fbpx
วรรณกรรมไทย ยังไม่ตาย? : สำรวจที่ทางวรรณกรรมไทยยุคใหม่ กับ นิวัต พุทธประสาท

วรรณกรรมไทย ยังไม่ตาย? : สำรวจที่ทางวรรณกรรมไทยยุคใหม่ กับ นิวัต พุทธประสาท

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

จากอดีตที่ผ่านมา นักเขียนจำนวนไม่น้อยแจ้งเกิดขึ้นมาจากการเขียนคอลัมน์ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และหากนับเฉพาะหมวดหมู่ของงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย หรือบทกวี ต่างก็มีพื้นที่บนสื่อสิ่งพิมพ์มาทุกยุคทุกสมัย

นิตยสารผู้หญิงอย่าง สกุลไทย, ขวัญเรือน, กุลสตรี ตีพิมพ์นิยายเป็นตอนๆ ของนักเขียนหญิงเลื่องชื่อมากมาย นักเขียนอย่าง กฤษณา อโศกสิน, ว.วินิจฉัยกุล, กิ่งฉัตร, อุรุดา โควินท์ ล้วนมีแฟนประจำที่คอยตามอ่านคอลัมน์และนิยายรายปักษ์-รายเดือน

นิตยสารอย่าง ช่อการะเกด, Writer, มติชนสุดสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ไปจนถึงเซกชั่น ‘จุดประกาย’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือต้นทางสำคัญในการเผยแพร่เรื่องสั้น-บทกวี ของนักเขียนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่

ทว่าในวันเวลาที่พื้นที่เหล่านี้ลดขนาด-ปิดตัวลงไป คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือนักเขียนสายวรรณกรรม โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีที่ทางอย่างชัดเจน การ ‘แจ้งเกิด’ ด้วยงานประเภทนี้ อาจเป็นความหวังที่ค่อนข้างริบหรี่ แม้ทุกวันนี้จะมีพื้นที่ใหม่ๆ บนสื่อออนไลน์ แต่ต้องยอมรับว่า งานประเภทนี้ยังไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับการอ่านผ่านหน้าจอ

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของสำนักพิมพ์ทั้งหลาย การตีพิมพ์งานวรรณกรรมไทย ยังถือเป็นงานที่เสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่เสมอ ยกเว้นกรณีที่งานนั้นๆ ได้รับรางวัลซีไรต์ (ซึ่งไม่ใช่ทุกงานที่ขายดีเสมอไป)

 

อย่างไรก็ดี ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากกลุ่มของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหลายแห่ง ที่ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเขียนไทย และพยายามนำเสนองานใหม่ๆ สู่สายตานักอ่าน

สิ่งที่น่าจับตาคือสถานการณ์ของวรรณกรรมไทยถัดจากนี้ จะมุ่งไปสู่ทางไหน ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่หรือไม่ และจะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางความผันผวนของสื่อ

101 นัดหมายกับ ‘นิวัต พุทธประสาท’ เพื่อชวนคุยถึงอนาคตของวรรณกรรมไทย ในฐานะของนักเขียน บรรณาธิการ ที่มุ่งมั่นทำงานวรรณกรรมไทยมากว่ายี่สิบปี ภายใต้สำนักพิมพ์ที่ชื่อว่า ‘เม่นวรรณกรรม’ ควบคู่กับการเป็นเจ้าสำนัก ‘Alternative Writers’ บูธหนังสืออินดี้ที่เปิดพื้นที่ให้คนทำหนังสืออิสระได้ปล่อยของทุกๆ งานสัปดาห์หนังสือ

และล่าสุด เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) วาระปี 2560-2562 บทบาทใหม่ที่เขาคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับแวดวงวรรณกรรมไทยให้คึกคักยิ่งขึ้น

 

 

สถานการณ์โดยรวมของวรรณกรรมไทยตอนนี้เป็นยังไง

ถ้าพูดถึงสถานการณ์โดยรวม ตอนนี้กับสิบปีที่แล้ว ก็ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมสักเท่าไหร่ บางคนอาจมองว่าเลวร้ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ งานวรรณกรรมยังเป็นหมวดที่เติบโตช้า บวกกับที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เริ่มผลิตงานวรรณกรรมของนักเขียนไทยน้อยลง ส่งผลให้ตลาดวรรณกรรมโดยรวมค่อนข้างซบเซา

