fbpx
กาฬสินธุ์โมเดล (1) : ประกายแววตาครู

กาฬสินธุ์โมเดล (1) : ประกายแววตาครู

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

เหมือนมหาสมุทรทั้งลึกและกว้าง เสียงเปรียบเปรยต่อปัญหาการศึกษาไทยดังขึ้น มองไปทางไหนก็ไกลสุดลูกหูลูกตา หย่อนขาลงไปตรงไหนก็ลึกสุดหยั่งถึง

 

เอาเฉพาะมิติโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทห่างไกลกว่า 15,000 แห่งที่กระทรวงศึกษาธิการเคยออกนโยบายเมื่อปี 2556 ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ยุบ ควบรวม และทำการโอนย้ายรายชื่อไปยังโรงเรียนแม่เหล็ก หรือโรงเรียนในชุมชนอื่นๆ ที่ห่างออกไป ก็สั่นสะเทือนพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายายหลายบ้านไม่น้อยที่เกิดคำถามว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี

หากลูกหลานต้องเดินทางไปโรงเรียนที่ไกลจากบ้านมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้นและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ผู้ปกครองจะไหวไหม เด็กๆ จะเจอปัญหาความสัมพันธ์และการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ได้ไหม หรือว่ากันให้สุดๆ ความกังวลว่าเด็กจะเบื่อหรือกลัวจนต้องออกจากระบบการศึกษาไปก็ใช่ว่าจะไม่มี

ขณะที่ความจำเป็นในนโยบายยุบควบรวมนี้ รัฐราชการพยายามอธิบายว่าเพื่อให้เด็กได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น เนื่องจากครูในโรงเรียนขนาดเล็กไม่เพียงพอ เพราะไม่มีงบประมาณพอที่จะจ้างครูประจำช่วงชั้น ส่งผลให้ผลการเรียนของเด็กไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การชี้วัดระดับประเทศ

ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมายถึงทางออกจากปัญหาการศึกษาไทย แรงกระเพื่อมจากมิตินโยบายแก้ปัญหาโรงขนาดเล็กกำลังปลุกเร้าบุคลากรทางการศึกษากลุ่มเล็กๆ ในกาฬสินธุ์ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมห้องเรียนของตัวเอง และเสียงของพวกเขาก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

 

“พัฒนาจากฐานล่าง” เสียงจากสายเลือดกาฬสินธุ์

 

หากมองปัญหาการศึกษาจากภาพรวม อุทัย แก้วกล้า ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ และประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ บอกว่าการศึกษาของ จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในเกณฑ์คุณภาพต่ำ เอาเฉพาะเขตประถมศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 180 เขต กาฬสินธุ์อยู่ในอันดับท้ายๆ และอยู่ในจังหวัดที่คุณภาพต่ำ 8 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและต้องเร่งพัฒนา

ความที่อุทัยเป็นคนกาฬสินธุ์โดยสายเลือด เขาว่าเสียงจากภายในทำให้ไม่อาจนิ่งดูดายปล่อยให้ลูกหลานอยู่ในชะตากรรมของความด้อยพัฒนา จึงลุกขึ้นมาเป็นแรงหนุนเสริมบุคลากรทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก้าวหน้า

ก่อนจะเดินหน้าลงมือยกเครื่องการศึกษาระดับโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ ปัญหาที่อุทัยมองเห็นคือโรงเรียนและนักเรียนถูกปล่อยปละละเลยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

อุทัยฉายภาพว่าที่ผ่านมาการศึกษาจะถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครู ผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจ นวัตกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพไม่มี ครอบครัวยากจนก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เกิดการผลักภาระให้ครู คนที่มาทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายไม่มีกระบวนการกำกับให้ถึงห้องเรียน พอปล่อยเป็นระยะเวลายาวนานก็รู้สึกชินเป็นเรื่องปกติ

