fbpx
กาฬสินธุ์โมเดล (2) : แสงสว่างในโรงเรียน

กาฬสินธุ์โมเดล (2) : แสงสว่างในโรงเรียน

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

“เล็กนั้นงาม” เสียงจากผู้อำนวยการ

แว่นตาของเธอพร่ามัว มองข้อความทางไลน์ในโทรศัพท์ไม่ชัด

“อ่านไม่ออกแล้ว” วชิรนุช พรหมภัทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม พูดพลางถอดแว่นและลุกไปหยิบทิชชู่มาเช็ดแว่นทันที ก่อนจะสวมแว่นตากลับและอ่านข้อความใหม่

ชีวิตคนก็คงประมาณนี้ เมื่อขุ่นมัวก็ต้องเช็ดขัดใหม่ให้ใสกระจ่าง

โรงเรียนของเธออยู่ในอ้อมกอดของทุ่งนาในอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นักเรียนทั้งหมดมีเพียง 50 คน รวมตั้งแต่อนุบาล 1 – ประถม 6 แปลว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก รวมครูทั้งหมดอีก 4 คน ผู้บริหารอีก 1 คน คือตัวเธอเอง

เมื่อว่าตามสัดส่วนที่เป็นจริง ทำให้ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนควบถึงสองชั้น คือ อนุบาล 1-2 มีครู 1 คนดูแล และ ป.1-2 ก็เช่นกัน ไล่ไปแบบนี้จนถึง ป.6

ไม่เพียงเท่านั้น ครูแต่ละคนยังต้องสอนทุกวิชา ราวกับรับเหมาสัมปทานไปเลยทั้งหมด

นี่เองที่หลายคนกังวลว่าเมื่อเด็กจำนวนน้อย ครูน้อย อาจทำให้รัฐราชการประเมินว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นโรงเรียน ปล่อยไว้มีแต่สิ้นเปลืองงบประมาณ เด็กจะขาดคุณภาพ

แต่นั่นก็เพียงความกังวล ไม่อาจกระทบกับโรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม เพราะถึงอย่างไรที่นี่ก็เริ่มต้นจากศูนย์ และวันนี้พ่อๆ แม่ๆ ที่มีลูกเรียนอยู่ในนี้ก็เห็นว่าก้าวหน้ามาไกลเกินกว่าจะยุบทิ้งกันง่ายๆ

วชิรนุช พรหมภัทร์
วชิรนุช พรหมภัทร์

พื้นฐานของครูนุช เรียนจบมาทางด้านการศึกษาโดยตรง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว)

30 ปีก่อน เธอเป็นอดีตนักเรียนทุน เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และยอมรับว่าชีวิตค่อนข้างอยู่ในขนบมาตลอด “มีที่ออกนอกลู่บ้าง คือการไปสอนพิเศษ” ครูนุชพูดพลางหัวเราะตัวเอง ราวกับว่าการสอนพิเศษทั่วไปคือการเข้าป่าล่าสัตว์

เธอย้อนความไปเมื่อ 4 ปีก่อนที่เธอย้ายมารับตำแหน่งที่บึงสว่างใหม่ๆ แม้ภูมิลำเนาเดิมจะเป็นคนกาฬสินธุ์ แต่ก็ต้องนับว่าเมื่อเข้าพื้นที่ที่ต้องบริหารแล้ว ก็นับว่าใหม่ ทั้งใหม่สำหรับคนที่อยู่เดิม ใหม่สำหรับนักเรียน ใหม่สำหรับชุมชน

“มาถึงตอนแรก คิดว่าตัวเองไฟแรง อยากปรับโน่นเปลี่ยนนี่ แต่เจอของจริงเข้าไปก็เมาหมัด” เธอเปรียบเปรยราวกับนักมวยที่เพิ่งขึ้นเวทีชกครั้งแรกในชีวิต

เพราะความคิดความฝันกับความจริงนั้นคนละเรื่องขึ้น เหมือนปลาที่ถูกย้ายตู้ ไม่คุ้นกับสภาพน้ำก็น็อคเอาได้ อาศัยทนอาศัยเวลา อยู่ไปก็ปรับตัวได้ มองเห็นปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า แต่เห็นปัญหาของตัวเองด้วย

คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ใครก็รู้ และเรื้อรังมาเนิ่นนาน ยิ่งโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญยิ่งไม่ต้องพูดถึง ข้อเท็จจริงนี้ไม่มีใครปฏิเสธ และรวมถึงที่บึงสว่างวิทยาคมด้วย

