fbpx
เปลื้อง วรรณศรี ผู้มีภาษาเป็นอาวุธ

เปลื้อง วรรณศรี ผู้มีภาษาเป็นอาวุธ

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

“สิ่งเหล่านี้ ที่โดม โหมจิตข้า

ให้แกร่งกล้า เดือนปี ไม่มีหวั่น

ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์

ก็เหมือนขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม”

แม้บทกวี “โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม” ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี 2495 จะเป็นกลอนที่คุ้นหูชาวธรรมศาสตร์ และผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างดี แต่อาจมีหลายคนไม่ทราบว่าใครคือผู้เขียน กระนั้น ถึงทราบชื่อผู้เขียน ก็ยังคงฉงนได้ว่า เขาเป็นใคร และเขาทำอะไรไว้บ้าง

เขาคนนั้นคือ เปลื้อง วรรณศรี ชายที่กำลังถูกกลืนหายในสายธารของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผู้เป็นนักสู้ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และนักอุดมคติคนหนึ่งที่สังคมไทยเคยมี แต่น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง และโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมในสังคมไทย ไม่เห็นคุณค่าและมองข้ามคนอย่างเขาไป

ถ้าเราเห็นคุณค่าของเปลื้อง วรรณศรี เราก็จะเห็นคุณค่าของคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย เห็นศักยภาพของคนปลายอ้อปลายแขม ที่แม้ไม่ได้มาจากครอบครัวที่พรั่งพร้อมในทุกด้าน แต่ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าพอที่จะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้

เปลื้อง วรรณศรี (28 ตุลาคม 2465 - 28 มิถุนายน 2539) รูปถ่ายตอนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2500
เปลื้อง วรรณศรี (28 ตุลาคม 2465 – 28 มิถุนายน 2539) รูปถ่ายตอนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2500

นักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้หาญกล้า

เปลื้องเกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2465 ที่จังหวัดสุรินทร์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสระโบราณ และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร จากนั้นจึงมาเรียนต่อชั้นเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในรุ่นที่ 5 ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่น เช่น มารุต บุนนาค  ธานินทร์ กรัยวิเชียร

เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกทหารยึดครองหลังจากการปราบกบฏแมนฮัตตันในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 เปลื้องได้เข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา “11 ตุลาคม 2494” ทวงคืนมหาวิทยาลัยจากทหารได้สำเร็จ

นักโทษ กบฏสันติภาพ

นอกจากการทวงคืนมหาวิทยาลัยแล้ว เปลื้องยังได้เข้าร่วมองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย เพื่อรณรงค์ต่อสู้คัดค้านการเข้าร่วมสนธิสัญญาทางทหารของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีสงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่รักษาเอกราช เป็นประชาธิปไตย มีอิสรภาพ และดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิผู้ยากไร้ในภาคอีสาน

เขาถูกจับกุมพร้อมปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ฯลฯ จำนวนมาก ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏสันติภาพ” หลังจากที่เขาลงไปทำข่าวช่วยเหลือชาวนาที่ภาคใต้ นอกจากเขาแล้ว ผู้ต้องคดีในคราวนี้ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, สุภา ศิริมานนท์, อุทธรณ์ พลกุล, สมัคร บุราวาส, ปาล พนมยงค์, สุพจน์ ด่านตระกูล, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, นเรศ นโรปกรณ์ เป็นต้น

ในระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เป็นเวลา 3 ปี (2495-2498) เปลื้องป่วยเป็นวัณโรคอยู่ตลอด เพราะเป็นโรคประจำตัวมาแต่เดิม มีอาการไอโขลกๆ ทั้งวันทั้งคืน นเรศ นโรปกรณ์ เล่าว่า คืนหนึ่งเปลื้องอาการหนักมากจนไอเป็นเลือดมาครึ่งกระโถน เขาในฐานะญาติผู้น้องได้รับมอบหมายให้ไปนอนเฝ้า แต่ต้องแปลกใจเมื่อห้องขังของเปลื้องเต็มไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน กับสมุดแบบฝึกหัด  ในคืนนั้นแทนที่เปลื้องจะนอนซมดังคนป่วย เขากลับอ่านหนังสือตามปกติ แม้พยาธิจะเบียดเบียนบีฑา แต่เขาก็ยังมีจิตใจที่เข้มแข็งแจ่มใส

