fbpx
ชีวิตและความคิดของ "หล่ะ มยิ้น" เทคโนแครตร่วมชะตากรรมป๋วย : ภาพสะท้อนของพม่าสมัยใหม่ยุคหลังสงคราม

ชีวิตและความคิดของ “หล่ะ มยิ้น” เทคโนแครตร่วมชะตากรรมป๋วย : ภาพสะท้อนของพม่าสมัยใหม่ยุคหลังสงคราม

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

หล่ะ มยิ้น ตำนานนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก

“คนตรงในประเทศคด” ของพม่า

ถ้าจะกล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์ชาวพม่าเพียงคนเดียวที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาทั่วโลก หล่ะ มยิ้น (Hla Myint, ค.ศ.1920-2017) คือคนคนนั้น

หล่ะ มยิ้น เป็นนักเศรษฐศาสตร์สาย “คลาสสิก” ที่ยึดมั่นในทฤษฎีการค้าเสรีแบบอาดัม สมิธ เขาสร้างชื่อให้ตนเองในปลายทศวรรษ 1950 จากการพัฒนาแนวคิดการระบายผลผลิตส่วนเกิน (vent for surplus) อันเป็นแนวคิดดั้งเดิมของสมิธ จนมีผู้เรียกทฤษฎีนี้ว่าแบบจำลองการระบายผลผลิตส่วนเกินแบบสมิธ-มยิ้น (Smith-Myint Vent for Surplus Model)

อย่างไรก็ดี ในแวดวงเศรษฐศาสตร์พม่าปัจจุบัน น่าเสียดายว่าแทบไม่มีใครรู้จัก หล่ะ มยิ้น เลย อาจมีนักเศรษฐศาสตร์พม่าเพียงแค่หยิบมือหนึ่ง ซึ่งอายุอานามน่าจะไม่ต่ำกว่า 60 ปี ที่เคยได้ยินชื่อเสียงของ หล่ะ มยิ้น มาบ้าง และบางคนอาจมีโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาสอนหนังสืออยู่ในพม่า ระหว่างปี 1946-1950 และ 1958-1961

 

หล่ะ มยิ้น ที่ LSE, 1985

 

หล่ะ มยิ้น เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขามีอายุน้อยกว่าอาจารย์ป๋วย 4 ปี และมีโอกาสได้พบและทำความรู้จักกับอาจารย์ป๋วยในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อครั้งเรียนหนังสือที่ London School of Economics and Political Science (LSE) ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้เขียนเคยถาม หล่ะ มยิ้น ถึงอาจารย์ป๋วยด้วยความสงสัยว่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองมีโอกาสได้พบปะและทำความรู้จักกันมากน้อยเพียงใด เพราะทั้งสองคนเข้า LSE ในเวลาไล่เลี่ยกันและมีอาจารย์ที่ปรึกษาชุดเดียวกัน คือ ไลโอเนล รอบบินส์ (Lionel Robbins) และฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) หล่ะ มยิ้น เล่าถึงอาจารย์ป๋วยไว้สั้นๆ ว่าเขาเริ่มรู้จักอาจารย์ป๋วยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในเวลานั้น LSE ต้องย้ายไปเคมบริดจ์ เพราะลอนดอนเป็นเป้าหมายโจมตีหลักของฝ่ายอักษะ

เขาเล่าว่า “ความเป็นเพื่อนของเรามีอายุสั้นนัก เพราะป๋วยหายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาผมถึงได้ทราบว่าเขาเดินทางกลับไปสู้ร่วมกับขบวนการเสรีไทย”

ต่อมา หล่ะ มยิ้น พบป๋วยอีกครั้งในทศวรรษ 1950 เมื่ออาจารย์ป๋วยเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปเข้าร่วมคณะกรรมการตลาดดีบุก (Tin Marketing Board) และพบกันเป็นครั้งสุดท้ายในทศวรรษ 1970 ในช่วงเวลาที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ หล่ะ มยิ้น เดินทางมาประเทศไทยเพื่อทำวิจัยและเขียนรายงานส่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ Southeast Asia’s Economy: Policies in the 1970s)

