fbpx
พม่าหลังการเลือกตั้ง : 1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก

พม่าหลังการเลือกตั้ง : 1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2015  มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในพม่า ผู้คนทั้งในและนอกพม่าต่างเฝ้าคอยการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าจะพลิกหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่าทั้งหมด และจะสร้างความปรีดาผาสุกให้บังเกิดในประเทศที่จมอยู่กับสงครามกลางเมืองและการปกครองภายใต้เผด็จการทหารนิยมมากว่า 5 ทศวรรษ

ผ่านไปเกือบ 4 เดือน รัฐสภาพม่าเลือก ถิ่น จอ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วน ออง ซาน ซู จี หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค NLD (National League for Democracy) และสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่าเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor)

จุดยืนของรัฐบาล NLD คือการพยายามเลือกบุคคลจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปทำงานขับเคลื่อนประเทศ และย้ำจุดยืนว่าพม่าไม่ใช่ของกลุ่มชาติพันธุ์ใดกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง หากเป็นของชาว “เมียนมา” ทุกคนอย่างเท่าเทียม

ดังเห็นได้จากการแต่งตั้ง เฮนรี่ วาน เทียว (Henry Van Thio) ชาวฉิ่น ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่สอง และยังแต่งตั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐสภาพม่า เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือนให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์

นโยบายเด่นๆ ที่ NLD ชูขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งคือการสร้างความปรองดองในชาติ และยุติความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การทำงานร่วมกับกองทัพเพื่อขับเคลื่อนประเทศ (กองทัพพม่ามีสัดส่วนสมาชิกรัฐสภาที่เข้ามาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง 25 เปอร์เซ็นต์) และการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย

ปัจจัยทั้งสองนี้จะเป็นตัวชี้ว่ารัฐบาล NLD ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศหรือไม่

คงไม่ยุติธรรมนักหากจะกล่าวว่า NLD และ ออง ซาน ซู จี ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงโดยใช้ผลงานรัฐบาลเพียง 1 ปีเศษมาเป็นตัวชี้วัด แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลพม่าพบความท้าทายทั้งใหม่และไม่ใหม่มากมาย เมื่อรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ สายตาทุกคู่จึงจับจ้องไปที่ ออง ซาน ซู จี เพราะเธอเป็น “วีรสตรีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ”

รางวัลเกียรติยศนี้ ประกอบกับความคาดหวังสูงลิ่วที่หลายคนมีต่อรัฐบาลพลเรือนพม่า ได้สร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับเธอและรัฐบาลพม่า

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาซึ่งได้สั่นคลอนรัฐบาลชุดใหม่อย่างถึงราก ได้แก่ ความพยายามเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย และวิกฤตการณ์ชาวโรฮิงญา

 

การเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย

 

เมื่อพูดถึงโรคร้ายที่รุมเร้าคนป่วยอย่างพม่ามายาวนาน รักษาให้หายขาดได้ยาก และบั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง โรคนั้นคือสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยกับกองทัพพม่า

NLD จัดให้นโยบายการจัดการเจรจาสันติภาพเป็นนโยบายเร่งด่วน และยกขึ้นเป็นประเด็นในการหาเสียง ระหว่างการเดินทางปราศรัยทั่วประเทศของ ออง ซาน ซู จี ตลอดปี 2015 เธอให้คำมั่นแก่ผู้นำชนกลุ่มน้อยว่า พรรคของเธอให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยและจะจัดการเจรจาสันติภาพที่โปร่งใสขึ้น หาก NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้

ตลอดการรณรงค์หาเสียง ซู จี กล่าวถึง “จิตวิญญาณแห่งปางหลวง” (Panglong Spirit) อยู่บ่อยครั้ง เพื่อย้ำเตือนว่าเธอและคนในพรรคไม่เคยลืมข้อตกลงที่รัฐบาลพม่าภายใต้นายพล ออง ซาน ให้ไว้กับชนกลุ่มน้อยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 ซึ่งรู้จักกันในนาม “ข้อตกลงปางหลวง”