เปลื้องยังพูดกับนเรศด้วยความเป็นห่วงว่า “เมื่ออายุยังน้อยอย่าทอดทิ้งการศึกษาเป็นอันขาด โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ จะต้องให้แม่นสักภาษาหนึ่ง เพราะภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่ง ก็คือโลกอีกโลกหนึ่งนั่นเอง

พออาการของเขาหนักขึ้น ก็ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคปอดนนทบุรี เปลื้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน ครั้นถึงเวลาพิจารณาคดีของศาลก็จะมีรถมารับเขาไป เมื่อถึงศาลก็จะได้รับสิทธิพิเศษในนอนบนเก้าอี้ผ้าใบเพราะปัญหาสุขภาพ สุธี ภูวพันธ์ เปรยว่า ถ้าเปลื้องไม่ต้องคดีนี้ คงจะตายแน่ เพราะไม่มีค่าหมอค่ายารักษาตัว

ที่สุด เปลื้อง ผู้บริสุทธิ์ ได้รับการปล่อยตัวจากศาลชั้นต้น เมื่อเดือนมีนาคม 2498

เปลื้อง และเพื่อนผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพ หน้าห้องพิจารณาคดี ศาลอาญา
เปลื้อง และเพื่อนผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพ หน้าห้องพิจารณาคดี ศาลอาญา

นักหนังสือพิมพ์ ผู้มุ่งมั่น

ในช่วงที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เปลื้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีรายได้จากการเขียนบทความ เรื่องสั้น และบทกวี ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ โดยใช้นามปากกา เช่น “นายสาง” “มณีน้อย โชติรส” และ “ศิริราษฎร์”

เมื่อพ้นคดีกบฏสันติภาพ เปลื้องเป็นบรรณาธิการออกหนังสือพิมพ์ ปิตุภูมิ รายปักษ์ ด้วยเงินสนับสนุนจากเพื่อนพ้อง ปิตุภูมิ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ชูแนวความคิดและแนวทางการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย สันติภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

เปลื้องเห็นว่าหนังสือพิมพ์เป็นอาหารของใจ เกื้อกูลให้เห็นความจริงและเหตุผลอันเป็นอาหารของสมอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ เนื่องจากจะต้องใช้ความคิดไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์อันเป็นสื่อที่สื่อข่าวสาร ให้ความรู้แก่ผู้อ่าน เสนอข้อคิดและคติแก่ผู้อ่าน และให้ความอภิรมย์ในชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เปลื้องมีอุดมคติเป็นหลักในชีวิตว่า “ความอภิรมย์ของชีวิตที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ความศรัทธาต่ออุดมการณ์อันสูงส่ง และความเชื่อมั่นต่ออนาคต

เปลื้องบนหอโทรทัศน์ที่ยูนนาน เมื่อปี 2532
เปลื้องบนหอโทรทัศน์ที่ยูนนาน เมื่อปี 2532

นักการเมือง ผู้แทนคนสุรินทร์

เมื่อมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 เปลื้องลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเกิด เพื่อผลักดันความคิดและอุดมคติของเขาให้เป็นจริงขึ้นได้ผ่านการเป็นผู้แทนราษฎร เขาหาเสียงด้วยการปราศรัยพร้อมให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ ปาฐกถากลางแปลง และสนทนาย่อย

สุรชัย จันทิมาธร ย้อนความทรงจำว่า เมื่อเขาอายุ 9 ขวบ ได้ฟังเปลื้องแสดงปาฐกถาเรื่อง “ทางรอดของไทย” ในการหาเสียงเลือกตั้ง ณ ลานดินแห้งๆ กว้างๆ ซึ่งล้อมรอบด้วยทุ่งนา

