fbpx
อนาคตสังคมไทยยามไร้ คสช. : พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช.

อนาคตสังคมไทยยามไร้ คสช. : พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช.

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

“มีใครสามารถตอบได้ไหมว่าเราจะยุติความขัดแย้งความรุนแรงโดยอะไร ในช่วงจุดวิกฤตนั้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว เราจะยุติเหตุการณ์ตรงนั้นอย่างไรก่อนที่ คสช. หรือกองทัพจะเข้ามา” 

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) ที่ทำหน้าที่ตั้งแต่ดูแลอำนวยความสะดวกกิจกรรมอาสาของทหาร ไปจนกระทั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคดี ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถาม 101 เมื่อถูกถามถึงบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย

จากเย็นย่ำวันที่ 22 พ.ค. 2557 สังคมไทยรู้จักเห็นหน้าเห็นตา คสช. เป็นครั้งแรก จากการกระทำรัฐประหารเข้าปกครองบ้านเมืองแทนรัฐบาลพลเรือน บนท้องถนนที่มีรถถังและกำลังพลควบคุมอำนาจเวลานั้น มาถึงวันที่น้องเกี่ยวก้อย มาสคอตอาสาลงเดินแจกเอกสารสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ก็เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

เมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อีกไม่นาน บทบาทของ คสช. อย่างเป็นทางการก็จะยุติลง  ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวนโฆษก คสช. ประเมินการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการสร้างความปรองดองและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

คสช. คิดอย่างไรกับแนวคิดลบล้างผลพวงรัฐประหาร การดำเนินคดีกับกองทัพ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

บุคลิก หน้าตา และจิตใจของสังคมไทยที่ คสช. อยากเห็นกับประชาชนอยากเห็นนั้นต่างหรือเหมือนกันหรือไม่

และหากถึงวันที่สังคมไทยไร้ คสช. ล่ะ ? – 101 อยากชวนจินตนาการถึงวันนั้นไปพร้อมๆ กันกับคำอธิบายของโฆษก คสช.

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ คสช. รู้สึกเป็นห่วงและท้าทายมากที่สุดคืออะไร

ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าหลังจากนี้ไประยะเวลาอีกประมาณหนึ่งปีหรือไม่ถึงดี คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาพรรคการเมืองใหม่มีการเปิดตัว จดทะเบียนพรรค ตามด้วยพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่เดิมก็ต้องตรวจสอบสมาชิกพรรค เราจะเห็นความเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมาว่ามีการเตรียมการกันอย่างคึกคัก เป็นไปตามกฎหมายที่ให้พรรคการเมืองดำเนินการไปตามขั้นตอนต่างๆ

สิ่งที่ คสช. ต้องดำเนินการคือรักษาสภาวะแวดล้อมให้บ้านเมืองเกิดความปกติสุข การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ คสช. สนับสนุนอยู่ต้องดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง และก็หวังให้อนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไปจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน เป็นที่เชื่อมั่นต่อมิตรประเทศทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาค

สิ่งที่อาจจะเป็นข้อห่วงใยหรือข้อกังวลก็คือว่า จะทำอย่างไรในช่วงรอยต่อนี้ จากการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล คสช. ไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าต้องเรียบร้อยไม่สะดุด ไม่มีปัญหาอุปสรรค เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อนั้น คสช. ก็จะหมดภาระหน้าที่ลง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนก็คิดเหมือนกัน คสช. ก็คิดเหมือนกับพี่น้องประชาชน

จากที่ คสช. บอกกับประชาชนว่า เข้ามาเพื่อสร้างความปรองดอง จนถึงวันนี้ประเมินว่าทำสำเร็จไหม

พูดถึงหลักการแล้ว กระบวนการในเรื่องความสามัคคีปรองดอง หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง เป็นผู้ดูแล สิ่งที่ท่านได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนคือ สร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย ผ่านการดำเนินการที่จัดโดยกองทัพภาคต่างๆ และ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)

ผลผลิตที่ออกมาก็คือสัญญาประชาคม 10 ข้อ ได้แก่ 1. คนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง เข้าใจระบอบประชาธิปไตย ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและกรอบกฎหมาย ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ยอมรับผลการเลือกตั้ง และร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ แก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา 2. คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา ประยุกต์ใช้ในชีวิต 3. คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม 4. คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข

6. คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 7. คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน 8. คนไทยทุกคนพึงตระหนักในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี 9. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 10. คนไทยทุกคนพึงเรียนรู้ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

ที่ผ่านมาทางรัฐบาลก็นำ 10 ข้อดังกล่าวไปเผยแพร่ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืน ตรงนี้เป็นผลรูปธรรมที่เกิดจากกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ อาจต้องใช้เวลา แต่สิ่งแรกบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยก่อน อะไรที่ยังค้างคาใจไม่เข้าใจกันก็ใช้เวลาใช้การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง ตามหลักยุทธศาสตร์ของชาติที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความมั่นคง

เรื่องคอร์รัปชันที่ คสช. ประกาศเอาจริงเอาจัง ถึงวันนี้ถือว่าลุล่วงไหม

มันมีทั้งการตรวจพบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ มีทั้งการร้องเรียนจากภาคประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจพบ คสช. ก็ไม่ได้ปิดบังอำพรางหรือเก็บงำ ทุกอย่างที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องไม่โปร่งใสไม่บริสุทธิ์ก็ต้องถูกตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้รังแกหรือกลั่นแกล้ง เป็นไปตามกรอบกฎหมายและอำนาจหน้าที่อาจจะใช้เวลาเร็วบ้างหรือช้าบ้าง อยู่ที่รายละเอียดของพยานหลักฐาน

สิ่งที่ คสช.ตั้งใจทำ คิดว่ารัฐบาลปกติสามารถทำได้ไหม พูดกันถึงที่สุด ถ้าไม่มีรัฐประหาร สังคมไทยจะได้รับการแก้ปัญหาที่ คสช. ตั้งใจแก้ไหม

ต้องขอชี้แจงว่า ก่อนหน้าเดือนพฤษภาคม 2557 ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าบ้านเมืองในขณะนั้นมาถึงจุดที่ขัดแย้งกันทางความคิดและมีการใช้อาวุธกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือฝ่ายที่ขัดแย้งกัน เราเห็นผู้สูญเสียและบาดเจ็บจากความไม่สามัคคีปรองดอง เวลานั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้โอกาสสังคม ประกาศกฎอัยการศึกก่อน และให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งมาหารือกันเพื่อหาแนวทางและหาทางออกที่ดีที่สุดของประเทศชาติตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 22 พ.ค. เป็นช่วงเวลาสำคัญ

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจเข้าควบคุมอำนาจในการบริหารประเทศ จากวันนั้นผ่านมาถึงวันนี้ประมาณสี่ปี คสช. ดูแลเรื่องสำคัญประการแรกคือการแยกกลุ่มที่กำลังขัดแย้งกันอย่างหนักออกไปให้ระงับสติอารมณ์ และกลับไปสู่ความสงบเบื้องต้นก่อน คนที่เป็นแกนนำและแนวร่วมมวลชนก็แยกออกจากกัน เราค่อยๆ คลี่คลายสถานการณ์ แก้ปัญหาจราจร เอาสิ่งที่กีดขวางทางสาธารณะออกไป แก้ปัญหาการไม่เคารพกฎหมาย ไปจนกระทั่งแก้ปัญหาจากการที่ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้

ตามมาด้วยการจัดระเบียบสังคมใหม่ ทั้งการทวงคืนแม่น้ำลำคลอง การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ การจัดระเบียบรถตู้รถโดยสารสาธารณะ ทวงคืนพื้นป่า ทวงคืนทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นของส่วนรวมคืนกลับสู่สาธารณะ ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง จับบ่อนการพนันและอาวุธสงคราม

เราทำให้สถานการณ์บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาจนถึงวันนี้ ก็เห็นว่าพัฒนาการในการทำงานของ คสช. มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ ก็ใช่ว่าจะหมดไป ปัญหาบางเรื่องถูกเก็บงำมาเป็นระยะเวลาหลายปี ก็ต้องทำงานต่อไป

เพราะฉะนั้นเวลานี้บ้านเมืองต้องเป็นปกติสุข มีความสงบเรียบร้อย ทุกคนเคารพกฎหมาย ในขณะที่รัฐบาลก็บริหารราชการแผ่นดินและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องคอร์รัปชันซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป เราอาจจะไม่หันไปโทษว่าปัญหานี้เกิดขึ้นมาสมัยนั้นหรือสมัยนี้ แต่เมื่อตรวจพบก็ไม่ได้เพิกเฉยหรือว่าไม่ดำเนินการใดๆในทางกฎหมาย เพราะ คสช. พยายามรักษากฎหมาย ให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ อย่างเท่าเทียมกันและไม่ไปละเมิดสิทธิใคร

