fbpx
จาก ‘ดาวดิน’ ถึง ‘ขบวนการอีสานใหม่’ : จนกว่าบ้านเมืองนี้จะเป็นของประชาชน

จาก ‘ดาวดิน’ ถึง ‘ขบวนการอีสานใหม่’ : จนกว่าบ้านเมืองนี้จะเป็นของประชาชน

 พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ขบวนการอีสานใหม่ ภาพ

-1-

เมื่อเอ่ยชื่อกลุ่ม ‘ดาวดิน’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ปกป้องทรัพยากรร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสาน

ทว่าอีกหลายคน อาจนึกถึงกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาต่อต้าน คสช. ถูกกล่าวหาว่าเป็นลิ่วล้อของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม

และนับตั้งแต่ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ถูกจับกุมด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซี ภาพลักษณ์ของนักศึกษากลุ่มนี้ยิ่งกลายเป็นที่หวาดระแวง

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลาย ทางหนึ่งที่น่าจะทำให้เห็นและเข้าใจอะไรมากขึ้นได้ คือการเข้าไปสังเกตการณ์ในระยะที่ใกล้ขึ้น

-2-

หลังเสร็จสิ้นจากการเยี่ยมไผ่ ดาวดิน ที่ทัณฑสถานพิเศษจังหวัดขอนแก่น ผมแวะไปเยือน ‘บ้านดาวดิน’ ต่อ

นอกจากน้องคนหนึ่งที่นัดหมายกันผ่านทางโทรศัพท์ ผมยอมรับว่าไม่รู้จักใครในนั้นเลย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงคล้ายๆ กับการเดินเข้าถ้ำเสือ ทั้งกลัว ทั้งประหม่า อาศัยรอยยิ้มและความอยากรู้อยากเห็นบังหน้า เดินดุ่มๆ เข้าไปแบบทำใจดีสู้เสือ

ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ แท็กซี่นำผมมาถึงที่หมาย บ้านดาวดินเป็นบ้านไม้สองชั้น มีอาณาเขตรอบๆ พอประมาณ มีพื้นที่ใต้ถุนเป็นเสมือนจุดประจำการ นั่งพูดคุย กินอาหาร ล้อมวงเล่นดนตรี และต้อนรับแขกที่พึงประสงค์

“กินไรมายังพี่” ทันทีที่ก้าวลงจากรถ น้องยุ-พายุ บุญโสภณ คนที่ผมนัดหมายทางโทรศัพท์ เดินเข้ามาทักทาย ก่อนพาผมไปนั่งร่วมวงกับสมาชิกอีก 5-6 คนที่ตั้งวงร้องเพลงอยู่ก่อนแล้ว

“นั่งเลยพี่ กำลังจะทำคอหมูย่างกินกัน”

“ดีๆ เดี๋ยวแจมด้วย”

ระหว่างรอคอหมูย่าง พายุฉวยกลองไม้สี่เหลี่ยมมานั่งเคาะไปพลางๆ ผมยกเบียร์จิบดับความประหม่า จากนั้นบทสนทนาในวงก็ค่อยๆ ลื่นไหล

สมาชิกส่วนใหญ่ในวงเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น มีทั้งชายและหญิง เรียนอยู่ตั้งแต่ปี 2 ปี 4 บางคนเรียนมาจนถึงปีที่ 5 และใครบางคนในกลุ่ม เรียนจบมาแล้วเกือบสิบปี

“จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราถนัดหรอกพี่” พายุเปรยขึ้นมาเรียบๆ เมื่อผมถามถึงเรื่องไผ่และบทบาททางการเมืองของกลุ่มดาวดิน

เขาบอกว่าเรื่องที่ถนัดก็คือเรื่องเดิม ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แต่เหตุผลที่ต้องทำเรื่องการเมืองด้วยอย่างทุกวันนี้ เพราะมันมีผลต่อทุกเรื่องที่ว่ามา

