fbpx
‘สายส่ง’ มีไว้ทำไม ? : คุยกับ มิ่งมานัส ศิวรักษ์ แห่งสายส่ง ‘เคล็ดไทย’

‘สายส่ง’ มีไว้ทำไม ? : คุยกับ มิ่งมานัส ศิวรักษ์ แห่งสายส่ง ‘เคล็ดไทย’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

สมมติเล่นๆ ว่า ถ้าคุณเป็นนักเขียน เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ผ่านกระบวนการทำต้นฉบับกับสำนักพิมพ์ จนกระทั่งสำเร็จเป็นรูปเล่มออกมาเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาที่สำนักพิมพ์ต้องทำ ก็คือกระจายหนังสือเล่มนั้นไปสู่ร้านหนังสือต่างๆ เพื่อวางขาย

ทว่าการขนส่งหนังสือไปยังร้านที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นภาระที่หนักหนาเกินกว่าสำนักพิมพ์จะจัดการเองได้ ยกเว้นในกรณีของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่มีระบบกระจายสินค้าเป็นของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ สำนักพิมพ์ซึ่งเป็นเสมือนต้นทาง และร้านหนังสือที่เป็นปลายทาง จึงต้องมี ‘ตัวกลาง’ ที่เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของการจัดจำหน่าย รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ เพื่อกระจายไปตามร้านหนังสือต่างๆ

ในธุรกิจหนังสือ เราเรียกคนทำหน้าที่นี้ว่า ‘สายส่ง’

 

หากย้อนไปในยุคที่ธุรกิจหนังสือเฟื่องฟู ระบบขนส่งและเทคโนโลยียังไม่พัฒนาอย่างทุกวันนี้ สายส่งคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระ ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระที่คนทั่วไปมองไม่เห็น โดยเฉพาะการจัดการคลังสินค้า ที่เต็มไปด้วยหนังสือจำนวนมหาศาล

ครั้นยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน พฤติกรรมการอ่านเปลี่ยนไป ส่งผลสะเทือนระลอกใหญ่ต่อทุกภาคส่วนในธุรกิจหนังสือ

สื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวต้องปิดตัว หนังสือหลายประเภทเริ่มซบเซา ร้านหนังสือมีหนังสือเก่ามากกว่าหนังสือใหม่ เพิ่มเติมด้วยสินค้าจิปาถะต่างๆ

สายส่งในฐานะผู้อยู่ตรงกลาง เริ่มถูกมองอย่างคลางแคลงใจ โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตมีช่องทางการขายใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าน ‘ตัวกลาง’

 

ถ้าแบ่งสัดส่วนรายได้อย่างหยาบๆ สมมติว่าหนังสือเล่มหนึ่ง ราคา 100 บาท ปัจจุบันสายส่งจะคิดส่วนแบ่งจากสำนักพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 40 บาท บางเจ้าก็ขึ้นไปถึง 45 บาท เรียกง่ายๆ ว่าเป็นค่าจัดจำหน่าย โดยจะแบ่งส่วนนี้ให้ร้านหนังสืออีก 15-25 บาท

“บางคนตั้งแง่ว่าสายส่งไม่มีประโยชน์ ไม่เห็นทำอะไรเลย รับส่งหนังสืออย่างเดียว แล้วก็ได้ส่วนแบ่งไปฟรีๆ” คือเสียงตัดพ้อจากผู้บริหารสายส่งรายใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

‘สายส่งศึกษิต’ หรือที่คนรู้จักกันในชื่อสายส่งเคล็ดไทย เป็นกิจการย่อยในบริษัท เคล็ดไทย จำกัด ก่อตั้งโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งแต่ปี 2510 โดยเริ่มต้นจากการทำร้านหนังสือศึกษิตสยาม ควบคู่ไปกับสำนักพิมพ์ ก่อนจะเริ่มดำเนินกิจการจัดจำหน่ายในเวลาต่อมา ปัจจุบันทำหน้าที่จัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ไปยังร้านหนังสือกว่า 800 ร้านทั่วประเทศ

มิ่งมานัส ศิวรักษ์ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท เคล็ดไทย จำกัด เปิดใจถึงสถานการณ์ของแวดวงหนังสือในปัจจุบัน เธอบอกว่าตอนนี้วงการหนังสือกำลังอยู่ในช่วงขาลง และเป็นขาลงที่น่าเป็นห่วงที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา

คำถามที่น่าคิดก็คือ ในฐานะของสายส่ง เธอประเมินสถานการณ์ของตัวเองอย่างไร วางบทบาทหน้าที่ไว้ตรงไหน และเตรียมตัวรับมืออย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

 

ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ความท้าทายการจัดจำหน่ายหนังสือ คืออะไร

ในอุตสาหกรรมอื่นๆ สินค้าส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ไม่ต่างกัน เวลาผลิต ก็ผลิตคราวละมากๆ เป็นแสนเป็นล้านชิ้น เพื่อจะได้กระจายไปเยอะที่สุด แต่หนังสือ มันเป็นสินค้าที่มีหลายรูปแบบ ออกมาเป็นช่วงๆ และมีจำนวนต่อเล่มไม่มาก ฉะนั้นความยากก็คือ จะทำอย่างไรให้หนังสือเล่มนั้นๆ ได้ไปอยู่ในร้านที่เหมาะสมที่สุด เพื่อจะได้เจอกับคนอ่าน เพราะด้วยจำนวนพิมพ์ต่อเล่มที่จำกัด มันไม่สามารถวางทุกร้านได้

หน้าที่เราไม่ใช่แค่รับมาแล้วส่งไปอย่างเดียว ต้องช่วยคัดเลือก คุยกับสำนักพิมพ์ว่าหนังสือแบบไหน เหมาะกับร้านไหน ไปจนถึงการแนะนำหนังสือให้ลูกค้าได้รับรู้ในเบื้องต้น ก่อนจะไปถึงหน้าร้าน แล้วถ้ามองจากมุมของร้านหนังสือ การที่มีหนังสือเยอะๆ ก็ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป เพราะร้านหนังสือไม่ใช่ห้องสมุด หมายความว่าอะไรที่ขายได้ ก็ต้องโชว์ ต้องเก็บไว้ ส่วนอะไรที่ขายไม่ได้ ก็ต้องหาทางส่งคืนกลับไป

ฉะนั้นคนตรงกลางที่ต้องคอยแบกรับและจัดการสิ่งเหล่านี้ ก็คือสายส่ง เราต้องดีลกับสำนักพิมพ์ ช่วยกันคัดเลือกหนังสือ ว่าเล่มไหนจะขายอย่างไร เพื่อให้เวลาส่งหนังสือออกไป ร้านหนังสือก็แฮปปี้ที่จะวางหรือโชว์ พยายามทำให้มันมีโอกาสขายได้มากที่สุด ก่อนจะถูกส่งกลับมา เราให้ความสำคัญกับการคัดหนังสือมาก เพราะเรามีค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังร้านทั่วประเทศ ถ้าส่งไปแล้ว ขายไม่ได้ เราก็ต้องขนกลับ

ข้อแตกต่างอีกอย่างคือ ธุรกิจหนังสือ จะเป็นลักษณะของการฝากขาย เราเอาหนังสือไปฝากวางหน้าร้าน ขายไม่ได้ก็ต้องเอากลับคืนมา ต่างจากหลายธุรกิจที่จ่ายเงินแล้วซื้อขาดไปเลย ถ้ามองในแง่ภาระ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็สูงเหมือนกัน ยังไม่นับความเสี่ยงในกรณีที่หนังสือหายหรือชำรุด

 

ระบบการทำงานของสายส่งหนังสือ เป็นยังไง

จะมีสองระบบหลักๆ แบบแรกคือระบบฝากขาย อธิบายง่ายๆ ว่าเหมือนสำนักพิมพ์เอาหนังสือมาฝากเราจัดจำหน่าย เราก็จะเอาหนังสือที่รับมา กระจายไปตามร้านต่างๆ โดยให้เครดิตในการขาย 30-60 วัน เมื่อถึงเวลาเราก็จะไปเก็บเงินจากร้าน แล้วเอาเงินส่วนนั้นมาจ่ายให้สำนักพิมพ์ อีกระบบคือการขายขาด คือสำนักพิมพ์ขายขาดให้เราเลย หมายความว่ายกหนังสือทั้งหมดให้เราดูแล โดยที่เราจ่ายเป็นก้อนให้เขาเลย ถ้าเป็นเงื่อนไขนี้ เราก็จะคิดส่วนแบ่งเพิ่มจาก 30-40% เป็น 50% จากปก

