fbpx
หนทางแห่งคำอวยพร

หนทางแห่งคำอวยพร

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

 

1.

กรุงไคโรเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ฟ้าเปล่งสีฟ้าเข้ม ไร้หมอก พายุทะเลทรายสงบไปเมื่อกลางปี แต่ซากแห่งความโกลาหลวุ่นวายยังคงทิ้งร่องรอยไว้ทั่วมุมเมือง เสียงแตรรถดังถี่บนถนนใหญ่ ดูเหมือนไม่มีใครยอมใคร

ครึ่งเลนบนถนนกลายเป็นที่เลี้ยง “คอรูฟ” หรือ “แกะ” ตามแยกไฟแดงทหารอียิปต์ถืออาวุธปืนกลยาวเฝ้ารักษาสถานการณ์ด้วยความเคร่งขรึม

ตามกำแพงตึกเต็มไปด้วยสีสเปรย์พ่นภาษาอาหรับ และโปสเตอร์จำนวนมาก รูปภาพ พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหารหลายใบอยู่ในสภาพเอี่ยมอ่อง และอีกหลายใบอยู่ในสภาพขาดยุ่ย

ตั้งแต่กองทัพอียิปต์ตัดสินใจทำรัฐประหาร ใช้กระสุนจริงปราบปรามผู้ชุมนุมกลางกรุงไคโร เมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค. 2556 มีคนล้มตายกว่า 700 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 คน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เร่งช่วยเหลือด้วยการสั่งอพยพนักเรียนไทยที่เรียนอยู่ที่อียิปต์กว่า 1,300 คน กลับสู่มาตุภูมิ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

พอเข้าเดือน ต.ค. เหตุการณ์นองเลือดเริ่มคลี่คลาย คนหนุ่มสาวพันกว่าคนก็กลับไปศึกษาต่อในดินแดนฟาโรห์อีกครั้ง

 

 

สองเดือนหลังรัฐประหาร สถานการณ์การเมืองอียิปต์ยังไร้เสถียรภาพ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังคงชุมนุมประท้วงอยู่ทุกสัปดาห์ สัญลักษณ์ 4 นิ้ว หรือ R4BIA ยังคงเห็นได้ตามผนังกำแพงทั่วเมือง

ขณะที่กองทัพก็ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีห้า วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ยกเว้นวันศุกร์ที่เป็นวันละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์ กองทัพร่นเวลาประกาศเคอร์ฟิวตอนหนึ่งทุ่มถึงเที่ยงคืน ด้วยเกรงว่าหลังละหมาดเสร็จตอนบ่ายโมงแล้ว ผู้ชุมนุมจะประท้วงยืดเยื้อ

ในมุมเศรษฐกิจ จากเดิมที่อียิปต์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สร้างรายได้ปีละ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่พอรัฐประหารปุ๊บจีดีพีลดลงร้อยละ 30 ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศตะวันออกกลางมาเลี้ยงให้อยู่รอดไปวันๆ ยังหาวิธีสร้างรายได้เข้าประเทศตัวเองไม่ได้

ยังไม่ต้องนับถึงอัตราการว่างงาน สินค้าราคาแพงขึ้น ผลก็คือสถิติอาชญากรรมสูงขึ้น นักเรียนต่างชาติโดนจี้ปล้นอยู่เป็นประจำ

ทำไมอียิปต์เป็นที่นิยมของนักเรียนไทยในการมาศึกษาต่อทางด้านศาสนาอิสลาม และภาษาอาหรับ มีนักเรียนไทยมาอียิปต์ปีละประมาณ 500 คน

ดร.โอซามา อัลเฮ็บ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร บอกว่า ที่อียิปต์โดยเฉพาะอัล-อัซฮัร เป็นแหล่งอบรมด้านศาสนาอิสลามที่เน้นทางสายกลาง สอนให้นักศึกษาใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหาชีวิต สอนให้นักศึกษารู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ว่าสอดคล้องกับแบบแผนชีวิตตัวเองหรือไม่ และนักศึกษาจะมีส่วนกลับไปช่วยสร้างสันติสุขยังบ้านเกิด พร้อมทั้งดำรงชีวิตตามหลักศาสนาที่ถูกต้องได้ ที่สำคัญไม่ว่าการเมืองอียิปต์จะพัดพาไปสู่ขั้วไหน มหาวิทยาลัยจะยังมั่นคงไม่พัดไหลไปตามแรงขั้วทางการเมือง

 

 

2.

