fbpx
จากทหารถึงทหาร คำเตือนจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร “ยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น”

จากทหารถึงทหาร คำเตือนจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร “ยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

หากสอดส่ายสายตาดูการเมืองไทย แทบไม่มีมิติไหนที่ไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งโดยช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานหรือการตัดสินใจในวาระสำคัญของประเทศ

พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นอีกคนที่มีบทบาทในวาระสำคัญอย่างน้อยสองเรื่องในช่วงปี 2556-57 คือ หนึ่ง การเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ นำทีมข้าราชการระดับสูงบินไปมาเลเซียเพื่อหาทางสงบศึกกับขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีอิทธิพลสร้างความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ และ สอง การต้องเผชิญหน้าและรับมือกับมวลมหาประชาชนที่ออกมาโค่นรัฐบาลพลเรือนที่ตัวเขารับหน้าที่ช่วยดูแลนโยบายด้านความมั่นคงอยู่

แน่นอนว่าโดยข้อเท็จจริง เรื่องแรกเขายังทำไม่สำเร็จ เรื่องที่สองก็อาจต้องยอมรับว่าพ่ายแพ้ ไม่อาจต้านทาน

หลังพ้นจากตำแหน่งด้วยเงื่อนไขพิเศษและอิทธิฤทธิ์ทางการเมือง เหมือนเขาไม่เคยละสายตาหรือนิ่งเฉยใส่สังคมไทย ยังเฝ้าดูการเปลี่ยนผ่านจากสังคมประชาธิปไตยมาสู่รัฐประหาร และกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารไปสู่อนาคตที่ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

นี่เป็นหนังตัวอย่างความคิดความอ่านของเขาเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้ การเมืองไทย และหัวจิตหัวใจของทหาร

“การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันไม่ใช่มาตรการทางทหารอย่างเดียว ถ้าใช้ทหารอย่างเดียวก็สู้กันตลอดชีวิตจนชั่วฟ้าดินสลาย”

“กองทัพพัฒนาการช้า สิ่งสำคัญคือเรื่องศรัทธาในประชาธิปไตย ต้องไปทำให้ทหารเข้าใจ รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง ต้องเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง พอคุณเข้ามา คนตั้งข้อสงสัยเรื่องความเสียสละว่าใช่หรือเปล่า พอยึดอำนาจเสร็จ คุณเพิ่มอัตรา เงินทองก็เพิ่ม แล้วไปรบกับอริราชศัตรูที่ไหน”

“ตั้งแต่มีการรัฐประหารมา ความจริงมันถูกอำพราง ที่พูดๆ กัน ไม่ได้เป็นความจริง แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเหมือนมีกรรมการเข้ามาคลี่คลายจัดการสถานการณ์ เขาบอกว่ามีสองขั้วเข้ามาปะทะกันแล้วจะเกิดปัญหา แต่ถ้ากรอเทปกลับไปดู จะเห็นว่าไม่ใช่ เอ๊ะ เรามีกรรมการหรือเปล่า เหมือนมีคนเข้าไปมีส่วนร่วมอำพราง”

“ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้าใจความจริงว่าประชาชนเขาให้โอกาสคุณครั้งนี้ครั้งสุดท้าย โอกาสครั้งสุดท้ายที่คุณจะชนะ ถ้าคุณไม่เดินให้เป็นประชาธิปไตย เท่ากับคุณหมดโอกาส ทักษิณก็จบ ปิดเกม”

พูดแบบรวบรัด ถ้าสังคมไทยไม่เคยปราศจากทหาร เมื่อทหารนั่งลงทำความเข้าใจทหารทั้งองคาพยพด้วยตัวเอง ก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

และตั้งแต่บรรทัดนี้ไป คือ มุมมองของคนที่เคยเรียนจบโรงเรียนนายร้อยฯ ในยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู 14 ตุลาฯ และเกษียณอายุราชการในยุครัฐประหาร 2557

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

การพูดคุยเพื่อสันติภาพกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2556 มาถึงปัจจุบัน ผ่านทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร คุณเห็นพัฒนาการอะไร ก้าวหน้าขึ้นอย่างที่สังคมคาดหวังไหม

สมัยที่ผมเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ แน่นอนมันเห็นพัฒนาการเป็นบวกมาก เพราะกระบวนการจากนโยบายที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรม ตั้งแต่การหารือในพื้นที่ จนเกิดเป็นยุทธศาสตร์ ผ่าน สมช. เข้าสู่รัฐบาล มันเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ประการ คือ นโยบาย กระบวนการ ขบวนการหรือกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบ และประเทศเพื่อนบ้านหรือองค์กรมุสลิมโลก (OIC) ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันหมด

ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร มันจะก้าวไปข้างหน้าได้เร็วมาก พอรัฐบาลรัฐประหารเข้ามา ในเชิงนโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก แต่หัวใจสำคัญคือความเชื่อถือไว้วางใจกัน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในสเต็ปแรก คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ปัจจุบันนี้เราก็ยังอยู่ในสเต็ปแรก เพราะการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต้องเกิดขึ้นในทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ มาถึงฝ่ายนโยบาย แล้วก็ไปสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคมุสลิม

ฉะนั้น พอรัฐบาลทหารเข้ามา ความไว้วางใจมันมีปัญหา เดิมทีสภาพการณ์ในพื้นที่ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ไว้ใจทหารอยู่แล้ว ทหารก็ไม่ไว้ใจฝ่ายที่จะมาคุย ยังมีความระแวงกัน ตอนนี้ก็ต้องดำรงสภาพแบบนี้ไป สร้างความไว้ใจกันไป

