fbpx
จักรชัย โฉมทองดี : เอ็นจีโอไม่ใช่ผู้ผูกขาดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกต่อไป

จักรชัย โฉมทองดี : เอ็นจีโอไม่ใช่ผู้ผูกขาดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกต่อไป

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

สมัชญา แซ่จั่น ภาพ

 

หากว่ากันตามความหมายและอุดมคติ คำว่า “เอ็นจีโอ” (NGO : Non-governmental Organization) คือกลุ่มคนหรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ทำหน้าที่เชื่อมโยงและช่วยเหลือประชาชนในส่วนที่รัฐมีข้อจำกัดหรือเข้าไม่ถึง รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายบนพื้นฐานของสาธารณประโยชน์

ทว่าในบริบทของประเทศไทย คำว่า “เอ็นจีโอ” บ่อยครั้งกลับถูกพูดถึงและพาดพิงในเชิงลบ บ้างโดนค่อนขอดว่าเป็นผู้ถ่วงรั้งการพัฒนา เอะอะก็ออกมาคัดค้าน ออกมาเคลื่อนไหว บ้างก็ตั้งข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ (และนัยยะ) แอบแฝง โดยเฉพาะในวันเวลาที่สังคมไทยคุกรุ่นด้วยความขัดแย้ง บ่อยครั้งที่เอ็นจีโอต้องตกเป็นจำเลย ทั้งในแง่ของผู้สร้างปัญหา และในแง่ของผู้รักษาผลประโยชน์ (แต่ล้มเหลว)

เอ็นจีโอไทยเหลวแหลกขนาดนั้นจริงหรือ หรือนั่นเป็นเพียงมายาคติที่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพจำของเอ็นจีโอแบบไทยๆ

‘จักรชัย โฉมทองดี’ คือหนึ่งในคนที่น่าจะให้คำตอบนี้ได้อย่างแจ่มชัด

ในวัยสี่สิบกลางๆ จักรชัยอ้างว่าตัวเองเป็น ‘เอ็นจีโอนำเข้า’ เนื่องด้วยตลอดการทำงานในแวดวงเอ็นจีโอกว่ายี่สิบปี เขาทำงานอยู่กับองค์กรระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ สนใจประเด็นความเหลื่อมล้ำเป็นพิเศษ หนึ่งในผลงานอันโดดเด่นคือการเป็นหัวหอกคัดค้านเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ในนามของกลุ่ม FTA Watch

ปัจจุบันจักรชัยมีตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ ขององค์กร OXFAM ประจำประเทศไทย โครงการ ‘Root Garden’ คือผลงานที่หลายคนคงคุ้นหูกันดี

แม้จะออกตัวว่าเป็นเอ็นจีโอที่อยู่นอกขบวน แต่อีกด้านหนึ่งจักรชัยก็ทำงานใกล้ชิดกับมวลชนมาโดยตลอด และในวันที่คนในสังคมแตกกระจายออกเป็นหลายฝั่ง เขาเลือกยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม

101 นัดหมายกับเขาเพื่อพูดคุยถึงรากเหง้าปัญหาของเอ็นจีโอไทย ชวนวิพากษ์ วิเคราะห์ อย่างตรงไปตรงมา—ในฐานะของคนที่เคยคลุกทั้งวงนอกและวงใน

 

“ประชาธิปไตยกับการพัฒนาสิทธิเฉพาะหน้าของชาวบ้านนั้นแยกจากกันไม่ได้ … หนทางที่เอ็นจีโอเลือกเดินต้องไม่บ่อนทำลายหรือกัดกร่อนโอกาสที่สังคมจะเดินไปสู่ระบอบที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นคุณค่านำ และเป็นระบอบที่ต้องตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้จริง”

ในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานในแวดวงเอ็นจีโอ คุณพบเห็นอะไรบ้าง เป็นอย่างที่เคยคิดไว้ไหม

ประสบการณ์ช่วงเริ่มต้นที่ผมได้สัมผัส มีทั้งข้อบวกและข้อจำกัด ข้อบวกผมรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานตรงนี้ เขาทำงานด้วย passion จริงๆ หมายความว่าเชื่อและผูกพันกับสิ่งที่ตัวเองทำ หลายครั้งถึงขั้นเสียสละเพื่อเป้าหมายด้วยซ้ำ น้อยครั้งที่ผมจะเห็นเอ็นจีโอที่ทำงานโดยมุ่งหวังผลประโยชน์เฉพาะตัว

เข้าไปไม่กี่ปีก็เห็นแล้วว่าคนส่วนใหญ่แม่งใจว่ะ และก็มีคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในที่นี้ อาจไม่ได้จำกัดแค่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมในทันที แต่คือการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือไดอะล็อกในสังคมเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆ นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่าการนำเสนอประเด็น รวมถึงทางเลือกในการพัฒนาของเอ็นจีโอนั้นมีเสน่ห์และน่าสนใจ ด้วยความที่พวกเขาได้ลงไปในสนามและซึมซาบกับประเด็นที่ทำงานอย่างใกล้ชิด