วัยรุ่นไทยนอกจากที่เรียน พวกเขาหาผัดกะเพรากินได้ที่ร้านอาหารไทยหนึ่งเดียวในย่านมาดีนะห์ตุลอัลนะห์ หมายถึง “เมืองแห่งชัยชนะ” เจ้าของร้านเป็นหญิงไทยชาวสกลนคร ที่แต่งงานและย้ายมาอยู่กับสามีชาวอียิปต์กว่า 8 ปีแล้ว

อิ่มผัดกะเพราไก่ไข่ดาวแล้ว นภัสสร นิยมเดชา หญิงไทยจากสงขลา ที่กำลังเรียนภาษาอาหรับอยู่ที่ไคโร ก็อาสาพานั่งแท็กซี่ตระเวนกรุงไคโร ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน

รถถังจอดคุมเชิงอยู่ทุกหัวมุมถนน เราออกจากย่านกิซ่ามุ่งหน้าไปย่านอาชิร หรือเขต 10 ของกรุงไคโร เธอบอกว่าเป็นย่านที่นักเรียนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด

เราใช้เวลาอยู่บนถนนเกือบชั่วโมง ทั้งที่ระยะทางไม่ถึง 10 กม. แต่เนื่องจากเป็นวันศุกร์ช่วงบ่าย นอกจากเจ้าถิ่นจะปิดถนนเปลี่ยนเป็นย่านตลาดรถมือสองแล้ว ยังเป็นวันที่ชาวอียิปต์ออกมาละหมาดใหญ่พร้อมกันในที่สาธารณะ

 

 

นภัสสรกับสามีกำลังเรียนปริญญาตรีด้านอูซูรุชดีน หรือด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ส่วนสามีเธอ-สุกรี สุระคำแหง กำลังเปิดติวปรับพื้นฐานภาษาอาหรับเล็กๆ ที่บ้านเช่าเพื่อสอนภาษาอาหรับเบื้องต้นให้กับรุ่นน้องนักเรียนไทยที่เพิ่งมาอียิปต์ใหม่ๆ

บ้านเช่าในไคโรที่ราคาถูกและใกล้มหาวิทยาลัยหาค่อนข้างยาก พวกเขาหาได้ถูกที่สุด เช่าเดือน 1,200 ปอนด์อียิปต์ หรือประมาณ 2,300 บาทต่อเดือน

 

 

เราออกจากย่านอาชิรไปต่อที่ตลาดข่าน แหล่งขายของเบ็ดเตล็ด ระหว่างทางคนขับแท็กซี่อธิบายว่า ตลาดข่านเป็นย่านของฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและคนฐานะดี มีความเชื่อว่าฝ่ายภราดรภาพมุสลิมในย่านรอบีอะห์ ที่อยู่คนละฝั่งกับแม่น้ำไนล์เป็นพวกมุสลิมหัวรุนแรง

ทางเดินในตรอกตลาดข่านขึ้นป้ายไวนิลรูป พล.อ.อัล-ซีซี ผู้นำรัฐประหารเด่นชัด ถัดเข้าไปข้างในมีอีกหลายแผงลอยที่ขายเสื้อยืดสกรีนรูปผู้นำรัฐประหารด้วย

ใกล้ตลาดข่านมีมัสยิดฮูเซน สถานที่เก็บศพของฮูเซน หลานศาสดา “นบีมูฮัมหมัด” ชาวไคโรหลายร้อยคนกำลังสวดมนต์ และอีกหลายคนยืนร้องไห้

 

 

ฮัมเสาะ หะสาเมาะ นักศึกษาด้านการศึกษาอิสลาม ม.อัล-อัซฮัร หนุ่มจากรือเสาะ จ.นราธิวาส พาผมเข้าไปด้านใน ไม่ใช่แค่ชาวไคโรเข้ามาระลึกถึงศาสดาของพวกเขาเท่านั้น สำหรับบางคนก็คล้ายเป็นบ้านไปในเวลาเดียวกัน ความที่มัสยิดโอ่โถง เย็นและเงียบ เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนอกจากการละหมาด พวกเขายังใช้เป็นที่พักหลับนอนชั่วคราว