เรื่องหนึ่งที่เขาจำได้ชัดคือ เมื่อถึงเวลาซักถามแล้วมีคนแหย่ว่า ที่เปลื้องเขียนเลขผู้สมัครหาเสียงบนผืนผ้าแดงนั้นแฝงความหมายอะไร เปลื้องใช้ไหวพริบโดยหยิบธนบัตร 100 บาทขึ้นมา แล้วพูดว่า “ถ้าคอมมิวนิสต์เป็นสีแดง นี่ก็เป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน” โดยสุธี ภูวพันธ์ เพื่อนผู้สมัคร ส.ส. พร้อมกับเปลื้องอธิบายว่า ที่จริงไม่ได้มีความหมายอะไร ที่ใช้ผ้าแดงเขียนด้วยตัวหนังสือสีขาว เพราะต้องการให้เด่นชัดเท่านั้น

ส่วนเนื้อหาของการปาฐกถาดังกล่าว เปลื้องกล่าวถึงปัญหาของประชาคมโลก ปัญหาของสังคมไทย และภาระหน้าที่ของประชาชนไทยในการฝ่าปัญหานั้น ซึ่งเขาแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า “ประชาชนทั้งหลายต้องการสันติภาพ … สงครามมิได้นำอะไรมา นอกจากความพินาศทั้งทรัพย์สินและชีวิต นำความยากจนข้นแค้นและความเจ็บไข้ได้ป่วยมาสู่” กล่าวคือเห็นว่าจุดยืนของไทยนั้นควรเน้นที่ “สันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความเป็นเอกราชของประเทศทั้งหลาย” และสำหรับในสังคมไทย เขาเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งมีค่า ซึ่งต้องมีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย ก่อนที่จะปิดท้ายว่าภาระหน้าที่ของประชาชน ก็คือการต่อสู้และยืนหยัดเพื่อการดำเนินนโยบายที่เป็นกลางของไทย พร้อมกับการเรียกร้องให้รัฐประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน

ฮุย รังคกูลนุวัฒน์ เล่าบรรยากาศการหาเสียงของเปลื้องไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อถึงเวลาที่เปลื้องขึ้นบันไดเวทีหาเสียง บรรยากาศอันวุ่นวายก็เริ่มเงียบ ผู้คนต่างรอฟัง แสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวและเรื่องราวของเปลื้อง ถึงขนาดเปรียบกันว่า ระหว่างที่เปลื้องปราศรัยอยู่ เงียบจนกระทั่งได้ยินเสียงมดเดินเลยทีเดียว เพราะเขาเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้น้ำเสียง และพูดอย่างมีเนื้อหาสาระ เข้มข้น ชวนฟัง

แต่การเลือกตั้งคราวนี้ เปลื้องไม่ได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากถูกโกง โดยสุธี ภูวพันธ์ เพื่อนผู้สมัคร เล่าว่า คะแนนเสียงของเขาทั้งสองนำมาในทุกอำเภอ จนเหลือเพียงอำเภอศีขรภูมิแห่งเดียว ซึ่งมาในรุ่งเช้า ปรากฏว่าคะแนนของคู่แข่งจากพรรคเสรีมนังคศิลากลับมาอย่างท่วมท้น จนเขาทั้งคู่พ่ายแพ้ไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เชิญ พจน์ สารสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลพยายามแสดงความโปร่งใส เลิกใช้อิทธิพลเบียดเบียนการลงคะแนนของประชาชน เปลื้องจึงลงเลือกตั้งอีกครั้งในปลายปีนั้น ก่อนจะได้รับเลือกจากประชาชนเป็นผู้แทนราษฎร