ในมุมมองของรัฐพม่า ข้อตกลงปางหลวงคือการหารือระหว่างตัวแทนของฝั่งรัฐบาลพม่า เจ้าฟ้าจากเมืองใหญ่น้อยในรัฐฉาน ผู้นำฉิ่น และกะฉิ่น ที่นำไปสู่การลงนามร่วมกันเป็นครั้งแรก

เนื้อหาของข้อตกลงปางหลวงประกอบไปด้วยสารัตถะ 9 ข้อ ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางพม่ากับชนกลุ่มน้อยหลังพม่าได้รับเอกราช (พม่าได้รับเอกราชวันที่ 4 มกราคม 1948) เช่น การจัดสรรตำแหน่งให้ตัวแทนของชนเผ่าในกิจการชายแดน การกำหนดว่าผู้คนในเขตชายแดนจะมีศักดิ์และสิทธิอย่างเท่าเทียมกับชาวพม่าตามแนวทางประชาธิปไตย และการกำหนดนโยบายการเงินในรัฐของชนกลุ่มน้อย

เมื่อพิจารณาร่วมกับบทที่ 10 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าหลังได้รับเอกราช จะเห็นว่ารัฐบาลพม่าของ ออง ซาน รัฐบาลอังกฤษ และชนกลุ่มน้อยได้หารือกันแล้วว่ารูปแบบของรัฐพม่าสมัยใหม่จะเป็นสหพันธรัฐ (federal states) และชนกลุ่มน้อยจะมีสิทธิแยกตัวออกเป็นอิสระได้หลังพม่าได้รับเอกราช 10 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมาหลายสิบปี ชนกลุ่มน้อยพยายามทวงถามสิทธิในการแยกตัวนี้มาโดยตลอด แต่ในสภาพที่พม่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม โอกาสที่ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าจะมาร่วมโต๊ะคุยกันเรื่องสหพันธรัฐ หรือการเรียกร้องให้กองทัพพม่าเลิกใช้กำลังเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยแทบจะเป็นศูนย์

เมื่อ NLD ขึ้นมาเป็นผู้นำในรัฐบาล จึงชูนโยบายเพื่อมอบความเป็นธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับชนเผ่าอย่างเท่าเทียมกัน[1] แต่เส้นทางที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังประธานาธิบดี ถิ่น จอ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 30 มีนาคม 2016 กระบวนการเจรจาเริ่มต้นในอีกไม่กี่เดือนต่อมา รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานเพื่อควบคุมกำกับกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นในชื่อ “ศูนย์ปรองดองและสันติภาพแห่งชาติ” (National Reconciliation and Peace Center – NRPC) โดยมีกิ่งก้านอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพ

หน่วยงานดังกล่าวมีบทบาทในการขับเคลื่อนการประชุมสันติภาพแห่งสหภาพพม่า หรือที่เรียกว่า “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2016

แผนการเดิมของรัฐบาลคือการจัดการประชุมสันติภาพทุกๆ 6 เดือน โดยกระบวนการ 7 ขั้นตอน[2] ตั้งแต่การทบทวนกรอบการเจรจา จัดการประชุมสันติภาพสำหรับสหภาพ การแก้รัฐธรรมนูญตามข้อตกลงปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 และนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพรัฐสหพันธ์ (federal union) หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือการผสมผสานระบอบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (แบบสวิสเซอร์แลนด์) เข้ากับแบบสหพันธรัฐ (แบบสหรัฐอเมริกา) พร้อมทั้งการส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย

กระบวนการทั้ง 7 ขั้นเพื่อสถาปนาพม่าในสหัสวรรษใหม่อาจฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ เราจะเห็นช่องโหว่ของการเจรจาสันติภาพภายใต้การนำของรัฐบาล NLD กล่าวคือ การเจรจาเกิดขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐบาลพม่ากับผู้นำชนกลุ่มน้อยเพียงบางกลุ่ม เกือบทั้งหมดคือกลุ่มที่วางอาวุธและลงนามในร่างข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ 31 มีนาคม 2015 ในสมัยรัฐบาลของ เตง เส่ง รวมทั้งกองกำลังขนาดใหญ่อย่าง KNU (Karen National Union) และกองทัพกู้ชาติฉานบางกลุ่ม

แต่ก็ยังมีกองกำลังของชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งที่มิได้เข้าร่วมในการประชุมเพื่อสันติภาพ หรือการประชุมปางหลวงในศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2016 ได้แก่ กองกำลังที่มีกำลังพลมากที่สุดอย่าง Kachin Independence Army (KIA) และ United Wa State Army (UWSA) กองกำลังของชาวกะฉิ่นและชาวว้าที่มีกำลังพล 30,000 และ 12,000 คนตามลำดับ[3] รวมถึงกองกำลังที่เพิ่งปะทะกับกองกำลังของฝั่งพม่าสดๆ ร้อนๆ เมื่อปลายปี 2016 อย่างกองกำลัง Myanmar National Democracy Alliance Army ของกลุ่มโกก้าง (Kokang) ในรัฐฉานตอนเหนือแถบชายแดนจีน

ช่องโหว่นี้ทำให้การเจรจาสันติภาพที่รัฐบาลพม่าตั้งแต่ประธานาธิบดี เตง เส่ง กล่าวอ้างว่าเป็นการหารือเพื่อความปรองดองของผู้คนทุกกลุ่มในสหภาพพม่าจึงเป็นคำกล่าวที่เกินจริง

เมื่อรัฐบาลพลเรือนรับ “ตุ๊กตา” การเจรจาสันติภาพมาจากรัฐบาลของ เตง เส่ง จึงมุ่งทำตามโมเดลอันแข็งทื่อที่มีจุดประสงค์เพียงจัดการให้ชนกลุ่มน้อยลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แต่ในอันที่จริง สันติภาพที่ยั่งยืนต้องการปัจจัยอื่นๆ มากกว่ากระดาษแผ่นเดียว

ชนกลุ่มน้อยที่ยังสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่ต้องการเข้าสู่การเจรจา แต่เป็นการเจรจาแบบทวิภาคี และต้องการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา รัฐบาล NLD หลีกเลี่ยงการเจรจาโต๊ะเล็ก และต้องการหารือกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในการประชุมระดับชาติเท่านั้น[4] ทำให้ชนกลุ่มน้อยที่ยังสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่ไม่ไว้ใจรัฐบาล และไม่เชื่อว่าการประชุมปางหลวงในศตวรรษที่ 21 จะเป็นหนทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมาหลายทศวรรษได้

 

วิกฤตศรัทธาจากกรณีชาวโรฮิงญา

 

ตลอด 1 ปีเศษหลังรัฐบาลพลเรือนเข้ารับตำแหน่ง สถานการณ์ภายในพม่าที่ดึงดูดสายตาของคนทั่วโลกคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ของชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อมีการปะทะกันทางเชื้อชาติและศาสนา ระหว่างชาวโรฮิงญา ชาวพม่า และชาวยะไข่ที่เป็นพุทธ

คำพูดที่สร้างความเกลียดชังผุดขึ้นเพื่อตอกย้ำปมทางจิตใจและสะท้อนทัศนคติที่ชาวพุทธในพม่ามีต่อชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา

การปราบปรามชาวโรฮิงญาระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกเมื่อปลายปีที่แล้วหลังฐานที่มั่นของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ แถบชายแดนพม่า-บังคลาเทศ ถูกลอบโจมตีโดยกองกำลังที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรง เป็นเหตุให้มีทหารพม่าเสียชีวิต 9 นาย เมื่อเดือนตุลาคม 2016 ตั้งแต่นั้นมา กองทัพพม่าก็ใช้เหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายเพื่อกวาดล้างชาวโรฮิงญา เป็นเหตุให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญานับหมื่นคนต้องอพยพหนีตายไปยังฝั่งประเทศบังคลาเทศ

