fbpx
อ่านสถานการณ์ยาก

อ่านสถานการณ์ยาก

[et_pb_section transparent_background=”off” allow_player_pause=”off” inner_shadow=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” make_equal=”off” use_custom_gutter=”off” fullwidth=”off” specialty=”off” admin_label=”section” disabled=”off”][et_pb_row make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” use_custom_gutter=”off” gutter_width=”3″ allow_player_pause=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_equal=”off” parallax_1=”off” parallax_method_1=”on” parallax_2=”off” parallax_method_2=”on” parallax_3=”off” parallax_method_3=”on” parallax_4=”off” parallax_method_4=”on” admin_label=”row” disabled=”off”][et_pb_column type=”4_4″ disabled=”off” parallax=”off” parallax_method=”on”][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สวัสดีท่านผู้อ่านครับ

ผมควรลงท้ายอำลาปีเก่าที่กำลังจากไปด้วยบทความที่รื่นรมย์กว่านี้สักหน่อย แต่ทำอย่างไรได้ล่ะครับ เรื่องที่ตั้งใจไว้แต่แรกเกิดกลายเป็นโจทย์ยากขึ้นมา ในสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากับความยากแบบนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าหยิบมันมาเขียนให้เป็นเรื่องเสียเลย ความยากจะได้แปรเป็นความรื่นรมย์เมื่อมีต้นฉบับส่งให้ 101 เขาทันเวลา

 

1.

สถานการณ์ยากในชีวิตที่มารอเป็นโจทย์ให้เราแก้มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ยากแบบแรก ยากเพราะเรายังไม่รู้วิธี ยังไม่มีความรู้หรือข้อมูล หรือความสามารถและฝีมือยังมีไม่ถึงไม่พอที่จะแก้สถานการณ์ได้ ต่อเมื่อเรียนรู้วิธีและมีความรู้ความสามารถพอแก่การแล้ว เรื่องนั้นก็ไม่ยากอีกต่อไป แต่บางทีกว่าจะรู้ เวลาก็อาจหมดเสียก่อน เราทุกคนมีเวลาจำกัดทั้งนั้นแหละครับไม่ว่าจะทำอะไร บางคนการสอบใกล้จะหมดเวลาเต็มทีแล้ว กระดาษคำตอบยังขาวว่างอยู่ หรือตอบผิดมาเต็มหน้ากระดาษก็มี

เหมือนบทความที่ผมตั้งใจจะเขียนแต่แรก มันเป็นสถานการณ์ยากขึ้นมาก็เพราะผมหาวิธีนำเสนอที่เหมาะกับเนื้อหาไม่ได้ แต่มีเดดไลน์มาจ่อกระชั้นรออยู่แล้ว หรือเมื่อผมไม่รู้ว่ามีวิธีไหนที่จะพาตัวเองออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมก็ต้องขลุกๆ ขลักๆ ทางเศรษฐกิจต่อไปอีกในเวลาทำงานที่เหลือสั้นลงไปทุกขณะ

การอ่านสถานการณ์แบบนี้คือการอ่านเพื่อรู้จักถอยได้ทันเวลา ถ้ายังพอทำได้ หรืออ่านเพื่อจะหา หรือเพื่อจะเปลี่ยนตัวช่วยเสียใหม่ ที่สามารถช่วยเราแก้ข้อจำกัดต่างๆ ได้ ภายในกรอบเวลาที่เหลืออยู่

 

2.