ผ่านมาหลายปี ทำไมสร้างความไว้ใจยาก

มันเกิดข้อสังเกตว่าตามข่าวและข้อเท็จจริง มาตรการต่างๆ เริ่มไม่สัมพันธ์กัน วันนี้มีการพูดถึงพื้นที่ปลอดภัย ยังไม่ทันจะไปไหน ข่าวเริ่มไม่ตรงกัน พวกในพื้นที่บอกเคยทำมาแล้ว พวกพูดคุยบอก เฮ้ย ยังไม่ได้กำหนด แล้วขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรใหญ่และปิดลับ อำนาจหน้าที่ต่างๆ มันจะคลุมเครือ ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้คุมอำนาจจริงๆ ฝ่ายความมั่นคงเพียงแต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยก็เพื่อจะเช็คกำลังกันด้วยว่าใครตัวจริงตัวปลอม

ปัญหาจากความเข้าใจไม่ตรงกันทำให้หวาดระแวงกัน และโดยพื้นฐานมันก็ตั้งการ์ดกันอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย แต่พฤติการณ์ของฝั่งเราก็คือปัญหาของผู้นำ เป็นเรื่องสัจจะวาจา ขนาดประชาชนยังเริ่มไม่เชื่อเลย ไปรับปากต่างชาติว่าจะมีเลือกตั้งช่วงนั้นช่วงนี้ พอในพื้นที่ไปคุยกันจะตกลงกันถึงมาตรการต่างๆ เขาถามกลับว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ ฝ่ายเราก็ตอบไม่ถูก แต่ที่กระบวนการพูดคุยยังเดินอยู่เนื่องจากมีปัจจัยภายนอก คือมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย เขาก็ต้องทำให้กระบวนการยังอยู่ ก็เลยเหมือนเดินซอยเท้าอยู่อย่างนั้น

แม้ว่าฝ่ายขบวนการจะพูดว่าเชื่อมั่นรัฐบาลทหารในแง่ถ้าตกลงอะไรกันมันจะง่าย แต่ในความเป็นจริง เขารู้อยู่แก่ใจ นั่นเป็นปฏิบัติการจิตวิทยา เพราะการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันไม่ใช่มาตรการทางทหารอย่างเดียว ถ้าใช้ทหารอย่างเดียวก็สู้กันตลอดชีวิตจนชั่วฟ้าดินสลาย จริงไหม

ประเทศอื่นที่มีความขัดแย้งและรบกันระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายต่อต้าน เขาหาทางตกลงสันติภาพกันอย่างไร

มันพิสูจน์ทราบมาชัดทั้งโลกแล้วว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งความรุนแรง  สุดท้ายแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยอย่างเดียวเลย ไม่มีรัฐบาลเผด็จการที่ไหนบรรลุข้อยุติในการแก้ไขปัญหา และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความศรัทธา เรื่องศาสนาและการปกครอง เราต้องผ่อนหนักผ่อนเบา เหมือนการปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจต่างๆ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

ดูจากประวัติศาสตร์ หลักสากลที่ทั่วโลกใช้เริ่มจากตรงนี้ ฉะนั้นต้องแสวงหาจุดร่วมกันให้ได้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความเสมอภาคและความยุติธรรม รากเหง้าของปัญหาคือการขาดสิ่งเหล่านี้

 

เท่าที่เคยสัมผัสมาเองโดยตรงและยังติดตามอยู่ ความคิดจิตใจของเขาเป็นอย่างไร เป้าหมายสูงสุดของฝ่ายขบวนการคืออะไร

ความเคารพและความเสมอภาค (ตอบทันที) เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสำหรับศาสนาอิสลาม กฎหมายกับศาสนา บางประเด็นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ศาสนาก็ศาสนา กฎหมายก็กฎหมาย นี่เป็นความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลต้องหาวิธีผ่อนปรน

เราต้องยอมรับว่าความคิดทางการเมืองของพวกเขาถือว่าเจ๋ง เขาเป็นนักการศึกษา และมันมีเรื่องจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยว คนเราพอศึกษาโดยมีจิตวิญญาณเป็นตัวนำมันจะลงลึก และคนในสามจังหวัดมีพัฒนาการดีกว่าคนภาคอื่นมากนะ ภาษาก็ได้ทั้งไทย ยาวี อังกฤษ จริงๆ เขาไปไกลกว่าเราแล้ว

แล้วระบอบประชาธิปไตยของประเทศเครือข่ายมุสลิม เขามีการให้ทุนการศึกษา สร้างอาชีพ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเกื้อกูลกัน ประเทศสมาชิกของ OIC มีจำนวนมาก เพราะเขาเป็นพี่น้องกันทั้งโลก

เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตจะเห็นการแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจังในรัฐสภา

ก็เหมือนที่ผ่านมาในอดีต มีกลุ่มวาดะห์ที่สืบเนื่องมาจากการแก้ปัญหาสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นการมองการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม การที่อาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) เคยเป็น รมว.มหาดไทย มันสัมพันธ์กัน

พอดูปัจจุบัน เรื่องการยอมรับประชามติรัฐธรรมนูญในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ชัดเลยว่าเขาไม่เอา มันสะท้อนว่าเขาต้องการกติกาที่เป็นประชาธิปไตย คะแนนล้านกว่าเสียงตรงนั้นเป็นจุดที่ทุกคนสนใจ มีที่นั่งในสภาสิบกว่าคนเห็นๆ และเข้าไปอยู่ข้างในรัฐบาลก็ไปนำเสนอกฎหมายได้ รัฐบาลก็ต้องแสวงหาจุดร่วมกับเขา เพราะการแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องเร่งด่วน

แม้วาดะห์จะมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทย แต่ว่าเขาก็มีตัวตน สิ่งที่ดีคือเขาอยู่ตรงข้าม คสช. ประเด็นคือจะแสวงหาจุดร่วมกันอย่างไร มันเหมือนพรรคอนาคตใหม่ อยู่ตรงข้าม คสช. ชัดเจน การเลือกตั้งครั้งหน้ามันแบ่งเป็นสองซีก เผด็จการไปขวา ประชาธิปไตยไปซ้าย จุดแข็งของเขาชี้ให้เห็นว่าใครที่เป็นพรรคใหญ่ต้องแสวงหาจุดร่วม เพราะการเมืองคือเรื่องการแชร์

