fbpx
ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: การตีความ 4 แบบ

ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: การตีความ 4 แบบ

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

ความเข้าใจที่เรามีต่ออดีตย่อมกำหนดการมองปัจจุบันและเส้นทางอนาคตไปในตัวด้วย เคยสงสัยไหมครับว่า แวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองมองประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรเป็นจุดแข็งที่พาเราก้าวจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง แล้วอะไรเป็นจุดตายที่ทำให้ไทยไม่ไปไกลกว่านี้

มีวิธีการตีความเส้นทางเศรษฐกิจการเมืองไทยที่สำคัญอยู่ 4 แนวทาง แต่ละแนวมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อน ให้คำอธิบายต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างกันไป

 

1. การตีความแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

 

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือนีโอคลาสสิกให้ความสำคัญกับกลไกตลาด และมองเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างปัจเจก แนวคิดนี้จึงเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีก็ในช่วงที่รัฐบาลไม่ค่อยเข้ามาแทรกแซงภาคเอกชน แต่ปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเต็มที่ และให้อิสระกับเทคโนแครตในการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการการค้าและการลงทุนอย่างเสรี ช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502–06)  รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (2523–31) และรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2534 และ 2535) จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจไทยตามแนวคิดนี้

เศรษฐกิจไทยเริ่มเผชิญปัญหาก็ในช่วงที่นักการเมืองและนักธุรกิจท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทเหนือเทคโนแครต ยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2481–87 และ 2491–2500) และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (2531–34) เป็นยุคมืดที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน รัฐบาลผสมอันวุ่นวายตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 เป็นหนทางสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 อย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศไทยรวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ต้องประสบวิกฤตก็เพราะ “ทุนนิยมพวกพ้อง” (crony capitalism) และ “จริยธรรมวิบัติ” (moral hazard) จะไปให้ไกลกว่านี้ได้ก็ต้องปฏิรูปเพื่อลดบทบาทของรัฐที่เข้ามาวุ่นวายกับตลาดลงให้มากที่สุด

 

2. การตีความแบบสถาบัน

 

สำนักสถาบันซึ่งมีอิทธิพลทั้งในเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์เห็นว่า รัฐเป็นตัวแสดงหลักทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่จะนำมาซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นกับว่ารัฐมี “ความเข้มแข็ง” (state capacity) แค่ไหนต่างหาก

ถ้าดูจากประสบการณ์ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน รัฐบาลล้วนมีบทบาทนำทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น รัฐเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะชี้นำภาคธุรกิจให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งยังมีข้าราชการที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและประเมินผลนโยบาย ไม่ทุจริตฉ้อโกง ส่วนรัฐไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ได้ ก็เพราะมีรัฐและระบบราชการที่อ่อนแอ

แนวคิดนี้อธิบายว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นก็เพราะความอ่อนแอของรัฐ ที่ไม่สามารถควบคุมเงินลงทุนทั้งของภาคเอกชนและจากต่างประเทศไม่ให้ไหลไปสู่อสังหาริมทรัพย์และการเก็งกำไรได้ แม้แต่เกาหลีใต้ที่เคยมีรัฐเข้มแข็งในอดีต แต่พอรัฐอ่อนแอลงก็ย่อมประสบปัญหาเช่นกัน ทางออกจึงอยู่การปฏิรูปรัฐและระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และมีอำนาจต่อรองและจัดการกับทุนได้

 

3. การตีความแบบมาร์กซิสต์

 

เวลาได้ยินสองสำนักแรกเถียงกันไม่จบเรื่องรัฐกับตลาด นักเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซิสต์มักจะยักไหล่ เพราะเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติของระบบทุนนิยม แทบจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียเวลาอธิบายอะไรด้วยซ้ำ!