“ภาษาอีสานจะบอกว่า เหาหลายบ่คัน หมายถึงว่าเหาเยอะจนไม่รู้สึกอะไร ปัญหาการศึกษาก็เป็นอย่างนี้” อุทัยสรุปรากเหง้าของปัญหาอย่างสั้นกระชับที่สุด

 

อุทัย แก้วกล้า

 

อุทัยบอกอีกว่าเด็กกาฬสินธุ์เป็นเด็กที่มีสารไอโอดีนต่ำ ทำให้ประสิทธิภาพการพัฒนาและระบบสมองค่อนข้างอ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโภชนาการ ตรงนี้เองที่เขามองว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไปทุกเรื่อง เชื่อมโยงเศรษฐกิจครอบครัว เชื่อมโยงสังคม เชื่อมโยงตัวผู้นำ

“ทำไมนักเรียนยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ถ้าคิดแบบติวหรือทำความเข้าใจตัวต่อตัว เราจะพาวิ่งหนีจากเรื่องที่มันเลวร้ายเลย เราสามารถหอบเด็กสี่ถึงห้าคนหนีจากสิ่งที่ไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ได้ แต่มันไม่ง่าย สถานการณ์มันแย่”

จากความเรื้อรังสะสมทับถมมานาน อุทัยสรุปความชัดเจนกับตัวเองได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาระดับชุมชนต้องลงมือทำเอง ไม่ต้องรอร้องขอราชการ

“ผมเริ่มคุยเรื่องสภาการศึกษา เริ่มชวนคนที่มีความรู้ความสนใจอยากการพัฒนา อยากเห็นคุณภาพการศึกษาดีขึ้น เราจะปล่อยให้ลูกหลานเป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องสร้างโรงเรียนต้นแบบ”

ในฐานะที่อุทัยเคยทำงานเอ็นจีโอมา ทำให้เขาคิดการใหญ่และบอกกับคนอื่นว่าต้องเริ่มจากเล็กๆ ก่อน หากทำโรงเรียนสัก 2-3 โรงเรียนให้เป็นต้นแบบ มีคุณภาพ มีองค์ความรู้ สักพักจะต้องกลายเป็นนโยบายประเทศ

“ผมเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาต้องพัฒนาที่ชั้นเรียนและโรงเรียน พัฒนาจากฐานล่าง เพราะคุณภาพมันอยู่ที่ข้างล่าง ถ้าพัฒนาจากข้างบนสำเร็จ ประเทศไทยสำเร็จไปนานแล้ว แต่เราเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนรัฐมนตรีมากี่รอบแล้ว หัวใจคือคนที่อยู่ในชั้นเรียน นักเรียน ครู ผู้บริหาร”

อุทัยเล่าว่าขณะนี้ในกาฬสินธุ์มีโรงเรียนที่พร้อมจะพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน 18 โรงเรียน ครูทุกคนไปเข้าคอร์สมา เปลี่ยนวิธีสอน ส่งไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ครูกับผู้บริหารเห็นแนวคิดใหม่ พอได้หลักคิดและวิชามาแล้ว ก็มาถ่ายทอดให้นักเรียน

นวัตกรรมที่พวกเขาได้รับมามี 3 แบบ คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning), จิตศึกษา, ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community)

“พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ทางเขตการศึกษาเห็นด้วย สพฐ.เห็นด้วย ผู้ว่าฯ เอาด้วย ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่าถ้าเป็นว่าวก็อยู่ในช่วงที่ติดลมบน ครูใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียน ทำให้เด็กมีสมาธิ อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนตั้งใจฟัง พร้อมที่จะเปิดใจรับ เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ คุยเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว”

อุทัยบอกว่าหลังจากนักเรียนใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียน เด็กๆ ก็มีกระบวนการคิดหาคำตอบเอง นี่แหละคือการสร้างปัญญา ถ้าครูตั้งคำถามว่า พูดถึงสี่เหลี่ยม นักเรียนคิดถึงอะไร ต่างคนก็ต่างอธิบายในมุมของตัวเอง