เอาเฉพาะเรื่องกติกาใหญ่ๆ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพาสังคมไทยกลับตามครรลองประชาธิปไตยไหม

รัฐธรรมนูญนี้อาจเอื้อให้ ส.ว. 250 เสียงเป็นฝ่ายที่ออกแบบไว้ แต่ถ้าเกิดฝ่ายประชาธิปไตยได้เกิน 500 เสียง ความชอบธรรมมันมี ฉะนั้น ส.ว. 250 เสียงที่จะเอานายกฯ คนนอกเนี่ย ถ้าเกิดได้แล้วจะบริหารยังไง ทั้งตั้งกระทู้ ยื่นญัตติ มันไปไม่รอดในสภาล่าง รัฐธรรมนูญที่เรามักพูดกันว่าแก้ยาก แต่สุดท้ายจะฝืนยาก เพราะคนเห็นแล้วว่าประเทศไปข้างหน้าไม่ได้

อายุของรัฐธรรมนูญนี้จะรอดถึงสามปีหรือเปล่า บางคนให้แค่ปีเดียวด้วยซ้ำ แค่กระบวนการคัดเลือก กกต. เริ่มต้นเหมือนดูดี คัดมาสามสิบคน โอ้โห ผู้สมัครดูเข้าท่า แต่พอคัดลงมาจริงๆ เอ้า ทำไมมันไม่ได้คนที่ต้องการ เพราะเงื่อนไขของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำให้หาคนที่เป็นเทพจริงๆ ไม่ได้

ขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น ความชอบธรรมเริ่มต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก สมมติว่าตกขั้นที่ 5 ก็อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าตกขั้นที่ 20 ล่ะ

ที่ผ่านมาเกิดภาระของประเทศมากมาย เกิดความเสียโอกาสต่างๆ แม้จะมีเจตนาที่ดีก็ตาม แต่จริงๆ รากของปัญหาคือเรื่องการปกครอง แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจจะเหมือนไปได้ แต่ถ้าไปถามพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ก็ชัดเจนว่ามันรวยกระจุก จนกระจาย

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องความเชื่อมั่น พอประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เขาไม่สามารถมั่นใจในกฎกติกาที่เกิดจากคนกลุ่มเดียว เรานึกว่า ม.44 เป็นยาวิเศษ แต่นักลงทุนมองว่า เฮ้ย ถ้ามันถูกใช้กับเขาจะเกิดอะไรขึ้น

เพราะฉะนั้น เผด็จการกับประชาธิปไตยเหมือนพวกมองโลกแบนกับโลกกลม เช่นเวลามันเถียงกันตอนขึ้นเรือ ฝ่ายโลกแบนบอก เฮ้ย ไปได้ไง เดี๋ยวตกขอบทะเล ฝ่ายที่มองโลกกลมมันจะรอด เพราะกลับมาพร้อมอาหารการกิน แต่ถ้าเกิดโชคร้าย ชกกันไปชกกันมา ฝ่ายโลกแบนชนะ มันต้องติดอยู่บนเกาะด้วยกัน จนอาหารหมดแล้วก็ฆ่ากันเอง

พอถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญได้จริงๆ แล้วมีคนอุตริทำรัฐประหารอีกจะทำอย่างไร

ผมว่าฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าได้อำนาจต้องสื่อสารหนักมาก ทำให้คนเกิดศรัทธาในประชาธิปไตย ทำให้คนมีทางออกว่าทางออกนี้ดียังไง นอกจากส่งเสริมอุดมการณ์แล้ว ต้องทำให้คนรู้เท่ากันเผด็จการ ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาการคอร์รัปชันต่างๆ มันทำลายตัวเอง

รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยต้องเปิดเวทีให้ภาคประชาชนได้อภิปราย เหมือนเรื่องห้ามสูบบุหรี่ สู้กันมาเป็นสิบๆ ปี ตอนหลังเข้มข้นขึ้น จนวันนี้คนส่วนใหญ่ยอมรับไปเองว่าห้ามสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ หรือที่มาเลเซีย เป็นประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ แต่ทำไมมีคาสิโน เพราะเขาเคารพเสียงส่วนใหญ่ว่าควรจะมี

แล้วการกระจายอำนาจก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องทำ เหมือนการปฏิรูปตำรวจ ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้ต้องควบคู่ไปกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจในโลกที่เข้มแข็งอย่างแอล.เอ. ที่อเมริกา เพราะขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ จะเป็นตำรวจนิวยอร์กก็เป็นไป จะเป็นตำรวจแอล.เอ. ก็มาสมัครที่แอล.เอ. เขาถือว่าถ้าคุณอยู่ท้องถิ่นคุณจะรู้ดีที่สุด ใครเข้ามา ตำรวจรู้หมด ถ้าตำรวจเลว ประชาชนก็รู้ แล้วของเขายศอย่างมากก็ Captain นอกนั้นเรียกชื่อเป็นตำแหน่ง เป็นผู้บัญชาการไป

ถ้าพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ แล้วทหารล่ะ มีช่วงไหนในประวัติศาสตร์ที่กองทัพพยายามปรับตัวไหม

มันไปไม่ถึงที่คาดหวัง กองทัพพัฒนาการช้า สิ่งสำคัญคือเรื่องศรัทธาในประชาธิปไตย ต้องไปทำให้ทหารเข้าใจ รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง ต้องเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง พอคุณเข้ามา คนตั้งข้อสงสัยเรื่องความเสียสละว่าใช่หรือเปล่า พอยึดอำนาจเสร็จ คุณเพิ่มอัตรา เงินทองก็เพิ่ม แล้วไปรบกับอริราชศัตรูที่ไหน

