fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (4) : สงครามฝิ่นและข้อมูล

หลักประกันสุขภาพที่รัก (4) : สงครามฝิ่นและข้อมูล

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“หมอเขียนตัวเลขอะไรก็ได้ให้มันเต็มๆ”

ผู้ตรวจราชการจากกระทรวงฯ คงจะรำคาญผู้เขียนเต็มที ที่พยายามอธิบายให้ฟังว่าตัวชี้วัดงานด้านยาเสพติดที่ส่วนกลางส่งมาให้กรอกนั้นใช้ไม่ได้ จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่สูงเกือบครึ่ง บางอำเภอ เช่น แม่สรวย เป็นพื้นที่สูงครึ่งหนึ่ง อำเภอแม่ฟ้าหลวงเป็นพื้นที่สูงทั้งหมด และประชาชนเป็นชาวเขาทั้งหมด

ตัวชี้วัดที่นักวิชาการกรุงเทพมหานครคิดมานั้นอาจจะใช้ได้ในบางเขตของกรุงเทพมหานคร แต่ใช้ที่นี่ไม่ได้แน่ๆ

นั่นคือปี 2003

คือปีสงครามยาเสพติด หนึ่งในหลักไมล์สำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตาสว่างกับระบบราชการ และมั่นใจว่าประเทศของเรากำลังพัฒนาบนข้อมูลที่ผิดตั้งแต่แรก อย่างน้อยที่สุดก็หนึ่งกระทรวง และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่

ยุทธภูมิบ้านหินแตกเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ปี 1982 เมื่อรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน และนานาชาติกดดันรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ว่าไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการค้าฝิ่นและเฮโรอีนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ บางกระแสข่าวถึงกับกล่าวหาทางการไทยว่าให้ความร่วมมือกับขุนส่า ราชายาเสพติดเวลานั้น

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ส่งหน่วยปฏิบัติการลับเข้าสู่เทือกเขาอันเป็นที่ตั้งของบ้านหินแตก กองกำลังเดินเท้าหลายเดือน หลบหลีกข้าศึกศัตรูกว่าจะถึงเป้าหมาย คือเขตบ้านเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน

วันนี้ขับรถขึ้นเขาไป 70 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมงก็ถึง

ถนนไปบ้านหินแตก ปี1983
ถนนไปบ้านหินแตก ปี1983

เมื่อนึกถึงว่าภรรยาในอนาคตและผมขึ้นไปเที่ยวไร่ฝิ่นเมื่อกลางปี 1983 ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมไร่ฝิ่นยังอยู่ และใครปลูก ไหนว่าบ้านหินแตกนั้นแตกแล้ว ขุนส่าหรือจางซีฟู ผู้นำขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่ก็หนีเข้าเขตพม่าไปแล้ว แล้วใครยังปลูกฝิ่นมากมายให้พวกเราได้ถ่ายรูปดอกฝิ่นแสนสวยงาม

ทั้งนี้ยังไม่นับว่าตลอดปี 1983 ที่พวกเราเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ มีอยู่หลายครั้งที่เฮลิคอปเตอร์ส่งทหารบาดเจ็บแขนขาขาดมาร่อนลงที่สนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านสันโค้ง ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างโรงพยาบาล จากนั้นขนคนเจ็บขึ้นรถต่อมาโรงพยาบาล เวลานั้นโรงพยาบาลมีแพทย์ศัลยกรรมทั่วไป 3 คน แพทย์ศัลยกรรมกระดูก 2 คน จำได้ว่าทุกคนเข้าห้องผ่าตัดหมด และเป็นโอกาสทองของแพทย์ฝึกหัดที่จะได้เข้าช่วย

อันที่จริงผู้เขียนจำรายละเอียดของผู้ป่วยไม่ได้มากนัก ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นคือใครบ้าง เราเพิ่งไปเป็นแพทย์ฝึกหัดได้ไม่นาน ห้องผ่าตัดชุลมุน วิสัญญีพยาบาลชุลมุน มีเลือดทั่วๆ ไป และขาที่ถูกตัดทิ้งเหนือเข่าจำนวนหนึ่ง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครรบกับใคร เมื่อถามก็ตอบว่าบ้านหินแตก แต่ที่จริงยุทธภูมิบ้านหินแตกจบไปหนึ่งปีแล้ว