สถานการณ์ยากอีกแบบคือสถานการณ์ยากลำบากใจ ความยากลำบากใจมีสาเหตุได้จากหลายทาง บางทีเราพบความยากลำบากที่จะตัดสินใจเลือกทางหนึ่งทางใดจากทางเลือกที่มี เพราะรู้ว่า ไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหนในสถานการณ์นั้นก็ตาม ก็จะมีผลเสียหายต่อท่านผู้มีอุปการคุณไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้น หรือถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบบวกลบในเชิงหลักการและจริยธรรมตามมาได้จากการตัดสินใจนั้นเสมอ

การอ่านสถานการณ์แบบนี้ ส่วนสำคัญคือการอ่านเพื่อหาและวิพากษ์หลักเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจ และหาหลักอันเหมาะสมที่จะใช้ให้เหตุผลแถลงให้คนต่างกลุ่มฟังแล้วพอจะยอมรับฟังและยอมรับการตัดสินใจได้ ซึ่งเหตุผล 2 ส่วนนี้อาจมาจากหลักที่แตกต่างกัน

แต่จะอ่านสถานการณ์แบบนี้ได้ก็ต้องรู้จักฟังเสียก่อน แต่การจะฟังให้เป็นก็ต้องหัดได้ยิน และจะได้ยินชัด ก็ต่อเมื่อหยุดพูด แต่จะให้หยุดพูด ขอเฉยๆ คงไม่สำเร็จนอกจากและจนกว่าจะมีกระบวนการที่ทำให้เสียงของทุกคนมีสิทธิ

 

3.

ความยากลำบากใจอีกแบบหนึ่งตั้งต้นด้วยการไม่ยอมรับความจริงที่เป็นความผิดพลาด บกพร่อง ล้มเหลวในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว จึงหาทางปิดป้อง กลบเกลื่อน ซุกซ่อน หรือปัดความผิดพลาดนั้นให้พ้นตัว แต่ความพยายามจะหลบเลี่ยงแบบนั้นกลับสร้างปัญหาใหม่ตามมา ที่นำไปสู่ความเสียหายที่อาจจะมากยิ่งกว่า เลยทำให้ยิ่งต้องช่วยกันหาทางปัดป้องทั้งปัญหาเก่าที่ไม่ทันหาย และปัญหาใหม่ที่แทรกเข้ามา ก่อให้เกิดสถานการณ์ขว้างงูไม่พ้นคอที่ยากลำบากใจแก่คนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในการอ่านสถานการณ์แบบนี้ อ่านอย่างเดียวไม่พอแก้สถานการณ์ที่เป็นความลำบากยากใจได้ ต้องประกอบด้วยความกล้าที่จะฟังคนที่เขาพูดความจริงต่ออำนาจ และความกล้าของผู้มีอำนาจที่จะเผชิญกับความจริง และกล้าใช้อำนาจตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งแม้ว่าจะยากลำบากใจแค่ไหนก็ต้องทำ ถ้าท่านจะเป็นผู้นำ

 

4.

ยังมีสถานการณ์ยากอีกแบบหนึ่งที่น่าพิจารณา ยากแบบนี้เป็นความยากอันเกิดจากความซับซ้อนที่มีอยู่ในสถานการณ์

‘ซับซ้อน’ เป็นคำที่ใช้กันมากโดยเฉพาะในเวลาที่นึกคำตอบอะไรไม่ออก แต่สถานการณ์ยากแบบซับซ้อนที่ผมว่า ผมอิงความหมายจากงานที่ศึกษาระบบซับซ้อน อิงมาใช้สำหรับจำแนกสถานการณ์ยากเฉยๆ นะครับ ไม่ใช่ว่าผมจะมาอธิบายหรือสาธิตแนววิเคราะห์ Complexity Theory กับสถานการณ์โลกกันตรงนี้ เพียงแต่จะขอยืมแนวคิดเขามาใช้เป็น metaphors บ้าง เพื่อแสดงลักษณะของสถานการณ์ยากอีกแบบเท่านั้น

ส่วนท่านผู้อ่านที่เกิดสนใจเรื่องนี้จริงๆ ขอให้อ่านงานของ Robert Jervis ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นจุดเริ่มต้นเถิด ปลายปีนี้ก็ครบ 20 ปีพอดีที่เขาบุกเบิกนำแนวคิดจาก Complexity Theory มาปรับใช้วิเคราะห์สถานการณ์ในระบบที่ซับซ้อนที่สุดระบบหนึ่ง คือระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ [1]