พอเราพูดถึงความมั่นคง คิดว่าเป็นเรื่องทหาร จริงๆ ไม่ใช่ ในโลกปัจจุบัน ทหารเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เรื่องนโยบายป้องกันระหว่างประเทศ ทหารก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะการป้องกันระหว่างประเทศเป็นมิติใหญ่ เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย เพราะภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต มันเปลี่ยนรูปแบบเร็วมาก โครงสร้างที่แข็งตัวรองรับไม่ได้ จึงต้องมีโครงสร้างที่บูรณาการอำนาจหน้าที่

จริงๆ ใน พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นต้องมีศูนย์ไว้บริการประชาชนด้วยซ้ำ พอเกิดบางเรื่องที่ต้องบริการอย่างรวดเร็วก็ต้องทำหน้าที่ทันที เช่น ภัยพิบัติ รัฐบาลต้องตั้งศูนย์แบบวันสต็อปเซอร์วิสได้ น้ำหนักต้องเป็นเรื่องการช่วยเหลือ บริการประชาชน เพื่อให้แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ แล้วค่อยไปออกแบบอีกทีว่าจะเป็นถาวรหรือชั่วคราว

ต้องบูรณาการ กอ.รมน.ตรงนี้ ปัจจุบันนอกจากความแข็งตัว กลับเพิ่มคำจำกัดความเข้าไปอีกคือเรื่องสาธารณภัย ซึ่งไปครอบหัวมหาดไทย คนทั่วไปเข้าใจว่าแต่ละจังหวัด ผู้ว่าฯ ใหญ่สุด สามารถตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ดึงอัยการเข้ามาอยู่ภายใต้ได้ แต่ไม่ใช่ ผู้ว่าฯ อยู่ภายใต้แม่ทัพอีกที พอเป็นแบบนี้ก็ยิ่งแข็งตัว เหมือนที่อเมริกามีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) จริงๆ ก็ไม่มีอะไร ตอนนี้มันก็ถกเถียงกันอยู่ว่าจะยกเลิกดีไหม แต่ของเรารอขยายไปเป็นกระทรวง

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

ที่ผ่านมามีคนพูดเรื่องปฏิรูประบบข้าราชการมาก อะไรคือหัวใจของการเปลี่ยนภาพลักษณ์ข้าราชการ

ข้าราชการนี่แหละที่ทำให้ประเทศเราไม่เจริญ ไปดูทั่วโลกที่เจริญได้เลย ข้าราชการมีหน้าที่ทำตามฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายการเมือง ถ้าทำไม่ได้ เพราะอะไร ติดขัดตรงไหน ต้องแก้ไขกฎหมายข้อไหน ต้องแจ้ง ประเทศเจริญแล้วทำแบบนั้นได้

ไปดูสิงคโปร์ ทำไมถึงเจริญ ข้าราชการเขามีประสิทธิภาพ แล้วเงินเดือนสูงมาก ผมไปสนามบินบ้านเขา คนละเรื่องเลย คนมันเยอะจริง แต่ระบบการจัดการทำให้คนกระจายไว ถ้าเป็นคนของเขาก็ผ่านไปได้เลย ไม่ต้องตรวจ ของเราต้องตรวจ ผมอยู่ช่องคนอาเซียน ขนาดมีแค่สามคน พอช่องคนสิงคโปร์ไม่มีคน เจ้าหน้าที่รีบบอกให้เราไปช่องเขาเลย แล้วทุกช่องคนจะมาหรือไม่มา เจ้าหน้าที่อยู่กันครบ พอไปถึงข้างหน้า กระเป๋าเรามาถึงแล้ว

ผบ.เหล่าทัพของเขาอายุ 40 กว่าเท่านั้นเอง พอเลย 55 ไป เขาก็ไปทำอาชีพอื่น ยังไม่ต้องพูดถึงระบบการศึกษา ตอนนี้ในกองทัพ ผมเชื่อว่าพวกเพื่อนพ้องน้องพี่เริ่มละล้าละลัง แต่ไม่รู้จะทำไง ทุกคนรู้อยู่ว่าโครงสร้างของประเทศมีปัญหา เป็นวิบากกรรม เผด็จการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ เหมือนต้นไม้พิษออกลูกไม่ได้

 

ที่ผ่านมามีการพูดกันเยอะ“ประเทศชาติต้องมั่นคง” ในมุมมองของคนที่เคยดูแลสภาความมั่นคงแห่งชาติ ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าสังคมไทยตอนนี้มั่นคงหรือยัง

ตั้งแต่มีการรัฐประหารมา ความจริงมันถูกอำพราง ที่พูดๆ กัน ไม่ได้เป็นความจริง แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเหมือนมีกรรมการเข้ามาคลี่คลายจัดการสถานการณ์ เขาบอกว่ามีสองขั้วเข้ามาปะทะกันแล้วจะเกิดปัญหา แต่ถ้ากรอเทปกลับไปดู จะเห็นว่าไม่ใช่ เอ๊ะ เรามีกรรมการหรือเปล่า เหมือนมีคนเข้าไปมีส่วนร่วมอำพราง ไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศนะ ต่างประเทศเขาก็เข้าใจแบบนี้

แล้วที่ผ่านมาเกิดการยอมรับให้มีการผ่อนหนักผ่อนเบากัน เพราะฝ่ายยึดอำนาจอ้างเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายซีกประชาธิปไตยก็เข้าใจว่าจะเกิด ทุกฝ่ายต้องยอมผ่อนหนักผ่อนเบา แต่พอผ่านพระราชพิธีสำคัญไป เห็นไหมว่ากระแสตรงกันข้ามกับก่อนหน้านั้นเลย เพราะมันสะท้อนให้เห็นแล้วว่ารากของปัญหาจริงๆ ไม่ได้ถูกแก้