ส่วนข้อจำกัด เอาเป็นเรื่องประสิทธิภาพก่อนนะ เรื่องที่ผมเห็นคือเรื่องเชิงข้อมูล ความหนักแน่นในการเสนอข้อมูลเชิงนโยบายที่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน รวมถึงงานวิชาการที่จะนำมาอธิบายและคาดการณ์ว่าผลในเรื่องต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมขอเน้นนะครับว่าไม่สามารถพูดแบบเหมารวมได้ แต่โดยเฉลี่ยผมเห็นว่าเป็นจุดอ่อนในขบวนเอ็นจีโอไทย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าคนในภาคเอ็นจีโอคนไหนมีความแม่นยำและจัดเจนในข้อมูล เราจะเห็นความโดดเด่นขึ้นมาทันที ใครก็ตามที่รู้ลึกในข้อกฎหมาย หรือเข้าถึงงานศึกษาที่เชื่อมร้อยกับงานวิชาการ แล้วสามารถจัดการข้อมูลของชุมชนหรือประสบการณ์เชิงประจักษ์ได้ชัด เขาเหล่านั้นจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนได้จริง

แต่ในทางกลับกัน การพยายามแค่พูดให้ไม่เหมือนคนอื่น หรือการวิพากษ์วิจารณ์แบบฉาบฉวย อาจทำให้มีพื้นที่เล่นสักระยะหนึ่ง แต่คงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือปรับนโยบายอะไรได้ สิ่งที่น่าคิดคือจะทำอย่างไรให้คนที่เราคิดว่ามีศักยภาพในแวดวงเอ็นจีโอสามารถทำงานได้เต็มที่และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

เอ็นจีโอเข้าไม่ถึงข้อมูล หรือเข้าถึงแต่ใช้ข้อมูลไม่เป็น ?

ผมคิดว่าเอ็นจีโอยังมีความจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลอยู่จริง แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเวลาคุณไปดีเบตเรื่องที่ดิน มีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่ได้มีอยู่หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ แง่หนึ่งคือทุนที่จำกัดในการทำการศึกษา คุณจะจ้างนักวิชาการก็ไม่ใช่ถูกๆ ฉะนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีงานข้อมูลหลุดมาสักชิ้นหนึ่ง คนก็พากันกระโดดใส่ แล้วใช้กันจนเปื่อย ข้อมูลบางชุดทำออกมาหลายปี มันไม่สามารถใช้อธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่รู้จะเอาข้อมูลใหม่จากไหน นี่คือปัญหา

 

แล้วคุณมองว่าปัญหานี้ควรแก้อย่างไร

พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่ามาจากสองทาง หนึ่งคือฝ่ายเอ็นจีโอควรจะมีท่าทีที่เปิดกว้างและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะรับฟัง รับการสนับสนุนเชิงศักยภาพจากนักวิชาการที่มีความสนใจเรื่องแบบนี้ ยิ่งทุกวันนี้กลุ่มคนในสังคมแบ่งออกเป็นสองกระแสความคิดหลัก ทำให้ทรัพยากรยิ่งจำกัด เมื่อจะหา ก็วนอยู่แต่ในวงเดิมๆ แทนที่จะเปิดให้กว้างขึ้น

ส่วนอีกทางที่ผมให้น้ำหนักมาก ก็คือฝ่ายวิชาการ ผมคิดว่างานวิชาการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หรือที่เรียกว่า Research for advocacy ยังมีอยู่อย่างจำกัดในสังคมไทย

ยกตัวอย่างเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างน้อยเอ็นจีโอคือคนที่ส่งเสียงค่อนข้างจะดัง และยืนอยู่คนละฝั่งกับนโยบายของรัฐ แต่ปัญหาคือเขาไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ได้ จะมีก็แต่ประสบการณ์ตรงที่ตัวเองเจอเป็นหลัก เช่น รัฐใช้ ม.44 ยังไง ยึดที่ชาวบ้านมาแล้วเอาไปทำอะไร ซึ่งก็มีประโยชน์มาก แต่อาจยังไม่เพียงพอ

ผมลองจินตนาการว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดในฟิลิปปินส์ จะมีนักวิชาการกระโดดมาทำข้อมูลสนับสนุน ว่าทำแล้วรายได้ต่อหัวของชาวบ้านจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีประโยชน์หรือข้อเสียในมุมที่กว้างกว่ารายได้อย่างไร รวมถึงนัยยะในระยะยาว

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ประเทศไทยควรจะมี Academic Activism ที่เชื่อมโยงเกื้อหนุนการขับเคลื่อนต่อสู้ด้านการพัฒนาระดับรากหญ้าที่เข้มข้นกว่านี้ ตรงนี้ผมเรียกร้องทางฝ่ายวิชาการมากกว่า

 

นักวิชาการกับเอ็นจีโอไม่ได้ทำงานเกื้อหนุนกันเท่าที่ควร ?