“เด็กขึ้น ป.4 แล้วยังเขียนชื่อตัวเองไม่ได้ และนี่เป็นหนึ่งในอีกหลายปัญหาที่เราอยากเปลี่ยน แต่ยอมรับว่าไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร ไม่มีเครื่องมือ ไม่รู้วิธีการ คิดยังไงก็คิดไม่ออก”

วชิรนุช พรหมภัทร์

เมื่อไม่รู้วิธีการ ก็ด้นไปตามความคิดตัวเองที่คิดว่าถูก การบอกให้คนอื่นทำแบบนั้นแบบนี้ให้ได้ดั่งใจเหมือนง่าย แต่นั่นนำมาสู่ความขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว

“เราคิดว่าสิ่งที่เราสั่งถูกที่สุด และครูเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำตามคำสั่ง กลายเป็นว่าทำให้ครูที่อยู่เดิมรู้สึกยุ่งยากและเป็นปัญหา นำมาซึ่งการลาออกและขอย้าย”

เรือลำน้อยลอยคว้างกลางทะเล เหลือแต่กัปตันคนเดียว นี่อาจใกล้เคียงกับที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงสว่างวิทยาคมกำลังเผชิญ

เข้าสู่ปี 2558 เมื่อมีคนออกก็ต้องมีคนเข้า และครู 4 คน รวมวชิรนุชเป็น 5 คน ก็ค่อยๆ พิสูจน์การประคับประคองโรงเรียนขนาดเล็กมาจนถึงปัจจุบัน

“มีครูคนหนึ่งไม่ได้ร่ำเรียนมาทางครูโดยตรง แต่เขามีใจ และเราเห็นไฟในตัวเขา เห็นความสามารถในตัวเขา ก็ขอให้มาเป็นครูแบบทำสัญญาจ้าง มีเงินเดือนให้เพียงเดือนละไม่ถึงห้าพันบาท จนกระทั่งวันนี้ มีชาวบ้านช่วยกันลงขันเก็บออมเพื่อเตรียมไว้ให้ครู หากว่าโรงเรียนขัดสนทางการเงิน”

ราวกับแขนขวาแขนซ้ายของครูนุชงอกใหม่ ก็ต้องฝึกฝนการใช้แขนให้เกิดประสิทธิภาพ เธอว่าจะใช้แบบเดิมก็ไม่ได้ ต้องหาวิธีการให้ครูไม่ทุกข์กับการสอนเด็กนักเรียน และให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด

“นวัตกรรมที่ทำให้พวกเราค่อยๆ เห็นฝั่ง ค่อยๆ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้มาจากผ่านการเดินทางไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ คือการสอนโดยใช้จิตศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนเรียนรู้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าได้วิชามาใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจมันดี เอามาใช้กับครูก็เห็นแรงต้านชัดเจน”

แต่อย่างน้อยเธอบอกว่ามันทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจว่าเราล้มเหลวได้ เธอยอมรับตัวเองได้ว่าเริ่มต้นการเป็นผู้บริหารที่ไม่มีอะไรให้สมหวังเลย

“คนเป็นผู้บริหารจะทุกข์ที่สุดเมื่อรู้สึกว่าบริหารไม่ได้ ล้มเหลว ชาวบ้านเคยพูดให้ได้ยินว่าครูผิดกันแล้ว ครูไม่คุยกันแล้ว กินข้าวร่วมกันไม่ได้”

วชิรนุชบอกว่าเมื่อก่อนใจเย็นไม่เป็น เป็นแต่ใจอยาก ไปอบรมดูงานกลับมาก็ยังอยาก “เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเพี้ยน มองตาน้องๆ ครูที่ร่วมงานกันก็เห็นถึงความยุ่งยากลำบาก เราสัมผัสได้ผ่านแววตา”

เธอบอกว่าตอนนั้นอาศัยลูกบ้า กล้าลุยไป ลองผิดลองถูก เอาจิตศึกษามาอธิบายกับครูที่โรงเรียนจนถูกถามกลับว่า จะพาเขาศึกษาถึงจิตระดับไหน เธอเองก็ไม่มีคำตอบ นั่นเพราะเธอเองก็ยังไม่ตกผลึกดีพอ

“คนเมื่อก่อนเขาจะท่องคำว่า 5 ส. ไว้เป็นเครื่องเตือนในการทำงานในองค์กร ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย เขาถามว่าจิตศึกษานี่เรียกเหมือน 5 ส. ได้ไหม เราบอกอยากเรียกอะไรก็เรียก เลยยิ่งไปกันใหญ่ และตรงจุดนี้ที่เราเห็นตัวเองชัดว่าเราล้มเหลว”