“แล้วสุดท้ายมันคุ้มมั้ย” ผมถามต่อ

“ไม่คุ้ม…” เขาตอบห้วนๆ แล้วเงียบไปครู่หนึ่ง

“ผมว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย อย่างเรื่องพี่ไผ่ ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดหรอกว่าจะโดนจับ แต่พอโดนแบบนี้ การทำเรื่องอื่นมันยิ่งยาก แม้จะเป็นเรื่องเขื่อน เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เคยทำกันมา ก็ยังยาก”

ภายใต้คำพูดที่ฟังดูหมดหวัง พายุบอกว่ายังไงก็ต้องสู้ต่อ

“สู้จนกว่าจะชนะแหละพี่”

-3-

นอกจากกลุ่มดาวดินที่อยู่แนวหน้าของการเคลื่อนไหว อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในช่วงสองสามปีมานี้ คือกลุ่มที่ชื่อว่า ‘ขบวนการอีสานใหม่’

ในวงสนทนาเดียวกัน พบ-กรชนก แสนประเสริฐ คือผู้อาวุโสสุดในวง ระหว่างที่ผมนั่งคุยกับน้องๆ เขานั่งสังเกตการณ์อยู่หัวโต๊ะ สงวนถ้อยคำและท่าที

กว่าผมจะรู้ว่าเขาเป็นใคร ก็ล่วงไปตอนที่เบียร์ขวดสุดท้ายกำลังจะหมด

“เราจะไม่สู้เฉพาะเรื่องทรัพยากรของใครของมันอีกต่อไปแล้ว แต่เราต้องมารวมกัน แล้วต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการต่อสู้เรื่องทรัพยากร นี่คือแนวทางของการเคลื่อนไหวของอีสานรูปแบบใหม่”

นอกจากเป็นสมาชิกดาวดินรุ่นแรก เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอีสานใหม่ คำพูดข้างต้นคือเจตจำนงของการก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา

จุดประสงค์หลักคือเชื่อมโยงเครือข่ายชาวบ้านในภาคอีสาน เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิมนุษยชน เรียกร้องประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่

“เราผุดขึ้นมาจากความแห้งแล้งในหัวใจของผู้ปล้นชิง” คือสโลแกนของกลุ่มนี้

ในฐานะที่เขาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของทั้งสองกลุ่ม ผมจึงถือโอกาสชวนเขานั่งคุยแบบยาวๆ ตั้งแต่จุดกำเนิดของดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ ไปจนถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

กรชนก แสนประเสริฐ - สมาชิกกลุ่มดาวดิน รุ่นที่ 1 และผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอีสานใหม่
กรชนก แสนประเสริฐ – สมาชิกกลุ่มดาวดิน รุ่นที่ 1 และผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอีสานใหม่

จุดเริ่มต้นของ ‘ดาวดิน’ มาจากไหน

ช่วงปี 2547 ผมเข้ามาเรียนนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ปีแรก ได้เป็นอาสาสมัครนักกฎหมาย ไปลงพื้นที่ตามหมู่บ้าน ก็ได้เห็นเรื่องราวของชาวบ้านที่ทำให้เกิดคำถาม “อะไรวะ” อยู่ตลอดเวลา ยิ่งเห็นก็ยิ่งสงสัยว่ามันคืออะไรวะ ทำไมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมมันเหี้ยอย่างนี้

เคสหนึ่งที่ผมเจอคือ คุณยายอายุ 70 ปี ถูกจับข้อหาถางป่า 2,000 ไร่ ติดคุก 20 ปี เจอแบบนี้ก็งงสิ (หัวเราะ) เพราะมันไม่เมคเซนส์เลย ซึ่งพอผมไปคุยกับคุณยายคนนี้ว่าถูกจับยังไง ยายก็เล่าให้ฟังว่า ตอนตำรวจถาม เขาถามยายว่าเอาไม้มาใช้จริงมั้ย ถางป่าจริงมั้ย ยายก็ตอบว่า เอาไม้มาจริง ถางจริง – แค่นั้นแหละ เสร็จเลย ติดคุก 20 ปี

