fbpx
Makers & Takers : การเงิน “ช่วย” อเมริกามากกว่า “ฉุด” จริงหรือ?

Makers & Takers : การเงิน “ช่วย” อเมริกามากกว่า “ฉุด” จริงหรือ?

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 นอกจากจะสร้างความเสียหายมากมายต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตของคนอเมริกันทั่วประเทศแล้ว ยังจุดประกายการถกเถียงขนานใหญ่เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับความเชื่อที่คนจำนวนมากคิดว่าเป็นความจริงมาช้านาน แต่ยังไม่เคยผ่านการพิสูจน์อย่างชัดเจน นั่นคือความเชื่อที่ว่า ภาคการเงินสมัยใหม่โดยเฉพาะในยุค “โลกาภิวัตน์ทางการเงิน” ซึ่งมาเร่งเครื่องอย่างเข้มข้นในสองทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 นั้น “สร้าง” หรือ “ทำลาย” มูลค่าในสังคมมากกว่ากัน?

วิกฤตผ่านมาแล้วหลายปี แต่ภาครัฐทั่วโลกรวมถึงรัฐบาลอเมริกัน ต้นกำเนิดของวิกฤตดูละล้าละลัง ยังไม่กล้ากำกับดูแลภาคการเงินอย่างเข้มข้นเท่ากับเสียงเรียกร้องของประชาชนทั่วโลกผู้โกรธแค้นกับการต้องสูญเสียเงินและทรัพย์สิน หลายคนเสียบ้านที่พยายามผ่อนมาทั้งชีวิต และเงินบำนาญทั้งก้อนที่เคยฝากความหวังว่าจะรองรับบั้นปลายชีวิต

ในขณะเดียวกัน กระบวนทัศน์ “บูชาตลาดเสรีสุดขั้ว” (laissez faire) ที่เชื่อว่าตลาดรู้ดีที่สุด ประโยชน์ต่างๆ จะ “ไหลริน” (trickle down) ลงมาสู่ส่วนต่างๆ ของสังคมเองถ้าหากรัฐปล่อยให้ตลาดจัดการตัวเอง ก็ถูกท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงแม้นักการเมืองหลายคนจะยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ดูถูกผู้ด้อยโอกาสว่าเป็นพวกขี้เกียจ ฉวยโอกาส ฯลฯ ดังเช่นที่ พอล ไรอัน (Paul Ryan) นักการเมืองพรรครีพับลิกัน ใช้คำว่า “พวกกินฟรี” (takers) กับคนที่ไม่จ่ายภาษีเงินได้ และในปี 2012 วาทะนี้ของเขาก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝั่งรีพับลิกัน

รานา ฟูรูฮาร์ (Rana Foroohar) นักข่าวธุรกิจประจำนิตยสาร TIME และคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจประจำสำนักข่าว CNN นำสำนวน “takers” ของไรอันมาใช้ตั้งชื่อหนังสือ “Makers and Takers” (นักสร้างกับนักกินฟรี) แต่พลิกมุมเป็นขั้วตรงข้ามกับความหมายของไรอัน โดยพยายามชี้ชวนตลอดเล่มว่า นักการเงินขาใหญ่ทั้งหลายต่างหากที่เป็น “นักกินฟรี” ฉวยโอกาสจากบรรดา “นักสร้าง” (makers) ในสังคม

Makers and Takers เป็นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล เรื่องราว ตัวละคร และเกร็ดต่างๆ มากมายที่ฟูรูฮาร์เรียบเรียงอย่างมีชั้นเชิงและอ่านสนุกเหมือนนิยายชั้นดี ฉายภาพความซับซ้อนของกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงินที่ครอบงำระบบการเมืองและเศรษฐกิจของอเมริกา เริ่มจากการนิยาม “นักสร้าง” ว่าหมายถึงคนและบริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่พวกเขาตกเป็นเบี้ยล่างของ “นักกินฟรี” ผู้ฉวยโอกาสจากระบบตลาดที่พิกลพิการ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวม และบ่อยครั้งก็สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม!