“มันได้วิธีคิด เด็กหาวิธีคิดที่ต่างจากมุมที่เด็กคนอื่นตอบไปแล้ว แสดงว่าเด็กคนอื่นได้เรียนรู้วิธีคิดว่าคำถามเดียวกันตอบได้หลายแบบ ผมว่ามันเป็นทิศทางสำคัญในการพัฒนา ครูส่วนหนึ่งก็ยังไม่เชื่อว่ามันเปลี่ยนจากเดิม พอเขาใช้วิธีการเรียนแบบมีส่วนร่วม มีการสรุปบทเรียนทุกอาทิตย์ จากเดิมที่ครูแต่ละวิชาจะไม่ให้คนอื่นรู้ด้วย ซ่อนปัญหาไว้กับตัวเอง ไม่ให้คนอื่นยุ่ง ตอนนี้เห็นได้ว่าเขาวิพากษ์การเรียนการสอนได้ทุกวิชา คนที่ทำไอทีไม่เก่ง คนที่เก่งก็มาช่วยทำ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนชัดเจน”

แววตาของอุทัยดูเบิกบาน เขาบอกว่ากำลังเฝ้าดูความงอกงาม ถ้ามีคนประคับประคอง มีคนให้กำลัง ใจ การก้าวไปข้างหน้าจะมั่นใจ

“ผมมีหลักคิด 3 อย่าง พึ่งพาตนเอง ความยั่งยืน และทำงานแบบมีส่วนร่วม ถ้าเราสอนให้นักเรียนคิดเป็น สังเคราะห์ได้ เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะได้หลักนี้ไป” อุทัยว่าพลางยกตัวอย่างอีกว่าถ้าคนทำเรื่องเดิม 49 วัน วันที่ 50 เขาจะทำเองโดยอัตโนมัติ

“มันเป็นทฤษฎี ถ้าครูสนใจเด็กทุกวัน เขาจะมีความผูกพัน เขาจะทำแบบสร้างสรรค์ เหมือนเหล็กไหลเป็นเหล็กที่อยู่ยงคงกระพัน ถ้าเอาตะปูธรรมดาไปติดไว้กับเหล็กไหล 3 เดือน ตะปูจะก็ยิงไม่เข้าเหมือนกัน”

หลายคนบอกว่าเรื่องการศึกษาเป็นงานหิน ราวกับเข็นครกขึ้นภูเขา แต่สำหรับอุทัย ต้นทุนทางประสบการณ์ที่เขาสะสมมาอาจทำให้ครกเบาลง

เขาเล่าว่ามีพื้นฐานจากการทำงานชุมชน อยู่กับชาวบ้านมา 16 ปี เพราะเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน ไม่มีที่ดิน เกิดมาแบบติดลบ

“สิ่งที่เราภูมิใจคือได้ทำงานกับคนจน การศึกษาทำให้คนมีปัญญา ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ผมก็เป็นผู้เฒ่าคนหนึ่ง เราต้องการคนแบบไหนมาเป็นผู้นำเราตอนนั้นล่ะ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย คุณก็จะไม่เห็นอนาคตของผู้นำคุณเลย”

อุทัยมองว่าถ้าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนา ทบทวนตัวเองได้ จะทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การสรุปบทเรียนเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อให้รู้ตนเอง และให้รู้เท่าทันข้างนอก เมื่อไหร่คุณสรุปช้า คุณขยับช้า คุณจะไม่เท่าทัน”

นอกจากหลักคิดที่แจ่มชัด อุทัยบอกว่าพื้นที่การเรียนรู้ก็สำคัญ เขามีกลุ่มเกษตรอินทรีย์นามว่าสวนปันบุญ อยู่ใน อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

“รัฐบาลมีนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เราก็ให้โรงเรียนเด็กเล็กประมาณ 10 โรงเรียนมาเรียนรู้ตรงนี้ เพื่อให้เขาเห็นของจริง ให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นชาวนามาทำแผนการเรียนการสอนและพาทำกิจกรรม เด็กจะได้เข้าใจรากเหง้า”

อาจจะเรียกได้ว่าเรื่องการเกษตรกับเรื่องการศึกษาในมือของอุทัยแทบจะแยกกันไม่ออก อนาคตที่อุทัยอยากเห็นนั้นชัดเจนว่าเขาเผื่อที่ทางให้ลูกหลานชาวกาฬสินธุ์แล้ว

“หากเด็กเห็นรากเหง้าตัวเอง อนาคตของเขาจะมั่นคง เขาจะมั่นใจในการเลือกคุณภาพชีวิตให้ตัวเอง” อุทัยทิ้งท้าย

 

“กล้าเปลี่ยนตัวเอง” เสียงจากครู

 

อาคารปูนสองชั้นวางตัวอยู่ท่ามกลางทุ่งนาที่เพิ่งผ่านการไถกลบไปมาดๆ นักเรียนทั้งหญิงชายนั่งสุมหัวคุยกันจิปาถะอย่างออกรส

หลายคนเล่นโทรศัพท์ ท่องโลกโซเชี่ยลมีเดียอย่างเพลิดเพลิน สักพัก ครูอ้อ หรือ เบญจมาศ ภูละมุล ครูประจำชั้น ม.2 ชวนเด็กนักเรียนเข้าสู่การเรียน เธอบอกพวกเขาว่า “มาเล่นมาคุยกันดีกว่า” ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

 

 

นักเรียนวางโทรศัพท์โดยง่าย ไม่มีใครหงุดหงิด แต่ละคนพร้อมใจกันลงมานั่งที่พื้นโล่ง พื้นกระเบื้องแม้ไม่หรูหราของโรงเรียนหนองพอกวิทยายน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ แต่รองรับการเรียนการสอนอย่างไม่แหนงหน่าย หลายคนนอนเล่นกลิ้งไปกลิ้งมาได้โดยไม่ถูกครูดุด่าไร้มารยาท

พวกเขารวมทั้งครูอ้อ ล้อมวงกันอย่างสบายๆ ด้วยการร้องเพลง ออกท่าออกทางเพื่อให้คลายง่วงหลังมื้อกลางวันผ่านไปไม่นาน

ครูอ้อนำดอกไม้กระดาษสีชมพูที่ถูกตัดแต่งเป็นดอกไม้มาให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง ก่อนจะบอกนักเรียนว่าให้ตัดกระดาษตามอิสระ และให้ตั้งชื่อดอกไม้ของตัวเอง พร้อมเล่าถึงความหมายที่ตัวเองพอใจ

จากสายตาคนนอก ถามว่าพวกเขาทำอะไรกัน ครูอ้อบอกว่านี่เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติและแทรกความรู้อยู่ในการปฏิบัติโดยไม่อิงวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างตายตัว

“การเรียนแต่ละครั้งบูรณาการให้ทั้งครูและนักเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนวิชาสาระที่แทรกอยู่ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ สังคม สุขศึกษา การงาน และศิลปะ”

ผ่านไปไม่นาน ดอกไม้กระดาษของแต่ละคนถูกตัดแต่งและตั้งชื่อให้ความหมาย ไม่มีใครดีไซน์ดอกไม้กระดาษซ้ำกับใคร ทุกคนสร้างคุณค่าเรื่องเล่าของตัวเอง ครูอ้อทำหน้าที่ถามพวกเขาว่าทำไมถึงออกมาเป็นรูปนี้ ทำไมชื่อนี้ และนักเรียนเป็นผู้เล่า ไม่มีถูกผิด ทุกคนเปิดโลกของตัวเอง และรู้จักรับฟังเพื่อน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนหนองพอกวิทยายนมาได้เพียง 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา

 

 