สถานการณ์ที่ยากแบบซับซ้อนเป็นสถานการณ์ปราบเซียน ไม่ว่าท่านจะเป็นนักวางแผนยุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ตัดสินใจที่ชำนาญเกม แต่เมื่อเจอสถานการณ์ในระบบที่ซับซ้อน ระบบมีอะไรที่จะสร้างความประหลาดใจให้ท่านได้มากทีเดียว จากสถานการณ์ปกติที่เคยเติมเข้าไป 1 แล้วได้ออกมาเป็น 2 เติมเข้าไป 2 ได้ผลออกมาเป็น 4 กลายเป็นว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นมา การเพิ่มขึ้นของปัจจัยนำเข้าไม่เพียงแต่จะได้ผลโดยรวมลดน้อยลงกว่าเดิม แต่กลับให้ผลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือกองทรายที่ก่อตัวสูงขึ้นมาถึงจุดวิกฤตหรือ critical point ถ้าเพียงเติมทรายเพิ่มเข้าไปอีกสักเม็ด เราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์ที่ทรายสูงทั้งกองนั้นเทลงมา

ในระบบที่ซับซ้อน การตอบสนองของฝ่ายต่างๆ ต่อสถานการณ์และผลที่พลิกผันไปจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม ทำให้แรงจูงใจและการกระทำในระดับจุลภาคกับแบบแผนที่ผุดขึ้นมาในระดับมหภาคพลิกเปลี่ยนทำอันตรกิริยาสัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ ปิดความสำเร็จของยุทธวิธีเก่า เปิดความเป็นไปได้ใกล้เคียงใหม่ๆ ต่อออกไปได้ไม่จำกัด

คนที่จับแบบแผนที่เปลี่ยนแปลงไปเร็ว เห็นและหาประโยชน์จากช่องทางใหม่ หรือค้นพบ niche ในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนที่หวังจะคุมสถานการณ์ด้วยการคุมโครงสร้างของผลตอบแทนหรือ payoff structure ของการกระทำการแสดงออกในระดับจุลภาค เพื่อหวังให้ระบบเสถียรอยู่ในจุด equilibrium จุดใดจุดหนึ่งตลอดไป

ในบทความที่เขาสาธิตการใช้แนวคิดจาก Complexity Theory เป็นกรอบวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและสังคม Jervis พาเราเข้าสู่ความเข้าใจสถานการณ์ที่มีลักษณะซับซ้อนด้วยข้อเสนอเริ่มต้นที่เรียบง่ายว่า เมื่ออยู่ในระบบ สิ่งที่เราทำจะไม่ส่งผลออกมาแต่เพียงเรื่องเดียวด้านเดียวแล้วจบ แต่ในระบบที่ซับซ้อน ห่วงโซ่ของการส่งผล ที่ต้นทางมาจากเหตุหรือการกระทำอย่างหนึ่ง มันมีผลส่งต่อไปได้อีกหลายชั้น วนออกไปและป้อนย้อนกลับได้หลายวง ขยายผลต่อออกไปได้หลายด้าน และผลที่เกิดขึ้นก็มักจะขัดกับการคาดคิดตามความเข้าใจทั่วไป หรือเป็นผลที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น

ตัวอย่างหนึ่งในบทความของ Jervis เขาพูดถึงผลที่เกิดตามมาจากการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม เมื่อสหรัฐเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารจากเดิมที่ให้เพียงคำแนะนำเงินและอาวุธเป็นการส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรบในเวียดนาม แทนที่การขยายความช่วยเหลือจะทำให้เวียดนามใต้เข้มแข็งมั่นคงมีประสิทธิภาพในการรบและความชอบธรรมในการเมืองภายในมากขึ้น กลับยิ่งทำให้กองทัพเวียดนามใต้อ่อนแอลงเพราะหวังแต่จะพึ่งการรบจากกำลังของสหรัฐฯ มากขึ้น อีกทั้งกลับทำให้รัฐบาลของเวียดนามใต้และรัฐบาลสหรัฐฯ เองสูญเสียการยอมรับสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น และยิ่งทำให้กองกำลังของเวียดมินห์และเวียดกงเพิ่มความมุ่งมั่นทุ่มเทในการรบยิ่งขึ้นไปอีก