นอกจากนี้ก็มีเคสแปลกๆ อีกมากมาย ซึ่งตอนนั้นมันยังไม่มีโซเชียลมีเดียแบบนี้ พวกเราที่เป็นนักศึกษาด้านกฎหมาย พอลงไปเห็นปัญหา ก็เลยคิดกันว่าต้องตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อนำปัญหาชาวบ้านมาเล่า นำเสนอให้สังคมรับรู้ อย่างน้อยๆ ก็สังคมในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พวกเราก็เลยตั้งกลุ่มกันทำวารสาร ‘ดาวดิน’ ขึ้นมา คอยตระเวนลงพื้นที่ที่มีปัญหา ถ้าช่วยอะไรได้ก็ช่วย แล้วก็เอาเนื้อหาเหล่านั้นกลับมาทำวารสารอีกที

ดาวดิน คือชื่อวารสาร ส่วนชื่อกลุ่มจริงๆ คือ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ทีนี้พอทำไปสักพัก ปรากฏว่าวารสารดาวดินก็เริ่มดัง ทุกคนก็เรียกแต่ดาวดินๆ ไม่ใครเรียกชื่อกลุ่ม ก็เลยกลายเป็นกลุ่มดาวดินตั้งแต่นั้นมา

สมัยนั้นคนก็สนใจกันเยอะ เราทำออกมาได้ประมาณสิบฉบับ ขายฉบับละสิบบาท คนก็ซื้อกันชิบหายวายป่วง ขายใน ม.ขอนแก่น เป็นหลัก แล้วก็ส่งไปให้เพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ทั้งเชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ ปัตตานี

จากนั้นก็มีรุ่นน้องที่เข้ามาช่วยเราทำงานอยู่เรื่อยๆ มีหน้าใหม่เข้ามาทุกปี หลักๆ คือนักศึกษานิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น คอยลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน หลักๆ คือเรื่องปกป้องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

หลังคสช.เข้ามา สังเกตว่ากลุ่มดาวดินออกมาหันมาเคลื่อนไหวด้านการเมืองมากขึ้น เป็นเพราะอะไร

เพราะเรารู้แล้วว่า การสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ต่อให้พี่น้องเราเข้มแข็งแค่ไหน แต่ถ้าเรายังไม่มีสิทธิ์มีเสียง ยังไม่มีความเท่าเทียม บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายเราก็จะแพ้อยู่วันยังค่ำ

ข้อแรกคือเราตรวจสอบไม่ได้ ว่าเขากำลังอะไรกันอยู่ เรื่องไหนไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว สองคือแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ออกไปชุมนุมประท้วงไม่ได้ เมื่อชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจในการเมืองระดับโครงสร้าง เขาก็จะไม่มีสิทธิ์ในการปกป้องทรัพยากรในชุมชนของเขาด้วย

ฉะนั้นแนวทางที่เราต้องทำก็คือ พยายามต่อสู้เรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย ไม่งั้นก็ไม่มีทางชนะ ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่ม ‘ขบวนการอีสานใหม่’

ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เราประชุมกับกลุ่มเครือข่ายพี่น้องในภาคอีสานที่เราทำงานด้วย ว่าจะขับเคลื่อนและแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรอย่างไรในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่สู้เพื่อทรัพยากรอย่างเดียว จึงเกิดเป็นขบวนการอีสานใหม่ขึ้นมา เน้นไปที่การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ส่วนกลุ่มดาวดินก็ยังมุ่งไปที่เรื่องการปกป้องทรัพยากรเหมือนเดิม

 