สำนักมาร์กซิสต์เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตมาได้หลายทศวรรษก็เพราะเกิดการพัฒนาทุนนิยมภายในและไทยกลายเป็นส่วนหนี่งของระบบทุนนิยมโลก จนถึงจุดที่นโยบายต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อต่อยอดระบบทุนนิยมทั้งสิ้น

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการผลิตล้นเกินในระบบ (overproduction) หรือมีการขยายตัวในบางสาขาที่มากเกินไป (เช่น ภาคการเงิน ภาคก่อสร้าง) ก็ย่อมเกิด “วิกฤต” เป็นธรรมดา เพราะวิกฤตคือการปรับตัวภายในระบบเพื่อจัดการกับส่วนที่ล้นเกิน ผ่านการล้มละลายหรือการควบรวมกิจการ อันเป็นวัฏจักรปกติของระบบทุนนิยมอยู่แล้ว แม้แต่การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยหลังวิกฤตปี 2540 ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างนายทุนหลายกลุ่ม ก็เป็นปฏิกิริยาที่คาดการณ์ได้ เพราะชนชั้นนายทุนย่อมต้องแสวงหาหนทาง (ใหม่ๆ) ที่จะทำให้ทุนนิยมเดินหน้าต่อไปได้เสมอ

ไม่น่าแปลกใจที่สำนักมาร์กซิสต์อาจไม่ได้เสนอทางออกเชิงนโยบายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะมองวิกฤตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมตั้งแต่ต้น แต่นักทฤษฎีบางคนในสำนักนี้ก็เสนอแนวทางรัฐสวัสดิการในฐานะกลไกที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับแรงงานเพื่อให้ระบบทุนนิยมเป็นมิตรกับชนชั้นต่างๆ มากขึ้น

 

4. การตีความแบบปัจจัยคุกคาม

 

งานวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไม่มีประเทศไหนที่มีระบบข้าราชการหรือกลไกตลาดในอุดมคติตั้งแต่แรก ผู้นำในแต่ละประเทศจะ “สร้าง” สถาบันที่มีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยคุกคามหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกันเท่านั้น (systemic vulnerabilities)

การที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ กลายเป็นประเทศร่ำรวยได้ก็เพราะต้องประสบแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ (เช่น เกาหลีใต้ต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ หรือไต้หวันกับการแยกประเทศจากจีน) และความมั่นคงภายใน (เช่น การแพร่หลายของลัทธิคอมมิวนิสต์) อีกทั้งยังไม่มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้สอยและส่งออก (ดังเช่นประเทศตะวันออกกลางที่มีน้ำมัน)

เพื่อรักษาตัวเองให้อยู่รอด ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกจึงไม่มีหนทางอื่นใด นอกจากเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องสร้างกลไกทางสถาบันภายในให้เข้มแข็งตามไปด้วย ปัจจัยที่แท้จริงของความสำเร็จทางเศรษฐกิจจึงอยู่ที่ “ภัยคุกคาม”

เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ต่างไม่เคยเผชิญภัยคุกคามอันรุนแรงและยาวนานเท่า อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติให้พึ่งพิงมากกว่า จึงไม่มีแรงจูงใจอะไรให้ชนชั้นนำต้องปรับตัวและพัฒนาประเทศเพื่อความอยู่รอด แม้แต่วิกฤตต้มยำกุ้งเองก็ไม่ได้รุนแรงเท่าภัยในยุคสงครามเย็น เพราะแต่ละประเทศก็สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

ทางออกล่ะ? แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาแสวงหาภัยคุกคาม หรือก่อสงครามเพื่อหวังผลดีที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว อาจมีข้อเสนอให้ผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบาย “ตระหนัก” ถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศแทนเพื่อจะได้ก้าวไปให้ไกลกว่านี้ หรือไม่ก็ให้ภาคประชาสังคมร่วมกัน “กดดัน” ให้ชนชั้นนำเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นปัญหาเร่งด่วน

 

จุดแข็งจุดอ่อนและทางออก

 

วิวาทะในวงวิชาการมีการนำเสนอรายละเอียดที่ลงลึกไปกว่าข้อสรุปข้างต้น เพราะแต่ละสำนักก็พยายามพัฒนาทฤษฎีของตนให้รัดกุมมากขึ้นตามเวลา แต่ถึงกระนั้น แก่นการวิเคราะห์ว่าอะไรคือ “หัวใจ” ของการพัฒนาเศรษฐกิจ อะไรคือ “หน่วย” ในการมองปัญหาและทางออก ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบ ตลาด–รัฐ–ทุนนิยม–ปัจจัยคุกคาม ที่มีจุดเน้นกันคนละจุดอยู่ดี ทำให้มีจุดแข็งจุดอ่อนกันไปคนละแบบ

