fbpx
พลังป้าแห่ง MBK 39 รู้จักแล้วจะรักป้ามากขึ้น

พลังป้าแห่ง MBK 39 รู้จักแล้วจะรักป้ามากขึ้น

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ

“ป้า” คือคำที่หลายคนเรียกสตรีมีอายุเหล่านี้

ป้าแทรกซึมอยู่ตามงานเสวนาวิชาการ ป้าปรากฏตัวตามม็อบต่างๆ ไม่ว่าใครจะไปจะมา แต่ป้ายังอยู่ทุกแนวหน้าของกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยเสมอ

ล่าสุด ป้าได้เข้าไปอยู่ในสังกัด “MBK 39” หลังจากเข้าร่วมแสดงจุดยืนเรียกร้องการเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครองเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561 และตำรวจได้ ‘ออดิชั่น’ ผู้ชุมนุม 39 คนจากภาพถ่ายในวันชุมนุมเพื่อมารับข้อหาผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

หาก “MBK 39” คือ วงไอดอล ป้าคือ ‘เซ็นเตอร์’ ของวง ที่ถูกบังคับให้ไปงาน “ปั๊มลายนิ้วมือ”

นภัสสร บุญรีย์  หรือ ป้านก

นภัสสร บุญรีย์  หรือ ป้านก คือหนึ่งในป้าหลายๆ คนที่เอาเวลามาสนใจประชาธิปไตย ป้านกเคยเป็นช่างอัญมณีระดับหัวหน้า ทำหน้าที่ฝังเพชรพลอยบนตัวเรือนเครื่องประดับ ป้าเล่าถึงงานที่ทำว่า “เวลาลูกค้าต่างประเทศมาเขาจะถ่ายวิดีโอตอนป้าฝังพลอย ป้าทำที่ร้านด้วย ไปออกงานด้วย ยุคก่อนไปนั่งทำให้เขาดูที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต่อมาก็ที่อิมแพ็คบ้าง ไบเทคบางนาบ้าง”

ความสนใจการเมืองของป้านกเริ่มตั้งแต่ปี 2535 เมื่อครั้งทำงานร้านจิวเวลรีย่านสีลม โดยมีจุดเริ่มต้นคือการมาซื้อของลดราคาที่ห้างพาต้า

“ตอนนั้นจริงๆ ยังไม่สนใจการเมืองนะ ลูกเพิ่งจะห้าขวบ ตอนนั้นพาต้าเพิ่งไฟไหม้แล้วมีสินค้าส่วนหนึ่งลดราคา เราก็ไปดู ขับมอเตอร์ไซค์ไปกับลูก ตอนเย็นเห็นมีชุมนุมที่สนามหลวง ป้าเลยไปฟัง จำลอง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) พูด ชอบเขา เขาเหมือนวีรบุรุษ กินข้าวมื้อเดียว อาบน้ำห้าขัน ทำไมเขาดีอย่างนี้ อดข้าว อดน้ำ โอ้! นี่เรามาช่วยเขา (หัวเราะ) มานั่งฟัง วันต่อมาพอเลิกงานป้าก็ไปฟังทุกวัน”

จากฟังคนเดียวป้านกเริ่มชวนลูกจ้างคนอื่นมาฟัง จากฟังวันแรกกลายเป็นแฟนประจำ “เลิกงานปุ๊บก็นั่งแท็กซี่มากัน ฝนตกแดดออกก็ไป” ป้านกรำลึก จนสุดท้ายป้านกได้กลายเป็นมวลชนต่อต้านเผด็จการ รสช. และอยู่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 ไปในที่สุด