คำว่า ‘อีสานใหม่’ ตั้งใจสื่อถึงอะไร

เราอยากสื่อว่า เราไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวของอีสานแบบเดิมแล้ว แบบเดิมที่ว่าก็คือ พี่น้องแต่ละพื้นที่ต่างคนต่างสู้ ประเด็นใครประเด็นมัน อย่างมากก็อาจหาจุดร่วม เช่น ต่อต้านเหมืองเหมือนกัน ต่อต้านเขื่อนเหมือนกัน

แต่แนวทางของเรา เราจะไม่สู้เฉพาะเรื่องทรัพยากรของใครของมันอีกต่อไปแล้ว แต่เราต้องมารวมกัน แล้วต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการต่อสู้เรื่องทรัพยากร นี่คือแนวทางการเคลื่อนไหวของอีสานรูปแบบใหม่

แล้วการเคลื่อนไหวในแนวทางนี้ มีความเสี่ยงแค่ไหน ต้องเตรียมรับมืออย่างไร

ตอนที่ คสช. เข้ามาใหม่ๆ เราก็ปรึกษากันตลอดว่าจะเอายังไง แน่นอนว่าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่แล้ว ซึ่งพอเกิดรัฐประหารจริงๆ ช่วงแรกเราก็ยังทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน เพราะมันเข้มมาก ขยับอะไรแทบไม่ได้เลย

ทีนี้จะมีช่วงที่ประยุทธ์มาขอนแก่น น่าจะเป็นการมาขอนแก่นรอบที่สอง เราก็คุยกันว่าจะเอายังไง ที่นี้ไอ้ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา-ดาวดินรุ่นที่ 7) มันรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อแสดงออกว่าเราไม่เอารัฐประหาร สุดท้ายเลยตกลงกันว่า จะไปขวางหน้าประยุทธ์ เป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ไผ่ออกไปชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์

ถามว่าเสี่ยงไหม มันเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถามว่าเสียใจกับสิ่งที่ทำไปไหม ไม่เสียใจ ถ้าจะมีเรื่องที่เสียใจ คงมีอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องไผ่ เพราะมันไม่น่าติดคุกแบบนี้

ความต่างในการต่อสู้เรื่องทรัพยากรในพื้นที่ ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้ง กับรัฐบาลทหาร เป็นยังไง

ยากขึ้นมาก หนึ่งคือเขาใช้อำนาจแบบไม่มีขื่อไม่มีแปเลย ชาวบ้านหลายคนถูกข่มขู่ คุกคาม ติดตาม จนแทบทำอะไรไม่ได้ รวมถึงสิ่งที่เขาอ้างขึ้นมามั่วๆ เช่น ครั้งหนึ่งมีกลุ่มพี่น้องจากอำเภอกระนวน ใส่เสื้อเขียวของกลุ่มอนุรักษ์ นั่งรถกระบะเข้ามา เพื่อจะมาร่วมสัมมนาในตัวเมืองขอนแก่น พวกทหารตำรวจก็ไปโบกให้จอด บอกว่าใส่เสื้อเขียวแบบนี้ เข้าเมืองไม่ได้ นี่คือการขู่เอาแบบมั่วๆ อ้างเหตุผลอะไรก็ได้ เพราะถือว่าตัวเองมีอำนาจ

ยังไม่นับหลายโครงการที่ชาวบ้านต่อสู้มาเป็นปี แล้วมาผ่านฉลุยในยุคนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขาค้านกันมาแทบตาย เช่น กลุ่มเหมืองแร่โปแตส ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมากในภาคอีสาน พี่น้องสู้กันมา 16 ปี แต่พอ คสช. เข้ามาไม่กี่ปี โครงการนี้ทะลุมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เพราะมันเล่นไปจัดเวทีประชาคมในค่ายทหาร ซึ่งใครจะตามไปคัดค้านคุณได้