ชวนให้คิดถึงกระแสข่าวอีกเรื่องที่ดังพอๆ กันกับเรื่องทางการไทยให้การสนับสนุนการค้าฝิ่นนั่นคือซีไอเอต่างหากที่สนับสนุนการค้าเฮโรอีน อันนี้สร้างหนังได้หลายเรื่อง

วันนี้ หากใครได้ขับรถขึ้นไปเที่ยวบ้านหินแตก จะได้พบค่ายขุนส่าที่อนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวชม ได้เห็นห้องนอน โรงครัว ห้องกินข้าว ห้องประชุมวางแผน โรงพยาบาล และลานฝึกทหารของขุนส่า มีแผนผังหมู่บ้านและกิจกรรมที่หมู่บ้านจัดแสดงให้ดู ผู้ชายทำอะไร และผู้หญิงทำอะไร ซึ่งควรจะเดาได้ว่าผู้หญิงคือกองกำลังสำคัญที่อยู่ข้างหลังขบวนการกู้ชาติรัฐฉาน

มีสะเก็ดระเบิดวันหินแตกปี 1982 ตั้งอยู่ด้วย ขนาดใหญ่เชียว

แต่ที่ชอบที่สุดคือมีห้องหนึ่งที่ใช้บอร์ดขนาดใหญ่ติดรูปถ่ายขนาดโปสการ์ดจำนวนเป็นพันๆ ใบละลานตา แสดงให้เห็นว่าขุนส่ามีแขกมาเยือนมากมายเพียงใด ทั้งที่มีหน้าตาเป็นเอเชีย ผิวดำ ผมดำ เหมือนคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งบ้านเรา (เวลานั้นคำศัพท์ ‘อุษาคเนย์’ น่าจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย) และฝรั่งผิวขาวผมทองก็มากมาย อันหลังนี้สีท่าจะเป็นซีไอเอแน่ๆ

ผู้เขียนเดินดูภาพถ่ายเหล่านี้เมื่อหลายปีก่อน ไม่ทราบว่าวันนี้เก็บขึ้นหรือยัง เดินดูไปทีละภาพๆ เพื่อหาคนที่เราอาจจะรู้จัก หมายถึงบุคคลที่คนไทยน่าจะรู้จัก

ที่อดขำไม่ได้คือพบว่าผู้มาเยือนบางกลุ่มใส่สูทและแว่นดำ เหมือนในหนังเจ้าพ่อจากฮ่องกงเช่นนั้นเลยทีเดียว ยิ่งมีกำลังใจเดินหาไปทีละรูปๆ เผื่อพบโจวเหวินฟะ หลิวเต๋อหัว หรือเลสลี่ จาง แต่ก็ไม่พบ

เมื่อมาไล่อ่านข้อมูลต่างๆ ภายหลัง จึงพบว่าขุนส่าเพียงอพยพครอบครัวและครัวเรือนต่างๆ ออกจากเขตแดนไทยเข้าไปในเขตแดนพม่าเท่านั้น แต่ยังคงทำการค้ายาเสพติดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเพื่อหาทุนให้ขบวนการกู้ชาติรัฐฉาน หรือ Shan United Army (SUA) ต่อไป ก่อนที่จะยอมวางอาวุธต่อรัฐบาลพม่าในปี 1996 และถึงแก่กรรมที่ย่างกุ้งเมื่อปี 2007

เมื่อพูดถึงขุนส่า คนไทยส่วนหนึ่งแม้กระทั่งคนเชียงรายเอง มักเอาไปปะปนกับกองทัพทหารจีนคณะชาติก๊กมินตั๋งที่เข้ามาตั้งฐานทัพอยู่บนดอยแม่สลองตั้งแต่ปี 1961 ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กองพล 93 ของนายพลต้วนซีเหมิน และได้ช่วยเหลือทางการไทยในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผาตั้ง เขตชายแดนลาว ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพญาเสือโคร่งที่สวยงามมากไปแล้ว