ถ้าถามว่ามีตัวอย่างไหม ผมว่ามี ยกตัวอย่างงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา เราจะเห็นการคลุกเคล้าระหว่างนักวิชาการ ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเอ็นจีโอ รวมเป็นสามฝ่าย ซึ่งมันคลุกจนเป็นเนื้อเดียว และสามารถทำให้การดีเบตในทุกระดับชั้นมีความหนักแน่น และสร้างแรงเสียดทานหรือจุดคัดง้างได้

แต่กับประเด็นอื่นๆ ไม่ใช่ไม่มีนะ แต่ผมคิดว่ายังมีน้อยมาก การขับเคลื่อนของเอ็นจีโอสายพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดเครื่องมือตรงนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าเอ็นจีโอจะไม่มีความสามารถด้านวิชาการเอาเสียเลย แต่เราไม่ควรคาดหวังให้ทุกคนทำทุกเรื่อง ทั้งขับเคลื่อน ทั้งจัดตั้ง แล้วยังต้องทำงานวิจัยอีก ผมคิดว่าคงไม่ใช่

ส่วนการที่บางครั้งนักวิชาการออกมาวิจารณ์คุณภาพงานของเอ็นจีโอ ผมไม่ปฏิเสธ กลับเห็นว่าเราสามารถสกัดเอาองค์ความรู้มาเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่วิพากษ์จุดยืนของเอ็นจีโอในเชิงอุดมการณ์ ผมเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์มาก เรื่องตอบโต้กันก็เรื่องหนึ่ง แต่ไม่อยากให้เอ็นจีโอหลายคนปิดใจตัวเองเพียงเพราะรู้สึกว่าผู้วิพากษ์ไม่ได้มีท่าทีเชิงบวกหรือมีอคติแอบแฝง

 

“มวลชนใหม่กลับกลายเป็นผู้ตีเส้นให้เราขับเคลื่อนอยู่ในกรอบที่เขาคาดหวังเท่านั้นหรือไม่ … หากเป็นดังข้อสังเกตนี้ ความสัมพันธ์กับมวลมิตรใหม่แม้จะน่าหลงใหล แต่จำต้องถูกทบทวนเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะเป็นได้แค่เพียงความสัมพันธ์จำพวกแม่ยกกับพระเอกลิเก”

ถ้าเปรียบกับหลายๆ ประเทศ มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ไหม

ในฟิลิปปินส์หรือในยุโรปหลายประเทศ คุณมักจะไม่เจอคำว่า “เอ็นจีโอ” ลอยๆ แต่ในบ้านเรา เอ็นจีโอดันเป็นเหมือนมนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งที่ถูกพูดถึงแบบเฉพาะเจาะจง

เอ็นจีโอต่างๆ ในไทยถูกเหมารวมให้เป็นหนึ่งเดียว เส้นเรื่องการวิพากษ์จึงเป็นเส้นเดียว เช่น จากผู้ขัดขวางความเจริญสู่แฟนคลับรัฐประหาร ผมว่ามันง่ายไป ไม่ได้บอกว่าผิดทั้งหมด แต่มันไม่ครบ และทำให้ประโยชน์ขาดหาย

ฟิลิปปินส์เขาไม่มีเอ็นจีโอที่เป็นพวกเดียวกัน จะมีตั้งแต่สายเหมา สายชาวนา สายปฏิรูป สายขวาหน่อย ในยุโรปเช่นเยอรมันยิ่งชัด มันเห็นสายการเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับการเมืองมาจนถึงระดับสหภาพแรงงาน ไม่ได้มาแบ่งว่าคุณเป็นเอ็นจีโอหรือเป็นนักวิชาการ แต่แบ่งจากจุดยืนทางสังคมการเมืองที่มีคนจากหลายภาคส่วนผสมกันอยู่

ผมคิดว่าถึงวันหนึ่งประเทศไทยก็คงเป็นแบบนั้น อย่างน้อยเราก็ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมกับเอ็นจีโอหนึ่งๆ ด้วยว่าจริงๆ แล้วคุณต้องการอะไร มีวิธีการแบบไหน มีจุดยืนอย่างไร หากมองแบบผ่านๆ อาจเห็นไม่ชัดนัก แต่ภายในผมเห็นว่าเราเริ่มเกิดกระบวนการแยกแยะได้พอสมควรแล้ว