หนุ่มรือเสาะบอกว่าวันที่กองทัพปราบปรามผู้ชุมนุมเดือน ก.ค. เขาพักอยู่ในเขตรอบาอะห์ และรู้มาก่อนคร่าวๆ ว่ากองทัพอียิปต์จะสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำหรืออย่างมากก็ใช้แก๊สน้ำตาเท่านั้น

“เช้าวันเกิดเหตุผมตื่นมาละหมาด ไม่ทันไรได้ยินเสียงปืนดังลั่นตามด้วยเสียงเฮลิคอปเตอร์บินว่อน เลยรีบออกไปดูที่ระเบียงห้องเห็นควันเต็มไปหมด เลยคุยกับเพื่อนว่าต้องย้ายออกจากเขตนี้ทันที”

ฮัมเสาะกับเพื่อนเดินออกไปที่ถนนใหญ่ เขาผงะกับทั้งรถถังและทหารกว่า 30 นาย ที่ในมือถือปืนอาก้า

“ผมไม่กล้ามองหน้าพวกเขา พยายามหาทางออกจากพื้นที่ ระหว่างรีบเดินผมเห็นเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ที่หน้าอกผู้ชายที่กำลังประท้วงจนสลบไป ผมกับเพื่อนวิ่งสุดชีวิตไปย่านฮายยู ซาแบะ ห่างไปประมาณ 5 กม. จนถึงบ้านเพื่อนอีกคนจึงรู้ว่าปลอดภัยแล้ว” ฮัมเสาะเล่านาทีหนีตาย

ผมใช้เวลาที่ไคโรค่อนข้างฉุกละหุก อยากอยู่นานกว่านี้ อยากบันทึกภาพนานกว่านี้ แต่สถานการณ์ฉุกเฉินและเงื่อนไขอันจำกัดจำเขี่ยต้องออกจากไคโรพร้อมคณะที่พามา

วันที่กลับไทย รถตู้วิ่งเข้าสนามบินนานาชาติไคโรก่อนเวลาเคอร์ฟิวอย่างฉิวเฉียด ฟ้าเริ่มค่ำแล้ว รถหุ้มเกราะติดตั้งปืนกลเบาจอดคุมเชิงปากทางเข้าสนามบิน

ระหว่างรอขึ้นเครื่องบิน สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า มีเด็กหนุ่มอียิปต์วัย 16 ปี ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินประท้วง

 

 

3.

ฝนฉ่ำอากาศชื้นชวนสูดหายใจลึกๆ บ้านของสุกรีรายล้อมด้วยต้นชมพู่สูงใหญ่กว่าสิบต้นที่กำลังออกดอกช่อน้อย เสียงน้ำตกคลองกลอยดังซ่ามาไกลๆ ตั้งใจฟังอีกหน่อยได้ยินเสียงลำธารที่ไหลผ่านหลังบ้านของเขา-บ้านคลองกลอย ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

เขากับนภัสสร-ภรรยา กลับจากไคโรมาเมื่อเดือน มี.ค. 2558 หลังทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน เธอตั้งครรภ์ที่ไคโรและคลอดที่ไคโร

นภัสสรเล่าว่าวันคลอด พอเธอเริ่มมีอาการน้ำเดิน และตอนนั้นก็อยู่คนเดียว เธอนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอง นั่งรอหมออยู่นานสองนาน พยาบาลก็มาบอกให้ไปขึ้นเตียง แถมยังให้เธอช่วยถือสายออกซิเจนด้วย

“พอเจ็บจนรอหมอไม่ไหว พยาบาลก็ชี้ไปที่เตียงที่มีขาหยั่ง สายตาเหมือนบอกว่าเราต้องช่วยเหลือตัวเอง โอเค แล้วเราก็เดินไปขึ้นขาหยั่งเอง คลอดเสร็จก็นั่งแท็กซี่กลับมาบ้านเช่า แล้วเปิดกูเกิลให้เป็นที่ปรึกษาช่วยกันเลี้ยงลูกกับสามีอยู่อีก 6 เดือนจึงตัดสินใจกลับไทย”

ส่วนสุกรี เรียนจบ ป.ตรี สาขาอิสลามศึกษา มอ.วิทยาเขตปัตตานี เสร็จก็เลือกต่อคณะนิติศาสตร์อิสลาม ระดับ ป.ตรี อีกใบที่อัล-อัซฮัร

 

 