แนวคิดกรอบมาร์กซิสต์และกรอบปัจจัยคุกคามช่วยให้เรามองเห็นภาพใหญ่ มองประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมและการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็อาจใหญ่จนมองไม่เห็นบทบาทของตัวแสดงและทางเลือกเชิงนโยบายที่หลายครั้งก็ไม่ได้เลือกเส้นทางตามที่ทฤษฎีคาดการณ์ไว้

ส่วนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็ย้ำให้เราเห็นความสำคัญของตลาดที่กรอบอื่นละเลยไป แต่มักมีความโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนระบอบเผด็จการ เพราะคาดหวังว่าเทคโนแครตจะได้รับอิสระมากที่สุด แต่มองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มากับระบอบทหาร (และทุนที่ใกล้ชิด) “ความเป็นอิสระ” ที่เทคโนแครตอาจได้รับจึงมีดอกจันกำกับอยู่ด้วยเสมอ ทั้งยังเป็นระบอบที่กร่อนทำลายกลไกตลาดเองในระยะยาว

แนวคิดแบบสถาบันอาจอธิบายความแตกต่างระหว่างเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี แต่ก็มักมองข้ามความหลากหลายภายในหมู่เสือเศรษฐกิจเอง เพราะแต่ละรัฐจะนำ “ความเข้มแข็ง” ที่มีไปใช้ทำอะไรนั้น ก็ยังเป็นเรื่องของการเมืองภายในที่ต่างกัน ดังที่รัฐเข้มแข็งแบบเกาหลีใต้แตกต่างจากรัฐเข้มแข็งแบบไต้หวัน เพราะเกาหลีใต้เอาความเข้มแข็งดังกล่าวไปสนับสนุนให้บริษัทท้องถิ่นกลายเป็นผู้เล่นระดับโลก (chaebols) แต่ไต้หวันกลับเอาไปสนับสนุนกิจการขนาดเล็ก (SMEs) เป็นหลัก

กรอบแนวคิดทั้งสี่จึงสอนให้เรารู้ว่า ธรรมชาติของทุนนิยมและเงื่อนไขการเมืองระหว่างประเทศมีผลต่อทิศทางใหญ่ๆ ที่ประเทศจะเลือกเดินไม่น้อย แต่การเมืองภายในก็ยังเป็นตัวหลักในการกำหนดเส้นทางอยู่ดี เพราะต่อให้เผชิญแรงกดดันสูงไม่ต่างกัน แต่ละประเทศก็ยังมองเห็น “ทางออก” คนละแบบ

อย่างไรก็ดี บทเรียนที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความไม่อยากพัฒนาอาจเป็นลักษณะพื้นฐานของผู้นำประเทศ พอๆ กับที่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม แรงกดดันทางสังคมจึงต้องมีอยู่เสมอเพื่อผลักดันให้ “ความอยู่รอด” ของผู้นำเป็นเรื่องเดียวกับ “การพัฒนาประเทศ” มิฉะนั้น ข้อถกเถียงเชิงนโยบายและการแสวงหาทางออกใดๆ ก็คงสูญเปล่า

 

อ่านเพิ่มเติม

ยังมีกรอบอื่นๆ ที่เสนอการตีความประเทศไทยนอกเหนือจากกรอบทั้งสี่ด้วย เช่น Modernization school และ Dependency theory ดูการอภิปรายใน Kevin Hewison (2006) “Thailand: Boom, Bust and Recovery,” in G. Rodan, K. Hewison, & R. Robison, editors, The Political Economy of South-East Asia: Markets, Power and Contestation. Melbourne: Oxford University Press.

การตีความแบบปัจจัยคุกคาม ดู Doner, R., B. Ritchie and D. Slater (2005) “Systemic Vulnerability and the Origins of Developmental States: Northeast and Southeast Asia in Comparative Perspective”, International Organization, 59(2): 327–361.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save