ในอนาคตถ้ามีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล พรรคไหนก็ตามที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตย ต้องมีการส่งเสริมให้บ้านเมืองนี้มีศรัทธา มีอุดมการณ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รู้จักสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และรู้เท่าทันเผด็จการ ไม่ใช่เฉพาะแค่ประชาชน แต่รวมเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ถ้าเข้าถึงปรัชญานี้ไม่ได้ จะแก้อะไรไม่ได้เลย เพราะรากของปัญหาคือการปกครอง ไม่ใช่เรื่องคนดีคนเลว

แต่พอมีความขัดแย้ง ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองทันที ตรงนี้สะท้อนวิธีคิดอะไรของฝ่ายความมั่นคง

ถ้าเราเจอผู้นำทางทหารที่มีศรัทธาและอุดมการณ์ประชาธิปไตย การคลี่คลายสถานการณ์จะเป็นไปตามครรลอง ถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตย หากผู้นำทางทหารเกิดมีขีดความสามารถไม่เพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้น เขาจะขอลาออกหรือขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วให้รัฐบาลแต่งตั้งผู้นำทางทหารคนอื่นมาคลี่คลาย มันเป็นหลักคิดสากล เป็นสปิริตและปรัชญาของคนที่เป็นประชาธิปไตย

สังเกตสิ ทหารอเมริกันทำไมถึงต้องปฏิญาณว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาจะทำการคลี่คลายสถานการณ์อะไรก็ตาม ต้องทำไปตามครรลองนั้น ถึงแม้จะมีทั้งเบาและหนัก หรือมีการสูญเสียบ้าง แต่มันจะมีการสูญเสียตามความชอบธรรม ไม่ใช่การสูญเสียบนความไม่มีเหตุผล บางครั้งการแก้ไขสถานการณ์อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือมีข้อจำกัด แต่โลกประชาธิปไตยจะยอมรับ เพราะมันมีความชอบธรรมในการดำเนินการ

การประกาศใช้กฎหมาย หรืออะไรต่างๆ ในประเทศที่เป็นอารยะแล้ว ทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องจริงๆ ในช่วงสุดท้าย คือการประกาศกฎอัยการศึก แต่ถ้าเป็นลักษณะของกฎหมายความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของต่างประเทศ น้ำหนักจริงๆ อยู่ที่ฝ่ายปกครองกับฝ่ายตำรวจด้วยซ้ำไป แต่ทหารจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ต่อเมื่อเป็นกฎอัยการศึก และการประกาศตรงนั้น ควรเป็นรัฐบาลประกาศ ไม่ใช่ทหารประกาศเอง

ตรงนี้น่าสนใจเพราะกฎหมายของเราเป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว เมื่อก่อนผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ ถ้าเจออริราชศัตรูเข้ามาก็ต้องประกาศทันที แต่สถานการณ์ปัจจุบัน มันติดต่อสื่อสารได้ทันทีหมดแล้ว อนาคตสิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไข

 

ทุกครั้งที่บรรยากาศการเมืองเริ่มดุเดือด หน้าสิ่วหน้าขวาน ทำไมปฏิบัติการข่าวสาร IO ของฝ่ายความมั่นคงถึงเข้ามามีบทบาทมาก และหลายเรื่องก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ความจำเป็นของ IO จริงๆ คืออะไร

ตรงนี้น่ากลัวมาก เราต้องสร้างความเข้าใจ เมื่อก่อนการปฏิบัติการในยุคสงครามเย็นยังเป็นเรื่องปฏิบัติการพลเรือนและการประชาสัมพันธ์ พอยุคหลังมาเป็นปฏิบัติการข่าวสารที่อเมริกาเป็นเจ้าของตำรา แล้วนัยสำคัญคือให้คนเชื่อในสิ่งที่เราประสงค์ เชื่อในสิ่งที่เราต้องการ ตรงนี้มันล่อแหลมมาก เพราะว่าถ้าความเชื่อนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องก็โอเค

แต่นัยของการปฏิบัติการทางข่าวสารหมายความว่าให้เชื่อในสิ่งที่อาจจะไม่ถูกก็ได้ เช่น คุณจะไปฆ่าไอ้นี่ ก็ให้เชื่อว่าไอ้นี่มันเลว จริงๆ ไอ้นี่ไม่เลวนะ แต่ต้องทำให้มันเลว การปฏิบัติการข่าวสารแบบนี้ใช้กับข้าศึก แต่ของเราทำไปทำมาไม่ได้ใช้กับศัตรู และใช้เกินขอบเขต

กรณีผังล้มเจ้านี่ถือว่าเกินขอบเขตไหม

นี่แหละเกินขอบเขต แล้วสุดท้ายคนที่พูดขึ้นมาต้องรีบแก้ตัวไม่งั้นโดนฟ้องกลับ ถึงบอกว่าอันตรายมากนะ แล้วฝ่ายประชาธิปไตยถ้าได้อำนาจรัฐแล้ว ต้องทำให้ทุกคนตระหนักเลยว่าถ้าคุณจะใช้ปฏิบัติการข่าวสาร มันต้องใช้ในภารกิจเรื่องการต่อสู้กับอริราชศัตรู อย่ามาใช้ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เห็นได้ชัดว่ากองทัพกลับเข้ากรมกองไปแล้ว พอรัฐประหาร 2549 กลับมีการเพิ่มอำนาจให้กองทัพ ผ่าน พ.ร.บ.ความมั่นคง พอรัฐประหาร 2557 ก็มีการใช้ ม.44 ยกระดับ กอ.รมน. ขึ้นผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ตรงนี้สะท้อนอะไร