ภาพเขียวร่มรื่นแห่งบ้านเกิดตัวเองทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าบ้านก็คือบ้าน ไม่มีทางเป็นอื่น แม้อียิปต์จะก้าวหน้าทางการศึกษา ชวนให้คนหนุ่มอย่างเขาอยากก้าวเข้าไปศึกษาต่อ แต่อย่างไรมันก็ไม่ใช่บ้าน

“หน้าร้อนของไคโรเขาตัดต้นไม้ทิ้งหมด เพราะให้เหตุผลว่าใบไม้ร่วงเป็นขยะ พอเขาคิดกันแบบนี้เมืองที่ยิ่งร้อนอยู่แล้วพอไม่มีร่มไม้ก็ยิ่งร้อนไปใหญ่”

สุกรีกางความฝันว่าเขาจะสร้างโรงเรียนกับมัสยิดขึ้นข้างบ้านหลังนี้ บ้านที่พ่อสร้างไว้ตั้งแต่เขายังเด็ก

ว่าไปแล้ว เส้นทางการเติบโตทางการศึกษาของเขากับพ่อก็คล้ายกันอยู่ พ่อออกจากสงขลาไปเรียนปอเนาะที่ปัตตานี พอหนุ่มได้ที่ก็บินไปเรียนต่อที่ซาอุดิอาระเบีย แล้วก็ได้เมียคนไทยที่ทำงานนั่น

สุกรีเกิดที่ซาอุฯ พออายุ 3 ขวบก็กลับมาโตที่สงขลา แล้วเส้นทางเดิมของก็หวนมายังเขาให้ตามรอย คือ ไปเรียนที่ไคโร ได้เมียที่ไคโร และมีลูกที่ไคโร

อียิปต์เพาะบ่มเขาถึง 8 ปี และบ้านหลังนี้ช่วงที่เขาไม่อยู่ พ่อของสุกรีก็เปิดเป็นโรงเรียนปอเนาะคลองกลอยวิทยา สอนเด็กๆ ลูกหลานชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นโจทย์อันท้าทายให้กับสุกรีที่อยากพัฒนาปอเนาะที่สอนเด็กได้จำกัดเพียง 10-20 คน ให้ขยับขยายกลายเป็นโรงเรียนสายสามัญระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาคู่ไปกับการสอนศาสนาแก่เด็กระดับหลักร้อยคนได้

สุกรีอธิบายเงื่อนไขการจัดตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ที่จะได้รับอนุญาตให้สร้างว่าต้องมีเนื้อที่อย่างน้อย 2-3 ไร่ขึ้นไป ต้องมีทะเบียนโรงเรียน ต้องมีอาคารเรียนที่ได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานการศึกษากำหนดไว้

ถ้าจะอธิบายแบบภาพใหญ่ระดับภูมิภาค เมื่อดูอนาคตข้างหน้า ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่มีเหตุผลอื่นที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อสอนศาสนาอย่างเดียว

แต่ความพร้อมทั้งด้านศาสนา สามัญ สังคม เศรษฐกิจ และภาษา จะพิสูจน์ว่าเด็กบ้านคลองกลอยจะเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและทัดเทียมมิตรเพื่อนบ้านอย่างไร

“ชาวบ้านคลองกลอย เกือบทั้งหมดเป็นชาวสวนยาง อุปสรรคแรกคือการจะหางบประมาณมาสร้างอาคารเรียนให้แก่เด็กที่ตั้งใจไว้นั้นลำบาก ผมมีที่ดินของพ่ออยู่ 6 ไร่ สามารถสร้างอาคารเรียนได้สบาย แต่ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 5 ล้านบาท” สุกรีอธิบายภาพเล็กระดับชุมชนและย้ำโจทย์อันหนักหน่วง

ครอบครัวสุกรีมีพี่น้อง 8 คน สุกรีเป็นคนที่ 4 ทุกคนล้วนเรียนจบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา “ผมมีโอกาสเดินทางไปเรียนศาสนาที่อียิปต์ เป็นประเทศอิสลามสายกลาง ไม่คลั่งศาสนาจนเกินไป ผมคิดว่าผมควรจะสานต่อความฝันที่พ่อเคยทำไว้ให้ก้าวหน้าขึ้น ผมอยากให้เด็กๆ บ้านคลองกลอยเติบโตไปอย่างทัดเทียมเด็กจากที่อื่นๆ”