บรรยากาศทางการเมืองกำลังค่อยๆ เปิด ส่วนหนึ่งคงเป็นความตั้งใจของ คสช. เองด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีการดำเนินคดีกับคนที่ออกมาทวงถามการเลือกตั้ง  คสช. คิดอย่างไรกับข้อเรียกร้องเหล่านั้น โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่เห็นแตกต่างจาก คสช. หรือรัฐบาล ในแง่ดีเราอาจจะมองได้ว่าทุกคนพูดว่า คสช. เป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่เราไม่เคยไปปิดกั้นการแสดงออก ที่ผ่านมามีการแสดงออกในหลายรูปแบบ หลายกิจกรรม เป็นกิจกรรมทางวิชาการ เป็นการชุมนุมเรียกร้องทั้งการเดิน การยืนหนังสือร้องเรียน หลายเรื่องเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสให้สื่อหรือประชาชนทั่วไปเห็นว่ามีการเอื้ออำนวย ไม่มีภาพความรุนแรง ทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ

คนที่บอกว่าถูกจำกัดเสรีภาพ ถูกลิดรอนละเมิดสิทธิ แต่ข้อเท็จจริงดูการปฏิบัติของ คสช. สิครับ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราพยายามที่จะรักษาบรรยากาศเอื้ออำนวยให้พี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันมีโอกาสพูด มีโอกาสแสดงความเห็นในแทบจะทุกทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางสาธารณะ ทางออนไลน์หรือทางสื่อสังคม ค่อนข้างที่จะมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างแท้จริงหรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอื่นๆ ที่เขามีความเข้มงวดกว่านี้ด้วยซ้ำ

ตรงนี้อยากจะบอกให้ทราบว่าไม่ใช่เป็นการละเมิดหรือปิดกั้น เพราะมีการให้โอกาสเต็มที่ อย่างไรก็ตามบ้านเมืองเราปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ยังอยู่ในภาวะที่ คสช. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะ คสช. ต้องรักษาภาวะแวดล้อมให้บ้านเมืองสงบสุข เตรียมเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจมาจากการเลือกตั้ง

เอาล่ะ วันนี้ยังไม่ถูกใจ ยังไม่ตรงใจ ไม่ได้ดั่งใจคนที่อยากจะเลือกตั้งในปีนี้ แต่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศก็รับรู้ร่วมกันว่าตามโรดแมปนี้ โดยหลักของกฎหมายก็คือในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปอาจจะช้าไป 30 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน ก็ขอให้ใจเย็นๆ เพราะว่าเราอธิบายได้ด้วยหลักกฎหมาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่เราจะเลื่อนออกไปโดยอำเภอใจ ไม่ใช่จู่ๆ อยากจะเลื่อน แต่เป็นการเลื่อนโดยหลักของกฎหมายซึ่งมีรายละเอียดของการปฏิบัติ และก็ไม่ใช่อำนาจของ คสช. เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ฝ่ายกฎหมายเขากำหนดขึ้นมา ทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อมีกลุ่มที่เห็นต่างหรืออยากเห็นการตั้งเลือกตั้งในปีนี้ เราก็พยายามอธิบายผ่านสื่อว่าหลักการเป็นแบบนี้นะ ขอให้ใจเย็นๆ บ้านเมืองกำลังเดินต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลือกตั้ง แต่ช้าไปนิดนึง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือฝ่ายปกครองจะได้เตรียมการอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่ตะกุกตะกัก สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกคนคาดหวังว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

เป็นความตั้งใจของ คสช. เองไหมที่เลือกใช้กฎหมายดำเนินคดี แทนที่จะใช้กำลังปราบปราม

คสช. พยายามศึกษาประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย การใช้เจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติหน้างานแล้วเกิดภาพกระทบกระทั่งกันกับพี่น้องประชาชน ไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใดทั้งสิ้น การบังคับใช้กฎหมายมีขั้นตอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน ผมเรียนเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง แต่เราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ก่อนที่ คสช. จะไปบังคับใช้กฎหมายร้องทุกข์กล่าวโทษ เราจะออกมาพูดทุกครั้งว่าถ้าดำเนินการเช่นนั้นน่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายในลักษณะไหน เราเตือนทุกครั้งก่อนจะมีการชุมนุม ถ้าคุณชุมนุมในที่สาธารณะ อาจเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. แต่ถ้าคุณทำในที่ที่ไม่ใช่สาธารณะ เป็นแนววิชาการ ทำในสถานศึกษา มีการขออนุญาต เราก็เพียงแค่ติดตามดูความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม เช่น การดูแลการจราจร ดูแลความปลอดภัย