ถ้าย้อนไปช่วงที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การทำงานในเรื่องเดียวกัน เป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ ไล่มาจนถึงอภิสิทธิ์ หรือใครก็ตาม ถามว่าการทำงานยากมั้ย ก็ยาก แต่อย่างน้อยเรายังพูดได้ แสดงออกได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าชาวบ้านออกมาม็อบ จะไม่มีการขู่ว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ

ถ้าให้เทียบแบบสุดโต่งเลย คือต่อให้ทักษิณได้รับเสียงข้างมากขนาดไหนก็ตาม มีอำนาจขนาดไหนก็ตาม แต่มันก็ยังมีกลไกที่สามารถใช้ตรวจสอบในหลายๆ เรื่องได้ ทักษิณก็เคยทำเรื่องเลวร้ายมากมายในอีสาน แต่เราก็ยังพูดได้ มีช่องทางให้ตรวจสอบได้ แต่กับ คสช. เราทำอะไรแทบไม่ได้เลย ทำอะไรก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางไปหมด

แม้กระทั่งเวทีวิชาการ ก็ยังจัดลำบาก ซึ่งต้องบอกเลยว่า นอกจากการใช้อำนาจของทหาร ภาคส่วนอื่นๆ ก็ต่างหวาดระแวงกันหมด

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ม.ขอนแก่น ในฐานะที่คุณเป็นสถานที่ทางวิชาการแท้ๆ แต่เวลาเราจะขอจัดเวทีวิชาการ หรือจัดงานอะไรสักอย่าง คุณกลับบอกให้ไปขอทหารก่อน ทั้งที่เราจะคุยกันเรื่องทรัพยากร ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองด้วยซ้ำ แล้วพอเราไปขอทหารได้แล้ว ก็ยังมีลูกตุกติกอีกต่างๆ นานา เช่นการอ้างว่า กลุ่มดาวดินไม่ใช่ชมรมของมหาลัย ใช้สถานที่ไม่ได้ เป็นข้ออ้างที่ตลกมาก

ในฐานะรุ่นพี่กลุ่มดาวดิน มองกรณีที่ไผ่ถูกจับยังไง

ผมคิดว่ามันก็ทำในสิ่งที่สุจริตชนทั่วไปคิดว่าไม่ผิด แต่ครั้งนี้ที่มันโดน ก็เพราะมันคือคนที่ยืนอยู่แถวหน้าในการออกมาต้าน คสช.

ที่เห็นชัดคือเรื่องกระบวนการยุติธรรม ผมพูดได้เลยว่านี่เป็นยุคที่กระบวนยุติธรรมเละเทะมากที่สุด อย่าลืมว่าคนที่แชร์โพสต์เดียวกับไผ่ มีเป็นพันคน แต่ไผ่ถูกจับคนเดียว ทั้งตำรวจ

อัยการ และศาล ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยการเลือกปฏิบัติ ไผ่ไม่ควรโดนแบบนี้ และไม่มีใครที่ควรโดนแบบนี้

จากที่ผมได้คุยกับหลายๆ คน ทั้งที่เป็นชาวบ้าน และเป็นนักกิจกรรมด้วยกัน เราเห็นคล้ายๆ กันว่า คสช. พลาดมากที่จับไผ่ เพราะมันทำให้คนทั่วไปเห็นและรู้สึกได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรม

แล้วถ้ามีคนถามย้อนว่า ไม่ได้ทำผิด แล้วจะกลัวอะไร

เราไม่ได้กลัว (ตอบทันที) เขานั่นแหละที่กลัว

‘เขา’  หมายถึงใคร

หมายถึง คสช. และคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมของคดีนี้ทั้งหมด คุณกำลังกลัวประชาชนอยู่รึเปล่า ถึงต้องทำขนาดนี้

คุณบอกว่าไม่กลัว แล้วชาวบ้านคนอื่นเขากลัวไหม เพราะในสถานการณ์แบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้