ผลของปรากฏการณ์สิบปีที่ผ่านมา ถามว่ามีข้อเสียไหม ก็มี คือมันรวมตัวกันยาก จะมาสร้างอะไรร่วมกันก็ลำบาก แต่อีกแง่หนึ่งผมก็รู้สึกว่ามันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และถึงจุดหนึ่ง ผมหวังว่าเราก็จะเป็นผู้ใหญ่พอที่จะรู้ว่าเราจะปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

 

จากข้อจำกัดที่ว่ามา ส่งผลต่อวิธีการทำงานของเอ็นจีโออย่างไร

ด้วยข้อมูลที่จำกัด ทรัพยากรที่จำกัด และโดยเฉพาะพื้นที่ทางการเมืองที่จำกัดในช่วงหลังมานี้ ทำให้แท็กติกในลักษณะของการยืนระยะ เป็นสิ่งที่ยากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็นำไปสู่การสร้างดราม่าหรือวาทกรรมแบบเฉพาะหน้า เพื่อสร้างความรู้สึกชั่วครู่ชั่วยามต่อบางเรื่องบางประเด็น ส่วนการขับเคลื่อนก็เป็นลักษณะของการออกไปกดดัน เพื่อสร้างพื้นที่ต่อรอง เมื่อกดดันได้นิดหน่อยก็เข้าสู่กระบวนการตั้งกรรมการอย่างรวดเร็ว เพราะการยืนระยะเป็นเรื่องลำบาก

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว สมัยที่มี ‘สมัชชาคนจน’ ตั้งแต่รัฐบาลบิ๊กจิ๋ว ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชวน มันมีองคาพยพของการสนับสนุนค่อนข้างพร้อม ตั้งแต่ม็อบ เกษตรกรรายย่อย นักวิชาการ ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ขบวนเอ็นจีโอสามารถยืนระยะได้ แต่ทุกวันนี้องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นแทบไม่มีเลย

 

แสดงว่าปัจจัยด้านสังคมการเมือง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กระทบกับแวดวงเอ็นจีโอพอสมควร

กระทบเยอะมาก ไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ในสังคม จากบรรยากาศที่พวกเราเคยเข้าใจว่าคิดอะไรเหมือนๆ กัน เดินไปสู่จุดเดียวกัน ด้วยวิธีการที่สอดคล้องกัน ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

ในยุคหนึ่งเราสามารถอธิบายสังคมด้วยตรรกะที่ง่ายกว่านี้ แต่ปัจจุบันบริบทเปลี่ยนไปเยอะมาก ไม่ใช่แค่ในแวดวงเอ็นจีโอ แต่เป็นวิธีคิดของทั้งสังคม เมื่อสิบปีที่แล้วเราอาจมองเอ็นจีโอเป็นหนึ่งเดียว มาวันนี้นักวิชาการหรือผู้เล่นอื่นๆ ในสังคม กระทั่งดารานักแสดง คุณจะเห็นว่ามี spectrum ทางความคิดที่กระจายตัวออกมา เอ็นจีโอเช่นเดียวกัน

ทุกคนต่างก็ตกใจกับทักษิณ คุณอย่าบอกว่าคุณไม่ตกใจ ผมเองก็ตกใจ และไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะมีปรากฏการณ์แบบนี้ ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อตกใจแล้วคุณตั้งรับกับมันอย่างไร

ในฐานะของคนที่บอกว่ายืนหยัดเรื่องสิทธิเสรีภาพ มันชัดเจนและต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังปี 2549 โดยเฉพาะในช่วงปี 2552-53 แล้ว ผมว่าเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เอ็นจีโอพยายามแล้ว แต่สุดท้ายเรากลับสอบตกในฐานะผู้ที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ไม่พยายาม เราคิดกันมาก พยายามทำอะไรสักอย่าง เครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความกล้าหาญกับความเด็ดเดี่ยวมันไปไม่ถึงจุดที่จะออกมายืนยันว่าสิ่งใดควร ไม่ควร ถูกหรือผิดในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ซึ่งผมมองว่าการไม่แสดงตัว ไม่แสดงจุดยืนในฐานะผู้กล่าวอ้างเรื่องนี้มาก่อน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ

แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้พื้นที่และสถานะของเอ็นจีโอในฐานะผู้คลุกคลีกับเรื่องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด ถูกสั่นคลอนอย่างมหาศาล

 

การแตกกระจายของกลุ่มความคิดทางการเมือง ก่อให้เกิดปัญหาอะไรในแวดวงเอ็นจีโอบ้าง

เอ็นจีโอส่วนใหญ่มีปัญหาอย่างหนึ่งมานาน คือไม่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนในวงกว้าง หรือไปปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นที่หลากหลาย รวมถึงฝ่ายธุรกิจได้ นอกเหนือไปจากกลุ่มชาวบ้านที่ตัวเองทำงานด้วยหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นนั้นๆ กรอบคิดและวิธีการทำงานถูกจำกัดอยู่แค่นั้น แต่พ้นไปกว่านั้น ไม่มีการสะสมองค์ความรู้ในเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นอื่นๆ ซึ่งต่างจากเอ็นจีโอในตะวันตก