“เด็กๆ ของเรา คุณภาพไม่เท่าโรงเรียนอื่น” คำพูดของ ธีระพงษ์ ลาภบุญเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองพอกวิทยายน ตอบคำถามที่ว่าทำไมถึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนการเรียนรู้เมื่อเดือนมีนาคม 2560 และสลัดทิ้งรูปแบบเดิมที่ครูเอาแต่สอนโดยไม่รู้ว่านักเรียนรู้อะไรบ้าง

ผอ.ธีระพงษ์บอกอีกว่า “ก่อนหน้านี้เด็กเราไม่มีวินัย ตามประสาเด็กบ้านนอกก็ชอบเล่นมากกว่าเรียน ที่สำคัญคือไม่มีจุดขายสำหรับการแข่งขันด้านการศึกษาที่โรงเรียนใหญ่มีชื่อเสียงมักแข่งกัน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่งบประมาณจากส่วนกลางจะปันมาถึงจึงน้อยลง และแทบหมดสิทธิเมื่อพูดถึงการยกระดับโรงเรียนเพื่อรองรับนักเรียนเพิ่มขึ้น หากยังใช้การเรียนแบบเก่าที่เด็กๆ และครูราวกับต่างคนต่างอยู่

ปัจจุบันที่หนองพอกมีนักเรียน 160 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3 มีครูดูแลทั้งหมด 14 คน

“สภาพปัญหาที่ผ่านมาโอกาสที่นักเรียนจะลดลงมีสูง ผมทนไม่ไหว อีก 2 ปี ผมจะเกษียณอายุแล้ว” ผอ.ธีระพงษ์บอก พลางหันไปสอนหนังสือเด็กชายชั้น ป.1 ที่เขาบอกว่ายังอ่านไม่ออก ก่อนจะแนะนำว่าครูอ้อเสมือนคนรุ่นใหม่ที่เขาฝากอนาคตไว้ได้

 

ครูอ้อ หรือ เบญจมาศ ภูละมุล

 

หลังกิจกรรมตัดดอกไม้กระดาษเสร็จ ครูอ้อเปิดใจว่า “คนอื่นมักจะมองว่าเราเป็นผู้นำ แต่จริงๆ เราเดินตามหลังมากกว่าเพราะว่าต้องคอยผลักดันให้เพื่อนๆ เดินไปข้างหน้าได้”

แม้จะเป็นคนกาฬสินธุ์ตั้งแต่เกิด และการสอนในโรงเรียนบ้านเกิดนั้นดูเหมือนง่าย แต่เปล่า, ทุกวันนี้เธอต้องเดินทางไปกลับจากอำเภอเมือง-โรงเรียน วันละ 80 กิโลเมตร

เว่ากันซื่อๆ ทำไมมีใจยอมเหนื่อย ยอมลำบาก ครูอ้อบอกว่า ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง แรกๆ ไม่ได้มีใจที่จะทำอะไรพิเศษ “เราล้วนทำแบบเดิมกันมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เป็นนักเรียนจนมาเป็นครู ตอนนี้อายุ 37 การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ครูมักกังวล”

เธอกำลังพูดถึงการเรียนการสอนหนังสือแบบเดิมที่ผู้บริหารต้องการล้มเลิก เพราะมีแต่จะพาให้เด็กนักเรียนไม่พบแสงสว่าง เปลี่ยนมาเรียนกันแบบใหม่จากนวัตกรรมใหม่

“ก่อนหน้านี้เราเห็นว่าเด็กๆ มีภาวะจิตใจอ่อนแอ ต่างกับรุ่นเราเมื่อ 30 ปีก่อน อ่อนแอหมายถึงถูกชักจูงได้ง่าย หลายคนชอบเลียนแบบ บางคนเลียนแบบการเป็นนักเลง ไถเงินเพื่อน แล้วคิดว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องดี เขาคิดไม่ได้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ยิ่งเขาไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มันเลยทำให้พวกเขาแกว่งง่าย ที่น่าห่วงที่สุดคือยาเสพติด เพราะละแวกโรงเรียนเป็นพื้นที่เสี่ยง”