“19 พฤษภาคม 2535 โดนให้ถอดเสื้อแล้วนอนคว่ำอยู่กลางถนนตั้งแต่ทุ่มกว่าจนถึงเกือบเที่ยงคืน ตอนแรกป้านอนตะแคงอยู่ทหารก็มาเตะขา ว่าให้นอนเหมือนพวกผู้ชาย นอนให้หน้าแนบถนน ไม่ให้มองขึ้นมา เขาปล่อยตัวตอนเที่ยงคืน ป้าเดินจะข้ามสะพานพุทธฯ เห็นทหารเดินถือปืนอยู่ ป้าว่ายน้ำไม่เป็น แต่ป้าคิดว่าจะไม่ให้เขาจับไม่ให้เขายิง ถ้าเขายิงป้าก็จะพุ่งลงน้ำ ขอตายในน้ำเลย ป้าปีนขอบสะพาน ค่อยๆ หมอบ คลานราบๆ สี่คนกับเพื่อน ข้ามไป ลอดไปจนถึงฝั่งธนฯ เห็นตุ๊กตุ๊กวิ่งมาคันหนึ่ง ป้าก็เรียก เรียกเสร็จแล้วพอไปถึงสี่แยกบ้านแขก ทหารยิ่งปีนไล่เลย ตุ๊กตุ๊กบิดจนล้อยก เราหมอบลงกับพื้นรถหลบกระสุน ไปถึงวงเวียนใหญ่ เจอไล่ยิงอีก ตุ๊กตุ๊กก็บิด มีนักศึกษาจากเกษตรศาสตร์คนหนึ่ง เขาไม่รู้จะไปทางไหน ป้าเลยเรียกขึ้นตุ๊กตุ๊ก เราก็หมอบกับพื้นรถนี่ล่ะ เพราะเขาไล่ยิงพวกเรา ปังๆๆ ตุ๊กตุ๊กจะไปส่ง ป้าบอกนักศึกษาว่าแอบอยู่ข้างตึกนี่ล่ะ เช้าค่อยกลับไป แล้วก็รอดมาได้”

จากปี 2535 ข้ามมาปี 2548-2549  ป้านกแวะเวียนไปที่ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ทว่าการแสวงหาความรู้ทางสังคมการเมืองอย่างจริงจังของป้านกเริ่มขึ้นหลังจากนั้น

“ป้าไม่เข้าใจ ฟังทุกวันๆ อ้าว ยึดทำเนียบ นายกฯ เข้าไม่ได้ เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น ทีนี้เด็กวัยรุ่นผู้ชายเขาไปมาก่อนแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ฟังแล้วสนุกด้วย ตื่นเต้นด้วย ตอนนั้นที่สวนลุมฯ เขาจัดรายการยามเฝ้าแผ่นดิน เสาร์-อาทิตย์ แต่พอไปฟังแล้ว มันไม่ใช่แนวทางของเรา เราก็ไปสนามหลวง ไปฟังที่สนามหลวงก็โอเคนะ ฟังกลุ่มนู้นพูด กลุ่มนี้พูด เออ เข้าท่า เลยเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์บ้าง จากเสวนาตามมหาวิทยาลัยบ้าง วิทยุ โทรทัศน์เรามีเราก็คอยฟัง ตั้งแต่นั้นมาเรื่อย ไม่เคยปล่อยเลย มีเสวนาที่ไหน ที่ไหนที่ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเป็นธรรม ป้าก็จะสนใจ หยุดไม่ได้เลยทีนี้ หนังสือพิมพ์มีกี่ฉบับซื้อมาอ่าน ทำจิวเวลรีไปฟังไป เลิกงานปุ๊บ 6 โมงไปอยู่แต่สนามหลวง เสาร์-อาทิตย์เราก็ไป บางทีเที่ยงคืนตีสองก็ยังไม่กลับบ้าน ฟังข่าว หาข้อมูล บางทีคนรับราชการเขาเกษียณมา ครูมั่ง ตำรวจมั่ง เขาก็มาชุมนุมกันที่สนามหลวง เรามานั่งฟังข้อมูลจากเขาเกี่ยวกับเรื่องตอนปี 16 กับ 19 (เหตุการณ์ตุลาคม 2516, 2519) ซึ่งเขาอยู่ร่วมเหตุการณ์”

“การฟังหลายๆ คน มันให้ความรู้ด้านหนึ่ง อีกคนให้ความรู้ด้านหนึ่ง ป้าจบแค่ ป. 4 มันสมองเราก็เท่านี้ เราก็ต้องฟังบ่อยๆ ฟังเรื่อยๆ ให้เข้าหัว เออ อย่างนี้ๆ นะ เช้ามาหนังสือพิมพ์กี่ฉบับๆ เราก็นั่งอ่าน ป้าชอบที่ว่าประชาธิปไตยให้อะไร เรามีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง แล้วความยุติธรรมคืออะไร บางคนไม่มีอะไร แล้วคุณไปจับอะไรเขา แบบนี้มันไม่มีความยุติธรรม เราก็เริ่มอ่านหนังสือขึ้นมา พบข้อมูลที่ไม่เคยรู้หลายอย่าง สะสมมาเรื่อยๆ การไปฟังเสวนาวิชาการก็ทำให้เรารู้ว่ายุคนี้ทั่วโลกเขาไม่มีการปิดกั้นกันแล้ว คุณจะมาปิดกั้นอะไร ปล่อยไปเหอะ อยากจะให้มันเหมือนชาวโลกเขาน่ะ  ไม่ใช่มาปิดกั้นไม่ให้เรารับรู้อะไร ไม่ใช่พูดอะไรไม่ได้”