แต่จะมีอีกกรณีหนึ่ง ที่เรียกว่าระบบ ‘Advance’ เป็นระบบที่เราใช้กับสำนักพิมพ์ที่ติดต่อกันมานาน พูดง่ายๆ ว่าเป็นเหมือนพี่น้องกัน ก็คือเราจ่ายล่วงหน้าให้ก่อนเลยส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องรอยอดขายจากร้านหนังสือ พอขายได้ก็ค่อยมาหักเอาทีหลัง เพราะเรารู้ว่าสำนักพิมพ์เองก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโรงพิมพ์ ค่าต้นฉบับ เหมือนเราเองก็พยายามช่วยซับพอร์ตเขาด้วย

 

รายรับ-รายจ่ายของสายส่ง มาจากทางไหนบ้าง

รายรับหลักๆ ก็มาจากยอดขายที่ได้จากร้านหนังสือต่างๆ อีกทางก็คือจากหน้าร้านของเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เอาไว้ระบายหนังสือเก่าๆ

ส่วนรายจ่ายหลักๆ เลยก็คือค่าขนส่ง กับเงินที่ต้องจ่ายให้สำนักพิมพ์ ยังไม่รวมค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดการคลังสินค้า และอื่นๆ ยิบย่อยอีกมากมาย

 

มีวิธีจัดการหนังสือเก่าๆ ที่ค้างสต็อกยังไง

มีทั้งลดราคา แต่ถ้าสภาพไม่ไหวจริงๆ ก็ต้อง ‘สับทิ้ง’ เลย ซึ่งการสับทิ้งก็มีค่าใช้จ่ายอีก

จริงๆ หนังสือในสต็อกมันเข้ามาจากทุกทาง ทั้งเล่มใหม่ๆ จากสำนักพิมพ์ รับคืนจากร้านหนังสือ รวมถึงหนังสือเก่าๆ ที่ซื้อขาดมาแล้วคาอยู่ในสต็อก

ทุกวันนี้ มีหนังสือเข้ามาเฉลี่ย 10-20 ปก จากเมื่อก่อน 30-40 ปก แต่ 10-20 ปกก็ถือว่าแน่นแล้ว เพราะปกหนึ่งก็เป็นพันเล่ม

 

แล้วในยุคที่มีการซื้อขายหนังสือแบบออนไลน์ สายส่งได้รับผลกระทบแค่ไหน

เราคิดว่าทั้งสองอย่างต้องไปคู่กัน การมีออนไลน์อย่างเดียวโดยที่ไม่มีร้านหนังสือเลย น่าจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เกิดขึ้น เพราะหนังสือไม่เหมือนสินค้าชนิดอื่น เรารู้สึกว่าหลายๆ สำนักพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จกับการขายออนไลน์ ก็ยังอยากเอาหนังสือมาฝากสายส่งอยู่ดี เพราะเขายังอยากให้มันกระจายไปถึงร้านหนังสือ ยังอยากให้คนเห็นอยู่ แล้วในมุมนักเขียน หรือสำนักพิมพ์ ไม่มีใครที่อยากให้หนังสืออยู่แค่ในหน้าจอหรอก ทุกคนก็อยากให้หนังสือไปอยู่ในร้านหนังสือและได้รับการ display อยู่ดี

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ทั้งสามขา คือสำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ ต่างก็ต้องทำออนไลน์ เพื่อช่วยสร้างการรับรู้ในลำดับแรก แน่นอนว่าคนอ่านอาจไม่ได้ซื้อแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ เขาต้องรู้ว่าจะไปหาซื้อได้ที่ร้านไหน

สิ่งที่สังเกตเห็นในช่วงหลายปีมานี้ ก็คือหลายคนดูข้อมูลจากในออนไลน์ แล้วไปตามหาที่ร้าน คนประเภทนี้มีอยู่เยอะเหมือนกัน ที่เห็นชัดก็คืองานสัปดาห์หนังสือ สังเกตว่าช่วงหลังๆ คนที่ตั้งใจมาเดินดูหนังสือในงานให้ทั่วก่อน แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ มีน้อยลง ส่วนใหญ่จะมีลิสต์มาก่อนแล้ว พอมาถึงก็ไปตามหาเล่มนั้นๆ เลย

แล้วในส่วนของเคล็ดไทย มีวิธีการช่วยโปรโมตแบบไหนบ้าง

เราจะชอบจัดเป็นเซ็ต เอาหนังสือแนวเดียวกันจากหลายๆ สำนักพิมพ์มาจัดเป็นเซ็ตเดียวกัน ข้อดีของสายส่งคือเรามีทุกเจ้า อย่างช่วงนี้มีประกาศผลซีไรต์ เราก็มีหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์ทุกเจ้า เราสามารถจัดเป็นหมวดๆ ตามที่ลูกค้าสนใจได้