 

 

ครูอ้อร่ำเรียนปริญญามาทางด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนจะไปเรียนต่อด้านการศึกษาเพื่อมาสอบเป็นครู เริ่มบรรจุครูได้ที่อุดรธานี สักพักก็ย้ายมาประจำการในเมืองกาฬสินธุ์ และล่าสุดมาเจองานช้างที่ อ.ดอนจาน

“ตอนเรียนจบไม่ได้คิดจะเป็นครู เพราะเห็นญาติพี่น้องที่เป็นครูมีแต่หนี้สิน จนกระทั่งเรียนจบ ญาติอยากให้เป็นครู เราก็ลองดูสักตั้ง ถือว่าท้าทายตัวเอง”

ถามว่าหนักหนาเกินไปไหม เธอบอกว่าถ้าเป็นครูจริงๆ ก็หนัก เพราะเราไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว บางครั้งต้องเป็นทั้งพ่อแม่เด็กด้วย เด็กบางคนไม่มีกางเกงไม่มีเสื้อใส่ เห็นแล้วไม่อยากให้เขามีสภาพแบบนั้น

ครูยกตัวอย่างคนอาชีพอื่น เช่น หมอ อาจจะรักษาคน ช่วยชีวิตคนจริงๆ แต่เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับเด็กเท่าครู

เธอคงไม่ได้หมายความว่าครูดีเด่นกว่าหมอ แต่ในความหมายของคนที่ใกล้ชิดที่สุด เห็นหัวจิตหัวใจที่สุดของต้องยอมรับว่าครูมีโอกาสเห็นมากกว่า

“อย่างที่รู้ว่าเด็กมีปัญหาพอสมควร แต่บอกว่าจะโทษแต่เด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ อยู่ที่ครอบครัว ชุมชน และครูด้วย ที่ผ่านมาครูก็สอนอย่างเดียว สอนเสร็จก็แยกย้าย วิชาใครวิชามัน ความต่อเนื่องไม่มี เด็กกลับบ้านไปก็ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงานตามสภาพครอบครัว”

ว่าด้วยการประเมินผลจากส่วนกลางอย่างโอเน็ต ครูอ้อบอกว่าเด็กหลายคนไม่ผ่านการประเมิน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความรู้เรื่องอื่น หลายคนช่วยที่บ้านทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นเรื่องทักษะการใช้ชีวิตต่างกัน

แต่เมื่อโรงเรียนตัดสินใจว่าจะบูรณาการการเรียนการสอนใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นครูอ้อบอกว่า ตอนแรกครูทุกคนหนักใจ หลายคนนอนไม่หลับ เพราะไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้

“แต่ผลที่เห็นอันดับแรกเมื่อได้ทดลองทำ คือ ครูได้คุยกันมากขึ้น จากเมื่อก่อนแค่ทักทายกันปกติ ในความกลัวก็มีคำถามว่าทำไมโรงเรียนอื่นทำได้”

ใช่, สอนหนังสืออยู่ดีๆ ทำไมต้องเปลี่ยนมานั่งล้อมวงกับเด็ก ทำไมต้องเปลี่ยนจากสอนมาเป็นเล่นมากกว่า เส้นบางๆ ระหว่างนั่งคุยเล่นกับคุยลึกซึ้งบางครั้งก็แยกไม่ออก แต่ครูอ้อบอกว่า มันทำให้ได้ทบทวนตัวเอง และเด็กๆ มีสมาธิมากขึ้น ที่สำคัญพวกเขาแลกเปลี่ยนกับครูได้

“อย่างแรกต้องให้กำลังใจ เราจะไม่คุยอะไรที่เป็นเชิงลบ แม้ช่วงแรกๆ เด็กจะคุยเป็นอยู่เพียงสองคำ คือ ก็ดี กับ ไม่รู้ ไม่ว่าจะคุยอะไร สองคำนี้จะเป็นคำพูดแรกๆ ของนักเรียน”