“เรื่องไหนที่ไม่มีความชอบธรรม ไม่ว่ากับรัฐบาลไหนก็ตาม กับฝ่ายโน้นเราเห็นความไม่ชอบธรรม คนที่โดนความไม่ถูกต้อง เราก็สงสาร ไม่ใช่ป้าเข้าข้างอยู่ฝ่ายเดียว บางทีประชาธิปัตย์เขาพูดดี ความคิดของเขา เอ้อ ข้อนี้ดีนะที่เขาพูด ส่วนข้ออื่นที่ไม่ดี เราก็ไม่ฟัง ข้อดีเราก็เก็บเอาไว้”

“ทุกคนให้ความรู้ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ถ้าเราจะรับด้านเดียวมันไม่ได้ เราต้องฟังหลายๆ อย่าง หลายๆ ด้าน แต่มันจะรับได้มากแค่ไหน สมองมันก็มีแค่นี้น่ะ ป้าเริ่มไปตามงานเสวนาวิชาการตั้งแต่ปี 2549 ป้าไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ป้าก็รณรงค์กับเขา ทำทุกอย่าง รณรงค์ แจกเอกสาร แล้วก็โดนทหารไล่ ป้าก็คิดว่าทำไมเขามาไล่เราทำไม สิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่ มันไม่ถูกต้อง คุณจะไม่ให้เรามีที่ยืนหรือ ไม่ให้เราหายใจหรือ เราก็ประชาชน เราเป็นประชาชนชั้นสองหรือ กับผู้สื่อข่าวป้าถามว่าทำไมไม่ทำข่าวไปตามความถูกต้อง นักข่าวก็บอกว่าเขาโดนกดอยู่ ต้องเซ็นเซอร์แค่นี้ จะออกอะไรก็ไม่ได้ มันไม่มีเสรีภาพในสื่อ”

“ที่จริงลูกก็บอกให้แม่เซฟตัวหน่อย ก็บอกลูกว่าไม่เป็นไร แม่อายุปูนนี้แล้ว มันจะตายก็ให้มันตายไปเถอะลูก ถ้าจะตายเพราะเรื่องนี้ แม่ก็จะยอม ที่ป้าทำเพราะว่า หนึ่ง ป้าไม่ชอบรัฐบาลมายึดอำนาจ มีความชอบธรรมมั้ย ไม่มี ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เดี๋ยวเขาก็จัดการกันได้ ไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องให้ทักษิณอยู่นะ มันหมดประเด็นไปแล้ว แต่ป้าเรียกร้องเพราะว่าประชาชนไปซอยไหน ตรอกไหน มีแต่คนอดอยาก เมื่อก่อนคนอยู่กรุงเทพฯ เยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีคนแล้ว เพราะอะไร เขาทำมาหากินไม่ได้ อันโน้นก็ห้าม อันนี้ก็ห้าม คุณจะให้เขาไปไหนล่ะ จะจับเขาไปอยู่บ้านนอก เขาจะทำมาหากินอะไร จะปลูกข้าวก็ไม่มีราคา คุณอยากให้เขาทำอะไร คนต่างจังหวัดจะกินน้ำขวดหนึ่ง 10 บาท ต้องขายข้าว 2-3 กิโล ถึงจะได้กินน้ำ อย่างนี้ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความชอบธรรมแล้วนะ คนปลูกข้าวแทนที่จะได้มีกำลังอยู่ในที่ดินของตัวเอง แต่พ่อค้าคนกลางมาบีบ เราก็คิดประเทศเราทำไมคนยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งมีหนี้ เราเลยต้องออกมา ถึงจะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้ออกมา ป้าคิดอย่างนี้ คิดแค่นี้”

การมาทำงานเมืองหลวงทำให้ป้านกได้ทัศนะทางการเมืองกลับไป ได้เผชิญเหตุการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอย่างพฤษภา 2535 ที่หล่อหลอมให้มีความกล้า และนอกจากนั้นยังมีรายได้ที่กลาย ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ให้ตัวเองเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกด้วย