แล้วการที่ทุกวันนี้ คนอ่านสามารถสั่งซื้อโดยตรงกับนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ได้ กระทบกับสายส่งแค่ไหน

ถ้าในระยะยาวทุกคนคิดแบบนี้ ก็กระทบแน่นอน ถ้าทุกคนมองว่าขายเองก็ได้ ไม่ต้องมีสายส่งก็ได้ ยังไงก็กระทบ ซึ่งจะไม่กระทบแค่สายส่งอย่างเดียว แต่จะกระทบทั้งวงการหนังสือเลย เอาง่ายๆ ว่าถ้าลองไปถามร้านหนังสือตอนนี้ มีแต่คนบ่นว่าลำบาก เพราะการที่คนอ่านซื้อโดยตรงมากขึ้น หรือไม่ผ่านสายส่ง ก็ทำให้ร้านหนังสือซบเซาลงด้วย เพราะหนังสือที่เข้าใหม่ๆ ที่เข้าร้านก็น้อยลง พอหนังสือน้อย ก็ต้องลดสัดส่วนของการจัดวางหนังสือลง แล้วหาอย่างอื่นมาขายแทน พูดง่ายๆ ว่ามันไม่ได้กระทบเราอย่างเดียว

 

มีวิธีปรับตัวกับสถานการณ์แบบนี้ยังไง

เราพยายาม support ร้านหนังสือมากขึ้น ทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ เพราะเรารู้สึกว่าช่วงหลังมานี้ คนเห็นสำคัญของร้านหนังสือน้อยลง จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีความพยายามปลุกกระแสร้านหนังสืออิสระ แล้วช่วงหลังก็เงียบๆ กันไป ซึ่งในมุมของเรา ในฐานะสายส่งที่ส่งหนังสือให้ทุกร้าน เรารู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก ไม่ว่าจะร้านเล็กหรือใหญ่ ทุกคนน่าเป็นห่วงหมด

ที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันก็คือ ทุกวันนี้จำนวนหนังสือที่ออกใหม่ มันน้อยลงจริงๆ หมายความว่าถ้าเทียบกับเมื่อก่อน จะมีช่วงที่ทุกคนพยายามแย่งพื้นที่ในร้านหนังสือกัน เพราะหนังสือมันเยอะ แต่พื้นที่น้อย ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ช่วยส่งหนังสือมาเพิ่มหน่อยเถอะ ไม่มีหนังสือจะขาย ยิ่งร้านเล็กๆ จะยิ่งลำบากเร็ว บางทียังไม่ทันขาย รายจ่ายก็วนมาอีกแล้ว ค่าเช่าร้าน ค่าพนักงาน อย่างที่เห็นว่าหลายร้านก็ต้องปิดตัวไป ยิ่งถ้าไม่มีธุรกิจอย่างอื่นมาเสริมเลย ยิ่งลำบาก บางทีใจรักอย่างเดียวก็ไม่ไหวเหมือนกัน

 

มองวงการตอนนี้ยังไง ซบเซาจริงไหม

ซบเซาจริง ถือเป็นช่วงขาลง แต่คำถามคือ ลงแล้วมันจะขึ้นเมื่อไหร่ อย่างช่วงก่อนหน้านี้ ก็เคยมีขาลงมาแล้ว คือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่สักพักมันก็ฟื้นขึ้นมา แต่ความน่ากลัวของตอนนี้คือ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะขึ้นได้อีกรึเปล่า ทุกคนต่างก็เฝ้ารอให้มันขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รอได้ ถ้ามองในเชิงธุรกิจ สถานการณ์แบบนี้ถือว่าอยู่ค่อนข้างยาก สุดท้ายอาจกลายเป็นว่า ถ้าสายป่านใครยาวกว่า คนนั้นก็รอได้นานกว่า ซึ่งในภาพรวมก็เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอยู่ดี