 

ความยากของการพิมพ์งานวรรณกรรมไทยในยุคนี้ คืออะไร

เนื่องจากกลุ่มคนอ่านวรรณกรรมเติบโตช้ามาก ความยากคือทำอย่างไรให้คนอ่านหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานคนอ่านเดิมก็ยังไม่หายไป สมมติว่าตอนนี้เรามีอยู่ 1,000 คนแน่ๆ แต่มันจะไม่ขยับเป็น 1,500 หรือ 2,000 ในทันทีทันใด จะขยับทีละ 100 หรือ 200 ซึ่งถือว่าเป็นงานหนัก โดยเฉพาะกับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ขยับตัวในแง่ของจำนวนพิมพ์ได้น้อยมาก ส่งผลให้ค่าต้นฉบับที่นักเขียนได้รับ น้อยลงตามสัดส่วนของจำนวนพิมพ์ด้วย นำไปสู่โจทย์สำคัญอีกข้อที่ว่า แล้วนักเขียนวรรณกรรมจะอยู่กันยังไง

จริงๆ ตอนนี้ก็มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่พิมพ์งานของนักเขียนไทยเกิดขึ้นมาพอสมควร แต่เรื่องยากก็คือการยืนระยะ เพราะการทำหนังสือวรรณกรรม จะทำในเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบได้ยาก การที่สำนักพิมพ์ใดจะอยู่ได้ด้วยการพิมพ์งานวรรณกรรมอย่างเดียว ต้องบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ กรณีที่พอเป็นไปได้ก็คือ เจ้าของสำนักพิมพ์อาจมีธุรกิจอย่างอื่นอยู่แล้ว แล้วมาทำตรงนี้เพราะใจรักจริงๆ ซึ่งคนแบบนี้ก็หายากอีกเหมือนกัน (หัวเราะ)

แต่ตอนนี้เราก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ยังทำงานวรรณกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเราก็หวังว่าเขาจะยังทำต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ล้มหายตายจากไปก่อน เกาะกลุ่มกันไปให้ได้ แล้วสุดท้ายฐานคนอ่านจะเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติของมันเอง

 

ตอนนี้มีสำนักพิมพ์ไหนที่น่าจับตาบ้าง

น้องใหม่ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ น่าจะเป็นสำนักพิมพ์ P.S.Publishing ถือว่ามีแนวทางที่ชัด ทำงานออกมาสม่ำเสมอ แล้วก็หากลุ่มคนอ่านของตัวเองเจอในช่วงเวลาที่เร็วมาก อีกสำนักพิมพ์ที่ทำออกมาอย่างสม่ำเสมอก็คือ สำนักพิมพ์สมมติ ส่วนสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่างมติชน หรือแพรวสำนักพิมพ์ ก็ยังเห็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนตัวแล้วยังไม่อยากให้สำนักพิมพ์ใหญ่ละทิ้งงานวรรณกรรมไทย เพราะถ้าเทียบสเกลกันแล้ว ยังไงสำนักพิมพ์ใหญ่ก็มีศักยภาพมากกว่าอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเขาสามารถเป็นเสาหลักในการสนับสนุนงานวรรณกรรมไทย ก็จะทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ คึกคักขึ้นด้วย เพราะสุดท้ายแล้วตลาดหนังสือมันเชื่อมกันหมด ถ้าหนังสือของสำนักพิมพ์ใหญ่ขายดี ก็จะส่งผลต่อตลาดโดยรวม แต่ถ้าเขาซบเซา มันก็จะซบเซาหมดเลย