ถามว่าเอ็นจีโอมีความฝันไหม อยากที่จะขยายฐานมวลชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไหม ผมก็ไม่รู้หรอก เพราะไม่เคยมีใครมาเปิดใจกับผมตรงๆ แต่ผมดูปรากฏการณ์ตอนกลุ่มพันธมิตร ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่คนในแวดวงเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งปรารถนา และมองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานความคิดของตัวเอง เพื่อจะมีมวลชนอันไพศาลมายืนอยู่ข้างตัวเอง ทำให้หลายคนเข้าไปมีบทบาท แต่ปัญหาคือเมื่อถึงเวลาที่ต้องถอย บางคนกลับไม่ยอมถอยออกมา

ใช่หรือไม่ว่าจุดยืนที่เอ็นจีโอบางคนยึดถืออยู่ทุกวันนี้ ถูกจำกัดด้วยวิธีคิดและแรงสนับสนุนจาก ‘มวลชนใหม่’ ที่ตัวเองมีส่วนสร้างขึ้นหรือไปยืมมา คำถามที่ท้าทายคือสุดท้ายเราจะปกป้องสิทธิของชาวบ้านได้ขนาดไหน ถ้าจุดยืนของเราถูกซ้อนทับด้วยมวลชนใหม่ไปด้วย ผมว่าตรงนี้น่าสนใจ และน่าคิดต่อไปอีกว่า การมีทีท่าประนีประนอมกับรัฐบาลปัจจุบัน มันเป็นการกระทำที่ก่อประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านเพราะคุณเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะไม่อยากจะเสียมวลชนใหม่ไปกันแน่

 

การยึดติดกับกลุ่มมวลชนใหม่ ทำให้การขับเคลื่อนผิดทิศผิดทาง ?

ต้องอธิบายว่าภายใต้ระบอบการเมืองที่ปิดแคบในระยะหลังมานี้ พื้นที่ขับเคลื่อนในชนบทถูกตรึงกำลังจนกลไกเดิมๆ ที่เอ็นจีโอคุ้นชิน แทบจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป อย่างที่เห็นว่าในต่างจังหวัดก็โดนไปแล้ว โดนกันเรื่อยๆ พอโดนแล้วก็เล่นไม่ออก พอเล่นไม่ออก ก็ต้องมาเล่นในเมือง เล่นเรื่องของสิ่งแวดล้อมสวยๆ ทรัพยากรของเรา ปลาของเรา ป่าของเรา แล้วก็จะได้พลังของคนเมือง ซึ่งเป็นเสียงที่รัฐบาลรับฟัง บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ฟัง มันเหมือนจะเป็นทางเดียวที่เล่นได้

เราจึงเห็นการขับเคลื่อนที่เชื่อมร้อยกับชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น ด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีในการขยายแนวร่วม โดยเฉพาะแนวร่วมที่มีทั้งกำลังทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ‘มวลชนใหม่’ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นผ่านการเข้าร่วมขบวนทางการเมืองเสื้อเหลืองก่อนหน้านี้ หรือระดมผ่านประเด็นเฉพาะ เช่นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ถึงที่สุดเขามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร และเราสามารถทำให้เขาเข้าใจประเด็นและยืนเคียงคู่ชาวบ้านได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้ว มวลชนใหม่กลับกลายเป็นผู้ตีเส้นให้เราขับเคลื่อนอยู่ในกรอบที่เขาคาดหวังเท่านั้น

หากเป็นดังข้อสังเกตนี้ ความสัมพันธ์กับมวลมิตรใหม่แม้จะน่าหลงใหล แต่จำต้องถูกทบทวนเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะเป็นได้แค่เพียงความสัมพันธ์จำพวกแม่ยกกับพระเอกลิเก

 

“เมื่อเอ็นจีโอเข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจรัฐแล้ว ได้นำไปสู่อำนาจต่อรองของประชาชนที่มากขึ้นด้วยหรือไม่ การดำเนินการของรัฐสามารถถูกตรวจสอบได้หรือไม่ หรือคุณแค่เข้าเป็นลูกหาบที่คอยเป็นเครื่องประดับของรัฐเท่านั้น”

แล้วแนวทางในการทำงานของเอ็นจีโอภายใต้สภาวะสังคมการเมืองแบบนี้ ควรเป็นไปในทิศทางไหน

ผมคิดว่าการขับเคลื่อนประเด็นเฉพาะหน้า สามารถทำไปพร้อมๆ กับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพหรือกรอบสังคมอันพึงปรารถนาในระยะยาวได้