ที่น่าจับตาดูกันในปีหน้าก็คือผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เลือกปฏิสัมพันธ์กับระบบที่มีความซับซ้อนสูงมากอย่างภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยการประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และตัดสินใจให้ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปอยู่ที่นั่น

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลสูงมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ที่มักเข้าใจกันทั่วไปคือเข้าใจว่าอิทธิพลของสหรัฐฯ เป็นอิทธิพลสำหรับใช้ผลักดันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการ ดังเช่นผู้ติดตามการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มานานอย่าง Robin Wright นักข่าวอาวุโสประจำ New Yorker เห็นว่าการรับรองสถานะของเยรูซาเล็มเป็นไพ่ใบสำคัญที่สหรัฐฯ ควรถือไว้ก่อนเพื่อใช้ผลักดันให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่จะเป็นที่ยอมรับได้ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในขั้วความขัดแย้ง โดยสถานะของเยรูซาเล็มที่เกิดจากผลของการเจรจาหลายฝ่ายและทุกฝ่ายยอมรับได้คือสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะสนับสนุนและให้การรับรอง ดังนั้น การที่ทรัมป์ทิ้งไพ่ใบนี้ออกมาแบบนี้จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯในการผลักดันการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางลดลงไปมาก [2]

แต่ในระบบที่มีความซับซ้อน Jervis ยังชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลอีกแบบหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นต่อการเข้าใจการทำงานส่งผลในระบบ นั่นคืออิทธิพลจากการกระทำของสหรัฐฯ หรือของตัวแสดงใดๆ ก็ตามสามารถส่งผลให้สภาพแวดล้อมที่เคยเป็นมานั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยตัวผู้กระทำการเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้น

Jervis เขียนว่า “การกระทำใดๆ ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมีผลทำให้ขีดความสามารถ ความพอใจชอบที่จะเลือกหรือไม่เลือกอะไร และความเชื่อของตัวแสดงต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปได้” อันทำให้พฤติกรรมการตอบสนองต่อสถานการณ์ของตัวแสดงที่สัมพันธ์กันอยู่นั้นเปลี่ยนไปจากเดิมและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก “หลายต่อหลายครั้งที่ความขัดแย้งทำให้ทัศนะต่ออีกฝ่ายแข็งกร้าวมากขึ้น ผลักคนให้หันไปหาทางเลือกสุดโต่ง อีกทั้งยังระดมคนที่ไม่เคยสนใจมาก่อนให้หันมาเข้าร่วมเป็นพวก” และเมื่อได้เกิดขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ดำเนินไปในบริบทที่ยากจะเปลี่ยนกลับมาเป็นเช่นเดิมเหมือนก่อนหน้านั้นได้อีก

ข้อสรุปที่ว่าในระบบซับซ้อน “We can never do merely one thing.” นั้น Jervis ได้มาจาก Garret Hardin อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นกันว่า ที่ว่ามากกว่าหนึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจของทรัมป์คราวนี้ได้แก่อะไรบ้าง เรื่องไหนผิดคาดไปจากความคิดความเข้าใจตามปกติ และการปรับตัวเข้าหาแบบแผนใหม่ ที่จะผุดขึ้นมาในภูมิภาค และที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกจากการตอบสนองในระดับจุลภาคของฝ่ายต่างๆ จะผลักพลวัตที่มีความไหลเลื่อนสูงมากอยู่แล้ว ในภูมิภาคที่ซับซ้อนอย่างตะวันออกกลาง ไปสู่ผลแบบไหนบ้าง และจะมีผลกระทบอย่างไรต่อภูมิภาคอื่นๆ

