ ปี 2593 ตามลำดับ ภาวะสมองเสื่อม พบได้ทุกประเทศทั่วโลก มากกว่าครึ่งของผู้ป่วย (ร้อยละ 60) อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

และคาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ใน ปี 2593 ปัจจุบันโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากกว่าปีละ 604 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : Mental health of older adults, WHO

 

 

สมองเสื่อมเกิดจากอะไร?

 

• อายุที่เพิ่มขึ้น

ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่ง ‘อายุ’ ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุเท่านั้น

ปกติเซลล์สมองมีโอกาสเสื่อมลงได้เมื่อคนเรามีอายุ 40 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับที่อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มสึกหรอไปตามสภาพ และจะปรากฏอาการเด่นชัดในช่วงหลังอายุ 65 ปี

‘ภาวะสมองเสื่อมตามวัย’ เกิดจากอายุที่มากขึ้น พร้อมกับมีโรคหลายชนิดที่ลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของสมองเข้ามาเป็นสาเหตุร่วม เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรือแตกจากโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน มีเนื้องอกในสมอง การขาดสารอาหารบำรุงสมองจำพวกวิตามินบี 1 และ บี 12

ในไทยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ร้อยละ 11.4 ในขณะที่โอกาสและความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าทันที เมื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป

• สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

• การที่เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจนทำให้การทำงานของสมองโดยรวมเสื่อมลง

• มีภาวะเลือดคั่งหรือมีเนื้องอกในสมอง หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน

• การละเลยการบริหารหรือออกกำลังสมอง

• อยู่ในภาวะอ้วนและมีกิจกรรมทางกายน้อย

เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้โดยเฉพาะในคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุด้วย

 

 

ข่าวดี!! ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะสมองเสื่อม

 

ความเข้าใจว่าภาวะความจำเสื่อม ความจำถดถอย และขี้หลงขี้ลืม เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนทุกคนเมื่อแก่ตัวลง เป็นความเข้าใจผิด! สมองของเราไม่ได้เสื่อมสภาพไปตามอายุเสมอไปหากมีการดูแลบริหารสมองอยู่เป็นประจำ การหมั่นทำกิจกรรมที่สร้างเซลล์สมองให้เติบโต พยายามเข้าสังคมพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ สามารถช่วยเสริมสร้างและยืดอายุสมองได้

 

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวคุณเองมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

 

ไม่ต้องกลัว เรามีวิธีสังเกตง่ายๆ ให้คุณที่นี่!

 

 

ข้อสังเกตที่ 1

 

เริ่มหลงลืม จำสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำไม่ได้ ลืมกระทั่งสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นประจำ และสิ่งที่เพิ่งทำไปไม่นาน

ขั้นต้นหากสังเกตจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่มักปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ หรือหากเป็น
การหลงลืมของผู้สูงอายุก็อาจไม่มีใครสนใจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

 

ข้อสังเกตที่ 2

 

มีภาวะสมองจะมีสภาพทางอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มักพูดซ้ำหรือถามซ้ำอยู่บ่อยครั้ง หลงลืม เริ่มลืมชื่อหรือลืมสมาชิกในครอบครัว

 

 

ข้อสังเกตที่ 3

 

เก็บข้าวของในบ้านผิดที่ผิดทาง เริ่มแต่งตัวให้ตนเองไม่ได้เหมือนปกติและจำทางกลับบ้านไม่ได้ อาการเช่นนี้ขอให้สันนิษฐานไว้ได้เลยว่าอาจเกิดภาวะสมองเสื่อมเข้าแล้ว

 

 

 

 

 

อาการเตือนภาวะสมองเสื่อม 10 ประการ

 

1. สูญเสียความจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น

2. ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยไม่ได้เหมือนเดิมหรือทำได้แต่ก็ยากลำบาก

3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่ายๆ ใช้คำผิดความหมาย

4. สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวัน เวลา บอกที่อยู่ตนเองไม่ได้

5. มีการตัดสินใจอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปิดพัดลมแรงทั้งที่อากาศเย็นมาก

6. มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บวกลบคูณหารไม่ได้เหมือนก่อ

7. เก็บสิ่งของผิดที่ผิดทาง เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาในโถน้ำตาล

8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่ายภายในเวลาไม่นาน

9. บุคลิกภาพเดิมเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคนช่างสงสัย หรือหวาดกลัวง่ายกว่าเดิมมา

10. ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต เลือกที่จะนั่งหรือนอนทั้งวัน ไม่อยากพบเจอผู้คน

 

 

โดยทั่วไปภาวะสมองเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง จนถึงระดับรุนแรง ซึ่งในแต่ละระดับผู้ป่วยจะมีพัฒนาการของอาการจากน้อยไปหามาก ดังนี้

ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อ

ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ใด ไม่สามารถจำชื่อสถานที่ที่คุ้นเคยได้ ไม่ค่อยมีสมาธิ

เหลือเพียงความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับอดีตที่ยังดีอยู่ เริ่มมีความบกพร่องในการทำกิจกรรมต่างๆ และการใช้ชีวิตในสังคม แต่ยังสามารถใช้ช่วยเหลือตัวเองได้ และยังมีการตัดสินใจที่ค่อนข้างดี

ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระดับปานกลาง

ในระยะนี้ความจำจะเสื่อมลงมากขึ้น มีความบกพร่องในเรื่องความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เช่น ความสามารถในการคำนวณ การกะระยะทาง ไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดได้ทั้งที่เคยทำได้มาก่อน ทำอาหารที่เคยทำไม่ได้ ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว

ช่วงท้ายระยะนี้อาจมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน ดังนั้นการปล่อยให้ผู้มีอาการเหล่านี้อยู่ตามลำพังอาจเป็นอันตราย จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง

ผู้ป่วยจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย สูญเสียความจำอย่างรุนแรง จำญาติพี่น้องไม่ได้ หรือแม้แต่ตนเองก็อาจจำไม่ได้ด้วย มักเดินหลงทางในบ้านตนเอง มีความผิดปกติต่างๆ เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวช้า เดินช้า และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

ถึงแม้ว่าภาวะสมองเสื่อมจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่ภาวะนี้มักจะเกิดกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ค่อนข้างมาก ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไรโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

พึงระลึกไว้ว่า อาการหลงลืม พูดจาซ้ำไปซ้ำมา หรือดื้อด้านเอาแต่ใจ ไม่ใช่นิสัยปกติของผู้สูงอายุเสมอไป คนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

หากพบว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเกิดอาการแปลกไปจากเดิมจนผิดสังเกตในเรื่องความจำและพฤติกรรมแต่ละวัน ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะนอกเหนือจากอาการอาจพัฒนารุนแรงมากขึ้นแล้ว หากมีภาวะความผิดปกติทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในภายหลัง อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือมีอาการโรคซึมเศร้าตามมาจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

 

 

ภาวะสมองเสื่อมรักษาได้?

 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะสมองเสื่อมตามวัยที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง แต่มีเพียงการใช้ยาเพื่อชะลออาการเสื่อมของสมองในระดับเล็กน้อยและระดับปานกลางไม่ให้เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระดับรุนแรงเท่านั้น

ส่วนภาวะสมองเสื่อมที่พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยซึ่งเกิดจากการขาดวิตามิน ฮอร์โมนและโรคภัยต่างๆ อาจสามารถให้ยาเพื่อบรรเทาอาการลงได้บ้าง แต่ก็จะขึ้นอยู่กับกรณีและระดับความรุนแรงของอาการด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการจากภาวะสมองเสื่อมอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือการรักษาโดยไม่ใช้ยา และการรักษาโดยใช้ยา

 

 

เตือนความจำแแบบไม่ต้องใช้ย

 

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ดูแลและบุคคลในครอบครัวร่วมกันสร้างสัมพันธ์ที่ดี ให้ความรู้ถึงภาวะสมองเสื่อมเพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้มีอาการ แนะนำการจัดสภาพแวดล้อมภายในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้มีอาการปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา เพราะเมื่อทุกคนมีความเข้าใจมากพอแล้วโอกาสที่ผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้งหรือถูกส่งตัวไปอยู่ในสถานอภิบาลคนชราอย่างโดดเดี่ยวก็จะลดน้อยลง

 

 

ใช้ยาเตือนความจำ


มียาที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้อาการของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ดีขึ้น แต่ล้วนเป็นยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางสมองเพื่อให้ผู้มีอาการสามารถหวนกลับมาดูแลตนเองได้มากที่สุด แต่ต้องใช้ยาเหล่านี้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงตามมาหลังการใช้ได้ และอาจมีการใช้ยาเพื่อระงับอาการที่แสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลโดยแพทย์ที่จะให้ยาโดยพิจารณาจากลักษณะและความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น

 

 

อาหารเสริมความจำดีจริงเหรอ?

 

ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการป้องกันภาวะสมองเสื่อมด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อมากมาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีราคาสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบแปะก๊วย (Gingko Biloba) ยาลดไขมันกลุ่ม Statin ฮอร์โมน และวิตามินเสริมอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันรักษาภาวะสมองเสื่อมแต่อย่างใด และยังอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น

• มีงานศึกษาวิจัยพบว่า การใช้ยาหรือวิตามิน เช่น โปรเคน (Procaine) ฮอร์โมนทดแทนในเพศหญิง (Hormone Replacement Therapy) และวิตามินอีขนาด มากกว่าหรือเท่ากับ 400 หน่วยต่อวัน ไม่มีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ แต่มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างชัดเจน

• ยังไม่พบหลักฐานงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าการใช้ฮอร์โมน DHEA หรือ ดีไฮโดรอีพิแอนโดร สเตอโรน ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAID กรดไขมันโอเมก้า 3 และโฟลิก (ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะโฮโมซีสเตอีน สูง เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แพทย์จะแนะนำให้กินโฟลิก) จะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

 

 

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อม

 