หล่ะ มยิ้น กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่าพื้นฐานทางการศึกษาและหน้าที่การงานของทั้งคู่ใกล้เคียงกันก็จริงอยู่ แต่อาจารย์ป๋วยยังมีโอกาสทำงานเพื่อประเทศของตนเองมากกว่าและอยู่ประเทศไทยนานกว่าเขา นอกจากนี้ อาจารย์ป๋วยยังเป็นที่เคารพรักและเป็นที่จดจำของคนไทยจำนวนมาก ในขณะที่ หล่ะ มยิ้น เป็นที่รู้จักเฉพาะภายนอกพม่าเท่านั้น

หล่ะ มยิ้น เป็นใคร และมีคุณูปการต่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของโลกและพม่าอย่างไร และชีวิตของ หล่ะ มยิ้น สะท้อนให้เราเห็นภาพพม่าสมัยใหม่ยุคหลังสงครามอย่างไร

 

หล่ะ มยิ้น ที่ออกซฟอร์ด

 

ชีวิตช่วงต้น : จากครรภ์มารดา…

หล่ะ มยิ้น เกิดที่เมืองพะสิมหรือปะเตง (Bassein/Pathein) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำของพม่าตอนล่างเมื่อปี 1920 ในครอบครัวของชนชั้นกลางที่รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าขายข้าวภายใต้ระบอบอาณานิคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เขากำพร้าพ่อตั้งแต่เด็กและแม่พาย้ายเข้ามาในย่างกุ้ง

หล่ะ มยิ้น เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก จนสามารถสอบเข้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้เมื่ออายุเพียง 15 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย หล่ะ มยิ้น มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ชาวตะวันตกที่เก่งๆ หลายคนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยเฉพาะกับฮาร์โร แบร์นาร์เดลลี่ (Harro Bernardelli) นักเศรษฐศาสตร์สาย Neo-Kantian ชาวออสเตรีย ที่มีประสบการณ์สอนหนังสือทั้งที่ LSE และมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล, เฮอร์เบิร์ต สแตนลี่ เจวอนส์ (Herbert Stanley Jevons) บุตรชายของวิลเลี่ยม สแตนลี่ เจวอนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ และนักวิชาการอาณานิคมที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ เจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ (J.S. Furnivall)

ก่อนสงครามโลกประทุขึ้นไม่นาน หล่ะ มยิ้น ได้รับทุนให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่ LSE หล่ะ มยิ้น หมายมั่นปั้นมือว่าไลโอเนล รอบบินส์จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้ (รอบบินส์คืออาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ป๋วย) แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะรอบบินส์ติดภารกิจเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการเงินให้กับรัฐบาลอังกฤษระหว่างสงคราม รอบบินส์จึงฝากฝังชายหนุ่มจากบริติช เบอร์ม่าผู้นี้ให้ฟรีดริช ฮาเย็กดูแลแทน

หล่ะ มยิ้น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1943 และได้รับทุนนักวิจัยอาคันตุกะ (Research Fellowship) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในปี 1946 หล่ะ มยิ้น พกดีกรีปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จาก LSE กลับพม่า และยังมีหนังสือเล่มแรกในชีวิตในชื่อ Theories of Welfare Economics ซึ่งพัฒนาขึ้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เขาเขียนกับฮาเย็ก  หล่ะ มยิ้น ชื่นชมฮาเย็กมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาคุ้นเคยกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์สกุลออสเตรียเป็นพิเศษมาตั้งแต่ครั้งได้เรียนกับฮาร์โร แบร์นาร์เดลลี่ ณ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

 

หล่ะ มยิ้น ที่บ้านพักชานกรุงลอนดอน ถ่ายโดย Joan Morris ภริยา

 

ชีวิตนักเศรษฐศาสตร์

Austrian School of Economics พัฒนาขึ้นมาจากงานเขียนของ Carl Menger ในชื่อ Principles of Economics ที่ให้ความสำคัญกับบริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศเพื่อนำมาเป็นพื้นฐานวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และมองว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์หนึ่งๆ ไม่สามารถใช้กับทุกประเทศได้