อันที่จริงการรบกับคอมมิวนิสต์ช่วงท้ายๆ ยังคงมีอยู่ระหว่างปี 1981-83 ดังนั้นทหารที่บาดเจ็บเข้ามาในโรงพยาบาลเวลานั้นจึงน่าจะเป็นการรบคอมมิวนิสต์เสียมากกว่า

ดอยแม่สลอง ปี 1983
ดอยแม่สลอง ปี 1983

“ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็อาศัยฝิ่นเป็นปัจจัยในการทำสงครามเช่นเดียวกับฝ่ายก๊กมินตั๋ง โดยใช้ปริมาณการผลิตฝิ่นในรัฐฉาน ซึ่งขยายพื้นที่เข้าไปยังดินแดน 3 ประเทศ ไทย-ลาว-พม่า” (พ.อ.กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร. (2548). เสธ.เฉิน โหมว ซิว มังกรดอยแห่งกองทัพก๊กมินตั๋ง. เชียงใหม่: สยามรัตนพริ้นติ้ง. อ้างถึง WcCoy, Alfred. (1972). The Politics of Heroin in Southeast Asia. New York: Harper&Row. อันเป็นหนังสือเกี่ยวกับยาเสพติดที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง)

“แต่ที่ต้องทำ เพราะความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงกองทัพ และหาเงินมาใช้ในกองทัพต่อสู้คอมมิวนิสต์ พร้อมๆ กับเสริมสร้างกองทัพเพื่อความสมดุลกับชนกลุ่มน้อย เช่น ขุนส่าและโลซิงฮันที่เติบใหญ่” ทั้งนี้ทางกองพล 93 อ้างว่าได้เลิกค้าฝิ่นตั้งแต่ปี 1971 แล้ว หลังเหตุการณ์สงครามฝิ่นที่บ้านกว๊านกับขุนส่าเมื่อปี 1967 (อ้างจากบทสัมภาษณ์เสธ. เฉินในหนังสือเล่มเดียวกัน) ความบาดหมางระหว่างขบวนการกู้ชาติจีนและขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่ยืดยาวมาจนเป็นที่เลื่องลือ รวมทั้งความพยายามที่จะลอบสังหารกันในเขตจังหวัดเชียงใหม่ในอีกหลายปีต่อมา

ทุกวันนี้ ขับรถจากบ้านเทอดไทไปกินหมั่นโถวที่คุ้มนายพลต้วน ใช้เวลา 30 นาที

จะเห็นว่าทั้งสามฝ่ายคือกองพล 93 ขุนส่า และทางการไทยเวลานั้น ต่างมีอุดมการณ์ร่วมกับซีไอเอในการรบกับคอมมิวนิสต์ตั้งแต่แรก ยังไม่นับว่าคอมมิวนิสต์ก็ใช้เงินทุนจากการค้าฝิ่นด้วย

ค้ากันทั้งภูมิภาค

สงครามยาเสพติดในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นพร้อมๆ กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2003 โดยมีเป้าหมายที่ยาบ้ามากกว่าเฮโรอีน กระทรวงสาธารณสุขเข้ารับงานเต็มตัว แล้วจ่ายงานมาที่ส่วนภูมิภาคพร้อมนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ซึ่งอ้างงานวิจัยว่าได้ผล

แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับงานดีๆ หลายเรื่องในบ้านเรา ที่เมื่อใดดำเนินงานด้วยระบบราชการก็เป็นที่เชื่อได้ว่ามีการสร้างผลงานตบตากันเสียมาก งานรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดระหว่างสงครามยาเสพติดปี 2003 ก็มิใช่ข้อยกเว้น กลายเป็นฐานข้อมูลตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อถือที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบริหารงานกันด้วยตัวเลขอย่างจริงจังตั้งแต่แรก

“ผมขอตัวเลขคนไทยที่มีบัตรประชาชนไปแล้วสองครั้ง -ไม่ได้”

คุณหมอสงวน หรือนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พูดกับผมในที่ประชุมหลักประกันสุขภาพครั้งหนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราช

“ขอจำนวนข้าราชการที่มีอยู่ในปัจจุบันไปก็ไม่สามารถสรุปได้ ไม่มีใครตอบได้ว่าบ้านเรามีบัตรประชาชนกี่ใบ และมีข้าราชการกี่คน

นั่นคือตอนเริ่มต้นระบบหลักประกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save