ตั้งแต่ช่วงแรกของหนังสือ ฟูรูฮาร์ก็ตีกรอบนิยามกระแส “การเปลี่ยนทุกอย่างเป็นการเงินในอเมริกา” (American financialization) อย่างชัดเจนว่าหมายถึงปรากฏการณ์ต่อไปนี้ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

1. การเติบโตทั้งขนาดและขอบเขตของภาคการเงินและกิจกรรมทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำตัวเหมือนกับสถาบันการเงิน

2. การเติบโตของกระแสการเก็งกำไรโดยใช้หนี้ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อที่สร้างรายได้

3. ความนิยมของการใช้มูลค่าหุ้น(ของผู้ถือหุ้น)เป็นแบบอย่างสำหรับธรรมาภิบาลบริษัท

4. ความแพร่หลายของความคิดเห็นแก่ตัวและมีความเสี่ยงสูง(ต่อสังคม)ของภาคเอกชนและภาครัฐ

5. อำนาจทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของนักการเงินและซีอีโอที่พวกเขาช่วยให้ร่ำรวยกว่าเดิม

6. ภาวะที่อุดมการณ์ “ตลาดรู้ดีที่สุด” ยังคงครอบงำสังคมอยู่ (ถึงแม้จะอ่อนแอลงมากก็ตาม)

ฟูรูฮาร์อธิบายแนวโน้มและอันตรายของกระแสการแปลงทุกอย่างเป็นการเงินผ่านตัวอย่างจริงมากมายจากภาคธุรกิจอเมริกัน หลายชิ้นขยายความจากข่าวเจาะของเธอ ตัวอย่างแทบทั้งหมดสาธิตหายนะที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับ “เวทมนตร์การจัดการเงิน” มากกว่าการลงทุนผลิตสินค้าและบริการเจ๋งๆ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแอปเปิลภายใต้การนำของ ทิม คุก (Tim Cook) ยุคหลังจากที่ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทล่วงลับไปแล้ว ยอมทำตามเสียงเรียกร้องของ คาร์ล ไอคาห์น (Carl Icahn) นักลงทุนสายเหยี่ยว ซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ใช้เทคนิค “วิศวกรรมทางการเงิน” เอาใจผู้ถือหุ้นมากขึ้น แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นและเปี่ยมนวัตกรรมจริงๆ

Makers and Takers ยกตัวอย่างบริษัทอีกหลายแห่งที่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็น “makers” หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ แต่กลับกลายเป็น “takers” สร้างภาระต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยอมให้ความคิดแบบการเงินเป็นใหญ่เข้าครอบงำการบริหารจัดการองค์กร ไม่ว่าจะเป็น เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) โดยเฉพาะหน่วย GE Capital ซึ่งสยายปีกภายใต้อดีตซีอีโอ แจ็ค เวลช์ (Jack Welch) จนเป็นบริษัทการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ตัดทอนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของพนักงานเพื่อรีดกำไรให้ได้มากที่สุด

ส่วน ฟอร์ด (Ford) กับ เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) สองยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกา ก็ถูกครอบงำด้วยความคิดของนักบัญชีและนักวิเคราะห์ทางการเงินจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม หั่นต้นทุนลงอย่างมโหฬารในทางที่ไม่แยแสผู้บริโภค จนก่อเกิดเป็นวิกฤตความไม่ปลอดภัยของรถยนต์บางรุ่น

หันกลับมามองภาคการเงิน ฟูรูฮาร์อธิบายกรณีอื้อฉาวที่บริษัท “พ่อมดการเงิน” หลายแห่งสร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างน่าติดตามและน่าตกใจ ตั้งแต่กรณีกักตุนอลูมิเนียมของ Goldman Sachs วาณิชธนกิจชื่อดังเพื่อปั่นราคา การล้มละลายของเทศบาลเมืองดีทรอยท์ ซึ่งเป็นการล้มละลายของรัฐบาลท้องถิ่นที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เพราะถูกล่อลวงให้ซื้อหลักทรัพย์ซับซ้อนที่มีความเสี่ยงสูงมูลค่าถึงสามหมื่นกว่าล้านบาท และบทบาทของบริษัทลงทุนเอกชนหรือ private equity อย่าง Blackstone Group ในการทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงขึ้น คนได้เป็นเจ้าของบ้านน้อยลง บ้านถูกปล่อยปละละเลยมากขึ้น และผู้อยู่อาศัยต้องจ่ายค่าเช่าสูงลิบเกินควรไปมาก