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ไม่นาน รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ หนึ่งในคณะกรรมการทั้ง 9 คนที่รัฐบาลพม่าเชิญมาคือ โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

เป้าประสงค์ของรัฐบาลพม่าของประธานาธิบดี เตง เส่ง ในเวลานั้นคือทำให้ประชาคมโลกเชื่อมั่นว่าพม่าจริงใจในการแก้ปัญหาของตนและกำลังมุ่งหน้าสู่ถนนสายปรองดองจริง แต่การมาของอันนันกลับก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากชาวพุทธในพม่าจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะจากชาวพุทธในรัฐยะไข่ ชาวพุทธหัวรุนแรง และคนจากฝั่งกองทัพพม่า

อันนันออกจากพม่าไปโดยที่ไม่ได้ทิ้งทางแก้ปัญหาที่เป็นชิ้นเป็นอันใดๆ ไว้ แต่ปัญหามิได้อยู่ที่อันนันและคณะกรรมการต่างชาติคนอื่นๆ ที่รัฐบาลพม่าเชิญมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติในแง่ลบที่ชาวพม่าโดยรวมมีต่อชาวโรฮิงญา (ผู้เขียนขอเน้นว่าชาวพม่าส่วนใหญ่มิได้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชาวมุสลิมทั้งหมด แต่ความเกลียดชังนี้พุ่งเป้าไปที่ชาวโรฮิงญา) และการปฏิเสธว่าชาวโรฮิงญามิใช่ชาวพม่า หากแต่เป็นคน “เบงกาลี” (Bengali) จากบังคลาเทศที่หนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมา

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 รายงานและภาพถ่ายทางอากาศของ Human Rights Watch ชี้ให้เห็นความเสียหายของหมู่บ้านชาวโรฮิงญา 5 หมู่บ้านในเขตเมืองหม่องด่อ (Maungdaw) ซึ่งถูกเผาทำลายโดยกองกำลังฝั่งรัฐบาลพม่า

หลักฐานของ Human Rights Watch สอดคล้องกับรายงานชิ้นสำคัญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ที่รวบรวมจากข้อมูลภาคสนามและการสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่หนีการกวาดล้างของรัฐบาลพม่าไปอยู่ในค่ายผู้อพยพที่เมืองคอกซ์ บาร์ซาร์ ชายแดนพม่ากับบังคลาเทศ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 66,000 คน

รายงานชิ้นนี้ทำให้ทุกสายตาทั่วโลกกลับไปเพ่งเล็งพม่าอีกครั้ง เพราะ OHCHR รายงานว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นการกวาดล้างของกองทัพพม่า แม้รายงานของ OHCHR จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) แต่ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลพม่าพยายามผลักชาวโรฮิงญาออกไปจากรัฐยะไข่ มีการสังหารหมู่ การเผาบ้านเรือนกับศาสนสถาน การซ้อมทรมาน และการข่มขืนเกิดขึ้นจริง[5]

รัฐบาลพม่าตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนและตอบโต้รายงานของ OHCHR และกล่าวแต่เพียงว่าข้อมูลที่ OHCHR ได้รับจากชาวโรฮิงญาในคอกซ์ บาร์ซาร์ไม่ใช่หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ามีการสังหารหมู่และการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในวงกว้างจริงในรัฐยะไข่[6]

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นหลักที่โลกกำลังเป็นห่วงเป็นใย การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพม่าจึงอยู่ในความสนใจระดับโลกไปด้วย และในฐานะที่พม่ามีผู้นำที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ยิ่งทำให้ความคาดหวังต่อเธอสูงขึ้น แต่ ออง ซาน ซู จี กลับเลือกที่จะปิดปากเงียบ