ก็คงมีบ้าง แต่คนที่ไม่กลัว แล้วหันมาร่วมต่อสู้เรื่องนี้ร่วมกัน ผมว่ามีมากกว่า

กรชนก แสนประเสริฐ - สมาชิกกลุ่มดาวดิน รุ่นที่ 1 และผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอีสานใหม่

แล้วคุณคิดยังไงกับกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่อยู่ในเมือง

เขาก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา เช่นเดียวกับที่เราออกมาต่อสู้เรื่องทรัพยากร เรื่องความเท่าเทียม หรือเรื่องประชาธิปไตย

ถึงเวลาเราก็ต้องออกมาเคลื่อนไหว เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็สามารถทำได้ ถ้าคุณเห็นว่าบางอย่างมันเป็นปัญหา คุณก็ออกมาชุมนุมสิ เหมือนตอนที่คุณออกมาชุมนุมกับ กปปส.

แต่ประเด็นคืออย่าล้ำเส้นกัน คุณใช้สิทธิ์ของคุณ ผมก็ใช้สิทธิ์ของผม ยกตัวอย่างเวลาชาวบ้านปิดถนน เขาไม่ได้ปิดถนนกันเล่นๆ นะครับ แล้วเขาไม่เคยไปขัดขวางการชุมนุมของใคร

ในทางกลับกัน เวลาที่พวกเราอยากเลือกตั้ง คุณมาขวางพวกเราทำไม แบบนี้แปลว่าคุณล้ำเส้นแล้ว และมันสะท้อนว่าชาวบ้านที่พวกคุณดูถูกว่าไม่มีความรู้ เขาเข้าใจเรื่องสิทธิ เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย มากกว่าพวกคุณเสียอีก

แล้วคนเมืองจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาของชาวบ้านไหม

ไม่จำเป็น เราไม่เรียกร้องให้เขามาเข้าใจหรอก เพราะมันเป็นปัญหาของเรา เป็นปัญหาของชาวบ้าน เป็นปัญหาของคนอีสาน ซึ่งเป็นหน้าที่เราที่ต้องหาทางแก้ปัญหา เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นปัญหา คุณก็ออกมาต่อสู้ในแบบของคุณ แต่การมาห้ามไม่ให้เราสู้ ห้ามไม่ให้เราไปเลือกตั้ง แบบนี้มันล้ำเส้น

ชาวบ้านในภาคอีสาน เริ่มตระหนักเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมว่าเขารู้มานานแล้ว คำว่าโง่จนเจ็บที่พูดๆ กัน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ จนและเจ็บจากการต่อสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจนายทุน

ถ้าคุณลองเข้าไปตามหมู่บ้าน ทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนกันชิบหายวายป่วง มีช่วงหนึ่งราคาข้าวอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน ราคายางเหลือ 3 กิโล 100 ทำไมเขาจะไม่เดือดร้อน เขาเดือดร้อนแต่เขาพูดไม่ได้ พูดปุ๊บก็โดนจับ ยังไม่นับโครงการที่บริษัทใหญ่ๆ ร่วมมือกับรัฐ ถึงเวลาก็เข้ามาทำแบบปุบปับเลย ไม่ถามชาวบ้านเลย ซึ่งพอชาวบ้านออกมาสู้ ออกมาค้าน คุณก็จับเขา ข่มขู่เขาด้วยสารพัดวิธี

อีสานเป็นแบบนี้มานาน ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ที่เริ่มมีแผนพัฒนา อยู่ดีๆ ก็บอกว่าจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วก็ไล่ชาวบ้านออกไปหมด ใครออกมาค้านก็เจอข้อหาคอมมิวนิสต์

ประวัติศาสตร์อีสานเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับมาโดยตลอด ตั้งแต่ 2475 ด้วยซ้ำ ถามว่าเขารู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมคิดว่ารู้มานานแล้ว เพราะเขาประสบกับสิ่งเหล่านี้มา ต้องต่อสู้มาโดยตลอด