แล้วในส่วนของ ‘เม่นวรรณกรรม’ วางแนวทางของตัวเองไว้ยังไง

การทำงานวรรณกรรมยังเป็นงานที่เราชอบและถนัดอยู่เหมือนเดิม ในแง่ฟอร์แมตก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อสิบปีที่แล้วสักเท่าไหร่ สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีการนำเสนอของสำนักพิมพ์ การนำเสนอเนื้อหาที่เริ่มคลี่คลายขึ้น ทั้งในแง่ตัวเราเอง รวมถึงแง่สังคม โฟกัสเรายังอยู่ที่งานวรรณกรรมเหมือนเดิม แต่ความเข้มข้นของตัวงานแบบเมื่อสิบปีที่แล้ว อาจลดลงไป

ถ้าเทียบกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ทำหนังสือวัยรุ่น เช่น a book หรือ salmon เราน่าจะเป็นวัยรุ่นที่โตกว่าสองเจ้านี้แน่ๆ คือตั้งแต่วัยรุ่นกลางๆ ไปจนถึงสามสิบต้นๆ วนอยู่แถวนี้ ยังไม่กล้าขยับถึงงานที่เข้มข้นแบบเพื่อชีวิต (หัวเราะ) สิ่งที่เราพยายามมองหาก็คือนักเขียนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเขียนหนุ่มสาว ซึ่งมักจะมีอะไรสดๆ ใหม่ๆ ให้เห็นเสมอ

 

มีสเป็คไหมว่าต้นฉบับหรือนักเขียนในดวงใจ ต้องเป็นแบบไหน

ผมไม่มีสเป็คตายตัว หลายครั้งที่ผมอ่านต้นฉบับบางชิ้นแล้วผมไม่ชอบ แต่ผมรู้ว่ามันดี มันมีศักยภาพบางอย่าง ผมก็จะให้คนอื่นลองอ่าน ถ้าเขาอ่านแล้วโอเค ผมก็รับพิจารณาเหมือนกัน ไม่ได้ยึดจากตัวเองคนเดียว

 

กว่าจะเจอต้นฉบับแต่ละชิ้น ยากไหม กระบวนการกว่าจะพิมพ์ออกมาแต่ละเล่มเป็นยังไง

ยากมากครับ และสมมติว่าถ้าเจอแล้ว ตามปกติเราจะใช้เวลาพัฒนาและขัดเกลาต้นฉบับกับนักเขียนอีกราวๆ 1-2 ปี ซึ่งต้องบอกว่าเป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะในระยะเวลา 1-2 ปีที่ว่านี้ เทรนด์บางอย่างอาจเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นจึงต้องคิดหนักว่า จะทำอย่างไรให้ต้นฉบับที่เราได้มา และคิดว่าเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ สามารถตีพิมพ์ออกไปได้ในระยะเวลาที่เราวางไว้

ต้องยอมรับว่าการใช้เวลาทำงานกับต้นฉบับ 1-2 ปี ถือเป็นความอึดอัดทั้งในมุมของผู้เขียนและสำนักพิมพ์ ในมุมนักเขียน แน่นอนว่าเขาก็ต้องการให้หนังสือออกเร็วๆ แต่ในมุมสำนักพิมพ์ เราก็อยากให้ตัวงานนั้นๆ ได้รับการขัดเกลาให้ดีที่สุด เรื่องเงื่อนไขเวลาจึงถือว่าเป็นอุปสรรคพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่นักเขียนรอไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เรายกการตัดสินใจให้เขา สิ่งเดียวที่เราเรียกร้องจากนักเขียนคือ มาทำงานด้วยกันสักระยะหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อน แล้วเมื่อถึงเวลาจะเห็นผลเอง

 

หมายความว่านักเขียนวรรณกรรมรุ่นใหม่ๆ ก็ยังมีอยู่

ยังมีอยู่ครับ แต่ปัญหาคือทุกวันนี้มันไม่มีการโฟกัส ถ้าเป็นสมัยก่อน เรามีพื้นที่บนนิตยสาร เช่น ช่อการะเกด หรือ Writer ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักเขียนใหม่ๆ ได้แจ้งเกิด หรือกระทั่งนิตยสารอื่นๆ ที่มีเซกชั่นของวรรณกรรม แต่เมื่อพื้นที่แบบนี้หมดไป การโฟกัสจากคนอ่านก็หายไปด้วย