ดีเปรสชั่นยังไม่ทันจาง พายุใต้ฝุ่นก็โถมกระหน่ำ กลางปี 2559 วชิรนุชสูญเสียสามีอันเป็นที่รัก จิตใจร่วงหล่นและร้าวราน

“เราเปลี่ยนตัวเองเป็นคนละคน ไม่คาดหวังอะไรอีกแล้ว รู้สึกตัวเองกลายเป็นคนอ่อนแอที่สุด ในขณะที่ครูคนอื่นกำลังก้าวไปข้างหน้า เราไม่เข้าโรงเรียนอยู่พักหนึ่งเพราะมัวไปจัดการชีวิตให้เข้ารูปเข้ารอย”

วชิรนุชบอกด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสงบว่า พอตัวเธอเองเลิกคาดหวัง เธอเห็นดอกไม้บาน เห็นครูแต่ละคนมีใจกับเด็กนักเรียนที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน

วชิรนุช พรหมภัทร์

สอดคล้องกับฤดูฝนมาเยือน ความร้อนที่แผดเผาชีวิตมาก่อนหน้านั้นค่อยๆ เย็นลงจากเม็ดฝนที่พร่างพรมลงมา ทว่าเป็นเม็ดฝนแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ชโลมโรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม ให้ครูและนักเรียนมีชีวิตชีวา

“จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เราค้นพบพลังของเพื่อนร่วมงาน เราลดความอหังการ์ตัวเองลงได้ เพราะเราเห็นตัวเองเป็นแค่ดินก้อนหนึ่ง” วชิรนุชย้ำ

ตอนไปอบรมกับสมาคมไทบ้าน และองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้ทำกิจกรรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ วชิรนุชได้ดูหนังหลายเรื่อง แต่เธอจำได้สองเรื่อง เรื่องแรกคือ The Lady เป็นเรื่องราวของ ออง ซาน ซู จี เรื่องที่สองคือ Her เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งหลงรักหญิงสาวที่ไม่มีตัวตน เป็นเพียงระบบปฏิบัติการดิจิทัล มันทำให้เธอตระหนักในโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป และตระหนักในการเสียสละเพื่อส่วนรวม

“พอเริ่มทำจิตศึกษากันเองกับครูที่บึงสว่างและนักเรียน จากที่เราเคยเป็นผู้ที่ออกคำสั่งอย่างเดียว เราเปลี่ยนมาเป็นผู้ฟัง กับเพื่อนครูเราคุยกันได้ ร้องไห้กันได้ในวงคุย นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของทุกคนรวมถึงตัวเราเอง ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น พวกเราช่วยกันแก้ ไม่มีใครลอยตัวเหนือปัญหา ขัดแย้งกันอย่างไรก็คุยกันได้ คุยจบตื่นเช้ามาก็งดงาม เพราะเราเข้าไปนั่งในใจของกันและกัน”

วชินุชบอกอีกว่า ไปดูเถอะ ที่ไหนก็ได้ ส่วนใหญ่น้อยมากที่ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งคำถามหรือวิจารณ์ผู้บังคับบัญชาได้ ถ้าไม่เกิดวัฒนธรรมนี้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าปัญหาคืออะไร และเราจะคิดว่าสิ่งที่เราทำถูกเสมอ

“เมื่อก่อนได้ยินใครวิจารณ์ไม่ได้ เส้นเลือดที่หน้าผากปูดเลย เดี๋ยวนี้สบาย แล้วเวลาคุยไม่ต้องคุยเยิ่นเย้อ เข้าประเด็นได้เลย ไม่ดราม่าด้วย” วชิรนุชยิ้มกว้าง

เช้าของฤดูไถพรวนมาถึง แสงแดดและกลิ่นดินอุ่นอวล หลังร้องเพลงชาติ นักเรียนชั้น ป.5 – ป.6 มารวมกันที่พื้นสนาม วชิรนุชชวนพวกเขาจับมือล้อมเป็นวงกลม และนั่งลงไปกับพื้น ก่อนจะชวนให้หลับตาและพูดว่า “ขอบคุณทุกคนที่มาอยู่ด้วยกันที่ตรงนี้ ขอให้เราทบทวนตัวเองว่าเราคิดดีทำดีหรือยัง และขอให้ทุกคนมีพลังที่จะเรียนรู้ร่วมกัน”