ช่วงรัฐประหาร 2549 สถานการณ์อาจยังคลุมเครือ ชาวบ้านยังมีความรู้สึกก้ำกึ่งอยู่บ้างว่า รัฐประหารช่วยให้บ้านเมืองสงบ ยังมีความหวังว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็จะได้เลือกตั้งใหม่

แต่รัฐประหาร 2557 เราเห็นชัดเลยว่า ชาวบ้านที่เราทำงานด้วยทั้งหมด แทบไม่มีใครสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งถ้าย้อนไปช่วงก่อน คสช. ทำรัฐประหาร มันมีสัญญาณบ่งชี้มาสักพักแล้ว จากการที่ทหารเริ่มลงมาใช้อำนาจแบบบ้าพลังมาก เช่น การเอาทหารลงไปจัดเวทีเรื่องปิโตรเลียมในอีสาน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ทหาร แต่นี่ทหารลงมาเล่นเอง คุมเองหมด หรือช่วงก่อนรัฐประหารหนึ่งสัปดาห์ ทหารก็จับชาวบ้านไปมัดไว้หลังเขา เพื่อจะขนแร่ออกไป พูดง่ายๆ ว่ามันมีการโชว์พาวเวอร์บางอย่าง เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้กูใหญ่ที่สุดในประเทศ

ถึงตอนนี้ ผ่านมาสามปีกว่าๆ ชาวบ้านเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าเรื่องการเมืองเชิงโครงสร้าง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความไม่เท่าเทียม กับการต่อสู้เรื่องทรัพยากรในพื้นที่ สุดท้ายมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะตราบใดที่เรายังไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจเชิงโครงสร้าง การต่อสู้ในพื้นที่ก็ไม่มีทางสำเร็จได้

นี่คือพัฒนาการของชาวบ้าน เช่นเดียวกับพัฒนาการของเรา เราคิดวิเคราะห์ได้แล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่เรื่องดี เจตนาของเราคือการแสดงออกว่าไม่เอารัฐประหาร เพราะมันไม่ใช่ของดี

 

ในมุมของนักเคลื่อนไหว คุณคงทราบว่ามีเอ็นจีโอบางกลุ่ม บางคน เข้าไปมีบทบาทอยู่ในรัฐบาลเผด็จการ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ต้องบอกก่อนว่า เอ็นจีโอประเภทที่ว่านี้ มีอยู่จริง แต่ผมคิดว่ายังเป็นส่วนน้อย เพราะทุกวันนี้เอ็นจีโอก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อความคิดของชาวบ้านอยู่พอสมควร

แต่เมื่อพูดถึงเอ็นจีโอที่ไปเข้าร่วมกับเผด็จการ ผมคิดว่าเขายังยึดติดกับความคิดที่ล้าหลังอยู่ ลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าพี่ๆ เอ็นจีโอส่วนหนึ่งที่เข้าไปเป็น สนช. ทุกวันนี้ เขาก็หวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ต้องใช้วิธีการพิเศษก็ตาม ซึ่งในมุมของเรา เรารับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ในเมื่อเขาเลือกเดินทางนี้ สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ คุณยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ว่าคุณถูกเขาหลอกมากี่ปี

แล้วจนถึงทุกวันนี้ การที่เขาให้คุณเข้าไปเป็นกรรมการ เข้าไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆ คุณได้รับอะไรที่คุณคาดหวังบ้างรึยัง จนแล้วจนรอดข้อเสนอของชาวบ้านก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ มันสะท้อนว่าคุณไม่ได้เชื่อในพลังประชาชนจริงๆ เพราะการที่คุณเอานโยบายบางอย่างไปซุกใต้ปีกเผด็จการ แล้วหวังว่ามันจะเป็นจริงขึ้นมาได้ แปลว่าคุณไม่เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องนโยบายได้ด้วยตัวเขาเอง คุณจึงต้องไปพึ่งบารมีเผด็จการ