นี่แหละเป็นปัญหาสำคัญมากเลย ถ้าเราไล่ย้อนประวัติศาสตร์ในอดีต การแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดกฎหมายและกลไกในการแก้ไขปัญหา คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) แต่การรักษาความมั่นคงภายในสมัยนั้น มันจัดตั้งโดยอำนาจฝ่ายบริหาร ใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยเฉพาะกิจ แต่เวลานี้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์หมดความจำเป็น ฝ่ายบริหารกังวลว่าถ้าจะต้องเลิกกฎหมายนี้ ก็กังวลภัยแทรกซ้อนตามชายแดน เลยคิดว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายอยู่ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ก็เปลี่ยนเป็นเรื่องความมั่นคงภายใน

วันนี้พอเรามองลึกลงไป กอ.รมน. มันเป็นหน่วยงานแล้ว มีอำนาจไปดึงข้าราชการมาทำงานได้ ซึ่งมีสองแบบ หนึ่ง เป็นข้าราชการประจำใน กอ.รมน. สอง เข้ามาช่วยราชการ เป็นได้ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร แต่พอบรรจุไปบรรจุมา 90 เปอร์เซ็นต์มันกลายเป็นทหาร มีนายกฯ เป็น ผอ.กอ.รมน. มี ผบ.ทบ. เป็นรองฯ เลย การมอบอำนาจต่างๆ ถ้ากฎหมายมันไม่มีสภาพบังคับไว้ การมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินก็จะทำได้ตามปกติ แต่พอมาเป็น พ.ร.บ.กอ.รมน. มันระบุเลยว่าการมอบอำนาจของ ผอ. จะต้องมอบให้รองฯ เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วหน่วยมันก็จะอยู่ถาวร

ที่ผ่านมามันเทอะทะอยู่แล้ว มีการตั้งข้อสังเกตว่าทั้งๆ ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ยังไม่ยอมผ่าน สนช. แต่กลับใช้ ม.44 ดัน ทั้งที่จะใช้ สนช. อนุมัติก็ได้ เลยถูกมองว่ามีหน่วยงานสองขาอยู่ในกองทัพ ได้งบประมาณสองขา

 

ตกลงวิธีคิดของฝ่ายความมั่นคงอยู่บนฐานอะไร เป็นการเฝ้าระวังภัยแทรกซ้อน ความห่วงใย หรือกังวลอะไร

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ยังติดกับการมองสภาพปัญหาของประเทศแบบเก่า ประเทศมีพัฒนาการมาแล้ว แต่มีคนอยากผูกขาดในการแก้ไขปัญหา และมันไม่ตรงกันกับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ลองดูพวกบริษัทที่เป็นระบบเถ้าแก่สิ บางคนก็ยังยึดติดอยู่ไม่ยอมปล่อยวาง แต่จากการที่โลกมีพลวัต เทคโนโลยีรุดไปข้างหน้า มันปิดบังไม่ได้หรอก

                      

กระแสคนอยากเลือกตั้งที่ก่อตัวตอนนี้มีพลังพอไหม ในมุมคนทั่วไปยังคิดว่าสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายหรือเปล่า

พวกนี้เป็นเชื้อปะทุ มันค่อยๆ สร้างการมีส่วนร่วม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นต้องมีเชื้อปะทุก่อน เหมือนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ยิ่งพอมีเรื่องสัจจะวาจาที่กำลังมีปัญหานี่แหละ ถามว่าตอนนี้มีใครเชื่อถืออีกไหมว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ ไม่ใช่เพราะว่าคนที่อยากเลือกตั้งผิดนะ เด็กพวกนี้เขาไปเรียกร้องในสิ่งที่คุณไปรับปากกับต่างชาติไว้ ไม่ใช่การเรียกร้องส่งเดช

พอเชื่อไม่ได้ มากเข้าๆ ประชาชนเขาจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแล้วนะ แต่เป็นเรื่องผู้นำทางทหารที่เชื่อถือไม่ได้ มันจะลามไปที่การพูดคุยชายแดนใต้ที่จะกระทบความสัมพันธ์

เหมือนเมื่อ 22 พฤษภาฯ ถ้าเป็นสากลเขารับไม่ได้ แต่ละฝ่ายถอดหมวก ยกธงขาวแล้วมาคุยกัน คุยไม่ลงตัวก็ถอยกลับไป แล้วมาคุยใหม่ ไม่ใช่พอยกธงขาวกลับถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกยึดอำนาจ

ถ้าเราไปดูคุณลักษณะพื้นฐานของเผด็จการทั่วโลก มันเป็นแบบนี้ คือไร้สปิริต ถ้าเป็นคนปกติต้องอายบ้างและลาออกไป

ตอนยุค 14 ตุลาฯ ผมออกมาจากโรงเรียนนายร้อยฯ ต้องทำตัวหลบๆ เหมือนหมาตัวหนึ่ง ใส่ชุดนอกเครื่องแบบเพราะกลัวประชาชนตีหัว หมดเกียรติภูมิเลย เราผ่านสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว มันไม่มีเกียรติเลย แล้วเกียรติยศศักดิ์ศรีไม่ได้อยู่ที่เหรียญบนอก สาระสำคัญอยู่ที่ศรัทธาของประชาชน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

พูดกันถึงที่สุด หลังเลือกตั้งปี 2562 ภาพการประนีประนอมของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีเหมือนในอดีตไหม การจัดสรรอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยถ้าได้อำนาจ จะมีเก้าอี้ให้นายพลคนใหญ่คนโตที่รับใช้เผด็จการได้ไหม

ไม่มี ผมยังเชื่อเลย ถ้าประชาธิปไตยไปทางโน้น เผด็จการก็ไปอีกทาง ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้าใจความจริงว่าประชาชนเขาให้โอกาสคุณครั้งนี้ครั้งสุดท้าย โอกาสครั้งสุดท้ายที่คุณจะชนะ ถ้าคุณไม่เดินให้เป็นประชาธิปไตย เท่ากับคุณหมดโอกาส ทักษิณก็จบ ปิดเกม

รัฐบาลซีกประชาธิปไตยต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ คือ ทำให้เกิดความสามัคคีผ่านกระบวนการยุติธรรม มีองค์ประกอบได้แก่ นิติรัฐ นิติธรรม เมตตาธรรม และสากล คำถามคือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดจากการมีส่วนร่วมที่เราต้องมาตัดสินใจกันจากบทเรียนที่มีมา จะออกกฎหมายแบบไหน จะผ่อนคลายกันยังไง บางอย่างเราต้องยอมเจ็บปวดเพื่อให้เห็นความจริงก่อน ที่ผ่านมาเรานิรโทษฯ กันโดยไม่เห็นความจริง

จะใช้เวลาเท่าไรไม่รู้ แต่ต้องเริ่มทำ ?