“บางคนบอกว่าเรามีท่อน้ำเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2549-2553 ป้าทำจิวเวลรี ทำงานมาเงินเดือนแทบไม่ได้ใช้ ลูกค้าจิวเวลรีแต่ละเจ้า ปีหนึ่งๆ สั่งเจ้าละสิบกว่าล้าน ป้าเป็นลูกจ้างเขาแต่กิจการเขาดีเราก็ได้ส่วนแบ่ง แล้วส่งลูกชายเรียนคนเดียว ป้าก็ออมมาเคลื่อนไหว แต่ช่วงเคลื่อนไหวมากๆ ปี 2553 ป้าทิ้งงานไป เจ้านายเลยให้ป้าออก ตอนนี้ป้าไม่ได้ทำอะไรค่ะ ลูกทำงานแล้วก็ให้เงินกินบ้าง แฟนก็ขับมอเตอร์ไซค์บ้าง นิดๆ หน่อยๆ พอได้เคลื่อนไหว ไม่เยอะ เงินในบัญชีป้า 2-3 แสน แล้วก็ทองอีก 8 บาท หมดไปกับการใช้เคลื่อนไหว”

ประนอม พูลทวี หรือ ป้าอึ่ง

คนเราจะลงทุนลงแรงได้สักเท่าไหร่กับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง  ประนอม พูลทวี หรือ ป้าอึ่ง เป็นอีกหนึ่งป้าที่จัดสรรเวลาเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและประคับประคองชีวิตได้อย่างไม่สะดุด

“งานของเราคือแม่บ้าน ถ้าเรารู้ว่าจะไปทำกิจกรรมวันไหน เราจะจัดแจงเวลาของเราให้เสร็จเรียบร้อย ไม่ให้คนทางบ้านที่เขาให้สตางค์ต้องกลับมาทำเอง ไม่ต้องค่ะ ทุกอย่างเรียบร้อย” ป้าอึ่งซึ่งเข้าสู่วัยให้ลูกเลี้ยง และรับจ้างทำงานบ้านหารายได้เสริมกล่าว

“สภาพสังคม ตอนนี้มันลงคลองไปเลยนะ ป้ารับจ้างซักผ้าเคยได้เดือนละ 5,000 บาท ตอนนี้ 1,000 บาทยังไม่ได้เลย เคยคุยกันกับคนที่จ้างซัก มึงเคยให้กูซัก เดี๋ยวนี้ทำไมซักเอง มันก็บอกว่าสตางค์หายาก ก็เลยต้องเซฟตัวเอง”

ป้าอึ่งสนใจการเมืองโดยมีจุดเริ่มต้นจากการไปฟังการปราศรัยเวที กปปส. ก่อน แต่ภายหลังพบว่า ตัวเองถูกใจข้อมูลและการปราศรัยของคนเสื้อแดงมากกว่า ป้าอึ่งร่วมเคลื่อนไหวเต็มตัวในหลายกิจกรรมรวมทั้งการนั่งรถไฟส่องกลโกงราชภักดิ์

“นักศึกษาจะไปตรวจสอบ เขาถอดรถไฟเลย บอกว่าคุณรู้มั้ย ถ้าผมปล่อยให้พวกคุณไป พวกคุณจะไปโดนอะไรเพิ่มข้างหน้า ป้าก็พูดกับทหารว่า แล้วคุณรู้ว่าพวกเราจะไปโดนข้างหน้าทำไมคุณไม่ว่าคนข้างหน้า คุณมาสกัดทำไมบนรถไฟ เขากักตัวเรา 8-9 ชั่วโมง”

เมื่อถามถึงสิ่งหนึ่งที่ทหารบังคับให้ทุกคนที่โดนควบคุมตัววันนั้นทำ นั่นคือการปฏิญาณว่ารักชาติและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์  ว่าป้าอึ่งรู้สึกอย่างไรต่อการบังคับนั้น ป้าอึ่งตอบว่า “ชาติ ในหลวง เรารักของเราอยู่แล้ว คุณไม่ต้องมาพูดเยอะแยะอะไร”

“อยากให้มีเลือกตั้ง อยากให้ได้นายกที่ประชาชนเลือก พวกเราจะได้วิจารณ์ได้ ทุกวันนี้ทำอะไรไม่ได้ คือรัฐบาลไหนก็ได้ ขอให้ประชาชนจับต้องได้ อันนี้เราจับต้องไม่ได้ พอไปตรงไหนตำรวจก็สกัด”

จุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย หรือ ป้ามาศ

จุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย หรือ ป้ามาศ เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเลือกตั้ง ป้ามาศเป็นแม่บ้าน เมื่อก่อนเธอมีงานหลักคือการขับรถรับส่งแฟน ซึ่งทำงานซ่อมเรือสินค้าอยู่เป็นประจำ หลังจากแฟนเสียชีวิตเมื่อสองปีก่อน โลกของป้ามาศก็เริ่มมีการเมืองเข้ามา

“แต่ก่อนไม่เคยร่วม ชอบมาดู แต่ไม่เคยรู้เรื่อง เพิ่งจะว่างช่วงแฟนเสียเนี่ยล่ะค่ะ ปีกว่าๆ อยู่บ้านเหงาก็เลยออกมา สนุก”  ป้ามาศซึ่งออกตัวว่าเป็นคนพูดน้อยกล่าว และเล่าถึงความสัมพันธ์ทางสังคม การพบปะสังสรรค์ และกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มคนผู้มีจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน

จากความอยากสนุก ป้ามาศเริ่มมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ ป้ามาศเคยไปเยี่ยม ไผ่ ดาวดิน ที่ขอนแก่นโดยไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว “ข่าวออกมาว่าเขาถูกจับ เราสงสารเขาก็เลยไปเยี่ยม คนเขามีใจหาประชาธิปไตย เราก็สงสาร”

คนบางคนเข้าสู่สนามต่อสู้ทางการเมืองได้เพราะเดินผ่านมาตรงนั้นพอดี ป้ามาศก็เป็นเช่นนั้น แม้แต่ในวันที่ถูกแจ้งข้อหาจนได้กลายเป็นหนึ่งใน MBK 39 ป้ามาศก็บอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย

“กำลังเดินมากับเพื่อนๆ เสร็จแล้วเพื่อนบอกให้ช่วยมาถือป้าย พอถือได้แป๊บเดียวก็โดนถ่ายรูป ถือป้ายเสร็จป้าก็เดินเล่น ทักทายคนโน้นคนนี้ เขาก็ถ่ายรูปเรา มีรูปป้าสองภาพ แล้วออกหมายจับจากรูปที่ถ่ายไป เพื่อนที่ไม่ได้เข้าไปข้างในเลย อยู่แค่ตรงขอบ ยืนพิงอยู่ข้างนอกก็โดนถ่ายรูป โดนด้วย แค่นั้น ป้าไม่เคยออกมาพูดอะไร แค่ถือป้ายขอเลือกตั้ง”

ป้ามาศบอกว่าตัวเองเล่นไลน์เป็นนิดหน่อย ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เข้าเว็บไซต์ดูข่าวไม่เป็น ห่างไกลจากคำว่าคอการเมือง ป้ามาศเพียงแค่มีความสุขที่ได้พบปะเพื่อน และทำสิ่งต่างๆ ไปตามสามัญสำนึก มีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อคับข้องใจเพราะเห็นความไม่เป็นธรรม หรือเพราะความสงสารในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์

“ตอนนี้ป้านอนไม่หลับเหมือนกัน เราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วมาจับเราเรื่องอะไร เราไม่เคยพูดอะไร แค่ให้กำลังใจคนที่มา แค่นั้นเอง คนมีอายุทั้งนั้นเลยที่มา สงสารเขา เขาแก่ เขาเหนื่อย เขายังมา อย่างเราว่างก็มา ไม่ว่างเราก็ไม่มา นี่ก็พยายามระวังตัว พยายามจะไม่เครียด เดี๋ยวจะไม่สบาย เพราะเราอยู่คนเดียว ใครๆ บอกอย่าเครียด แต่มันก็ต้องมีมั่ง แฟนเราเสีย เราเครียด เรามาตรงนี้เพื่อจะได้สนุก ไม่เครียดเรื่องแฟน แต่ต้องมาเจออะไรอย่างนี้”

“เพื่อนคนหนึ่งเครียดมาก โวยวายไม่รู้เรื่องเลย  เขาเครียดมาก โวยวายว่าทำไมต้องจับเรา เพื่อนๆ กลัวว่าเขาจะเป็นโรคประสาทจากความกดดันมากๆ ป้ากลัวแทน”