อิทธิพลจากนักเศรษฐศาสตร์สกุลออสเตรียอย่างฮาเย็กและแบร์นาร์เดลลี่ทำให้ หล่ะ มยิ้น ไม่เชื่อว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เป็น “โมเดล” ตายตัว สำหรับเขา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต้องถูกนำไป “ย่อย” และปรับใช้ในแต่ละประเทศ ทฤษฎีหรือแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถนำไปใช้กับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศได้ แต่ต้องนำบริบททางการเมือง ประวัติศาสตร์ และสังคมของประเทศนั้นๆ มาพิจารณาด้วยอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์การพัฒนากระแสหลักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักใช้ตัวอย่างหรือโมเดลการพัฒนาจากประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอินเดีย เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก

หล่ะ มยิ้น ยังได้รับแนวคิดการปล่อยให้เป็นไป (laissez-faire) จากฮาเย็กและอาดัม สมิธ ที่เชื่อว่ารัฐบาลทั่วโลกควรมีนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการแข่งขันกันทางการค้าอย่างเสรี และหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซงทางการค้า เพราะจะยิ่งทำให้สังคมและการค้าอ่อนแอลงจนนำไปสู่ “เส้นทางแห่งการถูกกดขี่” (The Road to Serfdom) ซึ่งคัดง้างกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สกุลเคนเซียน (Keynesian Economics) ที่มีบทบาทอย่างสูงในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หล่ะ มยิ้น ยังเรียนรู้จากฮาเย็กด้วยว่าวิชาเศรษฐศาสตร์มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม นักเศรษฐศาสตร์จึงต้องเข้าใจภูมิหลังของสังคมนั้นๆ พอๆ กับเข้าใจตัวเลขและสถิติต่างๆ เพราะทุกสังคมต่างเป็นปัจเจก และมีเงื่อนไขมากมายที่เป็นตัวกำหนดความเจริญหรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

หล่ะ มยิ้น พูดถึงฮาเย็กและแบร์นาร์เดลลี่ด้วยความเคารพอย่างสูง เพราะตัวเขาเองก็เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจที่ดีต้องเน้นการขับเคลื่อนจากภาคเอกชน เขาจึงปฏิเสธทฤษฎีที่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐแบบเศรษฐศาสตร์ตระกูลเคนเซียนอย่างเปิดเผย

หล่ะ มยิ้น เดินทางกลับพม่าพร้อมกำลังใจและความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าตนจะเป็นพลังขับเคลื่อนการศึกษาเศรษฐศาสตร์และพลิกฟื้นแวดวงอุดมศึกษาพม่าที่ซบเซาจากพิษสงครามให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ชีวิตเทคโนแครต

ความตั้งใจของ หล่ะ มยิ้น เริ่มส่อแววไม่ค่อยดีนัก เมื่อเขาได้รับคำเชิญให้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลพม่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศจัดตั้งสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในปี 1954 โดยมี เจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์เป็นประธาน

นโยบายของรัฐบาลอู นุ สวนทางกับความเชื่อและปรัชญาเศรษฐกิจของ หล่ะ มยิ้น แทบทุกประการ ในขณะที่ หล่ะ มยิ้น เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุคหลังเอกราชเปิดตลาดการค้าเสรีดังที่เคยเป็นมาตลอดยุคอาณานิคม และมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก หรือที่เรียกรวมๆ ว่านโยบายแบบ “มองออกไปข้างนอก” (outward-looking policy) รัฐบาลของอู นุ กลับมองว่าธุรกิจเอกชนในพม่า ซึ่งล้วนเป็นของชาวตะวันตก ชาวอินเดีย และชาวจีน จะยิ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่ายากลำบากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมควบคู่ไปกับการนำแนวทางสังคมนิยมมาปรับใช้ เช่น ควบรวมกิจการต่างชาติมาเป็นของรัฐ (nationalization) การปฏิรูปที่ดิน และการส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของชาวพม่าแท้ (หรือชาว “บะหม่า”) เป็นหลัก

ปรัชญาเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่าสะท้อนออกมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 8 ปี ที่เรียกว่า “แผนการ ปยีด่อตา” (Pyidawtha Plan) หรือบ้างเรียกว่าโครงการเคทีเอ (มาจากแผนการที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษานามว่า Knappen Tippetts Abbett) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและทางวิศวกรรมที่รัฐบาลพม่าจ้างมาจากสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง และเป็นฟันเฟืองหลักในการออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจพม่ามาตั้งแต่ปี 1951