ในกรณีเหล่านี้ ฟูรูฮาร์ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายอย่างช่ำชอง และส่องให้มองเห็น “เจตนาร้าย” ของนักการเงินที่อยู่เบื้องหลัง ลบล้างข้ออ้างคลาสสิกที่ว่า ความเสียหายเหล่านี้เหตุบังเอิญ เกิดจากกลไกตลาดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้า

ประเด็นที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษในหนังสือ คือการที่ฟูรูฮาร์อธิบายที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่รองรับสนับสนุนกระแสการแปลงทุกสิ่งเป็นการเงิน โดยเฉพาะการแก้หรือออกกฎหมายต่างๆ ได้อย่างเข้าใจง่ายและอ่านสนุก (เท่าที่เรื่องกฎหมายจะสนุกได้) ตั้งแต่คดี Dodge v. Ford Motor ในปี 1919 ซึ่งคำตัดสินของศาลฎีกาเท่ากับวางบรรทัดฐานว่า “ผู้ถือหุ้น” คือกลุ่มบุคคลที่ธุรกิจมี “หน้าที่” สร้างประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งที่ความอยู่รอดของธุรกิจต้องอาศัยผู้มีส่วนได้เสียอีกมากมายนอกเหนือจากผู้ถือหุ้น เรื่อยมาจนถึงการเปิดเสรีภาคการเงินด้วยการยกเลิกกฎหมาย Glass-Steagall Act และ Regulation Q, การออกกฎหมาย Gramm-Leach-Bliley ในปี 1999 ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินเข้ามา ‘เล่น’ ในระบบเศรษฐกิจจริงได้ง่ายขึ้น

การออกกฎหมาย Commodity Futures Modernization Act (CFMA) ในปี 2000 เปิดให้เก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ได้อย่างมโหฬาร เรื่อยมาจนถึงการผ่อนปรนกฎหมาย Dodd-Frank และเปลี่ยนกฎโวลเคอร์ (Volcker Rule) เพื่อเปิดให้เก็งกำไรพอร์ตลงทุนได้ ยังไม่นับการผ่อนปรนกฎหมายป้องกันการผูกขาด การเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย และการทำให้มหกรรมการซื้อหุ้นคืนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ในบรรดาเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกฎกติกา เรื่องที่ผู้เขียนชอบที่สุด คือ เรื่องการซื้อหุ้นคืนหรือ share buyback

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การซื้อหุ้นคืนโดยบริษัทเองนั้นเคยเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย (!) ในอเมริกา เพราะถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนตลาด จนกระทั่งในปี 1982 เมื่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อเมริกา ออกกฎชื่อ Rule 10b-18 ซึ่งเปิดทางให้บริษัทซื้อหุ้นคืนได้ทีละปริมาณมากๆ ซึ่งก็ดีสำหรับผู้ถือหุ้นเพราะทำให้ราคาหุ้นถีบตัวสูงขึ้น (มีหุ้นให้ซื้อขายในตลาดน้อยลง) และดีเลิศสำหรับซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ เพราะค่าตอบแทนของพวกเขาส่วนหนึ่งอยู่ในรูปหุ้นของบริษัท และโบนัสก็ผูกติดอยู่กับราคาหุ้น (ส่วนหนึ่งเพราะการตอบแทนในรูปหุ้นถูกยกเว้นจากเพดานค่าตอบแทนผู้บริหาร 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสภาคองเกรสออกเป็นกฎหมายในปี 1993)