เขาบอกว่าพ่อมักจะพูดให้ฟังอยู่เสมอว่า “คนเรียนศาสนาไม่อดตายหรอก ยังไม่มีคนเรียนศาสนาแล้วกลับมาเป็นขอทานสักคน”

เขาอยากต่อยอดจากพ่อ เขาคิดว่าวิชาการศาสนาเป็นวิชาการแห่งจิตวิญญาณ ส่วนวิชาการสามัญเป็นวิชาการในสังคม สองสิ่งนี้ควรจะเดินคู่กันไป

อีกเหตุผลสำคัญที่สุกรีและชาวบ้านคลองกลอยเห็นตรงกันว่าควรสร้างโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้าน เพราะลูกหลานของพวกเขาทุกวันนี้ต้องเดินทางไปกลับโรงเรียนรัฐที่อยู่ในเมืองถึง 30 กม.

“โรงเรียนคือเบ้าหลอมรองจากอ้อมกอดของพ่อแม่ มีอัลเลาะห์คอยชี้แนะขัดเกลาจิตวิญญาณ” สุกรีบอกก่อนจะชี้ไปที่รูปร่างของความฝันที่กำลังกลายเป็นจริง

อาคารเรียนและมัสยิดลงเสาเข็ม วางคานและก่อผนังคอนกรีตแล้ว เหลือแต่ต่อเติมและตกแต่งก็สมบูรณ์

สุกรีบอกว่าเขาเดินสายตระเวนอธิบายผู้หลักผู้ใหญ่ที่พอมีทรัพย์เหลือใช้เพื่อสนับสนุนทุนอยู่หลายที่ หลายปี จนมาเจอแหล่งทุนจากคูเวตที่เข้าใจโปรเจ็กต์แห่งชีวิตนี้ ภาพร่างจึงกลายเป็นความจริงขึ้นมา และที่เหลือเขาก็ควักเนื้อตัวเองปั้นใส่เข้าไป

 

 

4.

โดยที่สุกรีไม่ได้เอื้อนเอ่ย ผมเข้าใจว่าโลกที่เขาพยายามสร้างขึ้นไม่ได้ซับซ้อน คนหนุ่มมุสลิมไปร่ำเรียนวิชาศาสนาอิสลามจากไคโร การกลับมาสร้างโรงเรียนและมัสยิดที่บ้านเป็นเรื่องเข้าใจได้-มันยิ่งใหญ่และน่าชื่นชมที่สุดแล้วสำหรับเขา

ถ้าอิสลามคือสันติ สิ่งที่เขาเลือกเขาทำคงอยู่ในหนทางนี้

ที่สำคัญคือหนทางที่สุกรีและภรรยาเดินมานั้นห่างไกลจากความโรแมนติกอยู่มากโขทีเดียว

บางครั้งเวลาเราพูดถึงภาพที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมักดูงดงามสวยหรู แต่หลายต่อหลายครั้ง ระหว่างทางที่ยังไม่ชัดเจน เราอาจไม่พูดกัน เพราะมันห่างไกลจากหนังสือฮาวทูสอนการเป็นเศรษฐีใหม่ แบบฝึกหัดของสุกรีอาจไม่ใช่แบบฝึกหัดที่คนส่วนใหญ่อยากเลียนแบบ

แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้สุกรีและนภัสสรกำลังเดินอยู่ในเส้นทางตามศาสดาของพวกเขา ผมก็ได้แต่ภาวนาเอาใจช่วยว่าความตั้งใจของพวกเขาจะลุล่วงไปได้ด้วยดีในประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยกว่าอียิปต์ที่เขาเคยผ่านมันมาแล้ว

“ภาพเมืองที่คล้ายเมืองซอมบี้ เศษถุงขนม ซองบุหรี่ปลิวว่อนตามถนนที่ไร้ผู้คน ในช่วงเวลาทหารออกลาดตระเวนปราบปรามประชาชน คือภาพที่ผมเห็นกับตาที่ไคโร” สุกรียิ้มแห้งๆ

“ขอให้สันติสุขจงมีแด่ท่าน” จู่ๆ คำอวยพรนี้ก็วาบเข้ามา ผมคิดว่าความหมายของมันหนักหน่วงกว่าปืนหรือรถถัง และเราต่างหวังว่ามันจะจริง.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save