ถึงที่สุดมันสะท้อนว่าคุณไม่ได้เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และไม่เชื่อในศักยภาพของชาวบ้านเลย

แล้วสมมติ ถ้าเขาเถียงว่า วิธีการที่เขาทำอยู่ มันน่าจะส่งผลในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า

ก็เถียงไป แต่เราก็เห็นกันอยู่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มันไม่เคยได้ผลเลย ไม่มีเรื่องไหนสำเร็จเลย สิ่งที่เห็นมีแต่การเสวยสุขของพวกเขาเท่านั้น ปัญหาที่เคยมี ก็ยังมีเหมือนเดิม บางพื้นที่เดือดร้อนหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ แล้วสิ่งที่คุณทำอยู่คืออะไร ทำไมคนเหล่านี้ถึงยังไม่หายโง่สักที

มองไปข้างหน้า เป้าหมายใหญ่ของขบวนการอีสานใหม่ คืออะไร

เป้าหมายใหญ่ของเราคือการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราต้องการให้บ้านนี้เมืองนี้เป็นของประชาชน ประชาชนต้องมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะเอาการพัฒนาแบบนี้ ไม่เอาแบบนั้น เลือกได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาเขื่อน เอาหรือไม่เอาเหมือง ทุกคนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะเอาอะไร แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ เราก็ต้องทำให้พี่น้องเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อน

จนถึงตอนนี้ เห็นผลอะไรบ้างรึยัง

ที่แน่ๆ คือชาวบ้านเริ่มเห็นแล้วว่า การเมืองเชิงโครงสร้างกับการขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ เป็นเรื่องเดียวกัน จากแต่เดิมที่เคยต่างคนต่างสู้ ประเด็นใครประเด็นมัน แต่ตอนนี้ทุกคนกลับรู้สึกว่าเราต่างเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันหมด แล้วเครือข่ายชาวบ้านเหล่านี้ก็ขยายจำนวนขึ้นตลอดเวลา ทั้งสมาชิกที่เป็นตัวบุคคล และสมาชิกเชิงพื้นที่

แล้วถ้ามองไปข้างหน้า กระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายใหญ่ได้ ก็คือการรวมตัวกันในนามของ ‘พรรคสามัญชน’

สมาชิกของพรรคสามัญชนคือคนกลุ่มไหน แนวทางและนโยบายเป็นอย่างไร

ความตั้งใจของเราคืออยากให้เป็นพรรคของสามัญชนคนธรรมดา ถามว่าครอบคลุมคนกลุ่มไหน มีจำนวนเท่าไหร่ อาจตอบได้ไม่ชัด เพราะยังไม่มีการจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรม แต่แนวคิดการจัดตั้งพรรค เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 52-53 สมาชิกหลักๆ ก็คือกลุ่มเครือข่ายประชาชนที่เราทำงานด้วย ไปจนถึงกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ

ส่วนแนวทางของพรรค เราจะใช้วิธีที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ตั้งแต่การประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการพรรค เมื่อได้กรรมการแล้ว เราจะให้ตัวแทนแต่ละพื้นที่เป็นคนเสนอนโยบายขึ้นมา เพราะคนในพื้นที่คือคนที่เข้าใจปัญหาดีที่สุด ต่างจากพรรคอื่นๆ ที่สร้างนโยบายขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาไปนำเสนอประชาชน

ทั้งนี้ สิ่งที่ว่ามาจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมีกระบวนการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ลงสู่สนามได้ แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ ยังมองไม่ค่อยเห็นความหวังเท่าไหร่ ด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่ถูกล็อคไว้เพื่อปูทางให้กลุ่มอำนาจเดิม

กรชนก แสนประเสริฐ - สมาชิกกลุ่มดาวดิน รุ่นที่ 1 และผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอีสานใหม่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save