fbpx
กวีในวิทยาศาสตร์

กวีในวิทยาศาสตร์

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

วิทยาศาสตร์และบทกวีดูคล้ายสองสิ่งที่ไม่อาจมาบรรจบกันได้ ทว่าในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์ทั้งลับและไม่ลับกับบทกวีมายาวนาน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 สนธิสัญญาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ถูกร่างขึ้นด้วยภาษากวี เพราะบทกวีได้รับการพิเคราะห์ว่าเป็นภาษาของปัญญาชนและอนาคต  ในศตวรรษที่ 18 ลูอิส แคร์รอล ได้ใช้การทดลองและตรรกะทางคณิตศาสตร์เพื่อสร้างฉันทลักษณ์ของบทกวีชื่อว่า The Square Stanza วิทยาศาสตร์และกวียังกระชับชิดในอีกหลายมิติและมีบทกวีบางบทที่ผสมผสานสองสิ่งนี้ไว้อย่างน่าจดจำ

กาลิเลโอไม่สวมเสื้อครุย

 

ทุกคนรู้จักกาลิเลโอในฐานะนักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์ซึ่งบอกเราว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่น้อยคนจะรู้ว่ากาลิเลโอมีผลงานบทกวี ขณะที่ทุกผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาแทบจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในทันทีที่เขียนเสร็จ แต่ผลงานบทกวีภาษาอิตาเลียนกลับพำนักในบ้านเกิดอยู่นานแสนนาน

Contro il portar la toga (Against the Wearing the Gown) บทกวีเสียดสีความยาวกว่า 301 บรรทัดของเขาซึ่งแต่งเมื่อปี 1590 ได้รับการแปลครั้งแรกเมื่อปี 1993  กวีบทนี้ถ่ายทอดความไม่พอใจในมหาวิทยาลัยปีซาที่เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ โดยเฉพาะกฎที่สั่งให้อาจารย์ต้องสวมเสื้อครุยรุ่ยร่ายตลอดเวลาขณะที่เงินเดือนหยุดนิ่งและระบบหลายอย่างไม่ได้เรื่อง

บทกวีวิพากษ์ความเบาหวิวเหลือทนในสถาบันการศึกษานี้เป็นที่รู้จักน้อยมากแม้แต่ในอิตาลี ทว่าเป็นผลงานที่เผยให้เห็นเชาว์ไวไหวพริบ การล้อเลียนและความแสบสันต์ที่กาลิเลโอทำได้ดี เช่นวรรคตอนหนึ่งที่เขียนว่า

 

แม้แต่สัตว์ยังรู้

มันอยู่กลางแจ้งอย่างเปลือยเปล่า

ทั้งยามร้อนผะผ่าวและหนาวเหน็บ

ไม่เคยว้าวุ่นเรื่องแต่งตัวหรือกลัดกลุ้มเรื่องไร้ที่พักเก็บมาคิด

ท่านพึงพิจารณาปุจฉาตามผมอรรถกถานี้

แม้ท่านเมินมึน ผมจะทำให้ท่านสารภาพ

ว่าสิ่งสุดแสนดีในโลกล้วนเปิดเปลือย

เมื่อครั้งโบราณ ยามสรวงสวรรค์และธรรมชาติคือยอดมิตรของมนุษย์

ไร้ความมุ่งร้ายหรือหลอกลวง

ทั้งผู้เยาว์วัยและหย่อนยานล้วนไม่มีใครนุ่งกางเกงใน

ประวัติศาสตร์ยืนยันเช่นนั้น, ทว่าทุกสิ่งล้วนงดงาม

 

เมื่อเห็นความขบถในบทกวีตั้งแต่กาลิเลโอยังเป็นอาจารย์หนุ่มผู้ยังไม่มีชื่อชั้นยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์แล้ว หลายคนคงไม่แปลกใจที่ต่อมาเขาจะกลายเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่และกล้าเรียกศาสนจักรว่า “นักตีความ” กาลิเลโอโต้แย้งแนวคิดของศาสนจักรที่ยึดมั่นว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพว่า “ไม่มีใครสามารถอ้างได้อย่างแน่นอนว่านักตีความทุกคนได้รับการดลใจจากพระเจ้า” ซึ่งศาสตร์การตีความ (Hermeneutics) ไม่ว่าเรื่องใดๆ นับเป็นประเด็นถกเถียงคลาสสิกของศิลปศาสตร์มาตลอดกาล

 

สวรรค์สูญหาย สปีชีส์เริ่มต้น

 

กาลิเลโอได้พบกับจอห์น มิลตัน กวีหนุ่ม ซึ่งต่อมากลายเป็นกวีเอกของชาวอังกฤษ เมื่อมิลตันเยือนฟลอเรนซ์ในปี 1638 ขณะนั้นกาลิเลโอได้ชราลง ตาบอด และถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านด้วยคำสั่งจากศาลศาสนา