บทบาทในสภาผู้แทนราษฎรของเปลื้อง คือการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  มีบทบาทเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังปรากฏการตั้งกระทู้ถามของเปลื้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเรื่อง “สุรินทร์แล้งและประชาชนอพยพมาก” นอกจากนี้เขายังมีส่วนในการเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มีศักดิ์ศรีมากขึ้น และให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

อนึ่ง ภรรยาของเขาเล่าว่า ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปลื้องยังได้คอยเยี่ยมเยียนดูแลให้กำลังใจแม่ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลโรคเรื้อนอีกด้วย

บัตรประจำตัว ส.ส. ของเปลื้อง
บัตรประจำตัว ส.ส. ของเปลื้อง
เอกสารขอตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรของเปลื้อง
เอกสารขอตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรของเปลื้อง

 

นักโทษ คดีคอมมิวนิสต์

ขณะเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ ราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2501 เปลื้องกับเพื่อน ส.ส. จำนวน 15 คน ได้รับเชิญจากสหภาพโซเวียตให้ไปทัศนาจร ซึ่งนอกจากประเทศนั้นแล้ว ยังได้ไปอินเดีย เยอรมันตะวันออก เชคโกสโลวาเกีย โดยที่ยังมีการเชิญให้เข้าประเทศจีนต่อด้วย มี ส.ส. 8 คน รวมถึงเปลื้อง ที่เดินทางเข้าประเทศจีนคอมมิวนิสต์

ครั้นใกล้ถึงกำหนดกลับ เกิดการรัฐประหารอีกครั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และดำเนินการปกครองประเทศโดยอาศัยอำนาจที่ยึดมาอย่างปราศจากความชอบธรรม ดังประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อเปลื้องเดินทางกลับประเทศไทยจึงถูกจับกุมในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐในการเล่นงานศัตรูของตน  เขาถูกจับพร้อมกับผู้คนอีกจำนวนมากในประเทศไทยทั้งอดีต ส.ส. นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ จนมีผู้กล่าวว่า “การจับกุมผู้ต้องหาคราวปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 นั้นกว้างขวางและเป็นจำนวนมาก จนห้องขังในบริเวณกรมตำรวจไม่พอ ต้องนำไปฝากขังตามโรงพักต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่ง”

เปลื้องติดคุกอยู่ในเรือนจำลาดยาวคราวนี้เป็นเวลา 8 ปี

สุธี ภูวพันธ์ และ เปลื้อง ในห้องขัง
สุธี ภูวพันธ์ และ เปลื้อง ในห้องขัง

นักปฏิวัติสังคม

เมื่อได้รับอิสรภาพออกจากคุกลาดยาวแล้ว ทหารที่เป็นเผด็จการอย่างเลวร้ายยังคงครองเมืองอยู่ เปลื้องเป็นผู้หนึ่งที่ถูกติดตามคุกคามจากอำนาจมืดจนเสี่ยงอันตราย ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะอยู่ในเมืองได้อย่างปลอดภัย จึงต้องหลบหนีเข้าป่าดังเช่นผู้คนจำนวนมากที่สถานการณ์บีบให้ไปทางนั้น โดยเขามีชื่อในป่าว่า “สหายจำรัส”

โดยที่ก่อนหน้านี้ เปลื้องเคยแสดงปณิธานไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะต้องเป็นนักปฏิวัติสังคมให้สังคมของเรามีความเสมอภาค มีหลักประกัน มีเอกราช มีประชาธิปไตย ให้ทุกคนได้อยู่ดีกินดี และให้โลกสงบสุข นี้เท่านั้นเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

สุรชัย จันทิมาธร เล่าว่าได้พบสหายจำรัสในป่า ในท่าทางอมโรคอย่างที่ทราบกัน สวมเสื้อหนาวหนาเตอะ เพราะอยู่ในช่วงฤดูหนาวของตอนเหนือของประเทศลาว เมื่อทราบว่ามาจากสุรินทร์เช่นกัน เปลื้องซึ่งยังคงสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ถามสุรชัยว่า “ทางบ้านเราเป็นอย่างไร กบ เขียด ปู ปลา ยังมีอยู่มากไหม?”