แต่เมื่อคุณจะชุมนุมในที่สาธารณะ การชุมนุมของคุณอาจไปกระทบกระทั่งประชาชนโดยทั่วไปหรือไปละเมิดสิทธิเขา เราก็ต้องเตือนก่อนว่าทำเช่นนี้คุณต้องยอมรับผลที่จะเกิดตามมา คสช.ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนการดำเนินการทางคดีความก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียน เขาก็ต้องไปดำเนินรวบรวมพยานหลักฐาน และไปแจ้งความ เข้าไปสู่กระบวนการของอัยการ และศาลยุติธรรม ถ้าอัยการเห็นว่าน้ำหนักไม่เพียงพอก็ไม่ส่งฟ้อง ไปถึงศาล ศาลอาจจะไม่ประทับรับฟ้องก็แล้วแต่ แต่ คสช. มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์

แม้จะเห็นว่าอัยการไม่ส่งฟ้อง หรือศาลไม่รับฟ้อง แต่ในทางอารมณ์สังคม คสช. ก็อาจลดอุณหภูมิลงได้ ทำไมยังต้องเดินหน้าฟ้องอยู่

เราพยายามบังคับใช้กฎหมาย แต่ว่าผลจะไปถึงแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่อง มันชี้ให้เห็นว่า คสช. ก็ไม่ได้มีอำนาจไปก้าวล่วงในฝ่ายตุลาการ ตรงนี้เป็นประเด็นที่อยากชี้ให้เห็น  คสช. ไม่ได้ไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงอำนาจต่างๆ  หัวหน้า คสช. เองก็ไม่ได้สั่งฝ่ายตุลาการได้ ผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่ในขณะที่เราบังคับใช้กฎหมาย ต้องการให้ทุกคนอยู่ภายใต้สภาวะบ้านเมืองที่สงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะมาทำให้รู้สึกว่าน่าจะไม่เรียบร้อย คสช. ก็ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นธรรมดา แต่ก็อย่างที่เห็น คสช. ไม่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามจนต้องเกิดการสูญเสีย

ในอนาคตพอมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากเกิดความขัดแย้งแบ่งขั้วแยกข้างรุนแรงขึ้นอีก คสช. จะคิดและทำอย่างไร

เอาจริงๆ คสช. พยายามจะวางยุทธศาสตร์ของชาติซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ทุกสถาบันต้องมีความมั่นคงเข้มแข็ง ประชาชนคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี อันนี้เป็นเจตนารมณ์ของ คสช. ที่พยายามวางรากฐานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกคนซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ คสช. แต่หมายถึงพี่น้องประชาชนทั้งหมด ก็คงมีความรู้สึกคาดหวังเช่นเดียวกันว่าบ้านเมืองเราต้องสงบร่มเย็น ส่วนความคิดความอ่านที่ยังมีความแตกต่างหลากหลาย อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจในคนรุ่นต่อๆ ไป ว่าบ้านเมืองเรากว่าจะมาถึงวันนี้ผ่านประวัติศาสตาร์มาหลายยุคหลายสมัย มีทั้งช่วงเจริญรุ่งเรือง มีทั้งช่วงประสบภัยสงคราม และช่วงประสบภัยพิบัติ แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทยที่ยังต้องอยู่บนผืนแผ่นดินนี้

ความขัดแย้งบาดหมางอาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อผ่านยุคสมัยไป สิ่งต่างๆต้องดีขึ้น เราคงไม่เก็บความบาดหมางเจ็บช้ำน้ำใจไว้ และมันต้องคลี่คลายไปเอง เรื่องความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องมาจากการมองผลประโยชน์ร่วมกันของคนในชาติ เอาประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด

คสช. คิดอย่างไรกับข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารจากนักวิชาการ เพื่อการันตีว่าอนาคตของสังคมไทยจะไม่มีรัฐประหารอีก