ยกตัวอย่างโมเดลของ ‘ดาวดิน’ ซึ่งผมชื่นชมมาก น้องๆ ได้ให้คำตอบกับเอ็นจีโอที่ทำงานในสายทรัพยากรได้ดีทีเดียว จุดสำคัญคือการพยายามเน้นให้เห็นว่าประชาธิปไตยกับการพัฒนาสิทธิเฉพาะหน้าของชาวบ้านนั้นแยกจากกันไม่ได้

การที่ชาวบ้านถูกคุกคาม เราจะต้องช่วยเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าเราไม่ใช่อัศวิน ไม่ใช่นักบุญ แต่เราก็ต้องทำ โดยเฉพาะบรรยากาศที่สิทธิเสรีภาพไม่ได้ถูกรับรองด้วยอะไรเลย ทั้งกฎหมายและทางปฏิบัติ เรื่องนี้ยิ่งต้องเข้มข้น แต่มันคนละเรื่องกับการถอยห่างจากประชาธิปไตย

 

แล้วการที่เอ็นจีโอบางกลุ่มเข้าไปทำงานร่วมกับรัฐ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ทำให้เกิดข้อจำกัดหรือข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง

การทำงานกับรัฐ ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนขยายของรัฐในทุกกรณีไป มันต้องการการประเมินที่ละเอียดกว่านั้น

ต้องเข้าใจว่าการที่มีเอ็นจีโอเข้าไปนั่งอยู่ในกรรมการหรือกลไกใดๆ หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมโครงการรัฐ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาจมากน้อยต่างกันไป แต่มันคือช่องทางหนึ่งที่หลายฝ่ายใช้ในการนำเสนอและแก้ไขปัญหาของตน หรือของชุมชนที่ตนทำงานด้วยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่หลายพื้นที่มีความสุ่มเสี่ยง สิทธิของชาวบ้านมีความเปราะบาง การเข้าคลุก ‘วงใน’ ถูกมองว่าคือความจำเป็นอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ

เขาลงทุกสนามที่เปิด เพราะโจทย์เขาอยู่เฉพาะหน้า หากชาวบ้านโดนคุกคาม กำลังจะโดนไล่ที่  เอ็นจีโอที่กินอยู่กับชาวบ้าน ก็จะใช้ทุกโอกาสที่จะใช้ได้ อย่างน้อยก็เพื่อปกป้องไม่ให้ชาวบ้านอยู่ในความเสี่ยงไปมากกว่านี้ ถ้าเขาเข้าไปเป็นกรรมการใดของรัฐบาลนี้ และมันช่วยรับประกันว่าชาวบ้านที่เขาทำงานด้วยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิหรือมีโอกาสมากขึ้น ผมว่าเขาก็เลือกเข้าไปทำ

ดังนั้นในบริบทปัจจุบัน โจทย์อาจไม่ตรงไปตรงมาเพียงว่า การมีบทสนทนากับอำนาจรัฐประหาร จะเท่ากับการปฏิเสธประชาธิปไตย เพราะชีวิตของหลายชุมชนแขวนอยู่บนเส้นด้าย มันจึงเรียกร้องวิธีการที่ซับซ้อนและหลากหลาย เพียงแต่หนทางที่เลือกเดิน ต้องไม่บ่อนทำลายหรือกัดกร่อนโอกาสที่สังคมจะเดินไปสู่ระบอบที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นคุณค่านำ และเป็นระบอบที่ต้องตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้จริง มิเช่นนั้นแล้วไม่เพียงแต่เป้าหมายระยะยาวจะไม่มีวันบรรลุผล แต่เป้าหมายในการปกป้องสิทธิชาวบ้าน แรงงาน หรือปัญหาอื่นๆ แบบเฉพาะหน้า ก็อาจไม่บรรลุผลด้วย

ด้วยเหตุนี้ การประเมินและตรวจสอบกันเองในฝ่ายเอ็นจีโอจึงยิ่งมีความจำเป็น และต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น รวมทั้งการช่วยกันมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมด้วยว่า เมื่อเอ็นจีโอเข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจรัฐแล้ว ได้นำไปสู่อำนาจต่อรองของประชาชนที่มากขึ้นด้วยหรือไม่ การดำเนินการของรัฐสามารถถูกตรวจสอบได้หรือไม่ หรือคุณแค่เข้าเป็นลูกหาบที่คอยเป็นเครื่องประดับของรัฐเท่านั้น  

 

การมีรัฐบาลที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้ สำคัญอย่างไรต่อบทบาทหรือการทำงานของเอ็นจีโอ