บ้างว่ากุนซือของเธอเตือนให้เธอและคนในรัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงประเด็นโรฮิงญาเลย บ้างก็กล่าวว่าแม้จะเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ ออง ซาน ซู จี ก็เป็นชาว “บะหม่า” (กลุ่มชาติพันธุ์พม่า) คนหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธ และอาจมองว่าปัญหาเรื่องโรฮิงญาบั่นทอนกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองในพม่าเหมือนกับที่ชนชั้นกลางพม่าคนอื่นๆ มองก็เป็นได้

 

ท่าทีของสื่อนอกต่อ ออง ซาน ซู จี

 

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ยินคนไทยไม่น้อยที่รู้สึก “ผิดหวัง” กับ ออง ซาน ซู จี เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในรัฐยะไข่ เธอปิดปากเงียบไม่ยอมให้สัมภาษณ์เรื่องโรฮิงญา

สื่อกระแสหลักในพม่าขึ้นชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) ประกอบกับทัศนคติของชาวพม่าต่อชาวโรฮิงญาไม่ค่อยสู้ดีนัก จึงทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแทบจะไม่ถูกนำมาพูดถึงในประเทศพม่า กลายเป็นประเด็นต้องห้าม (taboo)

แต่ความเงียบนี้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วบรรณพิภพ และก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ออง ซาน ซู จี ขึ้นในหมู่นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ดูข้อเขียนของ เดวิด ฮัทท์ (David Hutt) เรื่อง “The Cowardice of Aung San Suu Kyi” (ความขี้ขลาดของ ออง ซาน ซู จี) ที่เขียนลง The Diplomat เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง ฮัทท์เริ่มสาธยายความสำเร็จและรางวัลอันทรงเกียรติที่ ออง ซาน ซู จี ได้รับ และลงท้ายด้วยความผิดหวังโดยอ้างคำพูดของ ออง ซาน ซู จี ที่เธอเคยกล่าวไว้ว่าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อทั่วโลกประดิษฐ์ข้อกล่าวหารัฐบาลพม่าอย่างไม่เป็นธรรม[7]

แม้แต่โจนาห์ ฟิชเชอร์ (Jonah Fisher) นักข่าวของ BBC ประจำพม่าก็เขียนบทความในลักษณะเดียวกันกับฮัทท์ ในชื่อ “Myanmar’s Rohingya: Truth, lies and Aung San Suu Kyi” (โรฮิงญาแห่งพม่า: ความจริง, ความเท็จ และ ออง ซาน ซู จี) ฟิชเชอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ออง ซาน ซู จี และพรรคของเธอปฏิเสธไม่ยินยอมให้สื่อนอกสำนักใดเข้าสัมภาษณ์ในประเด็นนี้[8]

ออง ซาน ซู จี ปริปากพูดเรื่องโรฮิงญาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นบทสนทนาขนาดยาวระหว่างเธอและเฟอร์กัล คีน (Fergal Keane) นักเขียน ผู้สื่อข่าวชื่อดังของ BBC ชาวไอริช ที่ตามติดและรายงานข่าวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และมีประสบการณ์สัมภาษณ์ ออง ซาน ซู จี หลายต่อหลายครั้ง ตลอดจนเป็นคนเขียนคำนำเสนอให้กับหนังสือ Letters from Burma (จดหมายจากพม่า) ของเธอด้วย

เมื่อถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่สังคมโลกกำลังประณามพม่าโดยเฉพาะตัวเธอ ที่ปล่อยให้เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮิงญาขึ้น เธอปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา เธอมองว่าการใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยสื่อทั่วโลกนั้นรุนแรงเกินกว่าเหตุ และชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่มีใบอนุญาตฆ่าหรือข่มขืนได้ตามอำเภอใจ และรัฐบาลของเธอได้แสดงความจริงใจโดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ความผิดหวังกับคำตอบของซู จีสะท้อนออกมาในข้อเขียนส่วนหนึ่งของคีน:

“ยิ่งเจ้าหน้าที่จาก UN เรียกร้องให้เธอทำอะไรมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากแค่นั้น ผมอึ้งนะ ที่เธอเห็นด้วย [กับการกวาดล้างชาวโรฮิงญา – ผู้เขียน] มันมีสิ่งที่ดูขัดกันอยู่ ผมและนักหนังสือพิมพ์ในเอเชียจำได้ ตอนที่รัฐบาลทหารประณามเราเมื่อรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกล่าวหาว่าเราพูดเกินจริง ตอนนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้นำเป็นอดีตนักโทษการเมืองนั่นแหล่ะที่ประณามเรา”[9]

เสียงสะท้อนจากคีนและนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ ที่ต่างระบายความอัดอั้นตันใจที่มีต่อ ออง ซาน ซู จี แสดงให้เห็นความคาดหวังที่มีต่อตัวเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้สูงเกินไป

การยกย่อง ออง ซาน ซู จี หรือผู้นำคนใดคนหนึ่งว่าเป็นวีรบุรุษ-วีรสตรี เป็นอันตรายต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่ลัทธิบูชาตัวบุคคล และทำให้สังคมการเมินเฉยต่อพลังของประชาชนหรือนักการเมืองคนอื่นๆ ที่อาจต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในแนวทางอื่น

ผู้เขียนกล่าวถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อสารมวลชนพม่าไปแล้ว และอยากเน้นว่าเป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้วที่สังคมพม่ายึดติดกับบุคคลคนเดียวและยกย่องให้เป็นผู้ที่ลอยตัวอยู่เหนือกาลเวลา เหนือความขัดแย้ง และเหนือนักการเมืองธรรมดาทั่วไป ทำให้เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในประเทศ สังคมจึงผลักภาระทั้งหมดไปให้เธอ และคาดหวังว่าเธอจะสามารถแก้ปัญหาได้แบบ one stop service

เช่นนี้แล้วคนที่จะสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรค NLD ต่อเล่าจะเป็นใคร จริงอยู่ว่ามีนักการเมืองน้ำดีจำนวนหนึ่งในพรรค NLD หรือพรรคเล็กๆ อื่นๆ ที่เต็มไปด้วยผู้นำเปี่ยมอุดมการณ์ แต่คนเหล่านี้มิได้เป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลยังอยู่ภายใต้เงาของกองทัพและผู้นำอาวุโสของ NLD

หาก NLD ประสบความสำเร็จจริง และตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย พม่าคงจะไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยที่ผุดขึ้นเรื่อยๆ แม้กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดังที่เคยสนับสนุน NLD อย่างแข็งขันก็มีแผนจะตั้งพรรคการเมืองของตัวเองให้สำเร็จภายในปลายปี 2017[10]

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่ขัดขวางการปฏิรูปประเทศ นอกจากปัญหาที่ชัดเจนอย่างความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนา ยังมีปัญหากลัดหนองอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง NLD กับกองทัพพม่า ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุทำให้ อู โก นี ทนายความชาวมุสลิมคนสำคัญของ NLD และของพม่าถูกลอบสังหารเมื่อต้นปี เพราะ อู โก นี พยายามผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2008

นอกจากนี้ ความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค NLD ยังเป็นประเด็นที่สังคมพม่านำมาอภิปรายกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี มีข่าวลือหนาหูว่าประธานาธิบดี ถิ่น จอ จะลาออกจากตำแหน่ง อาจเป็นภายในเดือนสิงหาคมนี้ สาเหตุของความต้องการลาออกของ ถิ่น จอ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีข่าวซุบซิบกันว่าภริยาของถิ่น จอ หรือพูดง่ายๆ คือสตรีหมายเลขหนึ่งของพม่าแตกคอกับ ออง ซาน ซู จี ข่าวลือนี้สร้างความอึดอัดใจให้ผู้บริหาร NLD จนทำให้เลขาธิการพรรค อู วิน เทง (U Win Htein) ต้องออกมาปฏิเสธให้วุ่น พร้อมกับขู่จะดำเนินคดีกับผู้ปล่อยข่าวลือนี้[11]