นักประวัติศาสตร์วรรณคดีมากมายสันนิษฐานว่า การพบกันครั้งนี้น่าจะมีส่วนทำให้มิลตันได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของกาลิเลโอมาใช้ในการเขียน Paradise Lost มหากาพย์บทกวีเกี่ยวกับคริสตศาสนาอันเอกอุ

มิลตันเป็นผู้อุตสาหะในการแสวงหาความจริงเช่นเดียวกับกาลิเลโอ เขาวิพากษ์คริสตศาสนานิกายโปรเตสท์แตนท์หลายด้านโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นพื้นฐาน มิลตันปฏิเสธหลักคำสอนเรื่องพรหมลิขิตของคาลวิน แต่สนับสนุนเรื่องเจตจำนงเสรี และใช้พระคัมภีร์โต้แย้งว่าจิตวิญญาณมนุษย์ตายได้ ฯลฯ การโต้แย้งอธิบายเหตุผลและตรรกะต่างๆ ของมิลตันทำอย่างเป็นระบบ อ้างอิงได้ เรียบง่ายแต่มีพลัง เฉกเช่นนักวิทยาศาสตร์ทำหากต้องกล่าวสนับสนุนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง

มิลตันส่งต่อแรงบันดาลผลัดต่อมาแก่นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญนั่นคือ ชาร์ลส์ ดาวิน เมื่อดาร์วินเดินทางไปยังอเมริกาใต้เพื่อทำผลงานวิจัยซึ่งยังทำไม่เสร็จและต่อมาจะกลายเป็นผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ The Origin of Species นั้น เขาเดินทางร่วมกับบทกวีของมิลตันอย่าง Paradise Lost โดยพกติดตัวไปด้วยตลอดเวลาและทุกหนทุกแห่ง

บทกวีมีส่วนทำให้ดาร์วินนำเสนอความคิดทางวิทยาศาสตร์ของได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 20 ปีหลังจากการเดินทางกับมิลตัน บทเปิดของ The Origin of Species ได้เริ่มต้นด้วยเรื่องสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช เช่นเดียวกับบทเปิด Paradise Lost และดาร์วินยังได้ใคร่ครวญถึงความอ่อนไหวทางศีลธรรมเช่นความเจ็บปวดและความตายของผู้ไม่อาจรอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เช่นเดียวกับที่มิลตันพยายามตอบคำถามไว้ใน Paradise Lost ว่าหากพระเจ้ารักทุกสรรพสิ่งและทรงพลานุภาพ เหตุใดจึงอนุญาตให้ปีศาจดำรงอยู่

ผลงานของมิลตันและดาวินนั้นราวกับจะส่งไม้ต่อกัน เมื่อสวรรค์ล่มลงแล้ว สปีชีส์พลันเริ่มต้น ผลงานหนึ่งดำเนินต่อไปด้วยบทกวีที่พรรณาจนไปจบลงที่การต่อสู้ของปิศาจลูซิเฟอร์ที่พ่ายแพ้แก่พระเจ้า อีกผลงานหนึ่งกล่าวถึงทฤษฎีวิวัฒนาการและรากฐานของสิ่งมีชีวิต

 

บทกวีแด่ฮอว์คิง

 

ปี 2558 องค์กรผู้จัดงานวันกวีนิพนธ์แห่งชาติของอังกฤษ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปทำวันแต่ละวันให้ “ราวกับคุณเป็นกวี” เช่นรักราวกับคุณเป็นกวี พูดราวกับคุณเป็นกวี คิดราวกับคุณเป็นกวี ฯลฯ และบันทึกสิ่งที่ได้จากการอ่านบทกวี

หนึ่งในสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจในกิจกรรมนี้คือภาพยนตร์สั้นที่มี สตีเฟน ฮอว์คิง และศิลปินนักแสดงชั้นนำมากมายมาอ่านบทกวี

ฮอว์คิงซึ่งป่วยและมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วในขณะนั้น อ่านบทกวี Relativity ซึ่งซารา​ โฮ ผู้เขียนหนังสือบทกวี Loop of Jade ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดบทกวี the T. S. Eliot prize. แต่งโดยอุทิศให้ฮอว์คิงเอง ฮอว์คิงอ่านกวีบทนี้ด้วยเสียงที่ใช้เครื่องสังเคราะห์ขยายเสียงจากมัดกล้ามเนื้อที่ยังเหลืออยู่น้อยนิดของเขา แต่บทกวีนั้นยังคงทรงพลัง

 

เมื่อเราถูกปลุกด้วยฝีแปรงแห่งความตระหนกในความมืด

รูม่านตาควานหารูปร่างของสิ่งที่เรารู้จัก

อนุภาคของแสงหลุดร่วงจากรอยแยกคล้ายทิวแถวรถเกรย์ฮาวน์

เผยลวงตาของแสงเงาซีดซึมซอกซอนไปตามเส้นสายของผนังห้องแล็บ

ไร้อนุภาคอีกต่อไป ด้วยอำนาจแห่งคลื่นไม่มีสิ่งใดไม่จากจร

เอกภพบรรจุการเปลี่ยนแปลงความถี่และความยาวคลื่นในมุมมองของ Dopplers ฟังดูห่างไกลดุจเสียงร้องของนางไซเรนยามค่ำ