แม้จะมีนักเขียนที่ดังขึ้นมาในยุคของสื่อออนไลน์ แต่ก็มักกระจัดกระจายอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของตัวเอง คนทั่วไปที่สนใจก็ต้องตามไปดูในบล็อก ในเพจ ของคนนั้นๆ เอง มันไม่มีสื่อที่เปิดพื้นที่ให้งานวรรณกรรมไทยอย่างชัดเจนเหมือนสมัยก่อน พอนิตยสารหายไป เรื่องสั้น บทกวี ก็หายไป รายได้ที่นักเขียนเคยได้ก็หายไป นักเขียนเกิดใหม่ก็น้อยลง ส่งผลให้การที่นักเขียนหน้าใหม่สักคนจะหันมาเอาจริงเอาจังทางด้านวรรณกรรมแล้วประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่ยากมาก

 

หรือว่าเทรนด์ยุคนี้ การอยู่ในวงเล็กๆ ของตัวเอง ก็อาจเพียงพอแล้ว

ใช่ ตอนนี้มันเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ถามว่าเป็นปัญหาไหม ถ้าเป็นนักเขียนที่มีพื้นที่หรือมีคนรู้จักอยู่แล้วประมาณนึง ก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาในยุคนี้ อาจหาที่ทางให้ตัวเองได้ยาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งนักเขียนแบบนี้มีอยู่เยอะนะครับ และมีอยู่ในทุกประเภทของงานเขียน ถ้าเขาได้รับการผลักดันที่ถูกต้อง เขาก็อาจก้าวขึ้นไปในระดับสูงได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยเห็นทางเหมือนกัน

 

ปัญหาหลักคือไม่มีพื้นที่ ?

ไม่มีพื้นที่ ไม่มีบรรณาธิการ ไม่มีสำนักพิมพ์ พอสำนักพิมพ์ไม่พิมพ์งานเขา เขาก็ต้องพิมพ์เอง ซึ่งเสี่ยงมาก ถ้าเขาไม่ได้มีฐานคนอ่านที่เยอะขนาดนั้น หรือไม่เคยได้รางวัลอะไรมาก่อน การจะขยายฐานคนอ่านให้กว้างขึ้นก็ลำบาก ซึ่งถ้านักเขียนเหล่านี้ไม่ทำงานต่อเนื่อง หรือไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ไม่นานเขาก็จะจมหายไป

แต่ขณะเดียวกัน ผมสังเกตว่ายุคนี้ก็มีนักเขียนหลายคนที่แจ้งเกิดจากการเขียนบล็อก หรือทำแฟนเพจ พอได้รับความนิยมระดับหนึ่งก็ทำเป็นหนังสือออกมา และสามารถขายในเพจได้เป็นพันเล่ม โดยที่ยังไม่วางร้านหนังสือด้วยซ้ำ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อย่างน้อยๆ ก็เป็นการเอาตัวรอดในช่วงเวลาที่ฝุ่นยังตลบแบบนี้อยู่ แต่สุดท้ายก็ต้องดูกันยาวๆ ว่าเขาจะไปถึงจุดไหนในการเป็นนักเขียนอาชีพ

 

พูดถึงบรรณาธิการ คิดว่านักเขียนรุ่นใหม่หวังพึ่งบรรณาธิการน้อยลงไหม

ไม่นะครับ เพียงแต่ว่าเขาอาจยังไม่เจอ บ.ก. ที่ทำงานร่วมกับเขาได้อย่างดี ผมคิดว่าตัวนักเขียนเองคงไม่ปฏิเสธ บ.ก. แน่ๆ แต่ถ้าเขาได้เจอ บ.ก. ที่ทำงานร่วมกันได้ หรือกระทั่งเป็นคู่หูที่เข้าใจกัน ก็น่าจะทำให้การทำงานของเขาสมบูรณ์ขึ้นด้วย แต่ปัญหาคือคนที่เป็น บ.ก. ในยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ถือว่าหายากมาก บางครั้งหายากกว่านักเขียนด้วยซ้ำ ส่วนตัวยังรู้สึกว่าเป็นตำแหน่งที่แวดวงเรายังขาดแคลนอยู่ โดยเฉพาะ บ.ก. ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักเขียนจริงๆ

 

บรรณาธิการ สำคัญยังไง

สำคัญมากครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเวลาผมเขียนงานเสร็จสักเล่มหนึ่ง แม้จะเป็นงานเขียนของเราเอง พิมพ์กับสำนักพิมพ์เราเอง ผมก็ยังต้องมี บ.ก. ที่ช่วยตรวจความผิดพลาดของตัวเอง ตรวจความทะเล่อทะล่า ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา งานเขียนทุกชิ้นย่อมมีอะไรตกๆ หล่นๆ อยู่เสมอ ทั้งด้านความคิด ด้านความไม่สมจริง กระทั่งรูปประโยคหรือการใช้คำ ฉะนั้นการมี บ.ก. ที่ดี จึงช่วยเราได้เยอะ

แม้แต่นักเขียนที่แจ้งเกิดขึ้นมาจากการเขียนบล็อก หรือทำแฟนเพจ ไม่ว่าคุณจะได้หมื่นไลค์ แสนไลค์ แต่พอถึงเวลาที่คุณต้องทำหนังสือเล่มจริงๆ คุณก็ต้องมี บ.ก. เหมือนกัน แต่จะทำงานกันละเอียดระดับไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง สุดท้ายแล้วหนังสือที่ตีพิมพ์มาก็จะเป็นตัวบ่งบอกเองว่า คุณภาพของมันอยู่ในระดับไหน ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง

 

รวมเรื่องสั้น ‘ทำลาย,เธอกล่าว’ ที่เม่นวรรณกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์ ถือเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ในแง่ของการท้าทายความเชื่อที่ว่า งานรวมเรื่องสั้นเป็นงานที่ขายยาก รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ ‘นักเขียนหญิง’ หน้าใหม่ได้แสดงฝีมือ  อยากรู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

เรื่องนี้ต้องขอบคุณ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มากๆ ในฐานะที่เป็นผู้คัดเลือกนักเขียนหญิงทั้งหมดในเล่มนี้ ซึ่งตั้งต้นมาจาก passion ส่วนตัวของเขาเลย ที่อยากควานหา ‘นักเขียนหญิงที่ใช่’ สำหรับยุคสมัยนี้

วิวัฒน์ก็ไปตามอ่านงานที่นักเขียนเหล่านี้เขียน ทั้งในเฟซบุ๊ก ในบล็อก บางคนไม่เคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อนด้วยซ้ำ มีแค่บทรำพึงรำพันในเฟซบุ๊ก แต่มีเซนส์บางอย่างที่น่าสนใจ ก็ไปติดต่อให้เขาเขียนเรื่องสั้นมา ต้องยอมรับว่าในยุคหลังๆ เราทำงานแบบนี้ได้น้อยมาก คือการไปควานหานักเขียนใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีงานรวมเล่ม หรือไม่เคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน

ความท้าทายก็คือ จะทำยังไงให้มันน่าสนใจ เพราะนักเขียนแต่ละคนก็เป็นหน้าใหม่ทั้งนั้น แต่สุดท้ายเมื่อเราเลือกที่จะทำ เราก็มีความมั่นใจประมาณนึงว่ามันต้องได้ ซึ่งสุดท้ายมันก็ได้จริงๆ

ในฐานะบรรณาธิการ สิ่งที่ประสบความสำเร็จของเล่มนี้ก็คือความสดของนักเขียน มันอาจไม่ใช่เรื่องสั้นที่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยมันเป็นเรื่องที่แต่ละคนคิดและรู้สึกกับมันจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ บ.ก. อยากได้ นักอ่านอยากได้ ก็คือความสด ความใหม่ และความเป็นตัวของตัวเอง งานนี้ถือเป็นงานที่เราคาดหวังน้อย แต่กลับได้รับผลตอบรับที่น่าชื่นใจ

 

ในมุมของการโปรโมต ทำการตลาด ก็น่าสนใจเหมือนกัน และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมา

ที่เล่มนี้มันโดน ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวนักเขียนแต่ละคน ก็มีพลังในการดึงคนอ่านในส่วนของตัวเองด้วย ส่วนเราก็ช่วยผลักดันในส่วนอื่นๆ เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอโปรโมต การจัดงานเปิดตัวหนังสือ หรือกระทั่งการเลือกผู้วาดภาพประกอบที่เหมาะสม ทุกองค์ประกอบที่มารวมกันช่วยผลักดันให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จ

 

ถ้าดูในเรื่องยอดขาย จากที่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้กระแสดี มันขายดีจริงไหม

จริงครับ จากหลายเล่มที่เราทำมา โดยเฉพาะช่วงหลังๆ เราพบว่าถ้าหนังสือเล่มไหนกระแสดี เล่มนั้นก็จะขายดีจริงๆ บางคนอาจมองว่า ทำหนังสือแล้วจะหวังพึ่งแต่กระแส คงไม่เวิร์กเท่าไหร่ แต่ประเด็นคือ บางครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดกระแสขนาดนั้น เหมือนเราแค่ใส่สบู่ลงไป แล้วตีให้มีฟองนิดเดียว หลังจากนั้นก็คือคนอื่นๆ ที่ช่วยกันตีฟองให้เยอะขึ้นมา คนเหล่านั้นก็คือนักอ่าน ซึ่งเราก็หวังว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ (หัวเราะ)

 

ในแง่นี้ หมายความว่าคุณภาพก็ต้องดีด้วย คนอ่านถึงจะช่วยตีฟองได้

ใช่ครับ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ผมมองว่าคนที่ทำสำนักพิมพ์เล็กๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ได้หลอกคนอ่าน อย่างน้อยๆ ก็ต้องอยู่ในระดับมาตรฐานที่คนอ่านจะชอบมัน รักมันได้ อ่านชื่อเรื่อง เห็นรูปเล่ม ซื้อมาอ่านเนื้อใน ก็ยังรู้สึกว่ามันไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าเห็นหน้าปกเป็นแบบนี้ แต่พออ่านข้างในแล้วเป็นอีกแบบ

จริงๆ ตอนเราทำหนังสือแต่ละเล่มออกมา เราก็ตั้งความหวังไว้ประมาณนึงอยู่แล้ว แต่มีหลายครั้งที่เราพบว่า กระแสดีกว่าที่เราคาดไว้ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า เราดูถูกกระแสคนอ่านไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเล่มไหนก็ตาม ต้องเตรียมรับมือไว้เสมอ

 

จากที่ฟังมา สังเกตว่าการโปรโมตหรือการทำการตลาดต่างๆ ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้หนังสือไปถึงมือคนอ่านได้มากขึ้นอย่างชัดเจน

จริงๆ แล้วทุกสำนักพิมพ์ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ น่าจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดอยู่แล้ว ผมคิดว่าทุกเล่มมีการตลาดหมด ไม่มีใครทำหนังสือออกมาเฉยๆ แล้วรอให้คนมาซื้อ แต่มันต้องจุดประกายให้คนเกิดความรู้สึกว่าอยากอ่านด้วย แม้กระทั่งเล่มที่คิดว่าขายได้แน่ๆ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมันเลย ถึงเวลาหนังสือออกมา ก็อาจขายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

แม้บางคนจะบอกว่างานวรรณกรรม ไม่ควรเอาเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง แต่จริงๆ แล้วมันหลีกไม่พ้น เวลาหนังสือเข้าไปวางอยู่ในร้าน ทุกเล่มมีค่าเท่ากันหมด คนอ่านไม่ได้สนใจหรอกว่าสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำ ก็คือการทำให้คนอ่านรับรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่บนโลก และเป็นหนังสือที่น่าอ่านพอที่เขาจะจ่ายเงินเพื่อซื้อมาอ่าน นั่นคือภาระหน้าที่ของฝ่ายการตลาดที่จะต้องทำให้ถึงจุดนั้นให้ได้

 