อู นุ กล่าวถึงการนำที่ปรึกษาต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการพัฒนาในประเทศว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากอิหร่าน ในช่วงหลังสงคราม รัฐบาลอิหร่านว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติให้เข้าไปสำรวจและเขียนรายงานว่าด้วยทรัพยากรที่อิหร่านมี เพื่อประเมินว่าจะนำทรัพยากรเหล่านั้นออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในครรลองของการพัฒนาประเทศได้อย่างไร[1]

แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ปยีด่อตา” มาจากความคิดของอู หล่ะ หม่อง (U Hla Maung) เทคโนแครตรุ่นบุกเบิกของพม่าที่ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ นโยบายเศรษฐกิจภายใต้อู หล่ะ หม่องและเคทีเอจึงมีกลิ่นไอของเศรษฐศาสตร์แนวเคนเซี่ยน[2] เมื่อประกอบกับบริษัทที่ปรึกษาใหม่อย่างบริษัท Robert R. Nathan Associates จากวอชิงตัน ดี.ซี. ที่สร้างชื่อจากการช่วยวางแผนนโยบายเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาตลอดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (หรือที่เรียกว่าโครงการ New Deal) จึงกล่าวได้ว่า แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าในยุคนั้นจึงยิ่งแตกต่างจากแนวทางของ หล่ะ มยิ้น อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในระหว่างที่ หล่ะ มยิ้น รับเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลอู นุ เขายังเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยประเทศกำลังพัฒนาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอยู่ด้วย เขารับเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจอยู่ไม่นานก็ตัดสินใจลาออก แม้หล่ะ มยิ้นจะไม่ค่อยลงรอยกับอู นุ และคนในรัฐบาลพม่านัก แต่เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรเบิร์ต นาธานและนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทฯ โดยเฉพาะหลุยส์ เจ. วาลินสกี้ นักเศรษฐศาสตร์มือฉมังของนาธาน ทั้งคู่เขียนจดหมายโต้ตอบกันจนกระทั่งบั้นปลายชีวิตของวาลินสกี้ (วาลินสกี้เสียชีวิตในปี 2001)

หล่ะ มยิ้น รู้สึกเป็นอื่นกับทัศนคติของรัฐบาลพม่าที่มุ่งวางนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ และนโยบายที่เน้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงไม่กี่อย่างเพื่อป้อนตลาดในประเทศ ลดการนำเข้า รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ โดยมีพื้นความคิดอยู่ที่การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่าดีขึ้น จากแต่เดิมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยระบอบอาณานิคม เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม และฟื้นฟูพม่าขึ้นมาใหม่

ความแตกต่างด้านแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นี้ทำให้ หล่ะ มยิ้น รู้สึกอึดอัดใจ เพราะเขามองว่าเขาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจพม่าไปได้ ในทางตรงข้าม เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินในรัฐบาลอู นุ และมึนตึงกับอู นุ อย่างเปิดเผย  แผนการแบบ “มองเข้ามาข้างใน” สำหรับเขาไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถทำให้พม่ากลับมาผงาดในเวทีเศรษฐกิจระดับเอเชียได้อีก ปยีด่อตาสำหรับเขาทั้งพ้นสมัยและยังเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ

เมื่อกล่าวถึงจุดอ่อนของนโยบายเศรษฐกิจแบบมองเข้ามาข้างในในพม่า หล่ะ มยิ้น กล่าวกับผู้เขียนหลายครั้งว่าหน่วยงานที่เรียกว่าคณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรของรัฐ (State Agricultural Marketing Board หรือ SAMB) คืออุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของพม่าเจริญรุดหน้าไปได้

SAMB คือหน่วยงานของรัฐที่ผูกขาดการซื้อและส่งออกข้าว SAMB รับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก และนำไปส่งออกในราคาปกติ ผลกำไรของ SAMB ถูกนำเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพม่า แต่ในขณะเดียวกัน โครงการขนาดใหญ่นี้ก็มีจุดอ่อนสำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาต่ำยิ่งทำให้เกษตรกรลำบากมากขึ้น และประการที่สอง SAMB เป็นหน่วยงานเล็กที่ดูแลโครงการขนาดใหญ่ แต่ระบบราชการในพม่ายุคหลังได้รับเอกราชมาไม่นานกลับขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และยังเป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางในการฉ้อราษฎร์บังหลวง หล่ะ มยิ้นเล่าว่าปัญหาที่ตามมาหลังการรับซื้อข้าวปริมาณมากจากเกษตรกรคือเหตุการณ์ข้าวหายไปจากยุ้งฉาง หรือบางครั้งก็เผายุ้งฉางเพื่อปกปิดหลักฐาน เป็นต้น