ป้านัต หรือ นัตยา ภาณุทัต

ป้านัต หรือ นัตยา ภาณุทัต มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายกระเป๋าตามตลาดนัด จุดเริ่มต้นของป้านัตเป็นไปตามบุคลิกที่ดูสุขุมของป้า นั่นคือความสนใจทางวิชาการและความรู้ต่างๆ  ความสนใจนี้นี่เองที่ทำให้ป้านัตกลายมาเป็น MBK 39

“เช้าวันนั้นมีการเสวนาที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ ป้าก็ไปนั่งฟัง ป้าชอบงานเสวนา อยากฟัง ฟังเสร็จแล้วได้ข่าวว่า เขาจะมีการเรียกร้องการเลือกตั้ง ป้าเลยคิดว่าไปเสียหน่อย มีโอกาสแล้ว อีกอย่างนั่งรถไฟฟ้าไปก็ไม่ไกล ชวนป้าๆ 2-3 คนนี่แหละไปด้วยกัน ตอนแรกว่าจะไปยืนดูเฉยๆ อยู่รอบนอก แต่คนเริ่มมาเยอะ เอ้า! เข้าไปแบบมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนิดหนึ่งละกัน ป้าคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะป้ามั่นใจว่าสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

ความสนใจทางการเมืองของป้านัตมาถึงอย่างขั้นตอนความสุข 5 ขั้นของมาสโลว์ นั่นคือมาถึงหลังจากวางภาระด้านปากท้องไปได้บ้างแล้ว

“แรกๆ เลยป้าเป็นคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองเพราะช่วงปี 2549 ลูกกำลังต้องเรียนเลยไม่ค่อยสนใจ แต่ถูกผลักให้เป็นเสื้อแดง เพราะว่าช่วงที่เขาไปชุมนุมกัน ป้าจะอยู่ละแวกนั้น แต่อย่างดีก็แค่ไปดูเขาไฮด์ปาร์กกัน ช่วง พ.ศ. 2553-2554 แวะเวียนผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร ช่วงนั้นกำลังทำมาหากิน”

“แต่ช่วงปี 2557 เป็นช่วงที่ลูกเรียนจบ แล้วเกิดการรัฐประหารพอดี เราพอจะมีเวลาว่างแล้ว ค้าขายอย่างเดียว ไม่ต้องออกตลาดนัดวันละ 2-3 รอบ เช้าขาย บ่ายเก็บ เราก็มีเวลา ช่วงนั้นมีการรัฐประหาร เราก็มานั่งวิเคราะห์ว่า ตอนแรกไม่คิดว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับตัวเอง แต่สัก 2-3 ปีผ่านไป คือป้าค้าขาย เริ่มฝืด กำลังซื้อไม่ค่อยมีเข้ามา เราก็มานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเรามีการปกครองโดยทหารหรือเปล่า ป้าไม่ค่อยมีความรู้อะไร ก็ได้แต่อ่านตามสื่อบ้าง หนังสือพิมพ์บ้าง ตอนแรกไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก ก็ลองหัดเล่น ลองตามข่าว เลยเห็นว่ามันเป็นเพราะเหตุนี้นะ ก็ไม่ได้เชื่อว่าใครพูดถูกพูดผิด แต่เรามาวิเคราะห์เอง เพื่อนเฟซบุ๊กคุยกันว่า การค้าขายมันแย่นะ ป้าเลยเริ่มออกมา เริ่มจากงานเสวนาของพวกอาจารย์ พวกนักศึกษา เราตามไปนั่งฟัง แล้วเห็นว่ามีเหตุมีผล ทำให้ป้าต้องออกมา เพราะว่าถ้าเราไม่ช่วยกันออกมา มันไม่ได้แล้ว เลยตามพวกน้องๆ มาทำกิจกรรม”

“ตอนแรกตามจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ก่อน เราเห็นเด็กคนนี้เขากล้าออกมา เขาพูดอะไรเขาพูดตรงๆ บอกเลยว่าตอนนี้เราเชื่อเด็ก ไม่ได้ถูกจูงหรืออะไร เพราะการจะทำอะไรเราต้องคิดก่อนว่าใช่มั้ย มีเหตุมีผลมั้ย ที่เราจะออกมาในคราวนี้ ตอนนี้เราไม่ได้มีภาระอะไร เราก็เลยบอกตัวเองว่าออกมาเถอะ กลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว แต่ออกค่ะ เพราะป้าคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราไม่ได้ทำอะไรผิด”