แม้ NLD ยังเป็นพรรคในดวงใจอันดับหนึ่งของชาวพม่าส่วนใหญ่ แต่ภาพลักษณ์ของพรรคก็ถูกท้าทายอย่างหนักเมื่อมีผู้เผยแพร่ภาพและคลิปของ ส.ส. พรรค NLD คนหนึ่งตบหน้าชาวบ้านในแถบตะนาวศรีทางตอนใต้ของพม่าเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา[12]

ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาตลอด 14 เดือนที่รัฐบาลพลเรือนอยู่ในตำแหน่งเป็นโจทย์ที่ผู้นำ NLD ต้องร่วมกันแก้ แต่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพียงลำพังได้ เพราะต้องฝ่าด่านกองทัพและชนกลุ่มน้อยมากมาย ปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยการปริปากเงียบหรือการก้มหน้าก้มตาทำตามแผนที่วางไว้โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงจากคนตัวเล็กตัวน้อยเลย

สังคมพม่าปิดตายจากความเจริญจากภายนอกมานาน จึงทำให้สังคมยังยึดตรึงอยู่กับอดีต การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 หรือการปฏิรูปทางการเมืองจะประสบความสำเร็จจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำพม่าต้องมองไปถึงศตวรรษที่ 22 แล้ว

ท่ามกลางการเมืองโลกที่ต้อนรับแนวคิดเสรีนิยมมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่สังคมพม่า หรืออย่างน้อยในกลุ่มผู้นำประเทศ ยังคงเป็นคนประเภทเก็บเนื้อเก็บตัว (introvert) อยู่มาก ผู้เขียนเชื่อว่ามีปัจจัย 2 อย่างที่จะกำหนดอนาคตของพม่าไม่ว่าจะเป็นอีก 5 ปี หรืออีก 20 ปี

นั่นคือ การเข้ามาของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่คิดบวกและสร้างสรรค์ และ ‘เวลา’ ที่จะค่อยๆ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้สังคมพม่าแข็งแรงขึ้น

 

อ้างอิง

[1] “Suu Kyi promises holding peace talk once NLD can form cabinet,” Eleven Myanmar, 9 มิถุนายน 2015

[2] “Peace process for resolving differing opinions,” Myanmar Times, 7 กุมภาพันธ์ 2017

[3] “Armed Ethnic Groups,” Myanmar Peace Monitor

[4] Aung Naing Oo, “Dialogue or despair: Two futures for the peace process,” Frontier Myanmar, 17 กุมภาพันธ์ 2017

[5] United Nations Human Rights Office of the High Commissioner. Report of OHCHR Mission to Bangladesh – Interviews with Rohingyas Fleeing from Myanmar since 9 October 2016: Flash Report, 3 February 2017, pp.14-20

[6] “Myanmar Investigation Commission Says it Cannot Verify UN Report on Rakhine Violence,” Radio Free Asia, 14 กุมภาพันธ์ 2017

[7] David Hutt, “The Cowardice of Aung San Suu Kyi,” The Diplomat, 1 มีนาคม 2017

[8] Jonah Fisher, “Myanmar’s Rohingya: Truth, lies and Aung San Suu Kyi,” BBC News, 27 มกราคม 2017

[9] Fergal Keane, “Aung San Suu Kyi: From human rights heroine to alienated icon,” BBC News, 6 เมษายน 2017

[10] Hein Ko Soe, “88 Generation faction to form political party by end of 2017,” Frontier Myanmar, 2 กุมภาพันธ์ 2017

[11] “U Win Hetin backpedals on prosecution threat after military rebuke,” Frontier Myanmar, 8 พฤษภาคม 2017

[12] Facebook ของ Aung Htut Thet

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save