หล่ะ มยิ้น นำจุดอ่อนของ SAMB ไปหารือกับอู นุ อยุ่หลายครั้ง เขายังย้ำในจุดยืนเดิมว่ารัฐบาลพม่าต้องปล่อยให้เอกชนมีบทบาทนำทางเศรษฐกิจ รัฐอาจเข้าไปแทรกแซงได้บ้าง แต่มิใช่เข้าไปควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจทุกอย่างดังที่รัฐบาลพม่าทำอยู่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่เป็นผล

ต่อมา หล่ะ มยิ้น จึงตัดสินใจเดินทางกลับออกซฟอร์ด และตั้งใจว่าจะหันหลังให้กับพม่าอย่างถาวร แต่ในที่สุด ชีวิตเขากลับพบกับจุดเปลี่ยนอีกครั้ง

ชีวิตอธิการบดี

เขากลับได้รับเชิญให้รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 1958 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลรักษาการ (Caretaker Government) ของนายพลเน วิน เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง

หล่ะ มยิ้นตอบรับคำเชิญนี้ เพราะเขายังรู้สึกผูกพันกับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มองว่าผู้นำประเทศได้เปลี่ยนมือไปแล้ว และมีความหวังว่านายพลเน วินคงจะช่วยเขาฟื้นฟูระเบียบวินัยในมหาวิทยาลัยที่ย่อหย่อนและมาตรฐานการเรียนการสอนที่ตกต่ำลงไปอย่างมากได้ แต่ในที่สุด เขาก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและคุณภาพของนักศึกษาต่างออกไปมาก อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีนโยบายรับนักศึกษามากขึ้นทุกปี

เขาเล่าว่าการประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งในช่วงปี 1958 มิใช่การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากเป็นการประท้วงเพื่อให้มหาวิทยาลัยปรับลดมาตรฐานการสอบจบ ซึ่งนักศึกษามองว่าสูงเกินไป และทำให้มีนักศึกษาที่เรียนจบในแต่ละปีน้อย กอปรกับปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลตั้งแต่หลังได้รับเอกราช ทำให้รัฐบาลมิได้ให้ความสนใจพัฒนาการศึกษาระดับสูง และไม่มีนโยบายควบคุมวินัยของนักศึกษา เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมจากนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เหนียวแน่นและเคยเป็นกลจักรที่ขับเคลื่อนขบวนการชาตินิยมพม่าในช่วงก่อนพม่าได้รับเอกราช

 

หล่ะ มยิ้น ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

 

หล่ะ มยิ้นเป็นนักคิดทางเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าก็จริงอยู่ แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธการขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศของเน วิน เพราะเขาเชื่อว่าผู้นำอย่างเน วินมีลักษณะประนีประนอมมากกว่าอู นุ แต่เมื่อการบริหารงานในตำแหน่งอธิการบดีของเขาเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ก็มีการเลือกตั้งขึ้นในพม่า และพรรค Union Party ของอู นุ ชนะการเลือกตั้ง

เขาดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อมาอีกเพียงปีเศษ ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากพม่าอย่างถาวร ในปี 1962 หลังเน วินรัฐประหาร รัฐบาลมีนโยบายชาตินิยมจัดและประกาศขับชาวต่างชาติจำนวนมากออกไป รวมทั้งอาจารย์ชาวตะวันตกที่เป็นที่เคารพรักสูงสุด 2 คน คือ เฟอร์นิวอลล์ และ จี.เอช.ลูซ (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีพม่ายุคโบราณ เจ้าของหนังสือสุดคลาสสิก Old Burma Early Pagan) และกล่าวหาว่าทั้งสองเป็นสายลับของซีไอเอ นอกจากนั้น รัฐบาลยังประกาศตัดความช่วยเหลือจากมูลนิธิและมหาวิทยาลัยจากชาติตะวันตกที่มีสาขาในย่างกุ้งทั้งหมด ทั้งฟูลไบรท์, บริติชเคาน์ซิล, มูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย

หล่ะ มยิ้นมองว่าความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะกำจัดอิทธิพลของต่างชาติทั้งหมดออกไปและโปรโมทความเป็นพม่าจะยิ่งทำให้การศึกษาในพม่าเสื่อมทรามลง เขาจึงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีในปี 1962 และไม่เคยกลับไปทำงานในพม่าอีก

ชีวิตนักวิชาการต่างประเทศ

ในปี 1965 หล่ะ มยิ้น เข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ประจำ LSE และดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึงปี 1985 และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในปี 1986

หล่ะ มยิ้นกับชั้นเรียนที่ LSE ปี 1964

 

หลังเกษียณอายุ หล่ะ มยิ้น เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของธนาคารโลกตั้งแต่ 1986-1990 หลังจากนี้ หล่ะ มยิ้น มีผลงานออกมาไม่มาก แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนารุ่นใหม่ๆ หลายคน ทำให้เขาได้รับเชิญให้เขียนบทความชิ้นสุดท้ายชื่อ “International Trade and Domestic Institutional Framework” ลงในหนังสือ Frontiers of Development Economics ที่มีโจเซฟ อี. สติกลิซ (Joseph E. Stigliz) นักเศรษฐศาสตร์ในยุคหลังฉันทมติวอชิงตันที่โดดเด่นและได้รับรางวัลโนเบลในปี 2001 เป็นบรรณาธิการ

หล่ะ มยิ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาคนสำคัญ โดยเฉพาะสติกลิซ และโรนัลด์ ฟินเลย์ สืบต่อมาจวบจนช่วงบั้นปลายชีวิต

ชีวิตใหม่ของพม่า – หล่ะ มยิ้น กลับบ้าน

ในช่วงต้นปี 2012 หล่ะ มยิ้น มีโอกาสได้กลับไปเยือนพม่าอีกครั้งในฐานะแขกของรัฐบาลพม่า นับเป็นการกลับบ้านครั้งแรกในรอบ 50 ปี หล่ะ มยิ้น, สติกลิซ และฟินเลย์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนาว่าด้วยทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพม่าในกระแสธารของการปฏิรูป ซึ่งจัดทั้งที่ย่างกุ้งและกรุงเนปยีดอ

การกลับไปพม่าของ หล่ะ มยิ้น ครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นยุคที่ชาวพม่าเริ่มมีความหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมา 5 ทศวรรษ

ที่ผ่านมา หล่ะ มยิ้น ต้องตอบคำถามที่ว่า “เมื่อไหร่จะกลับพม่า” อยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยประสบการณ์ที่ขมขื่นกับเผด็จการทหารพม่า เมื่อครั้งที่มารดาเขาป่วยหนักและใกล้เสียชีวิตในปี 1973 หล่ะ มยิ้น ผู้ถือหนังสือเดินทางของอังกฤษ ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปดูใจมารดาเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเกษียณอายุและภรรยาเสียชีวิตแล้ว หล่ะ มยิ้น จึงเลือกตั้งรกรากที่กรุงเทพมหานคร แทนที่จะกลับไปพม่า

การปรากฎตัวของ หล่ะ มยิ้น ที่ย่างกุ้งและเนปยีดอในปี 2012 ยังเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะ หล่ะ มยิ้น อาจมองว่าพม่าพร้อมแล้วที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา พร้อมกับรับฟังคำแนะนำและการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ

การกลับไปของ หล่ะ มยิ้น เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้นักวิชาการคนอื่นๆ ของพม่าที่อยู่ภายนอกประเทศ และยังจุดกระแสให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ๆ กลับมาทบทวนแนวคิดเศรษฐศาตร์เพื่อการพัฒนา แม้ทฤษฎีของ หล่ะ มยิ้น จะมีอายุร่วม 6 ทศวรรษแล้ว แต่เขาก็ยืนยันว่านโยบายแบบ “มองออกไปข้างนอก” และการเปิดเสรีทางการค้ายังเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

 