ไฟเปิดปิดติดดับบนขบวนรถไฟโหยหวนเป็นผู้อธิบายที่ดีว่าเพราะเหตุใดการขยายของเวลานั้นคล้ายยามบ่ายแสนสมบูรณ์แบบ

พยากรณ์แห่งหลุมดำนำทุกการเดินทางขนานพลันบรรจบ ทั้งเส้นขอบฟ้าเหยียดตรงและแสงดาวมาค้อมโค้งผสาน  ต้านทานไม่ได้

หากเราสามารถคิดเรื่องเหล่านี้ ดวงตาของเราอาจไม่ต้องปรับตัวต่อความมืด

 

ซารา โฮ หยิบยกจักรวาลของทฤษฎีสัมพัทธภาพกับกลศาสตร์ควอนตัม มารวบตรึงไว้ในบทกวีสั้นๆ เพียงบทเดียวและยังผสมผสานความตระหนกในความมืด ความไม่แน่นอน และนัยถึงความหวาดกลัวในชีวิตหลังความตายซึ่งเป็นธรรมชาติและแก่นแกนของความเป็นมนุษย์เข้าไป อันเป็นบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรรมที่พึงทำเช่นนั้น หรืออย่างน้อยก็ถือว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำบทบาทหน้าที่นี้ได้พรักพร้อมกว่าศาสตร์อื่น ทั้งอุปมาอุปมัยและศิลปะแห่งถ้อยคำมากมายให้เลือกใช้

หลายถ้อยคำในบทกวีนี้ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องราวก่อนหน้าอยู่บ้าง เช่น การเอ่ยถึงรถไฟย่อมหมายถึงการทดลองทางความคิดของไอน์สไตน์ ซึ่งเปรียบเทียบการวัดความเร็วของแสงหน้ารถไฟกับรถไฟซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไอน์สไตน์มักหยิบยกมาอธิบายให้ผู้คนเข้าใจหลักสัมพัทธภาพ

หรือเส้นขอบฟ้าซึ่งหมายถึง “เส้นขอบฟ้าของเหตุการณ์” ซึ่งฮอว์คิงกล่าวว่า ตามทฤษฎีควอนตัมแม้ข้อมูลทั้งหลายจะผ่านหลุมดำแต่จะไม่หายไปเพียงแต่ “ถูกแปรเปลี่ยนอย่างยิ่งยวด” และถูกเก็บเอาไว้ในเส้นขอบฟ้าของเหตุการณ์

ในบทกวีนี้ยังเน้นย้ำถึงความมืดซึ่งฮอว์คิงกล่าวถึงไว้หลายครั้งทั้งความมืดของหลุมดำที่ฮอว์คิงกล่าวว่า “มันไม่ได้ดำขนาดนั้น” และความมืดหลังความตาย ฮอว์คิงเชื่อว่าสมองเหมือนคอมพิวเตอร์ จะหยุดทำงานต่อเมื่อส่วนประกอบหลายส่วนพัง และไม่มีสวรรค์หรือชีวิตหลังความตาย สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้การไม่ได้เป็นแค่นิทานปรัมปราของคนกลัวความมืดเท่านั้น

 

ความพ้องกันอย่างน่าแปลกใจของกาลิเลโอ มิลตัน และฮอว์คิง คือในบั้นปลายท้ายชีวิต กาลิเลโอเสียชีวิตขณะที่ตาบอดและถูกกักบริเวณในบ้าน ภายหลังมิลตันตาบอดเช่นกันและใช้เวลาในช่วงนั้นสร้างสรรค์ผลงานชั้นดีจนได้ชื่อว่าเป็นรองแค่เชกสเปียร์เท่านั้น ส่วนฮอว์คิงถูกกักขังอยู่ในร่างกายที่อ่อนแรง

หากมองในแง่ร้ายดูราวกับพวกเขาถูกลงโทษอย่างลึกลับ ทว่าสิ่งที่ประจักษ์และเห็นผลจริง คือสิ่งที่พวกเขาทำสร้างคุณูปการแก่มนุษยชาติมากมาย และไม่มีสิ่งใดขวางกั้นความคิดเสรีหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ศักยภาพและความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่ส่งผ่านมาทั้งทางบทกวีและวิทยาศาสตร์ของพวกเขาได้ เฉกเช่นไม่มีสิ่งใดขวางกั้นการเดินทางของแสงได้นั่นเอง

 

แหล่งข้อมูล

[1] https://www.newstatesman.com/culture/poetry/2016/06/love-affair-between-science-and-poetry

[2] http://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0014585815572766

[3]Galileo Galilei: a Poet against Academia, in English for the First Time

by Giovanni F. Bignami (Italian Space Agency (ASI) and University of Pavia, Italy)

[4] The Time Domain in Surface and Structural Dynamics edited by G.J Long, F. Grandjean

[5] Culture and Power: Tuscany and Its Universities 1537-1609 By Jonathan Davies

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save