หลังจากนั้น เปลื้องเดินทางไกลไปรักษาตัวที่คุนหมิง เมืองชายแดนทางใต้ของจีน เพราะปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นมาตั้งแต่เดิม

เปลื้องหน้าบ้านพักที่คุนหมิง
เปลื้องหน้าบ้านพักที่คุนหมิง

ผู้จบชีพในแผ่นดินอื่น

ต่อมาเปลื้องได้ขอลี้ภัยการเมืองและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน เช่นเดียวกับผู้ถูกกระทำทางการเมืองไทยจำนวนไม่น้อย เช่น ปรีดี พนมยงค์  กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นต้น

เขามิได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ได้ใช้โอกาสในประเทศจีน อ่านหนังสือทุกอย่างที่หาได้ ทำบันทึก เขียนและแปลหนังสือ ศึกษาค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา ปัญหาระหว่างประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งยังติดตามสถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอด ไม่ว่าจะฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ยังได้ส่งงานเขียน บทกวี มาลงพิมพ์ในประเทศด้วยใจรักและผูกพันอยู่เสมอ

วงจันทร์ ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับเปลื้องตั้งแต่ปี 2512 เคยเล่าให้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฟังว่า แม้เปลื้องจะอยู่เมืองจีนเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่คุ้นกับอาหารพื้นถิ่น ต้องให้ภรรยาทำอาหารไทยให้รับประทานอยู่เสมอ

จนถึงปี 2539 เปลื้องวางแผนเตรียมเดินทางกลับประเทศไทย แต่แล้วเวลาในชีวิตก็ไม่ให้โอกาสเขาอีก เปลื้องจบชีวิตลงที่โรงพยาบาลในนครคุนหมิง ด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ศกนั้น ด้วยวัย 74 ปี

วงจันทร์และเปลื้อง หน้าโรงแรมห่านฟ้า ปี 2531
วงจันทร์และเปลื้อง หน้าโรงแรมห่านฟ้า ปี 2531
พิธีรดน้ำศพเปลื้อง 10 กรกฎาคม 2539
พิธีรดน้ำศพเปลื้อง 10 กรกฎาคม 2539

ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นในทางวรรณกรรม

แม้ชนชั้นปกครองไทยจะมองข้ามคนอย่างเปลื้องไป แต่องค์กรสาธารณกุศลที่ตามีแววอย่างมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป (ซึ่งตั้งตามนามปากกาคู่ของพระยาอนุมานราชธน (ยง) และพระสารประเสริฐ (ตรี) ผู้ประพันธ์ กามนิต อันโด่งดัง) ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเปลื้อง ไม่นานก่อนเขาเสียชีวิต มูลนิธิได้มอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นในทางวรรณกรรมให้เขาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเผอิญตรงกับวันคล้ายวันถึงแก่อสัญกรรมของ ปรีดี พนมยงค์ บุคคลที่เขาเคารพอย่างสูงในฐานะผู้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยไทยและในฐานะผู้ประศาสน์การ

หลังจากนั้นในปี 2540-41 เมื่อวิทยากร เชียงกูล และคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำการแนะนำหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน บทกวีของเปลื้อง วรรณศรี ได้รับคัดเลือกเป็นเล่มหนึ่งในหมวดกวีนิพนธ์ด้วย โดยเนื้อหาแสดงแนวคิดสังคมนิยม ที่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เรียกร้องให้ผู้อ่านตระหนักและช่วยกันแก้ปัญหา ผ่านภาษาที่สวยงามและอ่านง่าย นอกจากนี้เปลื้องยังมีแนวคิดที่ตระหนักและสนับสนุนสิทธิสตรีด้วย ดังมีกลอนบทหนึ่งว่า