รัฐบาลใหม่มาต้องรณรงค์ งบประมาณต้องโยกซ้ายป่ายขวา เน้นให้ไหลกลับมาที่กองทุนยุติธรรม เพื่อชี้ให้เห็นเลยว่าจะช่วยลดสภาพปัญหาในสังคม พอปัญหาลด ก็ประหยัดงบประมาณในเรื่องยุทโธปกรณ์ ประหยัดด้านปราบปราม ไอ้ความเลวร้ายของสังคมที่ต้องฆ่ากันสมัยคอมมิวนิสต์ เพราะประเด็นความยุติธรรมทั้งนั้น รัฐถึงต้องมาเสียเงินจัดตั้งกองทัพสู้กับคอมมิวนิสต์ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความยุติธรรม

อย่างตอนนี้ เท่าที่ฟังประชาชนก็ยังแคลงใจ กองทุนยุติธรรมมีสองร้อยล้านบาทต่อปี เพื่อเอาไปช่วยประกันตัวและการเยียวยา โดยเฉพาะคนจน แต่เรากลับจะทุ่มเงินซื้อเรือดำน้ำสามหมื่นล้านบาท ประชาชนก็เอ๊ะยังไงกัน แทนที่จะไปซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งไม่ได้ปฏิเสธนะ แต่เอามาทำมิติความยุติธรรมให้แข็งแรงก่อนได้ไหม พอความยุติธรรมแข็งแรง สังคมจะสงบเรียบร้อย ความสิ้นเปลืองงบประมาณที่จะใช้แก้ปัญหาพวกนี้จะน้อยลงไปด้วย พอประเทศสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วจำเป็นต้องซื้ออะไรก็ค่อยว่ากัน ควรต้องจัดลำดับความสำคัญ ตอนที่มีการยึดอำนาจ ความสำคัญเร่งด่วนคือ ความสามัคคีปรองดอง แต่พอไปๆ มาๆ กลายเป็นเรื่องอื่นไป

แม้กระทั่งเรือจักรีนฤเบศรก็เป็นภาระ แต่ถ้าปรับให้ทันสมัย เอามาใช้ในเรื่องการรักษาทรัพยากรทางทะเล ก็จะไปได้ หรือเรือดำน้ำ ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ยอมนะ เพราะเหตุผลไม่พอ เหตุผลจะถูกลบล้างหมด แล้วอยู่ดีๆ โครงการมันผุดขึ้นมาไม่สอดรับกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่เสนอไว้เลย ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือน คุณต้องตอบให้ได้ว่าภัยคุกคามคืออะไร ทำไมถึงต้องมีเรือดำน้ำ ความเร่งด่วนคือระดับไหน ถ้ากลัวก่อการร้าย จะใช้เรือดำน้ำทำไม อาวุธประจำกายสำคัญกว่า

นโยบายทั้งหมดเหล่านี้ต้องสัมพันธ์กับนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ถ้าความสัมพันธ์ดี มองผลประโยชน์ภูมิภาคร่วมกันได้ก็ประหยัดไปอีก

แปลว่าสถาบันทหารสามารถช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญและสนับสนุนประชาธิปไตยได้

ถูกต้อง ทุกประเทศในโลกที่เป็นประชาธิปไตย เพราะทหารเขามีความศรัทธาตรงนี้ เราต้องยอมรับว่าประเทศเหล่านั้นมีประชาธิปไตยแข็งแรงมากๆ เพราะรากฐานความคิดของคนเป็นแบบเดียวกัน ประสบการณ์ชีวิตพวกเขาผ่านทั้งการอพยพหนีเผด็จการ หนีสงครามมาอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นปรัชญาพื้นฐานเป็นแบบเดียวกันอยู่แล้ว

ต้องยอมรับว่าพัฒนาการทางการเมืองของเราที่ผ่านมาสัมพันธ์กับทหาร ตรงนี้คือภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ต้องมีการเปิดเวที ความขัดแย้งและความเห็นต่างของระบอบนี้แก้ไขด้วยการเปิดเวที เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วม แต่ถ้าความขัดแย้งยกระดับไปถึงความแตกแยก ก็ใช้ความยุติธรรมเข้ามาแก้ไข

แต่เอาเข้าจริง ถ้ามีผู้นำทางทหารที่มีศรัทธาประชาธิปไตย รัฐประหารก็ไม่เกิด

ใช่ จะไม่เกิดขึ้น สมมติถ้าเราเทียบบุคลิกผู้นำในอดีต ยกตัวอย่างคนแบบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐประหารก็คงไม่เกิด เข้าใจไหม นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลหน้าที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยทั้งหลายต้องตระหนักให้มาก และจากกระแสโลกที่มีพลวัต ปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลมาก สังเกตดูทำไมคนถึงใฝ่ฝันไปอยู่อเมริกา เพราะทุกคนรู้ว่าถ้ามึงเก่งจริงก็รวยได้ จะอายุเท่าไหร่ไม่รู้ ถ้าคุณเป็นคนเก่ง เกิดมาเป็นพวกไอคิวสูง คุณเรียนข้ามชั้นไปเลย เขาไม่ขวาง เพราะความเสมอภาคกับสิทธิของเขามันแข็งแรงแล้ว แต่บ้านเราข้ามไม่ได้ ติดกฎติดกับดัก

โดยพลังของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้กองทัพศรัทธาประชาธิปไตยได้จริงๆ ไหม

เป็นไปได้แน่นอน เพราะในกองทัพคนที่คิดแบบผมก็มีอยู่เยอะ ผมก็โตมาจากกองทัพ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยมาเหมือนกัน

แต่พูดได้ไหมว่ารัฐบาลพลเรือนที่ผ่านมา ไม่ได้จริงจังกับการสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับ สิ่งเหล่านี้ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างความเข้มข้นตรงนี้ให้ได้ ผมเชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้ของประเทศไทย พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจแล้ว ถ้าทหารทำความเข้าใจตรงนี้ได้ ความสำเร็จในเรื่องความศรัทธาและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะไปได้เร็วเลย และเป็นความเร่งด่วนของรัฐบาลหน้าด้วย

ความมั่นคงของสังคมไทยจะยั่งยืน มันมีลูปคล้ายๆ วงกลมทับซ้อนกันหลายมิติ มิติที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างความสามัคคีปรองดอง คำถามคือจะทำอย่างไร ยุติธรรมต้องมี สามัคคีก็จะเกิด สร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ที่ผ่านมามีความรู้สึกว่าถ้ารัฐบาลพลเรือนเข้มแข็ง กองทัพก็จะมีบทบาทน้อยลง มองมุมนี้พูดได้ไหมว่ากองทัพอาจไม่สบายใจ

มันขึ้นอยู่กับว่าใครตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง ถ้าเราตระหนักในหน้าที่ของเรา เป็นทหารอาชีพจริงๆ เราไม่ต้องกังวลเลย เราทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศให้ได้ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนภารกิจในด้านกิจการพลเรือนหรือบรรเทาสาธารณภัยให้กับรัฐบาล แต่ถ้าไปเจอรัฐบาลเฮงซวย กองทัพก็ต้องสื่อสารให้พี่น้องประชาชนทราบ และการสื่อสารในปัจจุบันนี้ มันใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้โดยไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะมาลงโทษด้วยซ้ำ

 

นอกจากรัฐธรรมนูญที่ว่าอาจจะไม่รอดภายในสามปี คุณเห็นอะไรอีกที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สังคมเดินไปได้แบบสากล อย่างข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ในฐานะที่เคยอยู่ฝ่ายความมั่นคง เป็นไปได้ไหม

นี่เป็นวิวัฒนาการในปกครองเลย มันเห็นว่าคนเริ่มเรียนรู้แล้ว ทำไมถึงเกิดพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา เห็นคนอายุรุ่น 18-26 ออกมาแอคทีฟ ซึ่งควรจะได้ไปเลือกตั้งเมื่อสี่ปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ในอนาคตมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ว่าจะต้องเป็นขั้นเป็นตอนไป เหมือนการเรียนรู้ของคน และค่อยๆ เริ่มมีมาตรการขึ้นมาป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

จริงๆ แล้ว ถ้าคนมีศรัทธาและอุดมการณ์ประชาธิปไตย บางทีมาตรการที่ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องมี คนจะเคารพมติของเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย อยู่ร่วมกันด้วยมิตรภาพ ถึงวันหนึ่งพวกเสียงส่วนใหญ่ก็มาอยู่ฝ่ายเสียงส่วนน้อย พวกเสียงส่วนน้อยก็อาจกลายเป็นพวกเสียงส่วนใหญ่ได้ นี่เป็นกระบวนการที่มันคลี่คลายไปโดยตัวมันเอง ไม่มีทางตัน

 

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

ประชาธิปไตยเป็นแบบไทยๆ ไม่ได้หรือ ทำไมต้องสากล

ประชาธิปไตยต้องอยู่ในปรัชญาเดียวกัน จะไทย-ไม่ไทยไม่รู้ แต่ปรัชญาคือ สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ มันต้องมีหลักนี้อยู่ แต่คุณจะเป็นคนชาติไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

เวลาคุณพูดถึงประชาธิปไตย ทั้งที่คุณเป็นทหาร มองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทำไมถึงให้คุณค่ากับประชาธิปไตย ทั้งสองเรื่องนี้ไปด้วยกันได้ไหม

แน่นอน จากการศึกษาและประสบการณ์ในชีวิตที่ผมได้รับราชการมา ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีรัฐประหารมาหลายครั้ง ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ และเราก็เป็นนักอ่านหนังสือพอสมควร พอมาเป็นทหารก็ได้มองลงไปลึกๆ ว่าพวกเราเองก็เป็นต้นเหตุของปัญหาด้วย จะไปว่าคนอื่นเขาก็ไม่ได้ พวกเราจริงๆ ก็มีส่วน

บางทีเราเรียนการแก้สถานการณ์มา เปรียบเหมือนการสงคราม มันไม่สามารถชนะสงครามในภารกิจใหญ่ จะชนะแค่เป้าระหว่างทาง แต่พอปลายทางก็แพ้

ผมว่าเราต้องยอมรับว่าแม้จะมีการเรียนรู้มามาก แต่เนื่องจากวัฒนธรรมการเชื่อผู้นำที่บ่มเพาะกันมา เราปฏิเสธว่ามันคือวัฒนธรรมแห่งชาติของเราไม่ได้ การจะเปลี่ยนต้องใช้เวลามากกว่าปกติของประเทศประชาธิปไตย แต่ผมว่าเราใช้เวลามากเกินไป

 

ต้องรบราฆ่าฟันกันอีกไหม เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันว่าจะเอาการปกครองแบบไหน

ไม่แล้ว เรามันมีพัฒนาการมาดีแล้ว ความมีอารยะ ประวัติศาสตร์ การเรียนรู้จากบทเรียนที่อื่น ทำให้ตัวเราเองเปลี่ยนผ่านได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save