ระหว่างพบปะกับประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อปี 2012
(จากซ้ายไปขวา: อู ธีหะ หลานชายของ หล่ะ มยิ้น, หล่ะ มยิ้น, อดีตประธานาธิบดีเตง เส่ง และอู โซ เตง อดีตรัฐมนตรีว่าการทำเนียบประธานาธิบดี)

 

นอกจากการไปเป็นองค์ปาฐกในงานเสวนาทางเศรษฐศาสตร์ ในปีเดียวกันนั้น หล่ะ มยิ้น ยังเขียนบทความวิพากษ์นโยบายการประกันราคาข้าวของรัฐบาลพม่า ในบทความชื่อ “Comments on: Farmers Protection Act and Minimum Guaranteed Rice Price” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar

เมื่อกลางปี 2013 หล่ะ มยิ้น วิจารณ์นโยบายการกำหนดราคาขั้นต่ำให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรของพม่า ที่จะกลายเป็น “ร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มสวัสดิการทางเศรษฐกิจแก่ชาวนา” ว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่มีจุดอ่อนอยู่มาก โดยเขาชี้ให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายลักษณะเดียวกันในรัฐบาลของอู นุ และยังชี้ให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าวในประเทศไทยอีกด้วย

จุดยืนของ หล่ะ มยิ้น ไม่เคยเปลี่ยน เขามองว่าเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตไปได้ รัฐบาลต้องเปิดตลาดการค้าเสรี และต้องสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน การพัฒนาระบบขนส่ง ฯลฯ เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จริงอยู่วิธีการนี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และอาจไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้นในทันที แต่อย่าลืมว่าการพัฒนาในพม่าแทบจะหยุดนิ่งมาหลายทศวรรษ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจึงเป็นแผนระยะยาวที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน

 

หล่ะ มยิ้นกับออง ซาน ซู จี, 2012

 

ชีวิตช่วงปลาย : …ถึงเชิงตะกอน

ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าเป็นแผนระยะยาว นักวิชาการและเทคโนแครตรุ่นใหม่ๆ จึงจะเป็นพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของพม่า พม่าควรจะนำบทเรียนราคาแพงในอดีตมาใช้เพื่อทบทวนนโยบายการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของตนเองอย่างหนักแน่น และนี่เป็นโอกาสสำคัญที่นักวิชาการ และนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์จะร่วมกันพัฒนาชาติต่อไป

ที่ผ่านมา เป็นที่น่าเสียดายว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่า นามว่า หล่ะ มยิ้น แทบจะไม่มีโอกาสใช้ความรู้และความสามารถของตนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในประเทศของตนเอง คงไม่ต่างจากอาจารย์ป๋วยที่เป็น “คนตรงในประเทศคด” เป็นคนเก่งและคนดีที่มีโอกาสใช้วิชาความรู้ ความตรงไปตรงมา และความซื่อสัตย์เพื่อพัฒนาประเทศของตนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองยังโดนพิษทางการเมืองเล่นงานจนไม่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิของตนอีกเลยเป็นเวลาหลายสิบปี แต่สิ่งที่ทั้งป๋วยและ หล่ะ มยิ้น ได้รับเมื่อครั้งเดินทางกลับ “บ้าน” เป็นครั้งแรก หลังใช้ชีวิตในอังกฤษมานาน คือการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกศิษย์ลูกหา

หล่ะ มยิ้น เสียชีวิตอย่างสงบที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาด้วยวัย 97 ปี แม้ทั้งป๋วยและ หล่ะ มยิ้น จะเดินทางสู่เชิงตะกอนไปแล้ว แต่คุณความดีและคุณูปการที่บุคคลทั้งสองมอบให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและพม่าจะมีอยู่ตลอดไป

 

หล่ะ มยิ้น ที่บ้านพักแถบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, 2016 | ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Nikkei Asian Review

 

ผู้เขียนกับ หล่ะ มยิ้น, กรุงเทพมหานคร, 2015

 

เชิงอรรถ

[1] U Nu, Forward with the People (a collection of speeches). Rangoon: Ministry of Information, 1955: pp.107-108.

[2] Louis Walinsky, Economic Development in Burma, 1951-1960. New York: The Twentieth Century Fund, 1962, p.84.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save