“มือสตรี นั้นหนา มหาศาล

แม้สมาน สามัคคี อย่างมีหลัก

มือที่เหวี่ยง เสียงที่ส่ง คงพิทักษ์

สิทธิศักดิ์ สตรีผอง ผ่องภิญโญ”

ถึงเปลื้องจะตายจากไปกว่าสองทศวรรษ และชื่อเสียงเกียรติคุณค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่นิมิตดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ร่วมกับสโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์ ได้จัดให้มีการประกวดวรรณกรรม “เปลื้อง วรรณศรี” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2558 และมีการตีพิมพ์รวมงานเรื่องสั้นและบทกวีที่ผ่านการพิจารณาเป็นหนังสือเล่มแล้วด้วยอย่างต่อเนื่อง

วงจันทร์ ภรรยาของเปลื้อง ในห้องทำงานที่ดัดแปลงเป็นที่ไว้รูปและพวงหรีดหลังเสียชีวิต พวงหรีดด้านซ้ายเป็นของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นในทางวรรณกรรมให้เขาก่อนเสียชีวิตเพียงไม่นาน
วงจันทร์ ภรรยาของเปลื้อง ในห้องทำงานที่ดัดแปลงเป็นที่ไว้รูปและพวงหรีดหลังเสียชีวิต พวงหรีดด้านซ้ายเป็นของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นในทางวรรณกรรมให้เขาก่อนเสียชีวิตเพียงไม่นาน

ผู้มีภาษาเป็นอาวุธ

เปลื้องเป็นอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งนักสู้ นักเขียน กวี นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง นักปฏิวัติสังคม และผู้ลี้ภัยการเมือง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของเขาคือผู้ที่เป็นเลิศทั้งด้านงานเขียน และการพูด จนกล่าวได้ว่าเปลื้องใช้ภาษาเป็นอาวุธสำคัญของเขาในการเผยแพร่ความคิด อุดมคติ และผลักดันให้เป็นจริงขึ้นได้ในสังคมไทย แม้เขาตายจากไปแล้ว แต่งานเขียนที่พอเหลืออยู่บ้างก็ยังคงเป็นสื่อแทนตัวเขาได้อยู่เสมอ

น่าเสียดาย ที่สังคมไทยในเวลาที่เปลื้องมีชีวิตอยู่นั้น ประชาชนปราศจากสิทธิเสรีภาพ ขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคมไทยที่พวกเขาอาศัยอยู่ ตัวเปลื้องเองก็ถูกอำนาจอันป่าเถื่อนเบียดเบียนบีฑาจนไม่อาจใช้ชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่ปรารถนาเพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทย

เปลื้องเคยปราศรัยในการหาเสียงครั้งหนึ่งว่า “ความเป็นอยู่ของท่านและลูกหลานของท่านทุกวันนี้ จึงเท่ากับเป็นกระจกส่องวิถีทางอนาคต

แต่เปลื้องไม่มีโอกาสในสังคมอีกแล้ว ปัญหามีว่าพวกเราในปัจจุบันนี้มองกระจกแล้วเห็นวิถีทางอนาคตของสังคมไทยเป็นอย่างไร เราจะสร้างและทิ้งสังคมไทยแบบใดให้อนุชน เปลื้องหมดโอกาสไปแล้ว พวกเราที่ยังอยู่ต่างหากที่จะตอบได้ว่าเมืองไทยในอนาคตจะไปทางใด

เปลื้องที่สวนต้ากวน เมื่อปี 2525
เปลื้องที่สวนต้ากวน เมื่อปี 2525

บรรณานุกรม

  • เปลื้อง วรรณศรี กวี-นักคิดนักเขียน-นักสู้ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานรำลึก เปลื้อง วรรณศรี, 2540)
  • สุรชัย จันทิมาธร, “จาก “เปลื้อง วรรณศรี” ถึง “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์”,” ใน ไทยโพสต์ (10 กุมภาพันธ์ 2559)
  • สุลักษณ์ ศิวรักษ์, สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save