การมีแพล็ตฟอร์มใหม่บนโลกออนไลน์ ช่วยได้เยอะไหม

ช่วยได้เยอะครับ ถ้าย้อนไปในช่วงที่เราทำสำนักพิมพ์ใหม่ๆ แม้จะรู้ว่าต้องมีเรื่องการตลาด แต่เราก็ไม่สามารถทำการตลาดให้ถึงระดับที่เราต้องการได้ เมื่อก่อนพอเราทำหนังสือเสร็จเล่มหนึ่ง เราก็ต้องส่งหนังสือไปให้นิตยสารต่างๆ เพื่อให้เขารีวิวหนังสือของเรา ซึ่งถ้าคุณไม่มีเส้นสาย ก็ไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะได้รีวิวรึเปล่า อีกวิธีก็คือจ่ายค่าโฆษณาให้นิตยสาร ซึ่งต้องบอกว่าราคาสูงมาก สูงเกินกว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ จะจ่ายให้ได้

แต่ยุคนี้เรามีสื่ออย่างเฟซบุ๊ก ที่เข้าถึงผู้อ่านได้โดยตรง และแม้จะเสียเงินค่าโฆษณา เสียค่าบูสต์โพสต์ แต่ก็เป็นราคาที่ต่ำกว่าสมัยก่อนเยอะมาก สังเกตว่าตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กใช้สื่อออนไลน์ได้ดีมาก นี่คืออาวุธที่ทุกคนมีเท่ากันหมด ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นอาวุธที่จำเป็นต้องใช้ เพราะในแต่ละวันมันมีหนังสือใหม่ออกมาเยอะมาก ถ้าเราไม่ใช้ นักอ่านก็ไม่มีทางรู้

 

 

สังเกตว่าช่วงหลายปีมานี้ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กดูคึกคักและหลากหลายขึ้น คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไง

ข้อได้เปรียบของสำนักพิมพ์เล็กคือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เขาสามารถปรับกลยุทธ์ได้ทันที การบริหารจัดการจะรวดเร็วและคล่องตัวกว่า แล้วสำนักพิมพ์เหล่านี้ก็มักจะรู้จักตลาดของตัวเองดี มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ประเด็นคือสำนักพิมพ์เล็กจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ มันจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนอื่นๆ ด้วย

ล่าสุดที่คุณได้เข้าไปมีบทบาทในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เห็นแง่มุมอะไรใหม่ๆ ในแวดวงนี้บ้าง

การเข้ามาอยู่ในสมาคมผู้จัดพิมพ์ ทำให้ได้สัมผัสว่าความคิดของเราที่เคยมีต่อแวดวงหนังสือ มันเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น ยังมีคนที่คิดแบบอื่นๆ อีกมากมายที่เข้ามาอยู่ในสมาคม ตั้งแต่คนที่ทำธุรกิจล้วนๆ จนถึงคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำวรรณกรรมในสเกลเล็กๆ อย่างเรา

คนที่อยู่ฝั่งธุรกิจ เขาก็จะคิดถึงแต่เรื่องยอดขายจริงๆ แทบไม่ได้สนใจเรื่องเนื้อหาหรือคุณค่าอะไรนัก บางคนบอกว่ายอดตก แต่ยอดในที่นี้คือตัวเลขประมาณ 70-80 ล้าน ซึ่งเราก็ได้แต่มองตาค้าง เพราะทำมาทั้งชีวิตก็ยังไม่เคยได้เท่าเขา ไม่ถึงเสี้ยวด้วยซ้ำ ส่วนฝั่งพวกเราก็มัวแต่ทะเลาะกันเรื่องเนื้อหา ไม่ก็เรื่องรางวัล แต่ยอดขายจะฉิบหายวายป่วงก็ช่างมัน (หัวเราะ)

อีกเรื่องที่เห็นชัดก็คือ ทุกฝั่งล้วนมี agenda และผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ได้พูดออกมาทั้งหมด ว่าปัญหาจริงๆ มันคืออะไร บอกเลยว่าตั้งแต่ผมอยู่ในวงการมา 20 กว่าปี เวลาคนในแวดวงมีปัญหากัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เล็กกับสำนักพิมพ์ใหญ่ ร้านหนังสือเชนสโตร์กับร้านหนังสืออิสระ สำนักพิมพ์กับร้านหนังสือ ไปจนถึงสายส่ง ผมยังไม่เคยการมานั่งล้อมวงคุยเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผ่านมามันคือต่างคนต่างพูด คนละทีสองที แล้วก็พูดเฉพาะส่วนที่ตัวเองเสียประโยชน์เท่านั้น