ความแตกต่างอีกข้อก็คือ เมื่อก่อนเวลาที่เจอขาลง มันจะเกิดเป็นช่วงๆ และกระทบเป็นหมวดๆ ไป เช่น ช่วงที่ e-book เริ่มเข้ามาตีตลาดนิยาย นิยายก็ซบเซาลงอย่างชัดเจน หรือช่วงไหนที่เศรษฐกิจไม่ดี พวกหนังสือที่อยู่ในกระแสก็จะกระทบเยอะหน่อย แต่ตอนนี้ สิ่งที่มันเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านอย่างสิ้นเชิงก็คือโลกออนไลน์ มันแย่งเวลาในชีวิตของเราไปเยอะมาก จนเราแทบไม่เหลือเวลาที่จะหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่านอย่างจริงจัง เราจึงคิดว่าขาลงครั้งนี้ มีโอกาสที่จะค้างอยู่จุดนี้นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะกลับสู่ขาขึ้นอีกเมื่อไหร่

แล้วสมมติว่า ถ้าขาขึ้นมันมาช้า หรือไม่มาเลย เตรียมแผนรับมือไว้ยังไง

ก็เริ่มมีการคุยกันว่า เราจะลองมองธุรกิจอื่นเผื่อไว้บ้างมั้ย แต่สุดท้ายเราก็ยังไม่อยากทิ้งอยู่ดี ยังอยากสู้ต่อ ถึงตอนนี้เราก็ทำมา 40 ปีกว่าแล้ว ถ้านับตั้งแต่ศึกษิตสยามก็ 50 ปี เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มา คงยากที่จะทิ้งไปเลย สุดท้ายอาจมีอย่างอื่นเข้ามาเสริมบ้าง แต่ยังไม่ได้คิดจริงจัง สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ตอนนี้ก็คือ พัฒนาคุณภาพหนังสือให้ดี พัฒนาร้านหนังสือให้มีที่ทางของมัน เพื่อให้วงจรมันอยู่ได้

 

ถ้าให้มองในภาคส่วนอื่นๆ ทั้งสำนักพิมพ์ หรือร้านหนังสือ เห็นปัญหาอะไรบ้าง

ก่อนหน้านี้จะมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่า แทนที่จะเราจะมาคุยกัน ช่วยกัน เรากลับทะเลาะกันเอง เช่น บอกว่าสายส่งไม่มีประโยชน์ ไม่เห็นทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ คอยส่งหนังสือ แล้วก็ได้เงินส่วนแบ่งไปฟรีๆ แต่เขามองไม่เห็นว่าเราต้องสร้างคลังขึ้นมาเพื่อเก็บหนังสือของทุกคน เราต้องขนหนังสือไป ขนหนังสือกลับ เราต้องดีลกับคนนั้นคนนี้มากมาย

หลักๆ ที่รู้สึกก็คือ เรายังทะเลาะกันเองอยู่ โทษกันไปโทษกันมา แต่ถ้าเรามองว่าทุกฝ่ายต่างก็ลำบากหมด ทุกคนต่างมีภาระด้วยกันทั้งนั้น เราก็ควรพูดคุยกันให้มากขึ้น ประสานกันมากขึ้น เรื่องคุณภาพหนังสือ ไม่ค่อยมีปัญหาหรอก คุณภาพหนังสือโดยรวมตอนนี้ถือว่าดี แต่สิ่งที่ขาดก็คือการร่วมมือ เราอยากให้ทุกฝ่ายมองว่าแต่ละคน ต่างก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อวงการหนังสือ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว

 

 

ข้อกล่าวหาที่ว่าสายส่งไม่มีประโยชน์ เป็นข้อกล่าวหาที่แรงเหมือนกัน อยากรู้ว่าต้นตอของข้อกล่าวหานี้คืออะไร

เขาอาจไม่เคยเห็น หรือไม่เคยรู้ว่าเราทำงานอะไร แน่นอนว่าทุกฝ่ายก็ต้องคิดว่าตัวเองทำงานเยอะ สำนักพิมพ์ต้องหาต้นฉบับ ต้องออกแบบทำรูปเล่ม มีขั้นตอนเยอะแยะกว่าหนังสือสักเล่มจะออกมาได้ สายส่งแค่มาเอาหนังสือไปขาย แต่ได้ส่วนแบ่งไปตั้งเยอะ เขาก็อาจรู้สึกว่าไม่แฟร์ โดยที่เขาไม่รู้ว่าส่วนแบ่งที่เราได้มา เราก็ต้องเอาไปแบ่งให้ร้านหนังสืออีกที ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่ว่านั่งอยู่เฉยๆ แล้วได้เงินมาฟรีๆ ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่คนอื่นไม่รู้ หรือไม่ได้มาเห็นกระบวนการทำงานของเราทั้งหมด