ฟูรูฮาร์ชี้ว่า ราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อหุ้นคืนเป็นการเพิ่มขึ้นแบบ “ปลอมๆ” เพราะเกิดจากปริมาณหุ้นในตลาดลดลง ไม่ใช่ว่าบริษัทมีแนวโน้มธุรกิจที่สดใสหรือว่ากำลังจะออกผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ และการผูกค่าตอบแทนของผู้บริหารเข้ากับราคาหุ้นมากขึ้นก็ส่งผลให้ผู้บริหารสายตาสั้นกว่าเดิม พยายามใช้เทคนิคทางการเงินปั่นราคาหุ้นเพื่อที่ตัวเองจะได้ค่าตอบแทนมากๆ และการให้บริษัททุ่มเงินซื้อหุ้นคืนนั้นก็คือเงินที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าจริงๆ (และราคาหุ้นด้วย) ได้อย่างยั่งยืนกว่าในระยะยาว เช่น ลงทุนในผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่ๆ เป็นต้น

อีกบทในหนังสือที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ คือบทที่ฟูรูฮาร์อธิบายที่มาของการศึกษาคณะ “บริหารธุรกิจ” ในอเมริกา ว่าทำไมจึงเน้นวิชาการเงินมากกว่าวิชาอุตสาหกรรมหรือทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า บริหารธุรกิจนั้นมี “ปมด้อย” ในแวดวงวิชาการว่าไม่ใช่ “วิทยาศาสตร์” ที่แท้จริง ดังนั้นจึงทุ่มน้ำหนักไปยังวิชาการเงินซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลขและ “ดูเป็นวิทยาศาสตร์” มากกว่าธุรกิจแขนงอื่น และหลังจากนั้นการเรียนการสอนในคณะบริหารธุรกิจก็ถูกครอบงำด้วยทฤษฎี “ตลาดมีประสิทธิภาพ” และสำนักคิดแบบเสรีนิยมใหม่หรือ “ตลาดเสรีรู้ดีที่สุด”

ฟูรูฮาร์ไม่เพียงแต่อธิบายสภาพปัญหาและที่มาที่ไป แต่เธอยังนำเสนอ “ทางออก” ไว้อย่างน่าสนใจในช่วงท้ายของหนังสือ ที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ซึ่งก็ดูจะปรากฏเป็นจริงมากขึ้นในหลายประเทศ คือการเรียกร้องให้รัฐบังคับระบบการเงินให้มีความโปร่งใสมากกว่าเดิม และลดทอนความสลับซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ลง เพื่อขจัดภาวะที่สถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งจะ “ใหญ่เกินกว่าจะจัดการ” หรือเกินกำลังที่คนธรรมดาจะเข้าใจ (ซึ่งก็ทำให้คนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกหลอกมากกว่าเดิม)

ข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจมีอาทิ การมองหาโครงสร้างการบริหารจัดการที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การให้รัฐสนับสนุนการเสริมสร้างเงินออมและฐานทุนของปัจเจกและครอบครัว มากกว่าการก่อหนี้ และการปฏิรูประบบกฎหมายภาษีธุรกิจ เพื่อหยุดให้รางวัลกับการ “take” มากกว่า “make” นอกจากนี้ เธอยังเสนอให้รัฐกำกับดูแลภาคการเงินให้ดี “ดังเดิม” จุดนี้ฟูรูฮาร์ใช้คำว่า “กำกับอีกรอบ” หรือ re-regulate เพราะนักการเงินหลายคนพยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมว่า ภาครัฐจะ “เพิ่ม” การกำกับดูแลจนพวกเขากระดิกตัวลำบาก ราวกับว่าไม่เคยอยู่ใต้การกำกับดูแลมาก่อน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐเคยกำกับดูแลภาคการเงินอเมริกันอย่างเข้มข้นกว่าปัจจุบันมาก แต่ภาคการเงินก็มิได้ขาดแคลนนวัตกรรมหรือแข่งขันไม่ได้แต่อย่างใด กลับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจจริงด้วยซ้ำไป.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save