สิ่งที่ คสช. พูดอยู่ตลอดเวลา คือ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดใดๆ ก็ตาม เราตั้งต้นที่ประเด็นแรกให้ได้ก่อน ว่าทุกคนคือคนไทยที่จะต้องมองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักและเป็นเป้าหมายสูงสุด ส่วนแนวความคิดนี้จะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็อยู่ที่พี่น้องประชาชนคนไทยที่เฝ้าติดตามดูอยู่ ผมอาจจะตอบแทนใครไม่ได้สักคนเลยว่าความคิดอย่างนี้เป็นเรื่องถูกหรือผิด

ถ้าเราบอกว่าเขาคิดไม่ตรงกับเราแล้วเขาคิดผิด มันก็คงไม่ถูกนัก แนวความคิดต้องเริ่มจากการปลูกฝังการได้รับการศึกษาจากครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนถ่ายทอดกันมา แต่สิ่งที่เราทิ้งไม่ได้แล้วต้องยึดเป็นหลักก็คือประโยชน์สูงสุดหรือเป้าหมายของประเทศชาติ นี่ต่างหากที่สำคัญว่าเราจะไปสู่สิ่งนั้นได้อย่างไร

ในอนาคต ทั้งประเทศชาติ พลเมือง สถาบันหลักของชาติต้องคงอยู่ และมีความมั่นคง มีความวัฒนาสถาพร แล้วลูกหลานของเราที่เกิดขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ อาจจะอีก 50 ปี 100 ปี หรือ 1,000 ปีก็ตาม เขาก็ต้องยืนหยัดอยู่บนผืนแผ่นดินไทยต่อไป

ส่วนการจะดำเนินการลบล้างการรัฐประหารหรือลบล้าง คสช. นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่ควรคิดเป็นอันดับแรกก็คือความผาสุกร่มเย็นของพี่น้องประชาชนคนไทย ผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อนและมีความยั่งยืน

หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ถ้าเสียงพี่น้องประชาชนจำนวนมากเห็นว่าควรแก้ หรือกระทั่งว่าเห็นควรดำเนินคดีกับกองทัพที่เคยละเมิดสิทธิประชาชน เช่น กรณีสลายการชุมนุมปี 2553 จะว่าอย่างไร

ตอนนี้ผมอาจจะยังตอบไม่ได้ และอาจจะไม่ได้มองลึกไปถึงขนาดนั้น สิ่งที่ คสช. มองตอนนี้ก็คือ ในระยะสำคัญช่วงนี้ จากวันนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไป การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ตรงนี้เป็นข้อห่วงที่ คสช. ตั้งใจทำให้เรียบร้อยเป็นอันดับแรก มากกว่าข้อสังเกตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกทีนึง แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนอนาคต คสช. อาจจะไม่ได้กังวลนัก

ข้อเรียกร้องให้มีการลดบทบาทกองทัพลง ทั้งงบประมาณและกำลังพล ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นโจทย์สำคัญไหม

ผมไม่มีความเห็นเรื่องนี้ เพราะเป็นมุมมองจากภายนอก ไม่ใช่ไม่รู้สึก แต่ขอไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

ภาพสังคมไทยที่ คสช. อยากเห็นในอนาคต กับสังคมไทยที่เป็นจริง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

คสช. มองเรื่องบ้านเมืองต้องสงบ สถาบันทุกสถาบันของชาติต้องมีความมั่นคง พี่น้องประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี และมีความสุขที่ยั่งยืน นี่เป็นภาพที่ คสช. อยากเห็น ส่วนในสภาพความเป็นจริง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีความรวดเร็ว เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัย

คนในชาติต้องมีการศึกษาที่ดีเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก เรามีการติดต่อมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีการค้าการลงทุน และเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตกับมิตรประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้น คสช. ก็ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด

เราอยากเห็นประเทศชาติที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในเวทีนานาชาติ ความเป็นอยู่ของคนในชาติก็ต้องมีความสุขเป็นพื้นฐาน พี่น้องประชาชนมีศักดิ์ศรีเคารพซึ่งกันและกัน ประเด็นสำคัญก็คือกระบวนการต่างๆ ที่พูดมา เราจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้ และรักษาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดในอนาคต

ข้อเท็จจริงคือต่อไป คสช. คงจะลดบทบาทลงและสลายตัวไปในที่สุด ขณะที่กองทัพยังอยู่ ในอนาคต มิติไหนบ้างที่กองทัพอยากเข้าไปร่วมสร้างภาพของสังคมไทยในแบบที่ คสช. อยากเห็น

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากองทัพเป็นเครื่องมือหรือเป็นกลไกของรัฐ รัฐใช้กองทัพในการดูแลปกป้องอธิปไตย รักษาความมั่นคง ดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการร่วมพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อกองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐ ก็อยู่ที่ว่ารัฐจะใช้กองทัพอย่างไรในการรักษาสถานะของชาติบ้านเมือง ในทุกๆ โอกาส ทั้งในยามปกติ ยามศึกสงคราม หรือยามประสบภัยพิบัติ และยามที่มีปัญหาภายใน

ที่ผ่านมาประชาชนมักแยกไม่ค่อยออก ระหว่างบทบาทกองทัพในทางการเมืองกับการดูแลปกป้องอธิปไตย ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มักไม่เห็นบทบาทกองทัพในทางการเมือง

ผมอาจจะเห็นไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะมองอย่างไรเท่านั้นเอง ประเทศไทยผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านหลายเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ แต่ก็สามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้ เราผ่านวิกฤตหลายครั้งแต่ทุกวิกฤตก็คลี่คลายไปได้ด้วยดี อาจจะด้วยเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองชาติบ้านเมืองอยู่ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจพี่น้องประชาชน มีสถาบันศาสนาที่สอนให้คนอยู่ในศีลธรรม

กองทัพก็เป็นเครื่องมือของรัฐส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้ทำงานให้ชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชน แต่กองทัพได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังถึงขั้นวิกฤตหรือกำลังยากลำบากได้ผ่านไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อพ้นจากนี้ไปแล้วก็เข้าสู่รัฐบาลปกติ กองทัพก็ต้องกลับเข้าสู่กรมกอง และเป็นเครื่องมือให้รัฐได้ใช้งานอย่างเหมาะสมต่อไป

นี่แหละคือประเทศไทย เราอยู่ร่วมกันมาแบบนี้ ทุกคนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ กองทัพก็คือประชาชน กองทัพเป็นลูกหลานประชาชนตลอดเวลา

ถ้ามีวิกฤตความขัดแย้ง กองทัพอาจไม่ได้อยู่ในกรมกองตลอดเวลา?

ก็ต้องถามกลับไปว่าในช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมา มีใครสามารถตอบได้ไหมว่าเราจะยุติความขัดแย้งความรุนแรงโดยอะไร ในช่วงจุดวิกฤตนั้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว เราจะยุติเหตุการณ์ตรงนั้นอย่างไรก่อนที่ คสช. หรือกองทัพจะเข้ามา มีใครหาคำตอบได้หรือไม่ ก่อนที่จะมีคนสูญเสียบาดเจ็บจากความขัดแย้ง บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จะมีใครที่คลี่คลายวิกฤตดังกล่าว

ต้องมองความเป็นจริงนะครับ ไม่ใช่จู่ๆ ปุบปับกองทัพจะบุ่มบ่ามเข้ามา กองทัพเองก็ติดตามดูความเคลื่อนไหวตลอดมาจนกระทั่งว่า เอาล่ะ เป็นช่วงเวลาที่จะปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้ได้หรือไม่ เมื่อมีการทำลายสถานที่ราชการ มีการทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการไม่เคารพกฎหมาย เราจะยอมให้ไปถึงจุดที่มากกว่านั้นได้หรือเปล่า หัวหน้า คสช. ก็ต้องตัดสินใจยับยั้งความขัดแย้งนั้นลงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้

คำถามหลังจากนี้ก็คือภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรในทางการเมืองให้มากขึ้น ทุกคนจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยไม่ใช่ทวงถามแต่สิทธิ ว่าสิทธิจะมีอะไร แต่ควรรู้หน้าที่ว่าความเป็นพลเมืองไทยควรต้องทำอะไรบ้าง เช่น ความมีระเบียบวินัย การรักษาความสะอาด การเคารพกฎหมาย ไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น การรู้จักการเข้าคิว และไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

หลายท่านออกมาเรียกร้องทวงสิทธิหรือบอกว่าถูกละเมิดสิทธิ แต่น้อยคนที่จะบอกว่าเรายังไม่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในความเป็นพลเมืองไทยเลย