การทำงานส่งผลของระบบที่ซับซ้อนจะหาขอบเขตของมันว่าหยุดลงที่ไหนยากอยู่เหมือนกัน การเห็นขอบเขตส่งผลจึงขึ้นอยู่กับสายตาของผู้สังเกต และถ้าสังเกตเห็นมันเข้าก็อาจเปลี่ยนแปลงผลนั้นไปอีกแบบได้ แต่ถึงจะไม่มีใครไปสังเกต มันก็ทำงานส่งผลก่อความเป็นไปได้ต่างๆ ในจังหวะของมันต่อไปอยู่ดี

เราจะลองคิดเล่นๆ ด้วยสำนวนแบบทฤษฎี complexity ก็ได้ว่าการตัดสินใจนี้ ถ้ามันส่งผลให้สหรัฐฯ หมดความสามารถที่จะรับบทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เป็นกลาง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างคู่ความขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ไป ซึ่งในภาษาของทฤษฎีคือเป็นกลไกควบคุมภาวะธำรงดุลแบบ negative feedback control ให้แก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่กลับไปกระตุ้นกลไกที่ส่งผลต่อพลวัตความขัดแย้งให้ทำงานในทางที่สร้าง positive feedback ขึ้นมาในภูมิภาค เช่น intifada กับการใช้กำลังปราบปรามของอิสราเอล การก่อการร้ายในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคกับการสนับสนุนทางการเมืองที่เข้มข้นและแข็งขันยิ่งขึ้นของขบวนการทางศาสนาในสหรัฐฯ ต่อนโยบายแบบนั้นของอิสราเอลและต่อนโยบายแบบทรัมป์ ในขณะที่การต่อต้านสหรัฐฯ และการสนับสนุนปาเลสไตน์ขยายวงกว้างขวางและเข้มข้นมากขึ้นในโลกอาหรับหรือในหมู่คนมุสลิมทั่วโลกเช่นกัน พลวัตที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาต่อกันระหว่างปัจจัยที่อัดแน่นด้วยพลังศักย์พลังจลน์แรงสูงเช่นนี้ย่อมก่อวงจรป้อนผลที่จะเกิดอะไรต่ออะไรตามมาได้อีกมาก

แต่ควรตระหนักด้วยว่า เล่ห์กลแบบหนึ่งของระบบที่ซับซ้อนก็คือบางทีการส่งผลของมันจะไม่ปรากฏออกมาทันที หรือไม่เกิดขึ้นตรงๆ เหมือนกับว่ามันจะรอจังหวะสะสมแรงอัดบางอย่างเอาไว้เพื่อรอการณ์จรที่ไหลมาบรรจบในจังหวะพอเหมาะ มันจึงจะประทุหรือระเบิดผลออกมา คนต้นเหตุกับคนรับผลจากเหตุหรือคนที่ต้องมาตามแก้ปัญหาเมื่อเหตุนั้นส่งผลขึ้นมาจึงอาจเป็นคนละกลุ่มกันเพราะความล่าช้าของระบบในการส่งผลแบบนี้ งานวิจัยเชิงระบบของ Nazli Choucri และคณะ [3] เพื่อสร้างโมเดลสำหรับติดตามพลวัตที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐ จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ให้ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา

ตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ตามโมเดลของ Choucri และคณะ คือประสิทธิภาพและความหนักแน่นของสารที่มีเนื้อหาโจมตีต่อต้านระบอบ ซึ่งวัดทั้งในเชิงอัตวิสัย (เช่นทัศนะ ความรู้สึกของผู้รับสาร) และในเชิงวัตถุวิสัย (เช่นสื่อและช่องทางการเผยแพร่ ความยากง่ายในการเข้าถึงเครือข่าย) ในการจัดการกับข่าวสารต่อต้านระบอบ รัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีติดตาม ตรวจ และเซ็นเซอร์สื่อและโซเชียลมีเดียที่เข้มงวดปิดกั้นมากขึ้น ซึ่งอาจสกัดได้ในระยะแรกๆ และในระยะสั้น แต่การปิดกั้นเสรีภาพพลเมืองไม่เป็นผลดีต่อความชอบธรรมของรัฐบาลและระบอบในระยะยาว ยิ่งปิดกั้นมาก ด้วยมาตรการที่เข้มข้น และยาวนาน การปิดกั้นเสรีภาพจะเปลี่ยนทัศนะของคนต่อรัฐบาลไปในทางลบทีละน้อย แต่เมื่อดำเนินมาจนถึงจุดหนึ่งแล้วมันจะขยายขึ้นเร็วในรูป exponential function