“บางครั้งก็ต้องหลอกล่อด้วยการเล่านิทาน เราจะเริ่มเล่าเปิดเรื่อง แล้วให้นักเรียนจินตนาการเล่าต่อวนกันไป มันทำให้คนที่ไม่กล้าแสดงออกกล้ามากขึ้น เพราะมีแรงหนุนจากเพื่อนๆ ต่างจากการคุยกับครูโดยตรงแบบเมื่อก่อนซึ่งเด็กจะรู้สึกถูกกดดันมากกว่า”

ผ่านไป 1 ปี นวัตกรรมการเรียนการสอนสร้างเซอร์ไพรส์ให้หนองพอกวิทยายนโดยที่ครูหลายคนเคยเชื่อว่าไม่น่าจะเปลี่ยนได้

“อย่างกิจกรรมต่อไม้ไอติม ให้ไม้ไอติมเล่าเรื่อง เราให้เด็กๆ ต่อเป็นอะไรก็ได้ เราคิดว่าเต็มที่เขาก็จะต่อออกมาเป็นรูปบ้าน เราเชื่อว่าน่าจะทำได้แค่นั้น แต่บางคนที่เรียนไม่เก่งเลยเขาต่อเป็นรูปสะพานแขวน และอธิบายว่าที่บ้านเราไม่มี สะพานทำให้เราได้เดินทางข้ามไปอีกฝั่งได้ บางคนก็ต่อเป็นรถไฟ”

ครูอ้อสะท้อนตัวเองว่าตอนก่อนไปอบรมแรกๆ เธอตั้งป้อมไม่เชื่อไว้ก่อน ความที่เรียนมาด้านวิทยาศาสตร์ ก็ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถึงขั้นเคยโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องหลักกาลามสูตร โพสต์เพราะไม่อยากเชื่อ แต่พอได้ลองทำแล้วก็ยิ่งตอบตัวเองได้ว่าถ้าไม่ได้ลองทำเองก็จะไม่เข้าใจ และจะมัวแต่กลัวหรือกังวล

“พอเรากล้าเปลี่ยนตัวเอง กล้าเปิด กล้ามีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เรารู้สึกมีจิตวิญญาณ รู้สึกมีคุณค่า เมื่อก่อนคิดว่าสิ่งที่เราสอนเหมือนหมูในอวย หลับตาสอนก็ได้ แต่โลกมันไปไกลแล้ว เราต้องหาความรู้ ต้องค้นคว้า ต้องทันโลก ต้องทันสมัย และไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ครูกับนักเรียนต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน ถ้าเปรียบครูกับหมอเหมือนกันตรงที่ต่างต้องรักษาคนเหมือนกัน หมอต้องฉับไวในการรักษาชีวิตคน แต่ครูต้องใช้เวลากับนักเรียน ค่อยๆ ประคับประคองให้พวกเขาเติบโต ทั้งตัวนักเรียนเองและตัวครูด้วย” ครูอ้อฉายประกายในแววตา

จากก้าวแรกของครูตัวเล็กๆ ที่มีนักเรียนประจำชั้นเพียง 7 คน และมีถึง 6 คนที่เป็นโรคแอลดี (LD) หรือมีลักษณะบกพร่องทางการเรียนรู้

 

ทั้งหมดทั้งปวงอาจไม่ใช่โจทย์ในมือครูอ้อคนเดียว ดูเหมือนโรงเรียนหนองพอกวิทยายนกำลังเปล่งประกายเรืองแสง และกำลังพิสูจน์ความเชื่อในเส้นทางของตัวเอง

 

ติดตามตอนจบของกาฬสินธุ์โมเดล ในตอนแสงสว่างในโรงเรียน ได้ที่ กาฬสินธุ์โมเดล (2) : แสงสว่างในโรงเรียน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save