จากนั้นพวกเขาก็ดิ่งลึกลงไปในการเรียนรู้ กิจกรรมคีบลูกปิงปองด้วยตะเกียบถูกเอามาใช้สร้างกระบวนการ พวกเขาส่งต่อและรับลูกปิงปองกันด้วยตะเกียบ วนกันไปจนครบทุกคน ที่เห็นคือไม่มีใครทำลูกปิงปองหล่น ใช่หรือไม่ว่าพวกเขามีสมาธิ

วชิรนุช พรหมภัทร์

จากนั้นวชิรนุชก็ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ตัวนักเรียนได้เรียนรู้ลงในกระดาษ แน่นอนว่าคำตอบมีมากกว่าหนึ่งคำตอบ แต่นี่คือตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจซึ่งโลกใบเก่าของการศึกษาไม่มี

“ความฝันสูงสุดคือโรงเรียนต้องเป็นของชุมชนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ชุมชนโอบอุ้มโรงเรียนด้วยเพียงเม็ดเงิน แต่ชุมชนเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ ได้” วชิรนุชเปล่งเสียงแห่งความหวัง

ดอกไม้กำลังบาน ชีวิตคนก็เช่นกัน โลกเปลี่ยนทุกวัน แต่มีคนคิดว่าโลกหยุดนิ่ง และพาลกังวลว่าโลกจะหมุน นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นปัญหาของการศึกษาของการเรียนรู้

“จุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร” คำถามของเธอนี้แหลมคมพอจะทลายปราสาททรายของการศึกษาแบบเก่าหรือไม่

เส้นทางความฝัน รู้จักแก้ปัญหาเสียงของนักเรียน

โรงเรียนหนองพอกวิทยายน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่เพิ่มจาก อนุบาล 1 ถึง ประถม 6 ไปถึง มัธยม 3 ได้ยินกันมานานแล้วว่าจุดอ่อนของโรงเรียนขยายโอกาสมักมีปัญหาเรื่องการเรียนการสอน และตัวนักเรียนก็เข้าข่ายเป็นเด็กด้อยโอกาสสูง สุ่มเสี่ยงหลุดเข้าไปในพรมแดนของโลกสีหม่นได้ง่าย ทั้งปัญหาครอบครัว ยาเสพติด

แต่การมองแบบนี้เพียงมุมเดียว โดยไม่มองให้เห็นปัจจัยอื่นๆ อาจไม่เป็นธรรมกับนักเรียน ยิ่งโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยว ความยากจน และเงื่อนไขอีกร้อยพันสารพัด ไม่ควรส่งผลให้พวกเขาต้องถูกตัดขาดจากความเสมอภาคด้านการศึกษา

มิ้ว ศศิกานต์ ชนะสิทธิ์ กับ ปาหนัน ลลิตา ภารเจิม
มิ้วและปาหนัน

มิ้ว ศศิกานต์ ชนะสิทธิ์ กับ ปาหนัน ลลิตา ภารเจิม เป็นนักเรียนหญิงชั้น ม.3 ของหนองพอกวิทยายน ทั้งคู่เกิดที่กาฬสินธุ์ ความคิดความอ่านของพวกเธอยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสนั้นก็สามารถแกร่งและเบิกบานได้

โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีกระบวนการเรียนการสอนที่เข้าถึงหัวจิตหัวใจ การประกาศความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือถูกผูกขาดไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนชัดเจนและยืนยันความคิดตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ และที่สำคัญมากกว่าการประกาศความฝัน คือการวางแผนและลงมือทำจริง

ชั้น ม.3 ของโรงเรียนหนองพอกฯ มีไม่ถึง 10 คน มิ้วกับปาหนันเป็นเพื่อนรักกัน มิ้วเป็นประธานนักเรียน ส่วนปาหนันเป็นหัวหน้าห้อง แต่เอาเข้าจริงทั้งคู่ก็ช่วยกันทำหน้าที่ทั้งในนามโรงเรียน และในนามรุ่นพี่ของน้องๆ ทั้งหมดในโรงเรียน

แม้ปาหนันจะเรียนที่นี่มาตั้งแต่อนุบาล ส่วนมิ้วเพิ่งย้ายเข้ามาเรียนตอนชั้น ป.5 แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่ห่างเหินหรือต่างคนต่างอยู่ ยิ่งมีกระบวนการเรียนแบบ PBL (Problem – based Learning) ยิ่งทำให้ทั้งคู่สนุกที่จะคิดและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า