ตอนรับตำแหน่ง ในกรรมการก็คุยกันว่า อยากจะจัดเวทีเปิดอก ชวนสมาชิกที่เป็นสำนักพิมพ์ต่างๆ มานั่งคุยกัน แต่ก็พบปัญหาอยู่พอสมควรว่า เราจะเรียกมาคุยกันได้ยังไง เพราะแม้แต่ในคณะกรรมการด้วยกันเอง ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าควรจะคุยกันแบบไหน อย่างที่บอกไปว่าแต่ละส่วนก็มีผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องรักษา มี agenda ของตัวเองทั้งนั้น

 

ดูแล้วไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่

ความหวังตอนนี้ ถ้าเราสามารถทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจวิธีคิดของกันและกันได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อาจไม่ได้แก้ปัญหาในทันที แต่อย่างน้อยๆ เขาก็ได้รับรู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร และควรจัดการกับตัวเองยังไง เพื่อให้วงการนี้มันเดินหน้าไปต่อได้ นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะทำให้ได้ภายในวาระสองปี

การที่วงการหนังสือจะเคลื่อนไปได้ มันต้องไปด้วยกันทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น มันต้องเชื่อมกันทั้งระบบ ทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ สายส่ง ไปจนถึงร้านหนังสือซึ่งเป็นด่านสุดท้าย พูดง่ายๆ ว่าต้องสร้างพันธมิตรกัน วงการถึงจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครที่สามารถไปได้ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไปแล้ว

 

ขอย้อนกลับมาถามในฐานะของคนที่ทำงานด้านวรรณกรรม มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเม่นวรรณกรรม ยืนหยัดมาได้จนถึงตอนนี้

ต้องยอมรับว่าพอเราอายุมากขึ้น เราก็เรียกร้องคุณภาพที่มากขึ้นเหมือนกัน แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า คนอ่านไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะนักอ่านหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเอาตัวเราคนเดียวไปจับว่ามาตรฐานแบบนี้ได้หรือไม่ได้ ก็อาจทำให้เราพลาดต้นฉบับที่ดีไปเหมือนกัน ซึ่งผมก็พลาดมาเยอะ (หัวเราะ)

นี่คือเรื่องที่ผมค่อยๆ เรียนรู้ว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่จะตัดสินต้นฉบับนั้นได้ แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกที่น่าจะช่วยเราดู ช่วยเราตัดสินใจ ต้นฉบับที่เราไม่ชอบ ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี

แม้แต่นักศึกษาฝึกงาน หรือกระทั่งลูกชายผม บางครั้งเราก็จะเอาต้นฉบับให้เขาช่วยอ่าน อยากรู้ในมุมของเขาว่าอ่านแล้วรู้สึกยังไง นักเขียนคนนี้มีแววมั้ย ผมรู้สึกว่าเสียงจากนักอ่านรุ่นใหม่คือเสียงที่ควรรับฟัง และเป็นเสียงที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่าบางครั้งเราก็แก่เกินไปสำหรับงานรุ่นใหม่ๆ อันนี้ไม่ปฏิเสธ

 

พูดง่ายๆ ว่าจะยึดวิธีเดิมจากที่เคยทำมาตั้งแต่ยุคแรกไม่ได้แล้ว

ใช่ครับ แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะสามารถควบคุมอะไรได้ดีพอสมควร แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เราสำเร็จวันนี้ พรุ่งนี้อาจล้มเหลวก็ได้ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยปรับตัวเอง พัฒนาผลงานอยู่เสมอ แล้วอย่าไปยึดว่าสิ่งที่เคยดีในยุคสมัยหนึ่ง จะดีตลอดไป นี่คือเรื่องที่ผมพยายามเตือนตัวเองตลอดเวลา เพื่อทำให้สำนักพิมพ์เดินหน้าต่อไปได้

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save