สิ่งที่เอ็นจีโอหลายคนพยายามบอกมาตลอด คือไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้งหรือเผด็จการ สุดท้ายก็ไม่มีใครยืนอยู่ข้างประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ยุคเลือกตั้ง นักการเมืองก็เข้ามาเอาเปรียบชาวบ้าน พอรัฐบาลทหารเข้ามาก็ไม่ต่างกัน ฉะนั้นประชาชนก็ต้องพร้อมเผชิญเหตุกับทั้งรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐบาลแต่งตั้ง

ไม่ว่ารัฐแบบไหน ถ้าประชาชนไม่มีพื้นที่ที่จะขยับหรือตรวจสอบรัฐได้ มันก็พาลจะเป็นรัฐที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชนทั้งนั้น ใช่ เราคงต้องทั้งรับและรุกกับทั้งสองฝ่าย แต่ต้องไม่ลืมว่ามันคนละกติกากัน ดังนั้นเวลาเรียกร้องอะไร ก็ต้องพยายามปรับกติกา เพื่อให้การต่อรองของประชาชนมีน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่เอ็นจีโอจำนวนมากยังให้ความสำคัญน้อยไป กับบริบทที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ และระบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการ

 

พูดได้ไหมว่าการทำงานของเอ็นจีโอภายใต้รัฐบาลทหาร ยากลำบากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผมเชื่อว่าสิ่งที่จำเป็นมากกว่าคนดี คือระบบที่ดี นั่นคือการที่อำนาจรัฐถูกทำให้เห็นหัวประชาชน ผ่านการมีส่วนร่วมและตรวจสอบ ซึ่งการเลือกตั้ง แม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นเงื่อนไขอันขาดไม่ได้ในการนำไปสู่ภาวะที่พึงประสงค์ดังกล่าว พรรคการเมืองอาจเล่นสกปรก หรือจัดมวลชนมาชนกับเรา แต่เราก็ยังมีพื้นที่ให้เล่นได้ ตรวจสอบได้ แต่ในเงื่อนไขปัจจุบัน มันไม่มีพื้นที่ให้เราเล่นด้วยซ้ำ

ถ้าเอ็นจีโอไม่ได้มียุทธศาสตร์ในการสร้างระบบที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐได้ ความเฮงซวยเกิดแน่นอน เพราะเอ็นจีโอจะกลายเป็นเพียงแค่ไม้ประดับให้ดูสวยงาม ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือต้องสร้างพื้นที่ในการเล่นเกมให้ได้ และต้องตระหนักด้วยว่าเกมนั้นจะไม่ใช่เกมของเราผู้เดียวอีกต่อไป

 

“การเคลื่อนไหวโดยรวมจะเปลี่ยนรูปเป็นการเคลื่อนไหวของพลเมืองมากขึ้น โดยมีเอ็นจีโอเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของการเคลื่อนไหวทั้งหมด เอ็นจีโอจะอยู่ในสภาพที่เข้าไปแข่งขัน ไม่ได้แข่งเพื่อเอาชนะ แต่แข่งเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งเชิงประเด็น”

ทิศทางการทำงานของเอ็นจีโอ ถัดจากนี้ควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวโดยรวมจะเปลี่ยนรูปเป็นการเคลื่อนไหวของพลเมืองมากขึ้น โดยมีเอ็นจีโอเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของการเคลื่อนไหวทั้งหมด เอ็นจีโอจะอยู่ในสภาพที่เข้าไปแข่งขัน ไม่ได้แข่งเพื่อเอาชนะ แต่แข่งเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งเชิงประเด็น ร่วมกับคนวิชาชีพอื่นๆ

ถ้าคุณได้ทำงานกับนักกิจกรรมในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา วิธีการมองของเขาก็ไม่เหมือนกับที่ผมมองเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เขาไม่ได้มองว่า เอ็นจีโอเป็นผู้ผูกขาดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เขาไม่ได้มองว่า เอ็นจีโอคือผู้เล่นที่ใหม่หรือมีนวัตกรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจึงเกิดพื้นที่ใหม่ๆ กลุ่มใหม่ๆ รวมถึงวิธีการใหม่ๆ ที่อาจแตะมือกับเอ็นจีโอบ้าง ไม่แตะบ้าง หรือไม่ได้แตะตลอดเวลา

ทุกวันนี้ผมว่าการจัดตั้งเกิดโดยธรรมชาติแล้ว ในเมืองคุณจะเห็นกลุ่มอย่าง Big Trees กลุ่มอย่าง Creative District หรือกระทั่งกลุ่มที่สตูลที่ทำเรื่อง ‘ปากบารา’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพราะผลกระทบหากเกิดท่าเรือน้ำลึก แนวร่วมที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของเอ็นจีโอเท่านั้น แต่ยังเป็นฝีมือของนักธุรกิจรายย่อย สถาปนิก หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวด้วย