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

ถ้าหากสังคมไทยเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ กองทัพลองปล่อยให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยก่อนจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ไหม

อย่าว่าแต่ คสช. เลย ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยได้รับบทเรียนร่วมกันแล้วว่าเมื่อไหร่ที่มีความเห็นแตกต่างหรือขัดแย้งกันแล้วจะต้องมาปะทะกันบนท้องถนนจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย มันไม่ได้ส่งผลดีต่อชาติบ้านเมืองเลย ใครที่เป็นผู้สนับสนุน ใครที่อยู่เบื้องหลัง ใครที่มีส่วนร่วมก่อให้เกิดความเสียหาย พี่น้องคนไทยก็สามารถรับรู้ได้ ยิ่งโดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถตรวจสอบได้

ปัญหาต่างๆ ที่จะมากระทบกระทั่งกัน ถ้าเราสามารถคลี่คลายได้ตั้งแต่ต้นของความขัดแย้ง ไม่ปล่อยให้เรื้อรังเลยเถิดลุกลามใหญ่โตบานปลาย เราต้องหาสาเหตุของความขัดแย้งให้ได้ว่าเหตุของความขัดแย้งคืออะไรแล้วก็เร่งแก้ไขแต่เนิ่นๆ

ยกตัวอย่างเช่นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนภาคเกษตรกรรม เขาเดือดร้อนเรื่องอะไร ภาวะหนี้สินหรืออะไร ถ้าทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงรีบไปแก้ไข ทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้คลี่คลายอย่างฉับพลัน พี่น้องประชาชนก็จะรู้สึกว่าหน่วยงานภาครัฐเอาใจใส่ดูแล ปัญหาการเคลื่อนขบวนของมวลชนหรือคนที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะคลี่คลายไป

หรือปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของแต่ละฝ่าย แต่ถ้าเราตั้งต้นว่าชาติบ้านเมืองต้องมาก่อน พระพุทธศาสนาก็สอนว่าเหตุเกิดที่ไหนก็ต้องแก้ที่เหตุ ผลที่เกิดขึ้นถึงจะตามมาดี ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่แก้ไข เหตุมันก็จะใหญ่โตบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในที่สุด

ถ้าคนไทย ทั้งประชาชนทั่วไป ภาคเอกชน และข้าราชการ เข้าใจและตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเอง ก็จะไม่มีรัฐประหารอีก?

เราเชื่อว่าประเทศชาติบ้านเมืองผ่านกระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยดีขึ้นมาอย่างเสมอ ทั้งความคิดจากครูบาอาจารย์ นักวิชาการ ฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้เรียนรู้สถานการณ์ร่วมกัน เราผ่านความยากลำบากมาด้วยกันโดยตลอด มีใครคนไหนบ้างไหมที่ไม่ผ่านความยากลำบาก ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์สี่ถึงห้าปีที่ผ่านมารับรู้ความรู้สึกด้วยกันทั้งสิ้น รับรู้ถึงความสูญเสีย รับรู้ถึงความไม่เรียบร้อยของบ้านเมืองทั้งสิ้น

และเมื่อมาถึงจุดที่ถ้าประชาชนไม่ชอบรัฐประหาร ทุกคนก็คิดแบบเดียวกันว่าเหนื่อยกันมาเยอะ มันไม่จำเป็น ถึงเวลาหนึ่งมีใครไม่รู้สึกเสียใจหรือเจ็บปวดบ้าง ก็เจ็บปวดกันทุกฝ่าย เพราะเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น มีบรรพบุรุษเดียวกัน กินข้าวกินปลาในผืนแผ่นดินเดียวกัน ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจแก้ปัญหาด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเราน้อมนำพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน การใช้กำลังทางทหารก็ไม่มีความจำเป็น

สังคมไทยที่ไร้ คสช. หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร 

เมื่อพ้นจากการเลือกตั้งแล้วก็จะมีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ก็มีหน้าที่ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม และบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ส่วนความรู้สึกที่อยากจะคิดถึง คสช. ที่ผ่านมาสี่ปีก็อาจจะเป็นความรักความผูกพันในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงครับว่า คสช. เข้ามาเพราะมีความจำเป็นที่ต้องมา และเมื่อเข้าสู่กระบวนการของความเป็นประชาธิปไตยแล้ว คสช. ก็ต้องจบภารกิจภายใต้กรอบกฎหมาย ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save