มิ้วเล่าว่าเมื่อก่อนสังเกตได้ว่าตัวเองยังแก้ปัญหาไม่ค่อยเป็น เช่น ปัญหาขยะในโรงเรียนเยอะเกินไป คิดไม่ออกว่าว่าจะทำอย่างไรดี แต่พอเรียนจิตศึกษาได้ฝึกทำสมาธิ ฝึกวางแผนการคิด mind mapping ทำให้เธอเห็นวิธีการแก้ปัญหาขยะล้นโรงเรียนได้

“เมื่อก่อนเป็นการเรียนอย่างเดียว ครูก็สอนอย่างเดียว คิดคนเดียว แต่ตอนนี้เราได้คิดร่วมกัน พอทำกิจกรรมร่วมกัน รู้สึกว่าสมองโล่งขึ้น”

ส่วนปาหนันก็เช่นกัน เธอเล่าว่าการเรียนแบบเมื่อก่อน ครูจะสอนตามหนังสืออย่างเดียว แต่จิตศึกษาทำให้เราได้กระบวนการคิดมากขึ้น ที่สำคัญคือได้พัฒนาตัวเอง

“เมื่อก่อนเวลามีปัญหา เราไม่เคยคิดแก้ปัญหา และไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นไปได้ พอเราเรียนแบบใหม่ มีกระบวนการคิดเข้ามา ทำให้เห็นว่าเราไม่เคยลงมือปฏิบัติจริงๆ เราได้แต่เรียนและท่องจำ”

ปาหนันยกตัวอย่างการทำกับข้าวที่เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนเรื่องเรียนรู้รอบโลกว่า ถ้าไม่ได้ลงมือทำเองเราจะไม่มีทางรู้เลยว่ารสชาติหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร

“มีโอกาสได้ทำบาร์บีคิวกับมักกะโรนี เราเริ่มจากค้นข้อมูล และวางแผนว่าจะทำอย่างไร ทำให้รู้ความแตกต่างและความผิดพลาดจากการปฏิบัติได้”

แน่นอน คำถามง่ายๆ ว่า ถ้าไม่ได้ปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไร ปาหนันตอบเร็วว่า “เราก็ได้แต่คิดไม่ได้รู้รสชาติ”

นักเรียน วาดรูป ระบายสี

การเรียนประเด็นนี้ มิ้วเสริมปาหนันว่าก่อนการปฏิบัติ เราใช้ mind mapping เพื่อเตรียมข้อมูล เครื่องปรุงและวัตถุดิบ เพื่อเราจะได้รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง ถ้าทำแล้วออกมาไม่ใช่อย่างที่คิด เราก็จะรู้ว่าเราผิดพลาดส่วนไหน

ว่าด้วยการเรียนจิตศึกษา มิ้วยอมรับว่า ตอนเริ่มเรียนแรกๆ ก็แปลกใจว่าทำไมต้องเรียน แต่พอเรียนแล้วก็ได้รับคำตอบว่า เรียนแบบใหม่ทำให้เรารู้จักแก้ปัญหาดีกว่าเรียนตามตำรา

อาจจะออกเป็นเรื่องเชยของเด็กๆ ที่มักจะถูกถามทุกครั้งว่าโตขึ้นมีความฝันอยากเป็นอะไร แต่ทั้งมิ้วและปาหนันกลับมองว่าเป็นเรื่องจริงจัง เป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจคิดและตอบตัวเอง

มิ้วว่าเธออยากเป็นหมอ ส่วนปาหนันว่าเธออยากเป็นครู คำอธิบายของมิ้วบอกว่าคนเป็นหมอต้องมี mild mapping จะได้รู้ว่าอะไรสำคัญ ควรทำอะไรก่อนและหลัง แต่ถามแบบขำๆ ว่าถ้ามัวแต่ mild mapping อยู่จะรักษาทันไหม มิ้วหัวเราะก่อนบอกว่า “ทันค่ะ มันต้องมีการรักษาเบื้องต้นก่อน”

ส่วนการอยากเป็นครูของปาหนันนั้น เธออธิบายว่าถ้าได้เป็นครู เธอจะเอาหลัก PBL ต่อยอดไปให้รุ่นน้องๆ ได้รู้จักสิ่งดีๆ จะได้ไม่อยากไปยุ่งกับยาเสพติด”

มีคำถามว่าการเรียนแบบเอาปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ เมื่อออกไปนอกห้องเรียน ออกไปนอกโรงเรียนแล้วสามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่ โลกแห่งความจริงมีเรื่องท้าทายกว่ามาก สิ่งที่เรียนมาเอาไปใช้ได้ไหม