“การโดนจับครั้งนี้ เพราะว่าออกมาเรียกร้องขอให้มีการเลือกตั้ง ป้าคิดว่าการเลือกตั้งเป็นแนวทางประชาธิปไตย คือประชาชนมีส่วนร่วมได้ แต่ว่าตอนนี้ปกครองโดย เขาบอก…รัฏฐาธิปัตย์ใช่มั้ย คือเราไม่มีส่วนร่วม ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบเลย ตรงนี้ ป้าอึดอัด บอกตรงๆ ว่าอึดอัด”

“คุณแม่ป้าก็อายุ 80 แล้ว พอป้าถูกแจ้งข้อหา แกก็ตกใจ ป้าอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นข้อหาทางการเมือง เราไม่ได้ไปฆ่าใครตาย คงไม่มีการมาทำร้าย ป้ามั่นใจในความเป็นประชาชนไง เราคือประชาชนไงคะ คือป้าคิดเองนะคะว่า เราแค่ประชาชนน่ะ แต่ถ้าคุณอยากทำร้ายพวกเรา เราจะไม่ต่อสู้ค่ะ เราทำตามวิถีของประชาชน ป้ามั่นใจ”

การต่อสู้ทุกครั้งมักมีสิ่งที่ต้องแลกมาทั้งความเสี่ยง ความกังวลใจของคนในครอบครัว และเงินทอง แต่ระดับ “ป้า” ที่ผ่านชีวิต มีประสบการณ์การบริหารครอบครัวและการเงินมานักต่อนักแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จัดการได้

“ป้าค้าขายน่ะ ขายเช้า เลิกบ่าย มันอาจจะมีกำไรนิดๆ หน่อยๆ ป้าก็ไม่ได้ทานเยอะ ก็เก็บนิดหน่อย เอาไว้ใช้ แต่ถึงเวลาต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างนี้คือหยุดค้าขาย แล้วเราก็เอาเงินกำไรตัวนั้นมาใช้”

เมื่อถามถึงกิจกรรมที่ป้านัตชอบอย่างการฟังเสวนา ว่าป้านัตชอบนักวิชาการคนไหนเป็นพิเศษ คำตอบของป้านัตไม่ผิดจากที่คาดไว้เมื่อป้านัตเอ่ยถึงนักกฎหมายขวัญใจชาวบ้านร้านตลาดว่า

“ป้าชอบอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์  เป็นอาจารย์ในดวงใจป้าเลย เขาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ได้ความรู้อะไรจากเขาหลายอย่าง ป้าชอบแนวความคิด ป้าเป็นคนไม่มีความรู้อะไรหรอกค่ะ แต่หลายอย่างที่ติดตามเขา ป้าว่าได้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นเหมือนแรงบันดาลใจด้วยค่ะ”

“เวลามาฟังเสวนา ทหารหรือตำรวจนอกเครื่องแบบจะมาสังเกตการณ์ด้วย เจอกันบ่อย บางคนเห็นป้า เขายังสวัสดีครับ เจอกันอีกแล้วนะครับ แล้วมีการยื่นน้ำให้ทานกัน คุยกัน เขาก็ไม่เห็นป้าเป็นพิษเป็นภัย เขาก็น่ารักกัน แต่ไม่รู้ครั้งนี้ เขามองพวกป้าเป็นอะไร ไม่รู้ว่ามองเป็นศัตรูกันหรือเปล่า แต่ประชาชนไม่กล้าเป็นศัตรูกับพวกท่านหรอกค่ะ เพราะท่านมีปืน”

จากจุดเริ่มต้นของความสนใจทางการการเมือง ได้นำป้าๆ หลายคนไปพบเจอเพื่อนใหม่ พบองค์ความรู้ใหม่ บางคนได้อ่านประวัติศาสตร์บทตอนที่ไม่เคยค้นพบจากหนังสือเรียน และป้าๆ ได้นำสิ่งที่หาได้ยากมาเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้ด้วยนั่นคือ ความจริงใจ ความเอาจริงเอาจังที่่จะยืนหยัดในคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่หนีหายไปไหนไม่ว่าสถานการณ์จะเพลี่ยงพล้ำอย่างไร

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีค่าทั้งสิ้น

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save