 

5.

ที่เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ความยากมาจนถึงสรุปนี้ ผมเขียนมาเป็นข้อๆ แยกกัน ถ้าความยากมันแยกกันอยู่แบบเป็นข้อๆ อย่างที่เขียนมา และเราเผชิญมันไปทีละข้อ หาทางแก้ไปเป็นลำดับ ก็แสดงว่าโจทย์ที่ชีวิตส่งมาทดสอบท่านไม่ได้ถึงกับยากอะไรนัก แต่มันจะซับซ้อนขึ้นมาถ้าความยากแบบที่ 1 เกิดขึ้นซ้อนอยู่กับความยากแบบที่ 2 และซ้อนอยู่กับแบบที่ 3 และเจอแบบที่ 4 ขยายเข้ามาผสมโรง เลยทำให้ความยาก 1 2 3 4 ทำปฏิกิริยาส่งผลและขยายผลต่อกันเข้า แบบนี้สถานการณ์ความยากของท่านจะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าจังหวะเวลาทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่าพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก หรือเสาร์ทับลัคน์ทับจันทร์จะพลันร้าย เป็นนักหนา

อย่างไรก็ดี ผมจะไม่นำเรื่องที่ชวนเสียขวัญกำลังใจเช่นนั้นมากล่าวทำนายทายทักในเวลาใกล้จะขึ้นปีใหม่เช่นนี้ให้ท่านผู้อ่านที่เคารพของผมหวาดหวั่น

จึงขอลงท้ายด้วยคำอวยพรอย่างนี้ก็แล้วกันครับ ปีใหม่ที่จะถึงนี้ ขอให้ท่านที่ชอบชีวิตเรียบง่ายได้พบกับความเรียบง่ายอันซับซ้อน และขอท่านที่ชอบชีวิตซับซ้อนได้พบกับความยุ่งเหยิงที่มีระเบียบ

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ.

…………………………

 

รายการอ้างอิง

[1] Robert Jervis, “Complexity and the Analysis of Political and Social Life,” Political Science Quarterly 112:4 (Winter, 1997-1998), 569-593. หรืออ่านได้ที่นี่ และอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียด Robert Jervis, System Effects: Complexity in Political and Social Life (Princeton, N.J.: Princeton University Press, 1997).

[2] ดูบทวิเคราะห์ของ Robin Wright ได้ที่นี่

[3] Nazli Choucri, et.al., “Using System Dynamics to Model and Better Understand State Stability,” MIT Sloan School Working Paper 4661-07 7/1/2007.

Available at :

https://dspace.mit.edu/bitstream/handle/1721.1/39650/4661-07.pdf?sequence=1

อนึ่ง การเฝ้าติดตามความอ่อนไหวและไหลเลื่อนพลิกผันได้เร็วของสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างตะวันออกกลางควรต้องทำควบคู่พร้อมกันไปกับการติดตามผลจากความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐด้วย พวกที่เล่นทฤษฎีระบบได้พัฒนาโมเดลสำหรับติดตามพลวัตอันเกิดจากการส่งผลกระทบถึงกันของปัจจัยต่างๆ งานวิจัยดังกล่าวของ Nazli Choucri ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งสำนัก MIT และคณะ จึงเป็นประโยชน์ในแง่นี้ด้วย

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save