ปาหนันตอบทันทีว่า “ได้ค่ะ ถ้าเรารู้สาเหตุว่าปัญหาคืออะไร เราจะสามารถแก้ปัญหาได้”

มิ้วเองก็ตอบไว เธอกำลังหารายได้เริมด้วยการทำสลัดผักมาขายให้ครูที่โรงเรียน เธอทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ค้นหาวัตถุดิบจนการขาย ทำไปก็เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว

แน่นอน เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ เมื่อเรียนรู้ว่าเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ชีวิตจริงก็เชื่อมโยงกับการเรียนไปโดยปริยาย และสมเหตุสมผลด้วย หากว่าปัญหาคือการเงินของทางบ้านติดขัด การทำสลัดผักมาขายของมิ้วก็เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง

โจทย์ที่ท้าทายซับซ้อนรออยู่ข้างหน้า คำถามพุ่งตรง กระบวนการคิดเพื่อตอบคำถามสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เสมือนเกราะโล่ของคนหนุ่มสาววัยเรียนวัยรุ่น

แม้ปาหนันจะรู้ตัวว่ายังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่เมื่อถูกถามว่าหากตื่นมาตอนเช้าแล้วต้องเป็นผู้ใหญ่ทันที พร้อมรับได้ไหม ปาหนันบอกว่าอาจจะรับไม่ได้ดี แต่ก็ไม่กลัว พร้อมจะเรียนรู้ ตอนนี้รู้ตัวว่าอยู่ในวัยเรียน

เธอบอกว่าวัยรุ่นช่วงนี้กลัวเผลอใจเรื่องความรักและจะพาออกนอกลู่นอกทาง แต่เมื่อรู้ตัวก็ต้องเตือนสติและห้ามใจตัวเอง อย่าลืมว่ากำลังอยู่ในวัยเรียน ระลึกไว้เสมอว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ

ส่วนมิ้วนั้นข้ามช็อตไปที่การสะท้อนตัวเองเลย ไม่ง่ายที่เด็กวัย ม.3 จะมองเห็นปัญหาของตัวเอง ยอมรับได้ และพาตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มิ้ว ศศิกานต์ ชนะสิทธิ์ กับ ปาหนัน ลลิตา ภารเจิม

มิ้วบอกว่าเมื่อก่อนเธอมักมาโรงเรียนสาย แต่พอมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลแปลงผักของโรงเรียน ทำให้เธอตั้งใจมาเช้าทุกวัน ทำให้เธอภาคภูมิใจในตัวเอง นอกจากได้รับผิดชอบยังได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องด้วย

อีกเรื่องที่มิ้วบอกว่าเป็นปมด้อยของเธอ คือเธอมักเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัวสูง แต่การได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อนทำให้เธอมองเห็นข้อดี มิ้วบอกว่าเธอรู้จักตัวเองมากขึ้น และเห็นที่มาที่ไปของปมด้อยตัวเอง

“เมื่อตอนเด็ก พ่อแม่ไม่ค่อยพาไปไหน ไม่ค่อยได้เล่นกับใคร แต่วันนี้ตัวเองเปลี่ยนเป็นคนร่าเริงแล้ว และไม่คิดว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก เพราะปมด้อยนั้นหายไปแล้ว” มิ้วย้ำเสียงดังฟังชัด

ปาหนันเองก็ลบปมด้อยตัวเองไปแล้วเช่นกัน เมื่อก่อนเธอบอกว่าเป็นคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก เมื่อปมด้อยหายไป เธอจึงรู้จักนิสัยตัวเอง และรู้จักความรับผิดชอบต่อตัวเอง

“นอกจากไม่กล้าแสดงออก ก็เป็นคนขี้เกียจมาก แต่วันนี้เราบอกตัวเองว่าจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ” น้ำเสียงเธอเบิกบาน

ดูเหมือนทั้งคู่ต่างมองเห็นปัญหาของตัวเอง และเชื่อมโยงหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง แก้ได้หรือไม่ สำเร็จหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ประสบการณ์ของพวกเธอ

เมื่อทั้งคู่ประกาศความฝันแล้ว เส้นทางของมันก็อาจเริ่มจากการมองเห็นปัญหาและหาวิธีแก้ปัญหานั่นเอง การเรียนรู้ที่แท้จริงก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ

ติดตามตอนแรกได้ที่ ‘กาฬสินธุ์โมเดล (1) : ประกายแววตาครู

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save