ควรหมั่นใช้ความคิดไปในทิศทางที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพสมอง ดูแลเรื่องอาหารการกิน ดื่มน้ำสะอาดให้มาก หมั่นเข้าสังคมเพื่อการเจรจาพูดคุยแทนการจับเจ่าอยู่กับบ้านซึ่งมีผลให้สมองเกิดความเฉื่อย รวมไปถึงควรเล่นกีฬาหรือเข้าร่วมกิจกรรมผ่อนคลายไปกับดนตรี หากมีการร้องเพลงและเต้นรำร่วมด้วยก็จะช่วยได้มาก ทั้งยังได้ความกระฉับกระเฉงของร่างกายกลับมาเป็นของแถมอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่ามีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มการทำงานของสมองในผู้สูงอายุและชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเราทุกคนควรเริ่มดูแลตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด

 

 

การออกกำลังกายมีส่วนช่วยอย่างมากในการชะลอภาวะสมองเสื่อม และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้มากอีกด้วย ควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้งสำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้ควรเลือกการเต้นแอโรบิค กายบริหาร ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานหรือเดินเร็ว

นอกจากนี้การทำงานบ้านเอง พรวนดินปลูกต้นไม้ทำสวนในรั้วบ้าน และใช้วิธีเดินแทนการนั่งรถในระยะใกล้ยังถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีได้อีกด้วย จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิคนานประมาณ 30 นาทีและให้มีความถี่ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย

 

 

ฝึกหัดทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดและเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองด้านต่างๆ เช่น บวกลบคูณหารตัวเลข หรือวาดรูปเพื่อกระตุ้นให้ใช้ความคิด ฝึกความจำ ความคิด สมาธิ และการแก้ไขปัญหาด้วยการเล่นเกมลับสมองที่ไม่ยากเกินไปจนทำให้เกิดความเครียดตามมา

ควรเล่นเกมเพื่อให้เกิดการฝึกใช้ความคิดและผ่อนคลาย สามารถฝึกเล่นคนเดียวหรือเล่น ร่วมกันเป็นกลุ่มก็ได้ และยังสามารถเล่นเกมได้ ทั้งบนกระดาษ บนคอมพิวเตอร์และบนแท็บเลต

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการฝึกการทำงานของสมองด้วยเกมที่ต้องใช้ความคิดเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ดี

ถ้าไม่เล่นเกม อาจลองฝึกสรุปใจความสำคัญของข่าวสารต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังจากโทรทัศน์และวิทยุ รวมทั้งฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ฝึกเล่นดนตรี เต้นรำ ลองเขียนหนังสือหรือแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ทั้งหมดนี้ช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นสมองได้ดีและทำได้ไม่ยาก

 

 

เกมเชื่อมสมอง 2 ซีก

 

เกมนี้เป็นเกมง่ายๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ เพียงแค่ 2 มือ และสมอง ก็ประลองความจำได้ ฝึกความใส่ใจ การประสานสมองทั้ง 2 ซีก และเชื่อมโยงสมองกับร่างกาย ตัวอย่าง 3 ท่าง่ายๆ ได้แก่ ท่าโป้งก้อย ท่าจีบแอล และท่าจับจมูกจับหู

นอกจากนี้สามารถหาวิธีฝึกสมอง 2 ซีก ได้จากเว็บไซต์หมอชาวบ้าน

 

 

เกมเชื่อมเซลล์สมอง

 

การฝึกลำดับเหตุการณ์ สามารถช่วยฝึกการวางแผน มิติสัมพัทธ์ของสมองได้

 

 

สร้างพฤติกรรมประจำวันให้ห่างไกลภาวะสมองเสื่อม

 

ดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยวิธีการดูแลตนเอง ดังนี้

1. เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง เน้นกินปลาทะเล ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี วิตามินอีและกรดโฟลิกสูง เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และผักใบเขียว

2. ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่อ้วน

3. ไม่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือกินยาใดๆ โดยไม่มีความจำเป็น เพราะอาจมีอันตรายต่อสมองได

4. หมั่นเข้าสังคมเพื่อการพบปะเจรจาพูดคุย

5. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากมีโรคประจำตัวต้องติดตามการรักษาเป็นระยะและปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

6. ระมัดระวังอุบัติเหตุโดยเฉพาะการลื่นล้มที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสมองโดยตรง

7. หมั่นทำกิจกรรมเสริมสร้างเซลล์สมอง

 

 

จำคู่มือนี้ไว้ให้ดี เราจะได้ไม่ลืมคนที่เรารัก และคนที่รักเรา

ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อ่านจบ อย่าลืมแชร์ “ยากันลืม” ให้กับคนที่เรารู้จักกันด้วยนะ

ขอให้ทุกคนความจำแข็งแรง

 

 

ที่มา : ยากันลืม คู่มือป้องกันในผู้สูงอายุ จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย

ยังมีอีกหลายเกมให้ลองเล่นเพื่อบริหารสมอง สามารถเข้าไปเลือกฝึกสมองได้ใน ยากันลืม คู่มือป้องกันในผู้สูงอายุ ได้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save