ถามว่าเอ็นจีโอมีบทบาทไหม ก็มี แต่มันจะไม่ใช่การจัดตั้งของเอ็นจีโอโดยแท้แล้ว ซึ่งผมโคตรยินดีเลย ถ้าหากเอ็นจีโอจัดตั้งไม่เก่ง ตอบโจทย์ปัจจุบันไม่ได้ เราก็สูญพันธุ์ไป ก็แค่นั้น แต่ในเมื่อวันนี้ยังไม่สูญพันธุ์ หน้าที่ที่เอ็นจีโอควรทำ คือการทำให้พื้นที่ของคุณและประชาชนเปิดกว้างขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเด็นที่ตนทำงานเท่านั้น

นอกจากนี้ จุดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการจัดวางท่าทีและความสัมพันธ์กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ การกระโจนเข้าคลุกคลีโดยไม่จัดวางเงื่อนไขอย่างเหมาะสม ไม่ได้เน้นความโปร่งใสที่เพียงพอ อาจเป็นความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าการคลุกวงในกับอำนาจรัฐ

แล้วถ้ามองไปถึงการสร้างคน หรือสร้างองค์กรในอนาคต มีปัญหาอะไรที่น่ากังวลไหม

สังคมไทยมีเรื่องพรรคพวกพี่น้อง มีเรื่องของระบบอุปถัมภ์ เอ็นจีโอก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จะแตกต่างจากวงการอื่นๆ หรอก ดังนั้นจึงจำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีพื้นที่ให้น้องๆ หรือคนรุ่นใหม่ มีที่ทางในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่อย่างมีความหมายและปลอดภัย ซึ่งผมก็เห็นว่ามีองค์กรที่ทำแบบนี้อยู่นะ แต่ขณะเดียวกัน ก็อยากฝากถึงน้องๆ ด้วยว่า ถ้าคุณมีของและสามารถถกเถียงกับรุ่นพี่ได้อย่างมีเหตุมีผลและหนักแน่นจริง สุดท้ายคุณจะมีที่ทางและพื้นที่ของคุณ ซึ่งก็อาจเป็นที่ทางภายนอกองค์กรที่คุณสังกัดอยู่ก็ได้

ผมเข้ามาเป็นเอ็นจีโอตอนอายุยี่สิบต้นๆ ก็เห็นหลายคนที่สามารถสร้างพื้นที่และแสดงจุดยืนของตัวเองพร้อมกับการเติบโตขึ้นได้ ถึงที่สุดแล้วคนที่คุณเห็นหัวขบวนตอนนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาก็ไม่ได้อยู่หัวขบวน ใจผมคิดเอาเองว่าอีกสัก 5 ถึง 6 ปี เอ็นจีโอก็จะเปลี่ยนไปอีก เพราะคนที่คุณเห็นอยู่ตรงนี้จะหมดไป ซึ่งก็อาจรวมถึงผมเองด้วย

ในแง่ของโครงสร้างขบวนก็เช่นกัน สมัยที่เข้าวงการใหม่ๆ ผมจำได้ว่า กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ถ้าคุณได้เข้าไปนั่งประชุมด้วย จะเห็นเลยว่ามันเป็นแหล่งรวมพลคนเจ๋งๆ ทั้งนั้น สามารถนำเสนอและผลักดันวาระใหม่ๆ ได้ในหลายประเด็น มันมีสถานะ มีบทบาทจริงๆ แต่ถามว่า 4-5 ที่ผ่านมา มันมีสถานะแบบนั้นอยู่ไหม ข้อเท็จจริงที่เราเลี่ยงไม่พ้นคือองคาพยพไหนที่ไม่ตอบโจทย์ น้ำหนักทางสังคมก็จะน้อยลงไปตามธรรมชาติ

ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวเพื่อตอบโจทย์บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป หรือไม่พัฒนาฝีมือให้ทันยุคสมัย ทั้งในแง่สกิลและจุดยืนทางการเมือง สุดท้ายก็ต้องหมดสภาพไปตามวาระ

 

ย้อนกลับมาที่ตัวคุณเอง การทำงานทุกวันนี้มีหมุดหมายอะไรเป็นพิเศษไหม

หมุดหมายโดยส่วนตัว ผมคิดว่าสังคมไทยจะต้องกลับมาอยู่ในจุดที่เราสามารถจะพูดความจริงกันได้มากกว่านี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นพันธกิจร่วมของหลายคนหลายฝ่ายที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างหอดูดาวดูฟ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราพูดความจริงกันได้น้อย สังคมก็คงน่าอยู่น้อยลงไปเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน ถ้าสังคมมีเสียงที่หลากหลาย พื้นที่สาธารณะกลับมาต้อนรับความจริงกันอีกครั้ง ผมมองว่านั่นคือความสวยงามและเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เราแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้ดีกว่านี้

 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save