ช่วงที่มีร้านหนังสืออิสระเปิดใหม่เยอะ หลายสำนักพิมพ์ก็เลือกที่จะเดินไปฝากขายกับร้านโดยตรง โดยไม่ผ่านสายส่ง ซึ่งพอเขาได้ลองทำเอง เขาถึงรู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะมันมีเรื่องให้บริหารจัดการมากมาย ตั้งแต่การเช็คสต็อก เช็คยอด หักส่วนลด ส่วนต่าง เหล่านี้เขาต้องจัดการเองทั้งหมด ซึ่งแต่ละร้านก็มีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไปอีก หลายสำนักพิมพ์ที่ทำแบบนี้ก็รู้สึกว่าหนักเหมือนกัน ขณะเดียวกันในมุมของร้าน ก็ปวดหัวไม่ต่างกัน เพราะถ้ามีหนังสือจาก 100 สำนักพิมพ์ แล้วต้องดีลเองทั้งหมด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แทนที่จะรองรับลูกค้า กลายเป็นว่าต้องมารองรับสำนักพิมพ์

แต่ถ้ามองข้อดี ในสถานการณ์แบบนี้ สายส่งอยู่ในจุดที่สามารถช่วยประคองทั้งสองฝั่งได้ ทั้งฝั่งสำนักพิมพ์ และฝั่งร้านหนังสือ เราอาจเป็นคนเดียวด้วยซ้ำที่สามารถประสานทั้งสองฝั่งแล้วพาทุกคนเดินต่อไปได้

 

ที่คนชอบพูดกันว่า หนังสือกำลังตายคุณมองว่ามันจะตายจริงไหม

ตาย… (ยิ้ม) ถ้าสุดท้ายทุกคนคิดว่ามันจะตาย แล้วไม่ทำอะไร มันก็มีโอกาสตายจริงๆ ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่วัฒนธรรมการอ่านไม่ได้แข็งแรงเท่าไหร่อยู่แล้ว หมายความว่าถ้าวันหนึ่งธุรกิจหนังสือซบเซา หรือล้มหายตายจากไป คนก็อาจไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่าไหร่ จริงๆ ก็เป็นห่วงทั้งวงการ ไม่ได้ห่วงแค่บริษัทของเราอย่างเดียว

 

ที่บอกว่าตายในที่นี้ คือตายยังไง

หลายคนพูดว่าต่อไป หนังสือจะกลายเป็นของสะสม มีความพรีเมียมขึ้น เข้าถึงยากขึ้น หลายคนก็เลยเริ่มทำหนังสือที่แพงขึ้น คำถามก็คือว่า สุดท้ายแล้วสัดส่วนหรือความสำคัญของการมีหนังสือในสังคมนี้ จะลดลงไปอีกแค่ไหน ขนาดของวงการหนังสือจะเป็นอย่างไร หรือหนังสือบางหมวด บางประเภท จะมีที่ทางหลงเหลืออยู่ไหม อย่างที่เห็นว่าทุกวันนี้ หนังสือบางหมวดก็แทบจะล้มหายตายจากไปอย่างถาวรแล้ว

 

สุดท้ายแล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไร

เรารู้สึกว่าทุกฝ่ายต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังสักที ว่าจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร ไม่ใช่ต่างคนต่างรอว่าเมื่อไหร่จะขาขึ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องมานั่งคุยกัน ช่วยกันทำ สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ทุกวันนี้รัฐยังมองว่าหนังสือเป็นแค่ธุรกิจหนึ่ง ซึ่งไม่มีผลอะไรนักในเชิงตัวเลข ก็เลยไม่ให้ความสำคัญ แต่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เขาจะมองว่าหนังสือคือตัวตนที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมของประเทศเขา แต่ประเทศเรายังไม่ได้มองแบบนั้น

 

แล้วตอนนี้เริ่มมีการคุยหรือปรึกษากันบ้างรึยัง

เท่าที่เห็นตอนนี้ เหมือนไม่มีใครคุยอะไรกันเลย ต่างคนต่างอยู่ (หัวเราะ)

อย่างเคล็ดไทยเอง ก็มีคิดๆ ไว้เหมือนกัน แต่ตอนนี้เราก็พยายามเริ่มจากตัวเองก่อน ก็คือเน้นไปที่ร้านหนังสือ ทำยังไงให้หนังสือไปถึงมือลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่คิดว่าสุดท้ายเราขายเองได้ ไม่ต้องง้อร้านหนังสือ ไม่อยากคิดแบบนั้น แล้วก็ไม่อยากให้ใครคิดแบบนั้นด้วย

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023